‘ทรัมป์’ก่อสงครามการค้า คือสร้างความทุกข์ยากให้ประชาชนที่เขา

การลงทุนแบบเน้นคุณค่า ลงทุนหุ้น VI เน้นที่ปัจจัยพื้นฐานเป็นหลัก

โพสต์ โพสต์
cup
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 172
ผู้ติดตาม: 20

‘ทรัมป์’ก่อสงครามการค้า คือสร้างความทุกข์ยากให้ประชาชนที่เขา

โพสต์ที่ 1

โพสต์

‘ทรัมป์’ก่อสงครามการค้า คือสร้างความทุกข์ยากให้ประชาชนที่เขาสัญญาจะสนับสนุน
เผยแพร่: 19 ต.ค. 2561 23:21 โดย: เคน โมค

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ http://www.atimes.com)

Trump is hurting the people he pledged to support
By Ken Moak
17/10/2018

สงครามการค้าที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ก่อขึ้นมาเพื่อเล่นงานจีน กำลังสร้างความสูญหายให้แก่ทั้งสองฝ่ายตลอดจนเศรษฐกิจทั่วโลก โดยเฉพาะในสหรัฐฯนั้น พวกที่จะลำบากเดือดร้อนที่สุดก็คือพวกที่เป็นฐานเสียงให้ความสนับสนุนทรัมป์อย่างแข็งขันที่สุดนั่นเอง

อย่างที่ผู้เขียน (เคน โมค) ได้ชี้ให้เอาในบทความชิ้นที่แล้ว ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ กำลังพ่ายแพ้ในสงครามการค้าที่เขาเริ่มต้นขึ้นมา และกำลังพยายามดิ้นรนอย่างหนักเพื่อกลับคืนเป็นฝ่ายรุกอีกครั้งหนึ่ง ด้วยการข่มขู่ที่จะขึ้นพิกัดอัตราศุลกากรจากสินค้าจีนเพิ่มมากขึ้นอีก ตลอดจนบีบบังคับให้ สตีเวน มนูชิน (Steven Mnuchin) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของเขา ต้องประทับตราประเทศจีนว่าเป็นนักปั่นค่าเงินตรา (currency manipulator) อย่างไรก็ตาม การขยายความขัดแย้งให้บานปลายออกไปจะไม่ทำให้ชนะสงครามขึ้นมาได้หรอก เนื่องจากนโยบายต่างๆ ของเขานั้นจะทำลายเศรษฐกิจของสหรัฐฯ รวมทั้งดึงลากเอาส่วนอื่นๆ ของโลกจมถลำลงพร้อมกับมันด้วย

สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯกับจีนที่ระเบิดออกมาเต็มที่ จะผลักดันให้โลกตกลงสู่ความบ้าคลั่งทางเศรษฐกิจ นี่เป็นคำพูดทั้งของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund หรือ IMF), ธนาคารกลางยุโรป (European Central Bank หรือ ECB), รวมทั้งองค์การทางเศรษฐกิจรายอื่นๆ ตลอดจนพวกผู้ช่วยเหลือทั้งหลาย

ไอเอ็มเอฟพยากรณ์เอาไว้ว่าจีนจะได้รับความเสียหายหนักกว่าสหรัฐฯในสงครามการค้าที่ระเบิดออกมาเต็มขั้น โดยคาดการณ์ว่ามันจะส่งส่งผลกระทบทำให้จีดีพีของจีนลดลงมา 1.6% ขณะที่จีดีพีของสหรัฐฯตกลง 0.9% ในปี 2019 อย่างไรก็ดี เคลาดิโอ กาลิมเบอร์ติ (Claudio Galimberti) นักวิเคราะห์อาวุโสที่ทำงานกับ เอสแอนด์พี โกลบอล แพลตส์ (S&P Global Platts) กลุ่มวิจัยทางด้านพลังงานซึ่งตั้งฐานอยู่ในสหรัฐฯ ทำนายว่า สหรัฐฯอาจจะได้รับความเสียหายหนักหน่วงกว่า โดยเขากำลังประมาณการว่า จีดีพีของสหรัฐฯจะเสียหายไป 1.5% ในปีดังกล่าว ขณะที่จีดีพีของจีนจะถอยลง 1%.ในปี 2019 ทางด้าน ECB ก็แสดงความเห็นเช่นกันว่า ภายหลังจากสงครามการค้าที่สู้รบกันอย่างเต็มตัวแล้ว เศรษฐกิจของจีนน่าที่จะก้าวออกมาในสภาพที่แข็งแรงกว่า

