ควรมีเงินสดเท่าไหร่ในพอร์ต (ตอนที่ 2)

การลงทุนแบบเน้นคุณค่า ลงทุนหุ้น VI เน้นที่ปัจจัยพื้นฐานเป็นหลัก

โพสต์ โพสต์
หมอวิ
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 290
ผู้ติดตาม: 15

ควรมีเงินสดเท่าไหร่ในพอร์ต (ตอนที่ 2)

โพสต์ที่ 1

โพสต์

#ควรมีเงินสดเท่าไหร่ในพอร์ต (ตอนที่ 2)
.
วันนี้เรามาตอบคำถามจากตอนที่ 1 เรื่อง “เงินสดก้นพอร์ต” กันต่อครับ
.
คำถามที่ 1 : มีไว้เพื่ออะไร ?
.
เงินสดก้นพอร์ตนี้ มีไว้เพื่อการบริหารความเสี่ยงจากวิกฤติใหญ่ในระดับมหภาค (วิกฤติตลาดหุ้น-วิกฤติเศรษฐกิจ-สงคราม-etc.) เนื่องจากเราไม่มีทางรู้ว่าวิกฤติเหล่านี้จะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ หรือมาในรูปแบบใด แต่เมื่อถึงเวลานั้นโอกาสทองจะเป็นของผู้กล้าที่มีสภาพคล่องเหลือเพียงพอเท่านั้น
.
แน่นอนว่า เมื่อวิกฤติยังไม่เกิด เงินส่วนนี้จะให้ผลตอบแทนที่ต่ำมาก แต่ขอให้คิดว่าค่าเสียโอกาสนี้เป็นเสมือนเบี้ยประกันภัย ที่ทุกปีจะต้องเสียไปโดยไม่ได้อะไรกลับมาเลย แต่เราจะอุ่นใจได้ว่าในวันที่โชคร้ายมาเยือน (เมื่อไหร่ไม่รู้) วิกฤติจะไม่กลายเป็นหายนะ
.
คำถามที่ 2 : จะเก็บไว้ที่ไหน ?
.
เงินส่วนนี้ควรจัดวางไว้ในสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องสูง และไม่เกิดการด้อยค่าลงมากในวิกฤติเท่านั้น เช่น เงินสด ตราสารหนี้ระยะสั้น ทอง เป็นต้น สำหรับ Property Fund หรือกอง REIT นั้น ผมเห็นว่าไม่เหมาะสำหรับวัตถุประสงค์นี้ เพราะเมื่อเกิดวิกฤติราคามันก็ลงตามหุ้นอยู่ดี ส่วนอสังหาริมทรัพย์ก็ยิ่งไม่เหมาะ เนื่องจากไม่มีสภาพคล่อง แถมยังจะเกิดการด้อยค่าเป็นอย่างมากในวิกฤติอีกด้วย
.
คำถามที่ 3 : จะเอาออกมาใช้เมื่อไหร่ ?
.
เมื่อถึงเวลาวิกฤติ เราอาจจะทยอยเข้าช้อนซื้อหุ้นราคาถูกๆ ในช่วงที่ดัชนีตกลงมาจนนิ่งๆ ตลาดซบเซา วอลุ่มซื้อขายเบาบาง (ซื้อแล้วถือรอ)
.
หรือเราอาจรอจนกว่าจะเห็นสัญญาณการฟื้นตัวของตลาดแล้วจึงเข้าซื้อก็ได้ (ยอมซื้อแพงหน่อย แต่ไม่ต้องกลัวว่าซื้อแล้วจะลงต่ออีก และไม่ต้องเสียเวลารอนาน) จะใช้วิธีไหนก็แล้วแต่สไตล์และความถนัดของแต่ละคนครับ
.
คำถามที่ 4 : มีแนวคิดและวิธีในการกำหนดสัดส่วนอย่างไร ?
.
แนวคิด : เงินก้นพอร์ตนี้ ควรจะมีมากน้อยแค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับ
-เป้าหมายในการลงทุน
-อุปนิสัยของผู้ลงทุน
-สภาวะตลาด (ระดับความถูกแพงและทิศทางของตลาด)
.
