สี่คำถามเกี่ยวกับแนวโน้มการลงทุนปีนี้ / ดร.บัณฑิต นิจถาวร

การลงทุนแบบเน้นคุณค่า ลงทุนหุ้น VI เน้นที่ปัจจัยพื้นฐานเป็นหลัก

โพสต์ โพสต์
always24
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 854
ผู้ติดตาม: 10

สี่คำถามเกี่ยวกับแนวโน้มการลงทุนปีนี้ / ดร.บัณฑิต นิจถาวร

โพสต์ที่ 1

โพสต์

สี่คำถามเกี่ยวกับแนวโน้มการลงทุนปีนี้

เริ่มต้นปี เรื่องที่หลายคนสนใจและผมก็ถูกถามบ่อยคือ แนวโน้มตลาดการเงินและการลงทุนปีนี้ ซึ่งก็ได้พยายามให้ความเห็นไป

วันนี้ก็เลยอยากแชร์ความเห็นของผมในเรื่องนี้ คือ แนวโน้มการลงทุนปีนี้ ให้แฟนคอลัมน์ “เศรษฐศาสตร์บัณฑิต” ทราบ ในรูปของคำตอบต่อสี่คำถามที่หลายคนสนใจเกี่ยวกับการลงทุนปีนี้

คำถามที่ 1. แนวโน้มตลาดการเงินโลกจะเป็นอย่างไรดูจากเศรษฐกิจโลกปีนี้

ตลาดการเงินกับเศรษฐกิจแยกกันไม่ออก ถ้าเศรษฐกิจดี ตลาดการเงินก็จะดี เช่นตลาดหุ้นดี เพราะบริษัทจดทะเบียนมีกำไร ซึ่งก็มาจากการเติบโตที่ดีของเศรษฐกิจ ปีนี้อย่างที่ทราบเศรษฐกิจโลกเป็นขาลง จากผลของการชะลอตัวของประเทศอุตสาหกรรมหลัก ทั้งสหรัฐ จีน และสหภาพยุโรป จากแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยที่จะเป็นขาขึ้นต่อ ทำให้สภาพคล่องในระบบเศรษฐกิจโลกจะลดลงและกระทบเศรษฐกิจ และจากความไม่แน่นอนด้านนโยบาย ซึ่งเป็นความเสี่ยงสำคัญของเศรษฐกิจโลกปีนี้ โดยเฉพาะประเด็นสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐ ที่กระทบการค้าโลกและเศรษฐกิจของทุกประเทศ

พัฒนาการเหล่านี้ทำให้เศรษฐกิจโลกปีนี้จะมีความเสี่ยงและความไม่แน่นอนมากกว่าปีก่อน ทำให้ตลาดการเงินจะผันผวน นักลงทุนจะปรับพอร์ตการลงทุน ปรับราคาสินทรัพย์(repricing of assets)ตามความเสี่ยงที่มีมากขึ้นและปัจจัยพื้นฐานที่อ่อนแอลง ขณะเดียวกัน ราคาหุ้น หรือราคาสินทรัพย์ที่ได้ปรับสูงขึ้นช่วงก่อนหน้า จากแนวโน้มเศรษฐกิจที่เคยดูดี ก็จะถูกปรับลดลงให้สอดคล้องกับปัจจัยพื้นฐานที่เปลี่ยนไป ทำให้ตลาดการเงินปีนี้ มีแนวโน้มที่จะปรับตัวลงตามปัจจัยพื้นฐานของเศรษฐกิจที่อ่อนลงและความเสี่ยงที่มีมากขึ้น เป็นการปรับตัวที่จะผันผวนเพราะความไม่แน่นอนด้านนโยบายที่มีอยู่ เช่น ถ้ามีข่าวดีเรื่องสงครามการค้า ตลาดจะปรับตัวดีขึ้นทันที และก็จะตกทันทีเมื่อมีข่าวในทางตรงกันข้าม สลับกันแบบนี้จนกว่าความไม่แน่นอนด้านนโยบายจะหมดไป

