อ่านข่าวแล้ว ชวนสงสัย แนวทาง ดอกเบี้ย จากนี้

การลงทุนแบบเน้นคุณค่า ลงทุนหุ้น VI เน้นที่ปัจจัยพื้นฐานเป็นหลัก

โพสต์ โพสต์
pakhakorn
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 957
ผู้ติดตาม: 0

อ่านข่าวแล้ว ชวนสงสัย แนวทาง ดอกเบี้ย จากนี้

โพสต์ที่ 1

โพสต์

http://www.komchadluek.net/detail/20130 ... dpeH6wlHDY

ศก.ไทยส่งออกวูบ-กำลังซื้อหด-ลงทุนชะลอ
ศก.ไทยไร้ตัวช่วยแห่หั่นเป้าจีดีพี ส่งออกวูบ-กำลังซื้อหด-ลงทุนชะลอ : ณัฎฐ์ชิตา เกิดแดง ... รายงาน




ดูเหมือนว่าทิศทางของเศรษฐกิจไทยจะพลิกผันค่อนข้างรวดเร็ว จากต้นปีที่ดูจะไปได้สวยทั้งการบริโภค การลงทุนภาคเอกชนที่เป็นแรงขับเคลื่อนการขยายตัวต่อเนื่องจากปีก่อน แต่พอล่วงเข้าไตรมาส 2 สถานการณ์กลับเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง ทั้งเรื่องของการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน ที่ชะลอตัวลงอย่างรุนแรง รวมถึงการส่งออกไม่กระเตื้อง ส่งผลให้สำนักพยากรณ์เศรษฐกิจพากันปรับประมาณการการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ปี 2556 ใหม่ทั้งหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน

นำร่องโดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ที่ปรับลดจีดีพีปีนี้จาก 4.5-5.5% ลงมาอยู่ที่ 4.2-5.2% หลังจากจีดีพีไตรมาสแรกหดตัว 2.2% (เทียบต่อไตรมาส) หรือมีอัตราการเติบโตที่ 5.3% ตามมาด้วยสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ปรับลดจาก 5.3% ลงมาเหลือ 4.5% จากนั้น ธนาคารพาณิชย์ และศูนย์พยากรณ์ต่างก็ทยอยปรับตัวเลขลงมาเช่นเดียวกัน



"คลัง"ควานหายาแรงกระตุ้น


สำหรับสาเหตุที่หลายหน่วยงานต่างพร้อมใจกันปรับเป้าจีดีพีปีนี้ใหม่ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากเศรษฐกิจไตรมาสแรกที่ขยายตัวต่ำกว่าที่คาด และถือเป็นการหดตัวเมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปีก่อน ส่วนแนวโน้มของไตรมาส 2 ก็น่าจะขยายตัวลดลงอีก โดยกระทรวงการคลังมองว่าจะขยายตัวเพียง 4% เท่านั้น ทำให้ในอีก 2 ไตรมาสที่เหลือต้องขยายตัวให้ได้ 4% กว่าจึงจะดันจีดีพีปีนี้ขยายตัวได้ถึง 4.5% หรือหากจะให้ได้ถึง 5% รัฐบาลจำเป็นต้องมีมาตรการกระตุ้นหรือหยอดให้เครื่องจักรทางเศรษฐกิจขับเคลื่อนได้คล่องตัวยิ่งขึ้น

นายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการ สศค. ยอมรับว่า เศรษฐกิจเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา และไตรมาส 2 มีสัญญาณชะลอตัวลงต่อเนื่องจากไตรมาสแรก จากการส่งออกที่ลดลงมาก ซึ่งเป็นผลมาจากเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าที่ชะลอตัวลง ส่งผลให้การส่งออกปีนี้น่าจะขยายตัวลดลงจากที่เคยมองไว้ที่ระดับ 9% อาจจะเหลือ 5.4% ขณะที่การบริโภคชะลอลงมาจากรายได้ภาคครัวเรือนที่ลดลง และมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายของภาครัฐหมดไป ทั้งการซื้อบ้าน และรถยนต์ ส่วนการลงทุนชะลอลงเป็นผลจากการเร่งนำเข้ามามากก่อนหน้านี้

