MoneyTalk@SET14/12/62เศรษฐกิจโลกเศรษฐกิจไทยปี63 และแนวโน้มหุ้นปี63

การลงทุนแบบเน้นคุณค่า ลงทุนหุ้น VI เน้นที่ปัจจัยพื้นฐานเป็นหลัก

โพสต์ โพสต์
ภาพประจำตัวสมาชิก
i-salmon
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 295
ผู้ติดตาม: 1

MoneyTalk@SET14/12/62เศรษฐกิจโลกเศรษฐกิจไทยปี63 และแนวโน้มหุ้นปี63

โพสต์ที่ 1

โพสต์

MoneyTalk@SET14/12/62


ช่วงที่ 1 “เศรษฐกิจโลกเศรษฐกิจไทย 2563 และผลกระทบหุ้น”
1) ดร. ศุภวุฒิ สายเชื้อ
ดร.ไพบูลย์ เสรีวิวัฒนา และ อ.เสน่ห์ ศรีสุวรรณ ดำเนินรายการ


แนวโน้มเศรษฐกิจโลกปีหน้า?
ดร.ศุภวุฒิ มีการวิเคราะห์ไว้ว่าไตรมาส 1 ปีหน้า เศรษฐกิจจะถึงจุดต่ำสุด แล้วไตรมาส 2-4 จะค่อยดีขึ้น
คำถามคือจะเป็นจริงหรือไม่? เพราะหลายอย่างมีความชัดเจนขึ้นแล้ว เช่น การเลือกตั้งอังกฤษได้
บอริส จอห์นสัน เป็นนายก ก็จะสามารถขับเคลื่อนต่อเรื่อง brexit ได้ ซึ่งสัญญาว่าเกิดขึ้นแน่ในปลายปี
การค้าจีนกับอเมริกามีการสงบศึกทำให้อาจไม่เกิดการขึ้นภาษีอีก

ที่น่าสังเกตคือทางจีนไม่ได้ประกาศอะไรเลย แต่ทางอเมริกาทรัมพ์มีการแสดงความดีใจ
และมีการประกาศเรื่องการลงนามกัน เดือน ม.ค. ปีหน้า หากเกิดขึ้นจริงตลาดจะพึงพอใจระดับหนึ่ง
ซึ่งทางตลาดหุ้นอเมริกาหลังรับรู้ข่าวก็ปรับขึ้นไม่มาก
ส่วนตัวยังไม่เชื่อว่าจะไปได้ดี
ตลาดที่ต่างประเทศหุ้นขึ้น 25-30 % ขณะที่ผลประกอบการบริษัทเฉลี่ยไม่ดีขึ้น
แสดงว่าตลาดคาดการณ์ว่าผลประกอบการปีหน้าจะดีขึ้น มีการใส่ข่าวดีเข้าไปในราคาแล้ว
ปกติ PE อเมริกา 13-14 เท่า แต่ PE ปิดที่ 16 เท่า
แต่อย่างน้อยทุกคนก็มั่นใจว่า ผู้ว่าแบงค์ชาติจะช่วยอุ้มตลาด หากตลาดมีปัญหาจะลดดอกเบี้ยให้
คนจึงกล้าในการลงทุน
อย่างล่าสุดประชุม FOMC บอกชัดว่าไม่ลดดอกเบี้ย
แต่ตลาดก็ยังมีการคาดว่าลดดอกเบี้ยในปีหน้า
เช่นเดียวกับในปีนี้ที่ทีแรกก็บอกไม่ลดดอกเบี้ย ปรากฏว่าลด 3 ครั้ง

การเลือกตั้งประธานธิบดีอเมริกา คนคาดการณ์ว่าหลังเลือกตั้งเศรษฐกิจจะดีขึ้น
แต่ก็เป็นสิ่งน่ากังวล เพราะทรัมป์ต้องต่อสู้กับหลายคนในเดโมแครต มีเสียงในวุฒิสภา 45 เสียง
ซึ่งเสียงของรีพับลีกันที่จะเลือกตั้งใหม่ 20 เสียง ถ้าหากเสียให้เดโมแครตจะทำให้ลำบาก
มีเรื่องที่สภาของอเมริกาเห็นพ้องกันได้อยู่เรื่องเดียวคือ กฏหมายที่ไปจัดการกับจีน
เช่น ถ้าจีนไปทำอะไรไม่ดีกับฮ่องกง จะมีการเสียสิทธิพิเศษทางการค้า


เศรษฐกิจโลกประเทศอื่นๆนอกจากจีนและอเมริกา อินเดียไม่มีผลหรอ?
อินเดียแม้จะมีประชากรพันล้าน แต่ยังมีเศรษฐกิจที่เล็กอยู่ GDP ไม่ถึง 2 ล้านล้านUSD
คิดเป็น 3% ของ GDP โลก เรียงลำดับจากขนาดใหญ่สุด USA 19 ล้านล้าน จีน 12 ล้านล้าน
ญี่ปุ่น 5-6 ล้านล้าน เยอรมัน 3 ล้านล้าน และรองๆลงมา อังกฤษ,ฝรั่งเศส
ส่วนของไทยราว 5 แสนล้าน

