เทคนิคการออมและลงทุนสำหรับชีวิตหลังเกษียณ

การลงทุนแบบเน้นคุณค่า ลงทุนหุ้น VI เน้นที่ปัจจัยพื้นฐานเป็นหลัก

โพสต์ โพสต์
amornkowa
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 2620
ผู้ติดตาม: 262

เทคนิคการออมและลงทุนสำหรับชีวิตหลังเกษียณ

โพสต์ที่ 1

โพสต์

3 กูรู เปิดเทคนิคการออมและการลงทุน สำหรับชีวิตหลังเกษียณโดยไม่ต้องพึ่งพาลูกหลาน และสามารถมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้เหมือนเดิม

ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) จัดเสวนาหัวข้อ “จัดพอร์ตต่อยอดเงินก้อนสุดท้าย” โดยวงเสวนาประกอบด้วย นายสมจินต์ ศรไพศาล กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนทหารไทย จำกัด, นายธีรนาถ รุจิเมธาภาส กรรมการผู้อำนวยการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ทิสโก้ จำกัด และนายพจน์ หะริณสุต ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม วรรณ จำกัด ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในวงเสวนา

ในยุคปัจจุบัน คนไทยส่วนใหญ่แทบไม่ได้ใส่ใจเรื่องการนำเงินไปลงทุนมากเท่าไรนัก จากสถิติของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่า กว่า 80% ของคนไทย นิยมการออมเงินด้วยการนำเงินไปฝากธนาคารมากที่สุดเป็นอันดับ 1 โดยมีประชากรที่นำเงินไปลงทุนมีจำนวนเพียงน้อยนิด เนื่องจากคนส่วนใหญ่กลัวเรื่องความเสี่ยง

แต่การที่นำเงินไปฝากไว้ในธนาคาร โดยที่มีผลตอบแทนเป็นดอกเบี้ยที่ต่ำ นั่นคือความเสี่ยงที่ผู้ฝากจะได้รับหลังจากเกษียณ เนื่องจากเงินฝากไม่งอกเงย และยังต้องเผชิญกับอัตราเงินเฟ้อทุกปี ดังนั้นชีวิตหลังเกษียณอาจไม่ใช่เรื่องดีนัก เราจึงนำเทคนิควางแผนการเงินไว้ใช้หลังเกษียณ จาก 3 กูรู มาให้ได้ลองนำไปปรับใช้กับวิถีการดำเนินชีวิต เพื่อให้ชีวิตหลังเกษียณเป็นไปอย่างมั่นคง และพึ่งพาคนอื่นน้อยที่สุด

นายสมจินต์ กล่าวว่า คนวัยเกษียณชีวิตยังคงไม่เปลี่ยนแปลงจากวัยทำงานมากนัก แต่ข้อดีของคนวัยนี้คือจะมีเวลาว่างมากขึ้น ซึ่งก็ตามมาด้วยโอกาสจับจ่ายใช้สอยที่เพิ่มตามขึ้นด้วยเช่นกัน เมื่อไปดูสถิติของคนหลังเกษียณในไทยพบว่ากว่า 60% มีรายได้ 50,000 บาท/ปี ซึ่งเป็นจำนวนที่เยอะที่สุด

นั่นหมายความว่าคนส่วนใหญ่ของวัยนี้มีรายได้ที่น้อยเป็นอย่างมากเมื่อเทียบกับค่าใช้จ่ายในยุคปัจจุบัน นอกจากนี้สถิติยังบอกว่าแหล่งรายของคนวัยเกษียณส่วนใหญ่มาจากลูกหลาน คิดเป็น 34% โดยรายได้ที่มาจากการออมมีเพียงแค่ 2% เท่านั้น ซึ่งถือเป็นแหล่งรายได้ลำดับท้ายๆ อีกด้วย

ดังนั้นจึงอยากให้คนส่วนใหญ่ตระหนักถึงการออมให้มากขึ้น เพื่อไม่ต้องพึ่งพาใครในวัยเกษียณ แต่ปัจจุบันมีความท้าทายใหม่ๆเกิดขึ้นมามากมายเช่นอัตราเงินเฟ้อพุ่งขึ้น ดอกเบี้ยผลตอบแทนต่ำ รวมไปถึงวิถีดำเนินชีวิตของคนยุคปัจุบัน

ย้อนไปหลายสิบปีก่อนอาจพูดได้ว่าแค่คุณออมเงินได้ คุณก็สามารถกลายเป็นเศรษฐีรายใหม่ได้เช่นกัน เพราะดอกเบี้ยเงินฝากมีอัตราที่สูง ประกอบกับคนในยุคนั้นส่วนใหญ่ทำเกษตร เมื่อเกษียณก็อาจมีเงินก้อนโตจากดอกเบี้ยเงินฝาก และยังมีที่ดินที่อาจขายได้ หรือใครไม่ขายที่ก็ยังมีพืชผลในไร่ให้เก็บกินและขาย

