โพสต์ทูเดย์: เก็บภาษีเงินดิจิทัล ประเทศได้หรือเสีย? ตอนที 1

การลงทุนแบบเน้นคุณค่า ลงทุนหุ้น VI เน้นที่ปัจจัยพื้นฐานเป็นหลัก

โพสต์ โพสต์
doctorwe
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 152
ผู้ติดตาม: 0

โพสต์ทูเดย์: เก็บภาษีเงินดิจิทัล ประเทศได้หรือเสีย? ตอนที 1

โพสต์ที่ 1

โพสต์

tax.jpg
คอลัมน์: หุ้นส่วนประเทศไทย
หนังสือพิมพ์ โพสต์ทูเดย์
เก็บภาษีเงินดิจิทัล ประเทศ...ได้หรือเสีย? ตอนที่ 1
ดร.วีรพงษ์ ชุติภัทร์
วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต
http://www.CsiSociety.com
Add Line: @CsiSociety

คุณผู้อ่านคงทราบกันดีแล้วว่า เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2561 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบหลักการร่างพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ โดยให้เก็บภาษีจากทรัพย์สินดิจิทัลซึ่งครอบคลุมถึงเงินส่วนแบ่งของกำไรหรือผลประโยชน์อื่นใดที่ได้จากทรัพย์สินดิจิทัล และผลประโยชน์ที่ได้รับจากการโอนทรัพย์สินดิจิทัลเฉพาะส่วนซึ่งตีราคาเป็นเงินได้เกินกว่าที่ลงทุน โดยหัก ณ ที่จ่ายคิดในอัตรา 15% ของผลกำไรหรือส่วนต่างกำไรจากการซื้อขาย (แคปปิตอลเกน) โดยเสียภาษีไปก่อน และเมื่อถึงเวลาปลายปีให้นำมาคำนวณรวมเป็นรายได้เพื่อยื่นชำระภาษี ถ้ารายได้ถึงเกณฑ์ก็ต้องเสียภาษี ถ้าไม่ถึงเกณฑ์ก็ไม่ต้องเสียภาษี
อาจกล่าวได้ว่า ประเทศไทยเป็นประเทศอันดับต้นๆของโลก ที่จะเริ่มมีการเก็บภาษีเงินสกุลดิจิทัลอย่างจริงจัง ซึ่งผมเองก็ไม่แน่ใจว่า ประเทศไทยจะได้หรือจะเสียมากกว่ากันครับ ผมจึงอยากพาคุณผู้อ่านไปดูประเทศอื่นๆกันก่อนว่า เขาทำกันอย่างไร? และแนวโน้มจะประสบความสำเร็จหรือล้มเหลวกันอย่างไร? ดังนี้ครับ
หนึ่ง ประเทศอื่นๆ เขาเก็บภาษีเงินสกุลดิจิทัลกันอย่างไร?

จีน เป็นประเทศที่เกลียดเงินสกุลดิจิทัลมากที่สุดในโลก เพราะกันยายน 2560 จีนปิดการระดมทุนของเงินสกุลดิจิทัลใหม่ๆ (Initial Coin Offering – ICO) ทั้งหมด ตามมาด้วยการปิดบริษัทรับแลกเปลี่ยนเงินสกุลดิจิทัลทั้งประเทศ และท้ายสุด...กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา จีนประกาศห้ามการโฆษณาประชาสัมพันธ์เงินสกุลดิจิทัลที่ผ่านสื่อออนไลน์และทุกสื่อทั่วทั้งประเทศ ทุกวันนี้ แม้ว่าในประเทศจีนจะไม่มีการซื้อขายแลกเปลี่ยนเงินสกุลดิจิทัลกันเลย แต่คนจีนก็ยังสามารถซื้อขายเงินสกุลดิจิทัลผ่านเว็บไซต์ในต่างประเทศได้อยู่ดี และผมก็ยังเชื่อลึกๆว่า ปริมาณการซื้อขายเงินสกุลดิจิทัลที่มากที่สุดในโลก ยังคงมาจาก...นักลงทุนชาวจีนอยู่ดี ดังนั้นประเทศจีนจึงไม่มีกฎหมายที่เกี่ยวกับการเก็บภาษีเงินสกุลดิจิทัล เพราะธุรกรรมต่างๆถูกสั่งห้าม

