RBF

การลงทุนแบบเน้นคุณค่า ลงทุนหุ้น VI เน้นที่ปัจจัยพื้นฐานเป็นหลัก

โพสต์ โพสต์
pakapong_u
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 47266
ผู้ติดตาม: 398

RBF

โพสต์ที่ 1

โพสต์

INTERVIEW: RBF แต่งตัวเข้า SET ปีนี้ระดมทุนหนุนแผนลุยหนักทั้งในประเทศ-ตปท.หวังช่วยเสริมความมั่นใจพันธมิตรต่างชาติ
Source - IQ สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (Th)

Wednesday, February 13, 2019 11:22


สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (13 ก.พ. 62)--บมจ.อาร์แอนด์ บี ฟู้ด ซัพพลาย (RBF) เผย RBF จับมือ APM แต่งตัวเตรียมยื่นไฟลิ่งเสนอขายหุ้น IPO และเข้าตลาดหุ้นในปีนี้ หวังระดมทุนหนุนแผนเติบโตทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งสร้างเสริมความน่าเชื่อถือในสายตาพันธมิตรที่สนใจร่วมทุนขยายกิจการด้านการผลิตและจัดจำหน่ายวัตถุดิบปรุงแต่งอาหาร โดยเฉพาะต่างชาติ วางเป้าผลักดันรายได้ต่างประเทศเพิ่มเป็น 30% ใน 3-5 ปีจาก 15% ในขณะนี้
"เราอยากเติบโตทั้งในไทยและต่างประเทศมากขึ้น เราต้องการความน่าเชื่อถือ เราอยากบอกคนอื่นว่าเราเป็นมืออาชีพ และเราโปร่งใส เราได้รับการตรวจสอบ ดังนั้น คนดี ๆ ก็รู้สึกสบายใจที่จะมาทำงานกับเราช่วยกันพัฒนาบริษัท เวลาเราไปเมืองนอกหา Partner ก็สบายใจที่จะมาลงทุนร่วมกับเรา เพราะโปร่งใสอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ สามารถตรวจสอบได้"นางสาวจัณจิดา รัตนภูมิภิญโญ กรรมการ RBF กล่าว
RBF อยู่ระหว่างเตรียมเอกสารเพื่อยื่นแบบแสดงคำขออนุญาตเสนอขายหลักทรัพย์และแบบแสดงรายการข้อมูล (ไฟลิ่ง) ต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เพื่อเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนแก่ประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) และเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) โดยมีบริษัท แอสเซท โปร เมเนจเม้นท์ จำกัด เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน
ปัจจุบัน RBF มีทุนจดทะเบียนที่ชำระแล้วจำนวน 1,480 ล้านบาท เป็นผู้นำนวัตกรรมด้านกลิ่นรสชาติ รูปลักษณ์และเนื้อสัมผัสของอาหารและเครื่องดื่มที่มีความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ สามารถตอบสนองลูกค้าได้ทุกรูปแบบ โดยวัตถุประสงค์ในการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ครั้งนี้ บริษัทต้องการเติบโตทั้งในประเทศไทยและในต่างประเทศ และสร้างความเชื่อมั่นให้กับคู่ค้า
กลุ่มของบริษัท ประกอบด้วย 4 บริษัท ได้แก่ RBF, บริษัท ไทย เฟลเวอร์ แอนด์ แฟรก แร็นซ์ จำกัด ดำเนินธุรกิจวัตถุแต่งกลิ่นและสีผสมอาหาร, บริษัท พรีเมี่ยมฟู้ดส์ จำกัด ดำเนินธุรกิจแปรรูปผักอบแห้งและอาหารแช่แข็ง และ บริษัท เบสท์ โอเดอร์ จำกัด ดำเนินธุรกิจเทรดดิ้ง
บริษัทและบริษัทในเครือผลิตสินค้าใน 5 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มวัตถุแต่งกลิ่นและสีผสมอาหาร, กลุ่มแป้งและซอส,กลุ่มผลิตภัณฑ์อบแห้ง, กลุ่มผลิตภัณฑ์อาหารแช่แข็ง ผลิตพืชผักผลไม้แปรรูปแช่แข็ง, กลุ่มบรรจุภัณฑ์พลาสติก โดยมีโรงงานผลิตในประเทศ 7 แห่งใน กทม.1 แห่ง, จ.พระนครศรีอยุธยา จำนวน 5 แห่ง และ จ.เชียงใหม่ จำนวน 1 แห่ง
