ความพิเศษของสงครามเย็น 2.0 / อาร์ม ตั้งนิรันดร

การลงทุนแบบเน้นคุณค่า ลงทุนหุ้น VI เน้นที่ปัจจัยพื้นฐานเป็นหลัก

โพสต์ โพสต์
always24
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 854
ผู้ติดตาม: 10

ความพิเศษของสงครามเย็น 2.0 / อาร์ม ตั้งนิรันดร

โพสต์ที่ 1

โพสต์

ความพิเศษของสงครามเย็น 2.0

จีนในยุคปัจจุบันมีลักษณะคล้ายสหภาพโซเวียตในยุคสงครามเย็นหลายอย่าง นั่นก็คือ เป็นมหาอำนาจที่ขึ้นมาท้าทายและเป็นภัยคุกคามต่อสหรัฐฯ ทั้งยังมีระบบการเมืองและค่านิยมที่แตกต่างจากสหรัฐฯ อย่างมาก

หากแต่กลุ่มชนชั้นนำในสหรัฐฯ มองว่า จีนในวันนี้ร้ายกว่าสหภาพโซเวียตในอดีตเสียอีก

หนึ่ง จีนมาจากอารยธรรมและเชื้อชาติที่แตกต่างจากตะวันตก ตรงนี้ต่างจากสหภาพโซเวียตที่ยังถือว่ามีพื้นฐานจากอารยธรรมตะวันตก ดังนั้น ความตึงเครียดของสองมหาอำนาจ จีนและสหรัฐฯ ในครั้งนี้จึงอาจเข้าขั้นการปะทะกันของอารยธรรม (Crash of Civilization) ครั้งใหญ่ของจริง

สอง จีนได้เชื่อมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และเศรษฐกิจโลก จากกระบวนการโลกาภิวัฒน์ในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา หากเปรียบเทียบกับในอดีต สหภาพโซเวียตนับเป็นคอมมิวนิสต์เต็มตัวทั้งในแง่ระบบการเมืองและระบบเศรษฐกิจ แต่เมื่อมองดูจีนในปัจจุบัน จะเห็นว่าในขณะที่ระบบการเมืองจีนยังนำโดยพรรคคอมมิวนิสต์ แต่ในทางเศรษฐกิจ จีนเรียกระบบของตนว่าเป็นระบบตลาด (Market Economy) ตามแนวทางของตะวันตก แต่ก็ไม่อาจเรียกว่าเป็นระบบเศรษฐกิจเสรีนิยมได้เต็มที่ เพราะแม้ว่าจีนจะมีภาคเอกชนที่เข้มแข็งและคึกคัก แต่เศรษฐกิจจีนก็ยังคงมีรัฐและรัฐวิสาหกิจเล่นบทนำและคอยควบคุมแทรกแซงเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก

ภายหลังยุคสงครามเย็นที่สหรัฐฯ ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำเดี่ยวของโลก นักยุทธศาสตร์ต่างประเทศในสหรัฐฯ มองว่า การเปิดรับจีนเชื่อมเข้ากับเศรษฐกิจสหรัฐฯ และเศรษฐกิจโลกเป็นแผนการที่ชาญฉลาดยิ่ง ในช่วงปี ค.ศ. 2001 ที่สหรัฐฯ ยอมรับให้จีนเข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลกนั้น แม้ว่าจะมีเสียงคัดค้านภายในสหรัฐฯ อยู่บ้างว่ารัฐบาลสหรัฐฯ ไปคบค้ากับเผด็จการที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนได้อย่างไร หากแต่ในขณะนั้น รัฐบาลสหรัฐฯ ให้เหตุผลว่า เมื่อจีนพัฒนาทางเศรษฐกิจ ก็จะเกิดชนชั้นกลางซึ่งเรียกร้องให้ปฏิรูปการเมืองเป็นเสรีนิยมประชาธิปไตยเหมือนกับเรา ส่วนถ้าถึงวันนั้นจีนไม่ปฏิรูปการเมืองเป็นเสรีนิยมประชาธิปไตยเหมือนกับเรา สุดท้ายเศรษฐกิจจีนก็ไปต่อไม่ได้อยู่ดี

จากเหตุผลเหล่านี้ สหรัฐฯ ในสมัยนั้น จึงมองว่าจีนไม่มีทางเป็นภัยคุกคามสหรัฐฯ แบบสหภาพโซเวียตได้ และโลกยุคใหม่ไม่มีทางกลับเข้าสู่ยุคสงครามเย็นได้อีก แต่อนิจจา สหรัฐฯ คาดการณ์ผิด เพราะจีนรวยขึ้น แต่กลับไม่เปลี่ยนรูปแบบการเมืองการปกครองมาเหมือนตะวันตก ในขณะเดียวกันเศรษฐกิจจีนเองก็ไม่พังเสียด้วย

