รถไฟรางคู่ถ้ามาจริง

การลงทุนแบบเน้นคุณค่า ลงทุนหุ้น VI เน้นที่ปัจจัยพื้นฐานเป็นหลัก

โพสต์ โพสต์
ภาพประจำตัวสมาชิก
Nevercry.boy
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 4641
ผู้ติดตาม: 23

รถไฟรางคู่ถ้ามาจริง

โพสต์ที่ 1

โพสต์

กลุ่มไหนจะได้งานมากสุด ระหว่าง เหล็ก กับ รับเหมา
เด็กผู้ชายไม่ร้องไห้
http://nevercry-boy.blogspot.com/
ภาพประจำตัวสมาชิก
Samkok
Verified User
โพสต์: 1880
ผู้ติดตาม: 2

Re: รถไฟรางคู่ถ้ามาจริง

โพสต์ที่ 2

โพสต์

อ่านอิงจากกระทู้นี่ครับ ผมคิดว่า เหล็กได้ประโยชน์เต็มๆครับ :D
Tarzann เขียน:โครงการรถไฟรางคู่ ดูแนวโน้มน่าจะผ่านการอนุมัตินะครับ
ไม่ทราบว่าจะช่วยเพิ่ม demand ของ PC-wire ได้มากขนาดไหน

ผมลองคิดคร่าวๆ
ถ้าทำรางเดียวทั้งหมดให้เป็นรางคู่ จะต้องสร้างรางเพิ่มอีก 3685 กม หรือ 3,685,000 เมตร
ทุกๆ 1 เมตร จะใช้หมอนรอง 2.5 อัน หมอนรองแต่ละอันจะใช้ PC-wire 15 kg

จะต้องใช้ PC-wire ทั้งหมด = 3,685,000 x 2.5 X 15/1000 = 1,381,987 ตัน

คาดว่าใช้เวลาก่อสร้างทั้งหมด 8 ปี ดังนั้นจะมี Demand เพิ่มเข้ามาอีกปีล่ะ 172,748 ตันต่อปี

คิดแบบนี้พอได้ไหมครับ ?
ระบบรถไฟทั่วประเทศในปัจจุบัน มีทั้งรางเดี่ยว และรางคู่ทั้งสิ้น ระยะทาง 4,043 กิโลเมตร ให้บริการครอบคลุมเพียง 47 จังหวัด
โดยแบ่งเป็น รถไฟทางเดี่ยว 91.1 % หรือแทบทั้งหมดของรางรถไฟทั้งประเทศ มีระยะทาง 3,685 กิโลเมตร (ร้อยละ 91.1)
http://www.isnhotnews.com/read-hot/1031 ... 35-53.html
ในโลกหล้านี้... มีเพียงหนึ่งเดียวที่ฟ้ามิอาจลิขิตได้นั่นก็คือ "ยอดคน"
ภาพประจำตัวสมาชิก
Ii'8N
Verified User
โพสต์: 3682
ผู้ติดตาม: 7

Re: รถไฟรางคู่ถ้ามาจริง

โพสต์ที่ 3

โพสต์

ดูตัวอย่างกำลังทำอยู่
... เผื่อจะเป็น clue และเป็นครูได้

ที่มา
http://www.railway.co.th/resultproject/ ... ult=135610

Draft TOR
เอกสารประกวดราคาจ้างด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์
http://www.railway.co.th/auction/tor/pd ... 1doc-2.pdf
http://www.railway.co.th/auction/tor/pd ... 1tor-2.pdf


http://www.railway.co.th/auction/system ... umDC=20147
ประกาศฝ่ายโครงการพิเศษและก่อสร้าง
การรถไฟแห่งประเทศไทย
เรื่อง ประกวดราคาจ้างด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ โครงการก่อสร้างทางคู่ในเส้นทางรถไฟสายชายฝั่งทะเลตะวันออก ช่วงฉะเชิงเทรา-คลองสิบเก้า-แก่งคอย สัญญาที่ 1 งานก่อสร้างทางรถไฟทางคู่ ช่วงฉะเชิงเทรา-คลองสิบเก้า-วิหารแดง และช่วงบุใหญ่-แก่งคอย พร้อมทางคู่เลี่ยงเมือง (Chord Lines) 3 แห่ง
- - - - - - - - - - - - - - -
เลขที่ กส.1/ปก./2557

การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) มีความประสงค์จะประกวดราคาจ้างก่อสร้างโครงการก่อสร้างทางคู่ในเส้นทางรถไฟสายชายฝั่งทะเลตะวันออก ช่วงฉะเชิงเทรา-คลองสิบเก้า-แก่งคอย ด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยขอบเขตและรายละเอียดสังเขปของงานสัญญาที่ 1 งานก่อสร้างทางรถไฟทางคู่ ช่วงฉะเชิงเทรา-คลองสิบเก้า-วิหารแดง และช่วงบุใหญ่-แก่งคอย พร้อมทางคู่เลี่ยงเมือง (Chord Lines) 3 แห่ง ที่ต้องการจ้างมีดังนี้

• ก่อสร้างทางรถไฟทางคู่เพิ่ม 1 ทาง ขนานเส้นทางรถไฟเดิม จากสถานีฉะเชิงเทราถึงสถานีวิหารแดงระยะทาง 78 กิโลเมตร และจากสถานีบุใหญ่ถึงสถานีแก่งคอย ระยะทาง 19 กิโลเมตร รวมระยะทางทั้งสิ้นประมาณ 97 กิโลเมตร
• งานก่อสร้างทางคู่เลี่ยงเมือง (Chord Lines) จำนวน 3 แห่ง ที่สถานีชุมทางฉะเชิงเทรา สถานีชุมทาง แก่งคอย และสถานีชุมทางบ้านภาชี รวมระยะทางประมาณ 7.1 กม.
• งานติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณและโทรคมนาคมตลอดแนวเส้นทางช่วงฉะเชิงเทรา-คลองสิบเก้า-แก่งคอย รวมทั้งทางคู่เลี่ยงเมือง (Chord Lines) ทั้ง 3 แห่ง
• งานก่อสร้างสะพานรถไฟคอนกรีตเสริมเหล็ก 57 แห่ง รวมความยาวประมาณ 4,763 เมตร
• งานก่อสร้างสะพานรถยนต์ข้ามทางรถไฟ เป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก 2 แห่ง รวมความยาวประมาณ 212 เมตร


