Happy Birthday… “Bitcoin” ตอนจบ

การลงทุนแบบเน้นคุณค่า ลงทุนหุ้น VI เน้นที่ปัจจัยพื้นฐานเป็นหลัก

โพสต์ โพสต์
doctorwe
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 152
ผู้ติดตาม: 0

Happy Birthday… “Bitcoin” ตอนจบ

โพสต์ที่ 1

โพสต์

คอลัมน์: “หุ้นส่วนประเทศไทย
หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์
Happy Birthday… “Bitcoin” ตอนจบ
ดร.วีรพงษ์ ชุติภัทร์
วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต
http://www.CsiSociety.com
Add Line: CsiSociety

เมื่อวานนี้ เราได้คุยกันไปแล้วเกี่ยวกับ “วันเกิดของบิทคอยน์” ซึ่งนั่นคือ วันที่ 31 ตุลาคม 2551 เราได้คุยกันตั้งแต่กำเนิดของบิทคอยน์โดยนายซาโตชิ นากาโมโต จนถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2557 เมื่อบริษัท Mt.Gox ศูนย์รับแลกเปลี่ยนเงินสกุลดิจิทัลที่ใหญ่ที่สุดในโลกล้มละลายลง วันนี้จะขอคุยต่อเลยนะครับ ดังนี้ครับ

มีนาคม 2557 ประเทศไซปรัส ซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศที่โดนมรสุมตั้งแต่ช่วงวิกฤตเศรษฐกิจแฮมเบอร์เกอร์จนถึงวิกฤตค่าเงินยูโร โดยไซปรัสพยายามแก้ไขวิกฤตเศรษฐกิจของประเทศ และวิธีการหนึ่งที่ไซปรัสใช้ก็คือ การปิดธนาคารเพื่อควบคุมเงินไหลออกจากประเทศ และให้ประชาชนถอนเงินต่อวันได้ในจำนวนจำกัด ประชาชนจำนวนมากจึงพยายามแสวงหาทางออกในเรื่องดังกล่าว และทางออกนั้นจึงตกมาอยู่ที่ “บิทคอยน์” มีการพยายามแลกเปลี่ยนเงินของไซปรัสไปเป็นบิทคอยน์แทน เพื่อสามารถที่จะใช้บิทคอยน์ซื้อสินค้าต่างๆแทนเงินในประเทศที่มีค่าลดต่ำลงเกือบจะทุกวัน

พฤศจิกายน 2559 เช่นเดียวกับประเทศไซปรัส เวเนซูเอลาก็ประสบกับวิกฤตเศรษฐกิจ และค่าเงินโบลิวาร์ก็ตกต่ำจนหาก้นบึ้งไม่เจอ ดังนั้นผู้คนจึงขายเงินโบลิวาร์มาซื้อบิทคอยน์แทน มีการตั้งเครื่องขุดบิทคอยน์กันอย่างแพร่หลาย และผู้คนก็หันไปใช้บิทคอยน์ในการชำระสินค้าแทน ทั้งๆที่เป็นสิ่งที่ผิดกฎหมายในประเทศนี้
btc.png
1 เมษายน 2560 รัฐบาลญี่ปุ่นประกาศว่า บิทคอยน์เป็นการชำระเงินที่ถูกต้องตามกฎหมาย (Legal Payment) ญี่ปุ่นเป็นประเทศแรกในโลกที่ยอมรับบิทคอยน์ แต่ก็ไม่ได้ให้ฐานะสูงส่งถึงขึ้นเป็นสกุลเงินที่ถูกกฎหมาย (Legal Currency) แต่ประการใด แต่นั่นก็ทำให้ย่านอากิฮาบาราที่ขายสินค้าอิเลคทรอนิกส์ พากันติดป้ายต้อนรับบิทคอยน์กันทั่วเมือง

