ความท้าทายของเศรษฐกิจไทยปี 55

การลงทุนแบบเน้นคุณค่า ลงทุนหุ้น VI เน้นที่ปัจจัยพื้นฐานเป็นหลัก

โพสต์ โพสต์
ภาพประจำตัวสมาชิก
green-orange
Verified User
โพสต์: 896
ผู้ติดตาม: 0

ความท้าทายของเศรษฐกิจไทยปี 55

โพสต์ที่ 1

โพสต์

น่าสนใจครับ เลยเอามาฝากเพื่อนๆ พี่ๆ ทุกคน

ที่มา: http://www.kobsak.com/

ความท้าทายของเศรษฐกิจไทยปี 55โจทย์สำคัญที่เป็นความท้าทายของเศรษฐกิจไทยในปี 55 มีอยู่ 2 เรื่อง

เรื่องแรก - ยุโรป เราต้องถามตนเองว่า จะเตรียมการรับมือกับความผันผวนที่มาจากยุโรปกันอย่างไร เพราะเมื่อมองออกไปในระบบเศรษฐกิจโลก ปัญหาที่ดูจะสุกงอมที่สุด รอเพียงจังหวะเวลาที่จะปะทุขึ้นเป็นวิกฤต เป็นเสมือนมรสุมที่ตั้งเค้าทมึน ปกคลุมระบบเศรษฐกิจโลกไว้เรียบร้อยแล้ว ก็คือ เรื่องนี้เรื่องที่สอง - การพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันระยะยาวให้กับประเทศ ให้สามารถแข่งได้กับประเทศเพื่อนบ้านในยุคศตวรรษใหม่ของเอเชีย ไม่ตกรถ สามารถเริ่มวัฏจักรการลงทุนรอบใหม่ ที่สะดุดไปเพราะน้ำท่วม กลับฟื้นคืนมาอีกครั้งที่กล่าวเช่นนี้ก็เพราะ ประเทศอื่นๆ เช่น สหรัฐ ดูเหมือนว่าเศรษฐกิจกำลังเริ่มฟื้นตัวได้ดีขึ้นจากเดิม ประชาชนกล้าจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น ญี่ปุ่น กำลังฟื้นตัวจากปัญหาแผ่นดินไหวเมื่อปีที่แล้ว ส่วนจีน แม้จะชะลอตัวลงบ้างเล็กน้อย มีปัญหาความเปราะบางสะสมอยู่ในภาคการเงิน ภาคอสังหาริมทรัพย์ แต่ก็ยังอยู่ในช่วงต้น ซึ่งทางการจีนกำลังจัดการแก้ไขอย่างเต็มที่ ยังไม่ส่งผลคุกคามในช่วงสั้นๆ

ยุโรปจึงเป็นความเสี่ยง ที่เราต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ไม่ว่าจะเป็นนักธุรกิจ นักวิเคราะห์ นักลงทุน รัฐบาล จะสำเร็จไม่สำเร็จ จะสามารถฝันฝ่ามรสุมลูกใหม่นี้ในปีหน้า ได้ดีแค่ไหน ขึ้นอยู่กับว่าเราตีโจทย์ข้อนี้แตกหรือไม่

ประเด็นสำคัญที่ต้องตอบมีอยู่ 4 ข้อ

1. จะเกิดวิกฤตหรือไม่ – เรื่องนี้ขอตอบสั้นๆ ว่า เกิด เพียงแต่ว่ายุโรปจะสามารถยื้อปัญหาไปได้นานแค่ไหนเท่านั้น ล่าสุด ปัญหาได้ไปถึงภาคสถาบันการเงิน ที่เริ่มขาดสภาพคล่องทั้งในส่วนของดอลลาร์และยูโร จนธนาคารกลางของสหภาพยุโรปต้องออกมาช่วยอัดฉีดสภาพคล่องให้กับระบบอย่างไม่จำกัด เป็นเงินเกือบ 5 แสนล้านยูโร ในช่วงปลายธันวาคมที่ผ่านมา ด้วยดอกเบี้ยที่ต่ำมาก จนทำให้สถานการณ์ดูดีขึ้นบ้าง แต่ปกติแล้ว การอัดฉีดสภาพคล่องในลักษณะแบบนี้ เป็นสัญญาณอันตรายที่เตือนว่า ปัญหาได้เข้าสู่ phase สุดท้าย คือ คนเริ่มความไม่เชื่อมั่นในระบบสถาบันการเงิน แบงก์เริ่มไม่เชื่อใจซึ่งกันและกัน ซึ่งถ้าดูแลไม่ดี ก็จะปะทุขึ้นเป็นวิกฤตได้

