ประกันช็อกเคลมน้ำท่วมทะลุเพดาน กองทุน"บัฟเฟตต์"บุกไทยเพิ่มพอ

การลงทุนแบบเน้นคุณค่า ลงทุนหุ้น VI เน้นที่ปัจจัยพื้นฐานเป็นหลัก

โพสต์ โพสต์
ภาพประจำตัวสมาชิก
tum_H
Verified User
โพสต์: 1857
ผู้ติดตาม: 0

ประกันช็อกเคลมน้ำท่วมทะลุเพดาน กองทุน"บัฟเฟตต์"บุกไทยเพิ่มพอ

โพสต์ที่ 1

โพสต์

วันที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2555 เวลา 09:56:08 น.
ประกันช็อกเคลมน้ำท่วมทะลุเพดาน กองทุน"บัฟเฟตต์"บุกไทยเพิ่มพอร์ต


บริษัทประกันปาดเหงื่อ เคลมน้ำท่วมสูงกว่าที่คาด ชี้น้ำขังนานเป็นเดือน เครื่องจักรเสียหายทะลุเพดาน ยอมรับเคลมสินไหมยืดเยื้อถึงไตรมาส 3 วงในจับตารีอินชัวเรอร์รายใหม่ "เบิร์กไชร์ แฮทธาเวย์" ของมหาเศรษฐีโลก "วอร์เรน บัฟเฟตต์" บุกตลาดไทย ออกตัวแรงทุ่มค่าคอมฯปั๊มงานเข้าพอร์ต


นายอานนท์ วังวสุ ผู้อำนวยการฝ่ายสินไหมทดแทน บมจ.กรุงเทพประกันภัย และในฐานะเลขาธิการสมาคมประกันวินาศภัย เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ถึงความคืบหน้าการจ่ายสินไหมทดแทนจากกรณีภัยน้ำท่วมในปีที่ผ่านมาว่า ในส่วนของบริษัทถือว่าคืบหน้าไปค่อนข้างมากแล้ว ฐานลูกค้ารายย่อยดำเนินการจ่ายสินไหมไปมากกว่า 50% แล้ว ซึ่งตั้งเป้าหมายส่วนนี้ให้แล้วเสร็จภายในเดือน ก.พ.

ขณะที่ลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่ หรือโรงงานต่าง ๆ บริษัทได้ทยอยจ่ายเงินสินไหมทดแทนระหว่างกาล (Interim Payment) ไปก่อนแล้วบางส่วน คิดเป็นมูลค่ากว่า 3,000 ล้านบาท เพื่อให้ธุรกิจสามารถฟื้นฟูและเริ่มกลับมาดำเนินธุรกิจได้เร็วที่สุด ซึ่งดำเนินการควบคู่ไปกับการสำรวจความเสียหาย

นายอานนท์กล่าวว่า ความเสียหายที่เกิดขึ้นจริงสำหรับลูกค้ารายใหญ่นั้น ถือว่าเกินกว่าที่บริษัทประเมินเอาไว้ โดยเฉพาะในฝั่งเครื่องจักรที่เคยประเมินไว้น่าจะเสียหายประมาณ 50% แต่สำรวจแล้วเสียหายมากถึง 80%

"ที่ผ่านมาเรามีประสบการณ์ความเสียหายน้ำท่วมแบบน้ำผ่าน คือท่วมไม่นาน 2-3 วัน แต่ครั้งนี้ท่วมขังเป็นเดือน ความเสียหายจึงพุ่งขึ้นสูงมาก รวมถึงต้องรอธุรกิจสั่งซื้อเครื่องจักรชุดใหม่เข้ามาอีก เพื่อเช็กราคาและกำหนดทุนประกันใหม่ให้เหมาะสมไปด้วย ทำให้การจ่ายสินไหมส่วนนี้จะต้องใช้เวลาเยอะกว่ามาก ซึ่งเป็นปัญหาเดียวกันที่บริษัทประกันภัยทุกแห่งกำลังเผชิญในเวลานี้" นายอานนท์กล่าว

