การวิเคราะห์สภาพการแข่งขันของธุรกิจโรงพยาบาลเอกชน

การลงทุนแบบเน้นคุณค่า ลงทุนหุ้น VI เน้นที่ปัจจัยพื้นฐานเป็นหลัก

โพสต์ โพสต์
MarcoPolo
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 522
ผู้ติดตาม: 7

การวิเคราะห์สภาพการแข่งขันของธุรกิจโรงพยาบาลเอกชน

โพสต์ที่ 1

โพสต์

ที่มา: http://www.facebook.com/SustainW

"- การวิเคราะห์สภาพการแข่งขันของธุรกิจโรงพยาบาลเอกชน -"

เขียนเมื่อ 24 พฤษภาคม 2558

สวัสดีครับ วันนี้ เรามาศึกษาวิเคราะห์สภาพการแข่งขันของธุรกิจโรงพยาบาลเอกชน

ซึ่งเครื่องมือที่ใช้ในการวิเคราะห์นี้ จะใช้การวิเคราะ์ทางกลยุทธ์ที่เรียกว่า Five Force Analysis (การวิเคราะห์ของ 5 กำลัง) ที่เป็นเครื่องมือการวิเคราะห์โดย Professor Doctor Michael E. Porter, ซึ่งเป็นอาจารย์, นักคิด, นักวิเคราะห์ และนักกลยุทธ์ระดับโลก

ผมคงไม่ได้แจงรายละเอียดว่าอะไรคือ Five Force Analysis แต่จะใช้ในการวิเคราะห์ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชน ดังนี้ครับ

........

1) สภาพการแข่งขันของคู่แข่งต่างๆ ในธุรกิจโรงพยาบาลเอกชน (Rivalry among existing competitors)

คู่แข่งที่แท้จริงของ ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชน คือ โรงพยาบาลของรัฐบาล และ สุขภาพอนามัยที่ดีของประชาชน เพราะว่า ถ้าโรงพยาบาลของรัฐบาลมีบริการพร้อมทั้งราคาที่สมเหตุสมผลกว่า และประชาชนทั่วไปมีสุขภาพอนามัยที่ดีนั้น ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนก็จะมีโอกาสที่จะขาดทุนและล้มละลายไปได้

แต่ความเป็นจริงแล้วนั้น

- โรงพยาบาลของรัฐมีความสามารถในการบริการได้ในระดับหนึ่ง รัฐสามารถให้บริการที่ดีกว่านี้ได้ แต่พร้อมค่ารักษาบริการที่สูงขึ้น หรือไม่ก็ต้องเพิ่มการจัดเก็บภาษี เพื่อให้เมืองไทยเป็นรัฐสวัสดิการ

แต่เรื่องพวกนี้คงไม่เกิดในเร็ววันนี้ โรงพยาบาลรัฐคงเป็นทางเลือกสำหรับผู้ป่วยบางกลุ่มเท่านั้น ครอบครัวที่มีฐานะปานกลางขึ้นไป คงจะเลือกใช้ทั้งโรงพยาบาลรัฐและเอกชน

- ถึงแม้ว่า ประชาชนทั่วไปตอนนี้ จะใส่ใจสุขภาพมากขึ้น หลายๆ ท่านคิดว่า น่าจะป่วยน้อยลง แต่อย่าลืมว่า เมื่อเราใส่ใจสุขภาพมากขึ้น เราก็ต้องไปพบแพทย์บ่อยขึ้น เพื่อตรวจร่างกาย ตรวจสุขภาพฟัน หรือเพื่อความงามต่างๆ 

นอกจากนี้ เมื่อเราอายุมากขึ้นแล้ว หมายความว่า จำนวนครั้งที่เราจะต้องไปโรงพยาบาลก็จะมากขึ้น ทำให้การจับจ่ายใช้สอยสำหรับสุขภาพเราสูงขึ้น

นอกจากนี้ คู่แข่งของธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนในประเทศไทย คือ โรงพยาบาลต่างประเทศ 

