ฉัตรเฉลิม เฉลิมชัยวัฒน์ บริษัท ไพลิน บุ๊คเน็ต จำกัด

การลงทุนแบบเน้นคุณค่า ลงทุนหุ้น VI เน้นที่ปัจจัยพื้นฐานเป็นหลัก

โพสต์ โพสต์
et al.
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 850
ผู้ติดตาม: 1

ฉัตรเฉลิม เฉลิมชัยวัฒน์ บริษัท ไพลิน บุ๊คเน็ต จำกัด

โพสต์ที่ 1

โพสต์

Cover Story: ฉัตรเฉลิม เฉลิมชัยวัฒน์ บริษัท ไพลิน บุ๊คเน็ต จำกัด น้องใหม่ก้าวสู่ Value Stock และ Growth Stock
Source - Stock Focus (Th)
Friday, May 07, 2010  11:21


         ปัจจุบันธุรกิจร้านหนังสือถือว่ามีความคึกคักมากกว่าอดีต มีการจัดงานสัปดาห์หนังสือ ซึ่งต่อเนื่องกันมาหลายปี การเติบโตของสำนักพิมพ์ต่างๆ จะเติบโตไปตามการเปิดตัวของหนังสือใหม่ โดยเฉพาะพ็อกเกตบุ๊ก ที่วันนี้ได้กลายเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในสังคมเมืองไปแล้ว จึงไม่แปลก หากจะเห็นการเปิดตัวพ็อกเกตบุ๊ก กันบ่อยครั้ง เฉลี่ยแล้วมากกว่า 40 ชื่อต่อวัน เดือนละประมาณ 1,250 ชื่อเรื่อง หรือปีละประมาณ 15,000 ชื่อเรื่อง

