สงครามการค้า: เอาเงินลงทุนไปหลบ...ที่ไหนดี? ตอนที่ 1

การลงทุนแบบเน้นคุณค่า ลงทุนหุ้น VI เน้นที่ปัจจัยพื้นฐานเป็นหลัก

โพสต์ โพสต์
doctorwe
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 152
ผู้ติดตาม: 0

สงครามการค้า: เอาเงินลงทุนไปหลบ...ที่ไหนดี? ตอนที่ 1

โพสต์ที่ 1

โพสต์

87f948f93f916cf7995b462a77fda71dc056e689.jpg
คอลัมน์: หุ้นส่วนประเทศไทย
หนังสือพิมพ์ โพสต์ทูเดย์
สงครามการค้า: เอาเงินลงทุนไปหลบ...ที่ไหนดี? ตอนที่ 1
ดร.วีรพงษ์ ชุติภัทร์
วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต
http://www.CsiSociety.com
Add Line: @CsiSociety

คุณผู้อ่านหลายท่านคงทราบกันดีแล้วว่า สงครามการค้าที่ก่อขึ้นโดยประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งกำลังระบาดกระจายไปทั่วโลก แต่กำลังส่งผลอย่างเข้มข้นกับประเทศคู่แข่งที่ใหญ่ที่สุดในโลกของสหรัฐอเมริกานั่นคือ จีน เริ่มต้นด้วยวันที่ 15 มิถุนายนที่ผ่านมา อเมริกาประกาศเพิ่มภาษีเป็น 25% ของสินค้าที่นำเข้าจากจีนมีมูลค่ารวมกันทั้งสิ้น 50,000 ล้านดอลลาร์ โดยแบ่งเป็น 2 ช่วงเวลา ช่วงแรก 6 กรกฎาคม เก็บภาษีกับสินค้ามูลค่า 34,000 ล้านดอลลาร์ และช่วงที่สอง 23 สิงหาคม เก็บภาษีเพิ่มขึ้นกับสินค้าจากจีนอีกมูลค่า 16,000 ล้านดอลลาร์ เท่านี้ยังไม่จบ...ในวันที่ 24 กันยายนที่ผ่านมา สหรัฐอเมริกาได้เริ่มเก็บภาษี 10% กับสินค้าที่นำเข้าจากจีนเพิ่มขึ้นอีกสูงถึง 200,000 ล้านดอลลาร์ และในวันที่ 1 มกราคม 2562...วันแรกของปีหน้า บรรดาสินค้าในกลุ่มนี้มูลค่า 200,000 ล้านดอลลาร์ จะถูกปรับการเก็บภาษีในอัตราจาก 10% เพิ่มขึ้นเป็น 25% ทันที
ทางฟากฝั่งจีนก็ได้เริ่มต้นขบวนการแก้เผ็ดโดยใช้กลยุทธ์ “ตาต่อตา ฟันต่อฟัน” เพิ่มภาษีเป็น 25% สำหรับสินค้ากลุ่มแรกมูลค่า 50,000 ล้านดอลลาร์เช่นเดียวกับอเมริกา แต่ในสินค้ากลุ่มที่สองนั้น ทางจีนเริ่มเก็บภาษีในอัตรา 5-10% สำหรับสินค้ามูลค่า 60,000 ล้านดอลลาร์เท่านั้น ซึ่งคาดว่าสงครามการค้าในครั้งนี้คงจะไม่หยุดง่ายๆ แจ็ค หม่า เจ้าของกิจการอีคอมเมิร์ซระดับโลกที่มีชื่อว่า “อาลีบาบา” คาดการณ์ว่า สงครามการค้าครั้งนี้อาจจะยาวนานไปถึง 20 ปีก็เป็นได้
ไม่ว่าสงครามการค้าครั้งนี้จะยาวนานขนาดไหนก็ตาม ก็จะมีทั้งผู้เสียประโยชน์และผู้ได้ประโยชน์เกิดขึ้นเป็นเงาตามตัวไปทุกครั้ง ผมจึงอยากพาคุณผู้อ่านไปดูกันก่อนว่า ควรหลีกเลี่ยงและควรลงทุนในสินทรัพย์ประเภทใด ซึ่งได้รับผลกระทบทั้งทางด้านบวกและลบจากงานนี้ โดยในวันนี้...ผมจะขอพาคุณผู้อ่านไปดูกันก่อนว่าควรหลีกเลี่ยงการลงทุนประเภทใดบ้าง ดังนี้ครับ

