ตลาดหุ้นไทย ยังมีหุ้นเติบโต 10 เด้ง ในอีก 10 ปี อีกหรือไม่? / Pocket investor

การลงทุนแบบเน้นคุณค่า ลงทุนหุ้น VI เน้นที่ปัจจัยพื้นฐานเป็นหลัก

โพสต์ โพสต์
ภาพประจำตัวสมาชิก
Pocket investor
Thai VI Partner
โพสต์: 195
ผู้ติดตาม: 304

ตลาดหุ้นไทย ยังมีหุ้นเติบโต 10 เด้ง ในอีก 10 ปี อีกหรือไม่? / Pocket investor

โพสต์ที่ 1

โพสต์

Investor's practice: สวัสดีทุกท่านครับ เมื่อสัปดาห์ก่อน ผมเขียนเกี่ยวกับการลงทุนต่างประเทศไปแล้ว วันนี้ขอกลับมาที่ตลาดหุ้นไทยกันบ้างครับ...โดย จะมาแชร์มุมมองส่วนตัว เกี่ยวกับการลงทุนหุ้นไทยต่อไปดีหรือไม่? จะเป็นอย่างไรลองมาดูกันเลยครับ!
.
ถ้าคุณเป็นนักลงทุนระยะยาวแล้ว คุณคงอยากลงทุนได้หุ้น 10 เด้ง สักตัวในชีวิต...
.
การจะได้ "หุ้น 10 เด้ง" หรือหุ้นที่ราคาเพิ่มขึ้น 10 เท่า ภายในระยะเวลา 10 ปีแล้ว วิธีที่ง่ายที่สุดคงจะเป็นการลงทุนในหุ้น "Super Stock" คือ บริษัทที่มีความแข็งแกร่งและมีการเติบโตของยอดขายและกำไรต่อเนื่องยาวนาน โดย เข้าลงทุนในราคาที่เหมาะสมและถือหุ้นต่อเนื่อง จนราคาหุ้นสะท้อนมูลค่ากิจการที่เพิ่มขึ้น
.
แต่อย่างที่ทุกๆท่านทราบกันดีว่าในปี 2021 ประเทศไทยเราจะเข้าสู่ "สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์" ซึ่งเป็นประเทศกำลังพัฒนาประเทศแรก เรากำลังจะ "แก่ก่อนรวย" GDP ที่เคยเติบโตได้ดีในอดีต ช่วง 5-6 ปีหลัง ก็สะท้อนให้เห็นว่าลดลงเหลือแค่ 3-4% เท่านั้น และถึงแม้จะไม่นับปัญหา เศรษฐกิจและการเมือง ในช่วงนี้แล้ว ในระยะยาวก็ดูเหมือนจะไม่ได้เติบโตมากเหมือนในอดีต
.
การจะหาหุ้นที่เป็น "Super Stock" 10 เด้ง ในยุค 10 ปีที่ผ่านมาอย่าง CPALL, HMPRO, AOT, BDMS, CPN, KTC และอีกหลายๆบริษัท ที่เติบโตตามเศรษฐกิจของประเทศไทยที่ดีในตอนนั้น และตลาดหุ้นเป็นขาขึ้นต่อเนื่อง คงไม่ใช่เรื่องง่าย
.
"ยุดทองของ VI ไทย ได้จบลงไปแล้ว" และวันนี้มันคงไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป...
.
เป็นคำถามชวนคิด สำหรับนักลงทุน VI รุ่นใหม่ที่เข้าตลาดมา "หลังยุคทอง" ว่าเราจะยังหาหุ้น 10 เด้ง ในตลาดหุ้นไทย ในทศวรรษถัดไป และจะประสบความสำเร็จเหมือนเหล่านักลงทุน VI รุ่นพี่ๆ ได้หรือไม่?
.
"ถ้าคุณอยากได้หุ้นที่เติบโตเป็น 10 เด้งหรอ? ไปลงทุนต่างประเทศสิ ประเทศไทยไม่มีอีกแล้ว!"
เชื่อว่าหลายๆคน อาจจะกำลังคิดแบบนี้ และหมดหวังกับการลงทุนหุ้นไทยไปแล้ว
ซึ่งกลยุทธ์การไปต่างประเทศ น่าจะเป็นแนวทางที่ดีที่คุณอาจจะเจอหุ้น 10 เด้ง ได้จากการลงทุนใน
- หุ้นเทคโนโลยีใหม่ ที่อนาคตอาจจะเป็น Apple Facebook หรือ Amazon ตัวต่อไป
- ลงทุนกิจการที่มีลักษณะคล้ายๆกับ Super Stock ไทย ที่กล่าวมา ในประเทศกำลังพัฒนาที่เติบโตดี เช่น เวียดนาม ก็มีโอกาสเป็นหุ้น 10 เด้ง ได้
.