"แกะดำ" ของสำนักพิมพ์
         หนึ่งในผู้ประกอบการธุรกิจหนังสือรายใหญ่ของไทย ที่เราคุ้นเคยกันดี นั่นคือ "บริษัท ไพลินบุ๊คเน็ต จำกัด" ดำเนินธุรกิจสำนักพิมพ์ ผู้จัดจำหน่าย และร้านหนังสือ โดยมีจุดเด่นคือ เป็นผู้ผลิตหนังสือพ็อกเกตบุ๊กเป็นของตัวเอง ประมาณ 5,000 ชื่อเรื่อง ครอบคลุมทุกหมวดหมู่ โดยกลยุทธ์ทางการตลาดที่ทำให้ประสบความสำเร็จมาจนถึงวันนี้ก็คือ ช่องทางการขายปลีกถึงมือผู้อ่านทุกเพศทุกวัยในราคาประหยัด เช่น เล่มละ 29 บาท มีส่วนลดประมาณ 70% ถือเป็นจุดเด่นของบริษัทที่เหนือกว่าคู่แข่ง ทั้งๆ ที่เป็นหนังสือสภาพใหม่ 100%
         "จุดเด่นของเราคือ จุดขายปลีก ทั้งที่เป็นร้านหนังสือ มีเอาต์เลตเป็นของตัวเองประมาณ 200 แห่งทั่วประเทศ ขายในร้านหนังสือทั่วไป 2,000 แห่ง ขายใน บิ๊กซี เทสโก้ โลตัส และแม็คโคร 200 แห่ง มินิมาร์ตอีก 1,000 แห่ง เซเว่นอีเลฟเว่นอีก 3,000-4,000 แห่งทั่วประเทศ และประเทศลาว 1 แห่ง เรามีช่องทางการกระจายหนังสือหลากหลาย สามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้อย่างสะดวก เหล่านี้ล้วนแล้วแต่เอื้อต่อการเติบโตในอนาคต โดยกลุ่มเป้าหมายของเราก็คือ ระดับปริญญาตรีลงมาข้างล่าง" นายฉัตรเฉลิม เฉลิมชัยวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร  บริษัท ไพลินบุ๊คเน็ต จำกัด กล่าวกับ STOCK FOCUS
         "ฉัตรเฉลิม" เริ่มต้นชีวิตการทำงานจากงานเรียงพิมพ์ด้วยแสงครั้งแรกที่หนังสือพิมพ์รายวัน "เดลินิวส์" เมื่อประมาณ 30 ปีที่แล้ว คือการทำคอมพิวต์ออกมาแล้วนำมาตัดแปะเพื่อทำอาร์ทเวิร์ค ส่วนรุ่นล่าสุดคือการใช้คอมพิวเตอร์ทำทุกอย่าง ผ่านการทำงานมาหลายสำนักจนกระทั่งได้มีโอกาสร่วมงานกับ "อินไซด์ทีวี" หนังสือพิมพ์บันเทิงที่โด่งดังมากสมัยเมื่อประมาณ 20 ปีที่แล้ว
         "ผมพิมพ์ดีดเก่ง เพราะเรียนจบพาณิชย์ที่ โรงเรียนบพิตรพิมุข ปัจจุปันคือมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงครัตนโกสินทร์ บพิตรพิมุข จักรวรรดิ"
         ช่วงที่ทำหนังสือพิมพ์ "อินไซด์ทีวี"ก็เปิดบริษัทไพลินกราฟฟิค รับจ้างทำเรียงพิมพ์โดยทั่วไปด้วย โดยลงทุนร่วมกัน และถือว่าได้รับการสนับสนุนจากเพื่อนคือ "ไพลิน สีน้ำเงิน" เป็นอย่างดี จากนิตยสารอินไซด์ทีวี จนมองเห็นช่องทางการเปิดสำนักพิมพ์ จึงก่อตั้งบริษัทไพลินบุ๊คเน็ตขึ้นในปี พ.ศ. 2537 โดย เริ่มต้นธุรกิจจากเช่าทาวน์เฮาส์เล็กๆ กับเพื่อนพนักงานเพียง 3-4 คน จนถึงปัจจุบันกิจการเจริญเติบโตมั่นคง มีสำนักงานตั้งอยู่บนที่ดิน 14 ไร่ บนถนนเสรีไทย มีพนักงานกว่า 500 คน ทุนจดทะเบียน 150 ล้านบาท
         "ช่วงที่ทำงานเรียงพิมพ์ ก็รับงาน พ็อกเก็ตบุ๊คมาโดยตลอด พอถึงระยะเวลาหนึ่งคอมพิวเตอร์เริ่มเข้ามา เครื่องแม็คอินทอชที่ใช้จัดหน้าได้เริ่มเข้ามามีบทบาททดแทนการเรียงพิมพ์ด้วยแสง หลังจากอยู่ในแวดวงนี้มานาน ก็มองเห็นช่องทาง ก็เลยมาทำพ็อกเก็ตบุ๊ค แรกๆ ก็กู้เงินมาทำแล้วจัดจำหน่ายโดยดิสทริบิวเตอร์ ทั่วไปจัดจำหน่ายให้ เช่น ดอกหญ้าฯ เงินก็ได้มาช้า แทบจะอยู่ไม่ได้"
         ทำได้ลักษณะนี้ได้ประมาณ 2 ปีก็เริ่มลำบาก เพราะโดยระบบทำให้ได้เงินช้า จึงได้เปลี่ยนวิธีคิดใหม่ ด้วยการนำหนังสือที่มีไปออกบู๊ทเองทั่วประเทศ ถือเป็นสิ่งแปลกใหม่ที่สร้างขึ้น ไม่เหมือนรายอื่นๆ ที่ทำเปรียบเสมือนเป็น "แกะดำ"ของวงการพ็อกเก็ตบุ๊ค ทำในสิ่งที่วงการไม่ทำกัน ถือเป็นสิ่งที่แตกต่าง และกลายเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง ด้วยการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ให้กับวงการ
         "ปัจจุบันผมมีการจัดจำหน่าย 5 ช่องทาง คือ หนึ่ง ฝากขายร้านหนังสือทั่วประเทศประมาณ 3 พันแห่ง ซึ่งสำนักพิมพ์ทั่วประเทศในเมืองไทย รายได้ผ่านช่องทางนี้ประมาณ 95% แต่ผมผ่านช่องทางนี้แค่ 5% ช่องทางที่สอง คือ ออกบู๊ทขายเอง ประมาณ 200 แห่ง ช่องทางที่สาม ขายผ่านเซเว่น อีเลฟเว่น ช่องทางที่สี่ ขายผ่าน Mart ทั่วประเทศอีกประมาณ 1 พันแห่ง เช่น คาลเท็กซ์ เชลส์ แฟมิลี่มาร์ท เฟรชมาร์ท รวมๆ กัน ช่องทางที่ห้า คือ อื่นๆ เช่น ผ่านประเทศลาว มีสทีน คือขายตรงฯ เหล่านี้คือช่องทางที่สร้างขึ้นมาเอง ถือเป็นแกะดำของวงการ ถือเป็นคนบุกเบิกคนแรก"
         ขณะนี้ตลาดหนังสือพ็อกเกตบุ๊ก นอกจากจะเป็นที่นิยมและมีอัตราการเจริญเติบโตสูงทุกปีในประเทศแล้ว ยังเป็นที่นิยมของตลาดประเทศเพื่อนบ้านอีกด้วย ไพลินบุ๊คเน็ต ได้เปิดร้านหนังสือ พ็อกเกตบุ๊กของไพลินที่ศูนย์แสดงสินค้าลาว-ไอเทค ในกรุงเวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว มากว่า 3 ปีแล้ว โดยมีผลตอบรับอย่างดีมาก คนลาวนิยมอ่านหนังสือไทย เนื่องจากคนลาวปกติก็ชอบดูโทรทัศน์ไทยอยู่แล้ว จึงพูดอ่านเขียนไทยได้ อีกทั้งคนลาวยังมีกำลังซื้อและเกาะติดเทรนด์อย่างใกล้ชิด
         ส่วนหนังสือที่เป็นที่นิยมในลาวขณะนี้ เป็นหนังสือพวกวัยรุ่น หนังสือเกี่ยวกับการเลี้ยงดูเด็ก สุขภาพ ความงาม โหราศาสตร์ ทางไพลินบุ๊คเน็ต ต้องการบุกตลาดลาวให้กว้างขวางยิ่งขึ้น เนื่องจากเป็นเจ้าตลาดในด้านหนังสือพ็อกเกตบุ๊ก ราคาย่อมเยาในไทยอยู่แล้ว โดยจุดแข็งของบริษัทคือ หนังสือพ็อกเกตบุ๊กราคา 29 บาท ที่ใครๆ ก็ซื้อหามาอ่านได้ เป็น การจุดประกายของการสร้างปัญญาให้สังคมไทย