1 สิงหาคม 2560 เงินบิทคอยน์ได้ถูกปรับปรุงให้แยกออกเป็น 2 สกุลเงินดิจิทัล โดยแบ่งเป็นบิทคอยน์เดิม และ "บิทคอยน์แคช" ซึ่งเป็นระบบการชำระเงินใหม่ที่เปิดให้ใช้ทำธุรกรรมอย่างเป็นทางการแล้ว การแบ่งเงินสกุลบิทคอยน์ออกเป็น 2 สกุลมีขึ้นหลังจากที่กลุ่มผู้พัฒนาบิทคอยน์มีความเห็นที่แตกต่างกัน เกี่ยวกับแนวทางในการแก้ปัญหากระบวนการทำธุรกรรมที่ล่าช้าของบิทคอยน์

กันยายน 2560 “จีน” บดขยี้เงินสกุลดิจิทัลจนเกือบจะสิ้นซาก โดยต้นเดือนจีนออกประกาศสั่งห้ามการระดมทุนของเงินสกุลดิจิทัลใหม่ๆ (ICO) ทั้งหมด พอมาถึงปลายเดือน จีนก็ประกาศปิดเว็บไซต์แลกเปลี่ยนบิทคอยน์และเงินสกุลดิจิทัลทั้งหมดทั่วประเทศ ก็ทำให้นักลงทุนจีนแห่แหนไปซื้อเงินสกุลดิจิทัลกันในต่างประเทศ และยังทำให้บริษัทแลกเปลี่ยนเงินสกุลดิจิทัลของจีนย้ายไปต่างประเทศ โดยรับการเทรดเป็นเงินคริปโตกับเงินคริปโต (Crypto – Crypto Exchange) เท่านั้น เว็บไซต์แลกเปลี่ยนเงินสกุลดิจิทัลของจีนทุกวันนี้ก็รุ่งเรืองกันจนติดระดับโลก ไม่ว่าจะเป็น http://www.binance.com, http://www.huobi.com เป็นต้น ปริมาณการเทรดเงินสกุลดิจิทัลด้วยเงินหยวนจาก 90% ของตลาดทั้งหมด ลดลงเหลือน้อยกว่า 1% ภายในเดือนนี้

ธันวาคม 2560 บริษัทแลกเปลี่ยนตราสารอนุพันธ์ระดับโลก 2 แห่งคือ CBOE และ CME ประกาศการเทรดตราสาร Bitcoin Futures อย่างเป็นทางการ นั่นหมายถึง บิทคอยน์ได้ยกฐานะตัวเองให้เข้ามาสู่การเป็นตราสารอนุพันธ์ที่ได้รับการรับรองจากทางการสหรัฐอเมริกาและสถาบันการเงินทั่วโลก

17 ธันวาคม 2560 ราคาของบิทคอยน์ทำลายสถิติตลอดกาล โดยขึ้นไปแตะระดับสูงสุดที่ 19,666 ดอลลาร์ต่อหนึ่งบิทคอยน์ จากนั้นก็ค่อยๆลดลงมาโดยพบว่า ต้นปี 2560 ราคาหนึ่งบิทคอยน์อยู่ที่ 998 ดอลลาร์ และท้ายปี 2560 ราคาไปปิดที่ประมาณ 13,412 ดอลลาร์ต่อหนึ่งบิทคอยน์ ซึ่งนับได้ว่าปี 2560 ถือได้ว่าเป็น “ปีทองของบิทคอยน์” โดยเพียงปีเดียวราคาบิทคอยน์มีราคาขึ้นไปเกือบ 20 เท่า

มกราคม 2561 เกาหลีใต้ออกกฎห้ามระดมทุนเงินสกุลดิจิทัล (ICO) อย่างเด็ดขาดเช่นเดียวกับจีน ต่อมาเกาหลีใต้ก็เริ่มเข้าตรวจสอบบรรดาบริษัทแลกเปลี่ยนเงินสกุลดิจิทัลอย่างเข้มข้น และรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมก็ออกมาพูดว่า กำลังจะออกกฎหมายห้ามการซื้อขายเงินสกุลดิจิทัลอย่างถาวร เท่านั้นเอง...ก็งานเข้า โซเชียลมีเดียของเกาหลีใต้ก็ออกมาวิพากษ์วิจารณ์แบบสับเละ และมีประชาชนมากกว่าแสนคนออกมาแสดงความไม่เห็นด้วยอย่างเอิกเกริก หลังจากนั้นไม่ถึง 24 ชั่วโมง สำนักประธานาธิบดีของเกาหลีใต้ก็ต้องออกมาให้ข่าวว่า สิ่งที่รัฐมนตรียุติธรรมออกมาพูดว่าจะสั่งปิดบริษัทแลกเปลี่ยนเงินสกุลดิจิทัลนั้น เป็นเพียงความคิดเห็นส่วนตัวไม่เกี่ยวกับรัฐบาล ปัจจุบันเกาหลีใต้จึงยังไม่กล้าสั่งปิดบรรดาบริษัทรับซื้อขายเงินสกุลดิจิทัล

