มหาอุทกภัยเสียหาย 1 ล้านล้านบาท

การลงทุนแบบเน้นคุณค่า ลงทุนหุ้น VI เน้นที่ปัจจัยพื้นฐานเป็นหลัก

โพสต์ โพสต์
ภาพประจำตัวสมาชิก
Croyoty
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 3662
ผู้ติดตาม: 30

มหาอุทกภัยเสียหาย 1 ล้านล้านบาท

โพสต์ที่ 1

โพสต์

มหาอุทกภัย เสียหายยับกว่าล้านล้าน ภาคอุตสาหกรรมกระทบหนัก โรงงานทั้งในและนอกนิคม 838 แห่ง เสียหาย 4.74 แสนล้านบาท ขณะที่เอสเอ็มอีกระทบ 2.85 แสนราย สูญเดือนละ 2.4 หมื่นล้าน

ด้านภาคเกษตร เสียหายหนักเช่นกันกว่า 11 ล้านไร่ เกษตรกร 1.46 ล้านคน เสียหาย 2.7 หมื่นล้าน บ้านเรือนเสียหาย 5.4 แสนหน่วย คาดใช้เงินซ่อมแซมแสนล้าน

กรุงเทพธุรกิจ สำรวจความเสียหายจาก มหาอุทกภัย โดยรวบรวมข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐและเอกชน พบว่ามีความเสียหายในวงกว้าง ตั้งแต่ภาคอุตสาหกรรม ภาคเกษตรกรรม การพาณิชย์ ภาคสถาบันการเงินและภาคครัวเรือน ซึ่งเป็นตัวเลขเบื้องต้นที่ได้เริ่มมีการประเมินหลังจากสถานการณ์น้ำท่วมเริ่มคลี่คลายในหลายพื้นที่ โดยมีความเสียหายรวมกว่า 1 ล้านล้านบาท

แหล่งข่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรมเปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรมได้ประเมินผลกระทบจากน้ำท่วมส่งผลกระทบกับโรงงาน 838 แห่ง โดยส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบมากอยู่ในนิคมอุตสาหกรรม 7 แห่ง มีมูลค่าความเสียหายจากที่ดิน อาคาร อุปกรณ์ เครื่องจักร วัตถุดิบและสินค้าคงเหลือรวม 237,410 ล้านบาท

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรม 7 แห่ง มีวงเงินประกันภัยรวม 600,000 ล้านบาท คิดเป็น 4% ของเงินเอาประกันทั้งหมดทั่วประเทศ ซึ่งบริษัทประกันภัยในประเทศรับประกันไว้ 15% และส่งต่อไปบริษัทประกันภัยต่อหรือรีอินชัวเรอร์ 85% ของเบี้ยประกันภัย

สำหรับโรงงานอุตสาหกรรมนอกนิคมอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบรุนแรง 8 จังหวัดมีมูลค่าความเสียหายรวม 237,340 ล้านบาท แบ่งเป็น 1.ชัยนาท เสียหาย 4,437 ล้านบาท 2.นครสวรรค์ เสียหาย 8,344 ล้านบาท 3.นนทบุรี เสียหาย 31,211 ล้านบาท 4.ปทุมธานี เสียหาย 62,925 ล้านบาท 5.พระนครศรีอยุธยา เสียหาย 91,320 ล้านบาท 6.ลพบุรี เสียหาย 37,483 ล้านบาท 7.อ่างทอง เสียหาย 1,380 ล้านบาท 8.อุทัยธานี เสียหาย 239 ล้านบาท

เมื่อรวมความเสียหายของภาคอุตสาหกรรมที่อยู่ในและนอกนิคมอุตสาหกรรมอยู่ที่ 474,750 ล้านบาท ซึ่งสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) ประเมินว่าผลผลิตจะลดลงในไตรมาส 4 ปี 2554 คิดเป็นมูลค่า 328,098 ล้านบาท ส่งผลให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ภาคอุตสาหกรรมลดลง 1.9% จากเป้าหมายที่ตั้งไว้ 3.5-4.5%

