แชร์ประสพการณ์ การลงทุนหุ้นญี่ปุ่น

การลงทุนแบบเน้นคุณค่า ลงทุนหุ้น VI เน้นที่ปัจจัยพื้นฐานเป็นหลัก

โพสต์ โพสต์
เสรี โอ
Verified User
โพสต์: 187
ผู้ติดตาม: 0

แชร์ประสพการณ์ การลงทุนหุ้นญี่ปุ่น

โพสต์ที่ 1

โพสต์

ได้อ่านโพสท์ แชร์ประสพการณ์การลงทุนหุ้นอเมริกาของคุณ Billionaire VI แล้ว เกิดความคิดว่าจะมาแชร์ในส่วนที่ไปลงทุนในหุ้นญี่ปุ่นบ้าง เผื่อคนที่กำลังจดๆจ้องๆอยู่

ผมเปิดบัญชีซื้อขายหุ้นต่างประเทศเจาะจงเฉพาะ ญี่ปุ่น ใช้บริการของ บล เอเซีย พลัส จำกัด โดยมี Goldman Sach ทำหน้าที่รับช่วงคำสั่งซื้อขาย อยู่ในตลาดที่ โตเกียว โดยโอนเงินแปลงจาก บาทไทย ไปเป็น เยนญี่ปุ่น โดยตรง ไม่มีค่าธรรมเนียมการโอนเงิน อัตราแลกเปลี่ยน ณ วันที่ โอนไปมา สังเกตุแล้ว เป็นอัตราที่ไม่เสียเปรียบ โดยใช้วิธีโอนก้อนใหญ่ไปฝังเป็นเยนญี่ปุ่นไว้ที่โน่นเลย แล้วซื้อขายเป็นแบบ Cash Balance เงินที่ฝังอยู่ ไม่ได้ดอกเบี้ย

ค่าธรรมเนียม เท่ากับ 0.5% บวก VAT แต่มี Minimum ที่เมื่อคำนวณกลับตามอัตราแลกเปลี่ยนวันนั้นๆมาเป็น บาทไทยแล้วต้อง 3000 บาทขึ้นไปบวก VAT ซึ่งก็คือต้องสั่งซื้อขายครั้งละ 600,000 บาทหรือประมาณ 2,000,000 เยนญี่ปุ่นขึ้นไป จะได้ไม่ต้องถูกบังคับด้วย Minimum

การชำระราคาก็ T+3 เวลาทำการคือ 9:00 ถึง 11:30 ภาคบ่าย 12:30 ถึง 15:00 เวลาท้องถิ่น เทียบเวลาไทยลบไป 2 ชั่วโมง อาทิตย์ละ 5 วัน หยุด เสาร์อาทิตย์ และวันหยุดของตลาดฯ

วันหยุดของตลาดโตเกียว ส่วนใหญ่ไม่ตรงกับวันหยุดของตลาดไทยและของ บริษัทหลักทรัพย์ ฝั่งนี้ จึงมีปัญหาเกิดอยากซื้อหรือขาย ในวันที่ โบรกเกอร์ไทยหยุด ก็ทำไม่ได้ แต่สามารถส่ง order ล่วงหน้าได้ หากอยากซื้อขายในวันที่ Broker ของเราหยุดงาน

