สามคำถามยอดฮิต จากนักลงทุน / ดร.บัณฑิต นิจถาวร

การลงทุนแบบเน้นคุณค่า ลงทุนหุ้น VI เน้นที่ปัจจัยพื้นฐานเป็นหลัก

โพสต์ โพสต์
always24
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 854
ผู้ติดตาม: 10

สามคำถามยอดฮิต จากนักลงทุน / ดร.บัณฑิต นิจถาวร

โพสต์ที่ 1

โพสต์

สามคำถามยอดฮิต จากนักลงทุน

ปีนี้ต้องบอกว่า เป็นปีของความไม่แน่นอน คือ มีหลายอย่างเกิดขึ้นทั้งในระดับประเทศและระดับสากล ที่กระทบการตัดสินใจ

ของนักลงทุนและภาคธุรกิจอย่างสำคัญ เป็นความไม่แน่นอน ก็เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นไม่มีใครสามารถบอกได้ว่าจะจบหรือลงเอยอย่างไร ในระดับเศรษฐกิจโลก ความไม่แน่นอนสำคัญคือความไม่แน่นอนด้านนโยบาย เช่น กรณีสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐว่าจะจบอย่างไร และจบเมื่อไร กรณีความเป็นหนี้ของรัฐบาลสหรัฐว่าจะสามารถปรับเพิ่มเพดานก่อหนี้สาธารณะได้หรือไม่ เพราะถ้าไม่สามารถกู้เงินใหม่ได้ การให้บริการต่างๆ ของภาครัฐในสหรัฐก็ต้องหยุด ซึ่งจะกระทบเศรษฐกิจมาก ที่อังกฤษก็มีกรณี Brexit ที่ยังหาทางออกไม่ได้ว่าจะยุติอย่างไร นอกจากนี้ก็มีเรื่องการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน ที่ไม่ชัดเจนว่า รัฐบาลจีนจะใช้อัตราแลกเปลี่ยนเป็นเครื่องมือแก้ไขปัญหาการชะลอตัวของเศรษฐกิจหรือไม่ สิ่งเหล่านี้คือความไม่แน่นอนที่กระทบการตัดสินใจของนักลงทุนและภาคธุรกิจอย่างสำคัญ กระทบการไหลเข้าออกของเงินทุนต่างประเทศ กระทบเศรษฐกิจและผลตอบแทนต่อการลงทุน

สำหรับประเทศไทย เราเองก็มีความไม่แน่นอนมากปีนี้ ทั้งผลที่จะมีต่อเศรษฐกิจจากความไม่แน่นอนในต่างประเทศอย่างที่กล่าว และจากภายในประเทศเองที่ปีนี้เราจะมีการเลือกตั้ง ซึ่งก็มีคำถามว่าสถานการณ์และการเปลี่ยนผ่านของการเมืองในประเทศจะมีผลต่อเศรษฐกิจของประเทศอย่างไร และนโยบายเศรษฐกิจของประเทศจะเป็นอย่างไร หลังการเมืองในประเทศมีการเปลี่ยนแปลง เป็นคำถามที่ทั้งภาคเอกชนและนักลงทุนอยากรู้ อยากเข้าใจถึงความเป็นไปได้ของผลกระทบที่จะเกิดขึ้น

