ลงทุนอย่างไรดี....พันสี่แล้ว (โดยคุณสมบัติ นราวฺุฒิชัย)

การลงทุนแบบเน้นคุณค่า ลงทุนหุ้น VI เน้นที่ปัจจัยพื้นฐานเป็นหลัก

โพสต์ โพสต์
Green prince
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 526
ผู้ติดตาม: 24

ลงทุนอย่างไรดี....พันสี่แล้ว (โดยคุณสมบัติ นราวฺุฒิชัย)

โพสต์ที่ 1

โพสต์

Friday, 18 January 2013
ลงทุนอย่างไรดี...พันสี่แล้ว
« นักวิเคราะห์คาดปี 56 หุ้นสดใส สิ้นปีหน้าดัชนี 1,471 จุด | Main
เกือบทุกวัน ที่ผมมักจะได้รับคำถามว่า ตลาดหุ้นไทยยังไปไหวมั้ย เพราะดัชนีวิ่งมาเกิน 1,400 จุดแล้ว จากระดับ 1,000 จุด เมื่อปี 54 และ 53 ยิ่งถ้าเทียบกับปลายปี 52 ที่ 700 กว่าจุด ก็เท่ากับขึ้นมา 100% ภายใน 3 ปี
หลายท่านเหลียวตาดูตัวเลข P/E ที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ประกาศทุกวัน แล้วมีคำถามว่า P/E ขณะนี้ 18.5 เท่าแล้ว (ใช้กำไรย้อนหลัง 4 ไตรมาสที่ประกาศแล้ว) แพงไปไหม ซึ่งส่วนใหญ่แล้วที่ถามว่าแพงไปไหมนี้มักเป็นคำถามลวงหรือหมัดแย็บซ้าย ก่อนที่จะตามด้วยคำถามจริงๆ หรือขวาตรงตามมาว่า ยังลงทุนได้ไหม
อีกหลายท่านก็มีความสงสัยปนกังวลกับสถานการณ์ในยูโรโซน หรือเรื่องแผนรัดเข็มขัด และขยายเพดานหนี้ของสหรัฐ รวมไปถึงสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศ หรือปัญหาผลกระทบจากบาทแข็งค่าแรงพุ่ง ฯลฯ
ทั้งหมดสะท้อนให้เห็นว่า นักลงทุนจำนวนมากรู้สึกกล้าๆ กลัวๆ ปนๆ กันในอารมณ์ ใจหนึ่งอยากซื้อเพราะเห็นขึ้นไปเรื่อยๆ และมีเงินต่างชาติเข้ามาเป็นระยะ แต่ใจหนึ่งก็กลัวหุ้นปรับตัวลงเพราะความเสี่ยงมีหลายประเด็นเหลือเกิน
ในฐานะที่ทำหน้าที่นักวิเคราะห์มานานพอสมควร คงต้องยอมรับเป็นหน้าที่ที่จะช่วยหาข้อมูล และแนวทางให้ท่านผู้อ่านผู้ลงทุนได้ใช้ประกอบการคิด แต่สุดท้ายแล้วการตัดสินใจลงทุนหรือไม่ ลงทุนเท่าไร ท่านคงมีคำตอบของท่านได้ด้วยตัวเองในท้ายที่สุด
มุมมองที่ผมขอแตะถึง ก็มีดังนี้
1. ค่า P/E 18.5 เท่านั้น เป็นการนับรวมกำไรจากไตรมาส 4 ปี 54 ที่น้ำท่วม มาจนถึงไตรมาส 3 ปี 55 ซึ่งถ้าหากใช้กำไร 4 ไตรมาสที่นับถึงไตรมาส 4 ปี 55 (ยังเป็นแค่ประมาณการ) ที่สำนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ต่างๆ คาดการณ์ไว้ P/E จะลดเหลือประมาณ 15 เท่า และหากจะใช้ P/E ประมาณการของกำไรปี 56 ซึ่งก็เหมาะสมที่จะใช้ เพราะขณะนี้คือ ต้นปี 56 แล้ว P/E 56F ก็คงลดลงมาเหลือแถวๆ 13 เท่า บรรดานักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ก็เห็นว่าไม่ถึงขั้นแพงเกินความเหมาะสม