ิBoard lot ส่วนใหญ่เป็น 100 หุ้น เคยเห็นหุ้นตัวใหญ่มากๆ ซื้อขายที่ละ 1 หุ้นก็มี แต่น้อยมาก และไม่เคยซื้อ วิธีการสั่งซื้อที่ใช้อยู่ คือ โทรศัพท์สั่งที่ เอเซียพลัส กรุงเทพ การขยับขึ้นลงของราคา ถ้าหุ้นตัวเล็ก ราคาเป็นทศนิยมของ หนึ่งเยน ถ้าตัวใหญ่ก็ขยับทีละหนึ่งเยน แต่ที่มีความพิเศษอยู่อย่างหนึ่งคือ สามารถส่งคำสั่งซื้อหรือขายในลักษณะ Volume Weighted Average Price หรือย่อว่า VWAP โดยการสั่งว่าจะซื้อหรือขายจำนวนหนึ่ง จากจุดเวลาตอนนั้นไปจนตลาดปิด ที่ราคาเฉลี่ยตาม Volume ที่มีการซื้อหรือขายเข้ามา เช่นถ้าเราสั่งซื้อ เวลามีการซื้อประดังเข้ามามาก order ของเราก็จะ execute มากตามนั้น เวลาหุ้นตัวนั้นซื้อขายเอื่อยๆ order ของเราก็จะ execute เอื่อยๆ แต่เมื่อปิดตลาด เราก็จะซื้อได้ครบจำนวนที่สั่ง ราคาก็จะเฉลี่ยตาม volume ที่ execute ณ ราคานั้นๆ เพราะฉะนั้นราคาซื้อโดยรวมต่อหุ้นก็จะออกมามีทศนิยม ระบบนี้ดีตรงที่ บางครั้งเรากะว่าอย่างไรก็จะซื้อหรือขายในวันนี้ให้ครบตามจำนวนที่คิดไว้ ราคาจะเป็นเท่าไร ก็ให้ระบบมันจัดการให้ครบ ราคาที่ได้ก็จะไม่หนีไปจากค่าเฉลี่ยของการซื้อหรือขายในวันนั้นเท่าไรนัก
เสรี โอ
Verified User
โพสต์: 187
ผู้ติดตาม: 0

Re: แชร์ประสพการณ์ การลงทุนหุ้นญี่ปุ่น

โพสต์ที่ 2

โพสต์

มาต่อตอนสองครับ

จะยังไม่พูดถึงเรื่องตัวหุ้น แต่จะพูดถึง ข้อสังเกตุต่อระบบ ทีเป็นเนื้อหาของตอนที่แล้ว

เรื่องแปลงเงิน ตอนเริ่มต้นผมถาม บล เมย์แบ๊งค์กิมเอ็ง เขาบอกว่า เขาใช้เงินสิงคโปร์ดอลล่าเป็นตัวเชื่อมไปหา สกุลเงินที่จะเป็นของตลาดที่เราต้องการ ก็คือถ้าจะไปตลาดโตเกียว เราต้องแปลงเป็น สิงคโปร์ดอลล่า ก่อน แล้วจึงแปลงไปเป็น เยนญี่ปุ่น อย่างนี้ทั้งไปและกลับ คือเราต้องเสียส่วนต่างอัตราแลกเปลี่ยน 2 ครั้ง ทั้งไปและกลับ ผมจึงเลือก เอเซียพลัส ที่แปลงรอบเดียว ไปถึงปลายทาง

เรื่องการเอาเงินไปกองไว้เป็น เยนญี่ปุ่น แล้วซื้อขายเป็นแบบ Cash Balance เงินที่ว่างอยู่ ไม่ได้ดอกเบี้ย ซึ่งก็มีลูกค้าบางคน ใช้วิธี กองไว้ที่เอเซีย พลัส เป็น บาทไทย แล้วได้ดอกเบี้ย เมื่อซื้อครั้งหนึ่งก็ โอนบาทเป็น เยน ชำระราคากัน ที่ T+3 ครั้งหนึ่ง ขายก็เช่นกัน แบบนี้ก็จะต้องมาคอยดูอัตราแลกเปลี่ยนกันทุกครั้งไป ไม่ว่า ซื้อหรือขาย ซึ่งอัตราแลกเปลี่ยน บาท ต่อ เยนญี่ปุ่น ในช่วงหลังนี้ ผันผวนค่อนข้างมาก

เรื่องการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน ที่จะเกิดขึ้นยามที่เราจะนำเงินกลับมา ทางเอเซียพลัสก็เคย แนะนำเรื่องนี้ แต่ทางเราคิดว่า เราส่งเงินไปตอนนั้น เป็นก้นเหวของอัตรา เยนต่อดอลล่าห์ อเมริกาแล้ว คือประมาณ 110-120 เยนต่อหนึ่งดอลล่า สรอ ก็เหมือนเราไปซื้อเงินเยนไว้ที่ราคาต่ำสุดๆแล้ว และแผนการลงทุน ยาวประมาณ 5 ปี เลยไม่ได้ทำHedging ไว้เลย ก็ไม่รู้ว่าคิดผิดหรือถูก

