วอร์เรน บัฟเฟตต์ส่งสัญญาณเดินหน้าลงทุนในญี่ปุ่น

การลงทุนแบบเน้นคุณค่า ลงทุนหุ้น VI เน้นที่ปัจจัยพื้นฐานเป็นหลัก

โพสต์ โพสต์
ภาพประจำตัวสมาชิก
บูรพาไม่แพ้
Verified User
โพสต์: 2533
ผู้ติดตาม: 1

วอร์เรน บัฟเฟตต์ส่งสัญญาณเดินหน้าลงทุนในญี่ปุ่น

โพสต์ที่ 1

โพสต์

ข่าวต่างประเทศ สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ) -- จันทร์ที่ 21 พฤศจิกายน 2554 21:22:06 น.
วอร์เรน บัฟเฟตต์ นักลงทุนชื่อดังของสหรัฐ กล่าวในระหว่างเดินทางเยือนญี่ปุ่นในวันนี้ว่า มุมมองของเขาที่มีต่อชาวญี่ปุ่นและอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นยังคงไม่เปลี่ยนแปลง หลังจากที่เกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวและคลื่นสึนามิเมื่อวันที่ 11 มี.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นการส่งสัญญาณว่าเขาจะยังคงพิจารณาธุรกิจต่างๆในญี่ปุ่นเพื่อเข้าลงทุนต่อไป

บัฟเฟตต์ ซึ่งเดินทางเยือนญี่ปุ่นเป็นครั้งแรกได้แสดงความคิดเห็นดังกล่าวที่เมืองอิวากิ จังหวัดฟูกุชิม่า เนื่องในโอกาสการร่วมพิธีเปิดบริษัท Tungaloy Corp ซึ่งเป็นบริษัทผลิตเครื่องมือที่เขาถือหุ้นอยู่ โดยบัฟเฟตต์ได้เลื่อนการเข้าร่วมพิธีเปิดบริษัทดังกล่าวจากเดิมที่กำหนดไว้ในเดือนมี.ค. เนื่องจากเกิดภัยพิบัติ

"ภัยพิบัติที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ ไม่เพียงแต่ผมเท่านั้น แต่คนทั่วโลกยังมีมุมมองเช่นเดิมว่า ชาวญี่ปุ่นจะไม่ยอมให้บางสิ่งบางอย่างมาหยุดยั้งความคืบหน้าของพวกเขาได้ เหมือนกับที่สหรัฐอเมริกาเคยประสบภัยพิบัติจากเฮอริเคนแคทรินา ผมยืนยันว่ามุมมองของผมที่มีต่อชาวญี่ปุ่นและอุตสาหกรรมญี่ปุ่นยังคงไม่เปี่ยนแปลง" บัฟเฟตต์กล่าว

ส่วนในเรื่องวิกฤตหนี้ยุโรปนั้น บัฟเฟตต์กล่าวว่า ประเทศในยุโรปไม่ได้แสดงความเต็มใจที่จะดำเนินการทุกๆเรื่องที่จำเป็นเพื่อจัดการกับปัญหาหนี้ ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวจะส่งผลกระทบอย่างหนักต่อประเทศต่างๆ

สำนักข่าวเกียวโดรายงานว่า บัฟเฟตต์ ซึ่งเป็นประธานและซีอีโอของบริษัท เบิร์กเชียร์ แฮทธาเวย์ เป็นที่รู้จักในฐานะมหาเศรษฐีที่ร่ำรวยเป็นอันดับ 2 จากการจัดอันดับชาวอเมริกันที่ร่ำรวยที่สุด 400 คนโดยนิตยสารฟอร์บส์ โดยเป็นรองเพียง บิล เกตส์ ผู้ก่อตั้งบริษัท ไมโครซอฟท์

