ASEAN Linkageเปิดโลกนักลงทุนไทย ช้อปหุ้นกว่า3พันตัวในอาเซียน

การลงทุนแบบเน้นคุณค่า ลงทุนหุ้น VI เน้นที่ปัจจัยพื้นฐานเป็นหลัก

โพสต์ โพสต์
sak007
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 929
ผู้ติดตาม: 10

ASEAN Linkageเปิดโลกนักลงทุนไทย ช้อปหุ้นกว่า3พันตัวในอาเซียน

โพสต์ที่ 1

โพสต์

ASEAN Linkageเปิดโลกนักลงทุนไทย ช้อปหุ้นกว่า3พันตัวในอาเซียน

โดย : สรวิศ อิ่มบำรุง
น.ส.พ.กรุงเทพธุรกิจ 1 ก.ค.55

ปัจจุบันมีหุ้นในตลาดหุ้นไทย 545 ตัวให้นักลงทุนเลือกลงทุนกันแต่หลังจากมี ASEAN Linkage ครบเฟสจะมีหุ้น 3,778 ตัว ให้เลือกช้อป

ตามกำหนดการใน “ไตรมาสที่ 3/2555” นี้ การรวมตลาดหลักทรัพย์ของอาเซียนเข้าด้วยกันใน “เฟสแรก” ของ 3 ตลาดหลักทรัพย์ น่าจะเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมของ “ASEAN Linkage”

ได้แก่ “ตลาดหลักทรัพย์ไทย -มาเลเซีย-สิงคโปร์” ซึ่งจะทำให้นักลงทุนไทยมีหุ้นที่จะลงทุนเพิ่มขึ้นจากเดิม 545 หลักทรัพย์ เป็น 2,278 หลักทรัพย์

และคาดว่าจะสามารถเชื่อมโยง 7 ตลาดหลักทรัพย์ ใน 6 ประเทศ ให้เป็นหนึ่งเดียวได้ในอีก 2 ปี ข้างหน้า ซึ่งจะทำให้ “ตลาดหลักทรัพย์อาเซียน” ขยับขึ้นมาเป็นตลาดหลักทรัพย์ใหญ่อันดับ 8 ของโลก ด้วยจำนวนหลักทรัพย์ให้เลือกลงทุนกว่า 3,778 หลักทรัพย์ มูลค่าตลาดรวมกันกว่า 2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ


จะกลายเป็นอีก “หนึ่งเป้าหมายการลงทุน” ในแผนที่การลงทุนของนักลงทุนทั่วโลกขึ้นมาอย่างไม่ต้องสงสัย
Fundamentals สัปดาห์นี้ มีความเคลื่อนไหวและความน่าสนใจของ ASEAN Linkage มาฝากกันเพื่อให้นักลงทุนไทยที่สนใจได้เตรียมพร้อมเทรดหุ้นระดับอาเซียนได้ดียิ่งขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้
………………………..

@ ASEAN Linkageพลังงานอาเซียน

เกี่ยวกับเรื่องนี้ “ดร.กฤษฎา เสกตระกูล” ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาเนื้อหาและหลักสูตร สถาบันพัฒนาความรู้ตลาดทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย บอกว่า หนึ่งในแผนงานของการรวมกันเป็น “ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (Asean Economic Community : AEC)” คือ การเชื่อมโยงการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ของประเทศสมาชิกเข้าด้วยกัน “ASEAN Linkage” ที่จะทำให้การระดมทุนและการลงทุนแบบข้ามชาติในภูมิภาคทำได้ง่ายขึ้น

ในแง่ของความน่าสนใจในแผนที่การลงทุนโลก หากมองตลาดหลักทรัพย์ไทยเองปัจจุบัน มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (Market Capitalizeation) เป็นอันดับ 27 ของโลก แต่เมื่อมีการรวมตลาดหุ้นอาเซียนเข้าด้วยกันแล้วจะขยับขึ้นมาเป็นอันดับ 8 ของโลก นั่นจะทำให้ตลาดหุ้นของอาเซียนในภาพรวมมีความน่าสนใจในมุมมองของนักลงทุน ทั่วโลกมากขึ้นด้วยเช่นกัน โดยตามแผนจะรวมตลาดหุ้นของ 6 ประเทศ 7 ตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งจะมีจำนวนหุ้นรวมกันประมาณ 3,778 บริษัท มีมูลค่าตลาดรวมประมาณ 2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ

“โดยการรวมตลาดหลักทรัพย์ในเฟสแรกนี้จะรวม 3 ตลาดหลักทรัพย์ คือ สิงคโปร์ มาเลเซีย และไทยเข้าด้วยกัน ซึ่งคาดว่าจะสามารถดำเนินการได้ในไตรมาสที่ 3/2555 ปีนี้ และจะเชื่อมโยงทุกตลาดเข้าด้วยกันได้ในระยะเวลาประมาณ 2 ปี”

@ หลักทรัพย์อาเซียนหลากหลาย-ส่งเสริมกัน

โดย ดร.กฤษฎา อธิบายว่า จากการรวบรวมข้อมูลโดยใช้หุ้นที่มีขนาดใหญ่และมีสภาพคล่อง 50 ตัวแรก ของตลาดหลักทรัพย์ 5 แห่ง ได้แก่ ไทย สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย และ ฟิลิปปินส์ จะพบว่า จะทำให้กลุ่มอุตสาหกรรมมีความครอบคลุมมากยิ่งขึ้นในบางกลุ่มอุตสาหกรรมที่บางประเทศไม่มีก็จะมีในตลาดหลักทรัพย์อื่นเข้ามาช่วยเสริมทำให้มีหลักทรัพย์เพื่อลงทุนในแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรมเพื่อลงทุนที่มีความครบถ้วนมากยิ่งขึ้น และเมื่อนำมารวมกันทั้งหมด 5 ตลาดแล้ว พบว่า กลุ่มอุตสาหกรรมที่มีสัดส่วนมาก 5 อันดับแรก ได้แก่ 1) กลุ่มทรัพยากรพื้นฐานประมาณ 20.2% ของมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด 2) กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม 12.7% 3) กลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม 10.3% 4) กลุ่มสื่อสาร 10.3% และ 5) กลุ่มพลังงาน 7.9% ที่จะมีน้ำหนักในมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดของตลาดหลักทรัพย์ทั้ง 5 แห่ง

“กรณีของตลาดหลักทรัพย์ไทยก็จะมีน้ำหนักของกลุ่มอุตสาหกรรมที่โดดเด่น ได้แก่ กลุ่มปิโตรเคมี กลุ่มวัสดุก่อสร้าง กลุ่มโรงพยาบาล กลุ่มพลังงาน และกลุ่มเทคโนโลยี ในขณะที่ตลาดหลักทรัพย์ประเทศอื่นก็จะมีกลุ่มอุตสาหกรรมที่โดดเด่นแตกต่างกันออกไป นี่เรียกว่าเป็นการช่วยเพิ่มความหลากหลายและส่งเสริมซึ่งกันและกันให้กับตลาดหลักทรัพย์ในอาเซียนอย่างแท้จริง”

@ จุดเด่นที่แตกต่างกัน

ดร.กฤษฎา ยังอธิบายเพิ่มเติมว่า หากพิจารณาในด้านมูลค่าตลาดโดยรวมของตลาดหลักทรัพย์ไทยจัดอยู่ในอันดับที่ 4 ในภูมิภาค โดยอันดับ 1) ได้แก่ สิงคโปร์มีสัดส่วนประมาณ 31% ของมูลค่าหลักทรัพย์ในอาเซียน 2) มาเลเซีย 23% 3) อินโดนีเซีย 22% 4) ไทย 15% และ 5) ฟิลิปปินส์ 9% อย่างไรก็ตามตลาดหลักทรัพย์ไทยกลับมีหลักทรัพย์ที่มีขนาดใหญ่และสภาพคล่องสูงมากเป็นอันดับ 2 รองจากสิงคโปร์ ในขณะที่ตลาดหลักทรัพย์ฟิลิปปินส์ไม่มีหลักทรัพย์ในกลุ่มดังกล่าวเลย ไม่เพียงเท่านี้ตลาดหลักทรัพย์ไทยยังมีสัดส่วนมูลค่าการซื้อขายหลักทรัพย์ต่อมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (Share turnover velocity) สูงที่สุดในภูมิภาคอาเซียนและมีมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยรายวันสูงสุดในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ของภูมิภาคอาเซียนอีกด้วย นั่นอาจจะเป็นเพราะโครงสร้างนักลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ไทยที่แตกต่างจากตลาดหลักทรัพย์อื่นในภูมิภาค โดยตลาดหลักทรัพย์ไทยมีสัดส่วนของนักลงทุนรายย่อยประมาณ 50% ในขณะที่มาเลเซียมีประมาณ 25% เท่านั้น ส่วนข้อมูลของตลาดสิงคโปร์ไม่มีการเปิดเผย