เรื่องค่าธรรมเนียม ระยะต่อมาจากตอนเริ่มต้น ก็ได้ลองถามเรื่องนี้กับ Broker เบอร์อื่นๆ ก็ได้ราคาและวิธีคิดที่ต่างๆออกไป บางครั้งมี ค่าธรรมเนียมการโอนเงิน Transaction ละเท่านั้นเท่านี้ ค่าโน่นนี่ ยุ่งเหยิง วกวน สุดท้ายก็เลยยังใช้เจ้าเดิม เพราะไม่ได้ซื้อขายบ่อยนัก

เรื่องเวลาทำการ ตลาดญี่ปุ่นเปิด ตรงกับเมืองไทย 7 โมงเช้า บ่ายโมงก็ปิดละ ตอนเปิดตลาดจะซื้อขายก็ไม่ได้ เพราะ เอเซียพลัส ยังไม่มีใครมาทำงาน จะสั่งไว้ล่วงหน้า ตั้งแต่วันก่อน ก็อาจเสียประโยชน์ วันหยุดตลาดเขา ที่ไม่ตรงกับวันหยุดตลาดไทย บางครั้งต้องดูว่า order วันนี้ T+3 ไปตรงวันหยุดนักขัตฤกษ์ของไทย ชำระราคาไม่ได้ ก็ order ไม่ได้

เรื่อง Board Lot 100 หุ้น ไปเจอหุ้นตัวใหญ่มากๆ ไม่ต้องอื่นไกล Fast Retailing เจ้าของเสื้อผ้า Uniqlo ราคาเช้านี้ 49,200 เยน ซื้อ 100 หุ้น ก็ 4,920,000 เยน หรือประมาณ 1,476,000 บาท ใช้เงินมากอักโขอยู่ ต่อการตัดสินใจแต่ละครั้ง
Suphat
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 473
ผู้ติดตาม: 0

Re: แชร์ประสพการณ์ การลงทุนหุ้นญี่ปุ่น

โพสต์ที่ 3

โพสต์

ขอบคุณมากเลยครับ อยากรู้เกี่ยวกับหุ้นญี่ปุ่นมานานแล้วครับ :D
เสรี โอ
Verified User
โพสต์: 187
ผู้ติดตาม: 0

Re: แชร์ประสพการณ์ การลงทุนหุ้นญี่ปุ่น

โพสต์ที่ 4

โพสต์

ต่อตอนที่ สาม ครับ

ตอนนี้ก็ได้เวลา เริ่มเทรดละ Capital Gain ไม่เสียภาษีที่ญี่ปุ่น แต่ ปันผลเสียภาษีประมาณ 15% นำเงินกลับมาทั้งเงินต้นและกำไร เท่าที่ผ่านมาไม่เสียภาษีที่ไทย (ตรงนี้ ถ้าเงินเยอะๆ ไม่รู้ว่าเป็นอย่างไรเหมือนกัน)

ปีบัญชีของหุ้นญี่ปุ่นเกือบทั้งหมดเป็น 1 เมษายน ถึง 31 มีนาคมของปีนั้นๆ

ที่ดีมากอย่างหนึ่งคือ ปิดสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นเพื่อรับปันผล เป็นอัตโนมัติว่า ปิดตอนสิ้นไตรมาสที่จะมีการจ่ายปันผล ใครถือข้ามไตรมาสก็ได้ปันผลเลย โดยไม่ต้องไปลุ้นว่า บริษัทจะเลื่อนไปมาตามการปิดสมุดเพื่อประชุมผู้ถือหุ้น แบบวัน XD ของตลาดไทย แค่นี้ไม่พอ บ่อยครั้งที่หลายๆบริษัท ประกาศล่วงหน้าเป็นปีเลยว่า ปีที่จะถึงนี้จะมีปันผลระหว่างกาลหรือไม่และเท่าไร ปลายปีจะจ่ายอีกกี่เยน ชัดเจน และมักจะทำได้ตามนั้น แม้นบางครั้งจะสามารถจ่ายได้มากขึ้นเขาก็จะประกาศล่วงหน้าให้ได้รู้กัน

