ชะตากรรมแหล่งท่องเที่ยว มัลดีฟส์ สิงคโปร์ ฮ่องกง บาหลี

การลงทุนแบบเน้นคุณค่า ลงทุนหุ้น VI เน้นที่ปัจจัยพื้นฐานเป็นหลัก

โพสต์ โพสต์
ภาพประจำตัวสมาชิก
noonnsn
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 435
ผู้ติดตาม: 4

ชะตากรรมแหล่งท่องเที่ยว มัลดีฟส์ สิงคโปร์ ฮ่องกง บาหลี

โพสต์ที่ 1

โพสต์

ชะตากรรมแหล่งท่องเที่ยว มัลดีฟส์ สิงคโปร์ ฮ่องกง บาหลี
ธุรกิจท่องเที่ยวพังเป็นแถบก็ว่าได้ ประเทศที่มีธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวทำอย่างไรกันบ้าง มาดู มัลดีฟส์ สิงคโปร์ ฮ่องกง

เขารับมือกันอย่างไรในขณะนี้

ประเทศไทยเผชิญกับวิกฤติการท่องเที่ยว ขณะนี้นักท่องเที่ยวต่างชาติมีจำนวนเท่ากับศูนย์ แตกต่างจากปีก่อนหน้าที่มีนักท่องเที่ยวเข้ามาเดือนละ 3 ล้านคน เมืองท่องเที่ยวไทยกำลังแห้งตาย เช่น พัทยา ภูเก็ต สมุย หัวหิน เชียงใหม่ แต่ก็มีความพยายามในการฟื้นการท่องเที่ยวภายในประเทศ ซึ่งก็คงจะสำเร็จได้ยาก เพราะเม็ดเงินที่ขาดหายไปมันมากเกินกว่าที่การท่องเที่ยวกันเองในหมู่คนไทยจะช่วยได้

ณ วันที่ 29 ก.ย.2563 มีคนตายเพราะโควิด-19 จำนวน 1,005,532 รายแล้ว จากข้อมูลของ Worldometer แม้ว่าสหรัฐจะมีจำนวนผู้ติดเชื้อสูงสุด แต่จำนวนผู้ติดเชื้อก็ลดลงตามลำดับ จำนวนผู้เสียชีวิตก็ลดลงมา รวมทั้งในทวีปยุโรป แม้บางประเทศจะมีการ “ระบาดรอบ 2” มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นแต่จำนวนผู้เสียชีวิตน้อยกว่ารอบแรกมาก ที่น่าห่วงคือประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศที่จำนวนผู้ติดเชื้อและจำนวนผู้เสียชีวิตกำลังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะอินเดียที่มีพรมแดนติดกับเมียนมาและน่าจะแพร่เชื้อเข้าไทย อย่างไรก็ตาม สัดส่วนผู้เสียชีวิตในอินเดียมีเพียง 2% เท่านั้น

ผลจากการสำรวจจากผู้เชี่ยวชาญเกือบ 200 คนใน 33 ประเทศทั่วโลกของสมาคมการค้าอสังหาริมทรัพย์สากล (FIABCI-Thai) พบว่าโควิด-19 จะทำให้ตลาดอสังหาริมทรัพย์ลดลง 10.4% จากภาวะปกติ โดยภาคที่จะลดลงสูงสุดก็คือ โรงแรม (22.3%) รีสอร์ต (19.8%) ศูนย์การค้า (17.8%) และพื้นที่สำนักงานให้เช่า (16%) และคาดว่าตลาดอสังหาริมทรัพย์จะกลับมาฟื้นตัวในปี 2565 หรืออีกราว 2 ปีข้างหน้า แสดงว่าในเร็ววันนี้ตลาดยังไม่ฟื้นอย่างแน่นอน

เศรษฐกิจของ “มัลดีฟส์” ขึ้นอยู่กับการท่องเที่ยวถึง 66.4% การไม่มีนักท่องเที่ยวก็เท่ากับมัลดีฟส์เป็นเสมือน “นรก” ทางเศรษฐกิจดีๆ นี่เอง ประชาชนและธุรกิจต่างๆ คงอดอยากปากแห้งเป็นอย่างมาก ดังนั้น มัลดีฟส์เปิดประเทศต้อนรับนักท่องเที่ยวตั้งแต่วันที่ 15 ก.ค.2563 โดยตอนเปิดบอกว่าไม่มีข้อห้ามใดๆ เพียงแต่มีการตรวจประวัติล่วงหน้า 1 วันว่า ผลการทดสอบไม่ติดไวรัสก่อโรคโควิด-19

อย่างไรก็ตาม หลังจากประกาศเปิดจนถึงสิ้นเดือน ส.ค.2563 (ประมาณเดือนครึ่ง) มีนักท่องเที่ยวไปเที่ยวรวมกันเพียง 9,329 คนเท่านั้น โดยมาจากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ 1,627 คน อังกฤษ 715 คน และสหรัฐ674 คน แสดงว่าไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร เพราะประเทศต่างๆ ก็ยังไม่ค่อยออกนอกประเทศไปเที่ยวกันนัก

ผลพวงการเปิดประเทศเมื่อ 15 ก.ค.2563 ปรากฏว่าพบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นจากแต่เดิมมาก จนถึงวันที่ 21 ก.ย.2563 มีผู้ติดเชื้อแล้ว 9,724 คน ตาย 33 ราย และหายป่วยแล้ว 8,261 คน จนต่อมารัฐบาลมัลดีฟส์ต้องเข้มงวดกับการเข้ามาของนักท่องเที่ยวมากขึ้น