สองอาทิตย์ที่ผ่านมาต้องบอกว่า เป็นสองสัปดาห์ที่ผมได้มีโอกาสพูดคุยกับนักลงทุนมากที่สุดตั้งแต่เริ่มปีนี้ ทั้งนักลงทุนต่างประเทศและในประเทศ ที่ต้องการทราบความเห็นผมเกี่ยวกับสถานการณ์เศรษฐกิจและการเมืองของประเทศปีนี้ ที่น่าสังเกตุคือ สิ่งที่นักลงทุนอยากรู้ ทั้งนักลงทุนในประเทศหรือต่างประเทศ ไม่แตกต่างกันเลย และที่ถูกถามมากก็มี 3 เรื่อง หนึ่ง ผลกระทบของสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐต่อเศรษฐกิจไทย สอง ผลกระทบของการเลือกตั้งและการเมืองในประเทศที่จะมีต่อเศรษฐกิจทั้งในระยะสั้นและระยะยาว และสาม ทิศทางค่าเงินบาทจากที่เงินบาทได้แข็งค่ามาก คือ แข็งค่าไปแล้ว 4.7 เปอร์เซนต์ ช่วงสองเดือนแรกของปี นักลงทุนอยากทราบว่า แนวโน้มต่อไปจะเป็นอย่างไรและจะมีผลต่อเศรษฐกิจอย่างไร นี่คือ สามคำถามที่ถูกถามมากช่วงสองอาทิตย์ที่ผ่านมา ซึ่งก็ได้ให้ความเห็นไปเท่าที่จะตอบได้ วันนี้จึงอยากจะนำความเห็นของผมในทั้งสามประเด็น มาแชร์ให้แฟนคอลัมน์ “เศรษฐศาสตร์บัณฑิต” ทราบ

เรื่องแรก ผลกระทบของสงครามการค้าต่อเศรษฐกิจ ผลที่จะเกิดขึ้นจะมีทั้งผลทางตรงที่ประเทศคู่กรณี ทั้งจีนและสหรัฐจะหยุดซื้อสินค้าจากไทยหรือเราจะส่งออกไปทั้งสองประเทศนี้ได้น้อยลง เพราะเราอยู่ในห่วงโซ่อุปทานการผลิตของทั้งสองประเทศ และผลทางอ้อมจากการชะลอตัวของการค้าทั่วโลกที่มีเหตุมาจากสงครามการค้า ในทั้งสองผลกระทบนี้ ถ้าดูตัวเลขการส่งออกของไทยช่วงไตรมาสสี่ปีที่แล้วซึ่งเป็นช่วงที่การกีดกันการค้าเริ่มมีผล การส่งออกของไทยในไตรมาสสี่ หดตัวร้อยละ 1.6 จากระยะเดียวกันปีก่อน สะท้อนภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอ และอุปสงค์ในตลาดโลกที่ชะลอจากมาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐและจีน แสดงว่าผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยจากสงครามการค้ามีจริงและปฏิเสธไม่ได้ อย่างไรก็ตาม ถ้าดูเฉพาะสินค้าบริการส่งออกที่ไม่ได้ถูกกระทบโดยมาตรการกีดกันการค้า เช่น การท่องเที่ยว จะเห็นว่าจำนวนนักท่องเที่ยวขยายตัวได้ดีถึง ร้อยละ 7.7 ช่วงไตรมาส 4 ปีที่แล้ว ทำให้ภาพรวมของการส่งออกสินค้าและบริการของไทยยังไม่ได้ถูกกระทบมาก ซึ่งเหตุผลสำคัญก็มาจากการที่โครงสร้างการส่งออกของเรามีการกระจายตัวดี ทั้งในประเภทของสินค้าและตลาด ที่ได้ช่วยลดความรุนแรงของผลกระทบที่เกิดขึ้น

แต่ที่น่าห่วงมากกว่า คือ การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนที่จะกระทบการส่งออกของเราโดยตรง เพราะจีนเป็นประเทศคู่ค้าหลักของไทยในปัจจุบัน เทียบเคียงได้กับสหรัฐและยุโรป ถ้าปีนี้เศรษฐกิจจีนชะลอมากก็จะกระทบการส่งออกของเรามากตามไปด้วย อีกปัจจัยหนึ่งที่น่าห่วง คือ ค่าเงินบาท เพราะถ้าเงินบาทแข็งค่ามาก ก็จะกระทบความสามารถในการแข่งขันด้านราคาของการส่งออกของไทย ซึ่งในภาวะที่เศรษฐกิจโลกชะลอตัว อุปสงค์การใช้จ่ายของโลกชะลอ ความสามารถในการแข่งขันจะสำคัญมากต่อการส่งออก แต่ของเราปีนี้ ปัจจัยค่าเงินเป็นข้อจำกัดมากกว่า เป็นปัจจัยสนับสนุนจากที่เงินบาทได้แข็งค่ามากกว่าสี่เปอร์เซนต์ไปแล้ว สูงกว่าประเทศคู่แข่งอื่นๆ เป็นส่วนใหญ่