1 กุมภาพันธ์ 2561 นายอรุณ เจ็ตลีย์ รัฐมนตรีการคลังของอินเดียก็ออกมาแสดงความคิดเห็นว่า “รัฐบาลไม่ได้พิจารณาให้เงินสกุลดิจิทัลสามารถชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย และรัฐบาลก็จะใช้ทุกมาตรการที่จะกำจัดเงินสกุลดิจิทัลที่จะนำไปใช้ในกิจกรรมที่ผิดกฎหมาย” คำพูดที่กำกวมดังกล่าวของนายอรุณ ก็ถูกนำไปตีความว่า อินเดียจะมีการสั่งปิดบริษัทที่ทำธุรกิจแลกเปลี่ยนเงินสกุลดิจิทัลทุกบริษัท และทำให้ราคาของบิทคอยน์และเงินสกุลดิจิทัลเกือบทุกสกุล จากการประกาศนี้ก็ทำให้ราคาเงินสกุลดิจิทัลร่วงผลอยไปตามๆกัน

2 กุมภาพันธ์ 2561 บรรดาธนาคารใหญ่จากสหรัฐอเมริกาไม่ว่าจะเป็น Bank of America, Citigroup, JP Morgan Chase ตามมาด้วย Lloyds Banking Group จากอังกฤษ ทั้งหมดร่วมมือกันในการบล็อกบัตรเครดิตของตนไม่ให้สามารถซื้อเงินสกุลดิจิทัลได้ แต่สามารถซื้อผ่านบัตรเดบิตได้ แต่นั่นก็หมายถึงความพยายามที่จะตัดช่องทางในการซื้อขายเงินสกุลดิจิทัลออกไปเรื่อยๆ

5 กุมภาพันธ์ 2561 จีนเริ่มหันมาใช้มาตรการโหดอีกครั้งหนึ่ง โดยครั้งนี้จีนต้องการจะถอนรากถอนโคนการแลกเปลี่ยนเงินสกุลดิจิทัลในจีนอย่างถาวร โดยธนาคารกลางจีน (PBOC) โดยเริ่มจากการห้ามโฆษณาทุกประเภทที่เกี่ยวข้องกับเงินสกุลดิจิทัล ตามมาด้วยการบล็อกไม่ให้ประชาชนจีนเข้าถึงเว็บไซต์แลกเปลี่ยนเงินดิจิทัลทุกแห่งบนโลกใบนี้ เหตุการณ์ในครั้งนี้ก็ยิ่งส่งผลต่อราคาเงินสกุลดิจิทัลเกือบจะทุกสกุล โดยเฉพาะบิทคอยน์ถูกกระหน่ำเทขายจากระดับที่ต่ำมากแล้วประมาณ 8,000 ดอลลาร์ต่อหนึ่งบิทคอยน์ ก็ร่วงลงอย่างรุนแรงสู่ระดับต่ำกว่า 6,000 ดอลลาร์

และนั่นคือ บรรดาเรื่องราวของบิทคอยน์ตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา ในโอกาสที่คล้ายวันเกิดครบ 10 ปีของบิทคอยน์ ก็ขอให้บิทคอยน์มีอายุยืนยาวต่อไปนานๆ นะครับ

หาอ่านบทความ และความรู้ด้านการลงทุนของผู้เขียนได้เพิ่มเติมได้ที่ http://www.doctorwe.com
โพสต์โพสต์