เมื่อการบินกลายเป็นเรื่องธรรมดา/วิวรรณ ธาราหิรัญโชติ

บทความต่างๆ ที่ตีพิมพ์ใน ThaiVI คุณสามารถแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม เพื่อการลงทุนแบบเน้นคุณค่า

โพสต์ โพสต์
Thai VI Article
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 1890
ผู้ติดตาม: 311

เมื่อการบินกลายเป็นเรื่องธรรมดา/วิวรรณ ธาราหิรัญโชติ

โพสต์ที่ 1

โพสต์

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ในปัจจุบัน การเดินทางด้วยเครื่องบิน กลายเป็นเรื่องปกติธรรมดา ไม่เหมือนสมัย 40-50 ปีก่อน ที่ถือเป็นเรื่องน่าตื่นเต้น ใครจะเดินทางโดยเครื่องบิน จะมีญาติตามไปส่งและรับ พร้อมกับคล้องพวงมาลัยให้กันอย่างล้นหลาม และจำนวนผู้ไปส่งหรือไปรับ มีมากกว่าจำนวนผู้โดยสาร

ปัจจุบัน โดยเฉพาะในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา ที่เกิดการเติบโตอย่างมากของสายการบินต้นทุนต่ำ หรือโลว์คอสแอร์ไลน์ และเกิดพัฒนาการทางเทคโนโลยี ทำให้สามารถสร้างเครื่องบินได้ใหญ่ขึ้น จุผู้โดยสารได้มากขึ้น ใช้เชื้อเพลิงน้อยลง บินได้เร็วขึ้น ทำให้ระยะเวลาบินลดลง และการจัดการอากาศยานมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทำให้เที่ยวบินขึ้น-ลงได้ โดยใช้เวลาน้อยลง การเดินทางโดยเครื่องบินจึงกลายเป็นเรื่องธรรมดา ผู้โดยสารสามารถไปสนามบินเองโดยไม่ต้องมีญาติไปคอยรับ-ส่ง มากมาย

จากข้อมูลของ ICAO หรือ องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ ซึ่งมีสมาชิก 192 ประเทศทั่วโลก จำนวนผู้โดยสารเครื่องบินในปี 2018 มีทั้งหมด 4,322 ล้านคน เดินทาง 8.257 ล้านล้านกิโลเมตร ยังไม่รวมการขนส่งสินค้าอีกมากมาย

Statista คาดว่าจำนวนผู้โดยสารที่เดินทางโดยเครื่องบินโดยสารทั่วโลกในปี 2019 จะเพิ่มขึ้นเป็น 4,579 ล้านคน หรือเพิ่มเป็น 2.3 เท่าของจำนวนผู้โดยสารในปี 2004 หรือ 15 ปีที่แล้ว ซึ่งมีผู้โดยสารประมาณ 1,994 ล้านคน

เมื่อจำนวนผู้โดยสารเพิ่ม ท่าอากาศยานต่างๆในโลก ต่างก็ปรับปรุง ขยาย สร้างใหม่ และสรรหาสิ่งต่างๆมาอำนวยความสะกวดให้กับผู้โดยสารมากมายหลายประการ

ACI (Airport Council International) ซึ่งเป็นสมาคมของท่าอากาศยานต่างๆ ได้จัดอันดับสนามบินที่มีผู้โดยสารมากที่สุด โดยใน 6 เดือนแรกของปี 2019 ปรากฏว่าสนามบิน ฮาร์ทสฟิลด์แจคสัน ของแอตแลนต้า ใช้รหัสย่อว่า ATL ยังคงครองอันดับหนึ่ง (มาตั้งแต่ปี 1998) มีผู้โดยสารใช้บริการ 54.388 ล้านคน ตามมาด้วย 2. ปักกิ่ง (PEK) 49.252 ล้านคน 3. ลอสแองเจิลลิส (LAX) 43.049 ล้านคน 4. ฮาเนดะ (HND) 41.435 5. ดูไบ (DXB) 41.278 ล้านคน 6.โอแฮร์ ของชิคาโก (ORD) 39.512 ล้านคน 7. ฮีทโธรว์ ของลอนดอน (LHR) 38.75 ล้านคน 8. เซี่ยงไฮ้ ผู่ตง (PVG) 38.22 ล้านคน 9. ฮ่องกง (HKG) 37.8 ล้านคน 10. ชาร์ลส์เดอโกลล์ (CDG) ของปารีส 36.339 ล้านคน