หุ้นญี่ปุ่นใช้ตัวเลข 4 หลักแทนชื่อหุ้นในการสื่อสารกับระบบตลาด ยกตัวอย่างเช่น Toyota Motor Corp เป็น 7203 Sony Corp ใช้ 6758 ทีนี้การติดตามราคามีหลายช่องทาง มีหลาย website ให้ข้อมูลราคาซื้อขาย แต่เกือบทั้งหมด ไม่ Realtime ใช่แล้วครับ ไม่ Realtime จะช้าไป 20 นาที ยกเว้น อันหนึ่งที่ค้นเจอคือ Yahoo Japan แต่เป็นภาษาญี่ปุ่น ต้องเดาๆเอา แต่ก็ใช้ตามได้ดี ส่วนตัวใช้ประกอบกับ Google Finance ที่ครอบคลุมข้อมูลไปถึง ตัวเลขทางด้านพื้นฐานของหุ้นด้วย
เสรี โอ
Verified User
โพสต์: 187
ผู้ติดตาม: 0

Re: แชร์ประสพการณ์ การลงทุนหุ้นญี่ปุ่น

โพสต์ที่ 5

โพสต์

ตอนที่สี่

ตลาดหุ้นญี่ปุ่นมี First Section คล้าย SET บ้านเรา Second Section คุณภาพตัวหุ้นด้อยลงนิดหน่อย แล้วก็ Mothers น่าจะคล้าย MAI บ้านเรา ดูเขาตั้งชื่อคล้ายกับ หุ้นยังแบเบาะ ยังต้องการ Mothers อยู่ แล้วก็ JASDAQ Standard กับ JASDAQ Growth หุ้น BIG Name ทั้งหลายอยู่ใน First Section

กลุ่มอุตสาหกรรม มีความหลากหลายมาก พวก Big Name ทั้งหลายคงรู้จักกันดีอยู่แล้ว รถยนต์ ยา สายการบิน เครื่องใช้ไฟฟ้า โทรคมนาคม ก่อสร้าง อสังหาริมทรัพย์ รับสร้างบ้าน ฯลฯ ถ้าคุ้ยลึกๆจะเจอกิจการแปลกๆ หมายถึงแปลกที่เข้าตลาดหลักทรัพย์ เช่น บริษัท รับจัดการงานศพ รับจัดงานแต่งงาน รับจัดหาและบริการเรื่องที่จอดรถ รับจัดหาและบริหารบุคลากรที่มีความชำนาญเฉพาะด้าน รับจัดทำงานวิจัยยาในอาสาสมัคร ฯลฯ

บริษัทส่วนใหญ่ มีหน้าเวปไซต์ส่วนที่เป็น Investor Relationที่เป็นภาษาอังกฤษ มีข้อมูลครบทั้งรายงานประจำปี รายงานงบรายไตรมาส และอื่นๆ และหลายแห่งกล้าออกรายงาน Outlook และคาดการณ์ รายได้ กำไร ปันผล ไปข้างหน้าด้วย

ธรรมาธิบาลของฝ่ายบริหารพอใช้ได้ ดังนั้นวันงบออก มีบ่อยมากที่หุ้นขึ้นลงตามผลประกอบการกันเป็น 10% หรือหลังวันประชุมร่วมกับนักวิเคราะห์ หุ้นก็ swing ได้มากๆ เช่นเดียวกัน
เสรี โอ
Verified User
โพสต์: 187
ผู้ติดตาม: 0

