สุนทรพจน์: ทิศทางเศรษฐกิจไทย

การลงทุนแบบเน้นคุณค่า ลงทุนหุ้น VI เน้นที่ปัจจัยพื้นฐานเป็นหลัก

โพสต์ โพสต์
ภาพประจำตัวสมาชิก
บูรพาไม่แพ้
Verified User
โพสต์: 2533
ผู้ติดตาม: 1

สุนทรพจน์: ทิศทางเศรษฐกิจไทย

โพสต์ที่ 1

โพสต์

ข่าวเศรษฐกิจ ธนาคารแห่งประเทศไทย -- พฤหัสบดีที่ 24 พฤศจิกายน 2554 14:24:33 น.
ปาฐกถาพิเศษ
ดร. ประสาร ไตรรัตน์วรกุล
ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย

“ทิศทางเศรษฐกิจไทย”
ในงานสัมมนาประจำปี 2554 จัดโดยธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) และชมรมบัวหลวงเอสเอ็มอี

ณ ห้องบางกอกคอนเวนชั่น เซ็นเตอร์ ชั้น 23 โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์

วันพุธที่ 23 พฤศจิกายน 2554 เวลา 13.45 น.
คุณโฆษิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ประธานกรรมการบริหาร
คุณชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)

ชมรมบัวหลวงเอสเอ็มอี
ท่านผู้มีเกียรติทุกท่านครับ
วันนี้ผมมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้มากล่าวปาฐกถาพิเศษในการสัมมนาประจำปี 2554 ของธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ที่จัดให้แก่ท่านผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมหรือ SMEs ในที่นี้ ซึ่งส่วนตัวผมเองเห็นว่าธุรกิจ SMEs มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจไทยไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าธุรกิจขนาดใหญ่เลยทีเดียว โดยเฉพาะในแง่ของการกระจายรายได้ การจ้างงานให้กับคนในประเทศ และเป็นฐานสำคัญของระบบเศรษฐกิจ ดังนั้น จึงนับเป็นโอกาสอันดีที่ผมจะได้มาพบปะท่านทั้งหลายในวันนี้ปี 2554 ถือว่า เป็นปีที่สถานการณ์เศรษฐกิจมีความผันผวนค่อนข้างมาก ทั้งจากปัจจัยภายในและภายนอกประเทศ และอีกเพียงเดือนเศษๆ ก็จะสิ้นสุดปีนี้แล้ว ดังนั้น หัวข้อเรื่อง “ทิศทางเศรษฐกิจไทย” จึงถือว่าเป็นหัวข้อที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการ SMEs ที่ต้องบริหารธุรกิจภายใต้สถานการณ์เศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ในวันนี้ ผมจะขอแบ่งการพูดออกเป็น 3 ส่วน คือ ส่วนแรก ผมขอกล่าวถึงสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบันที่เรากำลังเผชิญอยู่ ในส่วนที่สอง ผมจะเชื่อมโยงสถานการณ์ปัจจุบันไปสู่ทิศทางเศรษฐกิจและความท้าทายต่างๆ ในระยะต่อไป และในส่วนสุดท้าย ผมขอเสนอแนะแนวทางการปรับตัวสำหรับ SMEs เพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้แก่ธุรกิจในระยะยาว

ส่วนแรก: สถานการณ์เศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน
ทุกท่านคงทราบดีว่า ในช่วง 8 เดือนแรกที่ผ่านมา ซึ่งเป็นช่วงก่อนเกิดน้ำท่วม เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ค่อนข้างดี จากทั้งการบริโภคและการลงทุนของภาคเอกชนรวมถึงการส่งออกที่เติบโตดีในทิศทางเดียวกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชีย อย่างไรก็ดี น้ำท่วมเริ่มส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจตั้งแต่เดือนกันยายนที่ผ่านมา

