โพสต์ทูเดย์: “มอง...อนาคตประเทศไทย” กับ กรณ์ จาติกวณิช ตอนจบ

การลงทุนแบบเน้นคุณค่า ลงทุนหุ้น VI เน้นที่ปัจจัยพื้นฐานเป็นหลัก

โพสต์ โพสต์
doctorwe
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 152
ผู้ติดตาม: 0

โพสต์ทูเดย์: “มอง...อนาคตประเทศไทย” กับ กรณ์ จาติกวณิช ตอนจบ

โพสต์ที่ 1

โพสต์

คอลัมน์: หุ้นส่วนประเทศไทย
หนังสือพิมพ์ โพสต์ทูเดย์
“มอง...อนาคตประเทศไทย” กับ กรณ์ จาติกวณิช ตอนจบ
ดร.วีรพงษ์ ชุติภัทร์
วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต
http://www.CsiSociety.com
Add Line: @CsiSociety

เมื่อวานนี้ เราได้คุยกันไปแล้วเกี่ยวกับอาจารย์กรณ์ จาติกวณิช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ให้เกียรติมาบรรยายให้แก่นักศึกษาในโครงการอบรมนักลงทุน CSI รุ่นที่ 12 วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต ในหัวข้อ “อนาคตประเทศไทย” ซึ่งผมได้นำมาเล่าให้คุณผู้อ่านได้อ่านกันไปแล้ว 3 ข้อด้วยกันคือ หนึ่ง รายได้คนไทย...ก้าวกระโดด ในยุคไทยแลนด์ 3.0 สอง เราจำเป็นต้องพัฒนาเศรษฐกิจให้มุ่งสู่ “ไทยแลนด์ 4.0” หรือไม่? และสาม ประเทศไทย...ในการจัดอันดับโลก วันนี้...จะขออนุญาตคุยต่อเลยนะครับ ดังนี้ครับ

สี่ รัฐวิสาหกิจ บริษัทของรัฐ และบริษัทเอกชนของไทย ใน...เวทีโลก
7.jpg
จากภาพ ในกลุ่มแรก Telecoms พบว่า รัฐวิสาหกิจทางด้านโทรคมนาคมของไทย มีผลประกอบการที่ย่ำแย่มาก โดยมีอัตราผลตอบแทนต่อสินทรัพย์ (ROA) ดังนี้ กสท.(CAT) มี ROA = -19.5% ในขณะที่ ทศท.(TOT) มี ROA = -17.5% หากเปรียบเทียบเอกชนไทยทั้งสามรายก็จะพบว่า ในกลุ่มนี้...ผลประกอบการของเอกชนชนะขาดลอย AIS/ROA = 25.5%, DTAC/ROA = 10% และ TRUE/ROA = -1.6% ขณะที่ในต่างประเทศ SingTel บริษัทโทรคมนาคมที่ใหญ่ที่สุดของสิงคโปร์ ROA กลับโดดเด่นไม่แพ้บริษัทเอกชนของไทยมาอยู่ที่ 9.8%
กลุ่มสายการบิน สิงคโปร์แอร์ไลน์ นับได้ว่าโดดเด่นมาก โดย ROA มาอยู่ที่ 3% ขณะที่บางกอกแอร์เวย์อยู่ที่ 2.2% และการบินไทย ROA อยู่ต่ำที่สุดที่ 0.5%
กลุ่มปิโตรเลียม มีการเปรียบเทียบอยู่ด้วยกัน 2 บริษัทเท่านั้นคือ PETRONAS ของมาเลเซีย ROA อยู่ที่ 11.3% ขณะที่บริษัท ปตท. ของไทย ROA อยู่ที่ 6.3% เท่านั้น
กลุ่มทีวีดิจิตอล บริษัท BEC หรือช่อง 3 มีผลประกอบการที่ให้ค่า ROA = 38.1% สูงที่สุดในกลุ่ม รองลงมาคือ BBTV หรือช่อง 7 ให้ค่า ROA ที่ 13.4% ส่วนบริษัททีวีดิจิตอลที่เป็นรัฐวิสาหกิจคือ MCOT หรือช่อง 9 นั่นเอง ให้ค่า ROA ที่ต่ำที่สุดในกลุ่มมาอยู่ที่ 5.7%
ข้อสังเกตที่ได้จากกราฟข้างต้นก็คือ รัฐวิสาหกิจของไทยมีความสามารถในการแข่งขันที่ต่ำมาก ดังนั้นรัฐวิสาหกิจหลายแห่งของไทย ก็มีแนวโน้มที่จะมาสร้างภาระด้านงบประมาณแก่รัฐบาลไทยเป็นอย่างมากทีเดียวในอนาคต...ถ้ายังไม่มีการเปลี่ยนแปลงใหญ่ๆเกิดขึ้น