ยานยนต์-อิเล็กทรอนิกส์กระทบหนัก

ด้านแหล่งข่าวกล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ได้ประเมินผลกระทบน้ำท่วมต่อโรงงานในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาและปทุมธานีพบว่ามีบริษัทในและนอกนิคมอุตสาหกรรมยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนที่ได้รับผลกระทบ 1,855 บริษัท เงินลงทุนรวม 620,848 ล้านบาท แบ่งเป็นพระนครศรีอยุธยาในนิคม 484 บริษัท มูลค่าการลงทุน 168,043 ล้านบาท นอกนิคม 645 บริษัท มูลค่าการลงทุน 199,376 ล้านบาท และปทุมธานีในนิคม 226 บริษัท มูลค่าการลงทุน 91,513 ล้านบาท นอกนิคม 500 บริษัท มูลค่าการลงทุน 161,916 ล้านบาท

บีโอไอประเมินว่าอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และอุตสาหกรรมยานยนต์เป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด โดยอาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกอิเล็กทรอนิกส์ไม่น้อยกว่า 400,000 ล้านบาท ซึ่งส่งผลกระทบทั้งกลุ่มฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟและชิ้นส่วน กลุ่มไอซีและเซมิคอนดักเตอร์ กลุ่มอุปกรณ์โทรคมนาคม กลุ่มเครื่องใช้สำนักงานและกลุ่มแผ่นวงจรพิมพ์

ส่วนอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ถูกน้ำท่วมจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกยานยนต์และชิ้นส่วนของไทย 40,000-60,000 ล้านบาท โดยการผลิตของบริษัทฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด หยุดหมดเพราะถูกน้ำท่วม ส่วนผู้ผลิตรถยนต์รายอื่นส่วนใหญ่หยุดการผลิตตั้งแต่ต้นเดือน ต.ค.2554 เพราะขาดชิ้นส่วน ซึ่งผู้ผลิตหลายรายเพิ่งกลับมาเริ่มผลิตเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

เอสเอ็มอี 2.85 แสนราย สูญ 2.4 หมื่นล./เดือน

ด้านสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ประเมินผลกระทบน้ำท่วมครั้งนี้ส่งผลกระทบต่อเอสเอ็มอี 285,000 ราย ส่วนใหญ่เป็นเอสเอ็มอีภาคการค้าและซ่อมบำรุง 134,000 ราย ภาคบริการ โรงแรม ภัตตาคาร การขนส่งและบริการอสังหาริมทรัพย์ 84,000 ราย ภาคการผลิต 66,000 ราย ส่วนที่เหลือเป็นเอสเอ็มอีในกิจการเหมืองแร่ เหมืองหิน ประมง เกษตรและป่าไม้

สสว.ประเมินว่าน้ำท่วมส่งผลกระทบทางตรงและทางอ้อมเดือนละ 24,000 ล้านบาท และส่งผลกระทบต่อการจ้างงาน 800,000 คน ซึ่งผลกระทบครั้งนี้ทำให้ สสว.ปรับลดประมาณการจีดีพีภาคเอสเอ็มอีปี 2554 ลง 1.8-2.0% จากเดิมที่ สสว.คาดว่าจีดีพีเอสเอ็มอีปีนี้จะขยายตัว 4.0-4.2%

ทั้งนี้ เอสเอ็มอีเป็นกลุ่มธุรกิจที่มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจเพราะมีการจ้างงานมากและมีจำนวนผู้ประกอบการมาก ซึ่งปัจจุบันไทยมีผู้ประกอบการ 2.92 ล้านราย เป็นเอสเอ็มอี 2.91 ล้านราย คิดเป็น 99.6% ของผู้ประกอบการทั้งหมด โดยส่วนใหญ่เป็นเอสเอ็มอีในภาคการค้าและซ่อมบำรุง 1.3 ล้านราย คิดเป็น 47.5% ของผู้ประกอบการทั้งหมด รองลงมาเป็นภาคบริการ 984,678 ราย คิดเป็น 33.8% ภาคการผลิต 545,098 ราย คิดเป็น 18.7% และจีดีพีเอสเอ็มอีมีสัดส่วน 37.1% ของจีดีพีประเทศ