ปัญหาน้ำท่วมในครั้งนี้ส่งผลกระทบที่รุนแรง และเป็นวงกว้างต่อเศรษฐกิจในหลายภาคส่วนและได้กลายเป็นปัจจัยลบที่สำคัญต่อเศรษฐกิจในปีนี้ โดยภาคการผลิตในช่วงแรกๆ มีความเสียหายในภาคเกษตรเป็นหลักตั้งแต่เดือนสิงหาคม แต่ในภายหลังได้ลุกลามสู่ภาคอุตสาหกรรมในเขตภาคกลางรวมถึงในเขตกรุงเทพมหานคร ทำให้การผลิตในภาคอุตสาหกรรมรวมถึงการส่งออกของไทยได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยเฉพาะในพื้นที่ถูกน้ำท่วมได้รับความเสียหายอย่างมาก ซึ่งเป็นแหล่งอุตสาหกรรมหลักของไทยและเป็นแหล่งผลิตที่มีความสำคัญในตลาดโลกด้วย ได้แก่ ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ ยานยนต์ และเครื่องใช้ไฟฟ้านอกจากนี้ ความเสียหายยังส่งผลกระทบผ่านห่วงโซ่การผลิต(Supply Chain) ไปยังธุรกิจที่ไม่ได้ถูกน้ำท่วมได้รับผลกระทบจากการขาดแคลนชิ้นส่วนการผลิต ทำให้ไม่สามารถผลิตได้เต็มที่ นอกจากนี้ ยังมีปัญหาด้านการคมนาคมขนส่งที่ถูกตัดขาดหลายสาย ทำให้ธุรกิจส่วนหนึ่งต้องหยุดกิจการ

การจับจ่ายใช้สอยของประชาชนในช่วงน้ำท่วมชะลอตัวลง ตามการลดลงของรายได้และความเชื่อมั่นในการบริโภค ส่วนการลงทุนก็ลดลงเช่นเดียวกัน เนื่องจากการลงทุนมีอุปสรรคและบรรยากาศที่ไม่เอื้ออำนวย นอกจากนี้ ผลกระทบยังแผ่ขยายในวงกว้าง ทำให้ภาคการค้าและการขนส่งต้องสะดุดลงเนื่องจากเส้นทางขนส่งสินค้ามีปัญหาหลายเส้นทาง สำหรับการส่งออกไทยมีแนวโน้มขยายตัวชะลอลงส่วนหนึ่งจากปัญหาน้ำท่วมที่กระทบต่อการผลิตในอุตสาหกรรมส่งออกสำคัญ อีกส่วนหนึ่งเป็นผลจากเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญอย่างสหรัฐฯ และยุโรปชะลอตัวลง

อย่างไรก็ดี ปัญหาน้ำท่วมคาดว่าจะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจเพียงระยะสั้น ทำให้เศรษฐกจิ ในไตรมาสที่ 4 คาดว่าจะหดตัวลง และในภาพรวม เศรษฐกิจไทยปี 2554 จะเติบโตได้ต่ำกว่าที่เคยคาดไว้ ที่ประมาณร้อยละ 2.6 (ประเมิน ณ 19 ตุลาคม) โดยจะหดตัวมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับภาคเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบ ระยะเวลาที่ท่วม และระยะเวลาที่ใช้ในการฟื้นฟู

ท่านผู้มีเกียรติทุกท่าน
นอกจากปัญหาน้ำท่วมแล้ว สถานการณ์เศรษฐกิจโลกในปัจจุบันยังคงมีความไม่แน่นอนอยู่สูงทำให้ต้องจับตาอย่างใกล้ชิด เนื่องจากเศรษฐกิจประเทศหลักอย่างยุโรปและสหรัฐฯ ยังมีท่าทีว่ายังไม่กระเตื้องขึ้น โดยเฉพาะวิกฤตหนี้ของยุโรปครั้งนี้มีแนวโน้มว่าจะยืดเยื้อนาน แม้ล่าสุดทางการยุโรปจะได้ข้อสรุปเบื้องต้นเกี่ยวกับการแก้ปัญหาวิกฤตหนี้แล้ว ทั้งการปรับเพิ่มจำนวนเงินกู้ให้แก่กรีซ การตกลงร่วมกันว่าธนาคารพาณิชย์ในยุโรปต้องมีการเพิ่มทุนเท่าใด และขยายศักยภาพของ EFSF แล้ว แต่ก็ไม่ได้ยืนยันว่าปัญหาจะสิ้นสุดลง ปัญหาที่ยืดเยื้อ ส่งผลให้รัฐบาลของประเทศสมาชิกต้องรัดเข็มขัดมากขึ้นทำให้กำลังซื้อภายในของยุโรปลดลง นอกจากนี้ ปัญหาหนี้ภาครัฐเริ่มลุกลามเข้าสู่ภาคสถาบันการเงินส่งผลให้สถาบันการเงินเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อให้ภาคธุรกิจและภาคครัวเรือน