ห้า อุตสาหกรรมไทย 4 ประเภท ที่...เข้มแข็งที่สุด
อุตสาหกรรมในบ้านเรามีหลากหลายประเภทมาก แต่หากจะมองลึกๆลงไปถึงเรื่องของศักยภาพในการแข่งขันที่แข็งแรง และสามารถต่อสู้กับสินค้าประเภทเดียวกันจากประเทศอื่นๆได้อย่างไม่ลำบากนัก เราน่าจะมีอุตสาหกรรมเพียง 4 ประเภทที่มีศักยภาพเพียงพอ นั่นคือ
- อุตสาหกรรมรถยนต์ ในปี 2010 เราขายรถยนต์ที่ผลิตในเมืองไทยให้แก่คนในประเทศได้ประมาณ 800,000 คัน ส่งออก 896,000 คัน พอมาปี 2015 สัดส่วนเปลี่ยนเป็น 700,000 คันในประเทศ และส่งออก 1,170,000 คัน ในอนาคตคาดว่า ปี 2020 ในประเทศจะขายได้ 1,180,000 คัน ส่งออก 1,650,000 คัน ดูจากแนวโน้มนี้แล้ว ไทยยังคงจะเป็นหนึ่งในฐานการส่งออกรถยนต์ของโลกต่อไป
- อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว นักท่องเที่ยวชาวจีนที่มีการเติบโตอย่างสูง ยังคงเติบโตต่อไป ในปี 2010 มีนักท่องเที่ยวจีนประมาณหนึ่งล้านคน พอมาปี 2016 กลายเป็น 10 ล้านคน ปัจจุบันนี้คาดว่าจำนวนชาวจีนที่มีหนังสือเดินทาง (พาสปอร์ต) มีไม่ถึง 5% ดังนั้น ตลาดนักท่องเที่ยวจีนยังคงเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดของไทยต่อไปอีกหลายสิบปี
- อุตสาหกรรมการรักษาพยาบาล ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โรงพยาบาลของไทยหลายแห่งได้ปรับปรุงคุณภาพจนมีมาตรฐานโลกไปแล้ว และสามารถดึงดูดเม็ดเงินจากชาวต่างประเทศทั่วโลกให้เข้ามาใช้บริการ โดยมีกลุ่มใหญ่ๆคือ ชาวตะวันออกกลาง และลูกค้ารายใหญ่ในกลุ่มประเทศ CLMV และด้วยค่าจ้างแรงงานที่ยังไม่สูงมากนัก ประกอบกับมาตรฐานการรักษาพยาบาลในระดับสากล ก็จะทำให้อุตสาหกรรมในกลุ่มนี้แข็งแกร่งไปอีกนาน
- อุตสาหกรรมการเกษตร สิ่งสำคัญที่สุดของอุตสาหกรรมประเภทนี้ของไทยก็คือ การทุ่มเทวิจัยและค้นหาเทคโนโลยีต่างๆ ที่จะสามารถผลิตสินค้าการเกษตรแบบปลอดสารพิษได้ เนื่องจากในศตวรรษที่ผ่านมา สิ่งแวดล้อมของโลกใบนี้ได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก จึงทำให้เกิดมลภาวะกระจายไปทั่วโลก และได้ก่อให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บใหม่ๆเกิดขึ้น ทุกวันนี้จึงมีความต้องการสินค้าการเกษตรไร้สารพิษจำนวนมหาศาล ซึ่งจะเป็นโอกาสของไทย ถ้าเราสามารถผลิตสินค้าการเกษตรปลอดสารพิษได้อย่างแท้จริง