แน่นอนว่า คนไทยส่งลูกไปเรียนเมืองนอก ไปท่องเที่ยวต่างประเทศ ซึ่งเราคิดว่า เราจะได้คุณภาพที่ดีกว่า มีหน้ามีตามากกว่า แต่คงไม่มีใคร ครอบครัวไหน ส่งคนป่วยในครอบครัว ไปเมืองนอกอย่างแน่นอน เพราะเราเชื่อมั่นในคุณภาพของแพทย์และทีมงานที่เมืองไทยมากกว่า รวมถึงอุปสรรคทางด้านภาษา เพราะศัพท์ภาษาอังกฤษของการป่วยหรืออาการของโรคต่างๆ ค่อนข้างยาก ถึงแม้ว่าจะเป็นผู้ที่เก่งภาษาอังกฤษก็ตาม

มีแต่ผู้ป่วยที่อยู่ต่างประเทศ ที่อยากจะใช้บริการที่เมืองไทย เนื่องจากการบริการและค่ารักษาพยาบาลที่ดีกว่านั่นเอง

ส่วนการแข่งขันของโรงพยาบาลเอกชนด้วยกันเองนั้น คงเป็นการแข่งขันเรื่องบริการ ทำเล และชื่อเสียง มากกว่า ที่จะมาตัดราคากัน เพราะ การตัดสินใจ ว่าจะเข้ารับการรักษาที่ไหนนั้น ขึ้นอยู่กับความพึงพอใจ ที่ไม่ใช่ค่ารักษาพยาบาลอย่างเดียว

>> โดยสรุปแล้ว ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชน มีคู่แข่งของธุรกิจไม่มากนั้น และไม่มีแนวโน้มที่จะสูญเสียสภาพการแข่งขันไปให้คู่แข่งของธุรกิจได้ง่ายๆ

ควรจะเน้นการบริการที่ดีกว่าโรงพยาบาลของรัฐ, บรืการด้านความงามและการชะลอการสูงอายุ รวมถึงนวัตกรรมใหม่ๆ มากกว่าที่จะรักษาผู้ป่วยแค่อย่างเดียว เช่น การป้องกันโรค

สุดท้าย ควรเน้นไปยังลูกค้าชาวต่างชาติ ที่พึงพอใจรักษาที่มืองไทย มากกว่าประเทศของตนเอง

........

2) ความยากและง่ายของคู่แข่งรายใหม่ (Threat of new entry)

การเข้ามาของคู่แข่งรายใหม่ๆ นั้น ค่อนข้างยาก เนื่องจาก ต้องมีประสบการณ์และทีมงานในธุรกิจโรงพยาบาลมาก่อน, เงินลงทุนที่ใช้ในการลงทุนค่อนข้างสูง และการหาบุคลากรทางการแพทย์ที่ค่อนข้างมีจำกัดในปัจจุบัน ซึ่งรวมถึงแพทย์ที่มีความชำนาญเฉพาะทาง

>> โดยสรุป คือ การเกิดขึ้นของโรงพยาบาลเอกชนรายใหม่ๆ ค่อนข้างจะเกิดได้ยาก นอกจากกลุ่มโรงพยาบาลเดิมๆ ที่วางแผนจะขยายสาขา

นอกจากนี้ เจ้าของโรงพยาบาลเอกชนที่ดำเนินการอยู่ โดยเฉพาะที่มีขนาดเล็กและไม่มีความโดดเด่นใดๆ ต้องการที่จะขายให้โรงพยาบาลเอกชนขนาดใหญ่ด้วยซ้ำ เนื่องจากความยากลำบากในการดำเนินงานและต้นทึนที่สูงขึ้น ทำให้ผลประกอบการณ์ย่ำแย่

........

3) การมีอำนาจเหนือธุรกิจของคู่ค้า (Bargaining Power of Suppliers)

เราจะสังเกตุได้ว่า เมื่อเราไปทั้งโรงพยาบาลรัฐหรือเอกชนทั่วไป เราจะเห็นทีมขายของบริษัทยาและเวชภัณฑ์ต่างๆ มาเฝ้าคุณหมอ

ซึ่งทีมขายเหล่านี้ เกินครึ่งจะไม่ใช่ผู้ที่จบการศึกษาทางเภสัชกรรมโดยตรง แต่เป็นผู้ที่มีทักษะการขายหรือการโน้มน้าวลูกค้าอย่างดี เช่น พูดจาดี, แต่งตัวดี และการให้บริการลูกค้าเป็นเรื่องที่สำคัญ

ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ ทำให้เราสรุปได้ว่า อำนาจเหนือธุรกิจของคู่ค้าสำหรับธุรกิจโรงพยาบาลไม่ได้สูงเลย อาจจะเนื่องจาก บริษัทผู้ผลิตรวมถึงขายยาและเวชภัณฑ์มีอยู่มากมายทั้งภายในและภายนอกประเทศนั่นเอง

