สามก๊ก 2020 / อาร์ม ตั้งนิรันดร

การลงทุนแบบเน้นคุณค่า ลงทุนหุ้น VI เน้นที่ปัจจัยพื้นฐานเป็นหลัก

โพสต์ โพสต์
always24
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 854
ผู้ติดตาม: 10

สามก๊ก 2020 / อาร์ม ตั้งนิรันดร

โพสต์ที่ 1

โพสต์

สามก๊ก 2020

รู้ไหมครับว่าคนจีนเองก็ต้องท่องอาขยาน แต่อาขยานที่เด็กจีนท่องคือ กลยุทธ์ที่ขงเบ้งแนะนำเล่าปี่จนมีผลให้แผ่นดินจีนแตกออกเป็นสามก๊ก

อาจเรียกได้ว่าชาวจีนเป็นชาตินักกลยุทธ์มาตั้งแต่โบราณ หลายคนคุ้นเคยกับประวัติศาสตร์ในช่วงปลายราชวงศ์ฮั่น ซึ่งแผ่นดินจีนแบ่งเป็นสามก๊ก ได้แก่ ก๊กของโจโฉ ก๊กของเล่าปี่ และก๊กของซุนกวน ทั้งสามก๊กต่างคานดุลกันอยู่เป็นเวลายาวนาน ไม่มีใครคว่ำใครลง

กลยุทธ์ที่ขงเบ้งแนะนำเล่าปี่เรียกกันว่า “บทสนทนาที่หลงจง” เพราะขณะนั้นขงเบ้งที่ยังหนุ่มแน่นในวัย 27 ปี ซ่อนตัวอยู่ที่ภูเขาโงลั่งกั๋งแถบหลงจง เล่าปี่ซึ่งก่อนหน้านี้รบกี่ครั้งก็พ่ายแพ้ต้องหนีตายทุกครั้ง ได้จัดเวลาเดินทางไปเยือนกระท่อมถึง 3 ครั้ง จึงได้พบกับขงเบ้งในครั้งที่ 3

เมื่อเล่าปี่ไปถึงกระท่อม ขงเบ้งกำลังนอนกลางวันอยู่ เล่าปี่ก็ยืนรออยู่ด้านหน้าอย่างสุภาพอยู่หลายชั่วยาม จนขงเบ้งเห็นถึงความตั้งใจจริง จึงยอมพบและออกอุบายให้ ซึ่งนับว่ามีคุณค่าในระดับยุทธศาสตร์ พลิกมุมคิดของเล่าปี่และมีผลพลิกแผ่นดินจีนในสมัยนั้นเลยทีเดียว

ถ้าเราเปรียบเทียบยุทธศาสตร์ของขงเบ้งในวันนั้นกับสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในโลกปัจจุบัน เชื่อไหมครับว่ามีหลายอย่างที่ยังสะท้อนการคิดเชิงกลยุทธ์ของชาติจีนวันนี้ได้เป็นอย่างดี

อุบายของขงเบ้งนั้นมีเนื้อหาสำคัญ 4 ส่วนด้วยกัน ได้แก่

หนึ่ง ขงเบ้งบอกเล่าปี่ว่า โลกกำลังหมดยุคการนำเดี่ยวของราชวงศ์ฮั่น และกำลังเข้าสู่ยุคที่สามมหาอำนาจถ่วงดุลกัน

โลกวันนี้ก็เช่นกันครับ ในภาพใหญ่ของภูมิรัฐศาสตร์โลก โลกกำลังหมดยุคการนำเดี่ยวของสหรัฐฯ และกำลังมีสามฝ่ายถ่วงดุลกัน ได้แก่ สหรัฐฯ สหภาพยุโรป และจีน โดยที่การแข่งขันหลักเป็นการแข่งขันระหว่างมหาอำนาจเก่าอย่างสหรัฐฯ กับมหาอำนาจใหม่อย่างจีน คล้ายกับที่ในยุคสามก๊ก การแข่งขันหลักก็เป็นการแข่งขันระหว่างก๊กโจโฉที่แข็งแกร่งมายาวนาน กับก๊กเล่าปี่ที่กำลังก่อร่างสร้างตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว

สอง ขงเบ้งได้กางแผนที่แคว้นเสฉวนให้เล่าปี่ดู ซึ่งถือเป็นการเปิดโลกทัศน์ใหม่ให้กับเล่าปี่ เพราะก่อนหน้านี้ขุนศึกทุกคนต่างรบราฆ่าฟันแย่งชิงแผ่นดินแถบจงหยวน (ภาคเหนือของจีน) แต่ไม่มีใครมองเห็นว่ายังมีพื้นที่อีกผืนหนึ่งที่มีศักยภาพสูงและเหมาะกับการใช้เป็นฐานอำนาจ

เวลาคนจีนสอนเรื่องการทำธุรกิจ มักเล่าถึงการพลิกมุมคิดของขงเบ้ง และความสำคัญของการมองเห็นโอกาสที่คนอื่นไม่เห็น มองเห็นตลาดที่คนอื่นละเลยไป ขณะที่หลายคนกำลังแย่งส่วนแบ่งในตลาดเดิมๆ นักธุรกิจเก่งต้องมองให้เห็นโอกาสใหม่ๆ

ถ้าดูยุทธศาสตร์หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (Belt and Road Initiative หรือ BRI) ของจีน แท้จริงแล้วก็เป็นการมองหาโอกาสในพื้นที่ซึ่งแต่เดิมคนไม่ค่อยมอง นั่นก็คือประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียกลางและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทะลุไปจนถึงยุโรปและแอฟริกา สมัยก่อนในเชิงภูมิรัฐศาสตร์ คนมักมองแต่การแข่งขันระหว่างมหาอำนาจ ยิ่งหากมองจากมุมสหรัฐฯ ก็มักเน้นภูมิภาคลาตินอเมริกา ตะวันออกกลาง และเอเชียตะวันออกเป็นหลัก ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริง พื้นที่ในเอเชียกลางและอาเซียนเต็มไปด้วยศักยภาพและโอกาสในการพัฒนาเศรษฐกิจอีกมหาศาล

รัฐบาลจีนมองว่าประเทศกำลังพัฒนาตามแนวเส้นทาง BRI รวมมากกว่า 68 ประเทศ มีประชากรคิดเป็น 2 ใน 3 ของประชากรทั้งหมดของโลก แต่ปัจจุบันยังมีพลังทางเศรษฐกิจเพียง 1 ใน 3 ของโลกเท่านั้น รัฐบาลจีนต้องการใช้โมเดลเศรษฐกิจจีนด้วยการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อสร้างความเชื่อมโยงทางการค้าในประเทศเหล่านี้ แน่นอนว่าส่วนสำคัญเป็นการตอบโจทย์การขยายตลาดและการขยายฐานการผลิตใหม่ของประเทศจีน ซึ่งต้องปรับห่วงโซ่เศรษฐกิจรับมือกับสงครามการค้า ในขณะเดียวกันก็ตอบโจทย์การส่งออกกำลังการผลิตที่เกินตัวภายในประเทศจีน ทั้งหมดเป็นโอกาสใหม่ในพื้นที่ซึ่งแต่เดิมหลายคนมองข้าม

สาม ขงเบ้งย้ำกับเล่าปี่ว่า มีพื้นที่ซึ่งเราจะเสียไปไม่ได้ นั่นก็คือแคว้นเกงจิ๋ว เพราะเป็นชัยภูมิสำคัญที่สามารถเชื่อมต่อถึงหลายบริเวณในภาคเหนือ หากขาดเกงจิ๋วไป แผนการบุกภาคเหนือเพื่อตีก๊กโจโฉจะยากขึ้นมาก

สาเหตุหนึ่งที่สุดท้ายเล่าปี่และขงเบ้งล้มเหลว เป็นเพราะเสียเกงจิ๋วให้กับซุนกวน ทำให้การบุกภาคเหนือของขงเบ้งในเวลาต่อมา ทำได้เพียงผ่านเส้นทางเขาฉีซานเพียงเส้นทางเดียว

