เจาะใจ “ดร.นิเวศน์“ วันที่หุ้นไทยแตะ1,700 จุด

การลงทุนแบบเน้นคุณค่า ลงทุนหุ้น VI เน้นที่ปัจจัยพื้นฐานเป็นหลัก

โพสต์ โพสต์
Jonathan_Seagull
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 183
ผู้ติดตาม: 1

เจาะใจ “ดร.นิเวศน์“ วันที่หุ้นไทยแตะ1,700 จุด

โพสต์ที่ 1

โพสต์

เจาะใจ “ดร.นิเวศน์“ วันที่หุ้นไทยแตะ1,700 จุด

โดย : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

“สับเกียร์รอ”วันใดดัชนีสัมผัส 1,700 จุด พร้อมเร่งเครื่องหนี คำสถบของ “ต้นตำรับ VI” ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร “เจ้าของพอร์ตกว่า 2 พันล้าน”
“เผ่น !!!” เป็นคำตอบสุดท้าย “หากตลาดหุ้นไทยแตะ 1,700 จุด เหมือนปี 2537” ประโยคนี้ “ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร” ผู้เผยแพร่การลงทุนแบบเน้นคุณค่า (Value Investor -VI) คนแรกของเมืองไทย ประกาศกลางเวที “เปิดประสบการณ์ตามหาหุ้นตัวแรก Your First Stock” ที่มีนักลงทุนแนว VI จับจองเก้าอี้มากกว่าครึ่งห้องประชุมสังเวียน ชั้น 3 ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

คำพูดนี้ถูกถ่ายทอดถึงหู “แฟนพันธุ์แท้ VI” เพียงไม่กี่วัน ก่อน SET INDEX ปรับตัวลดลงรวม 112.68 จุด ในช่วงวันที่ 18-22 มี.ค.56 มูลค่าซื้อขายสูงถึง 101,361.64 ล้านบาท ทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ก่อนจะ “ดิ่งเหว” หนักสุด 50 จุด ปิดตลาดที่ 1,478.97 จุด เมื่อวันที่ 22 มี.ค.56 แตกต่างจากก่อนหน้านี้ที่ตลาดหุ้นอยู่ในภาวะ"กระทิงหนุ่ม" นักลงทุน “ตะลุย” ซื้อหุ้นไม่ยั้งมากว่า 2 เดือน ส่งผลให้ตลาดหุ้นทุบสถิติสูงสุดใหม่เกือบทุกวัน

“เซียนหุ้นลายคราม” ลงจากเวทีมาขยายความเรื่องนี้ให้ “กรุงเทพธุรกิจ BizWeek” ฟังว่า..."หากดัชนีขึ้นไปแตะระดับ 1,700 จุด เหมือนปี 2537 ที่ทำได้ 1,770 จุด จริงๆ บอกตรงๆผมคงไม่อยู่แล้ว (หัวเราะ) อย่างน้อยต้องขายหุ้นออกไปสัก 50% หรือไม่ก็ล้างพอร์ตลงทุนให้หมด กลัวซ้ำรอยอดีตที่หุ้นไทยค่อยย่อตัวลงมา หลังขึ้นไปแตะจุดสูงสุด"

เขาทำท่าคิด ก่อนพูดต่อว่า "แต่เมื่อถึงเวลานั้นจริงๆ ก็คงต้องมาดูสถานการณ์ต่างๆอีกครั้ง ผมอาจไม่ทำแบบนั้นก็ได้ นี่เป็นเพียงการวิเคราะห์เบื้องต้น ตามสถิติของผมมักไม่ค่อยขายหุ้นครั้งละมากๆหรือล้างพอร์ต หมดเกลี้ยง เพราะผมจะถือหุ้นแต่ละตัวนาน 3-4 ปี บางตัวครอบครองยาว 7-8 ปี ส่วนตัวไม่ค่อยนิยมดูดัชนีเท่าไร"

ถ้าดัชนีแตะ 1,700 จุด ขณะที่พอร์ตลงทุนไม่ขยับเลย แบบนี้ก็ไม่ไหว คงต้องมีขายกันบ้าง เจ้าตัวบอก

