การเลือกตั้งสหรัฐฯ กับสงครามการค้า / ดร อาร์ม ตั้งนิรันดร

การลงทุนแบบเน้นคุณค่า ลงทุนหุ้น VI เน้นที่ปัจจัยพื้นฐานเป็นหลัก

โพสต์ โพสต์
always24
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 854
ผู้ติดตาม: 10

การเลือกตั้งสหรัฐฯ กับสงครามการค้า / ดร อาร์ม ตั้งนิรันดร

โพสต์ที่ 1

โพสต์

การเลือกตั้งสหรัฐฯ กับสงครามการค้า

การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่จะมีขึ้นในช่วงปลายปี ค.ศ. 2020 นั้น เป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อการกำหนดท่าทีของจีนและสหรัฐฯ ในการเจรจาสงครามการค้าไม่น้อยทีเดียวครับ

หลายคนเห็นทรัมป์ดูไม่ค่อยฉลาด ชอบพูดและทำอะไรบ้าๆบอๆ แต่ลึกๆ แล้วในเรื่องสงครามการค้า ทรัมป์กลับกำลังเล่นเกมที่ตัวเองไม่มีทางแพ้ (ในระยะยาว สหรัฐฯ อาจเสียหายไม่น้อยนะครับ เพียงแต่เกมนี้ตัวทรัมป์มีแต่ได้กับได้)

ลองคิดดูสิครับ ในขณะนี้ เศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังเป็นขาขึ้น จึงสามารถรับมือกับผลลบของสงครามการค้าที่มีต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ ได้ ขณะที่ฝั่งจีนนั้นเศรษฐกิจภายในชะลอตัวอยู่แล้ว สงครามการค้าจึงกลายเป็นเคราะห์ซ้ำกรรมซัด ทำให้จีนเจ็บหนักมากกว่าสหรัฐฯ

ในระหว่างที่ผลกระทบต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังน้อยอยู่ การสู้กับจีนช่วยเรียกคะแนนนิยมให้กับทรัมป์ เพราะได้ใจฐานเสียงของทรัมป์ที่เป็นพวกชาตินิยม ต่อต้านโลกาภิวัฒน์และการค้าเสรี แต่หากสงครามการค้ายืดเยื้อต่อไป เศรษฐกิจสหรัฐฯ เองเริ่มอ่อนแรงจนคนทั่วไปเริ่มรู้สึกได้ ทรัมป์ก็เพียงถอยนิดหน่อย ด้วยการยอมลดกำแพงภาษี พร้อมบรรลุข้อตกลงบางอย่างกับจีน (และประกาศชัยชนะไปด้วย) เพียงเท่านี้ก็จะทำให้บรรยากาศทางเศรษฐกิจในสหรัฐฯ ดีขึ้นได้ทันตา ยิ่งถ้าตอนนั้นเป็นช่วงหาเสียงเลือกตั้ง ก็จะเอาไปคุยได้ว่าตนกระตุ้นเศรษฐกิจได้ผล

กลเกมแบบทรัมป์นั้นเก่งนักในการใช้ความบ้าและลูกเล่นลูกชนของตัวสร้างภัยและความวุ่นวายให้คนตื่นตระหนก จากนั้นก็เล่นบทเป็นคนมาปัดเป่าภัยและความวุ่นวาย (ที่ตัวเองสร้างขึ้นมาเองนั่นแหละ) จนคนรู้สึกสถานการณ์พลิกกลับมาดีขึ้นอย่างทันควัน

ลองนึกย้อนถึงเมื่อตอนทรัมป์ทวีตเหมือนเตรียมจะก่อสงครามโลกครั้งที่ 3 กับคิมจองอิล พอผ่านไปไม่นานก็กลับมาเล่นบทมิตรรักสุดเลิฟกับน้องคิม นี่แหละครับ ความเอาแน่เอานอนไม่ได้คือไม้เด็ดของนักธุรกิจลูกทุ่งแบบทรัมป์

ในส่วนของจีนเองนั้น หมัดเด็ดในช่วงที่ผ่านมา ก็คือ การไม่สั่งซื้อถั่วเหลืองจากเกษตรกรสหรัฐฯ ซึ่งจีนหวังว่าจะกระทบฐานเสียงของทรัมป์โดยตรง แต่จนบัดนี้ก็ยังไม่ได้ผลเต็มที่เท่าไร เพราะทรัมป์เองก็มีการหว่านเงินอุดหนุนเกษตรกรเป็นการบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนไปพลางก่อน