Re: แชร์ประสพการณ์ การลงทุนหุ้นญี่ปุ่น

โพสต์ที่ 6

โพสต์

ตอนที่ห้า ว่าด้วย Nikkei Index
ดัชนีตลาดหุ้นโตเกียวที่เราคุ้นชื่อกันก็คือ Nikkei Index ซึ่งจริงๆแล้ว เรียกเต็มๆว่า Nikkei 225 เพราะมีหุ้นถูกนำมาใช้คำนวณ 225 ตัวจากกลุ่มอุตสาหกรรมหลากหลาย เช่น Foods เช่น Ajinomoto, Japan Tobacco, Kirin Brewery กลุ่ม Automobiles ได้แก่บริษัทรถยนต์ญี่ปุ่นทุกยี่ห้อที่เราคิดชื่อออกเช่น Toyota, Nissan, Honda, Isuzu Precision instruments เช่น Citizen Holdings, Nikon, Olympus กลุ่มการค้า เช่น Itochu, Marubeni กลุ่มRetails เช่น Fast Retailing (Uniqlo), Seven & I Holdings (บริษัทแม่ของ 7-11ทั้งโลก) กลุ่ม Land Transport เช่น Yamato Holdings (แมวดำ) กลุ่ม Electric Machinery เช่น Cannon, Casio, Hitachi, Sony กลุ่มยางรถยนต์ เช่น Bridgestone, Yokohama กลุ่มธนาคารและหลักทรัพย์ กลุ่มประกัน กลุ่มรถไฟ กลุ่มสายการบิน กลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก และอื่นๆอีกหลากหลายกลุ่มอุตสาหกรรม สามารถเข้าไปดูรายละเอียดได้ที่ https://indexes.nikkei.co.jp/en/nkave/i ... ?idx=nk225
เสรี โอ
Verified User
โพสต์: 187
ผู้ติดตาม: 0

Re: แชร์ประสพการณ์ การลงทุนหุ้นญี่ปุ่น

โพสต์ที่ 7

โพสต์

Nikkei 225 ไม่ใช่ดัชนีที่จัดทำโดยตลาดหุ้นโตเกียว แต่ออกโดยหนังสือพิมพ์ชื่อ Nihon Keizai Shinbun หรือ The Nikkei เขาออกตัวดัชนีนี้มาตั้งแต่ปีคศ. 1950 และก็ได้รับความนิยม เรียกขานและใช้ให้เป็นสิ่งแสดงถึงสภาวะโดยรวมของตลาดหุ้นโตเกียวและเศรษฐกิจญี่ปุ่นมาตลอด เพราะโดยรวมแล้วหุ้น 225 ตัวนี้ กินพื้นที่ 60-70% ของ Market Cap, Trading Volume, Sale/Revenue ของหุ้นทั้งหมดประมาณ 1,700 ตัวของ First Section โดยที่หุ้น 225 ตัวคัดมาจาก First Section เท่านั้นโดยคำนึงถึง สภาพคล่องของการซื้อขาย และคัดให้สมดุลตามน้ำหนักของกลุ่มอุตสาหกรรมสำคัญของญี่ปุ่นด้วย โดยจะเห็นนอกจากกลุ่มอุตสาหกรรม Big Name ที่เรามักคุ้นกันอย่างดี ก็จะยังมีหุ้นบริษัททำการประมง หุ้นสิ่งทอ หุ้นอุตสาหกรรมแก้ว หุ้นอุตสาหกรรมผลิตและวิจัยยารักษาโรค เข้ามาคำนวณด้วย ทั้งนี้มีการพิจารณาและปรับหุ้นออกและเข้าปีละครั้งตอนต้นเดือนตุลาคม ณ วันนี้ หุ้นที่มีน้ำหนักต่อดัชนีสูงสุดตัวแรกคือ Fast Retailling เจ้าของ Brand เสื้อผ้า Uniqlo ที่ถ้าไม่รู้จักจะต้องถูกถามว่าไปอยู่ไหนมา มีน้ำหนัก 8.54% รองลงมาคือ Softbank Group ของ Masayoshi Son ซึ่งเป็นตำนานนักล่าดินแดนแห่งวงการ IT และการลงทุน กินน้ำหนักเกือบ 5%
แนบไฟล์
Nikkei 225 top weighted component.PNG