ราคากลาง 10,183,702,194.00 บาท

ผู้มีสิทธิเสนอราคา จะต้องมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้
ผู้ประสงค์จะเสนอราคา ต้องเป็นผู้รับเหมาที่มีผลงานก่อสร้างทางรถไฟ
2. ผู้ประสงค์จะเสนอราคาต้องมีคุณสมบัติ ดังต่อไปนี้
2.1 ผู้ประสงค์จะเสนอราคาต้องเป็นผู้มีอาชีพรับจ้างงานที่ประกวดราคาจ้างด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์
2.2 ผู้ประสงค์จะเสนอราคาต้องไม่เป็นผู้ที่ถูกระบุชื่อไว้ในบัญชีรายชื่อผู้ทิ้งงานของ รฟท. หรือรัฐวิสาหกิจ หรือของทางราชการและได้แจ้งเวียนชื่อแล้ว หรือไม่เป็นผู้ที่ได้รับผลของการสั่งให้นิติบุคคลหรือบุคคลอื่นเป็นผู้ทิ้งงานตามระเบียบของทางราชการ
2.3 ผู้ประสงค์จะเสนอราคาต้องไม่เป็นผู้มีผลประโยชน์ร่วมกันกับผู้ประสงค์จะเสนอราคารายอื่น และ/หรือต้องไม่เป็นผู้มีผลประโยชน์ร่วมกันระหว่างผู้ประสงค์จะเสนอราคากับผู้ให้บริการตลาดกลางอิเล็กทรอนิกส์ ณ วันประกาศประกวดราคาจ้างด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือไม่เป็นผู้กระทำอันเป็นการขัดขวางการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม
2.4 ผู้ประสงค์จะเสนอราคาต้องไม่เป็นผู้ที่ได้รับเอกสิทธิ์หรือความคุ้มครอง ซึ่งอาจปฏิเสธไม่ยอมขึ้นศาลไทยเว้นแต่รัฐบาลของผู้ประสงค์จะเสนอราคา ได้มีคำสั่งให้สละสิทธิ์และความคุ้มครองเช่นว่านั้น
2.5 ผู้ประสงค์จะเสนอราคา ต้องไม่เป็นผู้ที่ถูกระบุชื่อว่าเป็นคู่สัญญาที่ไม่ได้แสดงบัญชีรายรับรายจ่าย หรือแสดงบัญชีรายรับรายจ่ายไม่ถูกต้องครบถ้วนในสาระสำคัญ ตามประกาศคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการจัดทำและแสดงบัญชีรายการรับจ่ายของโครงการที่บุคคลหรือนิติบุคคลเป็นคู่สัญญากับหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2554
2.6 ผู้ประสงค์จะเสนอราคาต้องเป็นนิติบุคคลที่ได้ลงทะเบียนในระบบอิเล็กทรอนิกส์ของกรมบัญชีกลางที่เว็บไซต์ศูนย์ข้อมูลจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ
ทั้งนี้ผู้ประสงค์จะเสนอราคาที่ได้รับการคัดเลือก และหากมีการทำสัญญาซึ่งมีมูลค่าตั้งแต่ 500,000 บาท (ห้าแสนบาทถ้วน) ขึ้นไป กับ รฟท. ให้รับและจ่ายเงินผ่านบัญชีธนาคาร เว้นแต่การจ่ายเงินแต่ละครั้ง ซึ่งมีมูลค่าไม่เกินสามหมื่นบาทสามารถจ่ายเป็นเงินสดได้ และให้จัดทำบัญชีแสดงรายรับรายจ่ายยื่นต่อกรมสรรพากร และปฏิบัติตามประกาศคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการจัดทำและแสดงบัญชีรายการรับจ่ายของโครงการที่บุคคลหรือนิติบุคคลเป็นคู่สัญญากับหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2554 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2554 และ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2555
2.7 ผู้ประสงค์จะเสนอราคาต้องเสนอผู้รับจ้างช่วง (Subcontractor) ในงานระบบอาณัติสัญญาณ อย่างน้อย 1 ราย แต่ไม่เกิน 3 ราย โดยผู้รับจ้างช่วงต้องมีผลงานการออกแบบและติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณงานรถไฟหรือรถไฟฟ้าระบบขนส่งมวลชน ยกเว้นกรณีที่ผู้ประสงค์จะเสนอราคามีผลงานด้านระบบอาณัติสัญญาณอยู่แล้วไม่จำเป็นต้องยื่นเสนอผู้รับจ้างช่วงงานระบบอาณัติสัญญาณก็ได้ แต่ทั้งนี้ผู้ประสงค์จะเสนอราคาต้องแสดงผลงานดังกล่าวต่อการรถไฟ
อนึ่งผู้ประสงค์จะเสนอราคาสามารถเสนอผู้รับจ้างช่วง (Subcontractor) ได้มากกว่า 1 (หนึ่ง) ราย แต่ไม่เกิน 3 (สาม) ราย โดยผู้รับจ้างช่วงงานระบบอาณัติสัญญาณจะต้องเป็นเจ้าของผลิตภัณฑ์ระบบอาณัติสัญญาณ ที่สอดคล้องกับรายการจำเพาะด้านเทคนิค และมีผลงานที่เคยใช้งานและได้รับการยอมรับ (Proven Record) มาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี ทั้งนี้ผลิตภัณฑ์ระบบอาณัติสัญญาณดังกล่าวจะต้องผ่านการใช้งานในงานรถไฟหรือรถไฟฟ้าระบบขนส่งมวลชนนอกประเทศผู้ผลิตนั้นมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปีนับถึงวันยื่นประกวดราคา โดยมีหนังสือรับรองจากหน่วยงานที่เชื่อถือได้หรือมีสำเนาหนังสือสัญญาที่แสดงว่ามีการใช้งานผลิตภัณฑ์ระบบอาณัติสัญญาณนั้นจริงและหนังสือรับรองงานแล้วเสร็จขั้นสุดท้าย (Final Completion Certificate) ประกอบมาด้วย
2.8 ผู้ประสงค์จะเสนอราคาต้องเป็นนิติบุคคลไทยที่มีทุนจดทะเบียนชำระแล้วไม่น้อยกว่า 500,000,000 บาท (ห้าร้อยล้านบาทถ้วน)
2.9 ผู้ประสงค์จะเสนอราคาต้องมีผลงานก่อสร้างทางรถไฟ ที่มีมูลค่าก่อสร้างในสัญญาเดียวไม่น้อยกว่า 2,500,000,000 บาท (สองพันห้าร้อยล้านบาทถ้วน) ซึ่งได้รวมภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว และต้องเป็นผลงานที่เป็นคู่สัญญาโดยตรงกับส่วนราชการ หน่วยงานตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานเอกชนที่ รฟท. เชื่อถือ
ผลงานก่อสร้างทางรถไฟ เช่น ผลงานก่อสร้างทางรถไฟหรือรถไฟฟ้าเสมอระดับ(At Grade) หรือยกระดับ (Elevated) หรือใต้ดิน (Underground) หรือผลงานก่อสร้างสะพานทางรถไฟ(Railway Bridge)
ในการพิจารณาผลงานให้ยึดถือหลักเกณฑ์ ดังนี้
(1) หากผลงานที่นำมายื่นเป็นผลงานที่ส่งมอบงานโดยสมบูรณ์แล้ว ผลงานดังกล่าวต้องแล้วเสร็จเป็นเวลาไม่เกิน 15 ปี นับถึงวันที่ยื่นซอง โดยต้องมีสำเนาสัญญาจ้างและหนังสือรับรองผลงานพร้อมแสดงมูลค่าของงาน
(2) หากผลงานที่นำมายื่นเป็นผลงานของโครงการที่อยู่ในระหว่างดำเนินการ ผลงานที่นำมายื่นต้องเป็นผลงานในส่วนที่ส่งมอบงานและผู้ว่าจ้างออกหนังสือรับมอบงานในส่วนนั้นแล้วเท่านั้น ซึ่งต้องมีมูลค่าที่ส่งมอบแล้วไม่น้อยกว่าที่กำหนดไว้ โดยต้องมีสำเนาสัญญาจ้างและรับรองสำเนาถูกต้อง และต้องมีหนังสือรับรองผลงานอย่างเป็นทางการพร้อมแสดงวงเงินของงานส่วนที่ได้ส่งมอบงานแล้วมายื่นต่อ รฟท.
(3) กรณีที่ผู้ประสงค์จะเสนอราคาเป็นผู้รับจ้างในลักษณะเป็นกิจการร่วมค้า (Joint Venture หรือ Consortium) สำหรับผลงานในอดีตที่อ้างถึง ผู้ประสงค์จะเสนอราคาจะต้องมีสัดส่วนความรับผิดชอบของผลงานในอดีตที่คิดเป็นมูลค่าสัดส่วนความรับผิดชอบไม่น้อยกว่าที่กำหนดไว้ โดยต้องมีหนังสือรับรองผลงานที่แสดงมูลค่าของงานที่รับผิดชอบซึ่งออกโดยผู้ว่าจ้าง และสำเนาข้อตกลงร่วมค้ารับรองสำเนาถูกต้อง แสดงการเข้าร่วมเป็นกิจการร่วมค้า ที่แสดงสัดส่วนความรับผิดชอบของผู้ประสงค์จะเสนอราคา และสำเนาสัญญาจ้างรับรองสำเนาถูกต้อง มายื่นต่อ รฟท. ด้วย
