“รู้อะไร ไม่สู้...รู้ดาต้า” ตอนจบ

การลงทุนแบบเน้นคุณค่า ลงทุนหุ้น VI เน้นที่ปัจจัยพื้นฐานเป็นหลัก

โพสต์ โพสต์
doctorwe
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 152
ผู้ติดตาม: 0

“รู้อะไร ไม่สู้...รู้ดาต้า” ตอนจบ

โพสต์ที่ 1

โพสต์

MW-FE516_welgen_20170126103429_ZH.jpg
คอลัมน์: หุ้นส่วนประเทศไทย
หนังสือพิมพ์ โพสต์ทูเดย์
“รู้อะไร ไม่สู้...รู้ดาต้า” ตอนจบ
ดร.วีรพงษ์ ชุติภัทร์
วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต
http://www.CsiSociety.com
Add Line: @CsiSociety

เมื่อวานนี้ เราได้คุยกันถึงหนังสือที่มีชื่อว่า “DATA for the PEOPLE” หรือชื่อภาษาไทยว่า “รู้อะไร ไม่สู้...รู้ดาต้า” ซึ่งเขียนโดย Andreas Weigend อาจารย์จากมหาวิทยาลัยนสแตนฟอร์ด และเคยทำงานในบริษัทแอมะซอน ซึ่งผมได้ขอให้ผู้แปลหนังสือเล่มนี้คือ คุณดาวิษ ชาญชัยวานิช ช่วยสรุปย่อหนังสือเล่มนี้ให้เพื่อนำมาถ่ายทอดให้กับคุณผู้อ่านได้เข้าใจอย่างง่ายๆ โดยเราได้คุยกันไปกันไปแล้ว 3 เรื่องด้วยกันคือ หนึ่ง เรากำลัง “สร้างข้อมูล” ออกมาตลอดเวลา สอง ข้อมูลปริมาณมหาศาลเหล่านั้นไปไหน? และสาม บริษัทเหล่านั้นนำข้อมูลไปทำอะไร? วันนี้...จะขอคุยต่อในส่วนที่เหลือเลยนะครับ

สี่ ระบบไม่ต้องการข้อมูลของ “คุณคนเดียว” แต่ต้องการข้อมูลของ “คนทั้งประเทศ”
ในยุคแห่งข้อมูลเช่นนี้ คนเราย่อมมีความเป็นส่วนตัว (privacy)น้อยลง แต่ก่อนจะเริ่มโวยวาย หนังสือเล่มนี้จะย้ำเตือนให้คุณตระหนักก่อนว่าบริษัททั้งหลายไม่ได้ต้องการข้อมูลของคุณในฐานะปัจเจกบุคคล (individual) กล่าวคือต่อให้บริษัทรู้ข้อมูลทุกอย่างเกี่ยวกับชีวิตของคุณ ตั้งแต่คุณตื่นนอนกี่โมง ชอบซื้ออะไรออนไลน์ ชอบเข้าไปดูอะไรเวลาท่องเน็ต ฯลฯ แต่ถ้าบริษัทมีข้อมูลของคุณแค่คนเดียว พวกเขาเอาไปใช้ทำอะไรไม่ได้ ในทางกลับกัน...หากบริษัทมีข้อมูลของประชากรทั้งประเทศ ขาดแค่ข้อมูลของคุณไปคนเดียว ระบบแนะนำสินค้าหรือบริการก็สามารถทำงานได้ตามปกติโดยไม่สะดุดเลยแม้แต่น้อย

ดังนั้นคุณสามารถสบายใจได้ว่ามันไม่มี ‘ใคร’ หรือ ‘องค์กร’ ใดในทางธุรกิจหรอกที่จะมานั่งส่องข้อมูลส่วนตัวของคุณแล้ววิพากษ์วิจารณ์คุณ โรงกลั่นข้อมูลต้องการข้อมูลในเชิงสถิติและในเชิงประชากรศาสตร์ การเปิดเผยข้อมูลต่อโรงกลั่นไม่ใช่เรื่องเลวร้าย แต่เป็นเรื่องที่จำเป็นหากเราต้องการให้ระบบ เว็บไซต์ แอปพลิเคชั่น หรือโทรศัพท์มือถือช่วยแนะนำการตัดสินใจที่ดีที่สุดต่อข้อคำถาม (query) ของเราได้