RCEP จะมีผลอะไรไหม?
ยังไม่แน่ใจ อินเดียยังไม่เข้าร่วม
ปัญหาของ RCEP มีคนอยากขาย แต่ไม่มีคนซื้อ
ทุกคนเกินบัญชีเดินสะพัดกันหมด
ไม่เหมือน TPP ที่อเมริกาเป็นคนซื้อเห็นชัดเจน

แนวโน้มเศรษฐกิจไทย?
ยังน่ากังวล ลมต้านน้อยลง แต่ไม่มีลมส่ง
จากตัวเลขมันไหลลง และไหลไม่หยุด
เช่น ปี 62 ส่งออก ติดลบ 6% ขณะที่ปีก่อน โต 2.5% แต่ปีนี้เกินบัญชีดุลสะพัด
แสดงว่าขายของมากกว่าซื้อของ แปลว่าขายของลดลง 6% แต่นำเข้าลดลง 8%
แสดงว่ากำลังซื้อข้างในไม่มี ดูอย่างมอเตอร์โชว์ล่าสุดยอดลง 15%

ไม่แน่ใจว่าจุดต่ำสุดอยู่ที่ไหน อะไรจะเป็นตัวทำให้ฟื้นได้
สมมติ บอกว่าจะฟื้นจาก ส่งออกจะดี แต่นำเข้ายังแย่อยู่
แล้วก็จะเกินดุลบัญชีมากขึ้น => บาทแข็ง => ส่งออกไม่ได้

ยังไม่เห็นตัวขับเคลื่อน อย่างเช่น ทำ ชิมช็อปใช้เฟส 5 จะช่วยได้หรือเปล่า
รัฐบาลก็คงหาทางขับเคลื่อนอยู่ อย่างเรื่อง EEC ก็คาดหวังมา 2 ปีแล้ว ยังไม่เห็นมา

ดูตัวเลขดัชนี MPI(Manufacturing Production Index)
ปี 61 ต้นปี 105 จบปี 105 ปี 62 ต้นปี 105 ตอนนี้ราว 99
การผลิตคงที่จนถึงลดลง ถ้ามันถึงจุดต่ำสุดแล้วก็ควรจะผงกหัวขึ้นบ้าง
คำถามต่อมาผลิตแล้วไปขายใคร ก็ต้องเป็นต่างประเทศ
ซึ่งต้องหวังให้เศรษฐกิจโลกฟื้น ปัญหาถัดมา ถ้าหากส่งออกดีขึ้น บาทก็จะแข็ง

มีโอกาสเกิดวิกฤติเหมือนต้มยำกุ้งไหม?
ไม่เหมือนกัน เพราะปี 2540 เป็นวิกฤติคนรวย บริษัทใหญ่พังหมด กู้เงินดอลลาร์เยอะ
ดอลลาร์แข็งค่า บาทอ่อน รอบนี้กลับกัน บาทแข็งค่าขึ้น ดูเป็นวิกฤติคนจนมากกว่า
ประเทศไทยสินค้าเกษตร ราคากำหนดด้วยค่าเงิน ข้าว ยาง เป็นราคาต่างประเทศ ทอนมาเป็นบาท
ที่ผ่านมาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำเพราะบาทแข็ง 3 ปีที่ผ่านมาแข็งขึ้น 20%
เป็นห่วงคนกลุ่มนี้มากกว่าที่ได้รับผลกระทบ
ถ้าส่งออกไม่ดี SME ที่สายป่านสั้นก็จะโดนมากกว่า อย่างตัวเลข NPL ของ SME พุ่งขึ้น
แบงค์ก็ระมัดระวังไม่ปล่อยกู้ก็ทำให้ SME ยิ่งลำบาก

GDP ไทย และภาคเกษตรกรรม?
GDP มาจากเกษตรกรรมเกือบ 10% เดิมใช้ยุทธศาสตร์เน้นให้ภาคอุตสาหกรรมโต
ส่งผลให้ภาคอุตสาหกรรมโต 8% ต่อปี แต่ภาคเกษตรโต 2% จึงหดลงเรื่อยๆ
คนในภาคเกษตรกรรมเยอะกว่า ทำให้มีอัตราผลผลิตต่ำกว่า

ควรทำอย่างไรในการลงทุนปีหน้า?
ถ้าถือหุ้นระยะยาว สามารถถือได้ 10-20 ปี หุ้นจะให้ผลตอบแทนสูงสุดอยู่แล้ว เฉลี่ย 7%
Upside ปีหน้านึกไม่ออก ยกเว้นถ้ามีหุ้นบางตัวที่มีความสามารถพิเศษ หรือตลาดพิเศษที่พัฒนาไปได้
ส่วนตัวจึงไปเน้นดูแลสุขภาพตัวเองก่อนดีกว่า

กลุ่มไหนที่คิดว่าพอได้ กลุ่มไหนที่เหนื่อยมาก?
ดูยาก ต้องวิเคราะห์เป็นรายตัว อย่างภาคท่องเที่ยวที่คิดว่าดี แม้นักท่องเที่ยวเพิ่ม แต่รายได้ต่อหัวไม่ได้เพิ่ม
รวมถึงกฏเกณฑ์อะไรมาแทน แบบสนามบิน ก็อาจทำให้ผลตอบแทนไม่ดี