(4) ตามหลักเกณฑ์ในหัวข้อ (1)-(3) ข้างต้น หากเป็นผลงานที่ดำเนินการภายนอกประเทศไทยหลักฐานเอกสารผลงานที่นำมาเสนอจะต้องแปลเป็นภาษาไทยหรือภาษาอังกฤษและได้รับการรับรองการแปลโดย Notary Public หรือ Notary Public Lawyer และลงนามรับรองและประทับตราในเอกสารที่ให้การรับรองโดยสถานทูตไทย หรือสถานกงสุลไทยประจำประเทศนั้น ๆ และให้ใช้อัตราแลกเปลี่ยนในวันที่งานนั้นแล้วเสร็จ หรือวันที่ส่งมอบงานแล้วแต่กรณี สำหรับการคิดคำนวณมูลค่างานนั้น ๆ
(5) หนังสือรับรองผลงานข้างต้นต้องออกโดยหัวหน้าหน่วยงานหรือผู้มีอำนาจของหน่วยงานซึ่งเป็นผู้ว่าจ้าง
2.10 ในกรณีที่ผู้ประสงค์จะเสนอราคาเป็นกิจการร่วมค้า
(1) สมาชิกทุกรายของกิจการร่วมค้านั้นต้องเป็นนิติบุคคล
(2) กรณีที่กิจการร่วมค้านั้นไม่ได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลใหม่ บริษัทผู้นำ (Leading Company) ของกิจการร่วมค้าต้องเป็นนิติบุคคลไทย โดยนิติบุคคลไทยที่เป็นบริษัทผู้นำของกิจการร่วมค้าต้องมีสัดส่วนการลงทุนหรือร่วมงานมากกว่าร้อยละ 50 (50%) ของมูลค่างานทั้งหมดของสัญญา
(3) กรณีที่กิจการร่วมค้าไม่ได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลใหม่ นิติบุคคลแต่ละรายที่เข้าร่วมค้าทุกราย ต้องมีคุณสมบัติครบถ้วนตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ข้างต้น ยกเว้นคุณสมบัติด้านผลงานก่อสร้างสามารถใช้ผลงานก่อสร้างของบริษัทผู้นำรายเดียวเป็นผลงานก่อสร้างของกิจการร่วมค้าได้ โดยกิจการร่วมค้าต้องมีข้อตกลงระหว่างผู้เข้าร่วมค้าเป็นลายลักษณ์อักษรกำหนดให้บริษัทผู้นำเป็นผู้รับผิดชอบหลักในการเข้าประกวดราคา
(4) กรณีที่กิจการร่วมค้านั้นได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลใหม่ นิติบุคคลไทยในกิจการร่วมค้าต้องมีสัดส่วนการถือหุ้นรวมกันแล้วมากกว่าร้อยละ 50 (50%) และนิติบุคคลไทย 1 ราย ต้องเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของกิจการร่วมค้า
(5) กรณีที่กิจการร่วมค้าได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลใหม่ กิจการร่วมค้าที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลใหม่นั้น ต้องมีคุณสมบัติครบถ้วนตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ข้างต้น ส่วนคุณสมบัติด้านผลงานก่อสร้างสามารถนำผลงานก่อสร้างของผู้เข้าร่วมค้ารายใดรายหนึ่งมาใช้แสดงเป็นผลงานก่อสร้างของกิจการร่วมค้าได้ ทั้งนี้ผู้เข้าร่วมค้ารายนั้นต้องมีสัดส่วนการถือหุ้นในกิจการร่วมค้านั้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 (30%)
(6) ในวันยื่นเอกสารประกวดราคาจะต้องยื่นเอกสารข้อตกลงสำหรับการร่วมกันเป็นกิจการร่วมค้า ซึ่งต้องชี้ชัดถึงสัดส่วนของการลงทุนหรือร่วมงานของแต่ละนิติบุคคลในกลุ่ม และต้องระบุข้อความไว้ด้วยว่าสมาชิกทั้งหมดของกิจการร่วมค้า ต้องมีภาระรับผิดชอบร่วมกันและชดใช้แทนกันในทุกกรณี (Shall be jointly and severally responsible for all cases)
2.11 ผู้ประสงค์จะเสนอราคาต้องมีหนังสือรับรองการให้สินเชื่อจากธนาคารรายเดียว หรือหลายธนาคารในประเทศไทยคิดเป็นวงเงินรวมไม่น้อยกว่า 1,500,000,000 บาท (หนึ่งพันห้าร้อยล้านบาทถ้วน) มีผลบังคับตลอดระยะเวลาของการก่อสร้าง
2.12 ผู้ประสงค์จะเสนอราคาต้องจัดทำข้อเสนอด้านเทคนิคตามเอกสารข้อมูลด้านเทคนิค เล่ม IIA โดยผู้ประสงค์จะเสนอราคาจะต้องแสดงให้เห็นว่ามีคุณสมบัติและความสามารถด้านเทคนิคเพียงพอ ต่อการดำเนินงานก่อสร้าง ตลอดจนได้จัดเตรียมวัสดุ บุคลากร เครื่องมือ เครื่องจักร ขั้นตอนวิธีการทำงาน และแผนการดำเนินงานเป็นไปตามข้อกำหนด ในเอกสารประกวดราคา เล่ม IIA โดยการพิจารณาข้อเสนอด้านเทคนิค จะใช้หลักเกณฑ์การพิจารณาตามที่กำหนดในข้อ 4.6 ผู้ที่ผ่านการคัดเลือกด้านเทคนิค ต้องได้รับการพิจารณาว่าผ่านหลักเกณฑ์ที่กำหนดดังกล่าวจึงมีสิทธิ์เสนอราคาด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์
2.13 เพื่อให้การทำงานของการก่อสร้างทางรถไฟเป็นไปอย่างมีประสิทธิ์ภาพ ผู้ประสงค์จะเสนอราคาต้องมี หรือต้องจัดหาหรือต้องเช่าเครื่องมืออุปกรณ์ก่อสร้างทางรถไฟเพื่อใช้ในงานนี้อย่างน้อยที่สุดดังนี้ คือ
(1) รถอัดหินแบบสองหมอนอัดต่อเนื่องสำหรับอัดหินในทางทั่วไป จำนวน 1 คัน
(2) รถอัดหินแบบหมอนเดียวอัดต่อเนื่องสำหรับอัดหินในชุดประแจ จำนวน 1 คัน
(3) รถเกลี่ยหิน จำนวน 1 คัน
(4) รถสั่นหิน จำนวน 1 คัน
(5) รถบรรทุกหินโรยทาง (รถโบกี้ : Ballast Hopper Wagon) จำนวน 5 คัน
มีสมรรถนะการบรรทุกหินโรยทางไม่น้อยกว่า 28 ลูกบาศก์เมตร
และมีช่องลงหินใต้ท้องรถทุกตัวเป็นอย่างน้อย
(6) รถจักรหรือรถลากจูง UTV (Utility Track Vehicle) จำนวน 1 คัน
มีกำลังลากจูงไม่น้อยกว่า 500แรงม้าสำหรับลากจูงรถงานต่างๆ
โดยที่เครื่องมืออุปกรณ์ก่อสร้างทางรถไฟ ตามข้อ (1)-(4) ผู้รับจ้างต้องจัดซื้อจัดหามาเพื่อใช้ในการก่อสร้างและส่งมอบให้ รฟท. เมื่องานก่อสร้างแล้วเสร็จ ตามรายละเอียดที่ระบุในข้อกำหนดรายการจำเพาะด้านเทคนิค เฉพาะเครื่องมืออุปกรณ์ก่อสร้างทางรถไฟตามข้อ (5) และ (6) ผู้ประสงค์จะเสนอราคาต้องยื่นเอกสารแสดงกรรมสิทธิ์ หรือหนังสือรับรองการจัดหาหรือการขอเช่าแล้วแต่กรณีซึ่งอุปกรณ์ดังกล่าวพร้อมการประกวดราคา โดยต้องระบุด้วยว่าหากชนะการประกวดราคาในโครงการนี้แล้ว จะสามารถจัดหาหรือจัดเช่าให้ทันใช้งาน และผู้ประสงค์จะเสนอราคาต้องยื่นภาพถ่ายของเครื่องมือฯ แต่ละรายการพร้อมสมรรถนะและแหล่งที่มาด้วย
2.14 ผู้ประสงค์จะเสนอราคาที่เป็นนิติบุคคลไทยรายเดียว หรือกิจการร่วมค้าที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลใหม่ หรือผู้เข้าร่วมค้าทุกรายของกิจการร่วมค้าที่ไม่ได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลใหม่ ต้องเป็นผู้ที่มีชื่อปรากฏในบัญชีผู้ซื้อเอกสารประกวดราคาเท่านั้น จึงจะมีสิทธิ์ยื่นเอกสารประกวดราคาจ้างด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์นี้ได้