นอกจากนี้ ถ้าสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐยืดเยื้อ บริษัทต่างประเทศที่ไปลงทุนสร้างโรงงานในจีนก็คงต้องปรับตัว ย้ายฐานการผลิตออกจากจีนไปประเทศอื่น เพื่อลดกระทบจากการขึ้นภาษีและมาตรการกีดกันทางการค้าของสหรัฐ เป็นที่เข้าใจกันว่า ประเทศในกลุ่มอาเซียนรวมถึงไทยน่าจะได้ประโยชน์และมองกันว่าจะมีคลื่นการลงทุนจากต่างประเทศรอบใหม่เข้ามาในอาเซียนที่เป็นผลจากการย้ายฐานการผลิตออกจากจีน ประเด็นนี้จะเป็นผลดีต่ออาเซียน แต่ความสามารถของแต่ละประเทศในอาเซียนที่จะดึงฐานการผลิตเข้าประเทศตนคงจะขึ้นอยู่กับ 3 - 4 ปัจจัยที่สำคัญ คือ ต้นทุนการผลิต ค่าเงิน คุณภาพของแรงงานที่ประเทศมี และความมีเสถียรภาพของการเมืองในประเทศ ดังนั้นต้องตระหนักว่า ไทยอาจจะสูญเสียความสามารถในการดึงดูดเงินลงทุนเหล่านี้เข้าประเทศไทยได้ ถ้าประเทศเรามีอัตราเงินเฟ้อสูง ถ้าเงินบาทของเราแข็งค่าเกินไป ประเทศเราขาดแรงงานที่มีคุณภาพ และการเมืองในประเทศไม่มีเสถียรภาพ อยากเรียนว่าประเด็นนี้นักลงทุนต่างประเทศให้ความสำคัญมากเพราะมีผลโดยตรงต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจและมีนักลงทุนหลายคนแสดงความเป็นห่วงว่าประเทศไทยอาจพลาดกระแสคลื่นการลงทุนลูกใหม่นี้ ถ้าไม่สามารถบริหารจัดการเงื่อนไขเหล่านี้ได้อย่างที่ควร โดยเฉพาะประเด็นเรื่องเสถียรภาพการเมือง

เรื่องที่สองที่นักลงทุนถามมากคือ ผลกระทบของการเลือกตั้งที่จะมีต่อเศรษฐกิจปีนี้ ซึ่งผมคิดว่าในระยะสั้น ตั้งแต่ช่วงหาเสียง ไปถึงการเลือกตั้ง ไปถึงการจัดตั้งรัฐบาล ไปถึงการแถลงนโยบาย จนถึงเริ่มบริหารประเทศในระบบรัฐสภา ช่วงเวลาเหล่านี้จะเป็นช่วงเวลาของความไม่ชัดเจนที่ทั้งนักลงทุนต่างประเทศและนักธุรกิจในประเทศจะรอดูสถานการณ์ ไม่มีการลงทุนใหม่ใดๆ เพื่อรอดูความชัดเจนว่า ใครจะมาเป็นรัฐบาลและนโยบายของรัฐบาลใหม่จะเป็นอย่างไร ซึ่งช่วงเวลาดังกล่าวนี้อาจนานถึงสามไตรมาส คือถึงเดือนสิงหาคมหรือกันยายนปีนี้ ขณะเดียวกันรัฐบาลใหม่ก็ต้องเตรียมงบประมาณประจำปี สำหรับปีงบประมาณหน้าที่จะเริ่มในเดือนตุลาคมปีนี้ ที่ควรต้องสอดคล้องกับนโยบายใหม่ ที่รัฐบาลได้แถลงไว้ ทำให้จะใช้เวลาอีกนานก่อนที่รัฐบาลใหม่จะสามารถบริหารประเทศได้ตามนโยบายใหม่ที่ได้แถลงไว้ ทำให้การขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลปัจจุบันในช่วง 7 – 8 เดือนข้างหน้า จะสำคัญต่อโมเม้นตั้มของเศรษฐกิจปีนี้ แต่ก็มีความเสี่ยงว่า การขับเคลื่อนนโยบายช่วง 7 – 8 เดือนแรกของปีนี้ โดยระบบราชการอาจหยุดชะงักตามการเปลี่ยนแปลงของการเมือง ผลคือ ช่วง 8-9 เดือนแรกของปีนี้ หลายอย่างอาจหยุดนิ่ง ทำให้หลายสำนักเริ่มปรับลดประมาณการณ์เศรษฐกิจของไทยปีนี้ลงให้ต่ำกว่าปีที่แล้ว ทำให้ปีนี้ในทางเศรษฐกิจจะเป็นปีของการรักษาฐานการเติบโตมากกว่าเป็นปีของการขยายตัว และหลังจากปีนี้ไป แนวโน้มเศรษฐกิจในปีต่อๆ ไปจะขึ้นอยู่กับนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลใหม่ที่จะเข้ามาบริหารประเทศ บวกกับความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจที่จะมีต่อนโยบายเศรษฐกิจและความมีเสถียรภาพของการเมืองในประเทศ