เครื่องยนต์ 4 เครื่องเศรษฐกิจ ส่งออกไม่ดี การบริโภคอ่อนแรง การลงทุน EEC ก็ยังไม่เห็นนัก
การใช้จ่ายภาครัฐจะดีขึ้นไหม?
คาดหวังเช่นนั้น ต้องผ่านงบประมาณราวเดือน มี.ค.ปีหน้า และเงินที่จะใช้ก็ต้องขาดดุลโดยการกู้เงินมาใช้

รัฐพยายามกระตุ้นเศรษฐกิจ จนหลังๆจะชาไปหมดไหม
เม็ดเงินที่ใส่จะถึงคนที่ไม่มีกำลังซื้อไหม? อย่างกระเป๋าตัง 1 แล้วออกกระเป๋าตัง 2 ไม่มีเงินซื้อจะทำอย่างไร?
เดาว่าก็คงมีกระเป๋า 1 เพิ่มมาอีกได้
สิ่งที่รัฐบาลหวังก็คงเป็น EEC มีเงินลงทุนมาขับเคลื่อน จ้างงาน ซื้อเหล็ก เอาเทคโนโลยีเข้ามา

ถ้ารัฐบาลออกไปชวนต่างประเทศให้สิทธิพิเศษจะช่วยได้ไหม?
เป็นสิ่งที่ทุกประเทศทำเหมือนกัน
ที่ทำให้เราลำบากกว่าสมัยก่อนคือ ประชากรเริ่มแก่ตัว อายุเฉลี่ยเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ใกล้ 40 แล้ว
เมื่อ 20 ปีที่แล้ว 20 กว่า และประชากรที่อยู่ในวัยทำงานเริ่มลดลงตั้งแต่ปี 2015 และไม่เพิ่มขึ้นแล้ว
แรงงานก็น้อยลงไป ความน่าลงทุนก็ลดลงไป
เคยคุยกับนายธนาคารญี่ปุ่น เวลาเขาลงทุนจะมองเพื่อขายสินค้าสำหรับความต้องการในประเทศก่อน
แล้วใช้เป็นฐานผลิตส่งไปประเทศอื่น ดังนั้นตลาดข้างในต้องโตเองก่อน
ซึ่งเลยจุดที่ตลาดไทยจะโตได้เร็วแล้ว ในขณะที่อินโดนีเซีย เวียดนาม กำลังโตได้เร็ว
สมัยก่อน ปี 60-90 ญี่ปุ่นลงทุนรถยนต์ในไทยเยอะมาก
เพราะตลาดในไทยโตจากไม่กี่แสนคัน เป็นล้านคัน
แต่วันนี้ผลิตขายในประเทศ 1 ล้านคัน ส่งออกเพิ่มจะ 2 ล้านคัน ตลาดในประเทศก็ไม่โตแล้ว

ควรไปลงทุนต่างประเทศไหม? ควรไปลงทุนที่ไหน?
โดยหลักการควรกระจายความเสี่ยงจากประเทศไทย เพราะหุ้นไทยโดนกำหนดปัจจัยโดยโลกด้วย
แต่เรามีความรู้น้อย หากซื้อหุ้นรายตัวเราอาจไม่รู้ดีมาก
เช่น ถ้าเราชอบ apple, google ก็ไม่ได้เข้าใจจริงๆได้ง่าย
ดังนั้นซื้อกองทุนที่ซื้อหุ้นทั้งโลก แบบซื้อ index fund น่าจะปลอดภัยสุด
เช่น ซื้อดัชนี S&P500 โดยรวมๆมีน้ำหนักราว 50% ของดัชนีตลาดโลก

ท่องเที่ยวเป็นความหวังไหมปีหน้า?
คิดว่าฟื้นตัวได้ แต่ถ้าเจอบาทแข็งก็จะไม่สามารถขยายผลประกอบการได้
เพราะเราเกิดดุลบัญชีเดินสะพัดเยอะ ปีนี้ 10 เดือน น่าจะใกล้ๆ 3 หมื่นล้านเหรียญ
คิดง่ายๆ คือมีคนอยากแปลงดอลลาร์เป็นบาท เดือนละ 3 พันล้านเหรียญ
ปัญหาแบงค์ชาติ เวลาซื้อดอลาร์ขายบาท ทุนสำรองประเทศจะเพิ่มสูง ปริมาณบาทในระบบมีเยอะ
ทำให้ดอกเบี้ยก็จะลดลง แบงค์ชาติไปสัญญาไว้ว่าจะรักษาดอกเบี้ยที่ 1.25%
จึงต้องซื้อบาทกลับ โดยไปออก bond (stabilization)
ส่งผลให้เงินบาทกลับไปแข็ง เพราะปริมาณบาทในระบบก็เท่าเดิม
แบงค์ชาติจึงเสนอให้เราช่วยกันเอาเงินออก เพื่อชดเชย 3 หมื่นล้านเหรียญที่เข้ามา
แต่พอเราเอาบาทออกไปไม่มากพอ จึงส่งผลให้บาทยังแข็ง