โจเซฟ นาย ศาสตราจารย์ด้านรัฐศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เคยให้ความเห็นไว้ว่าชัยภูมิของประเทศจีนนั้นแย่มาก ยากนักที่จะเป็นมหาอำนาจที่ทรงพลังได้ เพราะในขณะที่สหรัฐฯ มีทางออกสู่ทะเลทั้งสองฝั่ง แต่จีนนั้นอยู่เฉยๆ ก็ถูกปิดล้อมเรียบร้อยแล้ว เพราะจีนมีปัญหาชายแดนกับทุกประเทศที่มีอาณาเขตติดกับจีน และมีทางออกทางทะเลฝั่งเดียว ซึ่งในบริเวณนั้นก็มีทั้งปัญหาไต้หวัน ฮ่องกง รวมทั้งปัญหาทะเลจีนใต้ที่เป็นเขตพิพาทกันหลายประเทศ

สำหรับจีนแล้ว พื้นที่แถบนั้นไม่ว่าจะเป็นไต้หวัน ฮ่องกง ทะเลจีนใต้ (ซึ่งจีนอ้างสิทธิเหนือพื้นที่เหล่านี้ทั้งหมด) จึงเป็นพื้นที่ทางยุทธศาสตร์ที่จะเสียไปไม่ได้ ดังนั้น ความขัดแย้งขั้นต่อไประหว่างมหาอำนาจจีน-สหรัฐฯ จึงย่อมจะเป็นความตึงเครียดในบริเวณพื้นที่เหล่านี้

สี่ ขงเบ้งให้เงื่อนไขในการบุกภาคเหนือเพื่อปราบก๊กโจโฉว่า ต้องรอจังหวะที่ภาคเหนือคือภายในก๊กโจโฉเกิดความวุ่นวายขึ้นเองก่อน เพราะก๊กโจโฉนั้นแข็งแกร่งมาก อยู่ๆ จะบุกขึ้นไปปราบเลยก็เหมือนเอาไข่ไปกระทบหิน

ในวันนี้เองก็เช่นกัน สหรัฐฯ ยังคงแข็งแกร่งมากนัก จีนเองมีแต่ต้องรอจังหวะเวลา ก่อนหน้านี้จีนอาศัยช่วงวิกฤตการเงินสหรัฐฯ เมื่อปี 2008 บุกซื้อสินทรัพย์และธุรกิจราคาถูกในสหรัฐฯ และยุโรป นักวิชาการจีนในปัจจุบันยังมองว่าจีนต้องรักษาตัวให้ดีและรอคอยจังหวะ เพราะตอนนี้สหภาพยุโรปเองก็มีความเสี่ยงรอบด้าน ทั้ง Brexit และปัญหาการเมืองภายในประเทศยุโรปหลายประเทศ ส่วนสหรัฐฯ แม้ตอนนี้เศรษฐกิจจะดูขาขึ้น แต่สหรัฐฯ ก็ขาดแผนการระยะยาว ไม่ว่าจะเป็นการขาดการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานมาเป็นระยะเวลายาวนาน รวมทั้งความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษาในสหรัฐฯ ซึ่งการศึกษาขั้นพื้นฐานและการศึกษาของโรงเรียนรัฐมีความอ่อนแอมาก

คนจีนเองตอนนี้เปรียบสงครามการค้าที่สหรัฐฯ กำลังเล่นกับจีนว่า เป็นเสมือนศึกเซ็กเพ็กที่โจโฉนำทัพลงใต้จะจัดการเล่าปี่ให้พินาศ แต่เมื่อเล่าปี่ทนสู้ได้ในตอนนั้น ศึกเซ็กเพ็กจึงเป็นศึกใหญ่ที่นำไปสู่การแบ่งและคานดุลกันระหว่างสามก๊ก คนจีนเองจึงเปรียบเทียบว่า ขอเพียงจีนอดทนรับศึกสงครามการค้า และไม่เกิดความวุ่นวายภายในขึ้นเสียก่อน สงครามการค้าที่สหรัฐฯ เริ่มต้นนี่แหละจะเป็นจุดเริ่มต้นของโลกที่จีนขึ้นมาถ่วงดุลและแข่งขันระยะยาวกับสหรัฐฯ
โพสต์โพสต์