ส่วนเศรษฐกิจสหรัฐฯ ต้องเผชิญกับปัญหาเชิงโครงสร้างในตลาดบ้านและตลาดแรงงานที่คาดว่าใช้เวลาในการฟื้นตัวและส่งผลกระทบต่อการบริโภคภาคเอกชน ซึ่งเป็นแรงขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจสหรัฐฯ

สถานการณ์เศรษฐกิจของสองประเทศหลักที่มีท่าทีว่าจะยืดเยื้อเช่นนี้ ส่งผลให้เศรษฐกิจชะลอตัวลง ในขณะที่เศรษฐกิจเอเชียคาดว่าจะเติบโตจากการส่งออกและอุปสงค์ในประเทศที่ยังขยายตัวได้และยังคงเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญให้เศรษฐกิจโลกยังเดินหน้าต่อไปได้ อย่างไรก็ดี หากเศรษฐกิจของยุโรปและสหรัฐฯชะลอลงมาก ก็อาจกระทบต่อการส่งออกและภาพรวมเศรษฐกิจไทยให้ชะลอลงตาม

ส่วนที่ 2: ทิศทางเศรษฐกิจและความท้าทายในระยะต่อไป
หากดูจากประสบการณ์ของภัยพิบัติที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ อาทิ แผ่นดินไหวที่เมืองโกเบประเทศญี่ปุ่น ปี 2537 แผ่นดินไหวและสึนามิที่เกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย ปี 2547 พายุเฮอริเคนแคทรินา สหรัฐอเมริกา ปี 2548 และแผ่นดินไหวในมณฑลเสฉวน ประเทศจีน ปี 2551 พบว่า ภัยพิบัติต่างๆ จะสร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจในระยะสั้น แต่จะสร้างผลบวกต่อเศรษฐกิจโดยเฉพาะในด้านการลงทุนเพื่อฟื้นฟูในพื้นที่ซึ่งได้รับความเสียหายในระยะถัดไป

สำหรับผลกระทบจากน้ำท่วมในกรณีของไทย แม้ว่าจะทำให้เศรษฐกิจในไตรมาสที่ 4 หดตัวลงแต่เชื่อว่าวิกฤตน้ำท่วมครั้งนี้จะไม่กระทบต่อศักยภาพการผลิตของประเทศในระยะยาว ประกอบกับไทยมีพื้นฐานเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งและปัจจัยสนับสนุนด้านอุปสงค์ที่มีต่อเนื่อง ซึ่งจะช่วยให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้รวดเร็ว

- ภาคเกษตรคาดว่าจะสามารถฟื้นตัวได้ในระยะเวลาอันใกล้ เนื่องจากไม่มีข้อจำกัดด้านการฟื้นฟูพื้นที่ เกษตรกรสามารถกลับมาเพาะปลูกได้ทันที และคาดว่าผลผลิตจะเพิ่มขึ้นจากปุ๋ยตะกอนดินที่ถูกพัดมา ขณะที่ราคาพืชผลยังอยู่ในระดับสูงจากอุปทานที่ลดลงและความต้องการในตลาดโลกที่ยังมีอยู่สูง รวมถึงมีมาตรการภาครัฐที่จะส่งผลให้รายได้เกษตรกรอยู่ในเกณฑ์ดี