2. ที่ว่า P/E ที่ใช้กำไรปี 56 จะลดลงไปเยอะนั้น ก็เนื่องจากว่า เศรษฐกิจไทยในปี 56 ยังเดินหน้าเติบโตได้ดีที่ประมาณ 4.6% ตามโพลล์สมาคมนักวิเคราะห์ฯ) และยังได้ตัวช่วยเพิ่มกำไรคือ การลดภาษีเงินได้นิติบุคคลลงจาก 23% เหลือ 20%
บรรดาสำนักวิเคราะห์หลักทรัพย์จึงคาดว่า ผลกำไรสุทธิของบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯ เฉลี่ยแล้วจะเติบโตอีก 15% ในปี 56

3. สำหรับความวิตกในปัจจัยความเสี่ยงที่มีหลายประเด็นในปี 56 ผมเองก็คงไม่ได้โต้แย้งอะไรให้เป็นอื่น ทั้งนี้เพราะความจริงก็คือความจริง สิ่งที่เสี่ยงก็ควรรับรู้ว่ามีความเสี่ยง
เพียงแต่ว่า เมื่อผมนั่งนึกย้อนสถานการณ์ไป 20 กว่าปีที่อยู่ในโลกของการลงทุนหุ้น ที่จริงแล้ว ผู้ลงทุนก็เผชิญกับความเสี่ยง และมีความกังวลปัจจัยบางอย่างเกือบทุกปี มากบ้างน้อยบ้างไม่ต่างกันเท่าไรนัก
ปีที่เหตุการณ์เศรษฐกิจไม่ดี หุ้นตกเรื่อยๆ นักลงทุนก็กลัวว่าจะตกต่อไปอีก
ปีที่หุ้นขึ้นเยอะ ก็มีความกังวลอีกด้านหนึ่ง คือ ราคาหุ้นแพงขึ้นกว่าเดิมมากจึงกลัวจะปรับลง

ครั้นจะไม่ลงทุนเลย ก็กลัวพลาดโอกาสสร้างผลตอบแทนที่ดีกว่าเอาเงินไปฝาก
ทางออกหนึ่งที่หลายๆ คนใช้แก้ปัญหากล้าๆ กลัวๆ ได้คือ เดินสายกลาง ซึ่งหมายถึง ลงทุนบางส่วน พอร์ตหุ้นไม่เป็นศูนย์ แต่ไม่ทุ่มสุดตัว
เงินส่วนที่เหลือ ทำให้ยังมีกระสุนฉุกเฉินไว้ใช้ลงทุนยามที่พบไม้งาม และเรายังมีขวานไม่บิ่น ยามนั้นค่อยเอาขวานไปฟันมา

