กำลังซื้อวูบ ฉุดตลาดสแน็ก/ขนม

การลงทุนแบบเน้นคุณค่า ลงทุนหุ้น VI เน้นที่ปัจจัยพื้นฐานเป็นหลัก

โพสต์ โพสต์
วรันศ์ บัฟเฟต
Verified User
โพสต์: 1679
ผู้ติดตาม: 0

กำลังซื้อวูบ ฉุดตลาดสแน็ก/ขนม

โพสต์ที่ 1

โพสต์

ตลาดสแน็ก3หมื่นล้านขายวูบ

กำลังซื้อวูบ ฉุดตลาดสแน็ก 3 หมื่นล้านร่วง จับตา 3 กลุ่มทั้งมันฝรั่ง สาหร่าย และบิสกิตกระทบหนักสุด ด้าน "เลย์" ยอมรับครึ่งแรกยอดขายชะงัก ส่วนตลาดหดโตแค่ 7% จากเดิมโตเป็นตัวเลข 2 หลัก ขณะที่สมาคมค้าส่ง ค้าปลีกไทย ย้ำค่าครองชีพพุ่ง ผู้บริโภคหั่นลดภาระ ตัดสินค้าไม่จำเป็น ทำยอดร้านค้าส่งลด 30-40% ฟากร้านค้าปลีกชี้ กลุ่มสินค้าที่คาดว่าจะโดนหางเลขจากกำลังซื้อลดมีทั้งเสื้อผ้า เครื่องประดับ แอ็กเซสซอรี