7 นิคมฯ กระทบจ้างงาน 1.92 แสนคน

นอกจากนี้ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ได้ประเมินผลกระทบกับนิคมอุตสาหกรรมที่เสี่ยงต่อปัญหาน้ำท่วมมี 7 แห่ง มีโรงงาน 1,107 แห่ง มีการจ้างงาน 192,000 คน เงินลงทุน 1.04 ล้านบาท แบ่งเป็น 1.นิคมอุตสาหกรรมลาดกระบัง มีโรงงาน 254 แห่ง มีการจ้างงาน 48,000 คน เงินลงทุน 89,000 ล้านบาท 2.นิคมอุตสาหกรรมบางชัน มีโรงงาน 93 แห่ง มีการจ้างงาน 14,000 คน เงินลงทุน 19,800 คน 3.นิคมอุตสาหกรรมบางพลี มีโรงงาน 137 แห่ง มีโรงงาน 23,000 คน เงินลงทุน 54,000 ล้านบาท

4.นิคมอุตสาหกรรมเกตเวย์ ซิตี้ มีโรงงาน 88 แห่ง มีการจ้างงาน 9,641 คน เงินลงทุน 71,341 ล้านบาท 5.นิคมอุตสาหกรรมเวลโกรว์ มีโรงงาน 167 แห่ง มีการจ้างงาน 31,000 คน เงินลงทุน 770,000 ล้านบาท 6.นิคมอุตสาหกรรมทีเอฟดี มีโรงงาน 6 แห่ง เงินลงทุน 100 ล้านบาท 7.นิคมอุตสาหกรรมบางปู มีโรงงาน 456 แห่ง มีการจ้างงาน 76,000 คน เงินลงทุน 105,000 ล้านบาท

โครงสร้างพื้นฐานยับกว่า 2.2 หมื่นล้าน

ด้านโครงการสร้างพื้นฐานได้รับความเสียหายอย่างมาก เนื่องจากน้ำท่วมในวงกว้างและกินเวลานาน โดย พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รมว.คมนาคม กล่าวว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นถือเป็นงานหนักของกระทรวงคมนาคม เพราะมีโครงสร้างพื้นฐานที่ได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมาก แต่ความเสียหายที่เกิดขึ้นก็ซ่อมแซมได้ และจะทำได้รวดเร็ว เพราะส่วนใหญ่เป็นงานจ้างเอกชน ขณะที่หน่วยงานราชการทำหน้าที่ควบคุมดูแลงานให้เป็นไปตามเป้าหมาย

สำหรับโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมที่ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วมและได้รับอนุมัติงบประมาณจาก ครม.แล้วรวมเป็นเงิน 16,981.50 ล้านบาท

งบประมาณที่ได้รับอนุมัตินี้จะไม่ซ้ำซ้อนกับโครงการที่เสนอของบประมาณตาม พ.ร.บ.งบประมาณ 2555 ขณะที่การฟื้นฟูครั้งนี้เรียกได้ว่าถนนเกือบทุกสายทางทั่วประเทศได้รับการซ่อมบำรุงทั้งหมด และมูลค่าเงินที่ลงทุนไปนี้ยังจะไปช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในภาพรวม เกิดการสร้างงาน บริษัทรับเหมาก่อสร้างที่ว่างงานมานานก็จะมีงานทำ และเชื่อว่าจะไม่มีปัญหาการโก่งราคาค่าก่อสร้างแน่นอน พล.อ.อ.สุกำพล กล่าว

ด้านนายสุพจน์ ทรัพย์ล้อม ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการ การให้ความช่วยเหลือด้านคมนาคม กล่าวว่า หน่วยงานด้านคมนาคมที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมและอยู่ระหว่างเสนอของบประมาณจากรัฐบาลรวมเป็นเงินประมาณ 4,181.3 ล้านบาท

ประกอบด้วย 1.กรมเจ้าท่า ได้รับความเสียหายจากตลิ่งถูกน้ำกัดเซาะจำนวน 1,515.60 ล้านบาท 2.การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ได้รับความเสียหายคิดเป็นเงิน 2,598 ล้านบาท และ 3.บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด (บวท.) วงเงิน 67.7 ล้านบาท