ในการพบกันที่โอซากา ทรัมป์กับสีจิ้นผิงได้ตกลงเป็นเงื่อนไขของการกลับมานั่งโต๊ะเจรจาว่า จีนจะเริ่มกลับมาซื้อถั่วเหลืองและสินค้าเกษตรจากสหรัฐฯ อีกครั้ง แต่จนถึงปัจจุบัน ก็ยังไม่มีความแน่ชัดในเรื่องการสั่งซื้อจากจีน และจีนเองก็มองว่านี่เป็นไพ่ใบสำคัญ โดยเฉพาะเมื่อยิ่งเขยิบเข้าใกล้วันเลือกตั้งมากขึ้น

นักวิเคราะห์ฝั่งจีนส่วนใหญ่ ไม่รู้เอากลเม็ดมาจากพิชัยสงครามซุนวูหรือไม่ แต่ต่างให้ความเห็นเป็นเสียงเดียวกันว่า การทำสงครามระยะยาวที่ล้วนเจ็บตัวทั้งสองฝ่ายอย่างนี้ สุดท้ายอยู่ที่ใครจะทนได้นานกว่าใคร กลยุทธ์ที่ดีที่สุดของจีนก็คือ การซื้อเวลา

เพราะในการเลือกตั้งในปีหน้า ไม่ว่าทรัมป์จะชนะหรือแพ้ ก็ล้วนเป็นประโยชน์กับจีน ถ้าทรัมป์ชนะและยังคงเดินหน้าสงครามการค้าแบบบ้าบิ่นเช่นนี้ ยิ่งวันกลับจะยิ่งเข้าตัว สหรัฐฯ จะเริ่มเจ็บตัวมากขึ้น ปัญหาสำคัญก็คือ ทรัมป์เก่งในการช่วงชิงประโยชน์ระยะสั้น (โดยเฉพาะประโยชน์ทางการเมืองและสร้างกระแสให้กับตัวเอง) แต่ทรัมป์ขาดยุทธศาสตร์หรือแผนการระยะยาว ต่างจากจีนที่ในตอนนี้ มองสงครามการค้าเป็นศึกมาราธอน และวางยุทธศาสตร์ระยะยาวในการเร่งปรับโครงสร้างเศรษฐกิจและยกระดับเทคโนโลยี เพื่อลดการพึ่งพิงสหรัฐฯ

แต่ถ้าทรัมป์แพ้การเลือกตั้ง ก็จะเป็นประโยชน์กับจีนอีกแบบ นั่นก็คือ ความหวือหวาและความผันผวนในระยะกลางจะผ่อนคลายลง เพราะหากเปลี่ยนมาเป็นประธานาธิบดีจากพรรคเดโมแครต ถึงแม้ความขัดแย้งด้านการค้าระหว่างจีน-สหรัฐฯ จะคงมีต่อไปอย่างแน่นอน แต่ก็มีความเป็นไปได้สูงที่สงครามการค้าจะเปลี่ยนรูปแบบกลับไปใช้แนวทางสุภาพชนแบบในสมัยประธานาธิบดีโอบามา

ผู้สมัครจากพรรคเดโมแครตล้วนเห็นด้วยกับทรัมป์ว่าจีนเป็นภัยคุกคามทางยุทธศาสตร์ที่สำคัญที่สุดของสหรัฐฯ เพียงแต่ไม่เห็นด้วยกับวิธีการทำสงครามการค้าแบบทรัมป์ และอยากกลับไปใช้แนวทางแบบโอบามามากกว่า

หลายคนมักเข้าใจผิดว่า ความขัดแย้งเรื่องการค้าระหว่างจีน-สหรัฐฯ นั้น เพิ่งเริ่มต้นขึ้นในสมัยประธานาธิบดีทรัมป์ แต่ความจริงแล้ว ความขัดแย้งมีมาตั้งแต่สมัยประธานาธิบดีโอบามา เพียงแต่โอบามาใช้วิธีแบบผู้ดี โดยเลือกใช้ยุทธศาสตร์แสวงหาพันธมิตรทำความร่วมมือข้อตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (Transpacific Partnership: TPP) ซึ่งเป้าหมายหลักก็เพื่อทัดทานและปิดล้อมจีน