จากปัจจัยเสี่ยงต่างๆ กระทรวงการคลังจึงมองว่าเศรษฐกิจปีนี้น่าจะขยายตัวได้ในระดับ 4.5% ซึ่งต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้เดิม 5.3% แม้จะลดลงมาแต่ก็ยังเป็นตัวเลขที่ยังรับได้ สะท้อนถึงพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่ยังแข็งแกร่ง ส่วนที่คาดหวังให้การใช้จ่ายภาครัฐทั้งโครงการน้ำที่มองไว้ว่าจะเริ่มเบิกจ่ายปีนี้ 3.3 หมื่นล้านบาท และการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานอีกบางส่วนก็อาจจะต้องตัดออกไปไม่ทันในปีนี้ จึงอาจต้องมาประเมินและหามาตรการเพิ่มเติมในการกระตุ้นช่วงปลายปีเพื่อไม่ให้แรงขับเคลื่อนแผ่วจนกระทบจีดีพีต่ำกว่า 4%

“แม้หลายหน่วยงานจะเริ่มปรับลดการขยายตัวของเศรษฐกิจลงแล้ว แต่ก็ยังเชื่อว่าเลวร้ายสุดไม่น่าโตต่ำกว่า 4% แต่รัฐบาลอาจต้องมีการอัดมาตรการเข้าไปกระตุ้นบ้างเพื่อให้มีแรงส่ง ซึ่งหน่วยงานเศรษฐกิจคงต้องมีการหารือและประสานความร่วมมือกันมากขึ้น” นายสมชัย กล่าว



แห่หั่นเป้าจีดีพีชี้ชัดศก.ชะลอ


นอกจากนี้ นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เองก็ออกมาปรับลดลงคาดการณ์จีดีพีปีนี้จากที่มองว่าขยายตัว 4.8-5.2% ลดลงเหลือ 4-4.5% เนื่องจากไตรมาส 2 ที่ผ่านมาเศรษฐกิจมีสัญญาณแย่ลงอย่างชัดเจนขยายตัวเพียง 4% และมีแนวโน้มจะเป็นขาลงหรือชะลอตัวต่อเนื่องในไตรมาสที่ 3 จากปัจจัยลบหลายด้าน

ทั้งงบลงทุนในโครงการน้ำ 3.5 แสนล้านบาทที่จะล่าช้าออกไปทำให้เศรษฐกิจขาดแรงกระตุ้น รวมทั้งกำลังซื้อของผู้บริโภคซึมลงอย่างชัดเจน และคาดว่าจะลดลงมีต่อเนื่องโดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าที่ไม่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต ทั้งการซื้อรถยนต์ บ้านและการใช้จ่ายด้านการท่องเที่ยวมีแนวโน้มลดลง

อย่างไรก็ตามหอการค้ามองว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวได้ในช่วงไตรมาส 4 โดยคาดหวังว่ารัฐบาลน่าจะมีมาตรการออกมากระตุ้นทั้งการบริหารราคาพลังงาน การเร่งเบิกจ่ายงบค้างท่อและน่าจะเร่งสนับสนุนด้านการท่องเที่ยว โดยการออกไปโปรโมทในต่างประเทศ และเร่งส่งเสริมด้านความปลอดภัย รวมทั้งสนับสนุนให้หน่วยงานราชการต่างๆ จับจ่ายใช้สอยภายในประเทศแทนการไปดูงานต่างประเทศ