--อินโฟเควสท์ แปลและเรียบเรียงโดย รัตนา พงศ์ทวิช/ปนัยดา โทร.02-2535000 ต่อ 323 อีเมล์: [email protected]--
ภาพประจำตัวสมาชิก
Highway_Star
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 453
ผู้ติดตาม: 2

Re: วอร์เรน บัฟเฟตต์ส่งสัญญาณเดินหน้าลงทุนในญี่ปุ่น

โพสต์ที่ 2

โพสต์

Tungaloy มันบริษัทผลิตมีดกลึงนี่นา :mrgreen:
chaitorn
Verified User
โพสต์: 2547
ผู้ติดตาม: 10

Re: วอร์เรน บัฟเฟตต์ส่งสัญญาณเดินหน้าลงทุนในญี่ปุ่น

โพสต์ที่ 3

โพสต์

ข้อมูลจาก http://www.kaohoon.com/daily/index.php? ... Itemid=126

ซื้อหุ้นยามวิกฤต ตามรอยบัฟเฟท


ในยามที่น้ำกำลังเข้ากระชับพื้นที่ในกรุงเทพฯแทบจะทุกตรอกซอกซอยและมีความเครียดเกิดขึ้นไปทั่วทุกหัวระแหง ย่อมเป็นธรรมดาที่จะทำให้นักลงทุนไม่อยากผลีผลามเพราะไม่รู้ว่าอุทกภัยในครั้งนี้อีกนานแค่ไหนจึงจะจบลง อย่างไรก็ดี มีตัวอย่างการลงทุนในยามเกิดวิกฤติ จากนักลงทุนชื่อดังอย่างวอร์เรนต์ บัฟเฟตต์ ที่อาจจะทำให้นักลงทุนบ้านเราใช้เป็นต้นแบบได้บ้าง

มีข้อมูลว่า ในไตรมาสที่เลวร้ายที่สุดสำหรับหุ้นสหรัฐนับตั้งแต่เกิดวิกฤตการเงิน วอร์เรน บัฟเฟตต์กลับเริ่มซื้อหุ้นอย่างเมามัน!

จากหนังสือที่แจ้งต่อคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์สหรัฐพบว่า บริษัทเบิร์กเชียร์ ฮาธาเวย์ ของเขาซื้อหุ้น 20,000 ล้านดอลลาร์ในช่วงเดือนกรกฎาคม-กันยายน ซึ่งในจำนวนนี้รวมถึงการซื้อหุ้นสหรัฐไปเหนาะๆ 6,900 ล้านดอลลาร์

ยอดซื้อนี้ยังรวมถึงการซื้อบริษัทเคมีเฉพาะทาง “ลูบริซอล คอร์ป” เป็นเงิน 8,700 ล้านดอลลาร์ ซึ่งเพิ่งเสร็จสิ้นลงในไตรมาสเดียวกันหลังจากที่มีการประกาศซื้อเมื่อต้นปี และยังรวมถึงการซื้อหุ้นบุริมสิทธิ์และวอร์แรนต์ของแบงก์ ออฟ อเมริกา เป็นเงิน 5,000 ล้านดอลลาร์ด้วย

เกรกอรี่ วอร์เรน นักวิเคราะห์ที่ติดตามการเคลื่อนไหวของเบิร์กเชียร์ให้กับมอนิ่งสตาร์ กล่าวว่า การซื้อหุ้นสามัญ 6,900 ล้านดอลลาร์ถือว่าเป็นการทำโพสิชั่นในตลาดที่ค่อนข้างรุนแรง และนั่นคือการกระโดดเข้าไปซื้อที่มากกว่าที่เราได้เคยเห็นจากพวกเขาในบางครั้ง