เสรี โอ
Verified User
โพสต์: 187
ผู้ติดตาม: 0

Re: แชร์ประสพการณ์ การลงทุนหุ้นญี่ปุ่น

โพสต์ที่ 8

โพสต์

Nikkei 225 ขึ้นไปสูงสุดที่ 38,957.44 จุด เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 1989 ช่วงที่ “ฟองสบู่สินทรัพย์” ของญี่ปุ่นกำลังโป่งพองเต็มที่ หลังฟองสบู่แตกก็ลงมาต่ำสุดที่ 7,054.98 จุด เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2009 ลงมา 82% จากจุดสูงสุดในเวลา 20 ปี

Nikkei 225 เป็นดัชนีตลาดหุ้นที่ผันผวนรุนแรงมากที่สุดดัชนีหนึ่งของตลาดหุ้นที่พัฒนาแล้ว หลังจุดต่ำสุดในปี 2009 ขณะกำลังฟื้นตัวขึ้นไปสู่หลัก 10,000จุดนั้น ในวันที่15 มีนาคม 2011 ที่เกิดแผ่นดินไหวและคลื่นยักษ์ซึนามิที่ชายฝั่ง ตะวันออกเฉียงเหนือ ของประเทศญี่ปุ่น ดัชนี Nikkei 225 ตกไป 10.55% ลงไปที่ 8605.15 จุด ภายในวันเดียว หลังจากนั้นมาตลาดหุ้นโตเกียวและดัชนีหุ่น Nikkei 225 ก็ค่อยๆฟื้นขึ้นมา และขึ้นไปสูงสุดที่ 24,124.15จุดเมื่อวันที่ 23 มกราคม 2018 แต่ก็ยังผันผวน ขึ้นลงแรงๆวันละ 2-5% ได้บ่อยๆ

แสดงระยะ 10 ปีย้อนหลัง
Nikkei 225_10 yrs.PNG


แสดงระยะ 5 ปีย้อนหลัง
Nikkei 225_5 yrs.PNG
แสดงระยะ 1 ปี ย้อนหลัง
Nikkei 225_1 yrs.PNG
เสรี โอ
Verified User
โพสต์: 187
ผู้ติดตาม: 0

Re: แชร์ประสพการณ์ การลงทุนหุ้นญี่ปุ่น

โพสต์ที่ 9

โพสต์

แสดงให้เห็นว่า ราคาของตัวหุ้นที่ประกอบขึ้นมาเป็นดัชนี Nikkei 225 ก็มีความผันผวนรุนแรงได้ ตามปัจจัยแวดล้อมทางธุรกิจทั้ง Domestic และ International ตามผลประกอบการที่มักจะต้อง Console งบบริษัทลูกที่ไปอยู่แทบจะทุกมุมโลก ตามอัตราแลกเปลี่ยน US$ vs JPYen ณ วันสิ้นงวด ที่จะมีผลต่อ Bottomline ที่แสดงค่าเป็น JPYen ตามธรรมาภิบาลของผู้บริหารซึ่ง ส่วนใหญ่ ยึดถือความซื่อสัตย์จงรักภักดีต่อองค์กร หลีกเลี่ยงผลประโยชน์จากเรื่อง Insider ดังนั้นเมื่อเวลาที่มีเหตุของการเปลี่ยนแปลงที่ชัดแจ้งต่อปัจจัยพื้นฐานของหุ้น เผยแพร่ต่อสาธารณชน ก็จะเกิดความผันผวนของราคาได้แรงๆ

คุณลักษณะของราคาหุ้นและตลาดหุ้นญี่ปุ่นตรงนี้ ทำให้มองได้ว่า เป็นทีที่นักลงทุนซึ่งมองระยะกลางค่อนมาทางสั้น ลงทุนเป็นระยะไตรมาส ถึง ปี สามารถจะได้ผลตอบแทนได้พอสมควร โดยที่มีหุ้นตัวเลือกมากมาย ที่เป็นที่รู้จักรอบตัวเรา ที่สามารถศึกษาให้เข้าใจธุรกิจ ที่มีการเปิดเผยข้อมูลพื้นฐานอย่างเป็นระบบ ที่มีธรรมาภิบาลพอควร ให้ติดตามได้ไม่ยากนัก
เสรี โอ
Verified User
โพสต์: 187
ผู้ติดตาม: 0