- วอลมาร์ท ห้างค้าปลีกยักษ์ใหญ่ของสหรัฐอเมริกา บริษัทแห่งนี้ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าโดยตรง วอลมาร์ทได้ยื่นเรื่องเพื่อให้รายการสินค้าบางชนิดไม่อยู่ในหมวดที่ต้องขึ้นภาษี เช่น เฟอร์นิเจอร์ ไฟคริสต์มาส อาหารสุนัข กระเป๋าเดินทาง กระเป๋าถือ เครื่องดูดฝุ่น เป็นต้น แต่ในที่สุดก็ไม่ได้รับการตอบสนอง สินค้าข้างต้นต้องถูกเก็บภาษีอย่างมิอาจหลีกเลี่ยงได้ สหพันธ์ค้าปลีกแห่งสหรัฐอเมริกาได้ออกมาประเมินว่า ภาษี 25% ที่จะเก็บสินค้าประเภทเฟอร์นิเจอร์ ก็จะทำให้คนอเมริกันต้องจ่ายเงินเพิ่มขึ้นปีละ 4,500 ล้านดอลลาร์ ขณะที่สินค้าประเภทกระเป๋าเดินทางและกระเป๋าถือจะทำให้ผู้บริโภคจ่ายเงินเพิ่มขึ้น 1,200 ล้านดอลลาร์ ส่วนเครื่องซักผ้าซึ่งโดนภาษีเพิ่มขึ้นในอัตรา 20% ตั้งแต่ต้นปีมาแล้ว ทุกวันนี้ราคาเครื่องซักผ้าโดยเฉลี่ยก็ได้ขึ้นไปเกือบ 20% แล้วเช่นกัน สำหรับวอลมาร์ทที่มียอดขายประมาณ 10% ของปริมาณสินค้าค้าปลีกทั้งหมดของอเมริกา โดยมียอดขายประมาณ 500,000 ล้านดอลลาร์ พบว่าสินค้ามูลค่าประมาณ 50,000 ล้านดอลลาร์นำเข้ามาจากจีน หรือมาจากธุรกิจของตนที่เข้าไปลงทุนในประเทศจีน

- แอปเปิ้ล บริษัทแอปเปิ้ลมีสินค้าที่เป็นที่ต้องการสูงในตลาดเมืองจีน ไม่ว่าจะเป็นไอโฟน ไอแพด คอมพิวเตอร์ตระกูลแมค เป็นต้น คาดการณ์กันว่า รายได้ทั้งหมดของบริษัทจำนวน 144,000 ล้านดอลลาร์นั้น มียอดขายจากต่างประเทศคิดเป็น 62% ของยอดขายทั้งหมดของบริษัท และในยอดขายต่างประเทศทั้งหมดนั้น 30% มาจากจีน ปัญหาของแอปเปิ้ลไม่ใช่แค่เรื่องยอดขายเท่านั้น แต่ยังคำนึงถึงปัญหาเรื่อง “ห่วงโซ่อุปทาน” หรือ Supply Chain ด้วย เพราะแอปเปิ้ลใช้ชิ้นส่วนจากต่างประเทศเป็นจำนวนมากโดยเฉพาะจากหลายๆประเทศในเอเชียและจีน ดังนั้นหากสงครามการค้ายืดเยื้อและขยายวงไปกว้างมากกว่านี้ คงจะต้องกระทบสายการผลิตสินค้าของแอปเปิ้ลเป็นแน่ ซึ่งคงจะทำให้ต้นทุนสูงขึ้นอย่างมิอาจหลีกเลี่ยงได้ ยอดขายของแอปเปิ้ลลดลงไปบ้างแล้ว ในขณะที่ปี 2560 ที่ผ่านมา ยอดขายของแอปเปิ้ลเพิ่มขึ้นมาถึง 46% ทีเดียว

- ฟอร์ด มอเตอร์ ในปี 2560 ยอดขายฟอร์ดจากต่างประเทศมีมูลค่า 63,000 ล้านดอลลาร์ คิดเป็นตกลงมา 17% ยอดขายรถยนต์ฟอร์ดในย่านเอเชียแปซิฟิกมีมูลค่าไม่สูงมากนักโดยคิดเป็นประมาณ 10% ของยอดขายทั้งหมด ดูจากภาพนี้อาจจะเห็นว่า ฟอร์ดคงไม่ได้รับผลกระทบมากนักจากงานนี้ แต่ความเป็นจริงพบว่า มีรถยนต์ฟอร์ดบางรุ่นที่ประกอบในประเทศจีนนั่นคือ ฟอร์ด โฟกัส ซึ่งแน่นอนว่าจะต้องเผชิญกับกำแพงภาษีนำเข้าสูงถึง 25% ตามนโยบายของทรัมป์ ล่าสุด...ฟอร์ดประกาศยกเลิกการนำเข้าและการเปิดตัวรถยนต์ฟอร์ดรุ่นโฟกัสที่ผลิตในจีนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