- ภาคอุตสาหกรรม อาจต้องใช้เวลาในการฟื้นฟูสักระยะหนึ่ง เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมาcluster ในภาคการผลิตมีความเข้มแข็งขึ้นและไทยเองก็เป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายการผลิตระหว่างประเทศที่แข็งแกร่ง ในขณะนี้ก็เริ่มมีการฟื้นฟูนิคมอุตสาหกรรมที่ถูกน้ำท่วมบ้างแล้ว ทำให้คาดว่าการผลิตในภาพรวมน่าจะฟื้นตัวได้บางส่วนตั้งแต่ไตรมาสนี้ จากการติดตามข่าวสารต่างๆและการพูดคุยกับผู้ประกอบการทำให้ทราบว่า ผู้ประกอบการยังหาทางปรับตัวและมีความยืดหยุ่นในการบริหารงานโดยนำเข้าเครื่องจักรและชิ้นส่วนทดแทนเพื่อใช้สำหรับเริ่มการผลิตใหม่ ลดกำลังการผลิตลงเท่าที่จำเป็นและย้ายเครื่องจักรไปผลิตโรงงานอื่นที่ยังไม่ได้รับผลกระทบ ซึ่งสะท้อนว่า ผู้ประกอบการยังต้องการผลิตต่อและยังไม่ต้องการย้ายฐานการผลิตไปประเทศอื่นจึงคาดว่าการผลิตภาคอุตสาหกรรมจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในไตรมาสแรกของปีหน้า และการผลิตส่วนใหญ่จะกลับสู่ระดับปกติในไตรมาสที่ 2 ของปีหน้า

- ภาคการท่องเที่ยว คาดว่าจะฟื้นตัวได้เร็วภายใน 1-2 เดือนหลังจากสถานการณ์น้ำเข้าสู่ภาวะปกติ เนื่องจากสภาพทางกายภาพถูกผลกระทบน้อย กอปรกับภาคการท่องเที่ยวของไทยมีความยืดหยุ่น (resilient) สะท้อนจากข้อมูลในอดีตที่จำนวนนักท่องเที่ยวสามารถฟื้นตัวจาก shocks ต่างๆ ได้

ค่อนข้างเร็ว
- ด้านการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน คาดว่าจะฟื้นกลับมาในไตรมาส 1 ปี 2555 โดยการจับจ่ายใช้สอยเพื่อการบริโภคของประชาชนจะเพิ่มขึ้นหลังน้ำลด เพอื่ ชดเชยความเสียหายของบ้านและทรัพย์สินที่เกิดขึ้นในช่วงน้ำท่วม ส่วนการลงทุนในช่วงหลังน้ำลดคาดว่าส่วนใหญ่จะเป็นการลงทุนในเครื่องจักรอุปกรณ์ต่างๆ เพื่อชดเชยส่วนที่เสียหายไป

สำหรับภาครัฐยังมีแรงกระตุ้นที่เคยวางแผนไว้และจะมีเพิ่มเติมอีกมากตามแผนการฟื้นฟูหลังน้ำท่วมทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ซึ่งจะช่วยกระตุ้นทั้งการบริโภคและการลงทุนให้ฟื้นตัวได้โดยเร็วโดยภาครัฐได้มีมาตรการเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนแก่ผู้ประกอบการจากปัญหาน้ำท่วม ทงั้ ด้านที่พักอาศัยและทรัพย์สินที่ประสบน้ำท่วม รวมถึงด้านสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพื่อช่วยเหลือประชาชนและผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ และมาตรการยกเว้นการเก็บภาษีนำเข้าเครื่องจักรสำหรับทดแทนส่วนที่เสียหาย เป็นต้น สำหรับผู้ประกอบการ SMEs ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม ภาครัฐก็มีมาตรการสินเชื่อสำหรับ SMEs โดยตรงเพื่อบรรเทาผลกระทบเช่นเดียวกัน