คำถามที่ 2. จะมีเงินทุนไหลเข้าเอเชียและประเทศไทยหรือไม่

เงินทุนต่างประเทศยังจะไหลเข้าอยู่ เพราะปัจจัยพื้นฐานของเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่ในเอเชียยังค่อนข้างเข้มแข็งและสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจ ซึ่งก็คือ กำลังแรงงานรุ่นหนุ่มส่าวที่มีมาก อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจที่สูงกว่าประเทศอุตสาหกรรม และผลตอบแทนการลงทุนที่สูงกว่าประเทศอุตสาหกรรม เหล่านี้ คือความเข้มแข็งที่ดึงให้เงินทุนต่างประเทศไหลเข้าภูมิภาคเอเชีย แต่เงินทุนไหลเข้าปีนี้อาจไม่มากหรือหวือหวาเหมือนในอดีต เพราะการขยายตัวของเศรษฐกิจเอเชียเอง ก็เริ่มมีข้อจำกัด มีความเสี่ยงมากขึ้น โดยเฉพาะจีนที่ถูกกระทบมากปีที่แล้วจากผลของสงครามการค้า ปีนี้เศรษฐกิจจีนจะอยู่ในสภาพคล้ายกับปีที่แล้ว ทำให้ทางการจีนจะต้องแก้ไขสถานการณ์ โดยนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจที่อาจรวมถึงการอ่อนค่าของเงินหยวนหรืออัตราแลกเปลี่ยน ปัจจุบันเศรษฐกิจจีนมีสัดส่วนและการเชื่อมต่ออย่างสำคัญกับเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียรวมถึงไทย ทำให้การชะลอตัวของจีนจะกระทบเศรษฐกิจอย่างไทยตามไปด้วย เป็นปัจจัยลบต่อเศรษฐกิจและตลาดการเงินในภูมิภาค ในลักษณะนี้ เงินทุนต่างประเทศจะยังไหลเข้าภูมิภาคเอเชียปีนี้ แต่อาจถูกลดทอนขนาดลง เนื่องจากนักลงทุนจะระมัดระวังมากขึ้น จะเลือกลงทุนโดยพิจารณาปัจจัยเฉพาะของแต่ละประเทศมากขึ้น ทั้งศักยภาพในการเติบโตและความเสี่ยง

คำถามที่ 3. ปีนี้นักลงทุนต่างประเทศมองเศรษฐกิจและแนวโน้มตลาดการเงินไทยอย่างไร

เศรษฐกิจเราจะได้ประโยชน์จากศักยภาพการเติบโตของภูมิภาคเอเชียที่ยังดูดี แม้ปัจจัยเสี่ยงและข้อจำกัดจะมีมากขึ้น สำหรับเศรษฐกิจไทย เศรษฐกิจโลกขาลง สงครามการค้าและอัตราดอกเบี้ยโลกที่จะสูงขึ้นต่อ จะเป็นปัจจัยกดดันการเติบโตของเศรษฐกิจปีนี้ แต่เศรษฐกิจก็จะได้แรงสนับสนุนจากการใช้จ่ายของรัฐ การใช้จ่ายจากการเลือกตั้ง รวมถึงการใช้จ่ายเพื่อฟื้นฟูสภาพเศรษฐกิจในภาคใต้ที่ถูกกระทบจากภัยธรรมชาติ ทำให้เศรษฐกิจจะยังมีโมเมนตัมต่อ แต่เป็นแบบอ่อนๆ ไม่พุ่งทะยาน ที่ต้องไม่ลืมก็คือ ความไม่ชัดเจนเกี่ยวกับการเลือกตั้งว่าจะมีเมื่อไร ใครจะมาเป็นรัฐบาล รัฐบาลใหม่จะอยู่ได้นานไหม และนโยบายของรัฐบาลใหม่จะเป็นอย่างไร เหล่านี้เป็นความไม่แน่นอนที่จะทำให้เงินลงทุนใหม่จากต่างประเทศรอดูสถานการณ์โดยเฉพาะเงินลงทุนทางตรง ทำให้เงินทุนที่จะไหลเข้าช่วง 4-5 เดือนแรกปีของนี้ จะเป็นเงินลงทุนระยะสั้นในตลาดหุ้นและตลาดพันธบัตรที่เข้าออกเร็ว ทำให้ตลาดการเงินบ้านเราก็จะผันผวนตามตลาดการเงินโลก แต่ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ตลาดการเงินไทยยังน่าลงทุนในระยะสั้นก็คือ เสถียรภาพของเศรษฐกิจที่ดูดี จากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดและเงินสำรองทางการที่สูง ทำให้ค่าเงินบาทมีเสถียรภาพเอื้อต่อการลงทุนระยะสั้น

ดังนั้น ปีนี้ ตลาดการเงินไทยจะยังได้ประโยชน์จากการไหลเข้าของเงินทุนต่างประเทศ แต่ส่วนใหญ่จะเป็นเงินลงทุนระยะสั้นเข้าออกเร็วแบบซื้อมาขายไป(Trading) ที่จังหวะการซื้อและขายจะผันผวนตามภาวะตลาดการเงินโลก ไม่ใช่เงินลงทุนระยะยาวที่เข้ามาจากการจัดพอร์ตการลงทุน(asset allocation) ที่จะอยู่นาน เพราะศักยภาพระยะยาวของเศรษฐกิจของประเทศ