เช่นเดียวกับ นายรุ่งศักดิ์ สาธุธรรม ผู้จัดการฝ่ายอาวุโส ฝ่ายวิจัย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ที่ออกมาปรับลดการเติบโตทางเศรษฐกิจปีนี้ จาก 4.8-5.3% เหลือ 4.0-4.5% ตามการบริโภคและการส่งออกที่เติบโตต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ โดยครึ่งปีหลังคาดเศรษฐกิจจะขยายตัวเพียง 3.5-4.0% ชะลอตัวลงจากครึ่งปีแรกที่ขยายตัว 4.7% ด้วยซ้ำ

สอดคล้องกับที่นายบันลือศักดิ์ ปุสสะรังษี ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคาร ซีไอเอ็มบีไทย ระบุว่า เศรษฐกิจไทยในปีนี้ได้รับปัจจัยเสี่ยงจากเศรษฐกิจโลกและการบริโภคที่ชะลอตัว ขณะที่การลงทุนภาครัฐโดยเฉพาะโครงการน้ำ 3.5 แสนล้านบาทยังติดอุปสรรคทางด้านกฎหมายอยู่ทำให้ต้องชะลอออกไป และคงไม่มีมาตรการใหม่ๆ ออกมากระตุ้นเศรษฐกิจในขณะนี้ จึงมองว่าจีดีพีปีนี้น่าจะอยู่ที่ 4-4.5% ลดลงจากก่อนหน้านี้ที่ประเมินไว้ที่ 4.5-5% ส่วนการส่งออกของไทยคาดว่าจะขยายตัวเพียง 5%



จี้รัฐเร่งฟื้นเชื่อมั่นการลงทุน


ด้านนายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ธนาคารกรุงเทพ ให้ความเห็นว่าเศรษฐกิจช่วงต้นปีหรือไตรมาสแรกอ่อนแอกว่าที่หลายๆ คนมองไว้ ซึ่งเดิมเชื่อว่าจะได้อานิสงส์ดีต่อเนื่องมาจากปลายปีก่อนทั้งการบริโภคการลงทุน แต่ตัวเลขการเติบโตไตรมาสแรกที่ออกมา 5.3% สร้างความผิดหวังอย่างมาก หลายคนก็อาจจะปลอบใจว่าเป็นเพราะไตรมาส 4 ปีก่อนฐานสูง และมีกำลังซื้อที่เพิ่มขึ้นผิดปกติจากการซื้อรถยนต์ในโครงการรถคันแรก พอไตรมาสแรกปีนี้มาตรการหมดลงก็เลยทำให้กำลังซื้อชะลอตัวลงตามไปด้วย

พร้อมทั้งตั้งความหวังว่าไตรมาส 2 น่าจะมีตัวเลขที่ดีขึ้นจากรายได้ที่มากขึ้นจากการปรับค่าจ้างขั้นต่ำและโครงการจำนำข้าว ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนก็น่าจะมากขึ้น หลังจากมีความมั่นใจว่าไม่มีปัญหาน้ำท่วมหรือการเมืองภายใน แต่เดือนเมษายน ตัวเลขการผลิตและการลงทุนกลับลดลงอีก เราก็ปลอบใจตัวเองว่าเป็นเพราะเดือนเมษายน มีวันหยุดมากและมีการหยุดจ่ายไฟฟ้าบางช่วงทำให้โรงงานหยุดผลิต คิดว่าเดือนพฤษภาคมน่าจะดีขึ้นแต่จากตัวเลขเดือนพฤษภาคมที่ออกมาเบื้องต้นก็ไม่ได้มีปัจจัยพิเศษอะไรมากระทบหรือฉุดให้การผลิตและกำลังซื้อลดลง

“ตัวเลขที่ออกมาจริงๆ 2 ใน 3 เดือนของไตรมาส 2 สะท้อนถึงการอ่อนตัวของเศรษฐกิจไทยอย่างชัดเจนทำให้ครึ่งปีแรกที่ผ่านไปนี้ ตัวเลขการขยายตัวไม่น่าจะดี เรียกว่าแผ่วแต่ยังไม่ถึงกับวูบ ที่น่ากังวลคือในภาวะที่เศรษฐกิจโลกยังผันผวน เศรษฐกิจยุโรป สหรัฐ ญี่ปุ่นยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่เศรษฐกิจจีนและประเทศในเอเชียชะลอตัวลง การจะพลิกฟื้นกลับมาในช่วงครึ่งปีหลังก็ไม่น่าจะง่ายนัก”

