จับตาวิกฤตการเงินพัดหวน“เฮดจ์ฟันด์” ส่งสัญญาณคืนชีพ

การลงทุนแบบเน้นคุณค่า ลงทุนหุ้น VI เน้นที่ปัจจัยพื้นฐานเป็นหลัก

โพสต์ โพสต์
pakhakorn
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 957
ผู้ติดตาม: 0

จับตาวิกฤตการเงินพัดหวน“เฮดจ์ฟันด์” ส่งสัญญาณคืนชีพ

โพสต์ที่ 1

โพสต์

http://bit.ly/11B4MY2

จับตาวิกฤตการเงินพัดหวน“เฮดจ์ฟันด์” ส่งสัญญาณคืนชีพ
25 มีนาคม 2556 เวลา 09:07 น.
โดย...นงลักษณ์ อัจนปัญญา

การเติบโตอย่างร้อนแรงของตลาดทุนทั่วโลกในช่วงหลังมานี้ โดยเฉพาะตลาดหุ้น อาจไม่ได้สะท้อนความเป็นจริงของสภาพเศรษฐกิจโลกได้มากนัก นักวิเคราะห์หลายฝ่ายยังคงเตือนถึงสถานการณ์ที่ไม่ค่อยสู้ดีของภาพรวมทั่วโลก ไล่เรียงตั้งแต่วิกฤตภาคธนาคารในไซปรัส ปัญหางบประมาณในอังกฤษ ไปจนถึงการไล่เช็กบิลนักลงทุนในตลาดเงินของทางการสหรัฐ

จึงไม่ใช่เรื่องแปลกใจแม้แต่น้อย หากนักลงทุนส่วนใหญ่และนักวิเคราะห์อีกส่วนหนึ่งจะสรุปความเห็นตรงกันได้ว่า บรรยากาศตลาดยังคงปั่นป่วนไม่แตกต่างจากปีที่ผ่านมา

โดยเฉพาะเค้าลางของพายุลูกใหญ่ที่กำลังกลับมาก่อตัวขึ้นอีกครั้งเตรียมถล่มตลาดการเงินอีกระลอกในปีนี้ กับการกลับมาของ พายุ เฮดจ์ฟันด์ (Hedge Fund) ที่หลายฝ่ายเริ่มเล็งเห็นแล้วว่า มีแววจะกลับมาแข็งแกร่งในปี 2566 นี้แน่นอน

หลังเกิดวิกฤตซับไพรม์ในสหรัฐ ปี 2551 ตลาดกองทุนเฮดจ์ฟันด์โลก ซึ่งมีมูลค่ารวมกันสูงถึง 2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ได้อ่อนแรงลงอย่างหนัก เฮดจ์ฟันด์ รีเสิร์ช (เอชเอฟอาร์) ระบุชัดว่า เฮดจ์ฟันด์สร้างผลตอบแทนได้เฉลี่ยรวมเพียง 11% ตลอดเวลากว่า 4 ปีที่ผ่านมานับตั้งแต่ปี 2551 จนเรียกได้ว่าโงหัวไม่ขึ้นก็คงไม่ผิดนัก

ทว่า ขณะนี้ผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่เริ่มมองเห็นสัญญาณการก่อร่างสร้างตัวของบรรดากองทุนเฮดจ์ฟันด์อีกครั้งในปี 2556 นี้แล้ว เมื่ออัตราผลตอบแทนของกองทุนเฮดจ์ฟันด์ที่เริ่มขยับปรับเพิ่มขึ้นจากปีก่อนๆ หน้า

ข้อมูลจากเอชเอฟอาร์ ระบุว่า เมื่อเปรียบเทียบกับผลตอบแทนในช่วงกว่า 4 ปีที่ผ่านมา ซึ่งรวมทั้งหมดได้ 11% กับช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้ ผลตอบแทนในช่วงหลังปรับเพิ่มขึ้นแล้ว 2.7%