กลับกลายเป็นว่า จีนร้ายกว่าสหภาพโซเวียต เพราะจีนได้เข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก หากแต่ระบบเศรษฐกิจจีนนั้นยังคงความพิเศษไม่เหมือนใคร รัฐบาลจีนมีวิธีการอุดหนุนรัฐวิสาหกิจและเอกชน เพื่อสนองยุทธศาสตร์อุตสาหกรรมของรัฐบาล รวมทั้งอาศัยกลเกมการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาหลากหลายวิธี โดยที่สหรัฐฯ เห็นว่ากฎเกณฑ์ขององค์การการค้าโลกไม่สามารถจัดการกับพฤติกรรมของจีนได้

ที่สำคัญกว่านั้น จีนยังกลายมามีอำนาจต่อรองมหาศาลในเวทีโลก จากเดิมที่สหรัฐฯ และชาติตะวันตกมักออกมาแสดงจุดยืนเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนในจีน แต่ช่วงหลังๆ มา ทุกคนต่างต้องให้เกียรติผู้นำจีนและชาติจีน เพราะเกรงว่าถ้าไปแหย่จนมังกรพิโรธ ย่อมจะกระทบธุรกิจสหรัฐฯ และธุรกิจตะวันตกจำนวนมากที่อยู่ในจีนและค้าขายกับจีน

ถ้าเป็นในอดีต สหรัฐฯ ทุบสหภาพโซเวียตจนพัง สหรัฐฯ ก็ไม่เจ็บตัวอะไรเลย แต่ในวันนี้ ถ้าสหรัฐฯ ทุบจีนจนพัง สหรัฐฯ คงจะเจ็บตัวมากด้วย และเศรษฐกิจทั้งโลกก็จะพังตามกันไปด้วย

สาม  จีนร้ายกว่าสหภาพโซเวียต เพราะจีนวันนี้เป็นเผด็จการที่ไฮเทค ดังที่ จอร์จ โซรอส พ่อมดการเงินโลกได้กล่าวในงานเลี้ยงอาหารค่ำในการประชุม World Economic Forum ที่ดาวอส เมื่อเดือนมกราคม ค.ศ. 2019 ว่า นี่เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์โลกที่เราเจอเผด็จการที่มีเทคโลยีสมัยใหม่ในการควบคุมจัดการสังคมได้ในระดับนี้

เผด็จการที่ไฮเทค เป็นปรากฎการณ์ที่ท้าทายทฤษฎีรัฐศาสตร์ เพราะตามทฤษฎีแล้ว เผด็จการจะไม่มีทางอยู่ได้ยาวนาน เพราะขาดกลไกในการรับฟังความเห็นจากคนข้างล่าง แต่ด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่หลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นปัญญาประดิษฐ์ (AI) หรือ Big Data ทำให้พรรคคอมมิวนิสต์จีนมีเครื่องมือมหาศาลในการควบคุมจัดการสังคม จนนักวิเคราะห์หลายคนมองว่า พรรคคอมมิวนิสต์จีนกลายเป็นสถาบันการเมืองที่มั่นคงแข็งแรงที่สุดแห่งหนึ่งของโลก

เมื่อเดือนสิงหาคม ค.ศ. 2018 วารสาร MIT Technology Review มีบทความชื่อ “Who needs democracy when you have data” ซึ่งแจกแจงว่าจีนใช้ข้อมูลในการบริหารจัดการเศรษฐกิจและสังคมให้มีประสิทธิภาพอย่างไร ในขณะเดียวกันก็ใช้เทคโนโลยีเหล่านี้ในการควบคุมสังคมด้วย ไม่ว่าจะเป็นการใช้กล้องและเทคโนโลยีแยกแยะใบหน้าในการตรวจจับผู้ร้าย (และศัตรูทางการเมือง) ไปจนถึงแผนการสร้างระบบคะแนนจิตพิสัยสังคม (Social Credit Score) ซึ่งรัฐบาลกำลังดำเนินการวางแผนอยู่