นายกอบศักดิ์กล่าวอีกว่า จากสภาวะในขณะนี้จึงดูเหมือนเศรษฐกิจไทยไร้ความหวัง เพราะการส่งออกก็ยังติดลบในทุกภูมิภาค แม้แต่ในเอเชีย เศรษฐกิจก็อ่อนแอกว่าที่คาดไว้ รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคงต้องมาดูว่าจะทำอย่างไรให้สามารถเดินต่อไปได้ ซึ่งอาจจะมีหรือไม่มีมาตรการมากระตุ้นก็ได้ แต่หากจะใช้มาตรการกระตุ้นก็คงทำได้เพียงช่วงสั้น และต้องใช้เงิน ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลก็ใช้เงินไปมากแล้ว จึงอาจกระทบฐานะการคลังได้ และมาตรการก็คงได้ผลแค่ชั่วคราว เช่น โครงการรถยนต์คันแรกที่กระตุ้นการซื้อได้จริงแต่พอหมดมาตรการยอดขายก็แผ่วลง

อย่างไรก็ตาม มองว่ามาตรการการเงินที่น่าจะมาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจบ้าง คือการดำเนินนโยบายดอกเบี้ยของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งในการประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ครั้งหน้าอาจจะตัดสินใจปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอีก หากเห็นข้อมูลและตัวเลขเศรษฐกิจที่ออกมาล่าสุด เพราะ กนง.ก็คงต้องดูว่ายังมีแรงเหวี่ยงทางเศรษฐกิจอยู่หรือไม่ที่จะช่วยให้จีดีพีปีนี้ขยายตัวได้ 4.5-5%

“นโยบายการเงินยังผ่อนคลายโดยการลดดอกเบี้ยลงได้อีก ส่วนนโยบายการคลังอาจมีข้อจำกัดเรื่องการใช้เงิน รัฐควรหันไปเน้นเรื่องการสร้างความชัดเจนในการลงทุนด้านต่างๆ มากกว่า ทั้งการลงทุนโครงการน้ำ 3.5 แสนล้านบาทและการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านบาท เพราะขณะนี้เอกชนดูเหมือนไม่ค่อยมั่นใจว่าโครงการจะเดินหน้าต่อไปได้จริง”

นายกอบศักดิ์กล่าวอีกว่า การสร้างความเชื่อมั่นเป็นสิ่งสำคัญ รัฐต้องแสดงให้เอกชนเห็นว่าเอาจริงเอาจังและทำแน่ แม้โครงการต้องใช้เวลาหรือล่าช้าออกไปก็ถือเป็นไปตามขั้นตอนทางปฏิบัติ เพราะหากความมั่นใจเอกชนกลับมาก็น่าจะช่วยสร้างบรรยากาศในการลงทุนให้กลับมาคึกคักได้ โดยเฉพาะต่างชาติยังเชื่อมั่นในพื้นฐานเศรษฐกิจไทย แต่ขณะนี้ยังมีความไม่แน่ใจ ซึ่งการลงทุนของภาครัฐคิดเป็นเพียง 5% ของจีดีพี แต่การลงทุนของภาคเอกชนมีขนาดใหญ่กว่ามากคิดเป็น 20% ของจีดีพี จึงน่าจะส่งผลดีในระยะปานกลางถึงยาวตามมาด้วย

อย่างไรก็ตาม มองว่ากำลังซื้อในประเทศที่ชะลอตัวลงหรือเป็นภาพที่ตรงข้ามกับปลายปีก่อนหรือต้นปีที่ผ่านมา เป็นเพราะก่อนหน้านี้ประชาชนก่อหนี้ไปเยอะแล้ว ทั้งซื้อบ้าน ซื้อรถยนต์ อย่างรถยนต์คันแรกรวมกว่า 1.25 ล้านคัน ก็ทำให้มีการใช้เงินไปกว่า 5 แสนล้านบาทแล้วที่กำลังเป็นหนี้ผ่อนค่างวดกันอยู่ จึงไม่แปลกที่ตัวเลขหนี้ครัวเรือนจะเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วถึง 80% ของจีดีพีและกำลังเป็นที่น่ากังวลของธปท.

