ธุรกิจอ่วมแบงก์โขกดอกเบี้ยเพิ่ม บวกค่าความเสี่ยงสวนทางกนง.-อ

การลงทุนแบบเน้นคุณค่า ลงทุนหุ้น VI เน้นที่ปัจจัยพื้นฐานเป็นหลัก

โพสต์ โพสต์
somkull
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 349
ผู้ติดตาม: 4

ธุรกิจอ่วมแบงก์โขกดอกเบี้ยเพิ่ม บวกค่าความเสี่ยงสวนทางกนง.-อ

โพสต์ที่ 1

โพสต์

ธุรกิจอ่วมแบงก์โขกดอกเบี้ยเพิ่ม บวกค่าความเสี่ยงสวนทางกนง.-อสังหาฯน่วม

updated: 20 มิ.ย. 2558 เวลา 11:17:35 น.


ก ก ก
ธุรกิจ รายกลาง-เล็กร้องจ๊าก เจอแบงก์โขกดอกเบี้ยกู้พรีไฟแนนซ์เพิ่ม 0.125% สวนทาง กนง.ลดดอกเบี้ยนโยบาย แบงก์กรุงเทพยอมรับเข้มปล่อยกู้อสังหาฯ ชาร์จค่าความเสี่ยงลูกค้าเพิ่มขึ้น ฟาก ธ.กรุงไทยชี้สถานการณ์เสี่ยงสูงเน้นปล่อยกู้ลูกค้าเก่า แถมลดวงเงินกู้-เงื่อนไขพรึ่บ

พรีไฟแนนซ์บวก 0.125%

แหล่งข่าวผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์นอกตลาดหลักทรัพย์ฯรายหนึ่ง เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า แม้ที่ผ่านมา คณะกรรมการนโบายการเงิน(กนง.)ลดดอกเบี้ยนโยบาย2ครั้งรวม 0.50% แต่แทนที่จะเป็นผลบวก ทำให้ต้นทุนการเงินของผู้ประกอบการผ่อนคลายขึ้น ปรากฏว่าทางธนาคารกรุงเทพขอเพิ่มดอกเบี้ยวงเงินกู้พรีไฟแนนซ์ (ปล่อยกู้ให้กับโครงการ) สำหรับคำขอกู้พัฒนาโครงการใหม่ โดยบวกเพิ่มในอัตรา 0.125%

"ทางสถาบันการเงินชี้แจงว่า ผลกระทบจาก กนง.ลดดอกเบี้ยนโยบาย กดดันให้ต้องลดดอกเบี้ยเงินกู้ตามไปด้วย จะลดมากหรือน้อยก็มีผลทำให้รายได้หายไป ดังนั้น จึงต้องหารายได้จากดอกเบี้ยทางอื่นมาทดแทน ขณะที่ภาคอสังหาฯนั้น เงินกู้พรีไฟแนนซ์มีความเข้มงวดอย่างมาก รายใหม่ไม่มีการปล่อยกู้เลย เราเป็นรายเก่าที่มีประวัติขอสินเชื่ออยู่แล้ว แต่เนื่องจากธุรกิจอสังหาฯตอนนี้ถือว่ามีความเสี่ยง จึงขอบวกดอกเบี้ยเพิ่ม"

แหล่งข่าวกล่าวว่า ประวัติการขอสินเชื่อที่ผ่านมา ทางสถาบันการเงินที่ปล่อยกู้ให้อัตราดอกเบี้ย MLR ล่าสุด สำหรับโครงการใหม่จะบวกดอกเบี้ยเป็น MLR +0.125% ถึงแม้ทราบดีว่าแบงก์ผลักภาระมาให้ผู้ประกอบการหรือผู้กู้ ไม่ใช่เรื่องรับได้หรือไม่ได้ เพราะอำนาจต่อรองในภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวแบบนี้ต้องทำใจว่าดอกเบี้ยเงินกู้ถูก บวกเพิ่มอีกเล็กน้อยก็ต้องยอม โดยภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจะถูกบวกเข้าไปในราคาสินค้าหรือราคาบ้านตามกลไก ตลาด

รายกลาง-เล็กขอกู้ไม่หยุด

แหล่งข่าวจากบริษัท เปี่ยมสุข ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด เปิดเผยเพิ่มเติมว่า ก่อนหน้านี้ได้ยื่นขอกู้พรีไฟแนนซ์ 2 โครงการใหม่คือ ทาวน์โฮม กาญจนาภิเษก-พระราม 5 และบ้านแฝดใกล้จุดขึ้นลงทางด่วนศรีสมาน ผ่านธนาคารกรุงไทยและธนาคารเกียรตินาคิน ทั้ง 2 ธนาคารยังไม่ได้บวกเพิ่มดอกเบี้ยเงินกู้ อย่างไรก็ตาม มีความเป็นไปได้ที่ธนาคารบางแห่งอาจขอขึ้นดอกเบี้ยหากลูกค้าเป็นผู้ประกอบ การหน้าใหม่ หรือทำคอนโดมิเนียมในทำเลที่มีซัพพลายจำนวนมาก จึงถูกมองว่ามีความเสี่ยง