แหล่งข่าวจากบริษัทประกันภัยรายใหญ่แห่งหนึ่งเปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า แนวโน้มความเสียหายที่เกิดจากปัญหาน้ำท่วมนั้น หลายพื้นที่มีแนวโน้มที่จะมีความเสียหายสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ในเบื้องต้น บางรายเสียหายเกินกว่าที่ประเมินไปถึง 20% แต่ส่วนใหญ่ก็ยังอยู่ภายใต้สัญญาประกันภัยต่อที่ซื้อเอาไว้

"ความยุ่งยากของการเคลมตอนนี้อยู่ที่ฝั่งลูกค้าธุรกิจที่เสียหายค่อนข้างเยอะ และมีขั้นตอนการสำรวจความเสียหายค่อนข้างซับซ้อน ทั้งตัวโรงงาน เครื่องจักร สต๊อกสินค้า หลังจากนั้นส่วนที่กินเวลาเยอะก็คือ ประกันภัยธุรกิจหยุดชะงัก (Business Interruption Insurance) คาดว่าภายในไตรมาส 2 น่าจะดำเนินการได้ประมาณ 80% และถ้าจะให้จัดการสินไหมเสร็จ 100% จริง ๆ ก็น่าจะต้องกินเวลาไปถึงไตรมาส 3"

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า ความเสียหายที่รับรู้ในเวลานี้จะเป็นเพียงส่วนที่บริษัทประกันภัยรับโดยตรง ยังไม่รวมมูลค่าความเสียหายที่ บมจ.ไทยรับประกันภัยต่อ (ไทยรี) ได้รับความเสี่ยงเอาไว้ ซึ่งจะเป็นส่วนบริษัทประกันภัยต้องมาแชร์ความเสี่ยงกันตามสัดส่วนงานที่รับมาจากไทยรีด้วย โดยต้องรอประเมินเป็นลำดับสุดท้าย จึงเชื่อว่าความเสียหายจะยังไม่จบเท่านี้

ด้านนายจิรวุฒิ บุญศิริ กรรมการผู้จัดการ บมจ.ไทยพาณิชย์สามัคคีประกันภัย กล่าวว่า ปัญหาน้ำท่วมที่เกิดขึ้นครั้งนี้ทำให้บริษัทซึ่งมีฐานลูกค้าสินเชื่อบ้านของธนาคารที่ทำประกันอัคคีภัย ซึ่งขยายความคุ้มครองภัยน้ำท่วมเข้าไปด้วย ทำให้มีเคลมสำหรับลูกค้ารายย่อยแจ้งเข้ามาถึง 12,000-15,000 ราย ภายในเวลาไม่กี่สัปดาห์ จากปกติที่จะเจอเคลมเหล่านี้น้อยกว่า 1,000 ราย/ปี หรือเฉลี่ยต่ำกว่า 100 ราย/เดือน

"สถานการณ์นี้เราไม่เคยเจอมาก่อน เรื่องทีมงานก็เป็นข้อจำกัดพอสมควร เราก็ต้องเร่งระดมคนมารองรับงานนี้อย่างเต็มที่ พร้อมกับหาบริษัทประเมินราคามาช่วย เพื่อดำเนินการจ่ายสินไหมให้ลูกค้าได้เร็วที่สุด ตอนนี้จ่ายสินไหมไปได้ประมาณ 20% แต่เราก็พยายามทำอย่างเต็มที่ บางรายเราต้องเข้าไปสำรวจความเสียหาย ไปติดต่อเรื่องสินไหมอยู่ถึงตี 2 ถ้าลูกค้าอยู่ เราก็อยู่เหมือนกัน เรียกว่าทำกันเต็มที่" นายจิรวุฒิกล่าว