2. แรงแค่ไหน – ขณะนี้ คิดว่าจะไม่แรงเท่า subprime เพราะเมื่อเทียบกัน ครั้งนี้ทุกคนมีเวลาเตรียมการ มีเวลาเกือบ 2 ปีในการออกตัวจาก position ต่างๆ และวิกฤตรอบนี้ concentrate อยู่ที่ยุโรปเป็นสำคัญ มีเพียงประเด็นเดียวที่จะสามารถทำให้วิกฤตรอบนี้แรงมากกว่าที่ทุกคนคิดก็คือ นโยบายของภาครัฐ รวมถึงธนาคารกลาง ที่เข้ามายื้อเวลา ซึ่งขณะนี้ ธนาคารกลางของสหภาพยุโรป กำลังเอาตัวเข้าแลก เพื่อหยุดยั้งวิกฤตครั้งนี้ไว้ให้ได้ แม้ข้างหนึ่ง จะบอกว่า ไม่ปล่อยกู้ให้ประเทศที่ขาดวินัยทางการคลังโดยตรง แต่ก็เลี่ยงบาลี ปล่อยเงินให้ IMF เพื่อไปช่วยประเทศที่เกิดปัญหาทางอ้อม ตลอดจนปล่อยสภาพคล่องให้กับสถาบันการเงินเพื่อไปคืนให้กับเจ้าหนี้ หรือลงทุนในพันธบัตรของยุโรปที่มีดอกเบี้ยสูงกว่า โดยรับเอาสินเชื่อมาเป็นหลักประกัน

การทำเช่นนี้ ท้ายที่สุดจะทำให้ Balance sheet ของธนาคารกลางเสียหาย ยิ่งทำ ยิ่งยื้อ ก็จะยิ่งทำให้วิกฤตเมื่อเกิดขึ้น มีความรุนแรงมากจากเดิม และทางออกหลังเกิดวิกฤตก็จะยิ่งจำกัดลง แม้ตอนแรกๆ จะทำได้ และดูเหมือนทุกอย่างจะดีขึ้น แต่เมื่อทำต่อเนื่อง Balance sheet ของ ECB จะโป่งพองขึ้น ท้ายที่สุด ความเชื่อมั่นในเงินยูโร ในธนาคารกลางก็จะลดลง นำไปสู่คำถามจากผู้ที่เกี่ยวข้องว่า ธนาคารกลางกำลังทำอะไรอยู่ เมื่อทำต่อไม่ได้ วิกฤตก็จะมาเยือน

ที่น่ากังวลใจไปกว่านั้น ก็คือ ปกติแล้วเวลาที่เอาไม่อยู่ ธนาคารกลางก็จะเป็นคนสุดท้ายที่ออกที่ออกมา ช่วยเก็บกวาดปัญหา โดยใช้ Balance sheet ของตนเองเป็นต้นทุน แต่รอบนี้ ถ้ายังพยายามยื้อกันเช่นนี้ เมื่อเกิดวิกฤต ECB ก็คงเสียหายไปมากแล้ว ไม่อยู่ในฐานะที่จะช่วยได้มาก การเก็บกวาดก็จะทำได้จำกัด