แนะนำเรื่องการดูแลตัวเองอย่างไร?
ตอนอายุ 56 ปีสุขภาพไม่ดี น้ำหนักมากกว่านี้เกือบ 10 kg ไปหาหมอ anti aging
หมอบอกว่าฮอร์โมนเหมือนอายุ 70 กว่า ก็ฉีดฮอร์โมนให้
บอกว่าช่วยให้ได้แค่ 20% อีก 80% ต้องไปทำเอง
จึงปรับเปลี่ยนตัวเอง อย่างแรก เลิกกินอาหารเย็น ดูจาก dna มีโอกาสตายจากโลกเบาหวาน
ร่างกายจะได้ย่อยอาหารให้หมด ย่อยน้ำตาลให้หมด
ช่วงแรกที่ไม่กินอาหารก็กระวนกระวาย ก็เลยไปวิ่งแทน
พอทั้งวิ่งด้วยและไม่กินด้วย น้ำหนักลดลง และลดค่าใช้จ่ายด้วย เพราะมื้อเย็นกินใหญ่สุด แพงสุด

ทุกวันนี้ไปวิ่งราว 30-60 นาที ได้สัปดาห์ละ 20 km
อ่านงานวิจัยว่า ถ้าวิ่งสัปดาห์ละ 3-4 ชั่วโมงจะอายุยืนสุด ไม่กระทบสุขภาพ
มากไปก็อาจต้องเปลี่ยนเข่า หรือเจ็บหลัง
และต้องวิ่งให้ถูก ลงตรงกลางเท้า อย่าเอาส้นลง
ใช้รองเท้าเบาๆ ถ้าพื้นหนาๆบาดเจ็บมากกว่า

ส่วนเรื่องกินอะไรดี คิดว่าไม่กินดีที่สุด ตำราต่างๆบอกว่าถ้ารู้สึกหิวทุกวันจะดีกว่า
ความหิวเป็นตัวกระตุ้นยีนส์ที่คุมความแก่ของร่างกาย จะกระตุ้นให้เซลล์ไม่แก่
คนที่ได้รางวัลโนเบบ ดร.โอสุมิ เรื่อง autophagy คือ เซลล์เราไปกวาดกินของเสีย
และพัฒนาตัวเองให้หนุ่มขึ้น มีเขียนหนังสือเรื่องหนึ่ง ชื่อ สูงวัยอย่างมีคุณภาพ
อยากให้พวกเราทุกคน สูงวัยอย่างมีคุณภาพ มีสุขภาพดีจนวันสุดท้ายของชีวิต
จากสถิติคนจะเป็นโรคร้าย มะเร็ง เส้นเลือดสมองตีบ เมื่ออายุมากกว่า 40 ปี
และสุดท้ายคืออัลไซเมอร์เมื่อ 65 ปีขึ้นไป
แนะนำว่าตั้งแต่ 40 ปีก็วางแผนสูงวัยอย่างมีคุณภาพเลยดีกว่า

เคยได้ยินว่าเว้นอาหาร 8 ชั่วโมง 16 ชั่วโมง อะไรพวกนี้ดีไหม?
ที่เรียกกันว่า IF Intermittent Fasting
แรกเริ่มมีหมอท่านหนึ่งออก BBC บอกว่าต้องไม่ทานอาหาร 2 วันต่อสัปดาห์
เช่น ไม่ทานอังคารกับพฤหัส ทานแต่น้ำ
ส่วนที่เว้นการทาน 8 หรือ 16 ชั่วโมงที่จริงต้อง เรียกว่า time restricted feeding
ซึ่งคิดว่าอันนี้ดีกว่า และส่วนตัวไม่กินข้าวเย็นก็ทำอันนี้โดยปริยาย
พระไทย CNN ทำรายการ มีอัตราการเป็นโรคอ้วนสูงสุดมากกว่าคนไทย เพราะท่านฉันน้ำหวาน
อันนี้อันตรายที่สุด น้ำตาลเข้าสู่ร่างกายเร็วมาก ตับอ่อน ไต ทำงานหนัก เส้นเลือดก็จะมีปัญหา

อะไรเป็นหลักทั่วไปๆ ในการดูแลสุขภาพ?
ขอ 3 อย่าง
1.เอวต้องเท่ากับ 0.5 ของความสูง เช่น สูง 170 cm เอวไม่เกิน 85 cm (34 นิ้ว)
2.นอนให้พอ ถ้านอนไม่พอมีโอกาสเป็นอัลไซเมอร์สูง ต้องหลับลึกด้วย
เพราะจะมีกลไกไปล้างของเสียออกจากสมอง นอนให้ได้ 7-8 ชม. อย่าให้ต่ำกว่า 5 ชม.
หลับลึกให้ได้ 2 ชม.จะดีมาก
3.ออกกำลังกายวันละ 30 นาที บางอย่างไม่ดีก็ไม่ทำ เช่น สูบบุหรี่, กินเหล้า




ช่วง 2 "แนวโน้มหุ้นไทยและหุ้นเด่นปี 63"

1. คุณ ไพบูลย์ นลินทรางกูร (คุณทอม)/ ประธานสภาธุรกิจไทย
2. คุณ มนตรี ศรไพศาล / ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) - MBKET
3. ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร / ผู้เชี่ยวชาญหุ้น