นายสมชาย พรรัตนเจริญ นายกสมาคมค้าส่ง-ค้าปลีกไทย เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า การมีภาระค่าใช้จ่ายที่เพิ่มสูงขึ้น ตลอดจนราคาสินค้าที่เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลกระทบทำให้ประชาชนมีค่าครองชีพที่ขยับตัวตามมา ทำให้ในช่วงที่ผ่านมาลดการจับจ่ายใช้สอย สินค้าหลายประเภทได้รับผลกระทบไปด้วย โดยเฉพาะในไตรมาส 2 ที่ปกติถือเป็นช่วงไฮซีซัน มีการจับจ่ายซื้อสินค้าสูง แต่กลับมีกำลังซื้อที่ลดลงและเชื่อว่าจะต่อเนื่องไปจนถึงไตรมาส 3 และหากรัฐไม่มีนโยบายที่จะมาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ เชื่อว่าจะส่งผลลากยาวไปถึงไตรมาส 4
ทั้งนี้กลุ่มสินค้าที่ได้รับผลกระทบและถูกลดการจับจ่ายในอันดับต้นๆ ได้แก่ กลุ่มขนมขบเคี้ยว หรือสแน็ก ซึ่งล่าสุดพบว่ายอดขายผ่านร้านค้าส่งลดลง 30-40% โดยเฉพาะในกลุ่มมันฝรั่ง, สาหร่าย และบิสกิต ที่พบว่ามียอดขายลดลงจำนวนมาก
ขณะที่นางสาวมุกดา ไพรัชเวทย์ กรรมการผู้จัดการ กลุ่มธุรกิจอาหารและขนมขบเคี้ยว บริษัท เป๊ปซี่-โคล่า (ไทย) เทรดดิ้ง จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายขนมขบเคี้ยวภายใต้แบรนด์ เลย์ ,โดริโทส , ซันไบทส์ และตะวัน กล่าวว่า ยอมรับว่าเลย์ ได้รับผลกระทบจากกำลังซื้อที่ลดลง ส่งผลทำให้ยอดขายในครึ่งปีแรกชะงักไป เช่นเดียวกับตลาดแสน็กในปัจจุบันที่มีอัตราการเติบโตลดลง ซึ่งในครึ่งปีแรกมูลค่าตลาดมีการเติบโต 7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีการเติบโตด้วยตัวเลขสองหลัก อย่างไรก็ตามคาดการณ์ว่าความผันผวนในตลาดสแน็กเมืองไทยยังมีความไม่แน่นอน แต่ตลาดรวมมีโอกาสกลับมาเติบโตใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมาอีกครั้งหากไม่มีปัจจัยลบแรงๆ เกิดขึ้น
ทั้งนี้ในส่วนของบริษัทเองได้เตรียมเดินหน้ารุกตลาดอย่างเต็มที่ไม่ว่าจะเป็นการขยายกำลังการผลิต บนพื้นที่ 50 ไร่ที่นิคมอุตสาหกรรมโรจนะ จ.พระนครศรีอยุธยา (ภายใต้แผนงานลงทุนระยะยาว 3 ปี) โดยมีกำหนดแล้วเสร็จในปี 2557 และมีกำลังการผลิต 2.2 หมื่นตันต่อปี ซึ่งจะช่วยเพิ่มกำลังการผลิตขนมขบเคี้ยวในประเทศของเป๊ปซี่โคได้ถึง 49% ควบคู่กับการผนึกธุรกิจเครื่องดื่มน้ำอัดลมในเครืออย่าง เป๊ปซี่ เซเว่น-อัพ และมิรินด้า ในการทำการตลาดร่วมกันเพื่อสร้างจุดแข็งให้แก่บริษัทและสินค้าในเครือภายใต้แนวคิด Power of one
ขณะเดียวกันยังได้ขยายฐานการผลิตวัตถุดิบหลัก อย่างมันฝรั่ง ไปยังภาคอีสานเพิ่มเติม ไม่ว่าจะเป็นในจังหวัดอุดรธานี หนองคาย และสกลนคร โดยร่วมกับกรมวิชาการการเกษตร เพื่อเพิ่มผลผลิตรองรับความต้องการและสร้างอาชีพให้กับเกษตรกรด้วย หลังจากที่ฐานการผลิตมันฝรั่งเดิมของบริษัทอยู่ที่ภาคเหนือ อาทิ เชียงใหม่ เชียงราย ลำปาง แพร่ ตาก เป็นหลัก
"ปัจจุบันวัตถุดิบอย่างมันฝรั่งของเรานำเข้าคิดเป็น 1 ใน 3 ของการใช้ในการผลิตทั้งหมด ทั้งนี้การเพิ่มโซนนิ่งในการผลิตร่วมกับภาครัฐไปยังภาคอีสานเพิ่มเติม และทำให้เราลดต้นทุนในการผลิตในอีก 3 ปีข้างหน้า"