ขณะที่นางสาวศริญญา เรืองปัญญาวุฒิ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ชนันธร ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด เปิดเผยว่า เตรียมยื่นขอพรีไฟแนนซ์โครงการใหม่ เป็นทาวน์โฮมโซนเทียนทะเล ราคาเริ่มยูนิตละ 3 ล้านบาท เมื่อเร็ว ๆ นี้ได้หารือเบื้องต้นกับสถาบันการเงินที่เป็นคู่ค้าประจำ เช่น ธนาคารเกียรตินาคิน ฯลฯ ยังไม่มีการแจ้งว่าจะบวกดอกเบี้ยเพิ่มแต่อย่างใด

ธ.กรุงเทพชี้ "อสังหาฯ" เสี่ยงสูง

นายวีระศักดิ์ สุตัณฑวิบูลย์ รองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ เปิดเผยว่า ธนาคารไม่ได้ "ดอด" ขึ้นอัตราดอกเบี้ยแก่ลูกค้าสินเชื่อโครงการอสังหาริมทรัพย์ขนาดกลาง-เล็ก เพิ่มขึ้น โดยหลักการปล่อยสินเชื่อให้แก่ลูกค้าจะต้องตกลงเงื่อนไขและราคาดอกเบี้ยให้ เสร็จสรรพ แต่หากมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น ธนาคารจะมีการแจ้งการเปลี่ยนแปลงให้แก่ลูกค้าทราบทุกครั้ง ซึ่งเป็นการตกลงร่วมกัน

อย่างไรก็ตาม การคิดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกับลูกค้ารายหนึ่ง ๆ นั้น หากธนาคารเริ่มคิดอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ MLR ก็ไม่ได้หมายความว่าธนาคารจะต้องคิดอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ MLR ไปตลอด เพราะสิ่งแวดล้อมที่มีความเสี่ยงสูงขึ้น ธนาคารก็ต้องคิดอัตราดอกเบี้ยแปรผันไปตามความเสี่ยงของลูกค้าหรือสถานการณ์ ขณะนั้น ๆ หากความเสี่ยงมาจากด้านใดด้านหนึ่ง ธนาคารก็อาจต้องขอปรับดอกเบี้ยขึ้นได้บ้าง

"เวลาที่สถานการณ์ไม่ดี เราต้องปล่อยอัตราดอกเบี้ยเท่าเดิม ทั้ง ๆ ที่ความเสี่ยงสูงขึ้นคงเป็นไปไม่ได้ เพราะเราก็ต้องมีค่า Risk Premium ที่สูงขึ้น ซึ่งลูกค้าก็ต้องเข้าใจระบบแบงก์ด้วย เรามีเกณฑ์บาเซิลที่จะต้องทำเรตติ้งของลูกค้า ถ้าเรตติ้งสูงขึ้นเราก็ต้องสำรองเพิ่มขึ้น แล้วจะให้แบงก์เก็บดอกเบี้ยเท่าเดิมแบงก์ก็คงจะเจ๊ง"

นายวีระศักดิ์ กล่าวว่า ในภาวะปัจจุบันภาคอสังหาริมทรัพย์โดยรวมชะลอตัวลงบ้าง หลายโครงการยอดขายเริ่มช้าลง ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับทำเลของแต่ละโครงการด้วย โดยโครงการที่เป็นไพรมโลเกชั่นของผู้ประกอบการรายใหญ่ เช่น ทำเลติดรถไฟฟ้า ก็ยังมียอดขายที่ดี เห็นยอดจองสูงถึง 80% ภายใน 1 วัน เพราะเป็นโครงการที่ลูกค้าเชื่อมั่นว่าดี และมั่นใจว่าจะสร้างแล้วเสร็จ แต่โครงการใหม่ ๆ หรือผู้ประกอบการรายเล็กลงยอดขายก็คงช้าลงบ้าง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าลูกค้าจะเจ๊งหรือขายไม่ได้เลย แต่จากเดิมขาย 5 หลัง อาจจะลดเหลือ 3 หลังใน 1 วัน เป็นต้น ซึ่งธนาคารก็จะเข้าดูเป็นรายกรณี