รู้ลึก รู้จริงในการลงทุน
         ปัจจุบัน "ฉัตรเฉลิม เฉลิมชัยวัฒน์"ถือเป็นอีกหนึ่งของผู้รู้ซึ้งกับคำว่า "ตลาดหุ้น" ประสบการณ์กว่า 20 ปีสอนให้รู้ว่า โอกาสเป็น "ผู้ชนะ" ในตลาดหุ้นมีแค่ 1 ใน 10 ดังนั้นจึงเข้าใจความหมายของคำว่า "นักลงทุนรายย่อย" ได้ดีอีกคนหนึ่ง และภารกิจสุดขอบฟ้าของเขาคือ "ปั้น"หุ้นไพลินบุ๊ค ธุรกิจที่หลายคนอาจจะมองว่าโอกาสประสบความสำเร็จนั้นไม่ง่าย แต่ด้วยความมุ่งมั่นเขาต้องการปั้น "บริษัท ไพลินบุ๊คเน็ต จำกัด" ให้เป็น Value Stock และ Growth Stock ในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) ภายในปลายปีนี้
         หลายคนทราบกันดีว่า "ฉัตรเฉลิม"คือผู้ก่อตั้ง สำนักพิมพ์ "ไพลินบุ๊ค" และเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไพลินบุ๊คเน็ต จำกัด ผู้ประกอบธุรกิจสำนักพิมพ์ ผู้จัดจำหน่าย และร้านหนังสือ แต่อีกด้านหนึ่งเขาคือ นักลงทุนตัวยงในตลาดหุ้นที่บอกว่า "วางมือ" แล้ว แต่ก็ยังบอกถึงเทคนิคการลงทุนที่ผ่านมา คือ จะใช้วิธีผสมผสานระหว่างความรู้ทางด้านปัจจัย พื้นฐาน ปัจจัยทางเทคนิค และที่สำคัญคือ "คอนเนคชั่น" เพราะเป็นคนที่มีเพื่อนเยอะทั้งที่หลักสูตร วปอ. (หลักสูตรวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร) ปปร. (หลักสูตรการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยสำหรับนักบริหารระดับสูง) ของสถาบันพระปกเกล้า และ Ex-MBA ที่ ม.เกษตรศาสตร์ เหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นสถานะทางสังคมที่เขาภาคภูมิใจ และมีเครือข่ายคอนเนคชั่นกับบุคคลทุกวงการ นายทหารระดับสูง นายตำรวจ นักธุรกิจ ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ และนักการเมือง และทุกคนที่เข้ามาเรียนก็คิดแบบเดียวกัน
         ถึงแม้จะตั้งกฎการลงทุนให้กับตัวเอง แต่สิ่งที่ยากที่สุดก็คือ การยึดกฎการลงทุนของตัวเองอย่างเคร่งครัดจึงทำให้มีปัญหา บ่อยครั้งที่เขายอมรับว่า "พลาด" เพราะ "แหกกฎ" เช่นซื้อหุ้น NOBLE ซื้อ ตั้งแต่ปี 2543 จำนวน 5 ล้านหุ้น ที่ราคา 2 บาทกว่า พอปี 2546 ราคาขึ้นไปถึง 17 บาท ก็ยังไม่ขาย เพราะเชื่อว่าจะไปถึง 20 บาท ส่วนหุ้น CK ซื้อเมื่อปี 2546 ราคาตอนนั้น 25 บาท มีอยู่ 1.5 ล้านหุ้น ผู้บริหารที่รู้จักกันบอกว่าหลังซื้อบริษัท น้ำประปาไทย ราคาจะไปถึง 50 บาท แต่ราคาหุ้นก็ตกลงมาตลอดก็ไม่ขาย หุ้น 2 ตัวนี้มาขายตอนปี 2551 ช่วงพันธมิตรบุกสภา ขาดทุนทั้งคู่
         ปัจจุบันเขาเหลือหุ้นอยู่ในพอร์ตแค่ 10 ล้านบาท กับหุ้นเพียง 2 ตัวคือ DISTAR และ AI และนำเงินทั้งหมดไปซื้อกองทุนหุ้นแทน เพราะมองว่าผลตอบแทนใกล้เคียงกับดัชนี ซึ่งแนวคิดนี้เกิดขึ้นหลังจากกลับมามองตัวเอง วิเคราะห์ตัวเอง รวมทั้งได้วิถีทางจาก "ดร.สุวรรณ วลัยเสถียร" จึงทำให้แนวความคิดค่อยๆ เปลี่ยนไป และมีการจัดพอร์ตการลงทุนอย่างเหมาะสม คือ ลงทุนในหุ้น (และกองทุนหุ้น) 50% อสังหาริมทรัพย์ 30% และตราสารเงิน 20% พร้อมกับสะสมที่ดินย่านรามอินทราไว้แล้วจำนวนหนึ่ง มีบ้านสามหลังให้ตัวเอง แม่ยาย และน้องสาวอยู่ มีคอนโดมิเนียมให้เช่า 5-6 แห่ง ทั้งหมดนี้จะเก็บเอาไว้เป็นมรดกให้กับลูกๆ นอกจากนี้ยังมีลงทุนใน ทองคำ ซื้อสะสมไว้ตั้งแต่ราคาบาทละ 4,000 บาท มีนาฬิกาโรเล็กซ์ 30 เรือน รวมถึงรถสปอร์ต  Corvette มีคันเดียวในประเทศไทย
         "ไพลินบุ๊คเน็ต" ได้เตรียมตัวที่จะเข้าเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ mai แล้ว โดยได้แต่งตั้งบริษัท ฟินเน็กซ์ แอ๊ดไวเซอรี่ จำกัด เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน เตรียมขายหุ้นเพื่อระดมทุนและเข้าเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาด mai ภายในปลายปี 53 ซึ่งที่นี่มีจุดเด่นคือ เป็นผู้ผลิตหนังสือพ็อกเก็ตบุ๊ค ด้วยตัวเองประมาณ 5,000 ชื่อเรื่อง ทำให้มีหนังสือหลากหลายครอบคลุมทุกๆหมวดหมู่ และครอบคลุมผู้อ่านทุกเพศทุกวัย ส่วนเงินที่ได้จากการระดมทุนจะนำไปขยายไลน์หนังสือเปิดร้านหนังสือใหม่ และเป็นเงินทุนหมุนเวียน
         "เข้าตลาดหลักทรัพย์เอ็มเอไอ (MAI) ทุนจดทะเบียนจะเพิ่มจาก 150 ล้านบาทเป็น 200 ล้านบาท โดยบริษัทมีแผนการเสนอขายหุ้นไอพีโอจำนวน 50 ล้านหุ้น หรือคิดเป็น 25% ของทุนจดทะเบียน อยู่ระหว่างยื่นขออนุมัติไฟลิ่ง เงินที่ได้จากการระดมทุน บริษัทจะนำไปชำระคืนเงินกู้สถาบันการเงินประมาณ 30 ล้านบาท, ขยายไลน์หนังสือ เปิดร้านหนังสือใหม่ โดยจะนำเงินไปขยายสาขา ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ 200 สาขา จะเพิ่มร้านหนังสือ 100 แห่ง ซึ่งจะใช้เงินลงทุนประมาณ 1 ล้านบาทต่อสาขา และที่เหลือเป็นเงินทุนหมุนเวียนของบริษัท"