สำหรับท่าอากาศยานสุวรรณภูมิของไทย (BKK) ซึ่งมาอันดับที่ 18 ในปีที่แล้ว ครึ่งแรกของปี 2019 ได้ขึ้นมาเป็นอันดับที่ 17 ด้วยจำนวนผู้โดยสาร 32.76 ล้านคน โดยสนามบินที่เคยยุ่งมากๆในอดีต แบบที่ว่า ใครต้องไปลงที่นั่น เชื่อได้เลยว่ากว่าจะได้กระเป๋าเดินทางและหลุดออกมาจากสนามบินก็ใช้เวลาไม่ต่ำกว่าหนึ่งชั่วโมงครึ่งหลังจากเครื่องลง เช่น JFK ของนิวยอร์ค อยู่อันดับต่ำกว่าเราอีกค่ะ คือ อันดับที่ 21

แต่อันดับผู้โดยสารมาก ไม่ได้มาพร้อมกับความประทับใจนะคะ จากการจัดอันดับความประทับใจในการใช้สนามบินทั่วโลก ว่าสนามบินไหนดีที่สุด ของสกายแทรกซ์ มีดังนี้ 1. ชางงี ของสิงคโปร์ 2. อินชอน ของเกาหลี 3. ฮาเนดะ ของญี่ปุ่น 4. ฮ่องกง 5. ฮาหมัด ของกาตาร์ 6. มิวนิก เยอรมนี 7. ชูบุ เซ็นแทร์ ของญี่ปุ่น 8. ฮีทโธรว์ ของอังกฤษ 9. ซูริค ของสวิส 10. แฟรงก์เฟิร์ต ของเยอรมนี โดยท่าอากาศยานสุวรรณภูมิของไทย อยู่ที่ 36 ในด้านความประทับใจค่ะ (เราเคยเป็นอันดับ 10 ในปี 2010)

นอกจากนี้ก็มีอันดับความน่าประทับใจด้านอื่นๆ เช่น ด้านอาหารการกิน อันดับหนึ่งคือ ฮ่องกง ด้านความสะอาด คือ ฮาเนดะ ด้านการขนส่งกระเป๋า คือ คันไซ ของญี่ปุ่น และด้านการบริการของเจ้าหน้าที่ คือ อินชอน ของเกาหลีใต้

เมื่อปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา ประเทศจีนเปิดใช้สนามบินใหม่ของกรุงปักกิ่ง ถือเป็นส่วนหนึ่งของการเฉลิมฉลอง 70 ปี ของการก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน สนามบินแห่งนี้ชื่อว่า ท่าอากาศยานนานาชาติ ต้าซิง (Beijing Daxing International Airport) ใช้เวลาสร้างเพียง 5 ปี แต่ใช้เวลาวางแผนหาข้อสรุปยาวนานถึง 20 ปี ตั้งใจให้เป็น ศูนย์การบินที่ใหญ่ที่สุดของโลกในอนาคต

สนามบินแห่งนี้อยู่ห่างจากใจกลางกรุงปักกิ่ง 47 กิโลเมตร สร้างด้วยงบประมาณ 120,000 ล้านหยวน หรือประมาณ 520,000 ล้านบาท และใช้เงินสร้างถนนและทางรถไฟ เพื่อใช้ไปสนามบินใหม่ถึง ประมาณ 1.2 ล้านล้านบาท เพื่อให้สามารถเดินทางไปสนามบินได้ในเวลาเพียง 19 นาที เท่านั้น