อย่างไรก็ตามการลงทุนในบริษัทต่างชาติ 100% ของพอร์ต ก็ดูมีความเสี่ยง จาก การที่เราไม่ได้อยู่ใกล้ชิดและอาจจะไม่รู้จักกิจการในหลายๆบริษัทดีเท่าบริษัทในไทย และมีความเสี่ยงเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนรวมถึงสภาพคล่อง ดังนั้น เราคงอาจจะต้องลงทุนหุ้นไทยอยู่บ้าง
.
ก่อนจะตอบคำถามว่า มันจะมีหุ้นไทย 10 เด้ง อีกหรือไม่ ผมจะชวนทุกท่านให้ลองตอบคำถามย่อยๆ 3 คำถามนี้ครับ
.
1. ในภาวะประเทศไทยที่เป็นสังคมผู้สูงอายุ จะยังมีบริษัทที่เติบโตได้หรือไม่?
วิธีจะตอบคำถามนี้ได้ ส่วนตัวผมใช้วิธีศึกษาตลาดหุ้นต่างประเทศที่พอจะมีความคล้ายคลึงกับประเทศไทยอยู่บ้าง นั่นก็ คือ "ญี่ปุ่น" ครับ ซึ่งเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุไปก่อนไทย และ GDP เติบโตน้อย มานานเป็น 10 ปีแล้ว
.
น่าสนใจที่แม้ว่าเศรษฐกิจจะไม่เติบโต แต่ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา บริษัทในตลาดหลักทรัพย์ ของญี่ปุ่น กลับมีหุ้นบางตัวที่เติบโตเป็น "หุ้น 10 เด้ง" เช่น
.
- Keyence (6861) เป็นบริษัทพัฒนาและผลิต Sensor อัตโนมัติ / Vision systems / เครื่องอ่าน barcode / Microscope digital เป็นต้น โดย บริษัทขยายกิจการไปทั่วโลก
ในปี 2010-2020 ราคาหุ้นขึ้นจาก 5,000 -> 51,000 เยน/หุ้น (10 เด้ง)
.
- Nippon Paint (4612) บริษัทผลิตสี "นิปปอน" ที่เรารู้จักกันดี เป็นบริษัทสีอันดับ 7 ของโลก
ในปี 2010-2020 ราคาหุ้นขึ้นจาก 600 -> 11,000 เยน/หุ้น (18 เด้ง)
.
- Daifuku (6383) บริษัททำ Solution เกี่ยวกับ Logistics เช่น สายพานขนถ่ายพัสดุ ระบบจัดเก็บและคัดแยกพัสดุ เป็นต้น ที่เติบโตไปทั่วโลก ตามเทรนด์ E-commerce
ในปี 2010-2020 ราคาหุ้นขึ้นจาก 400 -> 11,000 เยน/หุ้น (28 เด้ง)
.
- Bandai Namco (7832) บริษัทผลิตวิดีโอเกมและตู่เกมอนิแมะ ที่นักเล่นเกมทั่วโลกรู้จักกันเป็นอย่างดี
ในปี 2010-2020 ราคาหุ้นขึ้นจาก 800 -> 8,800 เยน/หุ้น (11 เด้ง)
.
- PPIH (7532) บริษัทที่ทำร้านค้าปลีกในญี่ปุ่น หนึ่งในนั้นเป็นร้านที่นักท่องเที่ยวไทยรู้จักกันดี นั่นก็คือ "ร้านดองกี้โฮเต้"
ในปี 2010-2020 ราคาหุ้นขึ้นจาก 250 -> 2,500 เยน/หุ้น (10 เด้ง)
.
และมีหุ้นอีกหลายๆตัวที่เติบโตได้ 8-9 เด้ง ยกตัวอย่าง เช่น บริษัทแบรนด์เสื้อผ้า Uniquo (Fast retailing) หรือผู้ผลิตกล้องอย่าง Olympus ดูเหมือนว่าบริษัทเหล่านี้จะเป็น บริษัท ที่ยังอยู่ใน Megatrend ที่เติบโต และมีความสามารถในการแข่งขัน ในระดับโลก
.
ดังนั้น ข้อสรุปของผม คือ แม้ว่าเศรษฐกิจในประเทศอาจจะไม่ได้เติบโต แต่มันอาจจะมี trend บางอย่างที่ยังเติบโตไปได้อีก 10 ปี และเราคงต้องหากิจการที่สามารถแข่งขันในระดับโลกได้
.
2. จะมีบริษัทไทยสามารถแข่งขันในระดับโลกได้จริงหรือ?
จากข้อหนึ่งหลายคนอาจจะมีความสงสัยว่า "นี่ประเทศไทยนะ ไม่ใช่ญี่ปุ่น" จะเทียบกันได้ยังไง ประเทศเรายังล้าหลังกว่ามาก และจะมีสักกี่บริษัทที่ "แข่งกับระดับโลก" ได้
.