วอร์เรนกล่าวว่า เบิร์กเชียร์ซื้อหุ้นประมาณ 3,600 ล้านดอลลาร์ในช่วงไตรมาสสอง และซื้อไม่ถึง 1,000 ล้านดอลลาร์ในช่วงไตรมาสหนึ่ง และเมื่อคำนึงถึงว่า บัฟเฟตต์มีความโน้มเอียงที่จะพยายามหาซื้อของถูก การซื้อในช่วงไตรมาสสามจึงไม่ใช่สิ่งที่น่าประหลาดใจ เนื่องจากในช่วงไตรมาสสามหุ้นตกค่อนข้างมาก แต่ปัญหาอยู่ที่ว่า ตรงไหนที่เขาเอาเงินไปลงทุนแล้วได้ผล เราจะต้องรอเพื่อหาคำตอบ

ดัชนีสแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์ 500 ปรับตัวลง 14% ในช่วงไตรมาสสาม ซึ่งเป็นการปรับตัวลงที่มากที่สุดนับตั้งแต่เกิดวิกฤติงบประมาณที่ส่งผลกระทบต่อตลาดต่างๆ ในช่วงสามเดือนสุดท้ายของปี 2551 ดัชนีหุ้นสำคัญอื่นๆ ก็ปรับตัวลงรุนแรงเช่นกัน โดยมีแรงขับจากการลดอันดับตราสารหนี้สหรัฐ ความไม่แน่นอนเกี่ยวกับหนี้รัฐบาลยุโรปและความวิตกที่มากขึ้นในช่วงที่เศรษฐกิจสหรัฐตกอยู่ในอันตรายที่จะเกิดภาวะถดถอยอีกครั้ง

แต่ถึงแม้ว่าภาวะตลาดหุ้นจะไม่รื่นรมย์เอาเสียเลย บัฟเฟตต์ยังคงมีความเชื่อมั่นต่อหุ้นเมื่อดูจากความเห็นหลายๆ ครั้งของเขาในช่วงนั้น

เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม เขาได้ให้สัมภาษณ์กับชาร์ลี โรสของพีบีเอส ว่า ในวันแรกของการซื้อขายหลังจากที่มีการลดเกรดสหรัฐ ซึ่งในตอนนั้นดัชนีเอสแอนด์พี 500 ปรับตัวลงเกือบ 7% เบิร์กเชียร์เข้าซื้อหุ้นในวันเดียวมากสุดสำหรับปีนี้ และยังได้บอกว่า เงิน 7,000 ล้านดอลลาร์ที่เบิร์กเชียร์ได้ลงทุนในปีนี้ มากกว่าที่บริษัทได้เคยซื้อในหนึ่งปีอย่างน้อย 1,000 ล้านดอลลาร์

บัฟเฟตต์กล่าวไว้ในการให้สัมภาษณ์ดังกล่าวว่า “มันเหมือนกับการซื้อสินค้าลดราคา”

แม้ว่ากำไรของเบิร์กเชียร์ลดลง 24% ในช่วงไตรมาสดังกล่าว โดยเหลือ 2,300 ล้านดอลลาร์ เนื่องจากมูลค่าหุ้นที่ถือลดลง และขาดทุนจากอนุพันธ์ที่ถือในช่วงนั้น 1,600 ล้านดอลลาร์ แต่ คลิฟฟ์ แกลแลนต์ นักวิเคราะห์ของบริษัท คีฟ บรูย์เอตต์ แอนด์ วู้ดส์ เชื่อว่า การขาดทุนอนุพันธ์ที่ได้รายงานไว้ส่วนใหญ่ ได้เปลี่ยนทิศทางแล้วเนื่องจากหุ้นฟื้นตัวในเดือนตุลาคม และกำไรจากการดำเนินงานดีกว่าที่ประมาณการไว้

เนื่องจากเบิร์กเชียร์มีเงินสดในมือเกือบ 35,000 ล้านดอลลาร์ และเป็นหนึ่งในสถาบันการเงินที่มีความเชื่อถือสูงสุดในโลก แกลแลนต์คาดว่า เบิร์กเชียร์จะยังคงลงทุนสำหรับโอกาสที่น่าสนใจเช่นนั้นต่อไป