ทุกๆ ฝ่ายต่างต้องเกิดความสูญเสียในสงครามการค้า

องค์การใดหรือนักวิเคราะห์คนไหนจะพยากรณ์ออกมาได้ถูกต้อง อาจจะเป็นเรื่องที่ไร้ความหมาย ในเมื่อทุกๆ ฝ่ายต่างจะต้องเกิดความเสียหายบังเกิดความพ่ายแพ้กันทั้งสิ้น ดังที่ไอเอ็มเอฟคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจโลกจะถดถอยลงไปประมาณครึ่งเปอร์เซ็นต์ในปี 2019 เนื่องจากความเสียหายของโลกาภิวัตน์ การถูกก่อกวนขัดขวางของห่วงโซ่อุปทาน (supply chain) ซึ่งแท้ที่จริงแล้วสหรัฐฯเป็นผู้สร้างขึ้นมาเพื่อเพิ่มพูนการประหยัดอันสืบเนื่องจากขนาด (economies of scale) และความสามารถในการแข่งขัน โดยผ่านความชำนาญเฉพาะทางในปัจจัยอินพุตของแต่ละภูมิภาค (regional input factor specialization) ตัวอย่างเช่น จีนที่เน้นหนักเรื่องแรงงาน เมื่อมาผสมเข้ากับสหรัฐฯที่เน้นหนักเรื่องเงินทุน ก็จะลดราคาต้นทุนต่อหน่วยของเครื่องไอแพดและเครื่องไอโฟน เปิดทางให้บริษัทแอปเปิลสามารถทำกำไรได้อย่างเป็นปรากฏการณ์จากสินค้า 2 ตัวนี้

ในสหรัฐฯนั้น ความย้อนแย้งอย่างหนึ่งที่น่าสนใจคือ พวกผู้สนับสนุนทรัมป์กำลังกลายเป็นผู้ที่ต้องจ่ายด้วยราคาแพงสูงสุด จากการเที่ยวตั้งกล่าวหาตามอารมณ์ความรู้สึกและขาดไร้ปราศจากแหล่งข้อมูลข่าวสาร ฐานสนับสนุนของเขาจึงมีความเชื่ออย่างมืดบอดว่า วาทกรรมต่อต้านจีนแรกสุดทีเดียวป่าวร้องโฆษณาออกมาโดยพวกสื่อมวลชนที่ “เป็นอิสระและเป็นกลาง” และตอนนี้ถูกนำมาขยายให้ดังกึกก้องโดยคณะบริหารทรัมป์ ยิ่งกว่านั้นทั้งชาวพรรคเดโมแครตและชาวพรรครีพับลิกันต่างสามัคคีกันในการคัดค้านต่อต้านจีน

ความรู้สึกว่าได้รับความสนับสนุนจากประชาชนทั่วไปและจากทั้งสองพรรคการเมืองใหญ่เช่นนี้ บางทีอาจจะเป็นเครื่องกระตุ้นให้กำลังใจทรัมป์ในการขยายสงครามการค้า (และสงครามทางภูมิรัฐศาสตร์ด้วย) เพื่อต่อต้านคัดค้านจีนให้บานปลายออกไปเรื่อยๆ