หก 5 บริษัทใหญ่ที่สุดของไทย vs. สหรัฐอเมริกา
9.jpg
ในปี 2001 พบว่า ห้าบริษัทใหญ่ที่สุดของสหรัฐอเมริกา เรียงตามลำดับจากใหญที่สุดลงไปคือ ยีอี (เครื่องใช้ไฟฟ้าและผลิตภัณฑ์การเงิน), ไมโครซอฟท์, เอ็กซอน (พลังงาน), ซิตี้กรุ๊ป (ธนาคาร) และวอลมาร์ท (ค้าปลีก) พอมาถึงปี 2016 ห้าอันดับบริษัทที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐอเมริกาก็เปลี่ยนไปเป็น แอปเปิ้ล อัลฟาเบ็ท (กูเกิ้ล) ไมโครซอฟท์ อเมซอน (ขายสินค้าออนไลน์) และเฟสบุ๊ค
สิ่งที่เปลี่ยนแปลงในสหรัฐอเมริกาก็คือ อุตสาหกรรมดั้งเดิมเริ่มจะมีศักยภาพในการแข่งขันลดลง ในอนาคตที่อุตสาหกรรมยุคใหม่โดยเฉพาะกลุ่มเทคโนโลยี ได้เติบโตอย่างแข็งแกร่งทั้งในปัจจุบันและอนาคต จึงได้กวาดตำแหน่ง...ห้าอันดับบริษัทที่ใหญ่ที่สุดของสหรัฐอเมริกาไปจนหมดเกลี้ยง
หันกลับมาดูเมืองไทย ปี 2001 ห้าอันดับใหญ่ที่สุดได้แก่ เอไอเอส ธนาคารกรุงไทย ปตท. ปตท.สำรวจปิโตรเลียม และปูนซีเมนต์ไทย ในปี 2016 ที่ผ่านมา ห้าอันดับใหญ่ที่สุดคือ ปตท. ปูนซีเมนต์ไทย ท่าอากาศยานไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ และซีพีออลล์เจ้าของเซเว่นเมืองไทย
ถ้าเราลองพิจารณาดูก็จะพบว่า อุตสาหกรรมที่มีอยู่ในเมืองไทยมีการเปลี่ยนแปลงน้อยมาก ในปีที่แล้ว ไทยยังไม่มีอุตสาหกรรมยุคใหม่ที่จะก้าวเข้ามาเป็นติดหนึ่งในห้าเลย และถ้าเป็นเช่นนี้ต่อไป ศักยภาพในการแข่งขันก็น่าจะลดลง และโอกาสที่ไทยจะมีรายได้ต่อหัวเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า หรือสูงกว่า 10,000 ดอลลาร์ต่อหัวต่อปี ก็คงจะกลายไปเป็น “ความฝัน” ไป ในขณะที่ “ความโชคดี” คงไม่เกิดขึ้นแน่ ถ้าเรายังคงไม่เตรียมพร้อมเอาไว้ก่อน...เหมือนทุกวันนี้
ทำให้นึกถึงคำพูดของ Denzel Washington นักแสดงชื่อดังชาวสหรัฐอเมริกาที่เคยกล่าวว่า “I say luck is when an opportunity comes along and you're prepared for it.” แปลตามความได้ว่า “ผมคิดว่า ความโชคดี จะเกิดขึ้นได้ในยามที่...โอกาสเดินทางมาถึงคุณ และคุณก็ได้เตรียมพร้อมเอาไว้ก่อนแล้ว”

หาอ่านบทความ และความรู้ด้านการลงทุนของผู้เขียนได้เพิ่มเติมได้ที่ http://www.doctorwe.com
โพสต์โพสต์