คำถามที่สามที่ยอดฮิต คือ ค่าเงินบาท ที่เงินบาทแข็งค่ามากปีนี้ เป็นการแข็งค่ามากที่สุดในรอบ 5 ปี และนักลงทุนอยากทราบว่า แนวโน้มค่าเงินบาทต่อไปจะเป็นอย่างไร ซึ่งเรื่องที่ตอบยาก เพราะส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับปัจจัยพื้นฐานของเศรษฐกิจ ขึ้นอยู่กับแนวโน้มของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ และขึ้นอยู่กับท่าทีของภาคทางการไทยเอง ที่ต้องพิจารณาว่า การแข็งค่าของเงินบาทที่เกิดขึ้นเหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจของประเทศหรือไม่ ในส่วนของปัจจัยพื้นฐาน การแข็งค่าของเงินบาทมาจากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดที่เศรษฐกิจไม่มีการใช้จ่าย ไม่มีการลงทุน แต่มีการเติบโตของการส่งออกและการท่องเที่ยว ทำให้ประเทศมีรายได้จากเงินตราต่างประเทศ แต่ไม่มีการใช้จ่าย ดุลบัญชีเดินสะพัดจึงเกินดุล ส่งผลให้เงินบาทแข็งค่า ดังนั้น ตราบใดที่เศรษฐกิจเรายังขยายตัวไม่ได้มาก ภาคธุรกิจยังไม่ลงทุน แรงกดดันต่อค่าเงินบาทให้แข็งค่าก็จะมีต่อไป สวนทางกับเงินดอลลาร์สหรัฐขณะนี้ที่เข้าสู่แนวโน้มการอ่อนตัว จากภาวะเศรษฐกิจสหรัฐที่เริ่มชะลอและแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐที่อาจจะไม่มีการปรับขึ้นอีก ส่งผลให้ค่าเงินบาทเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐยิ่งจะแข็งค่าได้ง่ายขึ้น และท้ายสุด เมื่อเงินบาทแข็งค่าและดูดีกว่าเงินสกุลอื่นๆ ในภูมิภาค เงินทุนต่างประเทศระยะสั้น ก็เข้ามาเก็งกำไรเพื่อหาประโยชน์จากแนวโน้มดังกล่าว ส่งผลให้เงินบาทยิ่งแข็งค่ามากขึ้น ที่สำคัญแรงกดดันเหล่านี้คงจะมีต่อ ถ้าสัญญาณด้านนโยบายจากภาคทางการไม่แสดงความวิตกกังวลต่อแนวโน้มเงินบาทที่แข็งค่ามาก ซึ่งจะสร้างแรงจูงใจให้เงินบาทยิ่งจะแข็งค่าต่อไป

นี่คือ สามคำถามยอดฮิตและคำตอบของผมที่ได้ให้ไป ก็หวังว่าจะเป็นประโยชน์
โพสต์โพสต์