----------



ผู้พ่ายแพ้ในสหรัฐฯ

ตามรายงานชิ้นหนึ่งที่เผยแพร่ทางเว็บไซต์ salon.com เขียนโดย แซม แนตาพอฟฟ์ (Sam Natapoff) ชี้เอาไว้ว่า พวกที่ได้รับบาดเจ็บสูญเสียรายแรกๆ ในสงครามคราวนี้ คือประชาชนพวกที่กำลังพำนักอาศัยอยู่ในเขต “รัสต์ เบลต์” (Rust Belt พื้นที่โรงงานอุตสาหกรรมการผลิตของสหรัฐฯ ซึ่งกำลังตกอยู่ในสภาพเสื่อมทรุด) และ “ฟาร์ม เบลต์ (Farm Belt บริเวณเกษตรกรรมของสหรัฐฯ) ภูมิลำเนาของพวกที่สนับสนุนทรัมป์อย่างแข็งขันนั่นเอง ตามข้อเขียนของนาตาพอฟฟ์ สินค้าอเมริกันมูลค่ามากกว่า 75,000 ล้านดอลลาร์ซึ่งอยู่ในบัญชีถูกขึ้นภาษีศุลกากรเพื่อตอบโต้แก้เผ็ดของทางฝ่ายจีนนั้น มาจากภูมิภาคเหล่านี้ พวกเกษตรกรถั่วเหลืองในรัฐโอไฮโอและรัฐเกษตรกรรมอื่นๆ กำลังถูกเล่นงานจาก “เคราะห์ร้ายสองชั้นซ้อน” กล่าวคือกำลังสูญเสียจีนที่เป็นลูกค้ารายใหญ่ที่สุดของพวกเขา พร้อมๆ กับที่ราคาถั่วเหลืองกำลังตกฮวบเนื่องจากผลผลิตที่ออกมาอย่างอุดมสมบูรณ์เกินกว่าปกติ

ในอีกด้านหนึ่ง สงครามการค้าครั้งนี้ได้ก่อให้เกิดอาการ “ปวดหัวไมเกรน” ขึ้นในอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซธรรมชาติของสหรัฐฯ ในเมื่อจีนหยุดซื้อน้ำมันสหรัฐฯทั้งหมด และลดการบริโภคก๊าซธรรมชาติของประเทศตนลงมาอย่างฮวบฮาบ ทั้งนี้ ถัดจากแคนาดาแล้ว จีนนี่แหละคือผู้ซื้อน้ำมันสหรัฐฯมากเป็นอันดับที่ 2 โดยซื้อกัน 330,000 บาร์เรลต่อวัน มิหนำซ้ำในความเป็นจริงแล้วน้ำมันส่วนใหญ่ที่ “ส่งออก” ไปยังแคนาดานั้น เพียงแค่เป็นการปรับเส้นทางเพื่อความสะดวกเท่านั้น กล่าวคือ ถูกส่งผ่านออกไปยังจุดเริ่มต้นสายท่อขนส่งน้ำมันซึ่งตั้งต้นอยู่ทางฝั่งแคนาดา ก่อนที่จะถูกลำเลียงไปยังพวกโรงกลั่นซึ่งอยู่ทางฟากสหรัฐฯ