นี่เป็นอีกครั้งหนึ่งที่วอร์เรน บัฟเฟตต์ ซื้อหุ้นในยามวิกฤติ แม้เป็นการลงทุนที่สวนทางกับนักลงทุนส่วนใหญ่ แต่ผลกำไรที่ได้ก็มักคุ้มค่ากว่านักลงทุนคนอื่นๆ เสมอเช่นกัน
Circle of competence
I don't think it's as difficult to figure out competence as it may appear.
If you're 5-foot-2, you don't have much future in the NBA.
What I need to get ahead is to be better than idiots.
Charlie Munger
chaitorn
Verified User
โพสต์: 2547
ผู้ติดตาม: 10

Re: วอร์เรน บัฟเฟตต์ส่งสัญญาณเดินหน้าลงทุนในญี่ปุ่น

โพสต์ที่ 4

โพสต์

หากจะซื้อหุ้นยามวิกฤตนั้น อย่าลืมคำเตือนจากบทความของอาจารย์นิเวศน์นี้ด้วยครับ :D

เป็นบทความในช่วงวิกฤต ปี 2008 ครับ

วิกฤติการเงินของสหรัฐอเมริกาในช่วงนี้ทำให้นักลงทุนเสียหายหนักมากและคนจำนวนมากต่างก็ “หนีตาย” หรือถอนตัวจากตลาดหุ้นกันเป็นแถว แต่ดูเหมือนว่า วอเร็น บัฟเฟตต์ กำลังยุ่งอยู่กับการลงทุนในบริษัทหลาย ๆ แห่ง ที่โดดเด่นก็คือ โกลด์แมนซาคและจีอี ที่เขาจ่ายเงินไปรวมกัน 8,000 ล้านเหรียญสหรัฐ จากเม็ดเงินจำนวนกว่า 30,000 ล้านเหรียญที่มีอยู่ในมือ สำหรับบัฟเฟตต์แล้ว ช่วงนี้คือ “โอกาสทอง” ที่เขาจะได้ลงทุนในหุ้นของกิจการที่ดีเยี่ยมในราคาที่ถูกมาก คำถามที่ตามมาก็คือ วอเร็น บัฟเฟตต์ มีมุมมองหรือกลยุทธ์การลงทุนอย่างไรในภาวะวิกฤติ และต่อไปนี้ก็คือความคิดของเขาที่ถูกนำเสนอโดย Alice Schroeder ผู้เขียนหนังสือชื่อ Snowball ซึ่งเล่าประวัติชีวิตของ วอเร็น บัฟเฟตต์ ที่กำลังขายดีอยู่ในขณะนี้

บัฟเฟตต์คิดว่า

1) ในช่วงวิกฤตินั้น ถ้าคุณมีเงินสด และ มีความกล้าหาญเพียงพอที่จะลงทุน นี่คือสวรรค์และเป็นสิ่งที่ไม่อาจประเมินค่าได้ สิ่งที่ผมอยากอธิบายเพิ่มเติมก็คือ คนส่วนมากนั้นอาจจะมีเงินสด แต่ในยามที่เกิดวิกฤติ คนเหล่านั้นมักไม่กล้าลงทุนเนื่องจากพวกเขามักจะกลัวว่าเงินลงทุนจะสูญหายไปกับภาวะวิกฤติ บัฟเฟตต์บอกว่า ในยามที่คนกลัว เราจะต้องพยายามที่จะกล้าหรือ “โลภ” เพื่อที่จะได้กล้าเสี่ยงลงทุนในยามที่ “เลวร้ายที่สุด” และนี่มักจะกลายเป็นโอกาสที่ดีที่สุดที่จะทำเงินได้เป็นกอบเป็นกำถ้าเราทำได้ถูกต้อง