กรุงไทยลดสัดส่วนปล่อยกู้

นาย อุดมศักดิ์ โรจน์วิบูลย์ชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส สายงานธุรกิจขนาดกลาง ธนาคารกรุงไทยกล่าวว่า สถานการณ์การปล่อยสินเชื่อรายย่อยรายกลางในขณะนี้ ธนาคารยอมรับว่า จำเป็นต้องพิจารณามากขึ้นโดยเฉพาะผู้ประกอบการใหม่ ๆ ในภาคอสังหาริมทรัพย์ต่างจังหวัด เนื่องจากเริ่มเห็นสัญญาณการชะลอตัวของยอดขายโครงการใหม่ ๆ เนื่องจากความสามารถซื้อและผ่อนชำระของผู้ซื้อลดลงจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอ ตัว

ส่วนการเพิ่มดอกเบี้ยเงินกู้สินเชื่อในบางรายบางธุรกิจนั้น อันนี้ยังไม่เห็น แต่เชื่อว่าต้องแล้วแต่ราย และต้องขึ้นอยู่กับการพิจารณาความเสี่ยงของลูกค้า ซึ่งไม่ใช่แค่สินเชื่อบ้านและสินเชื่อเอสเอ็มอีเท่านั้น แต่ทุกสินเชื่อก็ต้องยึดหลักการเดียวกัน ตอนนี้สิ่งที่ธนาคารทำได้ภายใต้สถานการณ์นี้คือ การเน้นปล่อยสินเชื่อให้ฐานลูกค้าเก่า ๆ ขณะที่ลูกค้าใหม่ก็พิจารณาเข้มงวดมากขึ้น และพยายามให้ลูกค้าใช้ทุนตัวเองมากที่สุดในการดำเนินธุรกิจ

"เมื่อ ก่อนเราให้สินเชื่อลูกค้าเอสเอ็มอีรายย่อยรายกลางราว 70% ที่เหลือลูกค้าออกทุนเอง 30% ตอนนี้ก็พยายามให้ลูกค้าใช้ทุนตัวเองมากขึ้น เช่น ให้กู้ 50-60% ที่เหลือให้ลูกค้าใช้ทุนตัวเอง ซึ่งสิ่งนี้ไม่ได้เป็นการลดวงเงินกู้ของลูกค้า แต่ต้องการลดต้นทุนของผู้ประกอบการให้มีต้นทุนที่ถูกลงผ่านการจ่ายดอกเบี้ย ที่น้อยลง"

เข้มเงื่อนไขกู้เอสเอ็มอี

นายจิรัชยุติ์ อัมยงค์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายพาณิชย์ธนกิจ ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ที่ผ่านมายอมรับว่า ปริมาณเอ็นพีแอลของกลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอีโดยภาพรวม ยังปรับตัวสูง ขึ้นเกือบทุกเดือน ดังนั้น การพิจารณาให้สินเชื่อของหลายธนาคารพาณิชย์ จึงมีการคิดค่าความเสี่ยง (Risk Premium) รวมถึงค่าธรรมเนียมการให้บริการเพิ่มขึ้น แต่จะปรับขึ้นอัตราเท่าไหร่หรืออย่างไร จะมีการพิจารณาเป็นรายกรณีผู้กู้

"บางแบงก์ปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้ในลูกค้ารายที่มีความเสี่ยงมากขึ้น แต่เรามองว่าการปรับขึ้นดอกเบี้ยไม่น่าจะเป็นทางออกทั้งหมด เช่น เดิมคิดดอกเบี้ยระดับ MLR แต่พอโครงการมีความเสี่ยงขึ้น ก็คิดเป็น MLR +1 หรือ +2 ซึ่งแบบนี้ไม่น่าจะสามารถลดความเสี่ยงลงได้ เพราะถ้าเสี่ยงจริงดอกเบี้ยจาก 5-6% เพิ่มเป็น 7% แค่ 1 บาท ไม่น่าจะครอบคลุมความเสี่ยงที่ปล่อยกู้ไปแล้วเป็น 100-200 ล้านบาท ถ้าเป็นแบบนี้เราเลือกที่จะไม่ปล่อยกู้หรือลดวงเงินสินเชื่อลงดีกว่า" นายจิรัชยุติ์กล่าว

นายจิรัชยุติ์กล่าวว่า ปัจจุบันความเสี่ยงของธุรกิจเอสเอ็มอีค่อนข้างกระจายตัว คือไม่ใช่มีความเสี่ยงทั้งกลุ่มธุรกิจ แต่จะมีความเสี่ยงเป็นรายบริษัทหรือรุนแรงขึ้นก็จะมีความเสี่ยงทั้งซัพพลาย เชน แต่ที่ธนาคารจับตาเป็นพิเศษจะเป็นกลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์แนวสูง การพิจารณาสินเชื่อจึงต้องดูเป็นรายกรณี