และเนื่องจากสงครามการค้าที่กำลังดุเดือดร้อนแรงขึ้นเรื่อยๆ ข้อตกลงด้านพลังงานมูลค่ากว่า 45,000 ล้านดอลลาร์ซึ่งจีนทำไว้กับรัฐอะแลสกา ระหว่างที่ทรัมป์ไปเยือนเมื่อปี 2017 จึงกำลังเป็นปัญหาขึ้นมา มีความเป็นไปได้อยู่มากที่ข้อตกลงดังกล่าวอาจถูกเก็บถูกหมกเข้าตู้ไปตลอดกาล สืบเนื่องจากการที่ทรัมป์ “กำลังเปลี่ยนแปลงกฎกติกาของเกมการเล่น” อยู่เรื่อยๆ อาจเร่งรัดให้จีนหันไปซื้อหาน้ำมันและก๊าซเพิ่มมากขึ้นจากรัสเซีย, ตะวันออกกลาง, และเวเนซุเอลา ยิ่งไปกว่านั้น ประเทศเหล่านี้ยังมีความเต็มอกเต็มใจที่จะเปลี่ยนจากการใช้เงินสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ มาเป็นเงินสกุลเหรินหมินปี้ (หยวน) ของจีน ในการเป็นตัวกลางของการซื้อขายแลกเปลี่ยน อิหร่านนั้นถึงกับเสนอที่จะให้ใช้เรือของพวกเขาเองในการลำเลียงขนส่งน้ำมันมายังจีน

พวกธุรกิจต่างๆ และผู้บริโภคของสหรัฐฯกำลังรู้สึก “หนาว” จากสงครามการค้ากันแล้ว ตามข้อมูลตัวเลขของสำนักงานสถิติของสหรัฐฯ, กระทรวงพาณิชย์, ตลอดจนหน่วยงานอื่นๆ ยอดการลงทุนสุทธิทั้งภายในประเทศและต่างประเทศได้ตกลงสู่แดนลบในช่วงครึ่งหลังของปี 2018 เหตุผลสำคัญก็คือบรรยากาศการลงทุนขาดความแน่นอน ซึ่งเกิดขึ้นจากนโยบายต่างๆ ของสหรัฐฯในเรื่องการลงทุนจากฝ่ายจีนและในเรื่องสงครามการค้า

พวกผู้บริโภคของสหรัฐฯดูเหมือนได้สูญเสียความมั่นอกมั่นใจของพวกเขา โดยที่ตัวเลขการบริโภคเพิ่มขึ้นเพียงนิดเดียวแค่ 0.1% ในเดือนกันยายน ทั้งนี้ตามตัวเลขที่เผยแพร่โดยกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ การที่ตัวเลขนี้เพิ่มขึ้นน้อยกว่าที่คาดหมายกันไว้ก็ไม่ใช่เรื่องที่ควรเซอร์ไพรซ์อะไร เพราะอัตราเงินเฟ้อซึ่งส่วนใหญ่เหนี่ยวนำโดยภาษีศุลกากรนั่นเอง กำลังอยู่ในระดับสูงกว่า 2% จึงเขมือบกลืนกินค่าจ้างแรงงานที่ตามตัวเลขมีการเพิ่มขึ้นในปริมาณเดียวกัน ทั้งนี้ตามข้อมูลสถิติของรัฐบาลสหรัฐฯ

ถ้าหากทรัมป์ยังคงตามซ้ำ ด้วยการขยายความตึงเครียดกับจีนทั้งในด้านการค้า, ค่าเงินตรา, และทางภูมิรัฐศาสตร์ให้บานปลายต่อไปอีก เศรษฐกิจของสหรัฐฯและความมั่นคงของสหรัฐฯก็อาจจะตกอยู่ในความเสี่ยงเป็นอย่างยิ่ง ทั้งนี้ถ้าการข่มขู่ของเขาที่จะประทับตราจีนว่าเป็นประเทศผู้ปั่นค่าเงินตราเกิดกลายเป็นความจริงขึ้นมา มันก็จะน่าจะเกิดสงครามค่าเงินตราขึ้นซึ่งอาจส่งผลทำให้ระบบการเงินของโลกพังทลายได้ทีเดียว ถ้ากองทัพเรือสหรัฐฯยังคงตามซ้ำ ด้วย “การปฏิบัติการสำแดงเสรีภาพในการเดินเรือ” เพิ่มมากขึ้นอีกในทะเลจีนใต้ สงครามแบบที่มีการยิงใส่กันซึ่งเปิดฉากขึ้นมาด้วยอุบัติเหตุไม่ใช่ความตั้งใจ ก็เป็นเรื่องที่ไม่สามารถบอกปัดได้ว่าจะไม่มีทางเกิดขึ้น จีนนั้นมีความเด็ดเดี่ยวแน่วแน่ในการพิทักษ์ปกป้องการกล่าวอ้างกรรมสิทธิ์เหนือดินแดนของตน ดังที่แสดงให้เห็นแล้วเมื่อเร็วๆ นี้ในเหตุการณ์ “ใกล้จะชนกัน” ระหว่างเรือรบของจีนกับเรือพิฆาตอเมริกัน