มุ่งมั่นหมั่นศึกษา หนุนเด็กๆ รักการอ่าน
         ในมุมส่วนตัว ที่นอกเหนือจากการผลิตพ็อกเก็ตบุ๊คขายเพื่อให้ความรู้กับคนทั่วไป "ฉัตรเฉลิม" ได้วางแผนว่าจะทำงานให้กับ บริษัท ไพลินบุ๊คเน็ต จำกัด อีกประมาณ 3 ปีเท่านั้น หลังจากนำบริษัทดังกล่าวเข้าตลาดหุ้น mai เรียบร้อยก็จะหามืออาชีพมาช่วยบริหาร แต่ก็เริ่มให้หลานที่จบจากต่างประเทศเข้ามาศึกษางานบ้างแล้ว และสิ่งที่จะลงทุนหนักๆ ครั้งสุดท้ายในชีวิตจากนี้ไปก็คือ การคือซื้อประกันชีวิตแบบออมทรัพย์วงเงิน 100 ล้านบาท และลงทุนด้านการศึกษาด้วยการเรียนต่อปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยทักษิณ จากนี้ไปไม่นานเขาก็จะได้เป็น "ดอกเตอร์" อีกหนึ่งคนแล้ว ไม่หยุดอยู่แค่นี้ ยังมีสนใจที่จะไปเรียนที่สถาบันวิทยาการตลาดทุน หรือ "วตท." ซึ่งถือเป็นหลักสูตรที่น่าสนใจที่สุด เนื่องจากผู้เรียนส่วนใหญ่เป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ นักธุรกิจ ซีอีโอ และนักการเมืองระดับหัวหน้า ถือเป็นการเรียนรู้ครั้งสุดท้ายที่เขาบอกว่า "พอ" แล้ว จากนั้นก็จะหันมาทำงานทางด้านสังคมต่อ เพราะตอนเด็กๆ ชีวิตเคยยากจนมาก่อน จึงเข้าใจดีกว่า ต้องทำอะไรบ้าง
         "ผมสนับสนุนและส่งเสริมการอ่านให้กับเยาวชนไทย ที่ผ่านมาได้บริจาคหนังสือให้กับโรงเรียนและห้องสมุดหลายๆ แห่งทั่วประเทศมาเป็นเวลานานกว่า 10 ปี มูลค่ารวมกว่า 200 ล้านบาท รวมแล้วมากกว่า 1,000 โรงเรียนต่อปี ส่วนใหญ่จะเป็นพ็อกเก็ตบุ๊คเสริมความรู้ เสริมตำราเรียน เน้นระดับมัธยมศึกษาปีที่ 1 ถึง 6 ซึ่งเป็นกลุ่มเยาวชนที่กำลังเรียนรู้ และสาเหตุที่ผมเลือกบริจาคหนังสือ เพราะเป็นสิ่งที่มีคุณค่า ที่สำคัญผมถือเป็นความรับผิดชอบต่อสังคม มันคือหน้าที่ของคนไทยคนหนึ่งที่ประสบความสำเร็จทางธุรกิจ ต้องตอบแทนบุญคุณแผ่นดิน ช่วยเหลือสังคม มอบสิ่งดีๆ คืนสังคม หรืออาจเรียกว่า คืนกำไรให้กับสังคม เนื่องจากสังคมก็ช่วยทำให้ธุรกิจของเราประสบความสำเร็จ และถ้าไม่มีสังคมรักการอ่านธุรกิจของผมจะเติบโตได้อย่างไร"
         สำหรับโครงการในอนาคตด้านการบริจาคหนังสือ นอกจากการเดินสายบริจาคหนังสือทั่วประเทศเฉกเช่นที่เคยทำเป็นประจำทุกปีแล้ว ยังตั้งใจจะบริจาคหนังสือโดยมุ่งเน้นให้กับเยาวชนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นพิเศษ เพื่อเป็นกำลังใจให้กับเยาวชนในพื้นที่ดังกล่าว อีกด้วย
         อย่างไรก็ตาม หากไปเดินตามห้างสรรพสินค้าทั่วไป จะพบร้านขายหนังสือของ บริษัทไพรินบุ๊คเน็ต ได้ไม่ยากนัก แต่สิ่งหนึ่งที่ยืนยันได้ก็คือ หลังจากเปิดอ่านดูอยู่หลายเล่ม จะพบว่าที่นี่มีหนังสือทุกแนว ทั้งอาหาร ภาษาอังกฤษ รวมถึงหนังสือเด็กๆ มีตั้งแต่อนุบาล แบบฝึกอ่านเขียนแต่ที่ขายดีคนหยิบมากๆ เห็นจะเป็นหนังสือประวัติเรื่องเก่าๆ เรื่องเล่าของแผ่นดินสยาม และหนังสือแนวความเชื่อศาสนาพระเกจิและธรรมะฯ สิ่งเหล่านี้ได้แสดงให้เห็นว่า ที่นี่เป็นคนหนังสือตัวจริง และยังได้ส่งสัญญาณไปยังรัฐบาล ให้เอาจริงเอาจังเรื่องการอ่านของเด็กๆ ให้เกิดเป็นผลงานที่เด่นชัด หลังจากได้ทำโครงการเรียนฟรี 15 ปีไปแล้ว การส่งเสริมความรู้ให้แก่เด็กเยาวชน ก็ถือเป็นสิ่งที่ต้องทำอย่างต่อเนื่อง ควรส่งเสริมให้เห็นเป็นรูปธรรมให้มากกว่านี้