2) ในการที่จะลงทุนได้อย่างถูกต้องนั้น บัฟเฟตต์บอกว่า จงอย่าลงทุนในสิ่งที่คุณไม่เข้าใจ นั่นหมายความว่า เวลาเกิดวิกฤติ ราคาหุ้นตกลงมามากก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะเข้าไปซื้อเพียงเพราะราคามันลงมา แต่จะซื้อเพราะเราดูแล้วว่าเรารู้จักและเข้าใจธุรกิจดี และรู้ว่าราคาที่เราเห็นนั้นต่ำกว่ามูลค่าของมันมาก สิ่งที่ผมอยากจะเพิ่มเติมก็คือ ในช่วงที่เกิดวิกฤติหุ้นไฮเท็คในช่วงปี 2000 นั้น หุ้นไฮเท็คจำนวนมากมีราคาตกลงมา หลาย ๆ ตัวตกลงมา 80-90% แต่บัฟเฟตต์ก็ไม่ได้เข้าไปซื้อลงทุนเลย เพราะเขาไม่เข้าใจธุรกิจเหล่านั้นพอ และก็ต้องบอกว่าบัฟเฟตต์คิดถูกที่ไม่ได้เข้าเล่นหุ้นไฮเท็ค เพราะหุ้นส่วนมากที่ตกลงมานั้น ไม่ได้มีโอกาสกลับขึ้นมาอีกเลย

3 ) อย่าพยายามรับมีดที่กำลังร่วงลงมาจนกว่าคุณจะเข้าใจและจัดการกับความเสี่ยงได้ นี่ก็เป็นเรื่องที่บัฟเฟตต์ระมัดระวังเสมอ จากประวัติของบัฟเฟตต์นั้น แทบทุกครั้งที่เขาเข้าไปลงทุนในหุ้นที่กำลัง “วิกฤติ” ก็คือ นอกจากโอกาสที่จะทำกำไรมหาศาลแล้ว เขาจะมองหา “ตาข่าย” รองรับเสมอถ้าสิ่งที่เขาคิดไว้ผิดพลาด กลยุทธ์อย่างหนึ่งที่เขาใช้เป็นประจำก็คือ แทนที่จะเข้าไปซื้อหุ้นโดยตรง เขามักจะเสนอซื้อหุ้นบุริมสิทธ์ที่บริษัทสัญญาว่าจะจ่ายปันผลแน่นอน เช่นในกรณีของโกลด์แมนซาคและจีอีที่จ่ายปันผล 10% ต่อปี และเขามีสิทธ์ที่จะได้เงินคืนก่อนผู้ถือหุ้นสามัญในกรณีที่บริษัทล้มละลาย แต่ที่สำคัญยิ่งกว่าก็คือ เขาจะขออ็อปชั่นหรือวอแรนต์ที่จะซื้อหุ้นสามัญในอนาคตในราคาที่กำหนดล่วงหน้าซึ่งจะทำให้เขาได้กำไรมหาศาลถ้าบริษัทฟื้นตัวและรอดจากภาวะวิกฤติไปได้ อย่างในกรณีของโกลด์แมนซาคและจีอี เขาก็ได้วอแรนต์ที่จะซื้อหุ้นสามัญจำนวนเท่ากับหุ้นบุริมสิทธ์ภายในเวลา 5 ปีในราคาพอ ๆ กับราคาตลาดในช่วงที่เขาตัดสินใจลงทุน

สถิติการลงทุนในยาม “วิกฤติ” ของบัฟเฟตต์ นั้น ไม่ต้องสงสัยเลยว่ายอดเยี่ยมและต้องถือเป็นตำนาน ในครั้งนี้เราก็คงต้องดูกันต่อไปว่าเขาจะทำสำเร็จหรือไม่ อย่างไรก็ตาม การตอบรับจากตลาดหุ้นดูเหมือนว่าจะเป็นในทางบวกตั้งแต่เขาเข้าไปลงทุนแล้ว แต่ประเด็นของเราก็คือ การตกลงมาของตลาดหุ้นบ้านเราในวันนี้ถือเป็นวิกฤติหรือโอกาสที่เราจะเข้าไปทำเงิน?