นางสาวจัณจิดา กล่าวว่า ผลการดำเนินงานที่ผ่านมาบริษัทมีอัตราการเติบโตของรายได้เฉลี่ยที่ 10% ต่อปี โดยมีสัดส่วนรายได้มาจากในประเทศประมาณ 85% และต่างประเทศประมาณ 15% ทั้งนี้ สัดส่วนรายได้จากงานรับจ้างผลิต (OEM) สูงถึง 80-90% ซึ่งบริษัทจะผลิตสินค้าตามคำสั่งของลูกค้าในกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรมอาหารและค้าปลีก ส่วนที่เหลือมาจากการขายสินค้าภายใต้แบรนด์ของบริษัทเอง ได้แก่ อังเคิลบาร์นส์, เบสท์ โอเดอร์, แองเจโล, เฮโย เป็นต้น
บริษัทถือว่าเป็นเจ้าเดียวที่ผลิตสินค้าในทุกกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่โรงงานอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มต้องใช้ โดยเชื่อมั่นว่าแนวโน้มของธุรกิจในปีนี้และปีหน้าจะมีการเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง ตามการเติบโตของลูกค้าผู้ผลิตอาหารและเครื่องดื่ม พร้อมกันนั้นบริษัทก็จะเดินหน้าหาลูกค้าใหม่เพิ่ม รวมถึงการช่วยลูกค้าทั้งรายเดิมและรายใหม่คิดโครงการใหม่ ๆ เช่น ผลิตภัณฑ์ที่ให้รสชาติเหมือนน้ำตาล เพื่อลดปริมาณการใช้น้ำตาล เป็นต้น
"จุดเด่นของบริษัท คือ ถ้าจะหาคู่แข่งของบริษัท คิดว่าอาจจะยังไม่มี เนื่องจากจะหาบริษัทที่ทำครบทุกอย่าง ครบทุกไลน์ผลิต เพื่อซัพพลายให้โรงงานอาหาร หรือผู้ผลิตอาหารในเมืองไทย เหมือน R&D ในตอนนี้อาจจะยังไม่มี จากเรามีสินค้าที่หลากหลาย และเมื่อเรามีสินค้าหลายตัวความเสี่ยงที่จะเสียคำสั่งซื้อไปก็จะน้อย"นางสาวจัณจิดา กล่าว
ส่วนในต่างประเทศ บริษัทมองทิศทางการส่งออกยังคงเติบโตได้ดี เห็นได้จากคำสั่งซื้อของลูกค้าในมือขณะนี้ ประกอบกับลูกค้าใหม่ๆ ที่จะเข้ามาเพิ่มขึ้น โดยบริษัทตั้งเป้าจะมีสัดส่วนรายได้จากต่างประเทศเพิ่มขึ้นเป็น 30% ในระยะ 3-5 ปีจากนี้ ซึ่งปัจจุบันบริษัทมีการส่งออกไปยังประเทศจีน ญี่ปุ่น สหรัฐฯ อังกฤษ ยุโรป สแกนดิเนเวีย ตะวันออกกลาง และอาเซียน เป็นต้น
นางสาวจัณจิดา กล่าวว่า ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาบริษัทได้มีการขยายการลงทุนในอาเซียน รวมทั้งตั้งโรงงานผลิตวัตถุดิบปรุงแต่งอาหารในต่างประเทศเป็นครั้งแรกในประเทศจีนที่เมืองกว่างโจวในปี 61 เนื่องจากจีนมีประชากรค่อนข้างมาก และรัฐบาลจีนไม่มีการตั้งกำแพงภาษีสินค้าที่บริษัทผลิตและจำหน่าย โดยปีนี้จะเน้นการทำการตลาดและด้าน R&D เพื่อปรับรสชาติของอาหารให้มากขึ้น
ขณะเดียวกัน บริษัทก็เตรียมเปิดโรงงานผลิตวัตถุดิบปรุงแต่งอาหารในอินโดนีเซียและเวียดนามอย่างต่อเนื่อง โดยการเปิดโรงงานผลิตในต่างประเทศจะช่วยลดต้นทุนค่าขนส่งลงได้ อีกทั้งบริษัทอยู่ระหว่างศึกษาขยายโรงงานในต่างประเทศเพิ่มเติมอีก ที่นอกเหนือจากกลุ่มอาเซียน
ส่วนทิศทางการเติบโตของธุรกิจอาหารในปีนี้ มองว่าจะยังมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องจากปี 61 ที่บริษัทมีรายได้ 2.8 พันล้านบาท ดังนั้น จึงเชื่อว่าจะส่งผลดีต่อบริษัทในการนำเสนอผลิตภัณฑ์ให้แก่ลูกค้าในประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะจากการที่ประเทศไทยถือเป็น Trend Center หรือเป็นผู้นำทางด้านอาหาร ทำให้ประเทศเพื่อนบ้านอย่าง อินโดนีเซีย ลาว และเวียดนาม มีการบริโภคอาหารตามประเทศไทยด้วย


--อินโฟเควสท์ โดย พชรธร ภูมิคำ/ศศิธร โทร.02-2535000 ต่อ 345 อีเมล์: [email protected]--
โพสต์โพสต์