------------------

ผู้แพ้พ่ายทางฝ่ายจีน

ผู้ปราชัยรายใหญ่ที่สุดในประเทศจีนอาจจะเป็นบรรดาโรงงานซึ่งกำลังผลิตสินค้าสำหรับตลาดสหรัฐฯ ตลอดจนพวกนักลงทุนรายย่อยระดับบุคคลซึ่งกำลังเล่นหุ้นอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ แต่ความสูญเสียเหล่านี้น่าจะเป็นเพียงระยะสั้นเนื่องจากประชากร 1,400 ล้านคนของจีน บวกกับความสัมพันธ์ทางการค้าที่เพิ่มพูนขึ้นเรื่อยๆ กับประเทศอื่นๆ, และแผนการริเริ่มแถบและเส้นทาง (Belt and Road Initiative) ควรที่จะเข้าแทนที่ตลาดสหรัฐฯได้

เหมือนกับที่พวกเขาได้เคยกระทำในระหว่างเกิดวิกฤตการณ์ภาคการเงินทั่วโลกปี 2008 คนงานจำนวนมากน่าจะเดินทางกลับหมู่บ้านของพวกเขาเพื่อรับมือกับความยากลำบากคราวนี้ และแน่นอนทีเดียวว่ารัฐบาลจีนจะเพิ่มการใช้จ่ายเพื่อลดทอนความเจ็บปวดระยะสั้นซึ่งการค้าจะก่อให้เกิดขึ้น ในปี 2008 นั้น แพกเกจมาตรการกระตุ้นจูงใจขนาดมหึมาได้ส่งผลทำให้การทรุดตัวทางเศรษฐกิจมีอันเลี้ยวกลับ 180 องศา โดยทำให้การเติบโตของจีดีพีจีน พุ่งขึ้นจากระดับ 6.5% เป็น 9.2% ในปี 2009

ผู้คนในโลกตะวันตกที่อ้างว่าการเทขายอย่างมโหฬารในตลาดหลักทรัพย์จีน คือสัญญาณแสดงให้เห็นว่าจีนกำลังพ่ายแพ้ในสงครามคราวนี้ กำลังโกหกหลอกลวง ตลาดหลักทรัพย์ของจีนนั้นไม่เหมือนกับตลาดหุ้นของสหรัฐฯ โดยมีลักษณะเป็นเหมือนกับ “บ่อนกาสิโน” มากกว่าเป็น “ตัวบ่งชี้” ถึงผลงานทางเศรษฐกิจ พวกผู้ซื้อหุ้นนั้นเต็มไปด้วยปัจเจกบุคคลซึ่งต้องการที่จะ “รวยเร็วๆ” และพร้อมเทขายหุ้นของพวกเขาด้วยความตื่นตระหนกในทันทีที่เกิด “พายุ” กระหน่ำเข้ามา ทว่า “พายุ” เหล่านี้ไม่ได้ยืนยาวอะไรหรอก ดังเห็นได้จากการที่มูลค่าของหุ้นจีนกระเตื้องดีดตัวกลับในปี 2017 และอีกครั้งหนึ่งในเดือนตุลาคมของปีนี้


