จัดพอร์ต-บริหารความเสี่ยง ในมุมมอง 'กูรู'

การลงทุนแบบเน้นคุณค่า ลงทุนหุ้น VI เน้นที่ปัจจัยพื้นฐานเป็นหลัก

โพสต์ โพสต์
koschy
Verified User
โพสต์: 426
ผู้ติดตาม: 0

จัดพอร์ต-บริหารความเสี่ยง ในมุมมอง 'กูรู'

โพสต์ที่ 1

โพสต์

จัดพอร์ต-บริหารความเสี่ยง ในมุมมอง 'กูรู'

วันพุธที่ 10 ตุลาคม 2012 เวลา 12:52 น. กอง บก.ฐานเศรษฐกิจ การเงิน

ในงานประชุมนานาชาติ "ไทยแลนด์ อินเวสเมนท์ คอนเฟอร์เรนท์" ที่จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.) สมาคมซีเอฟเอ ไทยแลนด์ และสถาบันซีเอฟเอ,นิวยอร์ก,สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 5 ตุลาคมที่ผ่านมา ได้มีผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุนและการบริหารความเสี่ยงระดับโลกมาร่วมเวทีสัมมนาเพื่อแสดงทรรศนะต่อการลงทุนในยุคปัจจุบันที่ปกคลุมไปด้วยความเสี่ยง "ฐานเศรษฐกิจ" จึงได้สรุปเนื้อหามานำเสนอดังต่อไปนี้

เริ่มที่นักลงทุนชื่อดังของโลก "นายมาร์ค ฟาเบอร์" กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟาเบอร์ จำกัด ผู้เชี่ยวชาญการลงทุนในตลาดโลก และได้ชื่อว่ามีความแม่นยำในการคาดการณ์ประวัติศาสตร์การเงินโลกทั้งแบล็กมันเดย์ ในสหรัฐอเมริกา ช่วงปี 2530 และพยากรณ์ว่าจะเกิดวิกฤติในเอเชียปี 2540

นายฟาเบอร์ กล่าวในหัวข้อ การลงทุนในยุคแห่งความผันผวน : ประสบการณ์จากสหรัฐอเมริกา ยุโรป เอเชียและนัยต่อประเทศไทย ว่า การแก้ปัญหาเศรษฐกิจด้วยการที่ทางการเข้าแทรกแซงเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยมาตรการต่างๆ เช่น อัดฉีดเงินเข้าระบบ ลดอัตราดอกเบี้ยอาจทำให้เกิดปัญหาตามมาอย่างมาก เช่น วิกฤติซับไพรม์ในสหรัฐอเมริกา การกู้เงินของรัฐบาลเพื่อกระตุ้นการบริโภคในเศรษฐกิจแตกต่างจากการกู้เงินเพื่อนำไปลงทุน ซึ่งจะทำให้เกิดรายได้เพื่อไปชำระหนี้ โดยหากภาครัฐไม่สามารถหาเงินไปชำระคืนเงินกู้เพื่อกระตุ้นการบริโภคดังกล่าวได้ ก็อาจต้องใช้วิธีการพิมพ์ธนบัตรเพิ่ม ซึ่งจะทำให้ค่าเงินลดต่ำลง

นอกจากนี้นโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจอาจทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมกันในความมั่งคั่งของผู้ลงทุนในกลุ่มอายุต่างกัน กล่าวคือ กลุ่มอายุน้อยที่ลงทุนในทรัพย์สินในราคาสูงด้วยการกู้ยืม เมื่อเกิดฟองสบู่แตกจึงทำให้ขาดทุนหรือสูญเสียอย่างมาก สำหรับกลุ่มอายุมากไม่นิยมการกู้ยืม จะลงทุนในทรัพย์สินอย่างระมัดระวังมากกว่า

สำหรับการจัดพอร์ตลงทุนในสถานการณ์ปัจจุบันซึ่งเศรษฐกิจมีความผันผวนและไม่แน่นอนนั้น นายฟาเบอร์ แนะนำ 2 กลยุทธ์สั้น ๆว่า 1. ควรลงทุนในทรัพย์สินต่างๆ และย้ายการลงทุนให้เหมาะสมกับช่วงเวลา หรือ 2. กระจายลงทุนในทรัพย์สินประเภทต่างๆ เช่น หุ้น พันธบัตร อสังหาริมทรัพย์ ทองคำ เป็นต้น เพื่อลดความเสี่ยง ณ ขณะนี้ตลาดหุ้นน่าจะยังคงผันผวนมากต่อไป เพราะคนคาดหวังผลตอบแทนระยะสั้นมากกว่าระยะยาว เช่น กรณีของกองทุนบริหารความเสี่ยง(เฮดจ์ฟันด์) มีผลตอบแทนไม่ดี ประมาณ 2-3 เดือน ผู้ลงทุนก็จะถอนเงินออกมา ซึ่งโอกาสการลงทุนจะเกิดขึ้นเมื่อทรัพย์สินราคาต่ำกว่าที่ควรจะเป็น

"ตอนนี้ราคาหุ้นในประเทศแถบยุโรป เช่น กรีซ โปรตุเกส สเปน อิตาลี ฝรั่งเศส ถือว่ามีราคาถูก และทองคำเป็นทางเลือกที่ดีแม้อาจมีความผันผวนอยู่บ้าง"