3. ยาวนานแค่ไหน – ที่เรารอดกันมาได้เร็วในปี 2008 ก็เพราะว่ารัฐบาลทุกประเทศ ช่วยกันใช้จ่าย กระตุ้นเศรษฐกิจ โดยยอมมีหนี้เพิ่มขึ้น ทดแทนการใช้จ่ายของภาคเอกชน แต่ครั้งนี้ เมื่อเกิดวิกฤต รัฐบาลในยุโรปจะไม่สามารถจับจ่ายใช้สอย ไม่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้เหมือนครั้งที่แล้ว ก็จะต้องใช้เวลานานกว่าปกติในการออกจากวิกฤต

4. ผลกระทบคืออะไร – ผลกระทบที่จะเกิดขึ้น จะผ่านหลายช่องทาง ทั้งในส่วนของค่าเงินที่จะมีความผันผวนมากขึ้น โดยเฉพาะเงินยูโร เงินดอลลาร์ ซึ่งจะกระทบมาถึงเงินในภูมิภาคและค่าเงินบาท สภาพคล่องในระบบ การเรียกเงินคืนกลับไปที่ยุโรป โดยเอเชียกู้ยืมเงินจากยุโรปรวมกันมากกว่า 1 ล้านล้านยูโร การปรับตัวของดัชนีหลักทรัพย์ในตลาดโลก ซึ่งช่วงก่อนวิกฤตปะทุขึ้น อาจจะมี Correction เป็นระยะๆ เงินไหลออกเป็นระลอก และท้ายสุด เมื่อปัญหาสุกงอมเต็มที่ กระทบต่อเศรษฐกิจจริงของยุโรป ภาคการส่งออกของเอเชียไปยุโรปก็จะได้รับผลกระทบไปด้วย

ส่วนคำถามที่ว่า ยุโรปจะจบในลักษณะไหน กลุ่มยูโร จะแตกหรือไม่ ในเรื่องนี้ ยากที่จะตอบได้ เพราะว่าเป็นประเด็นเชิงนโยบายที่สำคัญต่ออนาคตของยุโรป ที่ยุโรป โดยเฉพาะเยอรมันและฝรั่งเศสจะต้องตัดสินใจว่า ใครจะอยู่ ใครจะไป หรือจะไปด้วยกัน จะไปกันในท่าไหน ซึ่งไม่ว่าจะจบอย่างไร ผลกระทบก็จะมีนัยสำคัญกับทุกคน และวิกฤตจะยาวนานพอสมควร ซึ่งเราควรใช้เวลาตั้งแต่ต้นปี คิดเตรียมการแต่เนิ่นๆ ว่าจะรับมือกับเรื่องนี้อย่างไร เผื่อว่าเกิดวิกฤตขึ้น เราจะพร้อมและสามารถฟันฝ่าปัญหาไปได้

สำหรับภายในประเทศของเรา หลายคนได้ออกมาแสดงความกังวลใจในช่วงที่ผ่านมา เกี่ยวกับความสามารถของเศรษฐกิจที่จะฟื้นตัวจากปัญหาน้ำท่วม ปัญหาการเมือง ปัญหาน้ำท่วมรอบใหม่ ประเด็นต่างๆ เหล่านี้ เราคงต้องใส่ใจ แต่คิดว่า (1) เศรษฐกิจโดยรวมน่าจะสามารถฟื้นตัวได้ดีจากปัญหาน้ำท่วม แม้จะมีบางครัวเรือน บางธุรกิจที่ฟื้นตัวได้ยาก (2) การเมืองก็คงส่งผลกับเศรษฐกิจไม่มาก หลายปีที่ผ่านมา เวลาเรามีปัญหาทางการเมือง เศรษฐกิจอาจจะชะลอลงบ้างประมาณ 1-1.5% จากที่ควรจะเป็น โดยเศรษฐกิจไทยสามารถขยายตัวได้ประมาณ 5% เสมอมา แม้ในช่วงที่เรามีวิกฤตความขัดแย้งทางการเมืองหนักๆ และ (3) การท่วมรอบใหม่ในปีหน้า โอกาสที่จะเกิดก็ไม่มากนัก ถ้าเราบริหารจัดการน้ำ โดยเฉพาะน้ำในเขื่อนให้ดี และมีการเตรียมการต่างๆ ไว้พร้อม