หากจะให้ทำนาย SET index ปลายปี 2556 จะไปยืนจุดไหน? ดร.นิเวศน์ บอกว่า.. "คำถามนี้ยังตอบไม่ได้ สถานการณ์ตอนนี้ถ้าให้บอกเท่ากับว่าจะต้องคาดการณ์อารมณ์ของนักลงทุน แต่พอจะประเมินได้ว่า หากดัชนีขึ้นแตะ 1,700 จุด เท่ากับว่าตลาดหุ้นขึ้นไปแรงเกิน ค่อนข้างน่าเป็นห่วงเหมือนกัน ปี 2555 ตลาดหุ้นขึ้นไป 36% ถ้าปี 2556 ขึ้นไปที่ 1,700 จุด เท่ากับว่าตลาดขึ้นไปกว่า 30% เรียกได้ว่าตลาดหุ้นไทยหวือหวา 2 ปีติดต่อกัน เหตุการณ์อย่างนี้เป็นอะไรที่นานๆจะเกิดขึ้น ขึ้นแรงขนาดนี้บ่งบอกได้ว่า เกิดจากการ “เก็งกำไร” ฉะนั้นนักลงทุนต้องระวัง"

ถามต่อว่าภาวะตลาดหุ้นเช่นนี้ แนะนำนักการลงทุนอย่างไร? เขาบอกว่า.. "ดูจากตัวผมเอง ไม่ได้ช้อนหุ้นมาพักใหญ่แล้ว เท่าที่ดูราคาหุ้นทุกตัวแพงมาก (ลากเสียงยาว) ไม่มีหุ้นตัวไหนที่รู้สึกว่าเข้าไปซื้อแล้ว “สบายใจ” สักตัว ภาวะเช่นนี้เน้นถือลงทุนหุ้นที่มีอยู่แล้วต่อไป ดีกว่าไปไล่ซื้อหุ้นตัวใหม่ๆ ผมยังไม่เห็นหุ้นตัวไหนซื้อแล้ว “ปลอดภัย” ที่ผ่านมาก็มีนักลงทุนหน้าใหม่เข้ามาลงทุนเยอะขึ้น คนเหล่านี้มีโอกาส “ขาดทุนสูง” อย่าลืมคุณเข้ามาซื้อตอนราคาสูงแล้ว เว้นเสียแต่ว่าเจอ “เนื้อคู่” หลังเล็งแล้วพบว่า 3 ปีข้างหน้า โอกาสโกยผลตอบแทนจากการลงทุนสูง ก็ขอได้โปรดอย่ารีรอ”

ดร.นิเวศน์ ยังบอกด้วยว่า ส่วนตัว “กังวล” ทุกครั้งที่เห็นตลาดหุ้นขึ้นๆ แบบนี้ ก่อนจะเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับ “วอร์เรน บัฟเฟ็ตต์” อภิมหาเศรษฐีที่รวยที่สุดในโลกให้ฟังว่า ครั้งหนึ่งช่วงตลาดหุ้นมีลักษณะดีๆ แบบนี้ ราคาหุ้นปรับตัวเพิ่มขึ้นมาก ทำให้หาซื้อหุ้นดีๆถูกๆไม่ได้ เพราะราคาแพงทุกตัว ซึ่ง “วอร์เรน” เข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นช่วงหลังวิกฤติ เขาจึงตัดสินใจล้างพอร์ตลงทุนหมดเกลี้ยง ขายหุ้นทิ้งไม่นานราคาหุ้นก็ขึ้นไม่ยอมลง

“วอร์เรน” เคยเล่าว่า ในช่วงปี 1974 มันช่างเป็นเวลาของการรอคอยที่ “แสนยาวนาน น่าเบื่อ และทรมานมาก” เพราะเขาต้อง “นั่งทับมือตัวเอง” ไม่ยอมซื้อหุ้น ขณะเดียวกันต้องมานั่งมองเพื่อนๆและนักลงทุนคนอื่นๆโชว์ “ความร่ำรวย” ผ่านไป 3 ปี ตลาดหุ้นเกิดภาวะ “ฟองสบู่แตก” หลังราคาน้ำมันพุ่งขึ้นสูงปรี๊ด อัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นจาก 5% เป็น 10%