ในส่วนของแบงก์ชาติได้ประสานกับธนาคารพาณิชย์ให้มีมาตรการการดูแลลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม และสถาบันการเงินต่างๆ มีมาตรการช่วยเหลือและฟื้นฟูกิจการหลังน้ำลด โดยขอให้ธนาคารพาณิชย์ช่วยดูแลลูกค้าด้วยการผ่อนปรนเงื่อนไขการชำระหนี้ ดูแลสภาพคล่องของลูกหนี้และมีการออกหนังสือเวียนขอผ่อนปรนให้ลูกค้าบัตรเครดิตสามารถผ่อนชำระได้ต่ำกว่าร้อยละ 10 ส่วนสถาบันการเงินต่างๆ และหน่วยงานที่ดูแล SMEs ได้มีมาตรการช่วยเหลือด้านสินเชื่อและการค้ำประกันสินเชื่อเพื่อการฟื้นฟูกิจการด้วย นอกจากนี้ แบงก์ชาติยังสนับสนุนสภาพคล่องเงินบาทโดยร่วมมือกับธนาคารกลางญี่ปุ่นเพื่อเตรียมรองรับการใช้หลักทรัพย์รัฐบาลญี่ปุ่นเป็นหลักประกันในการปล่อยสภาพคล่องเงินบาท เพื่อช่วยสนับสนุนการฟื้นฟูธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ

ดังนั้น ความท้าทายที่สำคัญของเศรษฐกิจไทยหลังน้ำท่วม คือ การลงทุนของภาครัฐด้านระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างมีประสิทธิภาพในระยะยาว เพื่อฟื้นฟูความเชื่อมั่นของนักลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศให้กลับคืนมา นโยบายภาครัฐในเรื่องดังกล่าวจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ดึงดูดการลงทุนใหม่ว่าสามารถสร้างความเชื่อมั่นว่าเหตุการณ์เช่นนี้จะไม่เกิดขึ้นอีกในอนาคต ยิ่งเป็นการลงทุนของบริษัทข้ามชาติก็ยิ่งต้องมองถึงการกระจายความเสี่ยงการลงทุนในประเทศต่างๆ ที่จะมีผลต่อการดำเนินธุรกิจด้วย เนื่องจากส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างรุนแรง และประเทศไทยเองก็อยู่ในห่วงโซ่การผลิตที่สำคัญของโลก การเกิดปัญหาขึ้นกับสายการผลิตในประเทศไทยย่อมมีผลต่อการตัดสินใจเลือกฐานการผลิตของนักลงทุนต่างชาติทั่วโลกที่มีแนวโน้มจะไหลเข้ามาในเอเชียในอนาคต เพื่อรองรับการผงาดของเอเชียที่จะมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ขึ้นและมีบทบาทในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกมากขึ้นแม้ว่าภาครัฐต้องเบิกจ่ายงบประมาณจำนวนมากเพื่อการช่วยเหลือประชาชนและภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม รวมถึงการลงทุนบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ แต่ภาครัฐยังจำเป็นต้องใช้จ่ายอย่างระมัดระวังและยึดกรอบวินัยทางการคลังอย่างเคร่งครัด ทั้งนี้ เพื่อเป็นการเก็บกระสุนทางการคลังไว้รองรับผลกระทบในกรณีที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ และยุโรปชะลอตัวกว่าที่คาดไว้

สำหรับความท้าทายต่อการดำเนินธุรกิจในระยะข้างหน้าก็ยังมีอยู่หลายประการด้วยกัน ส่วนหนึ่งก็เชื่อมโยงกับสิ่งที่ผมได้เกริ่นไว้ในสถานการณ์ปัจจุบัน โดยประการแรก คือ แนวโน้มสถานการณ์เศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯและยุโรปที่ยังมีความไม่แน่นอนอยู่มาก ดังนั้นธุรกิจ SMEs ควรต้องติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจโลกอย่างใกล้ชิด เพื่อประเมินผลกระทบทางตรงต่อธุรกิจเองหรือทางอ้อมจากคู่ค้าของธุรกิจ เนื่องจากแนวโน้มกำลังซอื้ ที่อ่อนแรงลงตามภาวะเศรษฐกิจประเทศหลักที่ชะลอลง จะกระทบกับ SMEs ที่เป็นผู้ส่งออกโดยตรง ซึ่งอาจเตรียมรับมือโดยการกระจายตลาดส่งออกและกระจายประเภทสินค้าให้หลากหลาย อาทิ หาตลาดใหม่ภายในภูมิภาคเอเชียเพิ่มขึ้นหรือเพิ่มสัดส่วนตลาดในประเทศมากขึ้น เป็นต้น ความไม่แน่นอนของสถานการณ์เศรษฐกิจโลก และความเชื่อมั่นของเศรษฐกิจสหรัฐฯและยุโรปที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ยังส่งผลให้เงินทุนเคลื่อนย้ายมีแนวโน้มผันผวนได้ 2 ทิศทางและค่าเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น โดยในภาพรวมเงินทุนเคลื่อนย้ายยังมีแนวโน้มจะไหลเข้าภูมิภาคเอเชีย เนื่องจากเศรษฐกิจเอเชียยังมีแนวโน้มขยายตัวได้ดีกว่ากลุ่มประเทศเศรษฐกิจหลัก ธุรกิจ SMEs ซึ่งปกติแล้วจะมีความอ่อนไหวต่อค่าเงินมากกว่าธุรกิจขนาดใหญ่ โดยเฉพาะ SMEs ที่ค้าขายกับต่างประเทศและได้รับผลกระทบโดยตรง จึงควรเตรียมรับมือกับความผันผวนดังกล่าวและตระหนักถึงความจำเป็นของการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน โดยเลือกใช้เครื่องมือทางการเงินอย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ และควรใช้อย่างสม่ำเสมอด้วย

