พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฉบับใหม่

การลงทุนแบบเน้นคุณค่า ลงทุนหุ้น VI เน้นที่ปัจจัยพื้นฐานเป็นหลัก

โพสต์ โพสต์
leky
Verified User
โพสต์: 1803
ผู้ติดตาม: 1

พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฉบับใหม่

โพสต์ที่ 1

โพสต์

พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯใหม่จัดหนัก ไอ้โม่งโซเชียล-นักวิเคราะห์หนาว!
โดย ฐานเศรษฐกิจ - 21 September 2559

ก.ล.ต.เปิดร่างพ.ร.บ.หลักทรัพย์ฉบับใหม่ ปรับปรุงบทลงโทษผู้กระทำความผิดทั้งแพ่ง-อาญา จากการปั่นหุ้น อินไซด์ ครอบคลุมทั้งนักลงทุน ผู้บริหารบริษัทจดทะเบียน นักวิเคราะห์ นักเลงคีย์บอร์ดบนโซเชียลมีเดีย คาดมีผลบังคับใช้ 2-3 เดือนข้างหน้า

นายศักรินทร์ ร่วมรังสี ผู้ช่วยเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.) เปิดเผยถึงร่างพ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ฉบับแก้ไขใหม่ว่า ประเด็นสำคัญ คือ ผู้ที่สร้างราคา หรือปั่นหุ้น มีการนำเสนอข้อมูลที่ส่งผลต่อราคาหุ้น ซึ่งไม่ว่าจะเป็นข้อมูลที่เป็นเท็จ หรือข้อมูลที่ยังไม่ได้รับรองความถูกต้อง ครบถ้วนบิดเบือนจากข้อมูลทั้งหมด จากข้อมูลบางส่วน หรือการคาดเดา ทำให้ราคาหุ้นมีการปรับตัวขึ้นหรือปรับตัวลงอย่างรุนแรง จะมีความผิดตามมาตรา 69 โดยมูลฐานความผิดครอบคลุมทั้งนักลงทุนทั่วไป ผู้บริหารบริษัทจดทะเบียน(บจ.) นักวิเคราะห์ หรือแม้แต่ผู้ที่เปิดเผยข้อมูลผ่านสื่อโซเชียลสังคมออนไลน์ก็ตาม

โดยผู้ที่จะคาดการณ์ หรือวิเคราะห์ข้อมูลได้นั้น จะต้องมีข้อมูล ข้อเท็จจริงที่สนับสนุน เป็นเอกสารลายลักษณ์อักษร ซึ่งจะต้องดูเจตนาของการเข้ามาวิเคราะห์ข้อมูลนั้นว่ามีการหวังผลต่อสิ่งที่จะเกิดขึ้นหรือไม่ โดยหากว่าบุคคลหรือกลุ่มบุคคลนั้นมีเจตนาในการสร้างราคาหุ้น หรือสร้างความเสียหายก็จะมีการลงโทษผู้กระทำผิด โดยจะมีโทษทั้งจำและปรับ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและอาญา

อย่างไรก็ตามกฎหมายใหม่จะเน้นการเอาผิดต่อผู้ที่นำข้อมูลภายในไปใช้ประโยชน์ในทางมิชอบ ทั้งแบบที่นำข้อมูลภายในไปใช้ประโยชน์เอง หรือให้บุคคลอื่นก็ตาม ซึ่งอาจจะกระทบต่อผลการดำเนินธุรกิจ และการเปลี่ยนแปลงด้านราคาหุ้น
นายศักรินทร์ กล่าวว่า กฎหมายฉบับแก้ไขนี้ได้ผ่านการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติและได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีแล้ว โดยคาดว่าจะบังคับใช้ได้ภายใน 2-3 เดือนข้างหน้า ภายหลังการนำขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย และลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา

สำหรับสาระสำคัญของการแก้ไขพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ฉบับที่) พ.ศ. … (ชุดเพิ่มประสิทธิภาพการบังคับใช้กฎหมาย และรองรับการเชื่อมโยงตลาดทุน) ว่า การดำเนินการดังกล่าวมี 2 เรื่อง ได้แก่ 1.การป้องกันการกระทำอันไม่เป็นธรรมเกี่ยวกับการซื้อขายหลักทรัพย์ (market misconduct) และ 2. มาตรการลงโทษทางแพ่ง (civil penalty)