ขณะที่สงครามเวียดนามกำลังร้อนแรง และเงินเฟ้อปรับตัวขึ้นสูงลิ่ว ดัชนีดาวโจนส์ตกลงมาถึง 50% ภายในระยะเวลาปีครึ่ง ตอนนั้น “วอร์เรน” กระโดดเข้าสู่ตลาดหุ้นอีกครั้ง นำเงินทั้งหมดซื้อหุ้น ทำตัวเหมือนผู้ชายขาดเซ็กส์มานานกว่า 3 ปี พอเห็นฮาเร็มก็รีบกระโดดเข้าใส่ เจอหุ้นตัวไหนก็สวยและถูกไปหมด เขาซื้อแบบเป็นบ้าเป็นหลัง

หลังเล่าช่วงชีวิตหนึ่งของ “วอร์เรน” จบ “ด็อกเตอร์” ก็ย้อนมาพูดถึงพอร์ตลงทุนของตัวเองว่า.. "วันนี้ผมไม่ได้ทำอะไรกับพอร์ตลงทุนของตัวเองเลยจริงๆ ทุกอย่างยังคงเดิมรอรับเพียงแต่เงินปันผลเท่านั้น อย่างปี 2555 ผมได้รับเงินปันผลจากการลงทุน “หลักร้อยล้าน” แว่บแรกผมรู้สึก “เรื่องจริงหรอ” ไม่น่าเชื่อจริงๆ ว่าจะได้ผลตอบแทนมากกมายอย่างนี้ เพราะช่วง 6 เดือนแรกของปีก่อน ผมได้เงินปันผลแค่หลัก “ล้านบาท” เท่านั้น ปัจจุบันสัดส่วนลงทุน 95% ยังอยู่ในตลาดหุ้น ส่วนที่เหลืออีก 5% ถือเป็นเงินสด"

ถ้าจะให้วิเคราะห์ว่าหุ้นกลุ่มไหนที่ยังพอเข้าไปลงทุนได้? .."ผมตอบคำถามนี้ไม่ได้จริงๆ ตลาดหุ้นเป็นแบบนี้ก็ต้องไปเสาะแสวงหุ้นดีๆกันเอาเอง (หัวเราะ) ในช่วงสภาวะแบบนี้หุ้นก็ยังไม่ปลอดภัยเท่าไร แต่หากต้องการลงทุนจริงๆก็อยากให้นักลงทุนเลือกหุ้นที่มีพื้นฐานแข็งแกร่ง และสามารถทนต่อวิกฤติ (ถ้ามี) ต้องทนต่อความผันผวนของภาวะแวดล้อมทั้งในประเทศและต่างประเทศได้ ซึ่งหุ้นในลักษณะแบบนี้ ถ้าในอนาคตเกิดมีปัญหาขึ้นมาก ราคาก็ยังพอยืนอยู่ได้ คำแนะนำนี้ใช้ได้ตอนหุ้นอยู่ในภาวะขาลง"

ดร.นิเวศน์ ยอมรับว่า ณ เวลานี้ มีหุ้นบางตัวถึงเวลาลงแล้ว ส่วนใหญ่เป็นหุ้นขนาดเล็กๆ ที่มีราคา “แพงเว่อร์” เรียกว่าสูงเกินพื้นฐาน หลังมีแรงเก็งกำไรเข้ามาเพียบ นั่นอาจรวมไปถึงหุ้น IPO ที่เพิ่งเข้าตลาดหุ้นด้วย หลายตัวราคาสูงเกิน

"ผมคิดว่าหากจะเกิดภาวะฟองสบู่ หุ้นเหล่านี้มีผลทำให้เกิดโดยตรงจะเรียกว่า “ฟองสบู่ของหุ้นตัวเล็ก” ก็พูดได้นะ !! ตราบใดที่ตลาดหุ้นยัง “ฮอตฮิต” และ “ร้อนแรง” แถมหุ้นไอพีโอก็ยังเป็นที่ต้องการของนักลงทุนแบบนี้"

ต้องยอมรับว่าหุ้นไอพีโอเป็นหุ้นที่มีคุณสมบัติเหมาะสมในการเก็งกำไร เพราะว่าหุ้น IPO ส่วนใหญ่เป็นหุ้นไซส์เล็ก และไม่มีราคาอ้างอิงพื้นฐานอะไรเลย เพราะว่าเป็นหุ้นที่เพิ่งเข้ามาใหม่ ยังไม่รู้ราคาเหมาะสมอยู่ที่ไหน ดังนั้นนักลงทุนก็เข้ามาเก็งกำไรกันอย่างสนุนสนาน เขาบอก