ภาคเกษตรเสียหาย 2.7 หมื่นล้าน

ด้านศูนย์ติดตามและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์แจ้งว่า ภัยพิบัติน้ำท่วมที่เกิดขึ้นตั้งแต่ วันที่ 1 พ.ค. 2554 พบว่ามีเกษตรกรได้รับผลกระทบ 1,467,882 ราย แยกเป็นความเสียหายทางด้านพืช 1,131,109 ราย พื้นที่การเกษตรคาดว่าจะเสียหาย 11.20 ล้านไร่ แบ่งเป็น ข้าว 9.18 ล้านไร่ พืชไร่ 1.51 ล้านไร่ พืชสวนและอื่นๆ 0.51 ล้านไร่ ด้านประมง เกษตรกร 122,745 ราย พื้นที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำคาดว่าจะเสียหาย แบ่งเป็น บ่อปลา 211,319 ไร่ บ่อกุ้ง/ปู/หอย 49,746 ไร่ กระชัง/บ่อซีเมนต์ 279,240 ตารางเมตรและด้านปศุสัตว์ เกษตรกร 214,028 ราย สัตว์ได้รับผลกระทบรวมทั้งสิ้น 28.74 ล้านตัว

ทั้งนี้ความเสียหายดังกล่าวเป็นเพียงการรายงานในเบื้องต้นเท่านั้น โดยกระทรวงเกษตรฯจะ เร่งสำรวจอีกครั้งภายหลังน้ำลด อย่างไรก็ตามจากข้อมูลที่มีอยู่ พบว่ามีมูลค่าความเสียหายในภาพรวม ประมาณ 27,000 ล้านบาท

แบงก์ยังรอประเมิน-ประกันอ่วม
รายงานข่าวจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แจ้งว่าสถาบันการเงินที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมยังไม่รายงานความเสียหายให้ทราบ แต่มีธนาคารพาณิชย์ปิดสาขารวม 451 สาขา ประกอบด้วย กทม. 208 สาขา ปทุมธานี 131 สาขา นนทบุรี 58 สาขา นครปฐม 27 สาขา พระนครศรีอยุธยา 14 สาขา สมุทรสาคร 10 สาขา และนครสวรรค์ 3 สาขา ส่วนแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องตามสภาพพื้นที่น้ำท่วมขังที่ลดลง โดยสาขาใน กทม.สามารถกลับมาเปิดดำเนินการเพิ่มได้อีก 26 สาขา บริเวณลาดพร้าว บางบอน และบางพลัด และสาขาในปทุมธานีสามารถกลับมาเปิดดำเนินการได้อีก 5 สาขา ในแถบรังสิต

ธนาคารพาณิชย์ปิดให้บริการเครื่อง ATM รวม 4,942 เครื่อง ประกอบด้วย กทม. 2,020 เครื่อง ปทุมธานี 1,418 เครื่อง นนทบุรี 571 เครื่อง พระนครศรีอยุธยา 462 เครื่อง นครปฐม 230 เครื่อง สมุทรสาคร 164 เครื่อง และสมุทรปราการ 27 เครื่อง ที่เหลือกระจายอยู่ในจังหวัดต่างๆ

นายสมบูรณ์ จิตเป็นธม ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายความเสี่ยง ธปท. กล่าวว่า ตัวเลขความเสียหายที่อยู่ในรูปของหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้(เอ็นพีแอล) นั้น คงยังไม่เกิดขึ้นในช่วงนี้ เพราะการจะเป็นเอ็นพีแอลได้ก็ต่อเมื่อมีการงดชำระหนี้ติดต่อกันเกินกว่า 3 งวด ดังนั้นตัวเลขเอ็นพีแอลจะเริ่มเห็นก็ต่อเมื่อ 3 เดือนหลังจากเกิดปัญหาขึ้น

สำหรับธุรกิจประกันภัยและประกันชีวิต สามารถแบ่งได้ในเบื้องต้นดังนี้ ภาคอุตสาหกรรม มีทุนประกันรวม 688,926 ล้านบาท ประเมินความเสียหาย 138,000-200,000 ล้านบาท ภาคครัวเรือน มีทุนประกันรวม 56,472 ล้านบาท มูลค่าความเสียหายประมาณ 11,000-17,000 ล้านบาท รวมทุนประกันทั้งหมดประมาณ 745,398 ล้านบาท ความเสียหายทั้งหมดประมาณ 149,000-217,000 ล้านบาท

