ธปท.เปิดทางแบงก์ต่างชาติตั้งสาขาในไทย

การลงทุนแบบเน้นคุณค่า ลงทุนหุ้น VI เน้นที่ปัจจัยพื้นฐานเป็นหลัก

โพสต์ โพสต์
วรันศ์ บัฟเฟต
Verified User
โพสต์: 1679
ผู้ติดตาม: 0

ธปท.เปิดทางแบงก์ต่างชาติตั้งสาขาในไทย

โพสต์ที่ 1

โพสต์

คิดยังไงกันครับกับการแข่งขันที่จะมากขึ้น
ธปท.เปิดทางแบงก์ต่างชาติขอไลเซนตั้งสาขาในไทยอีก 5 ใบ ยื่นได้แล้วตั้งแต่วันนี้ถึงสิ้นปี หวังเปิดให้มีการแข่งขันมากขึ้น

นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า การแข่งขันของธนาคารพาณิชย์ไทยในขณะนี้ ถือว่ามีความรุนแรงพอสมควรในบางธุรกรรม เช่น ธุรกรรมการรับเงินฝาก และการแข่งขันเหล่านี้เป็นการแข่งขันแบบไม่มีวันสิ้นสุด(Open-Ended) ดังนั้นโอกาสที่ระดับการแข่งขันจะเพิ่มขึ้นในอนาคตจึงมีความเป็นไปได้

นอกจากนี้ ธปท. เตรียมเปิดใบอนุญาต(ไลเซน) การขอจัดตั้งเป็นสาขาธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศใหม่ เพิ่มอีก 5 ใบ ซึ่งเริ่มเปิดให้ธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศที่สนใจยื่นสมัครเข้ามาแล้วตั้งแต่วันนี้ไปจนถึงสิ้นปี และขณะนี้ก็มีธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศให้ความสนใจพอสมควร โดยการเข้าของธนาคารพาณิชย์เหล่านี้ ก็น่าจะช่วยเพิ่มการแข่งขันของธนาคารพาณิชย์ในประเทศได้ในระดับหนึ่ง แต่อาจเป็นเพราะบางกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มที่มีการค้าระหว่างประเทศ

"เรื่องการแข่งขัน จะเห็นว่า แนวทางของเราก็ทำแบบเป็นขั้นเป็นตอนเพื่อให้การแข่งขันมีมากขึ้นเรื่อยๆ สะท้อนผ่านแผนแม่บทพัฒนาระบบสถาบันการเงิน(มาสเตอร์แพลน) ฉบับที่ 1 และ 2 ซึ่งในส่วนของแผนแรกนั้น เป็นการเสริมความแข็งแกร่ง เพราะก่อนทำแผนสถาบันการเงินเรามีเยอะมาก กระจัดกระจายก็นำไปสู่การควบรวมทำให้แข็งแกร่งขึ้น เมื่อมีความเข้มแข็งแล้ว แผน2 ก็จะพูดในเรื่องการลดภาระของเขาลง โดยเปิดให้มีการแข่งขันมากขึ้น"นายประสารกล่าว

ส่วนในเรื่องของส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ(NIM) ของธนาคารพาณิชย์ไทยซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ 2.4-2.5% นั้น ถือเป็นค่าเฉลี่ยระดับกลางๆ ของประเทศในกลุ่มอาเซียน5(ไทย มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ฟิลลิปินส์) โดย ไทย มีระดับของ NIM ที่สูงกว่าสิงคโปร์ กับ มาเลเซีย และต่ำกว่าของอินโดนีเซียและ ฟิลลิปินส์

สาเหตุที่ NIM ของสิงคโปร์ค่อนข้างต่ำเพราะมีการปล่อยกู้กับสถาบันการเงินขนาดใหญ่ ส่วนอินโดนีเซีย มีระดับNIM ที่สูงเพราะลักษณะของภูมิประเทศเป็นเกาะ แสดงให้เห็นว่าแต่ละประเทศนั้นค่อนข้างมีลักษณะเฉพาะในแต่ละประเทศ ขณะที่ของประเทศไทยนั้น ธปท.มองว่า NIM ในระดับปัจจุบันมีความเหมาะสม เนื่องจากประเทศไทยมีการปล่อยกู้ให้กับอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดเล็ก รวมถึง สินเชื่อรายบุคคลค่อนข้างเยอะ

นายประสาร กล่าวว่า ประเทศไทยแบ่งลูกค้าออกเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มลูกค้าขนาดใหญ่ เช่น ปตท. ปูนซีเมนต์ เครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือ เอไอเอส เป็นต้น ซึ่งลูกค้ากลุ่มนี้ดอกเบี้ยที่ธนาคารพาณิชย์คิดจะค่อนข้างต่ำ ทำให้ส่วนต่างดอกเบี้ยมีน้อยอาจไม่ถึง 1%

ส่วนอีกกลุ่ม คือ กลุ่มลูกค้าขนาดกลางและขนาดย่อม ซึ่งกลุ่มนี้ธนาคารพาณิชย์จะคิดอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้นนิดหน่อย ทำให้ส่วนต่างดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้นตามไปด้วย และกลุ่มสุดท้าย คือ กลุ่มสินเชื่ออุปโภคบริโภค หรือสินเชื่อรายย่อย ซึ่งปกติแล้วกลุ่มนี้จะมีอัตราดอกเบี้ยที่สูงที่สุด