ตลาด mai กับการเติบโตที่ยั่งยืน
         หลังจากเป็นนักลงทุนมาหลายปี การนำหุ้นเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ mai ช่วงปลายปีนี้ เป็นสิ่งที่เขาคาดหวังค่อนข้างสูงที่จะสร้างให้ บริษัทไพรินบุ๊คเน็ต จำกัด เติบโตเป็น Value Stock และ Growth Stock ซึ่งในโลกยุคปัจจุบันที่การพูดคุยติดต่อสื่อสารถึงกันผ่านทางโทรศัพท์ไม่ว่าจะจากมุมไหนของโลกกลายเป็นเรื่องปกติ สังคมไทยในปัจจุบันก็เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วเช่นกัน ร้านขายของชำหรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่าโชว์ห่วยที่อยู่ตามซอย อยู่ตามหมู่บ้าน กลายเป็นร้านสะดวกซื้อที่ติดแอร์เย็นฉ่ำ มีตู้ขายซาลาเปาที่พนักงานขายพูดไม่เคยหยุด ทุกอย่างรอบตัวเราไม่เคยหยุดนิ่งเฉกเช่นเดียวกันกับกระแสเศรษฐกิจทุนนิยมของโลกเสรีที่พัดถาโถมเข้าใส่ประเทศไทยเราอย่างไม่หยุดยั้ง
         การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นทำให้ ผู้ประกอบธุรกิจในไทยต้องปรับตัวเข้าหาและยอมรับกับระบบทุนนิยมเสรีนี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และหนึ่งในสิ่งที่นักธุรกิจของไทยให้ความสนใจมากในระยะหลังๆ นั่นก็คือ การนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เพื่อระดมทุนด้วยการขายหุ้น IPO (Initial Public Offering) เจ้าของธุรกิจหลายๆ คนยังคงกลัวความเสี่ยงจากสภาวการณ์ที่ผันผวนและไม่แน่นอนทั้งจากเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจในประเทศ กอปรกับการชุมนุมทางการเมืองของกลุ่มผู้ชุมนุมทั้งสองสี ที่บางคนคิดว่านี่คือมหกรรมการแข่งกีฬาสีแห่งชาติไปเสียแล้ว
         แต่ถ้ามองกลับกันในแง่ดี ก็ยังมี นักธุรกิจไทยอยู่อีกจำนวนหนึ่งที่ยังอยากจะก้าวกระโดดเข้ามาลงทุนในตลาดทุนของไทย เพียงแต่รอเวลาและขอศึกษาข้อมูลให้ดีเสียมากกว่านี้ก่อนที่จะตัดสินใจอย่างที่ทุกคนทราบกันดีว่าในตลาดหลักทรัพย์นั้น ข้อมูลข่าวสารถือเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ผลดีและประโยชน์ที่จะได้รับจากการที่เจ้าของของธุรกิจตัดสินใจนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ นอกจากจะสามารถเรียกระดมเงินทุนได้มหาศาลจากประชาชนรายย่อย หรือนักลงทุนรายใหญ่ทั้งจากในประเทศและต่างประเทศที่สนใจในบริษัทของคุณ ผ่านทางการเข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัท เงินที่คุณได้มาจากการระดมทุน ยังสามารถเอาไปต่อยอดด้วยการขยับขยายกิจการภายในบริษัท เช่น นำเงินมาขยายสาขาออกไปให้เพิ่มมากขึ้น หรือนำมาบริหารจัดการต่ออย่างเป็นระบบ
         หลังจากนั้น เพื่อให้การขยายตัวไม่สะดุด แต่เดินหน้าอย่างไม่หยุดยั้ง ยังสามารถระดมเงินทุนเพิ่มเติมได้ ผ่านช่องทางทางการเงินรูปแบบต่างๆ เช่น การออกตราสารทางการเงินชนิดต่างๆ อาทิ การออกตราสารหนี้ ตราสารทุน การออกหุ้นสามัญเพิ่มทุน การออกหุ้นกู้ เป็นต้น ขึ้นอยู่กับความเหมาะสม อีกทั้งเป็นการสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันภายในองค์กร เพราะได้เปิดโอกาสให้พนักงาน ได้มีส่วนในการถือหุ้นผ่านทางโครงการเสนอขายหลักทรัพย์ให้แก่กรรมการหรือพนักงานของบริษัท อันจะนำมาสู่ความภาคภูมิใจในบริษัทที่ตนเองทำงานอยู่ เพราะนอกจากจะเป็นพนักงานประจำของบริษัทแล้ว อีกด้านหนึ่งพวกเขาก็สวมหัวโขนในการเป็นเจ้าของร่วมเช่นเดียวกัน
         "การสร้างองค์กรในอดีตที่ผ่านมา ประสบความสำเร็จได้ เพราะสิ่งหนึ่งก็คือ ผมได้ทำให้พนักงานเห็นว่า สิ่งที่เราทำนั้นเป็นสิ่งที่ดี สามารถพิสูจน์ได้ เป็นการสร้างการบริหารงานแบบมืออาชีพชัดเจน โดยเฉพาะระหว่างนี้อยู่ในกระบวนการสร้าง ทฤษฎีฉัตรเฉลิม เพื่อสร้างให้องค์กรก้าวเข้าสู่ความเป็นสากลมากยิ่งขึ้น จากบริษัทธรรมดาๆ ที่พพวกเขาเคยรู้จัก"
         นอกจากนี้ ยังจะสร้างสร้างหลักธรรมาภิบาล และการบริหารงานที่โปร่งใส ไม่ใช่ทำเพราะเป็นบริษัทที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ ที่มีกฎข้อบังคับตามกฎหมายแต่ความโปร่งใสที่ว่า ถือเป็นเรื่องสำคัญ อันจะกลายมาเป็นต้นแบบที่ดีในการบริหารงานต่อองค์กรอื่นๆ ในอนาคต มีผู้บริหารที่เป็นมืออาชีพระดับสากล ก็จะส่งผลในทางที่ดีต่อความน่าเชื่อถือให้กับคู่เจรจาการค้าทั้งในและต่างประเทศ
         "ปัจจุบันเราจับกลุ่มตลาดล่าง ซึ่งถือเป็นตลาดใหญ่ หลังจากเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ mai แล้ว จะมีการขยายไปยังตลาดบนเพิ่มเติม เพราะประโยชน์มากมายของบริษัทที่ได้จากการจดทะเบียนเข้าไปอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ จะทำให้เราเติบโตไม่หยุด แต่สิ่งหนึ่งที่จะขยายการลงทุนใดๆ เพิ่มเติมนั้น สิ่งที่ต้องตระหนักเลยก็คือ การลงทุนมีความเสี่ยง ควรศึกษาก่อนการตัดสินใจลงทุนทุกครั้ง"          การเปลี่ยนแปลงบทบาทครั้งนี้ "ฉัตรเฉลิม" ยืนยันว่า เขาเข้าใจคำว่า "นักลงทุนรายย่อย" ดีที่สุด เพราะเขาได้ผ่านมาด้วยตัวของเขาเอง ดังนั้นสิ่งใดที่นักลงทุนต้องการเป็นสิ่งที่เขาเข้าใจมาโดยตลอด ดังนั้นการผลักดันให้ บริษัทไพรินบุ๊คเน็ต จำกัด เติบโตเป็น Value Stock และ Growth Stock ถือเป็นความตั้งใจ ที่จะทำให้ได้ เหมือนดังที่เขาเคยเป็น "แกะดำ" ของวงการ "พ็อกเก็ตบุ๊ค" มาก่อนหน้า ทำให้วันนี้เขามั่นใจว่าการปั้น "ไพรินบุ๊คเน็ต" ไปสู่เป้าหมายดังกล่าวนั้น "ทำได้" อย่างแน่นอน