Re: แชร์ประสพการณ์ การลงทุนหุ้นญี่ปุ่น

โพสต์ที่ 10

โพสต์

ตอนที่ หก ว่าด้วยดัชนี TOPIX
Tokyo Stock Price Index หรือ TOPIX คือดัชนีราคาหุ้นที่จัดทำและเผยแพร่โดยตลาดหุ้นโตเกียว คำนวณขึ้นจากราคาหุ้นทั้งหมดที่อยู่ใน First Section 2000 กว่าตัว เมื่อตอนเริ่มต้น ดัชนีTOPIXให้น้ำหนักของหุ้นแต่ละตัวด้วย Market Capitalization ตรงๆของหุ้นตัวนั้นๆซึ่งก็คือราคาหุ้นคูณด้วยจำนวนหุ้นทั้งหมดที่แต่ละบริษัทเรียกชำระแล้ว แต่หลังจากปี คศ 2005-2006 ได้เปลี่ยนการให้น้ำหนักเป็นราคาคูณด้วยจำนวนหุ้นเฉพาะที่เป็น Free Float ที่ซื้อขายกันได้จริง เพราะคำนึงถึงว่าบริษัทใหญ่ๆของญี่ปุ่นมักจะมีหุ้นที่ถือครองโดย พันธมิตรทางธุรกิจ เช่น คู่ค้าหรือ ผู้ประกอบการอื่นๆที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานของบริษัท ที่มักจะถือหุ้นไว้ตลอดไปเพื่อรักษาสายสัมพันธ์ หรือแม้แต่ หุ้นที่ถือไขว้โดยบริษัท ที่เกี่ยวโยงกัน วิธีการคำนวณอย่างหลังนี้ ช่วยให้น้ำหนักที่หุ้นแต่ละตัวมีอิทธิพลต่อดัชนี สะท้อนความจริงของการที่ดัชนี จะเป็นตัววัดสุขภาพของตลาดได้ดีมากขึ้นกว่าเดิม ดังนั้นลำดับของตัวหุ้นที่ถ่วงน้ำหนักต่อ TOPIX จึงไม่ได้ล้อไปกับลำดับขนาดของ Market Capitalization
TOPIX เริ่มต้นที่ 100 จุด ตอนต้นปีคศ.1968 เคยขึ้นไปสูงสุดที่ 2884.80จุด ในระหว่างปีคศ.1989 แต่หลัง “ฟองสบู่สินทรัพย์” ยุบตัวลง TOPIX ก็ลงไปต่ำสุดที่ 700.93จุด ในระหว่างปีคศ.2009 แล้วค่อยๆปรับตัวขึ้นมาเรื่อยๆจนถึงปีปัจจุบัน TOPIX ป้วนเปี้ยนอยู่ระหว่าง 1,600 ถึง 1,900 จุด

ภาพรวมของ TOPIX ระยะ 5 ปีย้อนหลัง
Topix 5 yrs.png
ภาพรวม TOPIX ระยะ 1 ปีย้อนหลัง
Topix 1 yr.png
เราจะพบว่าดัชนีสองตัว คือ Nikkei 255 กับ TOPIX จะเคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกัน แต่อาจเพี้ยนไปจากกันบ้างตามสิ่งแวดล้อมของการลงทุน
ภาพรวมเปรียบเทียบของทั้งสองดัชนีย้อนหลัง 5 ปี
Nikkei vs Topix.PNG
ย้ำอีกครั้งว่า หุ้น 225 ตัวที่เป็นองค์ประกอบของ Nikkei 225 ครองส่วนแบ่ง 60-70% ในแง่ของ Market Cap, Trading Volume และ Sale/Revenue ของหุ้น2000 กว่าตัวที่เป็นองค์ประกอบของ ดัชนี TOPIX และในระยะ 5 ปีที่เห็นนี้ หุ้นที่อยู่ใน NIKKEI 225 มี performance ในแง่ราคาหุ้นดีกว่าพวกที่ไม่ได้อยู่ใน 225 ตัวอย่างเห็นได้ชัด เพราะถ้าถอดเอา 225ตัวของ Nikkei225 ออกจาก TOPIX ทั้งหมด เส้นแสดงดัชนีจะต้องถ่างกว้างออกจากกันกว่านี้

