คอลัมน์: คิดเหนือกระแส โลกาภิวัตน์

การลงทุนแบบเน้นคุณค่า ลงทุนหุ้น VI เน้นที่ปัจจัยพื้นฐานเป็นหลัก

โพสต์ โพสต์
ภาพประจำตัวสมาชิก
บูรพาไม่แพ้
Verified User
โพสต์: 2533
ผู้ติดตาม: 1

คอลัมน์: คิดเหนือกระแส โลกาภิวัตน์

โพสต์ที่ 1

โพสต์

ข่าวเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ -- อาทิตย์ที่ 27 พฤศจิกายน 2554 00:00:52 น.
รศ.ดร.เสรี วงษ์มณฑา
คำว่า "โลกาภิวัตน์ (Globalization)" เป็นคำที่โก้หรูฟังดูดี ที่ประเทศมหาอำนาจทั้งหลายพยายามเผยแพร่แนวความคิดเรื่องของการค้าเสรี ที่จะเปิดโอกาสให้พวกเขาสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันในยามที่เศรษฐกิจของประเทศต่างๆ จะต้องอาศัยการค้าระหว่างประเทศ และจะต้องมีการค้าข้ามพรมแดนที่จะทำให้พวกเขาขยายอาณาจักรธุรกิจของเขาเข้าครอบงำประเทศต่างๆ ที่มีความเสียเปรียบด้านต่างๆ

หากเราไปพลิกตำราว่าด้วยการค้าต่างประเทศ ตำราจะบอกว่าสาเหตุที่บริษัทต่างๆ จะต้องทำธุรกิจข้ามพรมแดนภายใต้แนวความคิดโลกาภิวัตน์ ก็คือ เพื่อขยายตลาดออกสู่ต่างประเทศเพราะตลาดในประเทศของเขาอิ่มตัวแล้ว หากไม่ออกไปต่างประเทศก็ไม่อาจจะโตได้อีกต่อไป และเขาต้องการที่จะได้ผลประโยชน์จากความประหยัดในการมีขนาดของธุรกิจใหญ่ขึ้น (Economy of scale) ที่จะทำให้ต้นทุนของพวกเขาลดลง และสามารถส่งสินค้าที่มีต้นทุนที่ถูกกว่าเข้ามาแย่งตลาดสินค้าท้องถิ่น ที่อาจจะมีต้นทุนด้านวัตถุดิบและเทคโนโลยีที่สู้พวกเขาไม่ได้ แต่ในขณะเดียวกันพวกเขาไม่ต้องการที่จะเสียภาษีให้แก่ประเทศที่กำลังพัฒนาหรือด้อยพัฒนาทั้งหลาย พวกเขาจึงอ้างแนวความคิดเรื่อง "การค้าเสรี" ขึ้นมา เชิญชวนให้ประเทศต่างๆ งดเว้นการกีดกันการค้าด้วยกำแพงภาษี ให้มีเสรีภาพทางการเงินและการลงทุน เพราะพวกเขารู้ดีว่าถ้าหากมีการค้าเสรีพวกเขาจะได้เปรียบทุกประตู ไม่ว่าจะเป็นด้านเทคโนโลยี ด้านการเงิน ด้านการบริหารจัดการ แต่ถ้าหากพิจารณาดูให้ดีแล้ว การเปิดการค้าเสรีตามแนวคิดดังกล่าวนั้น เหมือนนักกีฬาเหรียญทองโอลิมปิก 10 สมัยซ้อน มาท้าคนที่วิ่งช้าหรือแทบจะก้าวขาไม่ออก ถ้าหากเป็นการเปรียบมวยก็เหมือนเอารุ่นเฮฟวีเวตมาชกกับรุ่นไลต์เวต ซึ่งไม่ว่ามองอย่างไร ก็เป็นการเปรียบคู่มวยที่ไม่เหมาะสม