         --STOCK FOCUS ฉบับเดือน พฤษภาคม 2553-
ภาพประจำตัวสมาชิก
jinxyboy
Verified User
โพสต์: 230
ผู้ติดตาม: 0

ฉัตรเฉลิม เฉลิมชัยวัฒน์ บริษัท ไพลิน บุ๊คเน็ต จำกัด

โพสต์ที่ 2

โพสต์

ใช่โซนหนังสือที่อยู่ใน Lotus ตรงแถวๆขายซีดีรึเปล่าครับ
ภาพประจำตัวสมาชิก
reiter
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 2308
ผู้ติดตาม: 7

ฉัตรเฉลิม เฉลิมชัยวัฒน์ บริษัท ไพลิน บุ๊คเน็ต จำกัด

โพสต์ที่ 3

โพสต์

เออ ผมก็หนอนหนังสือตัวยงนะ ทำไมแทบไม่เคยซื้อหนังสือของไพลินเลยหว่า  :?:  :?:  :?:
Our favorite holding period is forever.

Blog การลงทุนของผม

http://reitertvi.wordpress.com
ภาพประจำตัวสมาชิก
Sorgios
Verified User
โพสต์: 368
ผู้ติดตาม: 0

ฉัตรเฉลิม เฉลิมชัยวัฒน์ บริษัท ไพลิน บุ๊คเน็ต จำกัด

โพสต์ที่ 4

โพสต์

ไพลินนี่ขายหนังสือประเภทไหนครับ

ใช่พวกนิยายวัยรุ่นรึเปล่าหว่า เห็นว่าเดี๋ยวนี้มีเยอะมาก

สอครับ :D
CHIN UP, Do not give up !!!
Dekfaifah
Verified User
โพสต์: 1220
ผู้ติดตาม: 0

ฉัตรเฉลิม เฉลิมชัยวัฒน์ บริษัท ไพลิน บุ๊คเน็ต จำกัด

โพสต์ที่ 5

โพสต์

ไม่รู้เป็นกลยุทธ์หรือเปล่านะครับ ผมเห็นทีไร เค้าขาย Sale กันประจำเลย เดินไปห้างไหนๆ ก็เห็นขาย Sale กัน  ไม่รู้ว่า กลยุทธ์หรือว่า สินค้า out stock
ท่านใดพอทราบบ้างครับ ?
nakhonas
Verified User
โพสต์: 4
ผู้ติดตาม: 0

ฉัตรเฉลิม เฉลิมชัยวัฒน์ บริษัท ไพลิน บุ๊คเน็ต จำกัด

โพสต์ที่ 6

โพสต์

เคยเข้าไปเลือกดูไม่ได้เล่มที่ถูกใจกลับบ้านเลย
คิดว่าสำหรับกลุ่มลูกค้าที่เน้นหนังสือราคาถูกมากกว่านะครับ
pak
Verified User
โพสต์: 5659
ผู้ติดตาม: 5

Re: ฉัตรเฉลิม เฉลิมชัยวัฒน์ บริษัท ไพลิน บุ๊คเน็ต จำกัด

โพสต์ที่ 7

โพสต์

'ไพลินบุ๊คเน็ต' เร่งยอดขายเน้นเจาะลูกค้าแหล่งชุมชน [ นสพ.ทันหุ้น, 20 ก.ย. 54 ]