ญี่ปุ่น ได้ประกาศเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2560 ให้ “บิทคอยน์” เป็นเงินสกุลดิจิทัลที่สามารถชำระสินค้าได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย และทำให้ปริมาณการซื้อขายเงินสกุลดิจิทัลของญี่ปุ่นติดอันดับโลกมาโดยตลอด เช่นเดียวกัน ญี่ปุ่นก็เป็นประเทศแรกๆในโลกที่ออกกฎหมายเก็บภาษีส่วนต่างกำไรจากการค้าเงินสกุลดิจิทัล โดยกำหนดให้ส่วนต่างกำไรที่มูลค่าสูงกว่า 200,000 เยนจะต้องเสียภาษีบุคคลธรรมดา ซึ่งจะต้องเสียภาษีอยู่ในช่วง 5% – 45% นอกจากนั้นยังต้องเสียภาษีท้องถิ่นอีก 10% นั่นหมายถึง การเสียภาษีสูงที่สุดจะอยู่ในอัตราสูงถึง 55% ทีเดียว แต่หากถือเงินสกุลดิจิทัลไว้เฉยๆ หรือเทรดแล้วไม่มีกำไรก็ไม่ต้องเสียภาษี ส่วนภาษีมูลค่าเพิ่มก็มีการบังคับใช้ในช่วงแรก แต่ในที่สุดก็ได้มีการยกเลิกไป

สหรัฐอเมริกา เริ่มออกกฎหมายการเก็บภาษีเงินสกุลดิจิทัลมาตั้งแต่ปี 2557 โดยกรมสรรพากรของสหรัฐอเมริกาให้ถือว่า เงินสกุลดิจิทัลเป็นทรัพย์สินอย่างหนึ่ง แต่เนื่องจากสหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่มีความชำนาญในการเก็บภาษีจากส่วนต่างกำไรจากการค้าทรัพย์สินอยู่แล้ว เช่น การซื้อขายบ้านในสหรัฐอเมริกา ก็มีการบันทึกราคาขายจริงทุกครั้ง จึงทำให้การเก็บภาษีส่วนต่างกำไรจากการค้าขายในสหรัฐอเมริกาทำได้โดยง่าย เพราะเจ้าหน้าที่มีความคุ้นเคยกับระบบนี้อยู่แล้ว การเก็บภาษีจากส่วนต่างกำไรของการค้าเงินสกุลดิจิทัลจึงสามารถทำได้โดยง่าย และการคำนวณภาษีก็เหมือนกับประเทศอื่นๆคือ นำไปรวมกับรายได้ส่วนบุคคล และเสียภาษีตามฐานอัตราภาษี ซึ่งอาจจะแตกต่างกับประเทศไทยที่ระบบฐานข้อมูลไม่ดีเท่า และเจ้าหน้าที่ก็มีความคุ้นเคยกับระบบจัดเก็บภาษีประเภทนี้น้อยกว่า อนึ่ง เมื่อไม่นานมานี้ สหรัฐอเมริกาได้มีการออกกฎหมายเพิ่มเติมว่า การค้าเงินสกุลดิจิทัลที่มีมูลค่าไม่เกิน 600 ดอลลาร์ ไม่จำเป็นที่จะต้องรายงานและเสียภาษี