นักลงทุนต่างชาติส่งสัญญาณ “ถอดเงิน” ออกจากหุ้นไทยหรือยัง? “อาจารย์” บอกว่า ยังไม่เห็นสัญญาณชัดเจนว่าต่างชาติจะถอดเงินกลับประเทศ เพราะเศรษฐกิจบ้านเขายังไม่ฟื้นตัวหวือหวา แต่จริงๆแล้วต่างชาติ ก็ไม่ได้เข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นไทยเยอะแยะ ถ้าลองดูตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาต่างชาติเข้ามาในเปอร์เซ็นต์น้อยมาก ส่วนใหญ่ที่เข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นจะเป็นรายย่อยภายในประเทศมากกว่าที่เข้ามาเล่น “เก็งกำไร” เพราะว่าตลาดหุ้นไทยให้ผลตอบแทนค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับเงินฝากธนาคาร อีกอย่างต่างชาติคงยังไม่ถอนเงินกลับไป ตราบใดที่เงินยังอยู่ใน “ภาวะล้นโลก” แบบนี้

ก่อนจบบทสนทนา ผู้ได้รับการยกย่องให้เป็น "วอร์เรน บัฟเฟ็ตต์เมืองไทย" แนะนำนักลงทุนมือใหม่ว่า..

"คุณควรกระจายความเสี่ยงไว้บ้าง อย่าลงทุนซื้อหุ้นกระจุกตัวเพียงหุ้นตัวเดียว คุณควรลงทุนหุ้นแต่ละตัวไม่เกิน 30% หากเป็นนักลงทุนหน้าใหม่ใสกิ๊ก ควรซื้อหุ้นสัก 5 ตัว โดยให้เข้าไปลงทุนในหุ้นแต่ละตัวเฉลี่ยประมาณ 20% ของพอร์ตลงทุน พยายามหาหุ้นที่มีพื้นฐานดีๆมีกิจการดีเยี่ยม มีความแข็งแกร่ง คู่แข่งสู้ไม่ได้ กิจการพวกนี้จะถูกกระทบโดยปัจจัยภายนอกน้อยมาก เชื่อผม...!!"

โดยแนะว่า หุ้นที่มีธุรกิจเกี่ยวข้องกับ “น้ำมัน ถ่านหิน” จำพวกนี้ควรจะ “หลีกเลี่ยง” การเป็นนักลงทุนหน้าใหม่ ควรเข้าไปลงทุนในธุรกิจที่เห็นและจับต้องได้ ถ้าไม่รู้ว่าหุ้นตัวนี้ทำธุรกิจอะไร ก็ขออย่าเดินเข้าไปเสี่ยง แม้จะเป็นหน้าใหม่ แต่ก็สามารถเป็นนักลงทุน VI ที่ครอบครองราคาหุ้นดีไม่แพงได้ เพียงแต่ต้องออกตามล่ากันหน่อย ถ้าเจอตัวดีๆลงทุนไปเลย 100% มันคือ “โอกาสทอง” ที่จะทำให้รวยได้อย่างรวดเร็วที่สุด

หลักการลงทุนของชายชื่อ “นิเวศน์” คือ “ถ้าไม่มั่นใจ ไม่ทำ การลงทุนต้องมีกำไร หากลงทุนแล้วพบว่ามีโอกาสขาดทุนภายใน 3 ปี ผมไม่เข้าไปซื้อเด็ดขาด”

“ย้อนรอย” เจ้าของพอร์ต 2 พันล้าน
“ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร” ย้อนประวัติการลงทุนในตลาดหุ้นครั้งแรก ก่อนมีมูลค่าลงทุนมากกว่า 2,000 ล้านบาทให้ฟังว่า "ตอนนั้นผมอายุ 40 ปี ถูกให้ลาออกจากงานประจำ พูดง่ายๆ ไม่มีงานทำนั่นละ (หัวเราะ) ตอนนั้นกลับมานั่งคิดทบทวนว่าจะต้องหาอะไรทำเพื่อมาเลี้ยงชีวิต อายุก็มากขึ้นทุกวัน ภาระค่าใช้จ่ายก็เยอะ ลูกก็ยังเรียนอยู่แถมเรียนโรงเรียนอินเตอร์ฯ ที่มีค่าเล่าเรียนแพงลิ่วปีละหลายแสนบาทอีกต่างหาก ภรรยาก็ทำงานพาร์ทไทม์ เป็นคุณครูสอนเปียโน ตอนนั้นผมกังวลมากว่าจะทำอย่างไรกับชีวิตดี หากยังไม่มีงานทำมีหวังครอบครัวต้องลดมาตรฐานค่าครองชีพแน่ๆ ถือว่าช่วงนั้นหนักหนาเหมือนกัน ตอนนั้นเศรษฐกิจตกต่ำ ทำให้หางานทำค่อนข้างยาก ผมเรียนจบด้านการเงิน ช่วงนั้นธนาคารโดนปิด ไฟแนนซ์ล้มเพียบ..."

