วันที่โลกมีสองอินเทอร์เน็ต / อาร์ม ตั้งนิรันดร

การลงทุนแบบเน้นคุณค่า ลงทุนหุ้น VI เน้นที่ปัจจัยพื้นฐานเป็นหลัก

โพสต์ โพสต์
always24
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 854
ผู้ติดตาม: 10

วันที่โลกมีสองอินเทอร์เน็ต / อาร์ม ตั้งนิรันดร

โพสต์ที่ 1

โพสต์

วันที่โลกมีสองอินเทอร์เน็ต

ภาพอนาคตแบบหนึ่งที่เป็นไปได้ ก็คือ โลกที่มีสองอินเทอร์เน็ตแยกจากกันครับ

วันหนึ่งเราอาจต้องมีสมาร์ทโฟนคนละสองเครื่อง เครื่องหนึ่งเอาไว้เชื่อมต่อกับโลกอินเทอร์เน็ตของจีน เช่น ช็อปปิ้งในเว็บอาลีบาบา ฟังเพลงในแอพ Joox (ซึ่งเป็นของบริษัทจีน) ส่วนอีกเครื่องหนึ่งก็เอาไว้เชื่อมกับโลกอินเทอร์เน็ตของสหรัฐฯ เช่น ใช้ Gmail หรือดู YouTube

หรือถ้ารุนแรงยิ่งกว่านั้น ก็อาจถึงขั้นที่แต่ละประเทศจะต้องเลือกว่าจะเชื่อมต่อกับโลกอินเทอร์เน็ตของสหรัฐฯ หรือโลกอินเทอร์เน็ตของจีน เราอาจเห็นประเทศในแถบแอฟริกาใช้สมาร์ทโฟนจีนและแอพจีน รวมทั้งใช้กฎเกณฑ์ในการกำกับดูแลและควบคุมโลกไซเบอร์ตามโมเดลจีน ขณะที่โลกตะวันตกก็อาจจะผนึกกันใช้ผลิตภัณฑ์สหรัฐฯ และแอพของสหรัฐฯ รวมทั้งมีกฎเกณฑ์การกำกับดูแลโลกไซเบอร์ที่ค่อนข้างเสรี (ส่วนไทยจะไปอยู่ข้างไหนนั้น ผมไม่กล้าเดา)

ถ้าเปรียบเทียบกับยุคสงครามเย็นสมัยที่สหรัฐฯ สู้กับสหภาพโซเวียต ยุคนั้นสองมหาอำนาจต่างเรียกร้องให้ประเทศทั่วโลกต้องเลือกขั้วลัทธิการเมือง แต่ในวันนี้สงครามเย็นยุคไฮเทคระหว่างจีนและสหรัฐฯ กำลังกลายมาเป็นการเรื่องของการบีบให้ประเทศทั่วโลกต้องเลือกขั้วเทคโนโลยีว่าจะเชื่อมเข้ากับฝั่งจีนหรือฝั่งสหรัฐฯ

ผู้นำเสนอภาพอนาคต “สองอินเทอร์เน็ต” จนเป็นที่กล่าวถึงอย่างกว้างขวาง ก็คือ Eric Schmidt ซึ่งเคยเป็นเบอร์หนึ่งของ Google มาก่อน โดยเขาได้แสดงความเห็นเมื่อปลายปีที่แล้วว่า โลกอินเทอร์เน็ตของจีนพัฒนาไปไกลมาก และอาจเรียกได้ว่าเป็นอีกจักรวาลหนึ่ง คนจีนไม่ได้ใช้ Facebook, Twitter, Google, Gmail เหมือนคนในโลกตะวันตก แต่จีนมีผลิตภัณฑ์เหล่านี้ของตัวเอง ซึ่งทำได้ดีและก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว

Eric Schmidt บอกว่า ในโลกยุคโลกาภิวัตน์เช่นในปัจจุบัน จึงไม่ใช่เพียงบริษัทเทคโนโลยีสหรัฐฯ ที่จะออกไปยึดครองโลก แต่บริษัทเทคโนโลยีจีนก็พร้อมจะออกไปสู้เพื่อช่วงชิงส่วนแบ่งตลาดโลกเช่นกัน จนสุดท้ายจะแตกเป็นสองโลกอินเทอร์เน็ตที่แยกจากกันใน 10-15 ปี

ตอนที่ผมฟังเรื่องนี้ครั้งแรก ก็ยังฟังหูไว้หู เพราะจะเป็นไปได้อย่างไรครับ ในเมื่อโทรศัพท์หัวเว่ยที่ใช้กันที่ไทยก็ยังใช้แอนดรอยด์และมีแอพฝรั่งครบถ้วน แต่สองสามวันมานี้ เมื่อมีข่าวเกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่ Google อาจต้องเลิกทำธุรกิจกับหัวเว่ย ตามคำสั่งของรัฐบาลสหรัฐฯ ผมกลับเริ่มเห็นภาพอนาคตของโลกที่มีสองอินเทอร์เน็ตเด่นชัดขึ้นมาก ไม่ใช่เพียงเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ แต่อาจเกิดขึ้นรวดเร็วเกินความคาดหมายเสียอีก