สหภาพยุโรป ในสหภาพยุโรปเงินสกุลดิจิทัลถูกนับให้เป็นเงินสกุลหนึ่งไม่ใช่ทรัพย์สิน และจะต้องมีการหักภาษี ณ ที่จ่ายเช่นเดียวกับประเทศไทย อย่างไรก็ตาม บางประเทศในกลุ่มนี้กลับมีการเก็บภาษีที่แตกต่างกัน ในประเทศเยอรมนีและฟินแลนด์ กำไรจากเงินสกุลดิจิทัลจะต้องเสียภาษีทั้งภาษีรายได้ส่วนบุคคล และเสียภาษีความมั่งคั่ง (Wealth Tax) ในสวีเดน รายได้จากการออกเงินสกุลดิจิทัลใหม่ๆโดยบุคคลธรรมดาไม่ต้องเสียภาษี เพราะถือว่าเป็นรายได้จากงานอดิเรก (Hobby) เท่านั้น แต่ถ้านำเงินสกุลดิจิทัลเข้าสู่ขั้นตอนการทำธุรกิจเมื่อไร? ก็จะต้องเสียภาษีทันที

ออสเตรเลีย เป็นประเทศที่จัดการกับเงินสกุลดิจิทัลได้ดีที่สุดประเทศหนึ่ง เมื่อใดก็ตามที่เกิดผลกำไรจากการเทรดเงินสกุลดิจิทัล แต่ไม่ได้แปลงเป็นเงินดอลลาร์ออสเตรเลียแล้ว ผลกำไรเหล่านั้นก็ไม่ต้องเสียภาษี แต่หากแปลงเป็นเงินดอลลาร์ออสเตรเลียเมื่อใด...ก็ต้องเสียภาษีทันที ส่วนการซื้อขายสินค้าด้วยเงินสกุลดิจิทัลนั้น...ไม่ต้องเสียภาษี

อิสราเอล ในปี 2556 รัฐบาลอิสราเอลพยายามที่จะออกกฎหมายเก็บภาษีเงินสกุลดิจิทัล แต่ก็ยังสับสนเป็นอย่างมาก ในปี 2557 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องออกมายอมรับว่า หน่วยงานของเขาไม่สามารถที่จะควบคุมการค้าเงินสกุลดิจิทัลได้ และยังไม่มีความสามารถพอที่จะเก็บภาษีเงินสกุลดิจิทัลเป็นระบบได้ แต่หลังจากนั้นอีกสามปี อิสราเอลก็ได้ประกาศกฎหมายเก็บภาษีเงินสกุลดิจิทัล โดยกำหนดให้เงินสกุลดิจิทัลเป็นสินค้าประเภทหนึ่ง กำไรจากการซื้อขายและการทำเหมืองเงินสกุลดิจิทัลจะถูกนับเป็นกำไรจากธุรกิจ และจะต้องเสียภาษี ณ ที่จ่าย

รัสเซีย ในปี 2559 หน่วยงานทางด้านภาษีได้ออกหนังสือเกี่ยวกับการควบคุมการซื้อขายแลกเปลี่ยนเงินสกุลดิจิทัล อย่างไรก็ตามในหนังสือฉบับดังกล่าวไม่ได้กล่าวถึงการเก็บภาษีใดๆเลย ในเดือนพฤษภาคม ธนาคารกลางรัสเซียก็เริ่มต้นตั้งมาตรฐานการเก็บภาษีเงินสกุลดิจิทัล และในเดือนตุลาคม กระทรวงการคลังก็ได้ออกกฎเกณฑ์ให้นักขุดเหมืองเงินสกุลดิจิทัลทั้งประเทศ ต้องมาลงทะเบียนเป็นผู้ประกอบการที่ถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อจะได้เก็บภาษีโดยการหักภาษี ณ ที่จ่าย
และนั่นคือ มุมมองของประเทศอื่นๆว่า เขาเก็บภาษีเงินสกุลดิจิทัลกันอย่างไร? ในวันพรุ่งนี้เราจะไปดูกันว่า ประเทศอื่นๆ... เขาวางแผน “ยุทธศาสตร์เงินสกุลดิจิทัล” กันอย่างไร? ถึงจะประสบความสำเร็จได้ แล้วพบกัน...ในวันพรุ่งนี้นะครับ
หาอ่านบทความ และความรู้ด้านการลงทุนของผู้เขียนได้เพิ่มเติมได้ที่ http://www.doctorwe.com
โพสต์โพสต์