นอกจากนี้ตลาดหลักทรัพย์ไทยยังมีจุดเด่นที่น่าสนใจ คือ เป็นตลาดที่มีมูลค่าการซื้อขายที่สูงในหลายหมวดอุตสาหกรรมด้วยกัน ได้แก่ กลุ่มธนาคารพาณิชย์ ปิโตรเคมี วัสดุก่อสร้าง โรงพยาบาล ประกัน พลังงาน ค้าปลีก และเทคโนโลยี ซึ่งตลาดหลักทรัพย์อื่นกลุ่มนักลงทุนที่สนใจซื้อขายในแต่ละหมวดอุตสาหกรรมก็จะแตกต่างกันออกไป

“ไม่เพียงเท่านี้ตลาดหลักทรัพย์ไทยกลุ่มอุตสาหกรรมของไทยยังมีผลประกอบการที่โดดเด่นโดยเปรียบเทียบกับตลาดหลักทรัพย์อื่น เมื่อพิจารณาจากอัตราส่วนผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (ROE) ที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยตลาดใน 11 กลุ่ม อุตสาหกรรม ได้แก่ กลุ่มทรัพยากรพื้นฐาน, ปิโตรเคมี, วัสดุก่อสร้าง,อาหารและเครื่องดื่ม, ประกัน, บันเทิง, พลังงาน, ค้าปลีก, เทคโนโลยี, สื่อสาร และ สินค้าอุปโภคบริโภค แต่ในตลาดหลักทรัพย์อื่นก็จะมีกลุ่มอุตสาหกรรมที่ให้ ROE สูงกว่าตลาดหลักทรัพย์ไทยที่แตกต่างกันไปด้วยเช่นกัน นั่นก็คือโอกาสของนักลงทุนที่จะเข้าไปพิจารณาเพื่อเป็นอีกทางเลือกในการลงทุนได้เช่นกัน นอกเหนือจากหลักทรัพย์ในไทยเพียงอย่างเดียว”

@ ไตรมาส3เฟสแรก “ไทย-มาเลย์-สิงคโปร์”

ดร.กฤษฎา มองว่า ASEAN Link จะช่วยให้เกิดการประหยัดต่อขนาด (Economy of Scale) ต่อทั้งตลาดหลักทรัพย์และผู้ร่วมตลาด โดยประโยชน์ที่บริษัทจดทะเบียนจะได้คือการรวมตลาดหลักทรัพย์จะช่วยเพิ่มมูลค่าของหลักทรัพย์ เนื่องจากบริษัทจดทะเบียนเป็นที่รู้จักในกลุ่มผู้ลงทุนต่างประเทศมากขึ้นและยังช่วยลดต้นทุนในการระดมทุนของบริษัทจดทะเบียนลงด้วย ในส่วนของผู้ลงทุนไทยเองนั้นการรวมตลาดหลักทรัพย์จะเป็นการช่วยเพิ่มทางเลือกและความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ทางการเงินให้แก่ผู้ลงทุนโดยผ่านช่องทางการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์อาเซียนด้วยวิธีการซื้อขายผ่านบริษัทหลักทรัพย์ไทยเช่นเดิม โดยในเฟสแรกนี้จะเชื่อมโยง 3 ตลาดหลักทรัพย์เข้าด้วยกันก่อน ได้แก่ ไทย, มาเลเซีย และ สิงคโปร์ โดยตามกำหนดการคาดว่าจะดำเนินการได้ภายในไตรมาสที่ 3/2555 นี้