ถ้าเราไปดูเนื้อหาของกฎเกณฑ์ TPP ที่ร่างขึ้นในยุคโอบามา จะเห็นว่ามีกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการอุดหนุนรัฐวิสาหกิจค่อนข้างละเอียด อ่านไปแล้วดูเหมือนจะร่างขึ้นเพื่อจัดการกับพฤติกรรมการอุดหนุนรัฐวิสาหกิจของจีน ซึ่งทำให้หลายคนแปลกใจ เพราะจีนไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของ TPP สักหน่อย จะร่างกฎเกณฑ์เหล่านี้ขึ้นมาเพื่ออะไร

คำตอบก็คือ โอบามาเองก็เห็นเหมือนทรัมป์ว่ากฎเกณฑ์ขององค์การการค้าโลก (WTO) ไม่สามารถรับมือกับพฤติกรรมการอุดหนุนรัฐวิสาหกิจของจีนได้ ทำให้จีนค้าขายได้เปรียบสหรัฐฯ ในหลายภาคอุตสาหกรรม ส่วนการจะแก้ไขกฎเกณฑ์ WTO นั้นแทบไม่มีทาง เพราะต้องอาศัยความเห็นชอบร่วมกันของประเทศสมาชิก โดยที่การเจรจาพหุภาคีหลายประเทศนั้นใช้เวลายาวนาน

โอบามาจึงเปลี่ยนมาร่วมมือกับพันธมิตรที่คิดตรงกัน (กลัวจีนเหมือนกัน) และสร้างเป็นกลุ่มการค้าขึ้นใหม่ โดยหวังว่าเมื่อกลุ่มนี้ขยายใหญ่ขึ้นแล้ว ในอนาคตข้างหน้า จีนเองก็คงจะต้องอยากขอเข้าร่วมด้วย เพื่อจะได้สิทธิประโยชน์ทางการค้า เมื่อถึงเวลานั้น กฎเกณฑ์การค้าของ TPP ก็จะยกระดับขึ้นเป็นกฎเกณฑ์ทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศชุดใหม่ที่จีนเองก็จะต้องผูกพันด้วย

เมื่อทรัมป์ขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีใหม่ๆ ทรัมป์บอกแผนการอย่างนี้นักธุรกิจเขาเห็นว่าไม่ทันใจ ไม่ทันการณ์ ต้องรออีกกี่ปีกว่าจะสำเร็จ ถึงตอนนั้นจีนไม่ยิ่งกลายเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลกแซงหน้าสหรัฐฯ ไปแล้วหรือ แถมกฎเกณฑ์ TPP ยังจะส่งผลให้มีการย้ายโรงงานมากมายออกจากสหรัฐฯ ไปตั้งที่ประเทศอื่นอีกด้วย ดังนั้น ภายในสามวันหลังเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดี ทรัมป์ประกาศถอนตัวจาก TPP จากนั้นก็ค่อยๆ เริ่มเปิดหมัดชกกับจีนซึ่งหน้า โดยเชื่อว่าถึงจะเจ็บตัวทั้งคู่ แต่จีนเจ็บมากกว่า เราจึงเห็นการตั้งกำแพงภาษีตอบโต้สินค้าจีนมาจนถึงปัจจุบัน เรียกเอาสั่นสะเทือนเป็นลูกโซ่ไปทั้งโลก

มาวันนี้ทั้งทรัมป์และสีจิ้นผิงต่างน่าจะคิดถึงการเลือกตั้งใหญ่ของสหรัฐฯ ในปีหน้า ทรัมป์คงเล่นเกมจากนี้ไปให้เป็นประโยชน์ทางการเมืองกับตัวเองมากที่สุด เดี๋ยวดีเดี๋ยวร้ายปั่นกระแสไปเรื่อยตามสไตล์ ส่วนจีนเองก็คงซื้อเวลารอต่อไป ท่องคาถาว่า กัดฟันทนให้ได้อีกสักปี ทัพของศัตรูอาจเปลี่ยนแม่ทัพแล้วถอยไปเอง หรือไม่ถ้ายังได้แม่ทัพบ้าบิ่นคนเดิม สุดท้ายก็คงจะแพ้ภัยตัวเองในที่สุด

เพียงแต่จีนเองอย่าเสบียงหมดก่อนก็แล้วกัน
โพสต์โพสต์