“จะเห็นว่าทั้ง 3 กลุ่ม ค่อนข้างแตกต่างกันในเรื่องอัตราดอกเบี้ยที่คิด ดังนั้นหากนำมาคำนวณค่าเฉลี่ย NIM จึงไม่ได้สะท้อนอะไร เพราะเสปรดลูกค้ากลุ่มแรกอาจไม่ถึง 1% กลุ่มเอสเอ็มอีอาจสูงขึ้นมาหน่อย และลูกค้าบุคคลก็คิดในอีกแบบ ดังนั้นในบางครั้งเราอาจเห็น NIM ขยับขึ้นมาสูงบ้าง แต่ก็อาจเป็นเพราะเขาหันมาปล่อยให้กับรายย่อยกันมากขึ้นก็ได้”นายประสารกล่าว

นอกจากนี้ นายประสาร ยังกล่าวถึงการปล่อยสินเชื่อกับลูกค้าระดับรากหญ้า(ไมโครไฟแนนซ์) ด้วยว่า หากยังคุมเพดานการคิดดอกเบี้ยไม่ให้เกิน 28% ก็คงเป็นเรื่องยากที่ธุรกิจนี้จะเกิดได้ แต่อย่างไรก็ตามหากคิดอัตราดอกเบี้ยที่สูงเกินไป ก็จูงใจให้ลูกค้ามีโอกาสเบี้ยวหนี้สูงด้วยเช่นกัน ดังนั้นจึงต้องชั่งน้ำหนักให้ดีสำหรับการคิดอัตราดอกเบี้ยสำหรับธุรกิจดังกล่าว

“ดอกเบี้ยอย่าไปคิดแบบไร้เดียงสาข้างเดียว แต่ต้องคิดถึงสภาพความเป็นจริงที่เกิดขึ้นด้วย เพราะตามทฤษฎีแน่นอนว่าถ้ามีเพดานดอกเบี้ยก็คงเป็นอุปสรรคกับการคิดของคนกลุ่มหนึ่งที่มีความเสี่ยงสูงหน่อย เขาจึงอยากให้ขยับเพดานขึ้น แต่ถ้าคิดสูงมากเกินไป ทำให้เกิดแรงจูงใจที่เขาจะคิดเบี้ยวหนี้ได้เช่นกัน”นายประสารกล่าว

เขากล่าวด้วยว่า สิ่งที่ ธปท. พยายามทำควบคู่กับเรื่องเหล่านี้ คือ การให้ความรู้ความเข้าใจกับประชาชนทั่วไปว่า ถ้าไม่มีความจำเป็นจริงๆ อย่ากู้ เพราะการกู้แล้วต้องไปจ่ายดอกเบี้ยสูงๆ ต่อเนื่องนานๆ ชีวิตคงไม่มีความสุข ยกเว้นแต่ว่ามีความจำเป็นที่ต้องกู้จริงๆ

ส่วนในเรื่องของเงินทุนเคลื่อนย้ายนั้น นายประสาร กล่าวว่า ธปท.ได้เตรียมความพร้อมรับมือกับสถานการณ์เงินบาทที่อาจผันผวนได้ในทั้ง 2 ทิศทาง ไม่ว่าจะแข็งค่าขึ้นหรืออ่อนค่าลง โดยกรณีที่เงินบาทแข็งค่าขึ้น ธปท.มีเครื่องมือที่ใช้ในการดูแลเพิ่มเติม แต่หากเงินบาทอ่อนค่าลง ธปท.ก็มีระดับเงินสำรองระหว่างประเทศที่สูงสามารถนำมาใช้ในการดูแลได้เช่นกัน ขณะเดียวกันไม่ว่าเงินบาทจะเคลื่อนไหวไปทิศทางใด ธปท. มีระบบอัตราแลกเปลี่ยนซึ่งมีความยืดหยุ่นสามารถดูแลได้ในทั้ง 2 ทิศทาง

“ตลาดอัตราแลกเปลี่ยนมันเป็นตลาดที่มีสภาพคล่องสูงมาก และมันสามารถเคลื่อนไหวได้ในทั้ง 2 ทิศทาง หน้าที่ของ เราคือ ดูแลไม่ให้มันเคลื่อนไหวขึ้นหรือลงอย่างฮวบฮาบไปในทางใดทางหนึ่ง ส่วนเรื่องการคาดการณ์นั้น ไม่ใช่หน้าที่เราที่จะไปทำนายว่า เงินบาทจะไปทางไหน เพราะเรามีหน้าที่ดูแลในเรื่องเสถียรภาพการเงิน เราดูทั้ง 2 ข้าง”นายประสารกล่าว

นอกจากนี้ ที่ผ่านมา ธปท.ได้พยายามเตือนผู้เกี่ยวข้องอยู่ตลอดว่า อัตราแลกเปลี่ยนมีความเสี่ยงเพราะสามารถเคลื่อนไหวได้ในทั้ง 2 ทิศทาง ดังนั้นผู้เกี่ยวข้องจึงควรต้องดูแลตัวเอง ซึ่งที่ผ่านมาก็พบว่า การทำประกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน(เฮดจ์จิ้ง) ของผู้ประกอบการมีเพิ่มขึ้น และเป็นการเพิ่มขึ้นแบบมีนัยสำคัญด้วย
value trap
รูปภาพ
โพสต์โพสต์