ปัจจุบันตลาดหลักทรัพย์ไทยมีหุ้นให้ลงทุน 545 หลักทรัพย์ อยู่ในตลาด SET 472 หลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์ MAI อีก 73 หลักทรัพย์ แต่เมื่อมีการเชื่อม 3 ตลาดหลักทรัพย์เข้าด้วยกันจะมีหลักทรัพย์ให้ลงทุนได้เพิ่มขึ้นเป็น 2,278 หลักทรัพย์ โดยตลาดหลักทรัพย์มาเลเซียมีทั้งหมด 1,001 หลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์อีก 1,014 หลักทรัพย์

“นักลงทุนหลายคนอาจจะสงสัยว่าเฉพาะหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ไทย 545 หลักทรัพย์ ยังรู้จักไม่หมด เมื่อเชื่อมตลาดหลักทรัพย์ 3 ตลาดเข้าด้วยกัน มีหุ้นให้ลงทุนเพิ่มเป็น 2,560 หลักทรัพย์ จะลงทุนกันยังไง เพื่อให้นักลงทุนที่สนใจเข้าไปลงทุนในตลาดหุ้นประเทศเพื่อนบ้านได้ง่ายขึ้น จึงมีการจัดทำเป็นหุ้น ASEAN Star 30 ขึ้นมาโดยประกอบด้วยหุ้นที่มีขนาดใหญ่โดยพิจารณาจากมูลค่าของหลักทรัพย์ตามราคาตลาด และสภาพคล่องของหลักทรัพย์จำนวน 30 หลักทรัพย์ ต่อประเทศ รวม 180 หลักทรัพย์ และในเฟสแรกก็จะมีอยู่ 90 ตัว จาก 3 ตลาดหลักทรัพย์ โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อรวมกลุ่มหลักทรัพย์ขนาดใหญ่ที่มีความน่าสนใจของตลาดหลักทรัพย์แต่ละแห่งที่จัดว่าเป็น "blue chips" ของตลาดหลักทรัพย์อาเซียน ซึ่งจะช่วยให้นักลงทุนที่ไม่มีความคุ้นเคยในการลงทุนหุ้นของตลาดหลักทรัพย์ อาเซียน สามารถเลือกหุ้นที่ต้องการได้ง่ายยิ่งขึ้น ผู้ลงทุนที่สนใจสามารถติดตามข้อมูล ASEAN Star เพิ่มเติมได้ที่ www.aseanexchanges.org/aseanstars.aspx

นักลงทุนไทยเองที่มีความสนใจก็อาจจะลงทุนในหุ้นรายตัวในตลาดหลักทรัพย์ไทยเอง แต่เมื่อจะไปลงทุนในตลาดหลักทรัพย์อื่นก็อาจจะใช้ตัวแทนของตลาดโดยไปลงทุนผ่านกองทุนอีทีเอฟ ASEAN Star30 ในแต่ละตลาดหลักทรัพย์ก็ได้เสมือนหนึ่งไปลงทุนในตัวแทนของตลาดหลักทรัพย์นั้นๆ ในภาพรวมไปเลย หรือจะเลือกลงทุนในหุ้นกลุ่มอุตสาหกรรมที่เป็นจุดแข็งของแต่ละประเทศก็ได้ นอกจากนี้ยังเป็นการเพิ่มโอกาสในการค้นหาหุ้นที่ดีตามสไตล์ที่ชอบได้อีกทางหนึ่งด้วย เช่น นักลงทุนในกลุ่มที่เป็นนักลงทุนแบบเน้นคุณค่า (Value Investor) เองก็มีโอกาสที่จะไปค้นหาหุ้นดีที่ยังไม่ถูกค้นพบในตลาดหลักทรัพย์เพื่อนบ้านได้เช่นเดียวกัน โดยการเข้าถึงการลงทุนในหุ้นทั้ง 3 ตลาดก็ทำได้ง่ายใช้เงินลงทุนไม่มาก เพียงมีบัญชีกับ Thai Broker ที่อยู่ในโครงการเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากเป็นการลงทุนในหลักทรัพย์ข้ามประเทศนักลงทุนจึงควรจะต้องศึกษา ติดตาม ตลอดจนทำการวิเคราะห์ข้อมูลเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ปัจจัยพื้นฐาน และปัจจัยทางเทคนิคที่เกี่ยวข้องกับหุ้นของแต่ละประเทศและ AEC ด้วย ไม่เพียงเท่านี้ยังควรศึกษาถึงวิธีการซื้อขายหลักทรัพย์ข้ามประเทศ รวมทั้งวิธีรับฝากหลักทรัพย์ การชำระราคาซึ่งเกี่ยวกับสกุลเงินตราต่างประเทศและความเสี่ยงในเรื่องของอัตราแลกเปลี่ยนด้วยเช่นเดียวกัน