หากประเทศไทยเปิดประเทศ ก็คงจะเผชิญชะตากรรมแบบเดียวกัน คงมีผู้ติดเชื้อเข้ามาเป็นจำนวนมาก และแพร่เชื้อไปยังพื้นที่อื่นๆ เช่น ภาคเหนือรอบจังหวัดเชียงใหม่ รวมทั้งจังหวัดภาคตะวันออกทั้งหมดรอบๆ พัทยา และภาคใต้ตอนบนรอบๆ สุราษฎร์ธานี (สมุย) และภาคตอนล่าง (รอบๆ ภูเก็ต)

“สิงคโปร์” ที่เคยมีนักท่องเที่ยวเป็นจำนวนมากเช่นเดียวกับไทย ก็ยังปิดไม่ให้นักท่องเที่ยวเข้าเมืองเช่นกัน โดยประกาศล่าสุดเมื่อวันที่ 2 ก.ย.2563 ระบุยังไม่ต้อนรับนักท่องเที่ยวระยะสั้นเข้าประเทศ ยกเว้นที่เข้าช่อง Green/Fast Lane หรือที่ได้รับอนุญาตก่อนการเดินทางมาถึงเท่านั้น นอกจากนี้ในสิงคโปร์ยังมีมาตรการห้ามคนอยู่ใกล้กันเกินกว่า 1 เมตรอยู่เลย กิจกรรมการท่องเที่ยวจึงหดหายไปเหลือแทบเป็นศูนย์ รัฐบาลสิงคโปร์ก็พยายามส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศแทน

ในกรณีของ “ฮ่องกง” ซึ่งเป็นจุดหมายปลายทางของการท่องเที่ยวอีกแห่งหนึ่งของโลก ปรากฏว่าปริมาณการเดินทางเข้าประเทศลดลงไปถึง 90% เศษ หรือเรียกได้ว่าเกือบเป็นศูนย์เลยทีเดียว จนนายกสมาคมการท่องเที่ยวฮ่องกงบอกว่า “เรากำลังจะตาย” ทั้งบริษัททัวร์ 1,700 แห่ง โรงแรมและสายการบินทั้งหลาย รัฐบาลฮ่องกงก็พยายามหาทางออกด้วยการจะอนุญาตให้เปิดด่านชายแดนที่ติดกับเซินเจิ้น เพื่อให้นักท่องเที่ยวจีนแผ่นดินใหญ่เข้ามาก่อน จากนั้นก็มีเป้าหมายที่จะขยายจำนวนนักท่องเที่ยวจากไทย ญี่ปุ่น สิงคโปร์

“บาหลี” เป็นอีกแหล่งท่องเที่ยวหนึ่งที่อาศัยนักท่องเที่ยวเป็นอันมาก 80% ของกิจกรรมทางเศรษฐกิจของบาหลีมาจากการท่องเที่ยว แต่การท่องเที่ยวก็ปิดไปจนถึงเดือน ส.ค. ก่อนเปิดต้อนรับนักท่องเที่ยวภายในประเทศเอง แต่สำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติก็คงต้องรอไปถึงสิ้นปี 2563 และแม้จะเปิดต้อนรับนักท่องเที่ยวภายในประเทศ ก็ไม่อาจช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ เนื่องจากโควิด-19 ยังอยู่ในภาวะที่รุนแรงในอินโดนีเซีย โดย ณ วันที่ 29 ก.ย.2563 มีผู้ติดเชื้อถึง 278,722 รายและเสียชีวิตแล้ว 10,473 ราย

ดูแล้วกิจการท่องเที่ยวทั้งหลายคงจะรอดยาก นักท่องเที่ยวที่จะเข้ามาในช่วงนี้คง “ไม่พอยาไส้” แถมเสี่ยงเรื่องแพร่เชื้ออีก นักท่องเที่ยวในประเทศก็คงมีไม่เพียงพออยู่ดี คนทำงานในอาชีพที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวก็คงต้องเปลี่ยนอาชีพ (อย่างน้อยชั่วคราว) ไปก่อนโดยด่วน การท่องเที่ยวคงจะไม่เกิดขึ้นอย่างจริงจังในช่วง 2 ปีนี้ และคาดว่าจะฟื้นตัวในปี 2565 หรือกินเวลา 2 ปีนับจากนี้ และหลังจากการฟื้นตัว การท่องเที่ยวก็คงค่อยเป็นค่อยไป ไม่ได้ก้าวกระโดดดังหวัง

สำหรับกรณีโรงแรมในแหล่งท่องเที่ยวทั้งหลาย คงต้องคำนวณให้ดีว่าระหว่างเปิดดำเนินการต่อไปด้วยอัตราการเข้าพัก 20-30% เพื่อให้แค่พอคุ้มค่าใช้จ่าย กับการปิดไปเลยแล้วเปิดใหม่ในอีก 2 ปีข้างหน้าอย่างไหนจะคุ้มกว่ากัน ถ้าโรงแรมมีอัตราผลตอบแทนปีละ 6% และขาดรายได้ไป 2 ปี ก็จะเท่ากับมูลค่าของโรงแรมลดไป 11% หรือเท่ากับ (1/(1+6%)^2)-1 แต่ในด้านการต่อรองเพื่อซื้อโรงแรม อัตราผลตอบแทนนี้อาจบวกด้วยความเสี่ยงอีก 5% ก็เท่ากับราคาลดลงไปถึง 19% เลยทีเดียว หรือเท่ากับ (1/(1+11%)^2)-1 นั่นเอง

การออกพันธบัตรตั้งกองทุนซื้อโรงแรมและกิจการที่เกี่ยวข้องน่าจะเป็นทางออกหนึ่งในการแก้ปัญหาในเวลานี้
โพสต์โพสต์