- โบอิ้ง หนึ่งในบริษัทผู้ผลิตเครื่องบินโดยสารที่ใหญ่ที่สุดในโลก แน่นอนว่า...จีนและหลายประเทศในเอเชียคือตลาดขนาดใหญ่มหึมาของโบอิ้ง ดังนั้นเมื่อจีนโต้ตอบนโยบายภาษีของทรัมป์ ด้วยการประกาศขึ้นภาษีเป็น 25% สำหรับกลุ่มสินค้ามูลค่า 50,000 ล้านดอลลาร์ จึงไม่น่าแปลกใจว่าจะต้องโดนเครื่องบินและชิ้นส่วนต่างๆของเครื่องบินด้วย โบอิ้งเคยคาดการณ์ว่า อีก 20 ปีข้างหน้าจะขายเครื่องบินให้แก่จีนจำนวนไม่ต่ำกว่า 7,200 ลำ มีมูลค่าสูงถึง 1.1 ล้านล้านดอลลาร์ แต่ถ้าสงครามการค้ายืดเยื้อแล้วละก็...มันอาจจะเป็นได้แค่ความฝันเท่านั้น ล่าสุด...พบว่ามีการโยกการสั่งซื้อเกิดขึ้นแล้ว โดยโยกการสั่งซื้อเครื่องบินพาณิชย์ไปซื้อจากบริษัทแอร์บัส...คู่แข่งตัวฉกาจของโบอิ้งนั่นเอง

และนั่นคือ บริษัทที่ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า และอาจจะมีผลกระทบไปยังราคาหุ้นของบริษัทนั้นๆ นั่นยังไม่รวมถึงปัญหาที่เกิดจากห่วงโซ่อุปทานที่จะตามมาอีกมากมาย ผู้บริหารวอลมาร์ทได้ออกมาให้ความเห็นในเรื่องนี้ว่า ตลาดจักรยานของอเมริกาต้องใช้ชิ้นส่วนจากต่างประเทศไม่ต่ำกว่า 40 ชิ้นส่วน ภาษีที่ขึ้นมานี้ก็จะทำให้ราคาขายจักรยานของอเมริกาไม่สามารถแข่งขันได้ ทั้งนี้ทางวอลมาร์ทได้พยายามที่จะซื้อจักรยานจากผู้ผลิตชาวอเมริกัน แต่ก็ไม่มีเพียงพอแก่ความต้องการภายในประเทศ และถึงแม้ว่าภาษีของชิ้นส่วนจักรยานที่มาจากจีนจะถูกเก็บเพิ่มขึ้นเป็น 25% ก็ตาม การซื้อจักรยานจากจีนก็ยังถูกกว่าการซื้อจักรยานที่ผลิตในอเมริกาเองอยู่ดี
สำหรับบริษัทรถยนต์อย่างเยเนอรัล มอเตอร์ และฟอร์ด มอเตอร์นั้น เรื่องการย้ายการสั่งซื้อชิ้นส่วนจากเมืองจีนให้กลับมาซื้อที่อเมริกานั้นยิ่งเป็นเรื่องที่แทบจะเป็นไปไม่ได้ เรื่องของห่วงโซ่อุปทานเป็นเรื่องที่ซับซ้อนมาก มันอาจจะต้องใช้เวลาหลายๆปี ในการที่จะแสวงหาผู้ผลิตชิ้นส่วนที่สามารถผลิตชิ้นส่วนออกมาได้อย่างมีคุณภาพ มีปริมาณเพียงพอ และในราคาที่ต้องการ ดังนั้นการเปลี่ยนการสั่งซื้อชิ้นส่วนต่างๆให้กลับมาซื้อที่อเมริกาแทน ในหลายๆกรณี...จึงแทบเป็นไปไม่ได้เลย
พรุงนี้ เราจะคุยกันต่อในเรื่อง สงครามการค้า: เอาเงินลงทุนไปหลบ...ที่ไหนดี? ตอนจบ แล้วพบกันนะครับ
หาอ่านบทความ และความรู้ด้านการลงทุนของผู้เขียนได้เพิ่มเติมได้ที่ http://www.doctorwe.com
โพสต์โพสต์