ด้วยเหตุนี้เอง ประเทศที่กำลังพัฒนาทั้งหลายที่รู้เท่าทันแนวทางของประเทศมหาอำนาจทั้งหลาย ที่พยายามจะครอบงำเศรษฐกิจของประเทศที่กำลังพัฒนา ก็จะมีการตั้งเงื่อนไขเพื่อกีดกันไม่ให้มีการครอบงำดังกล่าวในรูปแบบที่ไม่เกี่ยวข้องกับภาษี (Non-tariff barrier) ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสิ่งแวดล้อม เรื่องสัดส่วนของวัตถุดิบภายในประเทศ (local content) หรือสัดส่วนในการลงทุน เพื่อพยายามจำกัดการเข้ามาของบริษัทต่างชาติไม่ให้เข้ามาฮุบ หรือมาทำลายธุรกิจภายในประเทศได้อย่างง่ายดาย ประเทศไทยก็เป็นอีกประเทศหนึ่งที่รู้เท่าทันและมีความพยายามที่จะปกป้องธุรกิจของคนไทย โดยเฉพาะธุรกิจบางประเภทที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ทางการทหาร ทางการเมือง หรือทางวัฒนธรรม บางธุรกิจเราก็ไม่ให้บริษัทต่างชาติเป็นเจ้าของเด็ดขาด บางธุรกิจเราก็จะมีการกำหนดสัดส่วนการลงทุนอย่างชัดเจนว่าต่างชาติจะถือหุ้นได้ไม่เกิน 49% เพื่อให้บริษัทดังกล่าวมีสัญชาติเป็นไทย และอำนาจในการตัดสินใจในการดำเนินการ คนไทยยังเป็นเสียงข้างมาก (ด้วยความเชื่อว่าคนไทยย่อมรักประเทศไทยมากกว่าต่างชาติ ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นการตัดสินใจเรื่องอะไรก็ตาม คนไทยย่อมไม่มีการตัดสินใจทำอะไรที่จะสร้างความเสียหายให้กับประเทศชาติ)

แต่น่าเสียดายที่ยังมีคนไทยบางคนยึดติดกับคำว่าการค้าเสรีแบบสุดโต่ง ต้องการปล่อยให้มีการค้าเสรีแบบไม่มีข้อจำกัด ไม่ต้องคำนึงถึงการปกป้องธุรกิจของคนไทย ไม่ต้องคำนึงถึงความมั่นคงของประเทศชาติ ประกาศจุดยืนเป็นคนหัวสมัยใหม่ ทันสมัย ที่เชื่อเรื่องของอิสระเสรีที่ไม่มีขอบเขต บางคนก็เป็นนักวิชาการที่อาศัยความเป็นผู้ทรงคุณวุฒิและมีความน่าเชื่อถือ พยายามโน้มน้าวผู้มีอำนาจที่เกี่ยวข้องให้ออกกฎหมาย หรือวางกฎระเบียบต่างๆ ที่จะปล่อยให้มีการค้าเสรีอย่างไร้ขีดจำกัด โดยไม่มองมิติอื่นของการค้าระหว่างประเทศ อาจจะอ้างเรื่องเทคโนโลยีบ้าง เรื่องเงินทุนบ้าง เรื่องคุณภาพสินค้าบ้าง โดนพยายามโยงให้เป็นผลประโยชน์ของผู้บริโภค เพื่อเอาสาธารณชนเป็นแนวร่วม แม้ว่าสิ่งที่เขานำมากล่าว อ้างจะเป็นเรื่องจริง แต่ก็ไม่ใช่ประเด็นสำคัญไปกว่าการปกป้องประเทศไทย การดูแลใส่ใจเรื่องความมั่นคงของประเทศ