4. ความกลัวปัญหาในยูโรโซนจะเป็นปัญหาใหญ่ ทั้งนี้เพราะมีทั้งปัญหาหนี้สาธารณะสูงลิ่ว การต้องดำเนินการรัดเข็มขัดรายจ่ายรัฐบาล ซึ่งก็มีผลกระทบให้การเติบโตทางเศรษฐกิจยิ่งแฟบลงไป ขณะที่ปัญหาว่างงานก็สูงมาก พัลวันกันไปหมด
ผมเองก็กังวลเรื่องนี้อยู่บ้าง และเชื่อว่ามีผลกระทบกับภาคส่งออกของไทยอยู่พอสมควร แต่ก็ไม่กังวลไปจนถึงขั้นว่าจะเกิดวิกฤตเศรษฐกิจใหญ่กับโลก ทั้งนี้เพราะประเทศใหญ่ๆ ของโลกทั้งประเทศในยุโรป สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น ได้ค้นพบสูตรเด็ดเด้งดึ๋งสถานการณ์มาตั้งแต่ปี 2551 คือฮั้วกันใช้มาตรการดอกเบี้ยเตี้ยกว่าเงินเฟ้อและเตี้ยติดดินยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์อย่างคาดไม่ถึง และมีมาตรการ QE ฉีดเงินเข้าระบบแบบใจถึงพึ่งได้
ที่จริงช่วงหลายปีก่อนนั้น ใช้คู่กับนโยบายการคลังด้วยซ้ำ แต่ขณะนี้ด้านการคลังกำลังรัดเข็มขัด เพื่อแก้ปัญหาขาดดุลงบประมาณสูง จนหนี้สาธารณะบวมเป่ง
อย่างไรก็ตาม แค่มาตรการ QE และดอกเบี้ยเตี้ยกว่าเงินเฟ้อมาก ก็พอจะลากเอาเงินเข้ามาในตลาดตราสารหนี้ดีๆ และตลาดหุ้นประเทศดีๆ ได้ค่อนข้างต่อเนื่องอยู่แล้ว
ดูแล้ว คงไม่ต้องกลัวมากจนพอร์ตเป็นศูนย์ แต่ผมก็เห็นด้วยที่ไม่ควรลงทุนทุ่มเต็มที่แบบไม่กลัวอะไรเลย
นอกจากนั้น หุ้นที่จะลงทุน ก็ควรมีแนวโน้มธุรกิจระยะยาวที่ดูดี ซึ่งถ้าคิดเองไม่ทะลุ ขอแนะนำให้พึ่งบทวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานของสำนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ที่ได้ใบอนุญาตอย่างถูกต้อง

5. ธุรกิจที่ยังมีแรงส่งที่ดีทางการดำเนินธุรกิจ ก็ยังน่าจะเป็นธุรกิจที่มีตลาดหลักในประเทศ และไม่ใช่ธุรกิจที่มีต้นทุนจากแรงงานเป็นร้อยละสูง ทั้งนี้เพราะพรวิเศษที่ได้รับยังมีความขลังอยู่ ทั้งการกระตุ้นกำลังซื้อให้แรงงานทั้งประเทศด้วยค่าแรง 300 บาททุกจังหวัด ขณะที่บรรดามนุษย์เงินเดือนก็ได้เพิ่มกำลังซื้อบางส่วนจากการลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาอีกแม้จะแค่ 2% ก็ยังดี) รวมถึงมาตรการพุ่งเข้าจองซื้อรถคันแรกซึ่งน่าจะทำให้ออร์เดอร์ผลิตรถลากยาวเต็มที่ไปถึงสิ้นปี 56 ตามด้วยการขอกู้ผ่านสถาบันการเงินมาผ่อนต่อ
ขณะที่อัตราดอกเบี้ยในประเทศก็อยู่ในระดับต่ำที่สุด ทำให้การกู้ไปบริโภคคล่องตัวเป็นที่สุด กู้ซื้อบ้านคอนโด กู้ซื้อรถ
ร่ายมาขนาดนี้ คงพอเห็นภาพว่า ธุรกิจในประเภทไหนจะมีแรงส่งที่ดี
อย่างไรก็ตาม หุ้นที่ดี ก็ต้องมีราคาที่เหมาะสมต่ำกว่ามูลค่าด้วย ขั้นตอนนี้ท่านผู้อ่านต้องออกแรงค้นเองบ้างแล้ว ถ้าหาข้อมูลไม่ค่อยได้ แนะนำไปดูเว็บไซต์สมาคมนักวิเคราะห์ฯ www.saa-thai.org หัวข้อ SAA Consensus

ขอให้โชคดี พบกันใหม่เดือนหน้าครับ
โพสต์โพสต์