ดังนั้น ประเด็นที่เป็นความท้าทายสำคัญจริงๆ สำหรับอนาคตเศรษฐกิจไทยก็คือ การมองระยะยาว การวางนโยบายต่างๆ ให้ไทยสามารถแข่งขันได้ในยุคศตวรรษใหม่ของเอเชีย ไม่ตกรถ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในช่วงที่โอกาสกำลังเปิดจากการย้ายฐานการผลิตของต่างชาติเข้าสู่ภูมิภาคเอเชีย ในช่วงสหรัฐ ยุโรป กำลังวนเวียนกับการแก้ไขปัญหาของตน ซึ่งหมายความว่า เราต้องจัด Priority ของนโยบายให้ดี แก้ปัญหาเรื่องน้ำให้ถูกจุด โดยเริ่มจากการถามว่า “ปัญหาน้ำท่วมครั้งที่แล้วเกิดจากอะไร” แล้วเริ่มแก้จากตรงนั้นอย่างเป็นระบบ ยิ่งถ้าเป็นปัญหาที่มาจากคนการบริหารจัดการของคน และโครงสร้างการบริหารจัดการน้ำของรัฐบาลที่ซับซ้อนไม่เป็นระบบ ก็น่าจะยิ่งแก้ไขได้ง่าย ซึ่งจะช่วยประหยัดงบประมาณ และเวลาของทุกคนที่จะใช้ไปกับเรื่องนี้ ช่วยให้ประเทศชาติได้รับประโยชน์สูงสุดในระยะยาว ไม่เป็นการตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ

ทั้งนี้ เราไม่ควรหมกหมุ่นกับเรื่องการบริหารจัดการน้ำเพียงเรื่องเดียว (ช่วงนี้ ดูเหมือนกับหลายคนจะมุ่งแต่ประเด็นนี้เพียงอย่างเดียว อย่างน่ากังวลใจ) เพราะทรัพยากร งบประมาณ และเวลาของภาครัฐมีอยู่อย่างจำกัด แต่สิ่งที่ต้องทำมีอีกมาก ถ้ารัฐทุ่มเงิน หมดเงินไปกับการวางระบบบริหารจัดการน้ำอย่างไม่ระวัง (ยิ่งลงทุน แบบไม่เห็นผล ไม่ช่วยอะไร ก็ยิ่งน่าเสียดายใหญ่) เพราะเราจะไม่มีเงินมาลงทุนกับอนาคตด้านอื่นๆ ของประเทศ โดยเฉพาะการลงทุนวางอนาคตเพื่อช่วยให้เอกชนไทย คนไทย ประเทศไทยสามารถแข่งขันกับคู่แข่งอื่นๆ ได้ในศตวรรษของเอเชียที่กำลังมาถึง ซึ่งรัฐบาลจำเป็นต้องลงทุนกับนิคมอุตสาหกรรมและท่าเรือน้ำลึกแห่งใหม่ โครงข่ายคมนาคมขนส่งทั่วประเทศ โครงสร้างพื้นฐานต่างๆ การส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ รวมไปถึงการดึงดูดต่างชาติให้มาลงทุนในไทย การสนับสนุนให้คนไทยไปลงทุนในต่างประเทศอีกมาก ซึ่งถ้าเราพลาดไปแล้วกับการบริหารจัดการช่วงน้ำท่วม ครั้งนี้ หวังว่าจะไม่พลาดเรื่องการบริหารจัดการนโยบายหลังน้ำท่วม ใช้จ่ายเงินอย่างไม่เป็นผลอีก ก็ขอเอาใจช่วยให้เราเลือกทาง เลือกนโยบายที่เหมาะสม เพื่ออนาคตของทุกคนครับ

ที่มา : คอลัมน์ อนาคตเศรษฐกิจไทย
หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ประจำเดือนมกราคม 2555
โพสต์โพสต์