สำหรับคนที่มีเป้าหมายในการลงทุนและอุปนิสัยค่อนมาทาง Conservative หรือเน้นการตั้งรับ ก็ควรกำหนดระดับเงินสดก้นพอร์ตไว้มากหน่อย แต่หากค่อนไปทาง Aggressive หรือเน้นเชิงรุก ก็ควรจะน้อยกว่านั้น (หรืออาจถึงขั้นไม่มีเลย)
.
ส่วนเรื่องของสภาวะตลาด หากพิจารณาแล้วว่าในขณะนั้นตลาดโดยรวมมีราคาแพง เราก็ควรเพิ่มสัดส่วนของเงินสด (ถือหุ้นน้อยลง) แต่เมื่อตลาดโดยรวมมีราคาถูก เราก็ควรมีเงินสดในสัดส่วนที่ลดลง (ถือหุ้นมากขึ้น)
.
ความถูกแพงของตลาดอาจประเมินด้วย PE, PBV, Dividend Yield โดยเทียบกับค่าในอดีต และเทียบกับประเทศอื่นๆ (เพราะมีผลต่อ Fund Flow) หรืออาจดูค่า Market Risk Premium (ผลตอบแทนของตลาด ลบด้วยผลตอบแทนของพันธบัตรระยะยาว) และสังเกตความคึกคักหรือซบเซาของตลาดหุ้น+เศรษฐกิจควบคู่ไปด้วย
.
ส่วนประเด็นเรื่องแนวโน้มหรือทิศทางของตลาด ขอไม่กล่าวในบทความนี้ ท่านที่สนใจกรุณารออ่านในหนังสือนะครับ
.
วิธีการ : เทคนิคในการกำหนดสัดส่วนของเงินสดก้นพอร์ต
ให้กำหนดตัวเลขตั้งต้นขึ้นมาก่อน (เช่น 20% หรือ 30% ของเงินลงทุนในหุ้นทั้งหมด) แล้วนึกสมมติเหตุการณ์เอาว่า หากเกิดวิกฤติและหุ้นของเราด้อยค่าลงมาก แต่เรามีเงินช้อนซื้อหุ้นเหลืออยู่เท่านี้ มันเพียงพอที่จะทำให้ผลตอบแทนโดยรวมของพอร์ตอยู่ในระดับที่เราพอใจหรือไม่เมื่อวิกฤติผ่านพ้นไปแล้ว แต่อีกด้านหนึ่งก็ลองคิดดูว่าถ้าวิกฤติไม่มาอีกหลายปีล่ะ เราจะยอมรับต้นทุนค่าเสียโอกาสในส่วนนี้ได้มั๊ย คิดกลับไปกลับมาแล้วปรับสัดส่วนนี้ไปเรื่อยๆ พร้อมกับสังเกตความรู้สึกของตัวเองว่า ระดับไหนที่จะทำให้เรา “ยอมรับ” สถานการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นได้ทั้งสองทาง
.
ก่อนจบ ขอเสริมเรื่อง Rebalance Port สักหน่อยครับ
.
Portfolio Rebalancing เป็นเทคนิคหนึ่งในการลดความเสี่ยงและเพิ่มผลตอบแทนของพอร์ต
.
เช่น สมมติว่าเราเริ่มต้นจากสัดส่วนเงินก้นพอร์ตต่อเงินสำหรับซื้อหุ้นเท่ากับ 30/70 แต่เมื่อเวลาผ่านไปหุ้นที่เราซื้อขึ้นมาเยอะ จนทำให้สัดส่วนของเงินก้นพอร์ตลดลงถึงจุดหนึ่ง เช่น เหลือ 20/80 เราก็จะขายหุ้นบางส่วนแล้วเอาไปเติมเงินก้นพอร์ต เพื่อให้สัดส่วนมันกลับมาเป็น 30/70 ตามเดิม
.
หวังว่าคงพอจะได้ไอเดียไปปรับใช้กันนะครับ
.
by #Dr.Vi. #หมอวิ (25 พย. 60)
https://www.facebook.com/Dr.Vichian/
[email protected]
"อย่ากลัวตกรถ" ...ถึงจะดี ถ้าไม่ถูก ก็ไม่ซื้อ
"อย่ากลัวติดดอย" ...ถ้าถูกพอ ก็ซื้อ ไม่รอราคาต่ำสุด
โพสต์โพสต์