กำหนดการและข้อมูลที่สำคัญ
1. กำหนดการดูสถานที่ก่อสร้างภาคสนาม และการประชุมก่อนการเสนอราคาเพื่อตอบข้อซักถามของผู้ที่ประสงค์จะเสนอราคา จะจัดให้มีขึ้นเป็นเวลา 2 วัน
ผู้ประสงค์จะเสนอราคาจะต้องแจ้งชื่อผู้แทนที่จะเข้าร่วมดูสถานที่ก่อสร้างภาคสนามและการประชุมก่อนการเสนอราคาต่อวิศวกรอำนวยการศูนย์โครงการก่อสร้าง ฝ่ายโครงการพิเศษและก่อสร้าง การรถไฟแห่งประเทศไทย ภายในวันที่ 14 มีนาคม 2557 ก่อนเวลา 14.00 น.
ผู้ที่ประสงค์จะไปดูสถานที่ก่อสร้างภาคสนาม ต้องมาให้พร้อมกันที่สถานีรถไฟฉะเชิงเทรา ในวันที่ 17 มีนาคม 2557 เวลา 9.30 น.
การประชุมก่อนการเสนอราคา จะจัดให้มีขึ้นในวันที่ 18 มีนาคม 2557 ที่สำนักงานของ รฟท. โดยจะเริ่มตั้งแต่เวลา 14.00 น. ผู้ประสงค์จะเสนอราคาสามารถตั้งคำถามเป็นทางการเกี่ยวกับการประกวดราคาให้ทำเป็นลายลักษณ์อักษร และยื่นต่อ รฟท. ภายในเวลา 11.00 น. ของวันที่มีการประชุมก่อนการเสนอราคา
หากมีการแก้ไขใดๆ ในเอกสารประกวดราคา รฟท. จะแจ้งให้ผู้ประสงค์จะเสนอราคาทุกรายทราบในเวลาที่เหมาะสมแต่ไม่น้อยกว่า 10 วันปฏิทินก่อนวันยื่นซองประกวดราคา
2. ราคากลางของงานก่อสร้างในการประกวดราคาด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ครั้งนี้ เป็นเงินทั้งสิ้น 10,183,702,194.00บาท (หนึ่งหมื่นหนึ่งร้อยแปดสิบสามล้านเจ็ดแสนสองพันหนึ่งร้อยเก้าสิบสี่บาทถ้วน) ซึ่งได้รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% แล้ว
ผู้ประสงค์จะเสนอราคาจะต้องวางหลักประกันซอง พร้อมกับการยื่นเอกสารประกวดราคาด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์เป็นมูลค่า 510,000,000 บาท (ห้าร้อยสิบล้านบาทถ้วน) และหลักประกันซองนี้ให้ใช้หลักประกันตามข้อกำหนดของ รฟท.
3 ผู้ประสงค์จะเสนอราคาต้องปฏิบัติงานที่รับจ้างตามสัญญาให้แล้วเสร็จภายในกำหนดเวลาไม่เกิน 36 เดือน นับจากวันที่ระบุไว้ในหนังสือแจ้งให้เริ่มงานของ รฟท. และรับประกันผลงาน 24 เดือน นับจากวันที่งานแล้วเสร็จสมบูรณ์
4. ผู้ประสงค์จะเสนอราคาต้องยื่นเอกสารการประกวดราคาด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ จำนวน 10 (สิบ) ชุด คือ ต้นฉบับ 1 (หนึ่ง) ชุด และสำเนา 9 (เก้า) ชุด เย็บเล่มเรียงลำดับ และยื่นโดยผู้มีอำนาจเท่านั้น ในวันที่ 10 เมษายน 2557 ระหว่างเวลา 10.00 น. ถึง 12.00 น. ต่อคณะกรรมการประกวดราคา ณ ห้องประชุมฝ่ายโครงการพิเศษและก่อสร้าง ตึกพัสดุ ชั้น 3 การรถไฟแห่งประเทศไทย ถนนรองเมือง เขตปทุมวัน กทม. ทั้งนี้ คณะกรรมการประกวดราคาจะไม่รับซองเอกสารประกวดราคาที่ยื่นก่อนเวลา 10.00 น. และภายหลังเวลา 12.00 น. ในวันดังกล่าว และเมื่อพ้นกำหนดเวลายื่นเอกสารประกวดราคาจ้างด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์แล้ว คณะกรรมการประกวดราคาจะไม่รับเอกสารเพิ่มเติมโดยเด็ดขาด
5. รฟท. สงวนสิทธิ์ในการแก้ไขเพิ่มเติม เอกสารประกวดราคาในภายหลัง หรือจะยกเลิกการประกวดราคา หรือไม่ทำสัญญากับผู้ประสงค์จะเสนอราคาที่ได้รับการคัดเลือก หากเอกสารประกวดราคา สัญญาจ้างก่อสร้างทางคู่ฯนี้ ไม่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานอัยการสูงสุด หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
6. รฟท. สงวนสิทธิ์ที่จะทำสัญญาจ้างกับผู้ชนะการประกวดราคาเมื่อได้รับงบประมาณจากรัฐบาล
7. ก่อนทำสัญญาจ้างฯ ผู้เสนอราคาที่ได้รับการคัดเลือกจะต้องเสนอรายชื่อผู้รับจ้างช่วงงานระบบอาณัติสัญญาณที่เสนอมาในเอกสารประกวดราคาและได้รับความเห็นชอบจาก รฟท. แล้ว เพื่อที่ รฟท. จะได้ระบุในสัญญาจ้างฯ ต่อไป
8. ผู้สนใจติดต่อขอซื้อเอกสารประกวดราคาจ้างด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ที่ศูนย์โครงการก่อสร้าง ฝ่ายโครงการพิเศษและก่อสร้าง ตึกพัสดุ การรถไฟแห่งประเทศไทย ถนนรองเมือง เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330 ได้ตั้งแต่วันที่ 4 มีนาคม 2557 ถึงวันที่ 12 มีนาคม 2557 ระหว่างเวลา 09.00 น. ถึง 15.00น. ในราคาชุดละ 300,000.00 บาท (สามแสนบาทถ้วน) รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยให้ชำระเป็นเงินสดหรือแคชเชียร์เช็คสั่งจ่าย “การรถไฟแห่งประเทศไทย” ที่กองการเงิน ฝ่ายการเงินและการบัญชี การรถไฟแห่งประเทศไทย แล้วนำใบเสร็จรับเงินมาติดต่อขอซื้อเอกสารประกวดราคา ทั้งนี้ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับประกาศประกวดราคาจ้างด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ที่โทรศัพท์หมายเลข 02-220-4766, 02-220-4767 โทรสาร 02-221-5763 ในวันและเวลาทำการ
9. ผู้ที่มาซื้อเอกสารประกวดราคาจ้างด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือเข้าร่วมฟังคำชี้แจง หรือผู้มาดูการชี้แจงสถานที่ก่อสร้าง ต้องเป็นผู้มีอำนาจกระทำการในนามของนิติบุคคล โดยต้องแสดงหนังสือรับรองการจดทะเบียนนิติบุคคล พร้อมสำเนาบัตรประจำตัวประชาชน กรณีมอบอำนาจต้องมีหนังสือมอบอำนาจ พร้อมสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนผู้มอบและผู้รับมอบอำนาจ
10. กำหนดแจ้งผลผู้มีสิทธิ์เสนอราคา วันที่ 16 พฤษภาคม 2557
11. กำหนดเสนอราคาทางอิเล็กทรอนิกส์ วันที่ 9 มิถุนายน 2557

