เราพลาดอะไร ถึงไม่เห็นว่าบาทจะแข็ง/เบญจรงค์ สุวรรณคีรี

การลงทุนแบบเน้นคุณค่า ลงทุนหุ้น VI เน้นที่ปัจจัยพื้นฐานเป็นหลัก

โพสต์ โพสต์
always24
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 854
ผู้ติดตาม: 10

เราพลาดอะไร ถึงไม่เห็นว่าบาทจะแข็ง/เบญจรงค์ สุวรรณคีรี

โพสต์ที่ 1

โพสต์

เราพลาดอะไร ถึงไม่เห็นว่าบาทจะแข็ง/เบญจรงค์ สุวรรณคีรี

เราพลาดอะไร ถึงไม่เห็นว่าบาทจะแข็ง

ดีใจด้วยครับ ถึงแม้รายได้พวกเราจะเท่าเดิม แต่ปีนี้เราคนไทยทุกคนรวยขึ้นแล้ว 7% หากต้องไปใช้เงินดอลลาร์ในต่างประเทศ! และรวยขึ้นมากกว่าเพื่อนๆ จากชาติอื่นในเอเซียของเราอีกด้วย เพราะค่าเงินบาทเราแข็งค่าขึ้น

ที่จริงก็มีหลายกระแส หลายนักวิเคราะห์ที่ได้พูดถึงทิศทางค่าบาทแข็งกันไปแล้ว ทั้งในสื่อหลัก สื่อรองและสื่อออนไลน์ ตัวผมเองก็ได้วิเคราะห์ไป 2-3 ครั้งผ่านทางคอลัมน์นี้ที่บางท่านอาจจะพอเห็นผ่านตากันบ้าง ทุกท่านอาจจะเริ่มเบื่อเกี่ยวกับเรื่องบาทแข็ง ว่าจะมีอะไรใหม่ที่น่าสนใจให้พูดได้อย่างไร แต่อย่างไรก็ตาม ผมคิดว่ามีเรื่องคาใจอยู่หนึ่งเรื่องที่เราควรจะถามและเจาะลึกกันมากขึ้น นั่นก็คือคำถามที่ว่า อะไรทำให้นักวิเคราะห์ ทั่วทั้งตลาด (รวมทั้งตัวผมด้วย) พลาดในการมองทิศทางเงินบาทโดยชี้ไปในทิศทางเดียวกันว่าบาทควรจะอ่อน แต่สุดท้ายเงินบาทกลับแข็งโป๊ก!

เรามาตั้งต้นกันก่อนว่า ปัจจุบันนี้ค่าเงินบาทไทยเมื่อเทียบกันดอลลาร์สหรัฐแข็งขึ้นประมาณ 7.6% เมื่อเทียบกับสิ้นปี 2559 โดยต้องยอมรับว่าเป็นหนึ่งในสกุลเงินที่แข็งขึ้นมากที่สุดในภูมิภาคเอเซียเลยก็ว่าได้

แล้วทำไมบาทถึงแข็ง ทฤษฎีนึงที่ผมเคยได้นำเสนอไปก่อนหน้านี้ คือเรื่อง safe haven Thailand หรือการที่ประเทศไทยกลายเป็นประเทศที่น่าลงทุนเพราะไม่มีความเสี่ยงด้านลบเหลืออยู่เลย ในขณะที่อัตราดอกเบี้ยก็อยู่สูงกว่าเงินเฟ้อจึงทำให้ “อัตราดอกเบี้ยจริง” (ดอกเบี้ยลบเงินเฟ้อ) ของไทยนั้นอยู่สูงกว่าประเทศในภูมิภาคเอเซียเกือบทุกประเทศ เงินจึงไหลมาพักไว้ในตลาดบอนด์ของเราเกือบ 1.9 แสนล้านบาท เพราะเมื่อหักลบกลบเงินเฟ้อแล้ว ได้ผลตอบแทนดีกว่าที่ไหนๆ

หนึ่งเหตุผลสำคัญของการเปลี่ยนทิศทางค่าเงินที่จะได้รับฟังกันเรื่อยๆ ก็คือเรื่อง นายทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ เริ่มหมดความสดใหม่ทางการเมือง และยังไม่สามารถสร้างผลงานที่เป็นรูปธรรมให้ประชาชนคนอเมริกันพอใจกันได้ โดยเฉพาะนโยบายเศรษฐกิจ ที่หมายมั่นปั้นมือกันไว้ว่าจะพลิกโฉมเศรษฐกิจอเมริกากันเลยทีเดียว แต่ท้ายสุด กลับยังเป็นหมันอยู่ทั้งหมด พอเครื่องเศรษฐกิจไม่เร่งอย่างที่คาด จังหวะการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดก็เหมือนจะสะดุดไปด้วย ส่งผลให้เงินดอลลาร์ที่เคยแข็งค่าจากความคาดหวังบนทรัมป์ก็กลับอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่อง นี่เป็นหนึ่งปัจจัยที่ทำให้นักวิเคราะห์ทั้งตลาดมองเงินบาทว่าจะอ่อนค่าในตอนต้นปี แต่ท้ายสุดเงินบาทกลับแข็งขึ้น