คำถามที่ 4. แล้วศักยภาพระยะยาวของเศรษฐกิจและตลาดการเงินไทยเป็นอย่างไรในสายตานักลงทุน

ในระยะยาว สำหรับภาพรวมของเศรษฐกิจประเทศตลาดเกิดใหม่ นักลงทุนมองว่า ความแตกต่างระหว่างอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจประเทศตลาดเกิดใหม่และประเทศอุตสาหกรรมจะแคบลงเรื่อยๆ จากที่เคยต่างกันมากถึง 4 เปอร์เซนต์ช่วงสิบปีที่แล้ว คือ ตลาดเกิดใหม่ขยายตัวประมาณร้อยละ 6 เทียบกับประเทศอุตสาหกรรมที่ขยายตัว ร้อยละ 2 ในระยะต่อไปความแตกต่างนี้จะลดลง และอาจเหลือเพียงร้อยละ 2 หรือต่ำกว่านั้น เพราะเศรษฐกิจประเทศตลาดเกิดใหม่มีข้อจำกัดมากขึ้น ทำให้จะไม่สามารถขยายตัวในอัตราที่สูงต่อไปได้ ความแตกต่างที่ลดลง ทำให้ผลตอบแทนต่อการลงทุนในประเทศตลาดเกิดใหม่ เช่น ไทย จะสูงกว่าประเทศอุตสาหกรรมไม่มาก ลดแรงจูงใจที่นักลงทุนจะเคลื่อนย้ายเงินลงทุนมาประเทศตลาดเกิดใหม่ กระทบการขยายตัวของเศรษฐกิจประเทศตลาดเกิดใหม่ ดังนั้น ในระยะต่อไปการขยายตัวของเศรษฐกิจประเทศตลาดเกิดใหม่จะต้องพึ่งการออมในประเทศและความสามารถในการผลิตของตนเองมากขึ้น ซึ่งทั้งหมดก็กลับมาที่ประเด็นคุณภาพและทักษะของแรงงาน นวัตกรรม และความสามารถในการแข่งขันของเศรษฐกิจ

ในลักษณะนี้ เศรษฐกิจไทยก็ไม่แตกต่าง การเติบโตของเราก็มีข้อจำกัดมากขึ้นเพราะแนวโน้มด้านแรงงานและความสามารถในการผลิตของเราไม่ดี เห็นได้จากสามแนวโน้มขณะนี้ที่น่าเป็นห่วง

1.)กำลังแรงงานในวัยทำงานของเราได้ผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว จากโครงสร้างประชากรของเราที่มีผู้สูงอายุมากขึ้น ทำให้ประเทศจะมีจำนวนแรงงานในวัยทำงานลดลงเรื่อยๆ

2.)ผลิตภาพของแรงงาน(Labour Productivity) ซึ่งสะท้อนคุณภาพและความสามารถแรงงานในประเทศ มีแนวโน้มลดลงเช่นกัน เป็นผลจากคุณภาพของระบบการศึกษาและการพัฒนาทักษะวิชาชีพที่ยังทำได้ไม่ดี ทำให้ประเทศขาดแรงงานที่มีฝีมือ จนไม่สามารถสนับสนุนการลงทุนของภาคเอกชนได้

3.)อัตราส่วนของภาคอุตสาหกรรม หรือ manufacturing ในเศรษฐกิจก็หยุดขยายตัวจากที่เศรษฐกิจไม่ได้มีการลงทุนอย่างที่ควรในอดีต โดยเฉพาะหลังวิกฤติเศรษฐกิจ ปี 2540 ทำให้ประเทศไม่มีกำลังการผลิตใหม่ เศรษฐกิจก็จะไม่สามารถเติบโตในอัตราที่สูงได้ในอนาคต

สามแนวโน้มนี้ ชี้ถึงความจำเป็นเร่งด่วนที่เศรษฐกิจไทยจะต้องปฏิรูปและปรับโครงสร้างด้านอุปทาน(Supply) อย่างจริงจัง ทั้งด้านแรงงาน การสะสมทุน และความสามารถหรือผลิตภาพการผลิต (Total Factor Productivity) แต่เมื่อไม่มีการปฏิรูป ศักยภาพการเติบโตของเศรษฐกิจในระยะยาวก็ไม่ชัดเจน การลงทุนระยะยาวที่หวังผลตอบแทนจากการเติบโตของเศรษฐกิจ (asset allocation) จึงไม่เกิดขึ้น จะมีก็แต่เงินทุนไหลเข้าระยะสั้นที่เข้ามาหาผลตอบแทนตามแนวโน้มระยะสั้นของเศรษฐกิจและตามภาวะตลาด ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าห่วง

นี่คือ ความเห็นของผม ที่ได้ให้ไป ก็หวังว่าจะเป็นประโยชน์
โพสต์โพสต์