ตอนนี้รัฐบาลสหรัฐฯ ได้ยืดเวลาก่อนจะบังคับใช้คำสั่งจริงออกไปอีก 90 วัน แต่ถ้าต่อไปมีการบังคับใช้คำสั่งนี้จริง ก็ย่อมเป็นผลให้หัวเว่ยต้องเร่งพัฒนาและออกระบบปฏิบัติการ (Operating System) ของตัวเองที่ไม่ใช่แอนดรอยด์ ซึ่งก็จะยิ่งผลักให้โลกที่มีสองอินเทอร์เน็ตเป็นจริงมากขึ้นและเร็วขึ้น

นอกจากเรื่องนี้ เราก็คงจะเห็นข่าวที่รัฐบาลสหรัฐฯ ออกมากดดันประเทศต่างๆ ไม่ให้ใช้เทคโนโลยี 5G ของหัวเว่ย โดยอ้างเรื่องความปลอดภัยของข้อมูล โดยสหรัฐฯ ถึงกับประกาศกร้าวว่า ต่อไปประเทศไหนที่ใช้เทคโนโลยีของหัวเว่ย สหรัฐฯ อาจไม่สามารถเชื่อมต่อด้วยได้

ที่สหรัฐฯ ออกมากล่าวหาเช่นนี้ ต้องอธิบายก่อนครับว่า สหรัฐฯ ไม่มีหลักฐานใดๆ แต่โดยลักษณะของเทคโนโลยี 5G นั้น ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีทั่วโลกต่างบอกว่ามีความเป็นไปได้แน่นอนในทางเทคนิคที่จะทำการสอดแนมหรือใส่ malware เพื่อลักลอบข้อมูล ซึ่งจะเป็นความเสี่ยงด้านความมั่นคงในโลกอนาคตซึ่งอุปกรณ์ข้าวของเครื่องใช้ทุกอย่างจะเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ต (ที่เราเรียกกันว่ายุค "Internet of Things)

เอาเข้าจริงแล้ว ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยี 5G ของจีนหรือเทคโนโลยี 5G ของสหรัฐฯ ก็สามารถทำการสอดแนมหรือลักลอบข้อมูลได้ทั้งนั้น นี่เองจึงเป็นเหตุผลด้านความมั่นคงที่ทำให้จีนเร่งรัดพัฒนาเทคโนโลยี 5G ของตัวเอง รวมทั้งสร้างโลกอินเทอร์เน็ตและเทคโนโลยีที่เป็นเอกเทศของตน ไม่ใช้ของสหรัฐฯ

ส่วนสหรัฐฯ เองก็เที่ยวบอกประเทศอื่นๆ ไปทั่วว่า ไว้ใจเอกชนสหรัฐฯ ได้ แต่ไว้ใจจีนไม่ได้ เพราะบริษัทเทคโนโลยีจีนอย่างหัวเว่ย ถึงแม้ว่าจะเป็นเอกชน แต่ย่อมต้องมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับรัฐบาลจีน ไม่อย่างนั้นหัวเว่ยจะโตมาถึงขนาดนี้ได้อย่างไรถ้ารัฐบาลจีนไม่ให้การสนับสนุน และตามกฏหมายจีน บริษัทเทคโนโลยีจีนต้องให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อความมั่นคงของรัฐแก่รัฐบาลจีนด้วย

นี่แหละครับที่ผมเคยชี้ให้เห็นว่า เทคโนโลยียุคใหม่ไม่ใช่แค่เรื่องการค้าขาย ไม่ใช่แค่ว่าใครขายสมาร์ตโฟน ใครขายแอพ หรือใครขายเสาสัญญาณได้มากกว่าใคร แต่ทั้งหมดนี้มีมิติความมั่นคงด้วย ซึ่งสำหรับยักษ์ใหญ่อย่างทั้งจีนและสหรัฐฯ เป็นเรื่องที่เขาต้องกังวลมาก จนเป็นชนวนความขัดแย้งทั้งสงครามการค้าและสงครามเทคโนโลยีที่เราเห็นกันอยู่ในปัจจุบัน

จนวันนี้ก็ยังมีหลายฝ่ายในสหรัฐฯ ที่เรียกร้องว่า โลกน่าจะน่าอยู่กว่า ถ้ามีเพียงอินเทอร์เน็ตเดียว สิ่งที่สหรัฐฯ ควรทำคือ ควรจะช่วยกันดึงจีนเข้าสู่โลกอินเทอร์เน็ตสากล ไม่ใช่พยายามกดดันให้จีนแยกตัวออกไป ซึ่งก็จะเท่ากับกดดันให้จีนต้องเดินเกมสร้างและแยกโลกเทคโนโลยีขึ้นอีกใบด้วย

แต่กระแสร้อนแรงในสหรัฐฯ ตอนนี้คือความกลัวการผงาดขึ้นมาของเทคโนโลยีจีน ความไม่พอใจการปิดกั้นเทคโนโลยีตะวันตกภายในจีน และความหวาดระแวงเรื่องความมั่นคง จึงกลายเป็นว่าสหรัฐฯ ยิ่งกลัวยิ่งกลายมาเป็นผู้ผลักให้เกิดสองโลกอินเทอร์เน็ต ซึ่งย่อมจะเป็นชนวนการต่อสู้และความขัดแย้งระยะยาว จนอาจถึงระดับกลายเป็นสงครามเย็นไฮเทคให้หนาวสะท้านกันไปทั้งโลกครับ
โพสต์โพสต์