สำหรับการเสนอแก้ไขกฎหมายเรื่องที่ 1 เกี่ยวกับการป้องกันการกระทำอันไม่เป็นธรรมเกี่ยวกับการซื้อขายหลักทรัพย์นั้น ได้ปรับปรุงลักษณะความผิดให้ชัดเจนขึ้นและครอบคลุมการกระทำความผิดในลักษณะต่าง ๆ แบ่งออกเป็น 4 กลุ่มความผิด ได้แก่

กลุ่มที่ 1 ความผิดเกี่ยวกับการเปิดเผยข้อมูลที่อาจทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ลงทุนและตลาดทุน ครอบคลุมการบอกกล่าวหรือเผยแพร่ข้อมูลเท็จหรือที่จะทำให้เข้าใจผิด รวมถึงการวิเคราะห์หรือคาดการณ์ที่ใช้ข้อมูลเท็จหรือบิดเบือน ซึ่งจะทำให้ผู้ให้ข้อมูลหรือความเห็นต่อประชาชนต้องใช้ความระมัดระวังและความรับผิดชอบในการกระทำดังกล่าว อย่างไรก็ดีในการคาดการณ์ สามารถทำได้หากตั้งอยู่บนฐานของข้อมูลที่เป็นจริง ไม่บิดเบือน แม้ในภายหลังจะไม่เป็นไปอย่างที่คาดการณ์ไว้ก็ไม่เป็นความผิด

กลุ่มที่ 2 เป็นความผิดเกี่ยวกับการเอาเปรียบผู้ลงทุนรายอื่น โดยการใช้ประโยชน์จากข้อมูลที่ตนรู้มา โดยกฎหมายที่แก้ไขกำหนดให้บุคคลที่รู้หรือครอบครองข้อมูลภายใน ต้องไม่นำข้อมูลไปหาประโยชน์หรือไปเปิดเผยแก่บุคคลอื่น และผู้รับข้อมูลก็ต้องไม่นำไปหาประโยชน์หรือไปเปิดเผยต่อบุคคลอื่นต่อ ๆ ไป โดยกฎหมายจะสันนิษฐานไว้ก่อนว่า บุคคลวงใน เช่น กรรมการ ผู้บริหาร ที่ซื้อขายหุ้นในช่วงที่มีข้อมูลสำคัญและยังไม่เปิดเผย ถือว่าเป็นผู้ซื้อขายที่รู้หรือครอบครองข้อมูลภายใน และในกรณีผู้ใกล้ชิดกับบุคคลวงใน เช่น ญาติที่ใกล้ชิด หากมีการซื้อขายที่ผิดปกติในช่วงเวลาดังกล่าว ก็จะถือเป็นผู้ซื้อขายที่รู้หรือครอบครองข้อมูลภายในเช่นกัน

นอกจากนี้กฎหมายยังครอบคลุมถึงบริษัทหลักทรัพย์(บล.) และบริษัทจัดการกองทุน (บลจ.) รวมทั้งพนักงานหรือลูกจ้างของบริษัทดังกล่าว ที่นำข้อมูลคำสั่งซื้อขายหลักทรัพย์หรือสัญญาซื้อขายล่วงหน้าของลูกค้าไปใช้ประโยชน์ โดยการซื้อขายหลักทรัพย์ตัดหน้าลูกค้า (front running) หรือเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวให้แก่บุคคลอื่น ซึ่งอาจอาศัยข้อมูลที่ได้มานั้นไปซื้อขายหลักทรัพย์ตัดหน้าลูกค้า จะมีความผิดตามกฎหมาย

กลุ่มที่ 3 เป็นความผิดเกี่ยวกับการสร้างราคาหลักทรัพย์ หรือปั่นหุ้น กฎหมายที่แก้ไขแบ่งความผิดเกี่ยวกับการปั่นหุ้น ออกเป็น 2 ระดับ ได้แก่ 1.การส่งคำสั่งซื้อขายหลักทรัพย์ที่ทำให้บุคคลทั่วไปเข้าใจผิดเกี่ยวกับราคาหรือปริมาณการซื้อขาย และ 2.การส่งคำสั่งซื้อขายหลักทรัพย์ในลักษณะต่อเนื่องจนทำให้ราคา-ปริมาณการซื้อขายหลักทรัพย์ผิดไปจากสภาพปกติของตลาด ความผิดกลุ่มนี้มักมีการกระทำร่วมกันเป็นกลุ่ม กฎหมายจึงมีการกำหนดให้การพิสูจน์การกระทำร่วมกันง่ายขึ้น