หมายความว่าที่คาดการณ์ทิศทางค่าเงินบาทคลาดกันหลักๆ ในปีนี้นั้น ก็เพียงแต่นายทรัมป์ไม่สามารถผลักดันนโยบายเศรษฐกิจให้บรรลุผลได้เพียงเท่านั้นหรือ? คงไม่ใช่เพียงเท่านั้นครับ จริงๆ ผมคิดว่ามีอีกหนึ่งความผิดพลาดของการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ทำให้มองค่าเงินผิดพลาดในปีนี้ นั่นคือมุมมองเรื่อง “ส่งออก”

เมื่อตอนต้นปี นักวิเคราะห์และนักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่ไม่เชื่อว่าจะเห็นการขยายตัวของส่งออกไทยในปีนี้ เราเห็นการคาดการณ์ตัวเลขส่งออกของปี 2560 ตั้งแต่ 0% ไปจนถึงประมาณ 2% แต่ก็ไม่มีใครกล้าฟันตัวเลขที่สูงมากไปกว่านี้จากการที่ส่งออกไทยล้มลุกคลุกคลานกันมา 3-4 ปีติดเลยทีเดียว

ตัวเลขล่าสุดสะท้อนให้เห็นการขยายตัวของส่งออกที่ 11.7% ในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา และขยายตัวถึง 7.8% เมื่อรวมตัวเลขทั้ง 6 เดือนในปีนี้ ซึ่งนับว่าสูงที่สุดในรอบ 6 ปี และสูงกว่าคาดการณ์ของตลาดเมื่อตอนต้นปีไว้เกือบๆ 4 เท่าเลยทีเดียว! ว่าแต่ว่า รายได้ส่งออกเนี่ยมันทำค่าเงินบาทสะเทือนได้จริงเหรอ?

เราไปดูตัวเลขกันอีกนิดดีกว่าครับ ในครึ่งแรกของปี 2560 เราส่งออกมากกว่านำเข้าเท่ากับ 1.96 แสนล้านบาท และหากรวมเป็นรายได้ทั้งจากการค้าสินค้า ท่องเที่ยว และบริการระหว่างประเทศทั้งหมด (ดุลบัญชีเดินสะพัด) เรามีรายได้จากต่างประเทศในครึ่งปีแรกเท่ากับ 8.18 แสนล้าน (ทำให้เงินเข้าตลาดบอนด์ดูเล็กไปเลย) ซึ่งเทียบได้เท่ากับกว่า 10% ของจีดีพีไทยในครึ่งปีแรกเลยทีเดียว

ซึ่งก่อนจะเป็นรายได้ทั้ง 8.18 แสนล้านบาทนั้น ผู้ประกอบการต้องนำรายได้ที่ตัวเองได้รับในสกุลเงินดอลลาร์ประมาณ 2.3 หมื่นล้านดอลลาร์มาแลกเปลี่ยนเป็นเงินบาทเพื่อรับรู้รายได้ของตนเอง ส่งผลให้ยอด demand ของเงินบาทในตลาดเงินพุ่งกระฉูดและเป็นผลให้เงินบาทแข็งขึ้นอย่างที่เห็น หากจะให้พูดง่ายๆ ก็เหมือนกับว่า ผู้ส่งออกตอนนี้ ต้องลำบากจากค่าเงินบาทแข็งค่าที่เป็นผลมาจากรายได้ของตัวเองที่โตได้ดี แปลกดีไหมครับ?

ดังนั้น จึงหนีไม่พ้น ว่านอกจากการคาดการณ์มุมมองนโยบายเศรษฐกิจของทรัมป์ที่ไม่เข้าตากรรมการแล้ว ยังมีความผิดพลาดในการคาดการณ์ทิศทางส่งออกอีกด้วย ที่ทำให้การคาดการณ์ทิศทางอัตราแลกเปลี่ยนเหมือนจะเป๋ไปตามๆกันทั้งตลาด

ทั้งหมดทั้งปวงนี้ จึงเป็นบทเรียนที่เราๆ เหล่ากูรูนักวิเคราะห์ทั้งหลายคงต้องกลับไป “วิเคราะห์” เพิ่มเติมกันเองนะครับ ว่าจะทำอย่างไรให้ปากกาเซียนไม่ถูกหักอีก ขอให้ทุกท่านโชคดีครับ
โพสต์โพสต์