ทางออกของเขาในขณะนั้นคือ “Value Investment” ลงทุนในหุ้นให้เหมือนกับการทำธุรกิจ

"ผมตัดสินใจควักเงิน 10 ล้านบาท เพื่อซื้อหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ ถามว่าทำไมต้องลงทุนแนวนี้ ผมสามารถใช้เงินเพียงเท่านี้ แต่สามารถเป็นเจ้าของธุรกิจได้หลากหลาย และเป็นธุรกิจที่ผมคัดเลือกแล้วว่า “ปลอดภัย” ในภาวะที่เศรษฐกิจตกต่ำอย่างรุนแรง ตอนนั้นเลือกช้อนหุ้นกลุ่มอาหารราคาถูก และหุ้นที่ดำเนินกิจการส่งออก"
ดร.นิเวศน์ เล่าว่า ตอนนั้นนั่งวิเคราะห์แล้วพบว่า เมืองไทยยังมีบริษัทจดทะเบียนที่ยังมีผลประกอบการที่ดี มีฐานะการเงินยอดเยี่ยม เรียกว่าแทบจะ “ปลอดหนี้” และมีความ “ปลอดภัยดี” ในแง่ของการดำเนินการ ที่สำคัญ ราคาหุ้นของบริษัทเหล่านั้น “ถูกเหลือเชื่อ” ค่า P/E ไม่เกิน 10 เท่า หลายๆบริษัทมีค่า P/E เพียง 6-7 เท่า คิดเฉพาะเงินปันผลที่จะได้รับเมื่อเทียบกับราคาหุ้นก็ประมาณปีละ10% แล้ว

"ผมไม่ได้เริ่มเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นในช่วงปี 2540 แต่ “เล่นหุ้น” มานานก่อนหน้านั้นเป็น 10 ปี ก็เข้ามาเหมือนกับทุกคน เดินมาด้วย “ความโลภ” เต็มๆ เพราะว่าเข้ามาตอนตลาดหุ้น “บูม” มากๆ ตอนนั้นคิดเพียงว่าอยากจะได้เงิน เล่นหุ้นแบบเก็งกำไร “ซื้อๆ ขายๆ” เล่นลักษณะนี้เป็นเวลากว่า 10 ปี ถามว่าตอนนั้นรวยไหม?? “ไม่รวย” ตอบเลย"
ตอนนั้นมีหุ้นตัวหนึ่งที่ใครๆพากันเรียกกันว่า “หุ้น IPO” ออกมาขายเพียบ ราคาหุ้นวิ่งขึ้นไป 2-3 เท่า เหมือนกับตอนนี้เป๊ะเลย (อาจารย์กำลังส่งสัญญาณอะไรบางอย่าง) ตอนโน่นทำงานอยู่สถาบันการเงินแห่งหนึ่ง ก็จะได้หุ้นไอพีโอ 100-200 หุ้น เขาจะขายให้เราก่อน 2-3 สัปดาห์ แล้วค่อยนำไปซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ เชื่อหรือไม่ยังไม่ทันจะเทรด ราคาหุ้นไอพีโอซื้อขายนอกตลาดสูงกว่าราคาไอพีโอ 50% แล้ว สุดยอดมั้ยละ !!! เขาเผย