ปัจจุบัน เปิดใช้ทางวิ่ง (Run way) 4 เส้นและเมื่อขยายเต็ม จะมีทางวิ่งถึง 7 เส้น สามารถรองรับผู้โดยสารได้ปีละ 100 ล้านคน ในปี ค.ศ. 2040 หรือในอีกประมาณ 20 ปีข้างหน้า ว่ากันว่าเป็นสนามบินที่มีพื้นที่ใหญ่ที่สุดในโลก คือมีพื้นที่ 47 ตารางกิโลเมตรหรือใหญ่เท่ากับ 2 ใน 3 ของเกาะแมนฮัตตัน

ผู้บริหารมีนโยบายที่จะทำให้สนามบินเป็นศูนย์กลาง จึงออกแบบให้ทำงวงจอดเครื่องบินออกไป 5 ทิศทาง เมื่อรวมกับทางเข้า เป็น 6 ทิศ รูปคล้ายปลาดาว คือให้เครื่องบินเข้าไปจอดให้ใกล้ใจกลางสนามบินที่สุด และไม่ใช้รถไฟ หรือรถซัทเทิล รับ-ส่ง ผู้โดยสาร จากเทอร์มินัลไปยังประตูทางออก และวางแผนให้มีพื้นที่จัดสัมมนา ประชุม หรือแสดงสินค้าในพื้นที่อื่นๆของสนามบินด้วย

สายการบินหลักของจีนสามสาย ได้แบ่งกันใช้สนามบินนี้กับสนามบินเดิม คือ Beijing Capital International Airport (BCIA) สำหรับเที่ยวบินในประเทศ ดังนี้คือ ไชน่าอีสเทิร์น ซึ่งฐานใหญ่อยู่ที่เซี่ยงไฮ้ กับ ไชน่าเซ้าท์เทิร์น ซึ่งมีฐานใหญ่อยู่ที่กวางเจา จะย้ายไปใช้สนามบิน ต้าซิง ที่ปักกิ่งเป็นหลัก ส่วนแอร์ไชน่า ซึ่งมีฐานใหญ่อยู่ที่ปักกิ่ง จะปักหลักใช้สนามบินเดิม คือ BCIA สำหรับเที่ยวบินในประเทศ เพราะฉะนั้น พวกเราจากต่างประเทศ หากเดินทางไปปักกิ่ง โดยสามสายการบินหลัก หรือด้วยการบินไทยซึ่งเป็นพันธมิตร กลุ่มสตาร์ลไลแอนซ์ กับแอร์ไชน่า คงได้ใช้สนามบินใหม่ทั้งหมดค่ะ

ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิของเรา ต้องเร่งมือแล้วค่ะ เพราะหากเรามีจำนวนนักท่องเที่ยวเติบโตในอัตราที่เป็นอยู่ หน่วยงานวิเคราะห์ของไฟแนนเชียลไทม์ คือ FT Confidential Research คาดว่า เราจะขยับอันดับกลายเป็นสนามบินที่มีผู้โดยสารมากใน 10 อันดับแรก ภายในปี 2036 หรืออีก 17 ปีข้างหน้า โดยคาดว่า ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิของเราไม่สามารถรองรับได้ค่ะ ดิฉันคิดว่าต้องกระจายผู้โดยสารไปศูนย์กลางอื่นๆที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว การมีสนามบินอู่ตะเภา ก็เป็นทางช่วยเสริมอีกทางหนึ่ง เชียงใหม่ เชียงราย ขอนแก่น อุดรธานี อุบลราชธานี นครราชสีมา ภูเก็ต หาดใหญ่ กระบี่ หัวหิน ก็เป็นทางเลือกในการกระจายความแออัดของสุวรรณภูมิค่ะ
โพสต์โพสต์