ห้า เขาได้ใช้ข้อมูลของเรา แล้วเรา...จะได้อะไร?
“ในเมื่อเราสร้างข้อมูลให้โรงกลั่นนำไปใช้ในทางธุรกิจ อย่างนั้นเราซึ่งเป็นผู้ใช้ก็ถือว่ามีส่วนช่วยในธุรกิจของเขา และควรได้รับผลตอบแทนเป็นตัวเงิน” ความคิดนี้เป็นเรื่องที่ไม่ให้ดอกผลเลยในทางปฏิบัติ ลองพิจารณาตัวอย่างนี้ ปี 2015 เฟซบุ๊กมีกำไรประมาณ 3.5 พันล้านเหรียญ และหากยอมแบ่งกำไรทั้งหมดให้แก่ผู้ใช้ (โดยไม่จ่ายปันผลผู้ถือหุ้นเลย) ผู้ใช้แต่ละคนจะได้เงินประมาณ 3.5 เหรียญเท่านั้น ตรงนี้ผู้เขียนตั้งคำถามที่สำคัญมากกับเราว่า “แล้วการเข้าถึงแพลตฟอร์มการสื่อสารได้โดยไม่จำกัดมันมีค่ามากกว่ากาแฟคาปูชิโนสักแก้วไหมล่ะ? ถ้ามากกว่า อย่างนั้นคุณก็ถือว่าได้รับ ‘ค่าตอบแทน’ สำหรับข้อมูลของคุณแล้ว”

หก แลกเปลี่ยน “ความเป็นส่วนตัว” กับ “คุณภาพชีวิตที่ดีกว่า” ...คุ้มไหม?
แต่ผลตอบแทนที่เราได้จากโรงกลั่นคือ ‘การตัดสินใจที่ดีที่สุด’ ที่โรงกลั่นกลั่นมาให้เราต่างหาก สมมติเช่นกูเกิลแมป หากเรายอมเปิดเผยว่าเราต้องการเดินทางจากจุดไหน และต้องการไปยังจุดไหน ระบบอาจอนุมานได้ว่าบ้านของเราอยู่ที่ไหน ในขณะที่หลายคนอาจมองว่าระบบสอดรู้สอดเห็นความเป็นส่วนตัวของเรามากเกินไป แต่ในขณะเดียวกัน สิ่งที่เราได้มาก็คือเส้นทางการเดินทางที่รวดเร็วที่สุด รถติดน้อยที่สุด รวมถึงการบอกทางแบบเรียลไทม์สำหรับคนที่ไม่เคยใช้เส้นทางนั้นมาก่อน
เว็บไซต์หรือแอปพลิเคชั่นหาคู่มีผู้ใช้เป็นจำนวนมหาศาล การเปิดเผยรูปร่างหน้าตาและรูปพรรณสัณฐานของเรา รวมถึงความชอบ กิจกรรมยามว่าง ซีรีส์เรื่องโปรด หนังสือที่กำลังอ่านอยู่ ฯลฯ ก็จะช่วยให้อัลกอริทึมสามารถเฟ้นหาคู่เดตที่น่าจะมีลักษณะนิสัยและความสนใจเข้ากับเราได้ดีที่สุดให้เราได้

การเปิดเผยสถานะทางการเงินของคุณจะช่วยให้ระบบสามารถแนะนำแหล่งสินเชื่อที่ดีที่สุด มีอัตราดอกเบี้ยและข้อกำหนดที่เหมาะสมที่สุดให้แก่คุณได้ ในขณะที่หากคุณไปเดินหาเอง คุณอาจได้เงินกู้ที่มีดอกเบี้ยสูงกว่าและเงื่อนไขแย่กว่าก็เป็นได้
ทั้งหมดนี้คือผลตอบแทนที่เราได้รับจากโรงกลั่น มันมาในรูปของ ‘การแนะนำ’ ที่จะช่วยให้เราตัดสินใจเรื่องต่างๆในชีวิตได้เป็นอย่างดีที่สุด และในการจะได้มาซึ่งสิ่งนั้น เราต้องยอมที่จะเปิดเผยข้อมูลต่อโรงกลั่นเสียก่อน