@ คาดนักลงทุนบุคคลใช้ประโยชน์ก่อน

เกี่ยวกับเรื่องนี้ “ดร.วิน อุดมรัชตวนิชย์” ประธาน เจ้าหน้าที่บริหาร บลจ.วรรณ มองว่า เบื้องต้นนักลงทุนที่ไปใช้ประโยชน์น่าจะเป็นนักลงทุนรายย่อยที่เป็นบุคคล กลุ่มบน (High Net Worth) ที่มีความคุ้นเคยกับการลงทุนในหุ้นอยู่แล้วไปใช้ประโยชน์มากกว่าคงไม่ใช่นักลงทุนรายย่อยทั่วไป ในส่วนของ “กองทุนรวม” เองนั้น ในช่วงต้นคงยังไม่ได้ใช้ประโยชน์มากนัก เพราะความ เข้าใจของนักลงทุนที่ยังมีไม่มาก หุ้นใหญ่ในแต่ละตลาดหลักทรัพย์ก็ คือใหญ่ในอาเซียน แต่ถามว่านักลงทุนไทยรู้จักหรือไม่ ส่วนใหญ่จะไม่รู้จัก อาจจะมีบ้างก็ที่มีข้ามมารุกธุรกิจในเมืองไทย เช่น CIMB, Maybank หรือ UOB เป็นต้น แต่บริษัทอื่นๆ นักลงทุนไทยทั่วไปก็คงไม่รู้จัก แม้ว่าหุ้นของบริษัทในมาเลเซียหรือสิงคโปร์ที่อยู่ในกลุ่มนำตลาดและมีคุณภาพดีจริง แต่ถ้านักลงทุนไทยไม่รู้จักแล้วจะให้เขาไปลงทุนบางครั้งก็ไม่ใช่เรื่องง่าย คงต้องให้เวลานักลงทุนไทยในการเรียนรู้ ศึกษา และทำความเข้าใจสักระยะหนึ่ง อาจจะประมาณ 2 - 3 ปี เชื่อว่าดีมานด์การลงทุนจากนักลงทุนไทยเองจะมีมากขึ้น

“จากความเข้าใจของนักลงทุนไทยในช่วงแรกที่อาจจะมีอยู่ค่อนข้างจำกัด โอกาสที่จะจัดตั้งกองทุนเพื่อไปลงทุนในหุ้นของตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์หรือมาเลเซียก็คงไม่ง่าย เพราะการที่ธุรกิจกองทุนจะเติบโตได้นั้น ต้องมาจาก 2 ปัจจัยที่สำคัญ คือ 1) การส่งเสริมของผู้กำกับดูแลตลาดซึ่งทางสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ของไทยก็ทำมาได้ดีแล้ว และ 2) ความรู้และความเข้าใจของนักลงทุนไทยเองด้วยซึ่งจะเป็นดีมานด์ที่มาจากฝั่งของผู้ลงทุน อย่างไรก็ตามการที่ดีมานด์จากนักลงทุนมีน้อยก็ใช่ว่าบลจ.จะจัดตั้งกองทุนเพื่อไปลงทุนในหุ้นตลาดอาเซียนไม่ได้ แต่การเติบโตอาจต้องใช้เวลาเท่านั้นเอง ในแง่ของโอกาสถือว่าเปิดกว้างและมีความน่าสนใจ”

ประตูสู่โอกาสทางการลงทุนที่เปิดกว้างขึ้นสำหรับนักลงทุนไทยผ่าน ASEAN Linkage จะเป็นประโยชน์มากเมื่อนักลงทุนมีความรู้ความเข้าใจที่เพิ่มมากขึ้นและใช้โอกาสในการลงทุนที่เปิดกว้างนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพนั่นเอง
โพสต์โพสต์