ดังนั้นธุรกิจโรงพยาบาลจึงมีอำนาจต่อรองในเรื่องของราคาและเครดิตเทอม (รับของมาแล้วอีกกี่วันหรือเดือน จึงจะจ่ายเงิน)  ยิ่งโรงพยาบาลที่มีขนาดใหญ่หรือรวมตัวเป็นกลุ่มก็จะได้เปรียง

>> โดยสรุป ธุรกิจโรงพยาบาลเป็นธุรกิจที่มีอำนาจต่อรองกับคู่ค้าอย่างมากครับ ยิ่งถ้าเป็นกลุ่มโรงพยาบาลเครือข่ายขนาดใหญ่ ก็ยิ่งมีอำนาจสูงตาม

........

4) การมีอำนาจเหนือธุรกิจของลูกค้า (Bargaining Power of Customers)

ผู้ป่วยเมื่อเข้ามารับการรักษาแล้ว แทบจะไม่มีอำนาจต่อรองใดๆ เลย โดยเฉพาะผู้ป่วยนอกเมื่อมารักษาแล้ว ก็ต้องจ่ายเงินเลย แทบไม่มีปัญหาในการเก็บหนี้ หรือ หนี้เสียต่างๆ

ส่วนผู้ป่วยในนั้น อาจจะมีปัญหาในการเก็บหนี้บ้าง หรือต้องใช้เวลากว่าผู้ป่วยจะจ่ายค่ารักษาพยาบาล

ลูกค้ามีอำนาจอย่างเดียว คือ ก่อนที่จะรักษาพยาบาล ที่อาจจะตัดสินใจไปเข้าโรงพยาบาลรัฐ หรือ เอกชน ที่บริการดีกว่า หรือ ราคาสมเหตุสมผลกว่า

>> โดยสรุป ธุรกิจโรงพยาบาลเป็นธุรกิจที่มีลูกค้ามีอำนาจต่อรองค่อนข้างต่ำ ยิ่งถ้าเป็นโรงพยาบาลที่มีชื่อเสียงทางด้านบริการ หรือ แพทย์ผู้เชียวชาญเฉพาะทางแล้ว ลูกค้าแทบจะไม่ต่อรองใดๆ เลย

........

5) การมีโอกาสทดแทนจากสินค้าและบริการอื่นๆ (Threat of Substitutes)

การทดแทนบริการของโรงพยาบาลเอกชน มีโอกาสเป็นไปได้ 3 แนวทางคือ โรงพยาบาลรัฐ, คลีนิคเล็กๆ ทั่วไป หรือ ร้านขายยาทั่วไปที่ผู้ป่วยซื้อยามารักษาเอง

ซึ่งโอกาสที่จะถูกทดแทนนั้น ขึ้นอยู่กับกลุ่มลูกค้า คือ ถ้าลูกค้าระดับปานกลางถึงล่าง โอกาสที่จะถูกทดแทนได้ง่าย แต่ถ้าเป็นกลุ่มลูกค้าระดับปานกลางถึงบน ยิ่งมีโอกาสน้อยที่จะถูกทดแทน เนื่องจากความต้องการทางด้านบริการและความเชี่ยวชาญของแพทย์

>> โดยสรุป การถูกทดแทนยิ่งน้อย สำหรับธุรกิจโรงพยาบาลเอกชน ที่ให้บริการที่ดี พร้อมทั้งมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญให้บริการ

........

จากการวิเคราะห์ Five Force Analysis นั้น เราสามารถสรุปได้ว่า กลุ่มโรงพยาบาลเอกชนที่มีเครือข่ายขนาดใหญ่, มีชื่อเสียงด้านบริการ, มีแพทย์ที่มีผู้เชี่ยวชาญ และมีราคาที่สมเหตุสมผลตามกลุ่มเป้าหมายลูกค้า จะมีสภาวะการแข่งขันที่ดียอดเยี่ยมครับ

ถ้าเราเจอโรงพยาบาลนี้ พร้อมทั้งราคาที่ไม่แพงเกินไป เราควรจะเข้าลงทุน เพื่อความมั่งคั่งอย่างยั่งยืนครับ

- โชคดีครับ -
มั่งคั่งอย่างยั่งยืน
โพสต์โพสต์