“เมื่อเป็นหนี้มากก็ย่อมส่งผลให้ประชาชนเหลือเงินที่จะมาจับจ่ายสินค้าอุปโภคบริโภคอื่นๆ ลดลงตามไปด้วย จึงไม่แปลกที่จะเห็นสัญญาณการชะลอตัวลงเพราะประชาชนมีความระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น ส่วนนี้คงต้องรอให้มีการเคลียร์หรือสะสางหนี้ไปได้ระดับหนึ่งก่อนกำลังซื้อจึงจะกลับมาฟื้นตัว”

--------------------------

(ศก.ไทยไร้ตัวช่วยแห่หั่นเป้าจีดีพี ส่งออกวูบ-กำลังซื้อหด-ลงทุนชะลอ : ณัฎฐ์ชิตา เกิดแดง ... รายงาน)
pakhakorn
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 957
ผู้ติดตาม: 0

Re: อ่านข่าวแล้ว ชวนสงสัย แนวทาง ดอกเบี้ย จากนี้

โพสต์ที่ 2

โพสต์

ม.หอการค้าไทย คาด กนง.จะคงดอกเบี้ยในการประชุม 10 ก.ค.นี้ แต่เชื่อครึ่งปีหลังมีโอกาส
ลดลง 0.25-0.50%

ผศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย และผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์
เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า คาดว่าการประชุมคณะกรรมการ
นโยบายการเงิน (กนง.)ของธนาคารแห่งประเทศไทย ในรอบวันที่ 10 ก.ค.นี้ จะยังคงมีมติคง
อัตราดอกเบี้ยนนโยบายไว้ที่ 2.50% เพื่อเก็บรักษาเครื่องมือทางการเงินไว้ใช้ในการกระตุ้น
เศรษฐกิจในช่วงปลายปี
เนื่องจากระดับอัตราเงินเฟ้อในปัจจุบันยังคงอยู่ในระดับต่ำ ประกอบกับการลดดอกเบี้ย
ในรอบที่ผ่านมายังไม่ได้ส่งผ่านนโยบายไปยังธนาคารพาณิชย์ เห็นได้จากสินเชื่อที่ยังขยายตัว
สะท้อนถึงเศรษฐกิจที่ยังไม่ได้ชะลอลงอย่างรุนแรง
อย่างไรก็ดีเชื่อว่าในการประชุมอีก 2 ครั้งที่เหลือของปีในช่วงครึ่งปีหลัง กนง.จะปรับ
ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25-0.5% เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและพยุงอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานให้
อยู่ในกรอบเป้าหมายที่ 0.5-3% หลังจากมีแนวโน้มว่าอัตราเงินเฟ้อมีโอกาสที่จะปรับตัวลดลง
จากปัจจุบันที่อยู่ในระดับ 1.2% มาอยู่ที่ 0.7-0.8% จากการที่รัฐบาลยังคงตรึงราคาพลังงาน
LPG และดีเซลไว้เพื่อพยุงเศรษฐกิจ
' คิดว่าดอกเบี้ยรอบนี้จะตรึงไว้ที่เดิมเพราะเงินเฟ้อยังทรงตัว และหากมีการปรับลด
ดอกเบี้ย 2 ครั้งติดต่อกันก็ยังไม่น่าจะส่งผลไปยังธนาคารพาณิชย์ และอาจจะกลายเป็นกระสุน
ด้าน ธปท.ก็อาจจำเป็นที่รอดูสถานการณ์เศรษฐกิจไปก่อน เพราะแบงก์พาณิชย์ยังปล่อยสินเชื่ออยู่
ทำให้ไม่ได้สะท้อนว่าเศรษฐกิจชะลอลงอย่างรุนแรง แต่ก็อาจจำเป็นต้องดึงเงินเฟ้อพื้นฐานขึ้นใน
ช่วงครึ่งหลัง ให้อยู่ในกรอบเป้าหมายที่ 0.5-3% แปลว่าดอกเบี้ยอาจลดลงอีก 0.25-0.5% ใน
ช่วงไตรมาส 3 และไตรมาส 4 อีก 2 ครั้ง' ผศ.ดร.ธนวรรธน์ กล่าว