"แรกๆ ก็เล่นหุ้นไอพีโอ สักพักก็เข้ามาเล่นหุ้นที่ซื้อขายอยู่แล้วในกระดาน เพราะว่าหุ้นไอพีโอนานๆจะมาสักตัว เปรียบเหมือนล็อตเตอรี่ เดือนหนึ่งออก 2 ครั้ง ไม่ทันกิน ก็เลยกระโดดเข้ามาในตลาดหุ้นเอง ตอนนั้นซื้อหวยแบบรายวันกันเลย เล่นหุ้นแบบว่าสนุกสนาน หวังจะได้เงินมาใช้ ขาดทุนก็คงไม่เป็นไรมาก เพราะว่าเราไม่ได้เล่นเยอะ แต่พอมาดูโดยรวม ก็ไม่ได้มีอะไรเปลี่ยนแปลงในชีวิต (ยิ้ม)"

“ด็อกเตอร์” ยืดอกยอมรับว่า ตัวเขาเป็นนักลงทุน Value Investor โดยความจำเป็น เปลี่ยนจากคนเล่นหุ้นมาเป็นนักลงทุนแนว VI ในช่วงปี 2539-2540 ก็เพื่อ “ความอยู่รอด” ไม่ได้หวัง “รวยเร็ว” และไม่คิดว่าจะ “รวย” แม้ว่าหลังจากนั้นจะเริ่มเห็นว่าสามารถทำผลตอบแทนได้ดี โดยมีความเสี่ยงต่ำ ทำให้เริ่มตั้ง “ความฝัน” ว่าจะ “รวย” แต่ทั้งหมดก็อิงอยู่กับผลตอบแทนประมาณ 10% ต่อปีเท่านั้น ความรวยที่หวังนั้นมาจากระยะเวลาของการลงทุนที่ยาวมาก
ดร.นิเวศน์ ยังเล่าว่า เมื่อก่อนเวลาได้ “เงินปันผล” มักจะนำไปลงทุนต่อ ไม่ค่อยถือ “เงินสด” แต่ตอนนี้เริ่มถือบ้างแล้ว แต่ถ้าในช่วง 10 ปีก่อน ไม่ค่อยถือเท่าไร ได้เงินปันผลมา ก็นำไปลงทุนซื้อหุ้นต่อ ฉะนั้นถ้านักลงทุนหน้าใหม่ๆ เริ่มเข้ามาลงทุนแล้ว จงเน้นการลงทุนในธุรกิจที่มีเงินปันผลสูงๆ จะทำให้มองเห็นเป้าหมายในอนาคต เพราะว่าเงินปันผลในอดีตจะเป็นตัวบอกว่าปีนี้จะมีเงินปันผลเท่าไหร่ และปีต่อไปจะสามารถลงทุนได้เท่าไหร่ และเงินปันผลจะเพิ่มเป็นเท่าไหร่

"ถ้าเดินกลยุทธ์แบบนี้ วันหนึ่งคุณจะมีเงินปันผล เกินเงินเดือน และเกินรายได้ประจำ เมื่อนั้นก็จะเป็น “อิสระทางการเงิน” เมื่อมีเงินแล้วก็ต้องนำไปลงทุนเรื่อยๆ สะสมเป็นหุ้นในพอร์ต จะได้ไม่ใช้เงินจากทางอื่น คุณก็จะมีพอร์ตลงทุนใหญ่ขึ้น อนาคตเงินปันผลก็จะมากขึ้น เมื่อนั้นก็อาจไม่ต้องทำงานเลยก็อยู่ได้สบายๆ......"
ภาพประจำตัวสมาชิก
บูรพาไม่แพ้
Verified User
โพสต์: 2533
ผู้ติดตาม: 1

Re: เจาะใจ “ดร.นิเวศน์“ วันที่หุ้นไทยแตะ1,700 จุด

โพสต์ที่ 2

โพสต์

“เซียนหุ้นลายคราม” ลงจากเวทีมาขยายความเรื่องนี้ให้ “กรุงเทพธุรกิจ BizWeek” ฟังว่า..."หากดัชนีขึ้นไปแตะระดับ 1,700 จุด เหมือนปี 2537 ที่ทำได้ 1,770 จุด จริงๆ บอกตรงๆผมคงไม่อยู่แล้ว (หัวเราะ) อย่างน้อยต้องขายหุ้นออกไปสัก 50% หรือไม่ก็ล้างพอร์ตลงทุนให้หมด กลัวซ้ำรอยอดีตที่หุ้นไทยค่อยย่อตัวลงมา หลังขึ้นไปแตะจุดสูงสุด"
ข้อมูลนี้แน่ใจหรอครับ ผมว่าอาจารย์คงไม่ถึงกับล้างพอร์ตมั้ง :D
NONNY5555
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 14
ผู้ติดตาม: 0

