ความแตกต่างระหว่าง ROE, ROA, ROFA, ROTA, ROCE และ ROIC

การลงทุนแบบเน้นคุณค่า ลงทุนหุ้น VI เน้นที่ปัจจัยพื้นฐานเป็นหลัก

โพสต์ โพสต์
ภาพประจำตัวสมาชิก
ลงทุนศาสตร์
สมาชิกกิตติมศักดิ์
โพสต์: 37
ผู้ติดตาม: 5

ความแตกต่างระหว่าง ROE, ROA, ROFA, ROTA, ROCE และ ROIC

โพสต์ที่ 1

โพสต์

_____ความแตกต่างระหว่าง ROE, ROA, ROFA, ROTA, ROCE และ ROIC


_____นักลงทุนหลายคนอาจจะเคยได้ยินอัตราส่วนทางการเงินหลายคำที่มีลักษณะคล้ายคลึงกัน เช่น ROA, ROE, ROIC เป็นต้น หลายครั้งนักลงทุนอาจจะเคยสงสัยว่าแต่ละค่ามีที่มาอย่างไร ตั้งอยู่บนแนวคิดใด และเหมาะกับการใช้ในสถานการณ์ใดบ้าง วันนี้ลงทุนศาสตร์จะรวบรวมข้อมูลมาเล่าให้ฟัง


_____ก่อนอื่นต้องอธิบายก่อนว่าค่า return on… เหล่านี้จะเป็นค่าความสัมพันธ์ระหว่างผลกำไรต่อค่าสินทรัพย์หรือต้นทุนทางการเงิน ดังนั้น ค่าอัตราส่วนเหล่านี้จะแบ่งได้หลักๆ 2 ประเภทคือ return on debit และ return on credit


_____Return on debit คือ ค่าผลกำไรต่อส่วนงบดุลที่เป็นเดบิต ได้แก่ สินทรัพย์ต่างๆ ค่าในกลุ่มนี้ได้แก่ ROA, ROFA, ROTA, ROCE โดยค่าในกลุ่มนี้มักจะถูกจัดอยู่ในอัตราส่วนทางการเงินกลุ่ม efficiency หรือค่าที่มีไว้แสดงความบ่งบอกประสิทธิภาพการทำงาน หรือความสามารถทางการใช้สินทรัพย์


_____Return on credit คือ ค่าผลกำไรต่อส่วนงบดุลที่เป็นเครดิต ได้แก่ ที่มาของเงินทุน (หนี้สินและส่วนของผู้ถือหุ้น) ค่าในกลุ่มนี้ได้แก่ ROE, ROIC โดยค่าในกลุ่มนี้มักจะถูกจัดอยู่ในอัตราส่วนทางการเงินกลุ่ม profitability หรือค่าที่มีไว้แสดงความสามารถในการทำกำไรเมื่อเทียบกับต้นทุนนั่นเอง


_____โดยค่าอัตราส่วนแต่ละตัวมีความหมายดังนี้


_____ROA (return on asset) หมายถึงอัตราผลตอบแทนต่อสินทรัพย์ สูตรโดยทั่วไปเท่ากับ ผลกำไร/สินทรัพย์รวม โดยผลกำไรที่นิยมใช้จะใช้ค่ากำไรก่อนภาระดอกเบี้ยและภาษี (EBIT) เนื่องจากเป็นผลกำไรที่ไม่คำนึงถึงภาระของหนี้สินซึ่งเป็นส่วนของต้นทุนทางการเงินนั่นเอง โดยทั่วไป ROA จะบ่งถึงความสามารถในการใช้ทรัพย์สิน หรืออีกในแง่หนึ่งคือผลกำไรของบริษัทจำเป็นต้องใช้สินทรัพย์เพื่อสร้างมาขนาดไหน สังเกตได้ว่าบริษัทที่ ROA สูงๆ มักจะเป็นบริษัทในกลุ่มบริการ ซึ่งอาจจะมีสินทรัพย์ถาวรน้อยกว่าบริษัทกลุ่มผลิตที่ต้องลงทุนที่ดิน อาคาร และอุปกรณ์ค่อนข้างมาก


_____ROTA (return on total asset) หมายถึงอัตราผลตอบแทนต่อสินทรัพย์รวม สูตรโดยทั่วไปเหมือนกับ ROA แต่ที่ใส่คำว่า total เพิ่มเพื่อเน้นว่าใช้สินทรัพย์ทั้งหมด เนื่องจากผู้วิเคราะห์บางคนนิยมตัดสินทรัพย์ที่ไม่สร้างรายได้ออกจากการคำนวณ ROA ซึ่งการใช้ ROTA จะบ่งบอกถึงคำนิยามที่แม่นยำกว่า


_____ROFA (return on fixed asset) หมายถึงอัตราผลตอบแทนต่อสินทรัพย์ถาวร สูตรโดยทั่วไปเท่ากับ ผลกำไร/สินทรัพย์ถาวร โดย ROFA จะเปรียบเทียบค่าได้ชัดเจนกว่า ROA เนื่องจากค่าของ ROA จะรวมสินทรัพย์บางอย่างที่อาจจะไม่สร้างผลกำไรโดยตรงด้วย เช่น เงินสด ตราสารหนี้ และเงินลงทุนระยะสั้น แต่การเลือกใช้ fixed asset โดยเฉพาะกลุ่มอาคาร ที่ดิน และอุปกรณ์จะบ่งบอกได้ชัดเจนว่าบริษัทไหนใช้สินทรัพย์ได้ดีกว่ากัน ยิ่งเป็นธุรกิจเดียวกันจะยิ่งชัดมาก


