ฤาฟินแลนด์จะตัดช่องน้อยแต่พอตัวไปก่อน?

การลงทุนแบบเน้นคุณค่า ลงทุนหุ้น VI เน้นที่ปัจจัยพื้นฐานเป็นหลัก

โพสต์ โพสต์
ภาพประจำตัวสมาชิก
Guiman
Verified User
โพสต์: 320
ผู้ติดตาม: 0

ฤาฟินแลนด์จะตัดช่องน้อยแต่พอตัวไปก่อน?

โพสต์ที่ 1

โพสต์

ฤาฟินแลนด์จะตัดช่องน้อยแต่พอตัวไปก่อน?
วิวรรณ ธาราหิรัญโชติ CFP

ปลายสัปดาห์ที่แล้ว โลกฮือฮากันพอสมควร เมื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของฟินแลนด์ เอิร์กกิ เตามิโอยา ออกมาให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์ เดลี่เทเลกราฟ ว่า ประเทศในยุโรปต้องเตรียมตัวเผื่อเอาไว้กรณีมีการแตกกลุ่ม ไม่ใช้เงินยูโรร่วมกันเกิดขึ้นในอนาคต

เนื่องจากเห็นว่า หากทำการกระเตงกันอย่างนี้ตลอดไป ทำให้ประชากรมีความทุกข์นับจ
ำนวนได้เป็นล้านๆ และสิ่งที่เกิดขึ้นนี้กำลังทำลายยุโรป ในไม่ช้าเงินก็จะหมด และไม่ช้าก็เร็ว การแตกกลุ่มก็ต้องเกิดขึ้น ทั้งนี้ยังให้ความเห็นว่า การแตกกันอาจทำให้กลุ่มประชาคมเศรษฐกิจยุโรปเข้มแข็งขึ้นในอนาคต

คำกล่าวนี้มีขึ้นหลังจากที่นายกรัฐมนตรียากิ คาไทเน่น (Jyrki Katainen) ได้ออกมาให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวชปีเกิ้ล (Spiegel) ของเยอรมนีในวันที่ 13 สิงหาคมเกี่ยวกับวิธีการให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศอ่อนแอในยุโรป ว่าประเทศอ่อนแอเหล่านี้ หากต้องการกู้เงิน ควรจะต้องออกพันธบัตรโดยมีสินทรัพย์ค้ำประกัน ภายหลังจากที่นายกรัฐมนตรีของอิตาลีให้ความเห็นว่าฟินแลนด์ทำตามที่รัฐสภากำหนดไว้ตายตัวเกินไป ซึ่งจะทำให้เป็นอันตรายต่อกลุ่มยูโร

ตั้งแต่ต้นมาแล้ว รัฐสภาของฟินแลนด์ได้กำหนดให้รัฐบาลขอหลักประกันจากกรีซและสเปน ในการให้ความช่วยเหลือทางการเงินที่ผ่านมา ทำให้ฟินแลนด์เป็นเจ้าหนี้รายเดียวในกลุ่มยูโรที่มีหลักประกันหนี้ แต่ก็มีเงื่อนไขคือ ต้องจ่ายเงินผ่านกลไกรักษาเสถียรภาพการเงินยุโรปทั้งก้อนตั้งแต่ต้น ในขณะที่ประเทศอื่นๆที่ไม่มีหลักประกัน จะค่อยๆทยอยจ่ายตามงวด
ทั้งนี้นายกรัฐมนตรีหนุ่มของฟินแลนด์ซึ่งมีอายุเพียง 40 ปีท่านนี้ ได้ให้สัมภาษณ์ว่า จากการสำรวจความเห็นของประชาชนในตอนที่ต้องอนุมัติเงินกู้ให้กับกรีซครั้งหลังสุด พบว่า 2 ใน 3 ของประชากรฟินแลนด์ยังอยากจะอยู่ร่วมใช้เงินสกุลยูโรอยู่ แต่มีความเป็นห่วงในขนาดของความช่วยเหลือประเทศที่อ่อนแอ ว่าเริ่มใหญ่ขึ้นมากแล้ว