ดร.ไพบูลย์ เสรีวิวัฒนา และ อ.เสน่ห์ ศรีสุวรรณ ดำเนินรายกา

“ปีหกสาม ตามรอบนี้ เป็นปีหนู
จะลงรู หรืออยู่เป็น เช่นไรหนอ
แนวโน้มหุ้น เป็นอย่างไร ไปหรือรอ
หุ้นไหนห้อ หุ้นไหนหด งดลงทุน
ฟังกูรู ผู้เจนจบ ประสบการณ์
รู้รอบด้าน ทั้งไทยเทศ ทุกเขตหนุน
ศึกการค้า น่าจบไหม ไม่ชุลมุน
เลือกตั้งลุ้น ทรัมป์อยู่ต่อ หรือพอที
ประธานสภา ธุรกิจ ตลาดทุนไทย
หัวเรือใหญ่ ทิสโก้ หลักทรัพย์นี้
ทอมไพบูลย์ นลินทรางกูร คนหุ่นดี
มองวิถี หุ้นไทย ถึงไหนกัน
เปี๊ยะมนตรี ศรไพศาล ประธานใหญ่
เมย์แบงก์กิมเอ็ง มาเลย์ไทย ใจเชื่อมั่น
ผ่านวิกฤติ มามากมาย หลายครั้งครัน
มองหุ้นไทย อย่างไรนั่น ท่านฟันธง
เต่าวีไอ รุ่นใหญ่เดอะ เจอะร้อนหนาว
ยังยืนหยัด อยู่ยาว สาวสาวหลง
ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวราฯ เป็นอากง
หลักยืนยง หลักวีไอ ไม่เปลี่ยนแปลง
เป็นหนูทอง หนูลองยา หนูบ้าบิ่น
หรือเป็นหนู อนุทิน ผู้กล้าแกร่ง
หรือราชสีห์ รอหนูช่วย ด้วยอีกแรง
กระจ่างแจ้ง ฟังกูรู ผู้รู้จริง”


แนวโน้มหุ้นไทยปี 63
คุณทอม
ตลาดหุ้นไทยปีนี้น่าผิดหวัง ทั่วโลกตลาดหุ้นดี
ตลาดหุ้นพัฒนา 24 จาก 25 ตลาดปรับขึ้น
และที่ปรับขึ้นน้อยสุด 5% ที่ขึ้นน้อยสุดคือ ฮ่องกง
ซึ่งมีปัญหาประท้วง
ตลาดเกิดใหม่ ส่วนใหญ่ปรับขึ้น มี 3-4 ตลาดปรับลดลง คือประเทศที่มีปัญหาการเมืองในประเทศ
เช่น ชิลี,โปแลนด์,อียิปต์ ของไทยอยู่อันดับท้ายๆ

เมื่อปลายปีก่อนก็เคยวิเคราะห์ว่าไทยน่าจะเกาะตลาดหุ้นทั่วโลกได้ ได้อาณิสงค์จาก QE,ดอกเบี้ยต่ำ,
เศรษฐกิจชะลอความร้อนแรง เป็นบรรยากาศดีให้หุ้นขึ้น สาเหตุน่าจะมีดังนี้

1.ผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนหดตัวมากกว่าที่คาดไว้
อย่างญี่ปุ่นตลาดหุ้นเพิ่มขึ้นเกือบ 20 % แต่บริษัทจดทะเบียนก็ลดลง ยุโรปก็คล้ายกัน
ของไทยมีเรื่องการเอากฏบัญชีใหม่มาใช้ที่ต้องกันสำรองมากขึ้น และกฏหมายใหม่ที่ต้องกันสำรองคน
เกษียณอายุจาก 300 เป็น 400 วัน และตลาดหุ้นไทยมีเกี่ยวข้องน้ำมันเยอะ ซึ่งราคาไม่ดี

2.การเมืองในประเทศหลังเลือกตั้งก็มีเสียงปริ่มน้ำ และความมั่นใจก็ยังไม่มากเวลาต่างชาติหรือคนไทย
มองว่ายังไม่เข้าขากัน

ถ้าให้คะแนนปีนี้ คิดว่าจะให้ 3 คะแนน โลกดีมาก แต่เราอยู่กับที่
มองไปปีหน้า ปัจจัยหลายอย่างน่าจะมองเห็นชัดขึ้น แต่ปัจจัยการเมืองน่าจะมองยาก
ปัจจัยบวกปีหน้าน่าจะมากกว่าปัจจัยลบ คิดว่าตลาดหุ้นไทยจะดีกว่าปีนี้

1.เศรษฐกิจโลกมีสัญญาณฟื้นตัว ไม่ได้ถดถอย แค่ชะลอตัว เพราะการค้าโลกมีการทะเลากัน
ระหว่างจีนกับอเมริกา ทั้งที่กำลังซื้อยังมี การลงทุนภาคเศรษฐกิจก็ชะลอ
มีการแบ่งการเจรจาเป็นเฟส ซึ่งดันสิ่งที่ยากไปคุยตอนท้ายน่าจะเป็นหลังจากที่เลือกตั้งไปแล้ว
ดังนั้นการค้าปีหน้า คาดว่าไม่กดดันเศรษฐกิจ และตลาดหุ้นเหมือนปีนี้
สิ่งที่ทรัมป์ได้คือ จีนน่าจะยอมซื้อสินค้าเกษตรสหรัฐ ซึ่งเป็นฐานเสียงใหญ่ของทรัมป์ด้วย
นอกจากนี้ ตัวเลข ภาคการผลิตเริ่มดีขึ้น 3-4 เดือนติดกัน และหลายประเทศก็ดูเศรษฐกิจกำลังฟื้นตัว
ถ้าดูการคาดการณ์สถาบันส่วนใหญ่มองว่า GDP โลกสูงกว่าปีนี้