ความท้าทายของภาคธุรกิจอีกประการหนึ่ง คือ แรงกดดันเงินเฟ้อที่ยังทรงตัวอยู่ในระดับสูงปัญหาน้ำท่วมส่งผลให้เงินเฟ้อเร่งตัวขึ้นชั่วคราว โดยเฉพาะจากราคาในหมวดอาหารและเครื่องดื่มที่เร่งตัวขึ้น รวมถึงราคาของใช้จำเป็นบางชนิดที่ปรับเพิ่มขึ้น จึงคาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะยังคงทรงตัวในระดับสูงในช่วงที่เหลือของไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ เมื่อมองไปข้างหน้า ผลจากปัญหาน้ำท่วมน่าจะเริ่มคลี่คลายในช่วงต้นปี กอปรกับเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอลงจะส่งผลให้ราคาสินค้า ทั้งราคาพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์มีโอกาสปรับลดลงได้ ซึ่งจะไม่สร้างแรงกดดันด้านต้นทุนมากนัก อย่างไรก็ตาม ราคาสินค้าอาจปรับสูงขึ้นบ้างจากมาตรการของภาครัฐ ตลอดจนการคาดการณ์เงินเฟ้อของประชาชนที่ยังคงสูงอยู่ รวมถึงการใช้จ่ายของภาครัฐและภาคเอกชนที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นภายหลังวิกฤตน้ำท่วมคลี่คลาย

ท่านผู้มีเกียรติทุกท่าน
ผมคาดว่า มาถึงจุดนี้ ทุกท่านน่าจะมองทิศทางเศรษฐกิจไทยไปในทางเดียวกัน คือ เศรษฐกิจจะ

ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมแค่ในระยะสั้น และจะสามารถฟื้นตัวได้ภายใน 2-3 ไตรมาสข้างหน้า โดยมี

ปัจจัยเอื้อทั้งจากภาคสถาบันการเงินที่มีความแข็งแกร่งที่พร้อมสนับสนุนการฟื้นฟูธุรกิจ รวมถึงแผนการ

ใช้จ่ายเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจของภาครัฐ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้น่าจะช่วยให้เศรษฐกิจไทยกลับมาฟื้นตัวได้เร็วขึ้น

สำหรับ SMEs ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม ไม่ว่าจะโดยตรงหรือโดยอ้อมควรเตรียมพร้อมตั้งแต่ตอนนี้

ยิ่งเตรียมตัวเร็วเท่าไรก็ยิ่งดีเพราะจะได้ผลดีจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจภายหลังน้ำท่วมก่อน โดยสิ่ง

สำคัญที่ SMEs ต้องเตรียมพร้อมคือ การประเมินความเสียหายต่อธุรกิจ และเตรียมแผนฟื้นฟูกิจการ

หลังวิกฤตน้ำท่วมครั้งนี้ผ่านพ้นไป เพื่อให้สามารถกลับมาดำเนินธุรกิจตามปกติโดยเร็วที่สุด แต่สิ่งที่