ธนาคารดอยช์แบงก์ พบว่าความเคลื่อนไหวของเฮดจ์ฟันด์ตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมาจนถึงขณะนี้ค่อนข้างได้ผลบวก เห็นได้จากการซื้อขายของด้วยกลยุทธ์ลอง/ชอร์ต (Long/Short) ที่ให้ผลตอบแทนกลับมาเพิ่มมากขึ้น เช่น ในญี่ปุ่นให้ผลตอบแทนเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 7.44% จีนปรับขึ้นมาอยู่ที่ 6.15% และยุโรปอยู่ที่ 4.35%

ลุค เอลลิส ประธานแมน กรุ๊ป ผู้จัดการกองทุนเฮดจ์ฟันด์ขนาดใหญ่อันดับสองของโลก ยอมรับว่าแม้ลักษณะการปรับตัวของเฮดจ์ฟันด์จะเหมือนกับปีก่อนๆ หน้าที่จะปรับเพิ่มขึ้นในช่วงต้นปีก่อนแผ่วลงปลายปี แต่ปี 2556 นี้ ผู้จัดการกองทุนส่วนใหญ่ค่อนข้างมั่นใจว่าจะเป็นโอกาสของเฮดจ์ฟันด์อีกครั้ง

เหตุเพราะส่วนใหญ่เริ่มเชื่อมั่นว่า สหภาพยุโรป (อียู) สามารถควบคุมวิกฤตหนี้สาธารณะของภูมิภาคได้แล้ว ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมเริ่มเดินหน้าผลิตสินค้าได้ อีกทั้งการที่บรรดาผู้นำและธนาคารกลางของประเทศต่างๆ ให้คำมั่นหนักแน่นที่จะทำทุกอย่างเพื่อแก้ปัญหาระบบการเงิน ยังทำให้ผู้จัดการกองทุนทั้งหลายรู้สึกมั่นใจเป็นครั้งแรกในรอบหลายปี เนื่องจากเริ่มเห็นฐานที่แข็งแกร่งของตลาดอย่างแท้จริงเสียที

การคาดการณ์ข้างต้น ส่งผลให้บรรยากาศของบรรดากองทุนเฮดจ์ฟันด์ทั่วโลกเริ่มคึกคักอย่างเห็นได้ชัด โดยตั้งแต่ต้นปีจนถึงวันที่8 มี.ค. ข้อมูลจากนักลงทุนที่เปิดเผยผ่านซีเอ็นเอ็น ระบุว่า บรรดาผู้จัดการกองทุนเฮดจ์ฟันด์แบบลอง/ชอร์ต มีผลตอบแทนที่โดดเด่นมากขึ้น อาทิ แลนส์ดาวน์ พาร์ทเนอร์ กองทุนเฮดจ์ฟันด์ที่ใหญ่ที่สุดของยุโรป มีผลตอบแทนขยับขึ้นมาสูงถึง 7.75% ขณะที่กองทุนเกลนวิว แคปปิตอล ในสหรัฐ เพิ่มเกือบแตะระดับที่ 11%

ในฝั่งเอเชียนั้น ยูเรกาเฮดจ์ คาดการณ์ว่าปีนี้จะมีเงินไหลเข้ากองทุนเฮดจ์ฟันด์ในเอเชียเพิ่มขึ้น หลังจากปีที่แล้วที่กองทุนเฮดจ์ฟันด์เอเชียเริ่มให้ผลตอบแทนที่สูงขึ้น โดยมีมูลค่าทรัพย์สินรวมทั้งสิ้นราว 1.4 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งต่ำกว่าช่วงที่ตลาดเฮดจ์ฟันด์กำลังบูมในปี 2550 เพียงเล็กน้อยเท่านั้น