ใช่ครับ นี่ คือ ประเทศไทย ประเทศบ้านเกิดของเรา ... บางครั้งปัญหาเชิงโครงสร้างที่สะสมมานาน มันทำให้เราอาจจะไม่ได้สังเกตว่า จริงๆแล้วประเทศไทยหรือกิจการไทย ก็น่าจะพอมีเรื่องที่เป็น "จุดแข็ง" พอจะแข่งกับระดับโลกได้ เช่น
.
- อาหารไทย ไม่แพ้ชาติใดในโลก -> ชาวต่างชาติที่เคยชิมอาหารไทย น่าจะถูกใจ ด้านรสชาติที่จัดจ้าน + สมุนไพรมากมาย ตอบรับเทรนด์สุขภาพ มีโอกาสที่เราจะเป็น "ครัวของโลก" ได้
.
- การท่องเที่ยวและศิลปวัฒนธรรม -> ประเทศไทยเป็น Destination อันดับต้นๆของโลก ที่นักท่องเที่ยวต่างชาติ อยากมาเที่ยว รวมถึงวัฒนธรรมไทยต่างๆที่ชวนหลงไหล
.
- สุขภาพ -> เทรนด์สุขภาพน่าจะเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับโลกไปอีกนาน ซึ่งประเทศเราก็ทำได้ดี โดยเฉพาะการบริการด้านสุขภาพ
.
นี่เป็นแค่บางตัวอย่างที่ผมคิดออก อาจจะมีอย่างอื่นอีกนะ...ในประเทศไทยน่าจะพอมีกิจการใน Sector เหล่านี้อยู่บ้าง ซึ่งก็ต้องตอบคำถามว่าเค้ามีศักยภาพพอจะแข่งระดับโลกได้หรือไม่ หรืออย่างน้อย สามารถแข่งขันในระดับ Asean ได้หรือเปล่า
.
3. กิจการเหล่านั้นจะสามารถปรับตัวให้เข้ากับเทคโนโลยีได้หรือไม่?
ส่วนตัวผมยังไม่เห็นกิจการที่ใช้เทคโนโลยี ในตลาดหุ้นไทย ที่มีลักษณะ Platform ที่สามารถ Scalable ได้ดี และเติบโตไปแข่งในระดับโลกได้ แต่ก็ไม่แน่ว่าอนาคตอาจจะมีก็ได้
.
อย่างไรก็ตาม ถ้าไม่มีจริงๆ ก็ต้องถามว่า บริษัทในกลุ่มตามข้อ 2 จะสามารถปรับตัวเองให้เข้ากับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไปได้หรือไม่ และจะมีอะไรมา Disrupt กิจการหรือเปล่า?
.
ทั้งนี้ นอกจากลักษณะธุรกิจและความสามารถของผู้บริหาร น่าจะเป็นจุดสำคัญที่ทำให้องค์กรสามารถปรับตัว อยู่รอดและไปสู่เป้าหมายได้ครับ
.
ส่วนตัวยังคิดว่า เราน่าจะยังมีบริษัทที่สามารถเติบโตเป็นหุ้น 10 เด้ง ได้อยู่ครับ แต่คงไม่เยอะเหมือนสมัยก่อน และที่สำคัญ คือ กิจการเหล่านี้คงเป็นบริษัท กลาง-เล็ก ไม่ใช่ธุรกิจขนาดใหญ่ในไทยแน่ๆ
.
และถ้าคุณเห็นคุณค่าที่ซ่อนอยู่ในบริษัทเหล่านี้ได้ก่อนคนอื่น คุณก็มีโอกาสประสบความสำเร็จครับ อย่าลืมว่า อาจารย์ นิเวศน์ ซื้อ CPALL หรือ HMPRO ตั้งแต่บริษัทเล็กกว่านี้มากๆ : )
.
ทั้งหมดเป็นแค่มุมมองของผมคนเดียว อนาคตเป็นเรื่องที่ไม่มีใครรู้ จนกว่ามันจะเป็นจริง ดังนั้น อย่าเชื่อ! แต่ให้พิจารณาด้วยตัวคุณเองครับ และใครมีมุมมองอย่างไร Comment มาคุยกันได้เลยครับ : )
Writer: Pocket investor
ภาพประจำตัวสมาชิก
Pocket investor
Thai VI Partner
โพสต์: 195
ผู้ติดตาม: 304

Re: ตลาดหุ้นไทย ยังมีหุ้นเติบโต 10 เด้ง ในอีก 10 ปี อีกหรือไม่? / Pocket investor

โพสต์ที่ 2

โพสต์

ได้ idea จากการฟังพี่เชาว์ เฉลิมเดช ลีวงศ์เจริญ ในรายการ Money Chat ครับ
"หุ้นในดวงใจ VI กว่าทศวรรษ"
https://www.youtube.com/watch?v=DCNAEok3zh4&t=2045s
โพสต์โพสต์