การคืนเงินจากการลดทุน

การลงทุนแบบเน้นคุณค่า ลงทุนหุ้น VI เน้นที่ปัจจัยพื้นฐานเป็นหลัก

โพสต์ โพสต์
ANDREW39
Verified User
โพสต์: 51
ผู้ติดตาม: 0

การคืนเงินจากการลดทุน

โพสต์ที่ 1

โพสต์

บางกองทุนอย่าง TLGF มีการคืนเงินจากการลดทุน ไม่ทราบว่าเขาทำไปเพื่ออะไรครับ
เเละจะมีผลอะไรต่อผู้ถือหน่วยเมื่อสิ้นสุดกองทุนหรือคืนเงินจนหมดครับ
mugen90046
Verified User
โพสต์: 29
ผู้ติดตาม: 0

Re: การคืนเงินจากการลดทุน

โพสต์ที่ 2

โพสต์

ระหว่างรอผู้รู้มาตอบ
ข้อมูลข้างล่างอาจช่วยได้บ้างครับ ของกสิกร

การลดทุนในกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ และกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน
เมื่อเอ่ยถึงกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ หรือกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน สิ่งที่ผู้ลงทุนมักจะนึกถึงเป็นอย่างแรก มักจะเป็นคำถามที่ว่า กองทุนมีการจ่ายเงินปันผลดีไหม จ่ายเงินปันผลสม่ำเสมอมากน้อยแค่ไหน และก็มักจะย้อนไปดูข้อมูลในอดีตว่า ในการจ่ายแต่ละครั้ง ผู้ลงทุนได้รับเงินคืนเป็นจำนวนเท่าไหร่ อย่างไรก็ดี มีผู้ลงทุนบางส่วน ที่จะเข้าใจว่า ในการจ่ายเงินคืนผู้ถือหน่วยของกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ หรือกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานนั้น ไม่ได้มีเพียงเงินปันผลอย่างเดียว
โดยปกติ เมื่อกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ หรือกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน มีการจ่ายเงินคืนผู้ถือหน่วยลงทุน มักจะประกอบด้วยเงิน 2 ส่วน ได้แก่ เงินปันผล และการลดทุน (หรือการคืนเงินต้นบางส่วน) ซึ่งผู้ลงทุนบางท่านอาจมองข้ามรายละเอียดของการลดทุนไป และเข้าใจว่า เงินที่ได้รับทั้งก้อนนั้นเป็นเงินปันผลทั้งหมด เมื่อเวลาผ่านไปและกลับมาดูอีกที ก็อาจจะตกใจว่า ทำไมเงินต้นที่ลงทุนถึงหายไปเรื่อยๆ ซึ่งแท้ที่จริงแล้ว ผู้ลงทุนอาจลืมไปว่า ตนได้ทยอยรับเงินต้นคืนมาเรื่อยๆแล้วจากการลดทุนนั่นเอง
หลังจากพิจารณาจ่ายเงินปันผลแล้ว กองทุนจะยังมีการพิจารณาเพิ่มเติมอีกขั้นหนึ่ง ว่าปัจจุบันกองทุนมีสภาพคล่อง หรือเงินสดส่วนเกินหรือไม่ ซึ่งหากกองทุนมีสภาพคล่องส่วนเกิน ก็สามารถพิจารณาลดทุนเพื่อจ่ายคืนผู้ถือหน่วยลงทุนได้ โดยตามหลักเกณฑ์ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (สำนักงาน ก.ล.ต.) กองทุนจะสามารถลดทุนได้จากสภาพคล่องส่วนเกิน ซึ่งเกิดจากกรณีดังต่อไปนี้เท่านั้น
1.กรณีมีการจำหน่ายอสังหาริมทรัพย์ หรือสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์ ตัวอย่างเช่น กองทุนมีการขายอสังหาริมทรัพย์ที่ลงทุนออกไป และยังไม่มีแผนที่จะลงทุนเพิ่มเติม การเก็บเงินที่ได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าว ย่อมไม่เกิดประโยชน์ใดๆ กองทุนจึงสามารถจ่ายคืนเงินส่วนนี้กลับไปยังผู้ถือหน่วยลงทุนได้
2.กรณีมูลค่าอสังหาริมทรัพย์ หรือสิทธิการเช่าที่กองทุนรวมลงทุนไว้ ลดลงจากการประเมินค่า หรือการสอบทานการประเมินค่าทรัพย์สิน ตัวอย่างเช่น เดิมอสังหาริมทรัพย์ที่กองทุนลงทุนไว้ มีมูลค่า 100 ล้านบาท ต่อมา เมื่อมีการประเมินมูลค่าทรัพย์สิน ปรากฏว่า สินทรัพย์มีมูลค่าลดลง เหลือ 80 ล้านบาท จะเห็นได้ว่า มูลค่าสินทรัพย์ของกองทุนลดลงไป 20 ล้านบาท ซึ่งจะถือเป็นค่าใช้จ่ายที่นำไปหักจากผลการดำเนินงานของกองทุน ส่งผลให้กองทุนมีกำไรสุทธิลดลง และจ่ายปันผลได้ลดลง อย่างไรก็ดี ค่าใช้จ่ายดังกล่าว เป็นค่าใช้จ่ายที่ไม่ได้มีการจ่ายเงินออกไปจริง ดังนั้น กองทุนจึงมีสภาพคล่องส่วนเกินจากการประเมินค่าใช้จ่ายดังกล่าว และสามารถจ่ายเงินคืนผู้ถือหน่วยลงทุนด้วยวิธีการลดทุนได้