โดยในส่วนของธนาคารจะมีนโย บายคิดอัตราดอกเบี้ยตามความเสี่ยงของลูกค้าอยู่แล้ว ซึ่งหากพบว่าลูกค้ามีความเสี่ยงสูงขึ้นมาก ธนาคารก็จะเลือกที่จะไม่ปล่อยสินเชื่อให้มากกว่า แต่หากมีความเสี่ยงไม่มากนัก ธนาคารก็อาจปรับลดวงเงินให้สินเชื่อลง เช่น การปล่อยสินเชื่อให้แก่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เดิมปล่อยสินเชื่อเพื่อซื้อที่ดินอยู่ที่ระดับ 50-60% และปล่อยสินเชื่อในส่วนของการก่อสร้าง 70-90% ของต้นทุนลงทุนรวม ก็มีการปรับวงเงินกู้ลดลงประมาณ 10% เป็นต้น

"ยกตัวอย่างการสร้าง คอนโดมิเนียม ถ้าเป็นลูกค้าที่มีความน่าเชื่อถือและโครงการอยู่ในทำเลที่ดี โครงการที่น่าสนใจ แถมมีรายได้จากธุรกิจอื่น ๆ ด้วย การปล่อยกู้ของเราก็จะให้ตั้งแต่วันแรกที่ลูกค้าเริ่มสร้างโครงการ แต่หากไม่มั่นใจในตัวโครงการ เราก็จะให้ลูกค้าลงทุนไปก่อนเพื่อให้เห็นยอดจอง ยอดเงินดาวน์เข้ามาก่อน แล้วจึงปล่อยกู้ตาม โดยในพอร์ตของแบงก์ จะมีลูกค้ากลุ่มนี้ประมาณ 50% ของลูกค้าทั้งหมด ส่วนลูกค้าเก่าก็มีการรีวิวอยู่เป็นระยะ ๆ" นายจิรัชยุติ์กล่าว

ด้านนายวิศรุต ปัญญาภิญโญผล ผู้อำนวยการฝ่ายสินเชื่อธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ สายสินเชื่อธุรกิจ ธนาคารเกียรตินาคิน กล่าวว่า ธนาคารจะพิจารณาปล่อยสินเชื่อให้กับลูกค้าในวงเงินสินเชื่อและราคาดอกเบี้ย ในระดับที่เหมาะสมกับความเสี่ยง ถ้าเป็นลูกค้าใหม่หรือเป็นลูกค้าเก่า แต่ลงทุนในโปรเจ็กต์ใหม่ที่มีความเสี่ยงขึ้น ก็เป็นไปได้ที่ธนาคารจะคิดดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น หรือบางรายอาจปรับลดวงเงินให้สินเชื่อลงบ้าง ซึ่งทั้งหมดจะพิจารณาเป็นรายกรณี

"เราก็เป็นแบงก์เล็กต้องบาลานซ์ความเสี่ยงกับการปล่อยกู้ให้ดี เพราะอีกมุมเราก็ยังอยากปล่อยกู้อยู่ คือถ้าเป็นโครงการที่ไม่มั่นใจเลย เราก็ไม่เอาตั้งแต่แรกดีกว่า แต่ถ้าเป็นโครงการที่แน่ใจเราก็ลุย อย่าลืมว่าเราเป็นแบงก์เล็ก ถ้าคิดดอกเบี้ยสูงกว่าและยังให้วงเงินน้อยกว่า เราคงปล่อยกู้ไม่ได้"
somkull
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 349
ผู้ติดตาม: 4

Re: ธุรกิจอ่วมแบงก์โขกดอกเบี้ยเพิ่ม บวกค่าความเสี่ยงสวนทางกน

โพสต์ที่ 2

โพสต์

แบบนี้จะเป็นผลดีกับ บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ใช่มั้ยครับ
ลูกหิน
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 1217
ผู้ติดตาม: 1

Re: ธุรกิจอ่วมแบงก์โขกดอกเบี้ยเพิ่ม บวกค่าความเสี่ยงสวนทางกน

โพสต์ที่ 3

โพสต์

ไม่มากครับ แต่ก็จะทำให้กลุ่มธนาคารกำไรลดลงไม่มาก พอๆก็ที่ต้องตั้งสำรองมากขึ้นครับ รับกับการที่เศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวครับ กำไรคงทรงๆอยู่อีกสักพักใหญ่ๆนะครับ ตอนนี้ขอดูไปเฉยๆก่อนครับ ราคาหุ้นกลุ่มนี้ไม่แพงแต่ก็ยังถูกไม่เพียงพอกับอัตราเสี่ยงครับ อันนี้มุมมองส่วนตัวนะครับซึ่งอาจจะผิดได้เสมอครับ :D
โพสต์โพสต์