2.Brexit ก็มีคุณบอริส จอห์นสัน ได้เป็นนายกแล้ว ซึ่งอยากจะออกจาก EU เป็นมีพันธสัญญากัน
ก็คงไม่น่ากังวลมาก ไม่ได้ออกแบบ No deal ที่อาจทำให้เกิดผลกระทบสูง

3.การเลือกตั้งอเมริกา ทรัมป์ก็ต้องทำให้เศรษฐกิจดี ตลาดหุ้นก็น่าจะยืนได้ มีการให้ความสำคัญ
สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือการไหลเข้าของเงินเข้าตลาดเกิดใหม่มากขึ้น

ปีหน้ากระแสเงินจะหมุน จากตลาดตราสารหนี้ หรือตราสารหนี้ที่ติดลบ น่าจะทยอยออก
ของไทยน่าจะดีขึ้นอัตโนมัติตามเศรษฐกิจโลกดีขึ้น ส่งออกมากขึ้น
รัฐบาลจะสามารถปลุกเศรษฐกิจได้ขนาดไหน ตอนนี้บริษัทในไทยก็ยังมีกำไรอยู่
ไม่ใช่ขาดทุนเต็มไปหมด ถ้ามีสัญญาณว่าเศรษฐกิจไทยจะดีขึ้น ก็มีโอกาสที่ต่างชาติจะให้ความสนใจ
สรุปว่ามองตอนนี้ตลาดหุ้นไทยต่ำ และปีหน้าจะดีขึ้น แต่ยืนได้ไหมขึ้นกับรัฐบาลสร้างความมั่นใจได้


คุณมนตรี
เห็นด้วยกับคุณทอม เศรษฐกิจไทยหลายปีที่ผ่านมาลำบาก แต่ไม่วิกฤติ
ไม่ใช่เรื่องปีนี้เผาหลอก ปีหน้าเผาจริง
สิ่งที่ควรเห็นเหมือนกันคือลำบากทั่วโลก และบางอย่างเป็นเรื่องเฉพาะเมืองไทย
เมืองไทยกำลังขยับเข้าสู่ aging society วัยทำงานมีน้อยลงเยอะ
มหาวิทยาลัยมีที่นั่ง 7-8 พันคน แต่มีคนเรียน 3-4 พันคน ไม่ใช่ยุคที่เราเป็นห่วงว่ามีมหาวิทยลัยเรียนไหม
คนทำงานน้อยลงเยอะ ไปร้านอาหาร หาคนรับ order ที่พูดภาษาไทยยากขึ้น
ไปตลาดปีนัง ตลาดคลองเตยสมัยนี้เงียบลงเยอะ แต่ Alibaba ขายวันที่ 11.11 มากกว่าคนไทย
ขายเป็นเดือนเป็นปี ส่วนตัวซื้อไป 18 รายการ หนึ่งในนั้นเป็นนาฬิกาหัวเหว่ย ก่อนหน้านั้น
ใช้คาซิโอมาตลอด แต่ตัวนี้ 5000 กว่าบาทจับชีพจร อะไรได้ โลกมันเปลี่ยนไป
เปิดดู Aliexpress ดูอุปกรณ์ไฟฟ้าอยู่ มันขึ้นให้ดูรองเท้า เสื้อ อะไรก็หามาตอบโจทย์ถูกใจเราได้

ถ้าเราไปดูต่างประเทศ พวกโชว์ห่วยก็หายไปแล้วเป็นโมเดิรน์เทรด
โลกมันเปลี่ยนไปแล้ว เราต้องเปลี่ยนวิธีคิด
อย่างเรื่อง คนที่เสริฟเครื่องดื่มอาหารเป็นงานที่น่าดูถูก
เคยคุยกับคุณกรณ์ บอกว่าที่อังกฤษคนเสิรฟ์เครื่องดื่มก็มานั่งดื่มกันกับลูกค้า
ไม่ได้คิดว่าเป็นงานต่ำต้อย มันเป็นเรื่องทัศนคติของเรา
ไปคุยกับคนทำธุรกิจข้ามชาติ ปูนซิเมนต์ไทยขายของไปหลายประเทศ ประเทศอื่นลำบากกว่าเรา
อย่างเวียดนาม อินโดที่โตสูงเพราะฐานต่ำกว่าเรามาก