************************


ข้อคิดเห็น

เมื่อพิจารณาจากฉากทัศน์ภาพสมมุติสถานการณ์ทุกๆ อย่างที่อาจเป็นไปได้แล้ว จีนอาจจะปรากฏโฉมออกมาจากสงครามการค้าครั้งนี้ในสภาพที่ร่ำรวยกว่าและแข็งแรงกว่าสหรัฐฯ การห้ามปรามกีดกันพวกบริษัทจีนไม่ให้เข้าถึงเทคโนโลยีสหรัฐฯ มีแต่ทำให้พวกเขาเด็ดเดี่ยวแน่วแน่ยิ่งขึ้นอีกในความตั้งใจมุ่งมั่นที่จะสร้างนวัตกรรม ดังที่ได้แสดงให้เห็นแล้วในกรณีของ หัวเว่ย ยักษ์ใหญ่ไฮเทคของจีน ซึ่งกำลังใช้จ่ายงบประมาณจำนวนเพิ่มมากขึ้นในการพัฒนาชิปและเซมิคอนดักเตอร์

สงครามการค้าครั้งนี้กำลังกลายเป็นการกระตุ้นรัฐบาลจีนและประชาชนจีน ทำให้พวกเขา “ลุกยืนขึ้นมา” เพื่อเผชิญกับสิ่งที่พวกเขาเรียกว่า “การข่มเหงรังแก” ของสหรัฐฯ ซึ่งอธิบายให้เห็นว่าทำไมจีนจึงกำลังดำเนินขั้นตอนจังหวะก้าวที่ห้าวหาญมากในการตอบโต้การขึ้นภาษีศุลกากรของสหรัฐฯ และในการปฏิบัติการสำแดงเสรีภาพในการเดินเรือของสหรัฐฯในทะเลจีนใต้

บทสรุปของการถกเถียงอภิปรายคราวนี้ก็คือ ผู้พ่ายแพ้ปราชัยรายใหญ่ที่สุดในสงครามซึ่งทรัมป์กระทำเพื่อต่อต้านคัดค้านจีน อาจจะเป็นพวกผู้สนับสนุนที่แข็งขันที่สุดของเขา พวกเขากำลังสูญเสียตลาดอันใหญ่โตทำกำไรงามซึ่งพวกเขาได้ใช้เวลาเป็นปีๆ เพื่อบ่มเพาะพัฒนาขึ้นมา ขณะเดียวกันก็กำลังต้องจ่ายเงินแพงมากขึ้นสำหรับซื้อสินค้าต่างๆ




(ข้อเขียนซึ่งบุคคลภายนอกเป็นผู้ส่งเรื่องมาให้ ทางเอเชียไทมส์ไม่ขอรับผิดชอบทั้งต่อความคิดเห็น, ข้อเท็จจริง, หรือเนื้อหาด้านสื่อใดๆ ที่นำเสนอ)




เคน โมค สอนวิชาทฤษฎีเศรษฐกิจ, นโยบายภาคสาธารณะ, และกระแสโลกาภิวัตน์ในระดับมหาวิทยาลัยมาเป็นเวลา 33 ปี เขายังเป็นผู้เขียนร่วมของหนังสือเรื่อง China's Economic Rise and Its Global Impact (Palgrave McMillan, 2015) สำหรับหนังสือเล่มที่ 2 ของเขาซึ่งใช้ชื่อว่า Developed Nations and the Impact of Globalization เพิ่งจัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ Palgrave McMillan Springer



https://mgronline.com/around/detail/9610000104837
yoko
Verified User
โพสต์: 4395
ผู้ติดตาม: 8

Re: ‘ทรัมป์’ก่อสงครามการค้า คือสร้างความทุกข์ยากให้ประชาชนที

โพสต์ที่ 2

โพสต์

ทรัมป์เก่งมากครับ เขาทำตามนโยบายที่หาเสียงไว้
อเมริกาต้องมาก่อน
โพสต์โพสต์