ประกาศ ณ วันที่ 28 เดือน กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

( ลงนาม ) ประภัสร์ จงสงวน
( นายประภัสร์ จงสงวน )
ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย


สำเนาถูกต้อง
( นายธีระ รุ่งโรจน์สุวรรณ )
วิศวกรกำกับการกองมาตรฐานงานวิศวกรรมโยธา
4/3/2557 9:33:29
ภาพประจำตัวสมาชิก
Ii'8N
Verified User
โพสต์: 3682
ผู้ติดตาม: 7

Re: รถไฟรางคู่ถ้ามาจริง

โพสต์ที่ 4

โพสต์

ข่าวล่าสุด

http://www.thannews.th.com/index.php?op ... Itemid=479

6กลุ่มซื้อซองสัญญา2ทางคู่
วันอังคารที่ 27 พฤษภาคม 2014 เวลา 13:34 น. กอง บก.ฐานเศรษฐกิจ อสังหา REAL ESTATE - คอลัมน์ : อสังหาฯ-คมนาคม

6 กลุ่มรับเหมาซื้อซองสัญญาที่ 2 รถไฟทางคู่สายชายฝั่งทะเลตะวันออก ช่วงฉะเชิงเทรา-คลองสิบเก้า-แก่งคอย ไร้เงากลุ่มซิโน-ไทย ด้านอิตาเลียนไทย-ช.การช่าง-เนาวรัตน์พัฒนาการยังเกาะติดเหนียวแน่น ส่วนกลุ่มทีซีซี กิจการร่วมค้าทิพากรผนึกไชน่าฮาร์เบอร์จากจีน หลังร.ฟ.ท.พาดูสถานที่ก่อสร้างก่อนเร่งคัดเลือกตัวให้ได้รับสิทธิ์ยื่นซองประกวดราคา 19 มิ.ย.นี้
นายจเร รุ่งฐานีย วิศวกรใหญ่ ฝ่ายโครงการพิเศษและก่อสร้าง การรถไฟแห่งประเทศไทย(ร.ฟ.ท.) เปิดเผย "ฐานเศรษฐกิจ" ว่าตามที่ร.ฟ.ท.โดยฝ่ายโครงการพิเศษและก่อสร้างได้เปิดขายเอกสารประกวดราคาจ้างด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์โครงการก่อสร้างทางคู่ในเส้นทางรถไฟสายชายฝั่งทะเลตะวันออกช่วงฉะเชิงเทรา-คลองสิบเก้า-แก่งคอย สัญญาที่ 2 งานก่อสร้างทางรถไฟทางคู่ ช่วงวิหารแดง-บุใหญ่ พร้อมอุโมงค์รถไฟไปตั้งแต่วันที่ 15-21 พฤษภาคม 2557 ที่ผ่านมานั้น ปรากฏว่ามี 6 รายแสดงความสนใจประกอบไปด้วย 1.บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด(มหาชน) 2.บริษัท กิจการร่วมค้า ทีซีซี จำกัด ซึ่งเป็นการร่วมกันระหว่างบริษัททิพากร จำกัดและกลุ่มบริษัทไชน่าฮาร์เบอร์จากประเทศจีน 3.บริษัท ช.การช่าง จำกัด(มหาชน) 4.บริษัท เนาวรัตน์พัฒนาการ จำกัด(มหาชน) 5.บริษัท ซัน เทคโนโลยี แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด และ 6. บริษัท ไร้ท์ทันเน็ลลิ่ง จำกัด
ทั้งนี้ขอบเขตของงานสัญญาที่ 2 งานก่อสร้างทางรถไฟทางคู่ ช่วงวิหารแดง-บุใหญ่ พร้อมอุโมงค์รถไฟ ที่ต้องการจ้างมีดังนี้คือ งานก่อสร้างทางรถไฟทางคู่เพิ่ม 1 ทาง ขนานเส้นทางรถไฟเดิม เริ่มจากหลังสถานีวิหารแดงไปสิ้นสุดที่ก่อนเข้าสถานีบุใหญ่ ระยะทางประมาณ 9 กิโลเมตร งานก่อสร้างอุโมงค์รถไฟทางเดี่ยวคู่ขนานกับอุโมงค์ทางเดี่ยวเดิมลอดผ่านใต้เขาพระพุทธฉาย รวมระยะทางประมาณ 1.2 กิโลเมตร และงานก่อสร้างสะพานคอนกรีตเสริมเหล็ก 2 แห่ง รวมความยาวประมาณ 60 เมตร ส่วนราคากลางของงานก่อสร้างในการประกวดราคาด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ครั้งนี้เป็นเงินทั้งสิ้น 621,063,070 บาท (หกร้อยยี่สิบเอ็ดล้านหกหมื่นสามพันเจ็ดสิบบาทถ้วน) รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม 7 % แล้ว
"เมื่อวันที่ 26-27 พฤษภาคมที่ผ่านมาได้พาทั้ง 6 กลุ่มไปดูพื้นที่ก่อสร้างตั้งแต่จุดวิหารแดง-สถานีบุใหญ่ จุดก่อสร้างอุโมงค์ หลังจากนั้นจะประชุมก่อนเสนอราคาเพื่อให้ผู้ประสงค์จะเสนอราคาได้ยื่นคำถามเกี่ยวกับการประกวดราคาเป็นลายลักษณ์อักษรพร้อมกับที่ปรึกษา ร.ฟ.ท.จะได้ชี้แจงรายละเอียดต่างๆให้ทราบ"
สำหรับโครงการดังกล่าว ร.ฟ.ท.กำหนดว่าต้องปฏิบัติงานที่รับจ้างตามสัญญาให้แล้วเสร็จภายในกำหนดเวลาไม่เกิน 25 เดือน นับจากวันที่ระบุไว้ในหนังสือแจ้งให้เริ่มงาน และรับประกันผลงาน 24 เดือน นับจากวันที่งานแล้วเสร็จสมบูรณ์ เสนอราคาต้องยื่นเอกสารการประกวดราคาในวันที่ 19 มิถุนายน 2557 และร.ฟ.ท.จะแจ้งผลผู้มีสิทธิ์เสนอราคาในวันที่ 22 กรกฎาคม 2557 และกำหนดเสนอราคาทางอิเล็กทรอนิกส์วันที่ 6 สิงหาคม 2557 นี้
ทั้งนี้โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่เส้นทางคลองสิบเก้า-แก่งคอย เป็นการก่อสร้างทางรถไฟคู่ขนานเส้นทางเดิม รวมระยะทางทั้งสิ้นประมาณ 97 กิโลเมตร รวมทั้งงานก่อสร้างทางคู่เลี่ยงเมืองอีก 3 แห่ง รวมระยะทางประมาณ 7.1 กิโลเมตร มีงานก่อสร้างสะพานรถไฟคอนกรีตเสริมเหล็ก 57 แห่ง รวมความยาว 4,763 เมตร งานก่อสร้างสะพานรถยนต์ข้ามทางรถไฟเป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก 2 แห่ง รวมความยาวประมาณ 212 เมตร งานก่อสร้างท่อและการระบายน้ำ และงานก่อสร้างอื่นๆที่เกี่ยวข้องตามแบบคิดเป็นงบประมาณทั้งสิ้น 1.1 หมื่นล้านบาท
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 34 ฉบับที่ 2,952 วันที่ 29 - 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2557
ภาพประจำตัวสมาชิก
Samkok
Verified User
โพสต์: 1880
ผู้ติดตาม: 2