คุยกันในเมย์แบงค์ เขามองว่าเมืองไทยแข็งแรงมาก ในประเทศบริโภค 50%
ประธานธิบดี รูสเวลล์ เคยกล่าวไว้ว่า สิ่งที่น่ากลัวที่สุดคือความกลัว
ปัญหาส่งออกไม่ได้ สงครามการค้า อะไรต่างๆ เรามีเครื่องยนต์ GDP
พูดถึงส่งออกสุทธิ ไม่ใช่ส่งออกเฉยๆ ถ้าคิดส่งออกสุทธิจะกระทบกว่า 10% ไม่ใช่ 70%
มีสัญญาณต่างๆที่เริ่มดีขึ้น หรือ EEC ก็มีคนเตรียมมาขยายกิจการมากขึ้น

สิ่งที่ประเทศอื่นสู้เราไม่ได้คือการท่องเที่ยว ถ้าส่งเสริมวัฒนธรรมพื้นที่ต่างๆ ก็จะช่วยยกระดับได้ดี
ต้องกล้าทำงาน และกล้าใช้ มันก็จะหมุนเวียน

สิ่งเหล่านี้ถ้าพอเห็นภาพจะรู้สึกว่าเศรษฐกิจไทยไม่น่ากลัว
สมัยต้มยำกุ้งทุนสำรองเราควรคือ 4 หมื่นล้านเหรียญ แต่มีอยู่ไม่ถึง 5 พันล้านเหรียญ
แต่วันนี้เรามี 2.2 หมื่นล้านเหรียญ เป็นอันดับ 12 ของโลก
ต้นปี Fitch rating ปรับมุมมองไทยจากมีเสถียรภาพ เป็น บวก
และถัดมาก็มีมูดีส์ และ S&P ปรับมุมมองเป็น บวกตามมา เป็นความแข็งแกร่งที่น่าดีใจ

ในมุมตลาดหุ้นสิ่งที่แอบผิดหวัง คือทิศทางตลาดเคลื่อนไหวโดยขาดเหตุผล
องค์ประกอบเริ่มเสียสมดุล เริ่มไปในทิศทางคล้ายตลาดสิงคโปร์
นักลงทุนไทยเคยมีสัดส่วนซื้อขาย 60% ตอนนี้เหลือ 30%
มูลค่าการซื้อขายช่วงเงียบๆ 1.5 พันล้านเหรียญ ช่วง 2-3 วันนี้ขึ้นมาเป็น 2 พันล้านเหรียญ
สิงคโปร์เป็นเหมือนอนาคตเรา ของเขาเฉลี่ยมูลค่าซื้อขายแค่ 500 ล้านเหรียญ
รายย่อยมีสัดส่วน 15% สิ่งที่เกิดขึ้นมีบริษัททยอย delist มากกว่า list เข้าตลาด
เป็นสิ่งที่ในตลาดทุนก็ใส่ใจ ไม่อยากเห็นภาพนั้น

เวลาไปคุยกับเพื่อนที่ตลาดสิงคโปร์ ตลาดยังไม่ถึงกับเลวร้าย แต่ต้องอาจเปลี่ยนวิธีลงทุน
ไปหวังการซื้อขายรายวันยากขึ้นเยอะ ไม่สามารถทันหุ่นยนต์ได้
ต้องเลือกปัจจัยพื้นฐานมากขึ้น การลดดอกเบี้ยทำให้มูลค่าหุ้นดีขึ้น
นักลงทุนต้องใจเย็น และค่อยๆเลือก เวลาหุ้นลงมาก็อดทนถือได้ เลือกหุ้นที่รู้จักดี
เชื่อว่าระยะยาวปัจจัยพื้นฐานเป็นสิ่งที่ถูกต้อง อย่าง บางหุ้นที่ลงมาแต่ให้ผลตอบแทนดี เป็นเวลาที่น่าเก็บ


ดร.นิเวศน์
ประเทศไทยจะอิงกับเรื่องคนแก่ตัวลง เรื่องเศรษฐกิจอะไรต่างๆเราอิ่มตัว
ถ้าไปดูเวบไซต์คนค้าขายบ่นกันเต็มไปหมด หรือโรงแรมลูกค้าก็หายไปเยอะ
มหาวิทยาลัยเด็กเหลือ 70 % แต่เด็กจบปริญญาตรีไม่มีงานทำเยอะมาก
การขยายตัวสมัยนี้ไม่เพิ่มคน ใช้เทคโนโลยีเข้ามา
กระบวนการปรับตัวตรงนี้ก็ส่งผลให้บรรยากาศไม่ชวนจับจ่ายใช้สอย
เราอาจกำลังเข้าสู่ lost decade ทศวรรษที่หายไป ซึ่งไม่เคยเจอ
ดัชนีขึ้นลงแต่ไม่ไปไหน เป็นไปได้ว่าจะเป็นแบบนี้อีกนาน
แต่ได้ปันผล 3-4 % ก็ยังดีกว่าฝากเงิน หรือเทรดหุ้นรายวันแล้วติดลบ
อย่าง สิงคโปร์เป็นสังคมที่ใกล้เคียงเรา
ส่วนประเทศอื่นอาจไม่ใช่อาการแบบนี้ หลายประเทศแก่เหมือนกันแต่ปรับตัวได้
ของเราแก่แล้วอยู่ระหว่างปรับตัว จนถึงวันหนึ่งที่อยู่ตัว