แต่ปัจจุบันคนหันมาเป็นพนักงานเอกชนมากขึ้น ซึ่งคนกลุ่มนี้ต้องวางแผนเก็บเงินไว่ใช้หลังเกษียณ เพราะหลังเลิกทำงานจะไม่มีรายได้อะไรเข้ามาเลย ดังนั้นการนำเงินไปลงทุนตั้งแต่เนิ่นๆ ถือเป็นทางเลือกที่ดีอีกทางเช่นกัน

แนะสูตร 100-อายุ สำหรับบริหารพอร์ตลงทุน ส่วนหลังเกษียณควรมีเงินเก็บ 3-6 ล้านบาท

จากสถิติยังบอกอีกว่าหลังเกษียณในวัย 60 ปี มนุษย์เราส่วนใหญ่จะมีชีวิตอยู่ต่อไปอีก 17-22 ปี แต่ในปัจจุบันวิวัฒนาการทางการแพทย์ดีขึ้น ดังนั้นเราจึงปรับเพิ่มให้เป็น 25 ปี ซึ่งคนวัยทำงานต้องเก็บเงินสำหรับใช้หลังเกษียณอีก 25 ปี โดยที่จะไม่มีรายได้เข้ามา

ตัวเลขที่ดีที่สุดคือหลังเกษียณควรมีเงินเก็บ 6 ล้านบาท เพื่อมีเงินใช้เดือนละ 25,000 บาท ไปอีก 20 ปี และแต่ละปีต้องดึงเงินออกมา 5% เพื่อนำไปลงทุนต่ออีกเพื่อให้สามารถมีเงินสำหรับใช้ต่อเนื่องไปอีก 5 ปี

แต่ในกรณีที่อาจจะเก็บไม่ถึง 6 ล้านบาท ขอแนะนำว่าควรมีอย่างน้อย 3 ล้านบาท เพื่อมีเงินใช้เดือนละ 12,500 บาท ไปอีก 20 ปี และก็นำเงิน 5% จากจำนวนนั้นออกมาลงทุนหลังเกษียณด้วยเช่นกัน

แต่ระหว่างทางที่พนักงานเอกชนยังอยู่ในช่วงทำงาน ขอแนะนำว่าควรหั่นเงินออกมา 15% จากเงินเดือนนำไปลงทุนอย่างต่อเนื่องทุกเดือน และเมื่อมาถึงวัยเกษียณจะมีเงินก้อนที่นำไปลงทุนสามารถนำมาใช้เป็นเงินหลังเกษียณได้

“ขณะที่สัดส่วนของการลงทุน ที่หลายคนอาจยังลังเลอยู่ว่าจะลงทุนอย่างไร จึงมีสูตร 100-อายุ นำมาให้ลองเอาไปใช้กัน เช่นอายุ 40 ปี ก็นำ 100-40 จะได้ 60 นั่นหมายความว่า ในช่วงอายุ 40 ปี คุณสามารถลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงได้ 60% ของพอร์ตการลงทุนทั้งหมด และพออายุเพิ่มขึ้น จึงค่อยปรับลดการลงทุนจากพอร์ตเสี่ยงมากออกไปอยู่ในการลงทุนที่ปลอดภัยขึ้น”

ด้านนายธีรนาถ เผยว่า คนในยุคนี้ส่วนใหญ่คิดถึงการลงทุนช้าเกินไป ตนเองเคยไปบรรยายให้ความรู้เรื่องการออมและการลงทุนยังหน่วยงานเอกชนต่างๆ ซึ่งพบว่าปัญหาส่วนใหญ่ของพนักงานเอกชนคือ ไม่ตระหนักรู้และเห็นถึงความสำคัญของการออมและการลงทุน

จากที่ได้สัมผัสมาจะแบ่งคนออกเป็น 2 วัย คือวัยเพิ่งจบมหาวิทยาลัย และวัยทำงานมาสักระยะหนึ่งแล้ว โดยเด็กที่เพิ่งจบใหม่ในยุคนี้ส่วนใหญ่มีความคิดอยากจะเป็นสตาร์ทอัพ เพราะคิดว่ารวยเร็ว และประสบความสำเร็จไว คนประเภทนี้ก็จะไม่มีการออม โดยจะนำเงินไปลงทุนแทบทั้งหมด ซึ่งมันมีทั้งข้อดีและข่อเสีย นั่นคือถ้าโชคดีก็รวยไปเลย แต่ถ้าลงทุนผิดพลาดเงินก็หายหมดเช่นกัน

ส่วนเด็กจบใหม่อีกกลุ่มเป็นประเภทแสวงหาประสบการณ์ ซึ่งส่วนใหญ่มีการใช้จ่ายเกินกำลัง และมีพฤติกรรมชอบนำเงินในอนาคตมาใช้เป็นเงินปัจจุบัน จึงเป็นสังคมแห่งการสร้างหนี้ คนกลุ่มนี้จึงมีชีวิตติดลบตั้งแต่อายุยังน้อย พอจะมาพูดถึงเรื่องการลงทุนก็ไม่สามารถทำได้ เนื่องจากต้องมาบริหารหนี้ของตัวเองเสียก่อน