Re: รถไฟรางคู่ถ้ามาจริง

โพสต์ที่ 5

โพสต์

http://www.prachachat.net/news_detail.p ... 1401806369
โครงการโครงสร้างพื้นฐานที่ คสช.เดินหน้าลงทุน.jpg
ดันลงทุน"รางคู่-ทางด่วนน้ำ" ลุยไฮสปีดอีสานแทนเชียงใหม่

สำนักงบประมาณตั้งแท่นชงงบฯ รายจ่ายปี"58 วงเงิน 2.6 ล้านล้าน คสช.หยิบโปรเจ็กต์ร้อนมาเรียงลำดับความสำคัญใหม่ ทั้งรถไฟทางคู่แสนล้าน นำร่อง 2 สายทาง "ขอนแก่น-แก่งคอย" ผุดทางด่วนน้ำ 200 กม. จากนครสวรรค์ทะลุอ่าวไทย จับตาลัดคิวไฮสปีดเทรนไปหนองคายแทนเชียงใหม่ ตัดด่วน 3 "ดาวคะนอง" ผู้ส่งออกข้าวโผล่แจมขอตรวจสต๊อกข้าว

มาตรการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและการแก้ไขปัญหาทั้งในระยะสั้นและระยะยาวของคณะทำงานฝ่ายเศรษฐกิจ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่มี พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองหัวหน้า คสช. เป็นหัวหน้าฝ่าย มีความคืบหน้ามากขึ้นตามลำดับ หลังเดินหน้าจ่ายคืนค่าจำนำข้าวแก่ชาวนาทั่วประเทศ และสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งกำหนดกรอบและโครงสร้างงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2558

พร้อมกับให้หน่วยงานในระดับกระทรวง โดยเฉพาะ 7 กระทรวงเศรษฐกิจ มีกระทรวงการคลัง พาณิชย์ อุตสาหกรรม เกษตรและสหกรณ์ พลังงาน แรงงาน คมนาคม เสนอโครงการและแผนลงทุนเร่งด่วนเพื่อขออนุมัติ คสช. ล่าสุดการจัดทำแผนลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน การลงทุนบริหารจัดการน้ำและการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจหลายมาตรการเริ่มชัดเจนขึ้น

งบปี 58 ชง 2.6 ล้านล้าน

นายสมศักดิ์ โชติรัตนะศิริ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 30 พ.ค.ที่ผ่านมา ในการประชุม 4 หน่วยงานเศรษฐกิจ คือ สำนักงบประมาณ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และกระทรวงการคลังได้ข้อยุติกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2558 แล้วว่า จะมีวงเงินไม่เกิน 2.6 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นประมาณ 3% จากปีงบประมาณปัจจุบันที่อยู่ที่ 2.525 ล้านล้านบาท

โดยพิจารณาสมมติฐานการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปี 2558 ว่าจะขยายตัว 6.3% (Normimal GDP) ขณะที่อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 2.3% ประมาณการรายได้มีกว่า 2.3 ล้านล้านบาท การขาดดุลงบประมาณกว่า 2 แสนล้านบาท ใกล้เคียงกับปี 2557 ที่ขาดดุล 2.5 แสนล้านบาท ซึ่งยังอยู่ภายใต้สมมติฐานจัดทำงบประมาณสมดุลในปี 2560 อยู่

พร้อมกับยอมรับว่า ส่วนราชการเสนอของบฯถึง4 ล้านล้านบาท ต้องปรับลดตามเหตุผลและความจำเป็น กรณีรายจ่ายรัฐวิสาหกิจที่อยู่ในงบประมาณจะตั้งเฉพาะรายจ่ายสำหรับศึกษาความเหมาะสม

โครงการ งบฯออกแบบและค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินเท่านั้น ด้านงบฯก่อสร้างรัฐวิสาหกิจต้องไปใช้เงินกู้มาดำเนินการ ส่วนการจัดทำงบประมาณตามปฏิทินจะจัดทำระหว่าง 30 พ.ค.-9 มิ.ย.นี้ รวมทั้งจะจัดทำยุทธศาสตร์จัดสรรงบประมาณปี 2558 เพื่อเสนอให้ คสช.พิจารณา 12 มิ.ย. จากนั้นส่วนราชการจะจัดทำคำขอมายังสำนักงบฯได้ถึง 27 มิ.ย. เป็นวันสุดท้าย ก่อนนำเสนอ คสช.พิจารณา 15 ก.ค. หากเห็นชอบก็จะจัดทำร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2558 เสนอ คสช. วันที่ 29 ก.ค. หลังจากนั้นน่าจะเข้าสู่ขั้นตอนนิติบัญญัติต่อไป

อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวจากที่ประชุม 4 หน่วยงานกล่าวว่า กรอบรายจ่ายที่ชัดเจนจะต้องรอเสนอ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. พิจารณาเห็นชอบ 2 มิ.ย.นี้ โดยที่ประชุม 4 หน่วยงานยังไม่ได้เคาะตัวเลขที่ชัดเจน ในส่วนกระทรวงการคลังได้เสนอประมาณการรายได้ 2.3 ล้านล้านบาท แต่ที่ประชุมขอ 2.35 ล้านล้านบาท รายจ่าย2.6 ล้านล้านบาท ขาดดุล 2.5 แสนล้านบาท เท่าปีปัจจุบัน

ปรับรถไฟเร็วสูงไปหนองคาย

พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง ผู้บัญชาการทหารอากาศ (ผบ.ทอ.) และรองหน้าหน้า คสช. ฝ่ายเศรษฐกิจ เปิดเผยว่า รับทราบแผนงานกระทรวงคมนาคมแล้ว สอดคล้องกับทิศทางที่ คสช.จะเดินหน้าบริหารประเทศ โดยเฉพาะระบบโครงสร้างพื้นฐานจะต้องเดินหน้าต่อไปทุกโครงการ ทั้งทางถนน ท่าเรือ ทางราง และทางอากาศ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเดินทาง ความปลอดภัย แก้ไขปัญหาการจราจร และเชื่อมโยงการเดินทางและกลุ่มประเทศในอาเซียน เนื่องจากประเทศไทยมีจุดแข็งด้านยุทธศาสตร์ทางโครงสร้างพื้นฐานอยู่แล้ว

"ขอดูรายละเอียดโครงการ ปัญหาอุปสรรคและแหล่งเงิน ให้สอดคล้องกับขีดความสามารถงบประมาณของภาครัฐบาล รถไฟความเร็วสูงเป็นอีกโครงการที่ให้ความสนใจ มีสายอีสานกรุงเทพฯ-หนองคาย และสายเหนือกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ขอเวลาศึกษาว่ามีอะไรที่ติดขัดบ้าง หากจะดำเนินการต่อไป เราจะทำดีมานด์กับซัพพลายให้ตรงกับความต้องการก่อนถึงจะดำเนินการได้ ทั้งโครงการขอใช้งบประมาณปี"58 และโครงการใน 2 ล้านล้านบาท ดูตามความจำเป็นเร่งด่วน จะได้ข้อสรุปใน 2 สัปดาห์ เพราะจะต้องจัดทำเป็นโรดแมปต่อไป"