ตอนนี้ทั่วโลกกำลังจับตาดูว่า ฟินแลนด์ ประเทศเดียวในกลุ่มนอร์ดิกที่เข้าร่วมใช้เงินสกุลยูโรตั้งแต่ต้น กำลังจะเป็นประเทศแรกที่เดินออกจากยูโรหรือไม่

ซึ่งหากเกิดขึ้น หมายความว่า น่าจะมีประเทศอื่นที่แข็งแรงทำตามด้วย นั่นหมายถึงยูโรจะแตก

สาธารณรัฐฟินแลนด์เคยเป็นอาณานิคมของสวีเดนในคริสต์ศตวรรษที่ 12 ถึง 19 และของสหภาพโซเวียตหลังปี 1809 ได้รับเอกราชเมื่อ 6 ธันวาคม 1917 ในสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้ร่วมมือกับเยอรมนี หลังสงครามจึงต้องจ่ายค่าปฏิกรรมสงครามจำนวนมากให้กับสหภาพโซเวียต รวมถึงเสียดินแดนไป 12% และเข้าเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปในปี 1995

เดิมฟินแลนด์ใช้เงินมาร์กฟินแลนด์ หรือฟินน์มาร์ก แต่เลิกใช้ไปเมื่อมาใช้เงินสกุลยูโรในปี 1999 ปัจจุบันโรงพิมพ์ธนบัตรของฟินแลนด์ทำหน้าที่ในการพิมพ์ธนบัตรสกุลยูโรอยู่

ฟินแลนด์มีพื้นที่ 338,145 ตารางกิโลเมตร ภูมิประเทศเป็นที่ราบ มีทะเลสาบและเนินเขาเตี้ยๆ เป็นดินแดนที่มีทะเลสาบมากมายถึงกว่า 60,000 ทะเลสาบ จึงมีพื้นที่เป็นน้ำประมาณ 24,330 ตารางกิโลเมตร สีน้ำเงินสดในธงชาติของฟินแลนด์ หมายถึงทะเลสาบที่มีอยู่มากมายทั่วประเทศ กากบาทอยู่บนพื้นสีขาวซึ่งหมายถึงหิมะ

ทรัพยากรธรรมชาติของฟินแลนด์ที่โดเด่นที่สุดคือ ป่าไม้ ฟินแลนด์ส่งออกไม้สนจำนวนมาก มีทั้งไม้แปรรูปและบ้านสำเร็จรูป ที่เราคุ้นเคยกันก็คือตู้อบซาวน่าไม้สน คนฟินน์ชอบเข้าซาวน่า เพื่อผ่อนคลาย และหลังจากเข้าซาวน่าจะต้องออกมากลิ้งตัวบนหิมะด้วยค่ะ

ทรัพยากรอื่นๆคือ เหล็ก ทองแดง สังกะสี ตะกั่ว โครไมท์ ทองคำ เงิน และหินปูน

สินค้าส่งออกของฟินแลนด์นอกเหนือจากไม้ ก็เป็นพวกอุปกรณ์ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ เลนส์และอุปกรณ์เกี่ยวกับการมองต่างๆ เครื่องจักร โดยส่งออกไปสวีเดน 12.1% เยอรมนี 10.2% รัสเซีย 9.5% เนเธอร์แลนด์ 6.9% สหราชอาณาจักร 5.3% สหรัฐอเมริกา 5.1% จีน 4.8% ที่เหลือไปประเทศอื่นๆ

สินค้านำเข้าส่วนใหญ่เป็นประเภทอาหาร น้ำมันและผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม เคมีภัณฑ์ อุปกรณ์เกี่ยวกับการคมนาคม เหล็ก เครื่องจักร สิ่งทอ ธัญพืช