และกลุ่มที่ 4 เป็นกฎหมายที่ดูแลความต่อเนื่อง และความน่าเชื่อถือของการซื้อขายหลักทรัพย์ด้วยระบบซื้อขายของตลาดหลักทรัพย์ โดยกำหนดให้การส่งคำสั่งซื้อขายที่อาจจะเป็นเหตุให้ระบบการซื้อขายดังกล่าวสะดุดหรือหยุดชะงักลงเป็นความผิด นอกจากนี้ กฎหมายใหม่ยังกำหนดความผิดเกี่ยวกับการใช้หรือยอมให้ใช้บัญชีนอมินี ที่นำไปใช้ในการกระทำความผิดที่ไม่เป็นธรรมเกี่ยวกับการซื้อขายหลักทรัพย์ด้วย

ขณะที่การเพิ่มมาตรการลงโทษทางแพ่งนั้น จะเป็นทางเลือกในการบังคับใช้กฎหมายได้รวดเร็วขึ้น โดยความผิดที่สามารถบังคับใช้กฎหมายด้วยมาตรการลงโทษทางแพ่ง จะเป็นความผิดที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือและความโปร่งใสของตลาดทุน ได้แก่ ความผิดเกี่ยวกับการกระทำอันไม่เป็นธรรมในการซื้อขายหลักทรัพย์ การแสดงข้อความเท็จหรือปกปิดข้อความจริงในเอกสารที่มีผลต่อการตัดสินใจลงทุน กรรมการหรือผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนด (fiduciary duty) การใช้หรือยอมให้ใช้บัญชีนอมินี ในการทำความผิดอันไม่เป็นธรรมเกี่ยวกับการซื้อขายหลักทรัพย์

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,193 วันที่ 18 – 21 กันยายน พ.ศ. 2559
http://www.thansettakij.com/2016/09/21/99118

อยากทราบว่าจากข้อมูลของพ.ร.บ.หลักทรัพย์ฉบับใหม่ จะส่งผลกระทบกับใครบ้างและอย่างไรครับ เท่าที่ผมอ่านดู ถ้ามีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด อาจจะมีปัญหาในหลายส่วนทีเดียว

1) โบรกเกอร์ นักวิเคราะห์

2) สื่อหุ้น ทั้งสิ่งพิมพ์และออนไลน์

3) เจ้าสำนัก ผู้สันทัดกรณีทั้งหลายตาม facebook, LINE

4) เว็บหุ้นต่าง ๆ รวมถึงการวิเคราะห์หุ้นในห้องร้อยคนฯ ทั้งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตและการวิเคราะห์ข้อมูลเก่า ๆ ก่อนมีพ.ร.บ.ที่ยังอยู่ในเว็บ

5) การไปฟังผู้บริหารจาก company visit

6) การที่บริษัทต่าง ๆ มาออกรายการทีวีและคาดการณ์อนาคตของธุรกิจ
"Become a risk taker, not a risk maker"
ลูกอิสาน
สมาชิกกิตติมศักดิ์
โพสต์: 6492
ผู้ติดตาม: 885

Re: พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฉบับใหม่

โพสต์ที่ 2

โพสต์

เป็นความก้าวหน้า ที่ควรสนับสนุน
ทำน้อย ก็ดีกว่าไม่ทำ

แม้กฎหมายจะดีอย่างไร
แต่การบังคับใช้ย่อหย่อน ประโยชน์ก็น้อย

เราก็เห็นๆอยู่ว่าสภาพปัจจุบันเป็นอย่างไร
อยากรู้เหมือนกันว่าการบังคับใช้จะจริงจังหรือเปล่า
การลงทุนคืออาหารอร่อยที่สุดเมื่อเย็นดีแล้ว
โพสต์โพสต์