สำหรับโครงการนี้ แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคมกล่าวเพิ่มเติมว่า รถไฟความเร็วสูงมีแนวโน้ม คสช.จะคงไว้ โดยเฉพาะสายอีสานไปหนองคาย ที่จะไปเชื่อมกับรถไฟความเร็งสูงของจีนที่สร้างมารอไว้ใน สปป.ลาว เพื่อรักษาความสัมพันธ์กับประเทศจีนไว้ จากเดิมที่รัฐบาลเพื่อไทยต้องการจะสร้างไปเชียงใหม่ก่อน โดยเฟสแรกจะสร้างครึ่งทาง กรุงเทพฯ-พิษณุโลก

ขยายสุวรรณภูมิ-ดอนเมือง

ทั้งนี้ พล.อ.อ.ประจินกล่าวว่า ตัวอย่างโครงการเร่งด่วนจะมีขยายสนามบินสุวรรณภูมิเฟส 2 ให้รับผู้โดยสาร 60 ล้านคน สนามบินดอนเมืองรับผู้โดยสาร 30 ล้านคน จะดำเนินการตามแผนเดิม ส่วนแผนแม่บทโครงการรถไฟจะเดินหน้าโครงการที่พร้อม ทั้งรถไฟทางคู่ รถไฟความเร็วสูง และรถไฟฟ้า 10 สายทาง เนื่องจากบางโครงการติดปัญหาสิ่งแวดล้อม เวนคืนที่ดิน และงบประมาณ

แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคมกล่าวว่า ยุทธศาสตร์ของกระทรวงที่นำเสนอไม่มีการเปลี่ยนแปลง ทาง คสช.มารับทราบแผนงานทั้งหมดแล้ว ส่วนใหญ่เป็นโครงการในแผนลงทุน 2 ล้านล้านเดิม ในแผน สนข.มีโครงการที่พร้อมประมูลขอใช้งบประมาณปี 2558 จำนวน 37 โครงการ วงเงิน 101,698 ล้านบาท มีทั้งค่าก่อสร้างและเวนคืนที่ดิน ได้แก่ รถไฟทางคู่ รถไฟฟ้า ปรับปรุงทางราง หมอน ปรับปรุงถนนสายหลัก ขยาย 4 เลน สถานีขนส่งสินค้า ปรับปรุงท่าเรือลำน้ำและชายฝั่ง จะยังไม่มีรถไฟความเร็วสูงเนื่องจากอยู่ระหว่างจัดทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) มีสายกรุงเทพฯ-พิษณุโลก สายกรุงเทพฯ-นครราชสีมา สายกรุงเทพฯ-หัวหิน

นำร่องรถไฟทางคู่ 2 สาย

"คสช.ให้น้ำหนักกับรถไฟทางคู่เพราะช่วยเรื่องการขนส่งสินค้าของประเทศ ในแผนการรถไฟฯมี 5 เส้นทางเร่งด่วน เงินลงทุน 1.18 แสนล้านบาท แต่ติดอีไอเอซึ่ง คสช.จะมาเร่งตรงนี้ให้ โครงการพร้อมประมูลเลยมีสายจิระ-ขอนแก่น รอเข้าบอร์ดสิ่งแวดล้อมชุดใหญ่ กับโครงการที่กำลังประมูลคือสายฉะเชิงเทรา-คลองสิบเก้า-แก่งคอย 106 กิโลเมตร จะเคาะราคา 9 มิถุนายนนี้"

ส่วนรถไฟฟ้าจะเดินหน้าทุกสายที่กำลังก่อสร้าง ทั้งสีม่วง (บางซื่อ-บางใหญ่) สีน้ำเงิน (บางซื่อ-ท่าพระและหัวลำโพง-บางแค) สีเขียว (แบริ่ง-สมุทรปราการ) โดยโครงการพร้อมประมูล มีสีเขียว (หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต) สีชมพู (แคราย-มีนบุรี) สีส้ม (ศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี) ต่อขยายแอร์พอร์ตลิงก์ (พญาไท-ดอนเมือง) เป็นต้น

ส่วนมอเตอร์เวย์ที่พร้อม มีสายบางปะอิน-นครราชสีมา และสายพัทยา-มาบตาพุด โดยกรมทางหลวงขอค่าเวนคืนในปี 2558 แล้ว รูปแบบลงทุน 2 ทาง คือใช้เงินกองทุนมอเตอร์เวย์ กับดึงเอกชนลงทุนรูปแบบ PPP

ด้านทางน้ำจะอยู่ใน 2 ล้านล้านเดิม แผนเร่งด่วนคือท่าเรือประหยัดพลังงาน จ.อ่างทอง 1,323 ล้านบาท และเพิ่มศักยภาพขนส่งสินค้าแม่น้ำป่าสัก 11,180 ล้านบาท เพื่อป้องกันน้ำท่วม ส่วนท่าเรือปากบาราอยู่ระหว่างทำอีไอเอ คาดว่าเริ่มปี 2559 นอกจากนี้ กรมเจ้าท่าของบฯ 5,000 ล้านบาท เพื่อขุดลอก 26 ลุ่มน้ำที่รับผิดชอบ

เล็งตัดทางด่วนสายใหม่

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า นอกจากนี้มีหน่วยงานเสนอโครงการเร่งด่วนรอการอนุมัติเข้ามาเพิ่มเติม เช่น การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เสนอทางด่วนใหม่ 2 สายคือ สายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนตะวันตก กับสายกะทู้-ป่าตอง หากได้รับอนุมัติ กทพ.จะกู้เงินหรือให้เอกชนร่วมลงทุนโครงการต่อไป

โดยสายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนตะวันตก น่าจะเร่งด่วนที่สุดเพื่อแก้ปัญหาจราจรในพื้นที่กรุงเทพฯ รูปแบบสร้างเป็นทางยกระดับ 6 ช่องจราจร ระยะทาง 16 กิโลเมตรเศษ สร้างซ้อนทับบนเกาะกลางถนนพระรามที่ 2 จุดเริ่มต้นอยู่จุดเชื่อมต่อกับทางด่วนขั้นที่ 1 บริเวณดาวคะนอง คู่ขนานไปกับสะพานแขวนพระราม 9 บนถนนพระรามที่ 3

จากนั้นตรงไปตามแนวถนนพระรามที่ 2 จนสิ้นสุดที่ทางแยกต่างระดับบางขุนเทียน บนถนนวงแหวนรอบนอกตะวันตก ใช้เงินลงทุน 18,646 ล้านบาท แยกเป็นก่อสร้าง 15,869 ล้านบาท ค่าเวนคืนที่ดิน 2,776 ล้านบาท จุดเวนคืนบริเวณที่จะต้องก่อสร้างทางแยกต่างระดับ 2 แห่ง ทางขึ้น-ลงบนถนนพระรามที่ 2 อีก 5 แห่ง

เร่งขุดลอกแม่น้ำเจ้าพระยา

สำหรับโครงการบริหารจัดการน้ำหลังจากที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. ระบุว่าจะเร่งการขุดลอกแม่น้ำเป็นงานเร่งด่วนนั้น ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ล่าสุด สำนักงานนโยบายและบริหารจัดการน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ (สบอช.) ได้ให้บริษัทที่ปรึกษาศึกษาความเป็นไปได้โครงการแล้ว เบื้องต้นจะมีการขุดลอกแม่น้ำ 5 สายหลัก และสร้างถนนคู่ขนานไปด้วย ได้แก่ แม่น้ำปิง วัง ยม น่าน และแม่น้ำเจ้าพระยา รวมระยะทางกว่า 1,000 กิโลเมตร โดยจะเน้นพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาก่อน เริ่มจากจังหวัดนครสรรค์ ผ่านชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี นนทบุรี และกรุงเทพฯ มาลงทะเลอ่าวไทย ระยะทางกว่า 200 กิโลเมตร เพื่อเปิดทางน้ำให้ไหลสะดวกมากขึ้น เพื่อให้รองรับการระบายน้ำได้อย่างน้อย 3,500 ลูกบาศก์เมตร/วินาที