มีวิธีทำนายหุ้นปีหน้าของตัวเองที่ดู
1.ราคาดัชนี ถ้า PE ตลาดสูง เหนื่อย ปีไหน PE ตลาดต่ำ
ซื้อไปก็ปลอดภัย ต่อให้ยังตกลงไปอีก ก็จะปรับขึ้นจาก 10 เป็น 14-15 เท่าเดิม
2.กำไรบริษัทจดทะเบียน ถ้าดีขึ้นมาก หุ้นดี ถ้าแย่ลง หุ้นไม่ดี
ปีหน้าคิดว่าน่าจะ OK ขึ้น หลาย sector กำไรหายจากการสำรอง หรือปิโตรราคาตก
3.อัตราดอกเบี้ย ถ้าลดลงเร็ว ราคาหุ้นขึ้น หลังปี 2008 ที่หุ้นขึ้นมากเพราะดอกเบี้ยลดลง
ตอนนี้ดอกเบี้ยต่ำแล้ว ปัจจัยนี้คงช่วยไม่มาก
4.GDP ที่จริงไม่มีผลสูงมากกับดัชนีหุ้น เป็นดัชนีที่ตามหลัง แต่ระยะยาวก็ไปด้วยกัน
ถ้า GDP เพิ่มแรงๆ 2-3 ปี ก็ทำให้ดัชนีขึ้น
5.เทคนิค ถ้าปีก่อนหน้าหุ้นดี ปีต่อไปก็ลดลง ถ้าปีก่อนแย่ ปีหน้ามักจะดีขึ้น ปรับตัวไม่ค่อยดีติดกัน หรือแย่
ติดกัน ปีก่อน -11 % ที่จริงปีนี้น่าจะดี แต่มีปัจจัยอื่นๆ ที่ว่าทำให้ไม่ดี ก็มีโอกาสปีหน้าจะดี แต่ไม่เชื่อว่าจะ
ขึ้นไปสูง หรืออยู่ได้ดี น่าจะเป็น sideway ต่อไป ยังไม่มีอะไร breakthrough

โดยภาพรวมแล้ว ปีหน้ายังไม่ค่อยดี อาจบวกได้ แต่ไม่สูง
เหตุการณ์อื่นที่ไม่เกี่ยวตลาดหุ้นโดยตรง เช่น ภาวะวิกฤติ ถ้ามาจากต่างประเทศก็ดึงเราไป
หรือภาวะการเมืองก็อาจกระทบได้ และคาดการณ์ไม่ได้ ถ้าไม่กระทบหุ้นก็ไม่มีผลอะไร


หุ้นที่น่าลงทุนปีหน้า
คุณทอม
กลุ่มที่น่าลงทุนคือที่โดนเทขายเยอะ เช่น กลุ่มธนาคารพาณิชย์ราคาหุ้นเหมือนอยู่ในวิกฤติ
ถ้าภาวะแบบนี้ไม่ควรต่ำกว่า bv ทั้งที่แข็งแรงดี มีทุนเยอะ ,
กลุ่มท่องเที่ยว รัฐบาลยังต้องกระตุ้น และชูนโยบาย,
กลุ่มหุ้นการบริโภค รัฐบาลพยายามปรับแก้ ให้เกิดการหมุนของเงิน

คุณมนตรี
ให้เป้าดัชนี 1720 PE +1.5 SD
เพราะดอกเบี้ยลงมาเยอะ กนง.เพิ่ลดดอกเบี้ย ไม่เคยเห็นต่ำขนาดนี้
ผลตอบแทนหุ้นควรน่าสนใจ ดู investment yield gap เทียบกับพันธบัตรอยู่ระดับที่น่าสนใจ
หุ้นให้ดูใน App เมย์แบงค์เทรด มีหุ้นที่ดูแลราว 100 ตัว สามารถดู pe ปีนี้ และปีหน้าได้
ปรับ realtime มีทำสรุปไว้
หุ้นปันผล : เลือกแบงค์ bbl, lhbank, tisco
High season lover : aot ไทยเก่งเรื่องท่องเที่ยว บริการ
Sustainable growth favor : มองว่าไทยไม่ค่อยมี disruptor
แต่เรามีกลุ่มที่ non disruptable เช่น ท่องเที่ยว ศูนย์การค้า เซ็นทรัล ขายบรรยากาศ เป็น
ไลฟ์สไตล์ ส่งถึงบ้านไม่ได้
และ BEM,BTS

ดร.นิเวศน์
ซื้อหุ้น PE ต่ำ ปันผลสูง ตัวใหญ่ ถ้าตัวเล็กก็ต้องมั่นคง
แบงค์มีโอกาสเพราะลงมาเยอะเกินไป และเข้าข่าย

ให้คะแนนตลาดหุ้นปี 63
คุณทอม 7 คะแนน
คุณมนตรี 6.5 คะแนน
ดร.นิเวศน์ 6 คะแนน
อ.ไพบูลย์ 6.5 คะแนน

ครั้งต่อไปเสาร์ที่ 18 ม.ค.63 จอง 11 ม.ค.63
ขอบพระคุณอ.ไพบูลย์ อ.นิเวศน์ อ.เสน่ห์ที่มาจัดรายการอย่างต่อเนื่องครับ
และขอบคุณวิทยากร สปอนเซอร์ ทีมงาน money talk ทุกท่าน
Go against and stay alive.
โพสต์โพสต์