เทคโนโลยียุค 5.0 ไม่ว่าจะเป็น ปัญญาประดิษฐ์ (AI), Big Data, หรือสัญญาณ 5G ซึ่งในปัจจุบันจีนได้พัฒนาเทคโนโลยีเหล่านี้ขึ้นมาอย่างรวดเร็ว ชนิดหายใจรดต้นคอสหรัฐฯ การแข่งขันระหว่างสหรัฐฯ กับจีนในเทคโนโลยีเหล่านี้ แตกต่างจากการแข่งขันระหว่างสหรัฐฯ กับสหภาพโซเวียตในเรื่องเทคโนโลยีอวกาศและเทคโนโลยีการทหารในอดีต เพราะเทคโนโลยีอวกาศและเทคโนโลยีการทหารนั้นไม่เกี่ยวกับชีวิตประจำวันของคนหมู่มาก แต่เทคโนโลยีสมัยใหม่ในยุค Internet of Things นี้ ทุกคนใช้กันในชีวิตประจำวัน ดังที่วันนี้เรามีสมาร์ทโฟนกันคนละเครื่อง และอีกไม่นานก็จะถึงยุคที่ข้าวของเครื่องใช้ทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นตู้เย็น โทรทัศน์ ลำโพง สามารถพูดคุยกับเราและเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตได้

การที่จีนกำลังก้าวขึ้นมาเทียบชั้นสหรัฐฯ ในเทคโนโลยีเหล่านี้ จึงมีมิติด้านความมั่นคงและเป็นภัยคุกคาม เพราะเกี่ยวข้องกับความปลอดภัยของข้อมูล และด้วยความเชื่อที่ว่า ใครที่เป็นเจ้าของแพลตฟอร์มต่างๆ ในอนาคต ย่อมเป็นมหาอำนาจทั้งในทางการเมืองและเศรษฐกิจ

ลองคิดดูสิครับ สาเหตุที่ก่อนหน้านี้ สหรัฐฯ กลายมาเป็นผู้นำเดี่ยวของโลก เป็นเพราะสหรัฐฯ เป็นผู้สร้างแพลตฟอร์มโลกอย่างสมบูรณ์แบบ หากเรามองคำว่า “แพลตฟอร์ม” ในความหมายอย่างกว้าง เราจะเห็นว่าสหรัฐฯ เป็นผู้สถาปนาระเบียบกฎหมายเศรษฐกิจระหว่างประเทศผ่านแผลตฟอร์มองค์การการค้าโลก (WTO) องค์การการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และธนาคารโลก (World Bank)

อาวุธเด็ดที่สุดของสหรัฐฯ คือ ดอลล่าร์สหรัฐฯ ซึ่งกลายมาเป็นเงินสกุลหลักของโลก นี่ก็เป็นแพลตฟอร์มเศรษฐกิจการเงินที่สำคัญ จนสหรัฐฯ สามารถเชื่อมการค้าโลกเป็นหนึ่งเดียว โดยที่ทุกคนต่างถือและใช้ดอลล่าร์สหรัฐฯ เป็นตัวกลางในการค้าขายแลกเปลี่ยน

มาจนถึงแพลตฟอร์มสุดท้าย คือ อินเทอร์เน็ต สหรัฐฯ กลายเป็นผู้นำแพลตฟอร์มสัญญาณ 4G และแพลตฟอร์มอินเทอร์เน็ตไม่ว่าจะเป็น Google, Facebook, Amazon รวมทั้งแพลตฟอร์มที่เป็นฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์และอุปกรณ์เครื่องใช้ต่างๆ เช่น Apple, Microsoft

ในปัจจุบัน “สงครามเย็น 2.0” เกิดขึ้นจากการที่จีนกลายมาเป็นชาติที่เข้ามามีอิทธิพลในแพลตฟอร์มเดิมของสหรัฐฯ ไม่ว่าจะเป็นองค์กรสำคัญต่างๆ ในระบบเศรษฐกิจโลก รวมทั้งยังหันมาทำแพลตฟอร์มของตนเองแข่งด้วย ไม่ว่าจะเป็นการส่งเสริมให้เงินหยวนมีความเป็นนานาชาติมากขึ้น การเร่งคิดเงินหยวนดิจิทัล การส่งเสริมเส้นทางสายไหมใหม่อย่าง Belt and Road Initiative (BRI) ให้เป็นแพลตฟอร์มเส้นทางการค้าหลักของโลก ไปจนถึงการจัดตั้งธนาคาร AIIB ขึ้นมาแข่งกับธนาคารโลก