ส่วนสถานการณ์ด้านประกันภัยต่อกับรีอินชัวเรอร์ในต่างประเทศนั้น นายจิรวุฒิกล่าวอีกว่า หลังจากที่ "ซีซีอาร์" ซึ่งเป็นรีอินชัวเรอร์รายใหญ่จากฝรั่งเศสถอนตัวจากการรับงานประกันภัยในไทย เพราะความเสียหายจากภัยธรรมชาติติดต่อกันรวมถึงน้ำท่วมใหญ่เมื่อปลายปีที่ผ่านมา ขณะนี้ก็เริ่มมีรีอินชัวเรอร์รายอื่น ๆ ที่ติดต่อเข้ามาแทน เพราะถือเป็นจังหวะเข้าทำตลาดได้ดีกว่า

เช่นกรณีของ "เบิร์กไชร์ แฮทธาเวย์" (Birkshire Hathaway) บริษัทรีอินชัวเรอร์ ของมหาเศรษฐีอันดับหนึ่งของโลก "วอร์เรน บัฟเฟตต์" ก็เป็นอีกหนึ่งบริษัทที่เข้ามารุกตลาดไทยมากขึ้น จากเดิมที่เคยรับงานต่อจากรีอินชัวเรอร์อีกทอด ตอนนี้ก็ขยับมารับตรงมากขึ้น เพราะต้องการพิจารณาคัดเลือกความเสี่ยงเองมากกว่า

ด้านแหล่งข่าวจากบริษัทประกันภัยรายหนึ่งกล่าวว่า กรณีของเบิร์กไชร์ แฮทธาเวย์นั้น ถือได้ว่าเข้ามารุกตลาดประกันภัยต่อในไทยค่อนข้างหนัก โดยนอกจากการขายประกันภัยต่อเพื่อคุ้มครองความเสียหายส่วนเกิน (Excess of Loss) ซึ่งเป็นตลาดเดียวกับที่ซีซีอาร์เคยรับงานส่วนนี้แล้วยังเข้ามาในธุรกิจประกันภัยต่อแบบรายสัญญา (Treaty) ซึ่งจะเป็นการรับประกันภัยลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่ เบิร์กไชร์ฯก็เข้ามาเป็นผู้นำ (Leader) ในการรับงานตรงจากบริษัทประกันภัยขนาดใหญ่แห่งหนึ่งในไทย ด้วยสัดส่วนสูงถึง 40-50%

"ปกติการรับความเสี่ยงในสัญญา แบบทรีตตี้ ผู้นำจะรับงานไว้ประมาณ 30% เท่านั้น ที่เหลือจะเป็นรีอินชัวเรอร์รายอื่น ๆ เข้ามาแชร์ความเสี่ยง ซึ่งกรณีของเบิร์กไชร์ฯที่รับไว้เองถึง 40-50% ถือว่าเสี่ยงมาก แต่ก็ถือเป็นจังหวะและโอกาสในการทำธุรกิจในไทย เพราะที่ผ่านมาเบิร์กไชร์ฯยังทำธุรกิจในไทยไม่มาก ทำให้รับความเสียหายที่เกิดขึ้นไม่เท่าไหร่"

อย่างไรก็ตาม การเข้ามาของเบิร์กไชร์ฯก็ได้มีการปรับเพิ่มค่าเบี้ยตามระดับความเสี่ยงที่สูงขึ้นเช่นเดียวกับรีอินชัวเรอร์รายอื่น ๆ แต่เบิร์กไชร์ฯใช้วิธียืนอัตราค่านายหน้าที่จ่ายให้แก่บริษัทประกันที่ส่งงานให้ในระดับเดิม ในขณะที่รีอินชัวเรอร์รายอื่น ๆ จะปรับลดอัตราค่านายหน้าลง จึงเป็นเหตุให้เบิร์กไชร์ฯค่อนข้างถูกจับตามองในฐานะที่จะเข้ามาเป็นผู้นำการรับประกันต่อในตลาดไทยอย่างชัดเจนขึ้น



:!:
ชาตินี้เป็นที่สุดแล้ว บัดนี้ไม่มีความเกิดอีก
โพสต์โพสต์