สำหรับประเทศไทยนั้น นายฟาเบอร์ได้ให้สัมภาษณ์เชิงลึกภายหลังลงจากเวที โดยเขากล่าวว่า ฟองสบู่ตลาดหุ้นเริ่มก่อตัวขึ้นแล้ว โดยอยู่ในระยะเริ่มต้นไม่ใช่ระยะสุดท้าย สาเหตุที่คิดว่าฟองสบู่อาจเกิดขึ้นในตลาดหุ้นไทย เพราะเห็นว่ามีกิจกรรมที่นักลงทุนประเภทเก็งกำไรเข้าไปดันราคาหุ้นที่ต่ำอยู่ให้ปรับสูงขึ้น
"การเก็งกำไรทำจากหุ้นตัวหนึ่งก่อนโยกไปหาหุ้นราคาถูกตัวอื่นๆ อีก ซึ่งพฤติกรรมแบบนี้ทำให้มีสัญญาณบอกว่าเกิดฟองสบู่ในหุ้นจากการเก็งกำไร"


นายฟาเบอร์ กล่าวว่า เขาเคยลงทุนในตลาดหุ้นไทย 2 ครั้ง ครั้งแรกลงทุนช่วงวิกฤติการเงินหรือวิกฤติต้มยำกุ้งปี 2540 และอีกครั้งช่วงปี2552(วิกฤติซับไพรม์ในสหรัฐฯ) ซึ่งช่วงนั้นตลาดหุ้นไทยถูกมาก โดยราคาหุ้นลงมาถึง 85% ขณะที่ปัจจุบันหุ้นไทยอยู่ในภาวะที่ไม่ถูกและไม่แพง โดยพบว่าหุ้นบางตัวราคาปรับขึ้นไปแล้วถึง 50 เท่า
จากมุมมองที่มีต่อตลาดหุ้นไทยข้างต้น นายฟาเบอร์ ออกตัวว่า "ผมไม่ได้บอกว่าถึงเวลาต้องขายหุ้น แต่คิดว่าเป็นตลาดที่มีการเก็งกำไร และคาดว่าหุ้นไทยจะปรับขึ้นอีก 10-20% หรือมีศักยภาพปรับขึ้นได้อีก10 เท่า"

อย่างไรก็ตามกูรูการลงทุนระดับโลกยอมรับว่าตอนนี้เขาค่อยๆ ลดการถือครองหุ้นไทยบ้างแล้ว ส่วนหุ้นที่ชอบและยังสนใจลงทุนอยู่นั้น คือ ธุรกิจโรงพยาบาล และยังสนใจภาคบริการการแพทย์และธุรกิจเพื่อสุขภาพของไทย เพราะมองว่าเป็นธุรกิจยังเติบโตได้ดีอยู่

มาที่ำคำแนะนำการจัดพอร์ตลงทุนของมืออาชีพอีกคน "นายเพ็ง เชน" ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายงานทวีปเอเชีย (ไม่รวมญี่ปุ่น) บริษัทจัดการลงทุนไดเมนชันนัล แนะนำว่า การลงทุนควรพิจารณาทั้งผลตอบแทนและความเสี่ยงทั้งพอร์ตการลงทุน แทนที่จะพิจารณาเฉพาะสินทรัพย์ใดสินทรัพย์หนึ่ง โดยความเสี่ยงในการลงทุนมี 2 ประเภท ได้แก่ 1. ความเสี่ยงของตลาด (systematic risk) และ 2. ความเสี่ยงเฉพาะของตราสาร (unsystematic risk) ซึ่งความเสี่ยงประเภทหลังนี้สามารถลดได้โดยการกระจายการลงทุนในสินทรัพย์หลายประเภท

ผู้บริหารกองทุนรายนี้ได้ยกตัวอย่างการเกิดวิกฤติเศรษฐกิจในปี 2008 (วิกฤติซับไพรม์)เป็นความเสี่ยงของตลาด โดยหุ้นจดทะเบียนในตลาดสหรัฐฯจำนวน 25% ขาดทุนมากถึง 75% ในขณะที่กองทุนรวมที่ขาดทุนมากกว่า 75% มีเพียง 4 กองทุนเท่านั้น แสดงว่าแม้ในภาวะที่ต้องเผชิญกับความเสี่ยงของตลาด การกระจายความเสี่ยงก็ยังคงทำงาน เพียงแต่อาจให้ประสิทธิภาพที่ลดลง

จากตัวอย่างที่ยกมาข้างต้นเขากล่าวว่า เนื่องจากความสัมพันธ์ระหว่างผลตอบแทนและความเสี่ยง ระหว่างสินทรัพย์เพิ่มขึ้น เพราะฉะนั้นนักลงทุนควรให้ความสำคัญทั้ง 2 เรื่อง ขณะที่การจัดสรรการลงทุนในสินทรัพย์ทางเลือก ไม่ได้ทำให้ความเสี่ยงหมดไป และยังต้องเผชิญกับความเสี่ยงของตลาดไม่ต่างกับสินทรัพย์ดั้งเดิม

ด้าน "นายเอนิล กาบา" ศาสตราจารย์ด้านการบริหารความเสี่ยง สถาบันอินเสียด (INSEAD)กล่าวถึงการจัดการลงทุนและประเมินความเสี่ยงว่า วิกฤติเศรษฐกิจที่ผ่านมา หลายคนอาจเรียกว่าเป็น "black swan" คือเหตุการณ์ที่แทบไม่มีโอกาสเกิดขึ้น แต่ที่จริงแล้วในอดีตก็เคยเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ และในอนาคตก็จะต้องเกิดขึ้นอีก หลายคนเชื่อว่ายิ่งแบบจำลองหรือโมเดลการลงทุนที่ซับซ้อนจะยิ่งใช้ในการพยากรณ์ได้ดี แต่ที่จริงแล้วผู้ใช้อาจไม่เข้าใจโมเดลเหล่านั้นดีพอ

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 32 ฉบับที่ 2,782 วันที่ 11-13 ตุลาคม พ.ศ. 2555
โพสต์โพสต์