แต่ที่สหรัฐฯ ตกใจที่สุดก็คือ จีนเป็นชาติเดียวที่ขึ้นมาแข่งขันในแพลตฟอร์มอินเทอร์เน็ตเต็มตัว ไม่ว่าจะเป็นสัญญาณ 5G ของหัวเว่ย ที่ทั้งถูกและดีกว่าเทคโนโลยีสหรัฐฯ จนสหรัฐฯ ออกมาตั้งคำถามเกี่ยวกับความปลอดภัยของข้อมูลที่ส่งผ่านระบบของหัวเว่ย รวมถึงแพลตฟอร์มอื่นๆ ในโลกอินเทอร์เน็ตของจีนที่เริ่มออกไปบุกโลก ไม่ว่าจะเป็น Baidu (เหมือน Google), Tencent (คล้าย Facebook), Alibaba (คล้าย Amazon) กับบริษัทฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ และอุปกรณ์เครื่องใช้ต่างๆ ของจีนเช่น Huawei และ Xiaomi

สหรัฐฯ มองว่า เบื้องหลังแพลตฟอร์มเหล่านี้ก็คือ รัฐบาลจีน ซึ่งสะท้อนอารยธรรม ระบบ ความคิดความเชื่อที่แตกต่างจากตะวันตก ถึงแม้ว่าหลายบริษัทข้างต้นจะเป็นบริษัทเอกชนจีน แต่จีนมีกฎหมายความมั่นคงที่เขียนไว้ชัดเจนว่าบริษัทเอกชนจีนต้องให้ความร่วมมือกับรัฐในเรื่องความมั่นคง รวมทั้งปัญหาที่ว่า บริษัทเทคโนโลยีจีนเหล่านี้ก้าวขึ้นมาได้ขนาดนี้ย่อมเป็นเพราะการช่วยเหลือ อุดหนุน และส่งเสริมจากรัฐบาลจีนทั้งในเรื่องแหล่งเงินทุนและการปิดกั้นต่างชาติ

ในท้ายที่สุด ลักษณะเด่นของสงครามเย็น 2.0 ก็คือ นี่จะเป็นสงครามที่นำไปสู่จุดดุลระหว่างสองยักษ์ ที่ต่างฝ่ายต่างไม่มีวันล้มอีกฝ่ายได้ แตกต่างจากที่อังกฤษล้มสเปน หรือสหรัฐฯ ล้มสหภาพโซเวียต เพราะจีนวันนี้ได้เลียนแบบเส้นทางการเป็นมหาอำนาจอันแข็งแกร่งของสหรัฐฯ นั่นก็คือ การสร้างแพลตฟอร์มและค่อยๆ ขยายคลุมโลก

ตัวจีนเองไม่มีวันล้มสหรัฐฯ ได้ เพราะถึงแม้ว่าจีนกำลังก้าวขึ้นมาเป็นประเทศที่มีขนาดทางเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลก แต่ GDP ต่อหัวของจีนก็ยังคงห่างชั้นสหรัฐฯ หลายขุม และจีนเองยังเป็นรองสหรัฐฯ ทั้งในเรื่องเทคโนโลยี เรื่องการทหาร รวมทั้งสกุลดอลล่าร์สหรัฐฯ ก็ยังเป็นเงินสกุลหลักของโลกที่ยากจะท้าทาย

ในขณะเดียวกัน ตัวสหรัฐฯ เองนั้น แม้จะพยายามค่อยๆ ถอดรื้อความเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจจีน จนทำให้โลกกำลังจะแตกเป็นสองห่วงโซ่และสองแกน แต่สหรัฐฯ ก็ยากที่จะคว่ำจีนที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่มโหฬารและสามารถยืนหยัดด้วยตัวเองได้ รวมทั้งแพลตฟอร์มต่างๆ ของจีนเองก็มีความแข็งแกร่งและมีเทคโนโลยีชั้นแนวหน้าที่ไม่จำเป็นต้องพึ่งพิงสหรัฐฯ อีกต่อไป

โลกวันนี้ได้มาถึงจุดจบของการนำเดี่ยวของสหรัฐฯ แต่ต้องย้ำว่าไม่ใช่จุดจบของสหรัฐฯ

โลกวันนี้มาถึงจุดเริ่มต้นของการผงาดขึ้นของจีน แต่ต้องย้ำเช่นกันว่าไม่ใช่จีนที่นำเดี่ยวเช่นกัน

ในโลกสงครามเย็น 2.0 ซึ่งแตกโลกเป็นสองแกนและสองห่วงโซ่ดุลกัน ประเทศและคนที่อยู่รอดจึงไม่ใช่คนที่เลือกข้างแบบเชียร์มวย แต่คือคนที่เล่นเกมและเล่นตัวไปกับสองมหาอำนาจอย่างรู้เท่าทัน
โพสต์โพสต์