บ้านจัดสรรจมน้ำกว่า 5.4 แสนหน่วย

ผลกระทบต่อที่อยู่อาศัยของประชาชน ในเขตกรุงเทพฯ-ปริมณฑล ข้อมูลล่าสุดจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งอ้างอิงข้อมูลการนำเสนอจาก 3 สมาคมด้านอสังหาริมทรัพย์ ประกอบด้วย ส.อาคารชุดไทย ส.ธุรกิจบ้านจัดสรร และ ส.อสังหาริมทรัพย์ไทย ระบุว่าครัวเรือนในเขตกรุงเทพฯ ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมจะมีเกือบ 2.4 ล้านครัวเรือน ในจำนวนนี้กระทบแล้ว 40% หรือประมาณ 1 ล้านครัวเรือน

จากการประเมินเบื้องต้นพบว่า หลังน้ำลดครัวเรือนเหล่านี้ ต้องใช้งบประมาณในซ่อมแซมบ้านรวม 1 แสนล้านบาท โดยแต่ละครัวเรือน คาดว่าจะใช้งบเพื่อซ่อมแซมบ้านประมาณ 5 หมื่นบาท ถึง 1 แสนบาท จึงประเมินว่าหลังปัญหาอุทกภัยสิ้นสุดลง มียอดการใช้จ่ายเพื่อซ่อมแซมบ้านคิดเป็นมูลค่ารวมประมาณ 1 แสนล้านบาท ซึ่งอาจมาจากทั้งเงินกู้-เงินออม ขณะที่สินเชื่อไตรมาส 3/2554 พุ่ง 17.3% เอ็นพีแอลลดเหลือ 2.8% ส่วนแนวโน้มไตรมาส 4 สินเชื่อชะลอตัวจากปัญหาอุทกภัย

นายโสภณ พรโชคชัย ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส จำกัด ประเมินว่าในพื้นที่น้ำท่วมกรุงเทพฯปริมณฑล มีที่อยู่อาศัยทั้งหมด 2,656 โครงการ จำนวน 549,888 รวมมูลค่า 1,254,005 ล้านบาท หรือเฉลี่ยราคาหน่วยละ 2.280 ล้านบาท

ในจำนวนนี้แยกเป็นที่อยู่อาศัยแนวราบ 2,425 โครงการ จำนวน 461,664 หน่วย รวมมูลค่า 1,147,970 ล้านบาท ราคาเฉลี่ยหน่วยละ 2.487 ล้านบาท, ที่อยู่อาศัยประเภทอาคารชุด จำนวน 88,224 หน่วย รวมมูลค่า 106,035 ล้านบาท เฉลี่ยราคา 1.202 ล้านบาทต่อหน่วย

ผลิตรถยนต์สูญ 1.8 แสนล้าน

ด้านอุตสาหกรรมรถยนต์ หลังหยุดกิจกรรมการผลิตไปกว่า 1 เดือน ส่งผลให้เดือน ต.ค.ที่ผ่านมา ตัวเลขการผลิตในเดือน ต.ค.2554 ตกต่ำที่สุดในรอบ 112 เดือน อยู่ที่ 4.9 หมื่นคัน ขณะที่เดือน ก.ย.ปีเดียวกัน เคยทำสถิติสูงสุดของปีด้วยยอด 1.7 แสนคัน

ผลกระทบจนถึงปัจจุบัน ภาคการผลิตรถยนต์สูญเสียโอกาสไปแล้ว 1.2 แสนคัน โดยทางกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ประเมินว่าหากคิดค่าเฉลี่ยรถคันลด 6 แสนบาท เท่ากับการผลิตสูญเสียไป 7.2 หมื่นล้านบาท และประเมินว่าการผลิตปี 2554 จะหายไป 3 แสนคัน จากเป้าหมายเดิม 1.8 ล้านคัน หรือเท่ากับมูลค่าหายไป 1.8 แสนล้านบาท