เรื่องการลงทุนไม่เกิน 49% ถือเป็นแนวทางที่ดีแนวทางหนึ่งที่จะช่วยปกป้องประเทศไทยได้ แต่ปรากฏว่ามีคนพยายามจะรื้อกฎดังกล่าวนี้ ปล่อยให้ต่างชาติลงทุนได้เต็มที่โดยไม่ต้องคิดถึงประเด็นอื่นใด ที่อาจจะสำคัญไปกว่าการดึงการลงทุนจากต่างประเทศมา สร้างงานในประเทสไทย ความพยายามนี้เกิดขึ้นทั้งในกลุ่มผู้มีอำนาจที่เกี่ยวข้องกับการออกกฎระเบียบ และนักวิชาการที่ประกาศจุดยืนเป็นผู้มีความเชื่อและศรัทธาเสรีทางการค้าแบบเต็มร้อยทุกประเด็น คนไทยบางคนทำสิ่งที่แย่ไปกว่านั้น คือช่วยให้ต่างชาติย่ำยีกฎหมายไทย ด้วยการยอมรับเป็นตัวแทนถือหุ้นให้ต่างชาติเพื่อรับผลประโยชน์อันเป็นส่วนน้อยของตน แต่เป็นอันตรายต่อประโยชน์ส่วนมากของประเทศ จนถึงจะต้องมีการประกาศเรียกร้องให้บริษัทที่มีต่างชาติถือหุ้นอยู่แสดงโครงสร้างของการถือหุ้นอย่างลงลึกในรายละเอียดต่างๆ เพื่อให้มีความโปร่งใสชัดเจนว่า ไม่มีคนไทยที่ถือหุ้นแทนต่างชาติ เพื่อให้ธุรกิจที่เราจำเป็นต้องปกป้องยังเป็นธุรกิจสัญชาติไทยอย่างแท้จริง

ใกล้ถึงกำหนดวันสุดท้ายที่จะต้องมีการเปิดเผยโครงสร้างผู้ถือหุ้นของธุรกิจโทรคมนาคม แต่ก็มีความพยายามที่จะมีการรื้อฟื้นประกาศที่เรียกร้องให้มีการเปิดเผยโครงสร้างผู้ถือหุ้น ถ้าหากทุกบริษัทที่ประกอบกิจการด้านโทรคมนาคม ทำถูกต้องตามกฎหมาย ทำไมไม่พร้อมที่จะประกาศโครงสร้างผู้ถือหุ้นอย่างโปร่งใส ทำไมจะต้องมีบุคคลบางกลุ่มบางพวกต้องการให้มีการทบทวนประกาศดังกล่าว ได้ข่าวว่าจะมีการทำการวิจัยแบบสนทนากลุ่ม (Focus group) ในกลุ่มผู้เชี่ยวชาญเพื่อหาข้อสรุปเกี่ยวกับประกาศที่ได้ประกาศไปแล้ว ทำอย่างนี้เพื่ออะไร ผู้เชี่ยวชาญที่จะมาพูดคุยกันเป็นใคร มีจุดยืนเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างไร มีครบทุกจุดยืน หรือว่าเอียงไปทางจุดยืนทางใดทางหนึ่งเท่านั้น อันที่จริงแล้ว เรื่องนี้น่าจะปล่อยให้เป็นไปตามประกาศเดิม ถ้าหากจะทบทวนทำไมต้องทบทวนเวลานี้ ในขณะนี้เรื่องปัญหาน้ำท่วมยังเป็นวาระของประเทศที่สำคัญกว่า และถ้าจะทบทวนจะทำเป็น Focus group แบบปิดได้อย่างไร จะต้องทำเป็นประชาพิจารณ์ (Public hearing) ที่ให้ทุกฝ่ายได้แสดงความคิดเห็นถกอภิปรายกันอย่างกว้างขวาง ผู้ทรงคุณวุฒิหรือผู้เชี่ยวชาญที่จะเข้าร่วมด้วย จะต้องมีครบทุกจุดยืน ทุกด้านของความคิดเห็น และจะต้องเป็นไปอย่างโปร่งใส ไม่ใช่มีวาระซ่อนเร้นที่จะปล่อยให้ต่างชาติย่ำยีกฎหมายไทย ทำร้ายธุรกิจไทย และเป็นภัยต่อความมั่นคงของประเทศ

จะคิดอะไร จะแสดงจุดยืนอะไร อย่าคิดแต่จะสร้างความดังหรือหาผลประโยชน์ให้ตนเอง ให้คิดแบบคนไทยที่รักประเทศไทยและพร้อมที่จะปกป้องประเทศไทยให้มีความมั่นคง ทั้งทางด้าน เศรษฐกิจ การเมือง การทหาร และทางวัฒนธรรมกันให้มากๆ นะ
โพสต์โพสต์