Re: เจาะใจ “ดร.นิเวศน์“ วันที่หุ้นไทยแตะ1,700 จุด

โพสต์ที่ 3

โพสต์

บูรพาไม่แพ้ เขียน:“เซียนหุ้นลายคราม” ลงจากเวทีมาขยายความเรื่องนี้ให้ “กรุงเทพธุรกิจ BizWeek” ฟังว่า..."หากดัชนีขึ้นไปแตะระดับ 1,700 จุด เหมือนปี 2537 ที่ทำได้ 1,770 จุด จริงๆ บอกตรงๆผมคงไม่อยู่แล้ว (หัวเราะ) อย่างน้อยต้องขายหุ้นออกไปสัก 50% หรือไม่ก็ล้างพอร์ตลงทุนให้หมด กลัวซ้ำรอยอดีตที่หุ้นไทยค่อยย่อตัวลงมา หลังขึ้นไปแตะจุดสูงสุด"
ข้อมูลนี้แน่ใจหรอครับ ผมว่าอาจารย์คงไม่ถึงกับล้างพอร์ตมั้ง :D
เขาทำท่าคิด ก่อนพูดต่อว่า "แต่เมื่อถึงเวลานั้นจริงๆ ก็คงต้องมาดูสถานการณ์ต่างๆอีกครั้ง ผมอาจไม่ทำแบบนั้นก็ได้ นี่เป็นเพียงการวิเคราะห์เบื้องต้น ตามสถิติของผมมักไม่ค่อยขายหุ้นครั้งละมากๆหรือล้างพอร์ต หมดเกลี้ยง เพราะผมจะถือหุ้นแต่ละตัวนาน 3-4 ปี บางตัวครอบครองยาว 7-8 ปี ส่วนตัวไม่ค่อยนิยมดูดัชนีเท่าไร" นี้ไงครับ ไม่ล้างหรอกครับ copyมาไม่หมด ความหมายเปลี่ยนนะครับ ขอบคุณครับ
ภาพประจำตัวสมาชิก
บูรพาไม่แพ้
Verified User
โพสต์: 2533
ผู้ติดตาม: 1

Re: เจาะใจ “ดร.นิเวศน์“ วันที่หุ้นไทยแตะ1,700 จุด

โพสต์ที่ 4

โพสต์

ขอบคุณครับ :D :D
ภาพประจำตัวสมาชิก
Tibular
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 532
ผู้ติดตาม: 4

Re: เจาะใจ “ดร.นิเวศน์“ วันที่หุ้นไทยแตะ1,700 จุด

โพสต์ที่ 5

โพสต์

ก็ต้องระวังตัวกันแล้วละคับ ถ้าเป็นผมก็คงต้องปลอดภัยไว้ก่อน ถ้าหุ้นขึ้นไปถึง 1700 จริงๆ
ก็คงขายไป 50% หรือไม่ก็ถ้ามันฟองสบู่มากจริงๆก็ต้องล้างพอร์ตคับ
ปกป้องความเสียหายที่จะเกิดขึ้นคับ อย่ายึดแค่ว่าต้องถือหุ้นไปเรื่อยๆโดยไม่สนใจอะไรเลย
ไม่งั้นมันจะเสียโอกาสอย่างมาก หรือเกิดความเสียหายอย่างมากมายได้
ถ้าถึงเวลานั้นจริงๆ ผมว่าเซียนๆก็ต้องว่า ตัวใครตัวมันละคับ เผลอๆเค้าออกไปก่อนแล้วด้วยซ้ำ
ไม่ประมาทดีที่สุดแล้ว
prichar s.
Verified User
โพสต์: 1426
ผู้ติดตาม: 0

Re: เจาะใจ “ดร.นิเวศน์“ วันที่หุ้นไทยแตะ1,700 จุด

โพสต์ที่ 6

โพสต์

ส.นักวิเคราะห์ มองเป้าดัชนี SET ปีนี้ 1,704 จุด ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานหนุน


ข่าวหุ้น-การเงิน สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ) -- อังคารที่ 2 เมษายน 2556 15:23:20 น.
สมาคมนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ เปิดเผยผลสำรวจความเห็นนักวิเคราะห์แนวโน้มการลงทุนปี 56 คาดการณ์ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ปีนี้จะมีจุดสูงสุดเฉลี่ย 1,704 จุด และ ดัชนี ณ ปลายปีจะอยู่ที่เฉลี่ย 1,625 จุด โดยปัจจัยบวกสำคัญมาจากโครงการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านบาท การประเมินว่าผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนจะขยายตัวสูงในปีนี้ และต่างชาติจะเข้าซื้อหุ้นไทยต่อเนื่อง


"นักลงทุนได้ให้ความหวังในเรื่องพ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท แต่ถ้าพลิกผันก็อาจกระทบต่อบรรยากาศการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์"นายสมบัติ นราวุฒิชัย เลขาธิการ สมาคมฯ กล่าว

ทั้งนี้ นักวิเคราะห์ประมาณการอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจปี 56 ที่เฉลี่ย 4.9% ในขณะที่คาดว่าอัตราการเติบโตของกำไรต่อหุ้น(EPS Growth)ปี 56 จะเติบโตเฉลี่ย 20.3% ราคาทองคำสิ้นปี 56 จะปรับตัววลงมาอยู่ที่ 24,334 บาท และคาดว่านักลงทุนต่างชาติและนักลงทุนสถาบันในประเทศ รวมพอร์ตโบรกเกอร์จะซื้อสุทธิในช่วงปี 56 รวมกว่า 3.7 หมื่นล้านบาท

นายสมบัติ กล่าวต่อว่า โบรกเกอร์ที่ให้เป้าดัชนี SET สูงสุดอยู่ที่ 1,850 จุดในปีนี้ คือ บล.บัวหลวง ขณะ วี ไอ โกลบอล มองสิ้นปีดัชนีอยู่ที่ 1,720 จุด ซึ่งสูงกว่าโบรกเกอร์รายอื่น ขณะที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่มองอัตราดอกเบี้ยรอบนี้จะทรงตัวอยู่ที่ 2.75% สะท้อนเศรษฐกิจของประเทศเริ่มดีขึ้น จากเดิมที่ให้น้ำหนักไปทางการปรับดอกเบี้ยลง

สำหรับคำแนะนำการลงทุนในระยะยี้ ควรกระจายพอร์ตถือหุ้นไทยน้อยลงเหลือ 40% จากรอบที่แล้วให้ไว้ในสัดส่วน 45% และถือหุ้นต่างประเทศเพิ่มเป็น 12% จากรอบที่แล้ว 11% ซึ่งสอดคล้องกับดัชนี SET ที่ปรับขึ้นมามากแล้ว และให้หันไปถือครองตราสารหนี้มากขึ้นเป็น 22% จาก 17%

อย่างไรก็ตาม นายสมบัติ มองว่า ตลาดหุ้นไทยยังไม่เกิดความเสี่ยงภาวะฟองสบู่ หากค่า P/E ตลาดไม่เกิน 20 เท่า ซึ่งหากค่า P/E อยู่ที่ 20 เท่าดัชนี SET ควรจะต้องอยู่ที่ 1,900 จุด แต่ปัจจุบันราคาหุ้นใน SET50 ยังไม่เกินพื้นฐาน แต่อาจมีหุ้นขนาดเล็กบางตัวเท่านั้น

อินโฟเควสท์ โดย จำเนียร พรทวีทรัพย์/ศศิธร โทร.02-2535000 ต่อ 345 อีเมล์: [email protected]--



ยิ่งสูง ยิ่งฮึกเหิม คนอยากรวยยิ่งเพิ่ม นักเล่นหน้าใหม่หอบเงินถังเข้าตลาดทุกวัน
ไม่ต้องแย่งกันนะครับ หุ้นมีพอสำหรับทุกคน เพราะ...
คนที่ยิ่งสูงยิ่งหนาว ก็มีเยอะนะครับ
เดี๋ยวสักพัก คงมีข่าวขาใหญ่ตลาดหุ้นทะยอยลดพอร์ต
(กอดเงินสด)
วงจรตลาดหุ้น เป็นเช่นนี้แล.....


Quote Of the Day
กำไรก้อนโตเกิดจากการนั่งนิ่งไม่ใช่เทรดดิ้ง -Jesse Livermore
โพสต์โพสต์