ผ่ากลยุทธ์ทำตลาดสไตล์ "ไพลิน บุ๊คเน็ต" เผยนอกจากปฏิวัติการทำหนังสือราคาย่อมเยา และเน้น
ความหลากหลายของหนังสือเพื่อให้ครอบคลุมกลุ่มลูกค้าเป้าหมายแล้ว ยังเน้นการเจาะเข้าสู่กลุ่มเป้าหมาย
ด้ายการอำนวยความสะดวกสู่ลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย โดยตั้งบูธในชุมชนต่างๆ ที่มีความหนาแน่นของกลุ่มลูกค้า
ทั้งสถานีขนส่ง หัวลำโพง โรงพยาบาลรวมถึงตลาดนัด ชี้เป็นช่องทางขายสำคัญ เหตุสอดคล้องกับพฤติกรรม
ลูกค้าเป้าหมาย ขณะที่ต้นทุนค่าพื้นที่ถูกกว่าห้างสรรพสินค้า ยืดหยุ่นและเคลื่อนที่ไว เพิ่มมาร์จิ้นให้ได้มากกว่า
ด้วยยอดขายเท่าเดิม
"แม้การลงทุนจะมีความเสี่ยง แต่มันก็มีความฝันปะปนด้วยอยู่เสมอ..."
tanateyupa
Verified User
โพสต์: 68
ผู้ติดตาม: 0

Re: ฉัตรเฉลิม เฉลิมชัยวัฒน์ บริษัท ไพลิน บุ๊คเน็ต จำกัด

โพสต์ที่ 8

โพสต์

สัจจะคือความจริง อะไรก็ตามที่มากเกินไปมักพบกับจุดหักเหหรือจุดเปลี่ยน “ฉัตรเฉลิม เฉลิมชัยวัฒน์” ชายผู้รู้ซึ้งกับคำว่า ‘ตลาดหุ้น’

เขาคือผู้ก่อตั้ง สำนักพิมพ์ไพลินบุ๊ค และเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไพลินบุ๊คเน็ต จำกัด ผู้ประกอบธุรกิจสำนักพิมพ์ ผู้จัดจำหน่าย และร้านหนังสือ แต่อีกด้านหนึ่งของเหรียญ ฉัตรเฉลิม เฉลิมชัยวัฒน์ คือ นักลงทุนตัวยงในตลาดหุ้น ประสบการณ์ 20 ปีสอนให้ชายผู้นี้รู้ว่า โอกาสเป็น “ผู้ชนะ” ในตลาดหุ้นมีแค่ 1 ใน 10 เท่านั้น

ภารกิจสุดท้ายก่อนเกษียณ ฉัตรเฉลิม เตรียม “ปั้น” หุ้นไพลินบุ๊ค ธุรกิจที่หลายคนมองว่า “ตะวันตกดิน” ให้เป็น Value Stock และ Growth Stock ในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) ให้สำเร็จ

ราวๆ ปลายปี 2549 ชื่อ ฉัตรเฉลิม เริ่มปรากฏบนหน้าสื่อด้วยข้อสังเกตว่าเขาอาจเป็น “นอมินี” ของ “เสี่ย พ” พายัพ ชินวัตร เซียนหุ้นรายใหญ่ที่มีข่าวจะเทคโอเวอร์หุ้นดีอี แคปปิตอล (DE) ขณะนั้นมีการทำธุรกรรมผ่าน บล.ยูไนเต็ด อย่างเอิกเกริก ไม่เพียงแต่หุ้น DE ที่ถูกตราหน้าว่าเป็น “หุ้นปั่น” ฉัตรเฉลิมยังเข้าไปพัวพัน “หุ้นร้อน” อีกหลายตัว รวมถึงหุ้น “ปิคนิค” ที่สุดแสนจะหวือหวาและน่าสะพรึงกลัว

ชายผู้เก็บงำด้านสว่างของเหรียญในฐานะนักธุรกิจร้านหนังสือผู้ประสบความ สำเร็จ กำลังจะถูกด้านมืดอีกด้านของเหรียญกลืนภาพลักษณ์จนกลายเป็น “บุคคลสีเทา”

ฉัตรเฉลิม เคยเปิดตัวให้สัมภาษณ์กรุงเทพธุรกิจ BizWeek ฉบับต้นปี 2550 จากนั้นชื่อนี้ก็เงียบหายไปในรัตติกาล กระทั่งปลายปี 2552 ที่ผ่านมา บริษัท ไพลินบุ๊คเน็ต จำกัด เปิดตัวพร้อมจะเข้าเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ mai โดยแต่งตั้ง บริษัท ฟินเน็กซ์ แอ๊ดไวเซอรี่ จำกัด เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน

“เขากลับมาแล้ว” โจทย์แรกแวบ!!!ขึ้น ดาวฤกษ์ผู้เปล่งแสงยามรัตติกาลจะเป็นผู้ไขความลับสัจธรรมแห่งตลาดหุ้น สัจจะความยั่วยวนที่ไม่เที่ยงแท้ และเต็มไปด้วยยาพิษ