ผมอยากจะเน้นก็คือ ผู้ประกอบการ SMEs ควรตระหนักถึงการสร้างความแข็งแกร่งที่จะรองรับวิกฤต

ต่างๆในอนาคตปรับตัวเพื่อเสริมสร้างความสามารถของธุรกิจในระยะยาว
ส่วนที่ 3: การปรับตัวของธุรกิจ SMEs ในระยะยาว
ภายใต้สภาวะเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน SMEs ควรตระหนักว่าการปรับตัวให้เข้ากับสภาวะแวดล้อมและการแข่งขันที่เพิ่มขึ้นในอนาคตเป็นสิ่งที่จำเป็น สิ่งเหล่านี้ผู้ประกอบการก็คงทราบดีอยู่แล้ว แต่สำหรับท่านที่ยังไม่แน่ใจ ผมก็ขอเสนอแนวทางอย่างกว้างๆ ไว้เพื่อจุดประกายให้ผู้ประกอบการได้เตรียมพร้อมไว้ ซึ่งก็ควรลงมือปฏิบัติอย่างจริงจังและทันทีด้วยโดยแนวทางหลักๆ ในการปรับตัวเพื่อสร้างศักยภาพในระยะยาวก็มีอยู่หลายแนวทางด้วยกัน ซึ่งแนวทางแรก คือ การพัฒนาสินค้าและบริการให้มีคุณภาพและมาตรฐาน ผ่านการออกแบบ การพัฒนาคุณภาพ และการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าและบริการ และควรเน้นการสร้างความแตกต่างหรือเอกลักษณ์ รวมถึงการสร้างแบรนด์เพื่อให้สินค้าและบริการของ SMEs สามารถแข่งขันในเชิงคุณภาพมากกว่าราคา และสามารถแข่งขันกับคู่แข่งขันทั้งในประเทศและต่างประเทศได้ในระยะยาว สำหรับแนวทางที่สอง คือ การพัฒนาความสามารถในการบริหารจัดการธุรกิจที่ดีและสร้างความโปร่งใสในการดำเนินธุรกิจ โดย SMEs ควรมีการวางแผนธุรกิจในระยะยาวที่ชัดเจน และการมีระบบบัญชีธุรกิจที่ได้มาตรฐาน น่าเชื่อถือ และตรวจสอบได้ ทั้งนี้ เพื่อเพิ่มมูลค่าและเพิ่มความสามารถในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนให้กับกิจการด้วย แนวทางสุดท้าย คือ การพัฒนาแรงงานให้มีทักษะและประสิทธิภาพสูง เพื่อลดต้นทุนของธุรกิจและสร้างมูลค่าเพิ่มของผลผลิตด้วย อีกส่วนหนึ่งเพื่อรับมือกับปัญหาขาดแคลนแรงงานที่จะสร้างแรงกดดันต่อค่าจ้างแรงงานเพิ่มขึ้นในอนาคต

ท่านผู้มีเกียรติทุกท่าน
ผมขอสรุปสั้นๆ ว่า ปัญหาน้ำท่วมจะส่งผลให้เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 4 หดตัวลง อย่างไรก็ดีผลกระทบจากน้ำท่วมจะมีเพียงระยะสั้น และคาดว่าภาคส่วนเศรษฐกิจต่างๆ จะสามารถฟื้นตัวได้ภายในเวลาไม่นานนัก ทั้งนี้ ในระยะข้างหน้าเศรษฐกิจไทยจะยังมีความท้าทายที่สำคัญ คือ การฟื้นฟูเศรษฐกิจและความเชื่อมั่นของนักลงทุนหลังน้ำท่วม รวมถึงการรับมือต่อสถานการณ์เศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะปัญหาของประเทศอุตสาหกรรมหลักที่มีท่าทีว่าจะยืดเยื้อ

สุดท้ายนี้ วิกฤตต่างๆ จะผ่านพ้นไปได้ในที่สุด แต่มีสิ่งที่สำคัญที่ SMEs ควรตระหนักอยู่เสมอคือ ความจำเป็นที่ต้องปรับตัวเพื่อรับมือกับความท้าทายจากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และการแข่งขันที่จะสูงขึ้นในอนาคต


ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย
โพสต์โพสต์