"โครงการนี้จะเหมือนเป็นทางผันน้ำคล้ายกับฟลัดเวย์ที่อยู่ในแผนบริหารจัดการน้ำ 3 แสนล้านบาท โดยนำโมดูล A4 และ A5 มารวมกัน ขยายปากแม่น้ำเจ้าพระยาให้กว้างขึ้นจากเดิม 40-50 เมตร เป็น 100-200 เมตร มีถนนขนาด 2-4 ช่องจราจรขนาบข้าง เพื่อให้เป็นทางสัญจรสำหรับท้องถิ่น และใช้เป็นทางเลี่ยงการจราจรในเมืองด้วย คาดว่าะใช้เงินลงทุนหลายหมื่นล้านบาท"

แหล่งข่าวกล่าวต่อว่า ทั้งนี้จากการศึกษาเบื้องต้น โครงการนี้มีความคุ้มค่าทางด้านวิศวกรรมและเศรษฐกิจ แต่จะมาติดปัญหาสิ่งแวดล้อมและสังคม เนื่องจากริมแม่น้ำมีผู้บุกรุกจำนวนมาก สำหรับแหล่งเงินนั้นอาจจะใช้เงินจากกรอบเดิมใน 3 แสนล้านบาทที่มีอยู่แล้วมาดำเนินการ

ผู้ส่งออกแจมตรวจสต๊อกข้าว

ร.ต.ท.เจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ทางสมาคมเห็นด้วยกับแนวทางแก้ไขปัญหาข้าวของ คสช. ที่เร่งดำเนินการกู้เงิน 90,000 ล้านบาท มาจ่ายคืนเกษตรกรเพื่อลดแรงกดดัน ทำให้ไม่ต้องเร่งระบายข้าวสารในสต๊อกจากการรับจำนำกว่า 16 ล้านตัน ช่วยลดซัพพลายข้าวในตลาด ซึ่งแก้ไขปัญหาเสถียรภาพราคาข้าวไทยได้

หลังจากนี้ สมาคมจะขอเข้าพบ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล และนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจของฝ่ายเศรษฐกิจ คสช. โดยมีข้อเสนอเร่งด่วน 1)ตั้งคณะทำงานร่วม 3 ฝ่าย มีกระทรวงพาณิชย์ คลัง และหน่วยงานกลาง เช่น สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เพื่อตรวจสอบสต๊อกข้าวใช้เวลา 1-2 เดือน เพื่อให้ทราบตัวเลขการขาดทุนที่แท้จริง

2)นำข้อมูลมาวางแผนการบริหารจัดการสต๊อกข้าว โดยคำนึงถึงความจำเป็นของระบบตลาดเป็นหลัก เช่น ตลาดในประเทศต้องการข้าวเก่า คาดว่าต้องใช้เวลา 2 ปีในการระบาย แต่ก็ควรทำในจังหวะเวลาที่เหมาะสม และหยุดทำจีทูจี 3)วางแผนการผลิตข้าวเปลือกนาปีรอบใหม่ ปี 2557/2558 ควบคู่ไปด้วย โดยต้องวางแผนการขายก่อนการเก็บเกี่ยว

"ประกาศนโยบายให้ชัดไปเลยว่าเราจะไม่ขายข้าวเก่าในสต๊อกรัฐบาล พร้อมกำหนดมาตรการช่วยเหลือชาวนาที่ปลูกรอบใหม่ โดยมุ่งเน้นไปที่ชาวนารายย่อย มีพื้นที่ดินไม่เกิน 40 ไร่ อาจใช้วิธีสนับสนุนให้ลดพื้นที่ปลูกข้าวลง 50% โดยรัฐจ่ายเงินสนับสนุนปัจจัยการผลิตแทน หากดำเนินการตามนี้ คสช.จะช่วยยกระดับราคาข้าวเปลือกจากตันละ 7,500-7,800 บาท ไปเป็น8,000-9,000 บาท ในระยะเวลาเพียงไม่ถึงสัปดาห์แน่นอน ที่สำคัญเชื่อว่ายอดส่งออกข้าวในปีนี้จะสูงถึง 9 ล้านตัน ทวงแชมป์ส่งออกข้าวอันดับ 1 กลับคืนมาจากอินเดียได้เพราะที่ผ่านมาในช่วง 4 เดือนแรกส่งออกข้าวได้ 3.21 ล้านตัน หรือเฉลี่ยเดือนละ 7 แสนตัน เพิ่มขึ้น 56.6% จากปีก่อน มูลค่า 1,596 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งแซงเวียดนามแล้ว" ร.ต.ท.เจริญกล่าว

คลังลุยกู้จ่ายคืนชาวนา

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ รองปลัดกระทรวงการคลังได้ลงนามส่งหนังสือชี้ชวนธนาคารพาณิชย์และธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ 32 แห่ง เข้าร่วมยื่นซองเสนอเงื่อนไขอัตราดอกเบี้ยแล้ว โดยจะกู้เป็นเทอมโลน อายุ 3 ปี วงเงินไม่เกิน 5 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็น 2 งวด ประมูลครั้งแรก 6 มิ.ย.นี้ 3 หมื่นล้านบาท รอบที่สอง 13 มิ.ย.ไม่เกิน 2 หมื่นล้านบาท

ขณะที่ ธ.ก.ส.รายงานว่า ช่วงเช้า 30 พ.ค. ได้โอนเงินให้ชาวนาเพิ่มอีก 118,569 ราย เป็นเงิน 11,633.78 ล้านบาท ทำให้รวม 5 วัน ธ.ก.ส.จ่ายเงินให้ชาวนาไปแล้ว 303,950 ราย เป็นเงิน 30,878.23 ล้านบาทจากยอดที่ค้างอยู่ทั้งสิ้นกว่า 92,000 ล้านบาท

แบงก์ขานรับประมูลเงินกู้ สบน.

นายธัชพล กาญจนกูล รองผู้อำนวยการอาวุโส รักษาการแทนผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวว่า ออมสินมีสภาพคล่องส่วนเกิน 2-2.5 แสนล้านบาท เพียงพอที่จะเข้าร่วมประมูลวงเงินกู้จำนำข้าวตามมาตรการเร่งด่วนของ คสช.

นายวรภัค ธันยาวงษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า จะเข้าร่วมประมูลให้กู้ยืมเงินในโครงการรับจำนำข้าวทั้ง 2 งวด เพราะการประมูลครั้งนี้ได้ปลดล็อกข้อติดขัดทางกฎหมายก่อนหน้านี้แล้ว ส่วนจะเสนอวงเงินกู้เท่าไรต้องพิจารณาจากสภาพคล่องที่มีอยู่ก่อน

ขณะที่นายชาญศักดิ์ เฟื่องฟู กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ กล่าวว่า จะเข้าร่วมประมูลด้วย ส่วนอัตราดอกเบี้ยต้องรอดูเงื่อนไขการให้กู้ยืม และธนาคารที่เข้าร่วมประมูล

อุตฯชงลดขั้นตอนใบ รง.4

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กระทรวงอุตสาหกรรมเตรียมปรับกระบวนการพิจารณาใบอนุญาต รง.4 ให้มีขั้นตอนที่สั้นลง จะเสนอให้ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง ในโอกาสที่จะมามอบนโยบายขับเคลื่อนการลงทุนในวันจันทร์ที่ 2 มิ.ย. 2557

นอกจากนี้เตรียมยกเลิก คณะกรรมการกลั่นกรองโครงการขนาดใหญ่ที่มีผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม เนื่องจากได้วางกรอบและขั้นตอนการพิจารณาตามกฎหมายไว้เป็นแนวทางให้กับกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) แล้ว
ในโลกหล้านี้... มีเพียงหนึ่งเดียวที่ฟ้ามิอาจลิขิตได้นั่นก็คือ "ยอดคน"
โพสต์โพสต์