ด้านคนที่ทำงานมาสักระยะ เช่นอายุ 40 ปีขึ้นไป คนกลุ่มนี้จะกลัวความเสี่ยงมา โดยส่วนใหญ่มักนำเงินไปจมอยู่ในธนาคารที่มีผลตอบแทนต่ำ เงินจึงไม่สามารถงอกเงยได้ สิ่งที่คนกลุ่มนี้จะต้องเผชิญในอนาคตคือการพึ่งพาคนอื่น

ขณะที่คนอายุ 40 ปีขึ้นไปอีกกลุ่มจะเป็นประเภทที่ลงทุนง่าย ตามคำชักชวนของผู้อื่น โดยไม่ศึกษาหาความรู้ ปัญหาที่ตามมาของคนกลุ่มนี้นั่นคือมักโดนหลอกและสูญเงินนั่นเอง

“ดังนั้นการลงทุนต้องทำอย่างเข้าใจ ด้วยการหาความรู้ให้เข้าใจอย่างถ่องแท้จริงๆ ว่าสิ่งที่ลงทุนไป เขาเอาเงินเราไปทำอะไร และจะได้ผลตอบแทนกลับมาอย่างไร ซึ่งในโลกนี้ไม่มีกองทุนหรือหุ้นตัวไหนดีที่สุดสำหรับทุกคน”

มือใหม่หัดลงทุนแนะลงทุนในกองทุนรวมแบบผสม

จากที่ได้กล่าวไปนั่นคือการลงทุนต้องมีการทำการบ้านและวางแผนที่ดี สิ่งแรกที่ต้องทำคือบัญชีรายรับรายจ่าย เพื่อที่เราจะได้รู้ว่าเราจะมีเงินออมได้เท่าไร และเป้าหมายของการลงทุนของเราอยู่ที่ไหน จึงจะรู้ว่าควรจะนำเงินไปลงทุนกับอะไร

“แต่สำหรับมือให่ที่ยังงงๆอยู่ไม่รู้จะเอาอย่างไรกับชีวิต แต่อยากลงทุน จึงขอแนะนำให้เริ่มการลงทุนใน ”กองทุนรวมแบบผสม”เนื่องจากกองทุนประเภทนี้จะนำเงินของเราไปลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆที่มีความเสี่ยงและปลอดภัย โดยมีผู้จัดการกองทุนคอยปรับเปลี่ยนสัดส่วนตามความเหมาะสมของภาวะเศรษฐกิจ”

และการกระจายการลงทุนแบบนี้ยังเป็นการกระจายความเสี่ยงที่ดีอีกด้วย แต่สิ่งที่นักลงทุนมือใหม่ต้องทำเป็นอันดับแรกก่อนตัดสินใจซื้อกองทุนรวมแบบผสมคือ ถามก่อนว่ากองทุนที่จะซื้อนั้นเอาเงินไปลงทุนในอะไรบ้าง เพื่อที่จะได้เลือกกองทุนที่ตัวเองชอบที่สุด

แนะจัดพอร์ตลงทุน 5 ส่วน

ส่วนนายพจน์ หล่นความเห็นปิดท้ายว่า ปัจจุบันสถิติของคนที่แต่งงานและไม่มีลูกพุ่งสูงขึ้น เช่นเดียวกับคนโสด ซึ่งสถิตินี้เพิ่มสูงขึ้นทั้งในประเทศไทยละทั่วโลก ดังนั้นเมื่อเข้าสู่วัยเกษียณคนเหล่านี้จะไม่มีลูกหลานไว้เลี้ยงดู ดังนั้นจึงต้องยิ่งนำเงินไปลงทุนมากที่สุด

และจากพฤติกรรมของคนไทยนั้น กว่า 78% ฝากเงินไว้กับธนาคาร ซึ่งเป็นสถิติที่น่าตกใจเป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นที่รู้กันว่าคนส่วนใหญ่ล้วนแต่กลัวความเสี่ยง จึงไม่นำเงินไปลงทุน และเมื่อถามว่าจะลงทุนอย่างไร ก็มีสูตรการลงทุนที่มากมายหลายสูตรน่าปวดหัวเหลือเกิน

“สำหรับสูตรที่แนะนำนั่นคือแบ่งเงินลงทุนออกเป็น 5 ส่วน เพื่อกระจายความเสี่ยง ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่ควรทำเป็นอันดับแรกๆ โดยเงิน 5 ส่วนเราจะนำไปลงทุนในหุ้น 27%, REITs 26%, ตราสารหนี้ 17%, Real Estate 13% และฝากธนาคาร 17%”

Credit:Money2know
โพสต์โพสต์