ด้านแหล่งข่าวจากร้านค้าส่งรายหนึ่งในย่านหทัยราษฎร์ กรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ปัจจุบันทางร้านขายส่งสินค้าประเภทสแน็กมากกว่า 30 แบรนด์ ทั้งประเภทมันฝรั่ง, ขนมขึ้นรูป, ปลาหมึก, สาหร่าย ฯลฯ ช่วงที่ผ่านมาพบว่า ยอดขายสแน็กลดลงโดยเฉพาะไซซ์ใหญ่ ที่มีราคาตั้งแต่ 20 บาทขึ้นไป ส่วนสาเหตุคาดว่ามาจากการที่ลูกค้าลดการซื้อสินค้าลง และเลือกซื้อเฉพาะที่ชอบจริงๆ ขณะที่ขนมปังที่มีราคา 5-10 บาท จะได้รับความนิยมมากขึ้น
"ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ลูกค้าซึ่งส่วนใหญ่เป็นร้านค้าปลีกขนาดเล็กหรือร้านโชวห่วย ลดการซื้อสินค้าลง โดยเลือกซื้อเฉพาะสินค้าที่ขายดี เช่น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป เป็นต้น ขณะที่สินค้าประเภทสแน็ก ลูกอม กลับมียอดขายลดลง โดยให้เหตุผลว่าขายไม่ดี ขายได้น้อย ซึ่งบางรายมาซื้อสินค้าสัปดาห์ละครั้ง จากเดิมที่เคยมาซื้อ 1-2 ครั้งต่อสัปดาห์ และจำนวนเงินที่ซื้อก็ลดลง จากเดิมที่ซื้อ 4-5 พันบาทต่อครั้ง ลดลงเหลือประมาณ 3 พันบาทต่อครั้ง ขณะที่ในช่วงต้นเดือนอาจจะซื้อในปริมาณที่มากในหลักหมื่นบาท"
แหล่งข่าวในวงการค้าปลีกรายหนึ่งกล่าวว่า ในช่วงที่ผ่านมายอมรับว่าตลาดสแน็กมีความผันผวนค่อนข้างสูง ขณะที่ค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้น และกำลังซื้อที่ลดลง ทำให้พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป ลดการจับจ่ายในสิ่งที่ไม่จำเป็น และดูเหมือนสแน็กจะเป็นกลุ่มแรกๆ ที่ถูกตัดออกไป ส่วนกลุ่มที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบเช่นกัน ได้แก่ เสื้อผ้า, เครื่องประดับ และแอ็กเซสซอรีต่างๆ เป็นต้น
อย่างไรก็ดี ตลาดสแน็กในปีนี้มีการแข่งขันค่อนข้างรุนแรง โดยเฉพาะในตลาดสแน็กประเภทสาหร่าย และบิสกิต ซึ่งพบว่ามีผู้ประกอบการรายใหม่เกิดขึ้นจำนวนมาก ทำให้การแข่งขันสูง โดยพบว่าในตลาดบิสกิต ซึ่งมีผู้ประกอบการ 6-7 รายได้รับผลกระทบมาก ทั้งจากต้นทุนราคาสินค้าที่เพิ่มสูงขึ้น ค่าการตลาด และการแข่งขันที่รุนแรงจากการเข้ามาของแบรนด์ต่างประเทศ โดยเฉพาะจากมาเลเซียซึ่งเป็นคู่แข่งสำคัญ ส่งผลทำให้มียอดขายลดลงและในอนาคตหากยังเป็นเช่นนี้เชื่อว่าจะไม่สามารถแข่งขันในตลาดได้ หากไม่เลิกไปก็คงต้องถูกซื้อกิจการในที่สุด
สำหรับตลาดขนมขบเคี้ยว ณ เดือนมิถุนายน 2556 มีมูลค่าตลาดประมาณ 3 หมื่นล้านบาท แบ่งสัดส่วนออกเป็น ตลาดมันฝรั่ง 31% มีแบรนด์ "เลย์" เป็นผู้นำตลาดด้วยส่วนแบ่ง 75% , ขนมขึ้นรูป 31% มีแบรนด์ "ตะวัน" เป็นผู้นำตลาดด้วยส่วนแบ่ง 13.1%, บิสกิตและแครกเกอร์ 10% อาทิแบรนด์ วอยซ์ , อันปัน, โอริโอ ฯลฯ , ถั่ว 8% อาทิแบรนด์ โก๋แก่ ฯลฯ , สาหร่าย 8% มีแบรนด์ "เถ้าแก่น้อย" เป็นผู้นำตลาดด้วยส่วนแบ่งกว่า 80% , ปลาและปลาหมึก 7% อาทิแบรนด์ ฟิชโช , ทาโร่ , เต่าทอง ฯลฯ , ข้าวและข้าวโพด 5% อาทิ แบรนด์ โดโซะ ฯลฯ

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 33 ฉบับที่ 2,878 วันที่ 12 - 14 กันยายน พ.ศ. 2556

http://www.thanonline.com/index.php?opt ... Itemid=417
value trap
รูปภาพ
วรันศ์ บัฟเฟต
Verified User
โพสต์: 1679
ผู้ติดตาม: 0

Re: กำลังซื้อวูบ ฉุดตลาดสแน็ก/ขนม

โพสต์ที่ 2

โพสต์

มีบริษัทในตลาดที่ขายสินค้ากลุ่มสแน็กอยู่เหมือนกันนะครับ ไม่ทราบว่าเป็นยังไงบ้าง
value trap
รูปภาพ
โพสต์โพสต์