รายงาน โดย ดลนภา บัญชรหัตถกิจ
เรียบเรียง โดย ชัชชญา อังคุลี
อนุมัติ โดย อนุรักษ์ ลีประเสริฐสุนทร
อีเมล์แสดงความคิดเห็น [email protected]




ที่มา อีไฟแนนซ์ไทย วันที่ 08/07/13 เวลา 12:11:39
pakhakorn
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 957
ผู้ติดตาม: 0

Re: อ่านข่าวแล้ว ชวนสงสัย แนวทาง ดอกเบี้ย จากนี้

โพสต์ที่ 3

โพสต์

ส่วนท้ายบทความเดิม ประมาณเดือน มี.ค.56 ช่วงที่เงินบาทกำลังเริ่มแข็งค่าขึ้น เรื่อยๆ
ก็น่าคิด น่าติดตาม อยู่

นโยบายการคลังและนโยบายการเงินของไทย/ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ
http://board.thaivi.org/viewtopic.php?f=7&t=55404
การแข็งค่าอย่างรวดเร็วของเงินบาทนั้นย่อมจะส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกและการท่องเที่ยวของไทย ซึ่งมีสัดส่วนสูงถึง 75% ของจีดีพี ดังนั้น การดำเนินนโยบายอัตราดอกเบี้ยสูงในภาวะที่ประเทศเงินสกุลหลักกดดอกเบี้ยลงใกล้ศูนย์และพิมพ์เงินออกมาอย่างต่อเนื่อง อาจทำให้เสี่ยงต่อการส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพและการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยอย่างมากได้ เพราะการที่เงินบาทแข็งค่า 4.5% เมื่อเปรียบเทียบกับเงินดอลลาร์นั้นอาจส่งผลกระทบกับอุตสาหกรรมส่งออกบางประเภทที่มีการแข่งขันสูงและกำไรต่ำ เช่น สิ่งทอ เฟอร์นิเจอร์ รองเท้า และการท่องเที่ยว (ซึ่งจ้างงานเป็นจำนวนมาก) เป็นต้น

กล่าวโดยสรุป คือ นโยบายการเงินของไทยเมื่อเผชิญกับสภาวการณ์ปัจจุบันอาจส่งผลให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นได้อีก (เว้นแต่ประเทศไทยจะเกิดปัญหาทางการเมือง) ซึ่งเสี่ยงต่อการทำให้การส่งออกพลาดเป้าอย่างมากและเศรษฐกิจชะลอตัวลงในครึ่งหลังของปีนี้ ข้อดีคือเงินเฟ้อก็จะลดลงได้ด้วย ซึ่งหากเงินเฟ้อและเศรษฐกิจชะลอลงมาก คณะกรรมการนโยบายการเงินอาจจะพิจารณาลดดอกเบี้ยนโยบายลงได้ แต่หากสถานการณ์พลิกผันไปถึงจุดนั้นการลดดอกเบี้ยจะเป็นนโยบายเชิงรับ (reactive) มากกว่าการดำเนินนโยบายแบบเชิงรุก (pro-active) ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องและมีเสถียรภาพครับ
โพสต์โพสต์