ทว่า แนวโน้มที่เกิดขึ้นกับเฮดจ์ฟันด์ข้างต้นอาจไม่ต่างอะไรกับข่าวร้ายต่อเศรษฐกิจของนานาประเทศทั่วโลก เพราะการเข้ามาลงทุนของเฮดจ์ฟันด์ คือ การเก็งกำไรที่อาศัยช่องว่างความต่างของกฎเกณฑ์การเงินระหว่างประเทศ และประเทศที่น่าจะตกอยู่ในความเสี่ยงอีกระลอกก็ยังหนีไม่พ้นประเทศส่วนใหญ่ในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งเป็นภูมิภาคที่ยังคงเผชิญกับภาวะทุนไหลเข้าอย่างร้อนแรง

ทั้งนี้ นักวิเคราะห์จากหลายสำนักเห็นตรงกันว่า วิกฤตการเงินที่ผ่านมาโดยเฉพาะครั้งหลังสุด เกิดขึ้นหนักหนาสาหัสและรุนแรงเอาเรื่อง เพราะระบบการเงินโลกเริ่มเชื่อมโยงถึงกันและมีความสลับซับซ้อนมากขึ้น ส่งผลให้มีช่องว่างมากมายที่บรรดาเฮดจ์ฟันด์เหล่านี้จะหลั่งไหลเข้ามาเก็งกำไรในประเทศต่างๆ ก่อนจะหนีไปเก็งกำไรในประเทศอื่นๆ ต่อไป

นอกจากนี้ ยังไม่นับรวมถึงกรณีที่บรรดาเฮดจ์ฟันด์เริ่มแตกหน่อสร้างผลิตภัณฑ์ทางการเงินใหม่ๆ เพื่อเอื้อต่อการเก็งกำไรมากขึ้น เช่น ตราสารหนี้ต่างๆ การซื้อขายน้ำมันล่วงหน้า หรือหน่วยลงทุนในอสังหาริมทรัพย์

ดังนั้น ด้วยช่องว่างที่ยังคงมีอยู่จึงไม่น่าแปลกใจที่นักเศรษฐศาสตร์ 100 คน จาก 9 ประเทศเอเชียแปซิฟิก จะออกโรงเรียกร้องให้บรรดาประเทศต่างๆ ในเอเชียได้รับอนุญาตให้มีกฎระเบียบควบคุมเงินทุนเคลื่อนย้าย เพื่อยกระดับให้ระบบการเงินโลกมีเสถียรภาพและปลอดความเสี่ยงมากยิ่งขึ้น โดยเห็นตรงกันว่า การควบคุมเงินทุนเคลื่อนย้ายควรเป็นเครื่องมือเชิงนโยบายที่ถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดวิกฤตหายนะการเงินซ้ำรอยเดิม

เควิน กัลลาเกอร์ ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยบอสตัน และซาราห์ แอนเดอร์สัน ผู้อำนวยการโครงการโกลบอล อีโคโนมี สองแกนนำหลักในการเรียกร้องครั้งนี้ กล่าวว่า ทุกประเทศไม่ควรเลิกล้มการสร้างเครื่องมือต่อกรกับตลาดการเงิน ซึ่งมีความผันผวนสูงและเป็นบ่อเกิดของหายนะทางการเงินในปัจจุบัน

ยิ่งในช่วงที่หลายๆ ประเทศเริ่มเดินหน้าผลักดันจัดตั้งเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ที่จะทำให้การเคลื่อนย้ายแรงงาน บริการ สินค้า และเงินทุนเป็นไปอย่างเสรีมากขึ้น ก็ยิ่งทำให้การเพิกเฉยต่อการจัดตั้งกฎระเบียบมาควบคุมดูแลเงินทุนเคลื่อนย้ายเป็นการกระทำที่ประมาทและเสี่ยงอันตรายอย่างมาก

และเป็นเรื่องที่สมควรอย่างยิ่งที่จะใช้โอกาสเจรจาเอฟทีเอ หรือเวทีความร่วมมือในระดับต่างๆ เพื่อให้มีการผลักดันกฎระเบียบคุมเงินทุนเคลื่อนย้ายต่างๆ ให้เป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น ก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินไป
โพสต์โพสต์