_____ROCE (return on capital employed) หมายถึงอัตราผลตอบแทนต่อสินทรัพย์ดำเนินงาน (operating asset) ซึ่งมีแนวคิดคล้ายกับ ROFA ที่สนใจแต่สินทรัพย์ที่สร้างกำไรทางตรงของบริษัทเท่านั้น แต่ ROCE จะมีวิธีการคิดที่แตกต่างกันออกไป โดยสูตรทั่วไปเท่ากับ ผลกำไร/(สินทรัพย์รวม – หนี้สินไม่หมุนเวียน)


_____ROE (return on equity) หมายถึงอัตราผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้น สูตรทั่วไปเท่ากับ net profit/equity โดยสังเกตได้ว่า ROE จะใช้ NP เนื่องจาก ROE เป็นการเปรียบเทียบความสามารถในการทำกำไรเมื่อเทียบกับเครดิตหรือต้นทุนของเงินทุน ดังนั้น กำไรที่ได้ต้องหักดอกเบี้ยออกเสมอ เพราะหนี้สินถือเป็นต้นทุนของเงินทุนด้วย จึงสังเกตได้ว่าบริษัทที่หนี้สินมากจะมี ROE สูงกว่าบริษัทที่หนี้สินน้อย แม้จะมีความสามารถในการทำกำไรไม่ต่างกัน เนื่องจากเกิดผลจากการใช้อัตราทดของหนี้สิน โดยปรกติ ROE จึงไม่ค่อยเหมาะที่จะนำมาใช้เปรียบเทียบบริษัทที่มีสภาพหนี้แตกต่างกันมาก โดยอาจจะหันไปใช้การวิเคราะห์โครงสร้าง ROE แบบ du pont analysis เพื่อผลลัพธ์ที่ชัดเจนมากขึ้น


_____ROIC (return on invested capital) หมายถึงอัตราผลตอบแทนต่อเงินลงทุน สูตรทั่วไปเท่ากับ NOPAT/(ส่วนของผู้ถือหุ้น + หนี้ระยะยาว) ข้อสังเกตแรกคือผลกำไรที่ใช้มักจะใช้ NOPAT ซึ่งเป็นค่ากำไรที่หักภาษีแต่ไม่หักดอกเบี้ย เนื่องจาก ROIC มองต้นทุนของเงินทุนเป็นก้อนเดียว ไม่แยกหนี้สินกับทุน ทำให้ดอกเบี้ยก็มีค่าเท่ากับกำไรที่จะไปตอบแทนให้กับหนี้สิน ผลกำไรที่ใช้จึงไม่หักดอกเบี้ยออก ข้อสังเกตที่สองคือเงินลงทุนนิยมใช้ส่วนของผู้ถือหุ้นบวกกับหนี้ระยะยาว บางตำราก็ใช้หนี้ที่มีดอกเบี้ย ซึ่งก็สามารถปรับเปลี่ยนได้ตามความเห็นของผู้วิเคราะห์ แต่โดยส่วนใหญ่หนี้ระยะยาวก็มักจะเป็นหนี้ที่มีดอกเบี้ยอยู่แล้ว ข้อสังเกตสุดท้ายคือ ROIC มีส่วนฐานคล้ายกับ ROCE มาก เรียกได้ว่าเท่ากันในทางบัญชีงบดุล แต่ทั้งสองค่ามีที่มาของทฤษฎีแตกต่างกัน ค่าหนึ่งมาจากฝั่งเครดิต ค่าหนึ่งมาจากฝั่งเดบิต


_____ROE และ ROIC มีประโยชน์ค่อนข้างมากในการประเมินมูลค่าหุ้น โดย ROE นิยมใช้ในการวิเคราะห์การเติบโตของ free cash flow to shareholder ในขณะที่ ROIC นิยมใช้ในการวิเคราะห์การเติบโตของ free cash flow to firm ซึ่งขึ้นอยู่กับว่านักลงทุนใช้โมเดลไหนในการวิเคราะห์มูลค่า


_____ในขณะที่ ROA ROFA ROTA ROCE มีประโยชน์ในเชิงการวิเคราะห์ความสามารถในการใช้สินทรัพย์เป็นหลัก ซึ่งจะเหมาะกว่าการเปรียบเทียบความแข็งแกร่งของบริษัท ซึ่งถึงแม้จะมีบางโมเดลสามารถเป็นส่วนช่วยในการประเมินมูลค่าบ้าง แต่ก็ยังถือว่าน้อยเมื่อเทียบกับ ROE และ ROIC ซึ่งใช้กันอย่างแพร่หลาย


_____หวังว่าข้อมูลที่ลงทุนศาสตร์นำเสนอในวันนี้จะมีประโยชน์ต่อเพื่อนนักลงทุนบ้างไม่มากก็น้อย ผมไม่ใช่คนเก่งอะไร หากผิดพลาดประการใดสามารถแนะนำได้เสมอ


_____ลงทุนศาสตร์
การลงทุนมีความเสี่ยง แต่ก็มีความฝันปะปนอยู่ด้วยเสมอ - ลงทุนศาสตร์
โพสต์โพสต์