3.กรณีที่กองทุนมีรายการทางบัญชีที่เป็นรายการค่าใช้จ่ายรอการตัดบัญชีซึ่งทยอยตัดจ่าย ค่าใช้จ่ายรอการตัดบัญชี หมายถึง ค่าใช้จ่ายที่กองทุนได้มีการจ่ายออกไปล่วงหน้า เพื่อประโยชน์ในอนาคต เช่น ค่าใช้จ่ายในการประชาสัมพันธ์ ค่าใช้จ่ายในการประกันการขาย เป็นต้น ซึ่งได้มีการจ่ายออกไปแล้วทั้งก้อนและบันทึกเป็นสินทรัพย์ของกองทุน ก่อนที่จะค่อยๆทยอยตัดจ่าย หรือรับรู้เป็นค่าใช้จ่ายไปเรื่อยๆ ตามงวดที่เกิดขึ้นจริง ดังนั้น เมื่อมีการรับรู้เป็นค่าใช้จ่าย ก็ถือว่าเป็นค่าใช้จ่ายที่ไม่ได้มีการจ่ายเงินออกไปจริง (เพราะได้จ่ายไปล่วงหน้าแล้ว) จึงส่งผลให้กองทุนมีสภาพคล่องส่วนเกิน และทำให้กองทุนสามารถตัดจ่ายคืนผู้ถือหน่วยลงทุนด้วยการลดทุนลงได้
สำหรับกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน ในแง่ของการลดทุน ก็คล้ายคลึงกับกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ คือต้องมีสภาพคล่องส่วนเกิน แต่สิ่งที่แตกต่างกันคือ กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานสามารถลดเงินทุนจดทะเบียนได้ หากมีการกำหนดไว้ตามแผนอย่างชัดเจนแล้วในโครงการ ดังนั้น แม้จะไม่มีสภาพคล่องส่วนเกิน แต่หากในหนังสือชี้ชวนมีการระบุถึงแผนการลดทุน ก็สามารถจ่ายคืนผู้ถือหน่วยลงทุนได้เช่นกัน
ทั้งนี้ เมื่อกองทุนมีการจ่ายเงินปันผลและลดทุน จะมีการประกาศไว้อย่างชัดเจนว่า เงินส่วนใดเป็นเงินปันผล และเงินส่วนใดเป็นเงินลดทุน โดยในส่วนของเงินปันผล จะมีการหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ 10%* แต่ในส่วนของเงินลดทุน จะไม่ถูกหักภาษี ดังนั้น เมื่อมีการจ่ายเงินปันผลและลดทุน ผู้ลงทุนควรศึกษาให้ดีว่า ผลตอบแทนจากการลงทุนที่เกิดจากเงินปันผลเป็นเท่าใด และเป็นการรับเงินต้นคืนเท่าใด เพื่อที่จะได้ใช้ประเมินผลตอบแทนจากการลงทุนได้อย่างถูกต้อง โดยเมื่อมีการจ่ายเงินลดทุน เท่ากับว่าเงินลงทุนของผู้ถือหน่วยลงทุนก็จะปรับลดลงด้วย เช่น กรณีกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโรงไฟฟ้าอมตะ บี.กริม เพาเวอร์ (ABPIF) ซึ่งมีราคาที่จดทะเบียนไว้ 10.50 บาท ล่าสุดได้มีการประกาศลดทุนมูลค่า 1.0115 บาทต่อหน่วย ก็ส่งผลให้มูลค่าหน่วยลงทุนที่ตราไว้ หรือต้นทุนในการลงทุนของผู้ถือหน่วยลงทุน ลดลงมาอยู่ที่ 9.4885 บาทต่อหน่วย เมื่อมูลค่าหน่วยลงทุน หรือต้นทุนลดลง ราคาที่มีการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ ก็ลดลงด้วย แต่จะลดลงมากหรือน้อยกว่าการลดทุนนั้นขึ้นกับ Demand และ Supply ในตลาดหลักทรัพย์ฯ นอกจากนี้ ในกรณีที่เป็นกองทุนรวมสิทธิการเช่า หรือกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานที่ไม่ได้มีการเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในสินทรัพย์ กองทุนจะมีมูลค่าลดลงเรื่อยๆจนกลายเป็นศูนย์ เมื่อสิ้นสุดอายุกองทุน (อาทิ 15 ปี หรือ 20 ปี ตามอายุที่กำหนดไว้ในโครงการ) ผู้ลงทุนจึงควรต้องพิจารณาด้วยว่า เงินปันผลและเงินลดทุนที่ได้รับคืนจากการลงทุน คุ้มค่ากับเงินลงทุนหรือไม่ ในขณะที่กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ที่มีการถือกรรมสิทธิ์ในสินทรัพย์ การลดทุน อาจจะไม่ใช่ประเด็นสำคัญที่ต้องพิจารณา เพราะมูลค่าสินทรัพย์ จะไม่ลดลงเป็นศูนย์
โดยสรุป การลดทุนในกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ หรือกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน เป็นเรื่องปกติ ที่มักเกิดจากการที่กองทุนมีสภาพคล่องคงเหลือ ซึ่งกองทุนสามารถนำมาจ่ายคืนผู้ถือหน่วยลงทุนได้ เมื่อมีการลดทุนแล้ว มูลค่าหน่วยลงทุน ก็จะลดลง และจะส่งผลให้ราคาซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ ปรับตัวลดลงไปด้วย
หมายเหตุ : *เงินปันผลของกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์จะมีการหักภาษี ณ ที่จ่าย 10% ในขณะที่เงินปันผลของกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานจะได้รับการยกเว้นไม่เสียภาษี ณ ที่จ่าย
โพสต์โพสต์