ขณะที่การส่งออก ช่วงวิกฤติน้ำท่วม การส่งออกหายไป 4 หมื่นคัน คิดเป็นมูลค่า 2.4 หมื่นล้านบาท ประเมินว่าทั้งปีการส่งออกจะหายไป 1.25 แสนคัน เท่ากับ 7.5 หมื่นล้านบาท ส่วนการขายในประเทศ หายไปในช่วงน้ำท่วม 5 หมื่นคัน เท่ากับ 3 หมื่นล้านบาท

อย่างไรก็ตาม คาดว่าทั้งปี จะสามารถจำหน่ายรถยนต์ได้ 8.5 แสนคัน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 5 หมื่นคัน แต่ต่ำกว่าเป้าหมายที่ 9-9.2 แสนคัน เท่ากับมูลค่าตลาดในประเทศหายไป 3-4.2 หมื่นล้านบาท

ท่องเที่ยวสูญไม่ต่ำกว่า 7 หมื่นล้าน

แม้นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทย ตั้งแต่ ม.ค.-ต.ค. มียอดรวมกว่า 15.79 ล้านคน เพิ่ม 25.01% (เทียบกับปี 2553) แต่นางปิยะมาน เตชะไพบูลย์ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) กล่าวว่า จากการคาดการณ์ของ สทท. ที่ประเมินผลกระทบจากน้ำท่วมในเดือน พ.ย. คาดว่าจะลด 30% และเดือน ธ.ค. ลดลง 10%

ปี 2554 จะมีนักท่องเที่ยวราว 18.5 ล้านคน หายไป 1 ล้านคน จากเป้าหมายเดิมที่ตั้งไว้ 19.5 ล้านคน เป้าหมายรายได้ที่ 7 แสนล้านบาท คิดเป็นการสูญเสียโอกาสทางธุรกิจ 5 หมื่นล้านบาทขึ้นไป ขณะที่ตลาดในประเทศ คาดการณ์ว่าจะเสียโอกาสทางรายได้ไปวันละ 2 หมื่นล้านบาท เนื่องจากคนไทยลดลงเฉลี่ยวันละ 20% หรือลดลงวันละ 5 หมื่นคน จากยอดปกติมี 2.5 แสนคน/วัน

ยอดเข้าพักโรงแรมหรูวูบ 30%

กลุ่มโรงแรมและอุตสาหกรรมท่องเที่ยวได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก โดยดูจากยอดการเข้าพักในโรงแรมจากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่หายและเปลี่ยนมาเป็นการปรับราคาเพื่อเปิดพื้นที่ให้คนไทย ในกลุ่มผู้ประสบภัยน้ำท่วมเข้าพักแทน ในอัตราห้องพักราคาพิเศษ ซึ่งส่วนใหญ่ก็ทำได้เฉพาะโรงแรมระดับ 3 ดาวลงมา ส่วนโรงแรมระดับ 4-5 ดาวในเขตกรุงเทพฯ ชั้นใน ไม่อาจทำตลาดส่วนนี้ได้ เนื่องจากฐานราคาค่อนข้างสูง ส่งผลให้อัตราเข้าพักลดลง

นายโอภาส เนตรอำไพ ที่ปรึกษาศูนย์ปฏิบัติการวางแผนการท่องเที่ยวและศูนย์ปฏิบัติการในภาวะวิกฤติ ในฐานะตัวแทนจากสมาคมโรงแรมไทย (ทีเอชเอ) กล่าวว่า ในช่วง 1-15 พ.ย.นี้ อัตราเข้าพักโรงแรมกรุงเทพฯ ชั้นใน ระดับ 4-5 ดาว อยู่ที่ 30% ขณะที่โรงแรมรอบนอกระดับ 3 ดาวลงมา ซึ่งทำโปรโมชั่นรับคนไทยที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม อัตราเข้าพักประมาณ 90% โดยโปรโมชั่นส่วนใหญ่หมดลงตั้งแต่วันที่ 15 พ.ย.ที่ผ่านมา ขณะที่อัตราเข้าพักที ภูเก็ต และเชียงใหม่ เฉลี่ย 75-80%


ที่มา
http://daily.bangkokbiznews.com/detail/32819
โพสต์โพสต์