วิเคราะห์ดูแล้ว ผมเห็นว่าภาวะของเศรษฐกิจและตลาดการเงินของเราจริง ๆ ไม่ได้ถูกกระทบมากเพราะเราได้รับบทเรียนจากวิกฤติปี 2540 ที่ทำให้กิจการทั้งหลายในประเทศไทยมีความระมัดระวังมาก รวมไปถึงสถาบันการเงินต่าง ๆ ก็ไม่ได้มีการปล่อยเงินกู้ออกไปง่าย ๆ อย่างในสมัยก่อน และนี่ทำให้การกู้เงินของบริษัทต่าง ๆ มีสัดส่วนน้อยลงไปมากทำให้ฐานะการเงินของบริษัทส่วนใหญ่ค่อนข้างเข้มแข็ง ดังนั้น ภาวะวิกฤติที่กระทบกับไทยโดยตรงจริง ๆ จึงอยู่ที่ตลาดหุ้นที่นักลงทุนต่างชาติต่างก็เทขายหุ้นเพื่อนำเงินกลับไปดูแลตนเองในต่างประเทศ ผลก็คือ ราคาหุ้นลดลงเรื่อย ๆ โดยที่ผลการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียนยังดีอยู่ แน่นอน ผลการดำเนินงานในอนาคตอาจจะถดถอยลงบ้างแต่ก็คงไม่มากนักเมื่อเทียบกับการลดลงของราคาหุ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งบริษัทจดทะเบียนส่วนใหญ่ที่พึ่งพิงกับการใช้จ่ายเงินในประเทศเป็นหลัก ดังนั้น ข้อสรุปของผมก็คือ นี่น่าจะเป็นโอกาสที่เราจะซื้อหุ้นลงทุน

การลงทุนใน “ภาวะวิกฤติ” ในช่วงนี้ แน่นอน มีความเสี่ยง โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าภาวะวิกฤติของอเมริกาลามไปและทำให้เศรษฐกิจตกต่ำไปทั่วโลก อย่างไรก็ตาม ถ้าเรายึดหลัก 3 ข้อ ของบัฟเฟตต์ข้างต้น ผมคิดว่ามีโอกาสสูงที่เราจะได้รับผลตอบแทนที่ดี พูดถึงเรื่องนี้ ผมลองนึกย้อนหลังไปในช่วงประมาณ 12 ปีที่ผมลงทุนเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์และเก็บข้อมูลอย่างละเอียดก็พบว่า ผมผ่าน “ภาวะวิกฤติ” มาถึง 2 ครั้งแล้วคือในปี 2540 และ 2543 ทั้งสองครั้งดัชนีตลาดตกลงมากว่า 40% ซึ่งมากกว่าภาวะในขณะนี้ แต่ผมก็รอดมาได้ ดังนั้น ผมจึงไม่เห็นเหตุผลว่าทำไมครั้งนี้ผมจะรอดไม่ได้โดยเฉพาะเมื่อคำนึงถึงว่า ใน 2 ครั้งก่อนนั้น ภาวะเศรษฐกิจจริงเลวร้ายกว่าในปัจจุบันมาก เพราะฉะนั้น สำหรับนักลงทุนที่ไม่ได้ลงทุนร้อยเปอร์เซ็นต์อยู่แล้ว การเข้ามาลงทุนในช่วงนี้ก็ต้องถือว่าได้เปรียบมาก อย่าปล่อย “โอกาสทอง” ให้หลุดไปนะครับ

ที่มา: settrade.com
Circle of competence
I don't think it's as difficult to figure out competence as it may appear.
If you're 5-foot-2, you don't have much future in the NBA.
What I need to get ahead is to be better than idiots.
Charlie Munger
โพสต์โพสต์