ฟินแลนด์มีประชากรเพียง 5.4 ล้านคน มีอัตราการรู้หนังสือ 100% มีอายุเฉลี่ย 79.41 ปี รายได้ต่อหัวคิดตามอำนาจซื้อประมาณ 49,349 เหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 1.56 ล้านบาท มีหนี้สาธารณะ 49% ของจีดีพี คนส่วนใหญ่ถึง 93.4% เป็นคนเชื้อชาติฟินน์ค่ะ มีสวีดิช 5.6% และรัสเชียน 0.5%

คนฟินน์ชอบมาเที่ยวเมืองไทยมาก ตอนเกิดสึนามิในภาคใต้ มีคนฟินน์เสียชีวิต สูญหายและบาดเจ็บเป็นจำนวนมากเช่นกัน ทางการฟินแลนด์จึงส่งอุปกรณ์มาช่วยเราอย่างเต็มที่ เท่าที่สัมผัส คนฟินน์เป็นฝรั่งที่ถ่อมสุภาพ และให้เกียรติผู้อื่นมากทีเดียว

ซาตาคลอส มีกำเนิดในแถบแลปแลนด์ของฟินแลนด์ แลปแลนด์อยู่ใกล้ขั้วโลก จึงมีกลางวันสั้นมากในฤดูหนาว บ้านซานตา ก็เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่คนนิยมค่ะ

กลับมาถึงเรื่องการอยากออกจากจากยูโรต่อค่ะ ต้องมีที่มาและที่ไปแน่นอน ฟินแลนด์เคยประสบปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจในช่วงต้นทศวรรษ 1990 คล้ายๆกับวิกฤติต้มยำกุ้งที่เกิดขึ้นในเมืองไทย และเขาต้องยากลำบาก อัดฉีดเงินสภาพคล่องให้ธนาคาร เพิ่มทุน ปฏิรูปภาคการเงิน รวมทั้งลดค่าเงินเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน ปรับปรุงปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจอย่างมาก กว่าจะกลับขึ้นมาผงาด เป็นประเทศที่มีความสามารถในการแข่งขันสูงที่สุดจากการจัดอันดับของ World Economic Forum ถึง 3 ปี

เขาปฏิรูปการศึกษาอย่างหนัก เพื่อสร้างประชากรที่จะรองรับธุรกิจที่มีมูลค่าเพิ่มสูง ให้ทุนวิจัยอย่างมากมาย ทำให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆขึ้นมาก จนบริษัทชั้นแนวหน้าของเขาคือโนเกีย สามารถครองตลาดโทรศัพท์มือถืออันดับหนึ่งของโลกได้กว่าทศวรรษ

ตอนเขาลำบาก ไม่ได้มีใครมาช่วยเขาแบบที่กลุ่มยูโรช่วยกรีซ โปรตุเกส ไอร์แลนด์ ไซปรัส และสเปน เขายังกัดฟันกลับขึ้นมาผงาดได้ ตอนนี้ก็ไม่ใช่ไม่ลำบากนะคะ เพราะโนเกียสูญเสียตำแหน่งผู้นำทางธุรกิจโทรศัพท์มือถือไปให้ซัมซุง ประชากรก็มีอัตราการว่างงานเช่นกัน แม้ไม่สูงเท่าในยุโรปชายขอบ ภาษีของรัฐบาลที่จะเก็บได้ในอนาคตก็ไม่แน่นอนว่าจะได้มาก ประชาชนจึงไม่ค่อยเต็มใจที่จะช่วยประเทศอื่น โดยเฉพาะไม่รู้ว่าขอบเขตการช่วยเหลือจะสิ้นสุดตรงไหน

ต้องจับตาดูกันต่อไปค่ะ


ข้อมูลบางส่วนจาก CIA Factbook และ Wikipedia

จากบทความของอาจารย์วิวรรณ คอลัมนิสต์ของกรุงเทพธุรกิจทุกวันจันทร์ครับ (ใครชอบติดตามเองนะ ผมละโคตะระปลื้มเลย :B )
http://guimanstock.blogspot.com/
บันทึกการลงทุน & รีวิวหนังสือ
โพสต์โพสต์