เจ็ด สิทธิในการควบคุมโรงกลั่นข้อมูล
แล้วอะไรล่ะคือสิ่งที่จะมาควบคุมโรงกลั่นไม่ให้นำข้อมูลของเราไปใช้ในทางที่ผิด หรือก่อให้เกิดโทษต่อผู้ใช้? การควบคุมโรงกลั่นจะเกิดขึ้นได้ผ่านสิทธิ 2 ประการใหญ่ๆที่คนเรา (ประชาชน ไม่ใช่รัฐบาลหรือหน่วยงานอื่นใด) ควรเรียกร้อง ข้อแรกคือสิทธิในความโปร่งใส - โรงกลั่นจะต้องมีความโปร่งใส ผู้ใช้สามารถตรวจสอบการทำงานได้ ผู้ใช้ควรมีสิทธิที่จะรู้ได้ว่าโรงกลั่นเก็บข้อมูลใดของเราไปบ้าง นำไปใช้ทำอะไร และบริหารจัดการข้อมูลเหล่านั้นอย่างไรบ้าง ข้อสองคือสิทธิในการดำเนินการ - หมายความว่าผู้ใช้จะต้องมีเครื่องไม้เครื่องมือในการที่จะเข้าถึงการทำงานของโรงกลั่นได้สักส่วนหนึ่ง เพื่อให้สามารถปรับแต่ง (customize) การทำงานของโรงกลั่นได้บ้าง เพื่อให้ผลิตผลที่ได้นั้นเกิดประโยชน์ต่อผู้ใช้สูงสุด และเกิดโทษน้อยที่สุด สิทธิทั้ง 2 ประการนี้แบ่งเป็นรายละเอียดปลีกย่อยอีกหลายข้อ ทั้งยังอาจเรียกว่าเป็นเนื้อหาใหญ่ประเด็นหนึ่งของหนังสือเล่มนี้เลยก็ว่าได้

แปด ความสามารถในการอ่านข้อมูล (Data Literacy)
ในยุคนี้สิ่งสำคัญอย่างยิ่งยวดและเร่งด่วนที่คนเราจำเป็นต้องมีคือ ความรู้ทางด้านข้อมูล(Data Literacy) คำว่า Literacy นั้นแปลตรงตัวคือ ‘การอ่านออกเขียนได้’ หรือที่คนโบราณเรียกว่า ‘การรู้หนังสือ’ นั่นเอง และในปัจจุบัน ‘การอ่านออกเขียนได้ทางด้านข้อมูล’ หรือที่เรียกกันติดปากว่า ‘ความรู้ทางด้านข้อมูล’ ก็ถือเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยสร้างความได้เปรียบในชีวิตของคุณได้มาก ทั้งชีวิตประจำวันและชีวิตการทำงาน

ใน ‘ปัจฉิมบท’ ของหนังสือเล่มนี้ ผู้เขียนได้ยก ‘อุปมานิทัศน์’ ของเพลโตขึ้นมา ซึ่งเป็นเรื่องอุปมาที่บอกเล่าโดยโสเครตีสเพื่อให้ศิษย์ได้เห็นถึงความสำคัญของ ‘การเรียนรู้สิ่งใหม่’ และ ‘การขาดการเรียนรู้สิ่งใหม่’ และด้วยจนใจที่ไม่สามารถนำมาถ่ายทอดจนครบความและครบคุณค่าได้ภายในพื้นที่สั้นๆ ผู้แปลจึงอยากสนับสนุนให้ผู้อ่านได้ลองไปซื้อหามาอ่านด้วยตนเอง อนึ่งขอยกคำกล่าวของเพลโต(ซึ่งผู้เขียนเลือกมาใส่ใน ‘ปัจฉิมบท’)มาทิ้งท้ายไว้ตรงนี้ “พวกเขาจะมองเห็นสิ่งอื่นใดนอกจากเงามืดได้อย่างไรเล่า หากพวกเขาไม่เคยได้ขยับศีรษะของพวกเขาเลย” ---เพลโต

ผู้อ่านที่เป็นนักธุรกิจจะยิ่งได้ประโยชน์จากหนังสือเล่มนี้มากกว่าผู้อ่านทั่วไป เพราะตลอดทั้งเล่ม ผู้เขียนจะยกปัญหาต่างๆที่เคยพบเจอ ไอเดียดีๆในการพัฒนาเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชั่น และแนวทางในการปรับปรุงอัลกอริทึมให้เราได้ขบคิดเป็นอาหารสมองอยู่ตลอดเวลา ทั้งนี้ผู้เขียนเคยทำงานร่วมกับบริษัทใหญ่ๆและบุคคลสำคัญระดับประเทศมามาก ตัวอย่างทั้งหลายที่ผู้เขียนยกจากประสบการณ์ย่อมเป็นสิ่งที่น่าทึ่งจนคาดคิดไม่ถึงอย่างแน่นอน

อนึ่ง ผู้อ่านที่สนใจสามารถติดต่อพูดคุยสอบถามหรือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับนักแปล คุณดาวิษ ชาญชัยวานิช ได้โดยตรงที่ http://www.facebook.com/davischanwriter
โพสต์โพสต์