ขอแถมข้อมูล สถิติของตลาดโตเกียวโดยรวมดังนี้
-Market cap ของหุ้น 225 ตัวที่เป็นองค์ประกอบของ Nikkei 225 ณ สิ้นเดือนกรกฎาคม 2018 เท่ากับ 389 ล้านล้านเยน First Section หรือ ทั้งหมดของ TOPIX เท่ากับ 651 ล้านล้านเยน และทั้งตลาดรวมทุก Sections เท่ากับ 677 ล้านล้านเยน

-Price/Earning เฉลี่ยของหุ้น 225 ตัวที่เป็นองค์ประกอบของ Nikkei 225 ณ สิ้นเดือนกรกฎาคม 2018 เท่ากับ 13.49 เท่า หากคำนวณเฉลี่ยและถ่วงน้ำหนักตาม Market Cap ธรรมดา และจะเท่ากับ 17.57 เท่า หากคำนวณเฉลี่ยและถ่วงตามน้ำหนักของหุ้นแต่ละตัวที่มีต่อการคำนวณดัชนีNikkei225 ส่วน First Section ทั้งหมดเท่ากับ 18.0 เท่าหากเฉลี่ยแบบตรงๆ และเท่ากับ 15.3 เท่าหากเฉลี่ยแบบเอา Market Cap มาถ่วงน้ำหนัก

-Price/Book เฉลี่ยของหุ้น 225 ตัวที่เป็นองค์ประกอบของ Nikkei 225 ณ สิ้นเดือนกรกฎาคม 2018 เท่ากับ 1.23 เท่า หากคำนวณเฉลี่ยและถ่วงน้ำหนักตาม Market Cap ธรรมดา และจะเท่ากับ 1.80 เท่า หากคำนวณเฉลี่ยและถ่วงตาม
น้ำหนักของหุ้นแต่ละตัวที่มีต่อการคำนวณดัชนีNikkei225 ส่วน First Section ทั้งหมดเท่ากับ 1.30 เท่าเท่ากัน โดยการคำนาณทั้งสองวิธี

-Dividend Yield เฉลี่ยของหุ้น 225 ตัวที่เป็นองค์ประกอบของ Nikkei 225 ณ สิ้นเดือนกรกฎาคม 2018 เท่ากับ 1.90% ส่วน First Section ทั้งหมดเท่ากับ 1.66%
เสรี โอ
Verified User
โพสต์: 187
ผู้ติดตาม: 0

Re: แชร์ประสพการณ์ การลงทุนหุ้นญี่ปุ่น

โพสต์ที่ 11

โพสต์

ขอแก้ไขและเพิ่มเติม ข้อมูลบางอย่างสำหรับตอนที่ผ่านๆมาครับ
-บริษัทหลักทรัพย์ซึ่งเป็นสมาชิกอยู่ในตลาดโตเกียวที่เป็นผู้รับช่วงและจัดทำคำสั่งซื้อขายหุ้นจากบริษัทหลักทรัพย์ เอเซียพลัส ของไทย คือ J.P.Morgan Securities Japan (ผมจำและระบุผิดไปเป็น Goldman Sachs Japan)
-จำนวนหุ้นที่อยู่ใน First Section ของตลาดหุ้นโตเกียวมีจำนวน 2,105 ตัว ณ สิ้นเดือนกรกฎาคม 2018
-Mothers ซึ่งเป็นตลาดย่อยที่เป็นส่วนหนึ่งของตลาดหุ้นโตเกียว มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า Market of the high-growth and emerging stocks
เสรี โอ
Verified User
โพสต์: 187
ผู้ติดตาม: 0

Re: แชร์ประสพการณ์ การลงทุนหุ้นญี่ปุ่น

โพสต์ที่ 12

โพสต์

ื่ท่านที่สนใจ เรื่องราวของกระทู้นี้ โปรดติดตามต่อได้ที่ กระทู้ -ภาคต่อ แบ่งปันประสบการณ์ลงทุนหุ้นตลาดญี่ปุ่น ครับ
โพสต์โพสต์