เจ้าของสำนักพิมพ์ไพลินบุ๊ค เล่าให้กรุงเทพธุรกิจ BizWeek ฟังว่า จุดเริ่มต้นสู่เส้นทางนักลงทุนเริ่มจากการอ่านหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ประมาณปี 2531 หลังเหตุการณ์ Black Monday ทำให้ค่อยๆ ซึมซับข่าวสารเศรษฐกิจและการลงทุน จากนั้นพอซัดดัมบุกอิรักเมื่อปี 2533 ก็เริ่มลงทุนในตลาดหุ้นตามพี่ชาย แต่เล่นบ้างหยุดบ้าง มาเริ่มจริงจังตอนหลังวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 เพราะธุรกิจสำนักพิมพ์เริ่มอยู่ตัว
โอกาสของฉัตรเฉลิม “เปิด” เขาเห็น SET Index ลงมาอยู่ที่ 207 จุด (4 กันยายน 2541) เทียบกับตอนที่เริ่มเปิดตลาดหุ้นปี 2518 ที่ระดับ 100 จุด หัวสมองของพ่อค้าคำนวณทันทีคิดว่านี่น่าจะเป็น “จุดต่ำสุด” แน่นอนแล้ว เขาค่อยๆ ซื้อหุ้นเฉลี่ยที่ดัชนี 250 จุด แล้วมาขายที่ดัชนีประมาณ 400 จุด ช่วงปี 2542-2543 ได้กำไรเป็นกอบเป็นกำ

ย้อนมาจุดที่ทำให้สนใจการลงทุน เขาเล่าว่า มาจากนิสัยชอบการเรียนรู้ ประกอบกับได้มาจากการเรียน Ex-MBA ที่ ม.เกษตรศาสตร์ และฟังมาจาก อ.สุวรรณ วลัยเสถียร ด้วย ทำให้มีความเข้าใจในทฤษฎีการเงิน และการลงทุน ระหว่างที่เรียนก็กลับเข้าตลาดหุ้นอีกครั้งตอนดัชนีอยู่ที่ 300 จุด เข้าซื้อเฉลี่ยที่ดัชนี 350 จุด

“ผมเป็นคนกล้าได้กล้าเสียและรักเพื่อนมาก เลยบอกว่าจะพาเพื่อน (Ex-MBA) ทั้งรุ่น 80 คน ไปเที่ยวประเทศจีนโดยออกค่าใช้จ่ายให้ทั้งหมด โดยมีเงื่อนไขว่าหุ้นต้องขึ้นไปที่ 500 จุด พอปี 2546 ตลาดขึ้นมาที่ 600-700 จุด ผมขายหุ้นออกหมดทำกำไรได้มหาศาลแล้วพาไปเที่ยวเมืองจีนตามคำสัญญา”

นิสัยกล้าได้-กล้าเสี่ยง รักเพื่อนและใจถึงไม่เป็นรองใคร คือที่มาของการเปลี่ยนแปลงและชักนำไปสู่เกมพนันในตลาดหุ้นที่สุดท้าทาย ในชั้นเรียน Ex-MBA รุ่นที่ 10 สำหรับผู้บริหารที่ ม.เกษตรศาสตร์ คลาคล่ำไปด้วยเพื่อนนักธุรกิจ นักลงทุนรายใหญ่ รวมกระทั่งนักการเมืองคนดัง ที่เข้ามาแลกเปลี่ยนคอนเนคชั่นกันในชั้นเรียน

อาทิ พ.ต.ท.พงษ์เทพ ลาภวิสุทธิสิน ประธานกรรมการ บมจ.ปิคนิค คอร์ปอเรชั่น พี่ชาย สุริยา ลาภวิสุทธิสิน รัตนา เสถียรวารี นักลงทุนรายใหญ่ ในรุ่นนี้ยังมี มณฑาทิพย์ ชินวัตร ประธานกรรมการบริหาร บมจ.เอ็ม ลิ้งค์ เอเชีย คอร์ปอเรชั่น น้องสาว พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และก็ยังมีนักการเมืองคนดัง อีก 2 คน คือ สุธรรม แสงประทุม และ องอาจ คล้ามไพบูลย์ เป็นต้น

ที่ชั้นเรียน Ex-MBA ที่ ม.เกษตรศาสตร์ ชักนำให้ฉัตรเฉลิมได้รู้จักมักคุ้นกับชายผมม้า-หน้าตี๋ ซึ่งต่อมามีดีกรีเป็นถึงอดีต รมช.พาณิชย์ สุริยา ลาภวิสุทธิสิน (ขณะนั้นอยู่ในมุ้งสมศักดิ์ เทพสุทิน) ผู้ที่เปลี่ยนแปลงชีวิตการลงทุนของเขาไปสู่ด้านมืด

“เขา (สุริยา) มาขอยืมเงินผมให้ปิคนิคไปซื้อหุ้นบี-กริม แล้วบอกว่าจะคืนเป็นหุ้นแทน ตอนหลังปิคนิคขายหุ้นเพิ่มทุนราคา 30 บาท เขาแบ่งมาให้ผม 400,000 หุ้นบวกวอร์แรนท์ ต่อมาราคาหุ้นขึ้นมาที่ 80 บาท ผมก็ขายหมดเกลี้ยงได้กำไรมา 30-40 ล้านบาท”

ต่อมาสุริยาก็มาเสนอขายหุ้นอีสเทิร์นไวร์ (EWC) ให้อีก (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น บมจ.แคปปิทอล เอ็นจิเนียริ่ง หรือ CEN) ฉัตรเฉลิมเลยควักกระเป๋าซื้อไป 1 ล้านหุ้น ที่ราคา 40 บาท และขายไปตอน 80 บาท แถมยังถูกเชิญให้ไปเป็นกรรมการผู้มีอำนาจใน บริษัท ธนสินประกันภัย จำกัด แต่โชคดีเกือบโดนปิดกิจการ

“หลังจากผมซื้อหุ้นสองตัวนี้ไป (PICNI-EWC) ราคาก็เริ่มหวือหวา พอแตกพาร์เหลือ 1 บาท ผมก็เลิกยุ่ง เขา (สุริยา) มาพูดว่าระวังจะทำเงินหล่นหายแต่ตอนนั้นไม่เชื่อแล้ว ผมคบกับเขามานานเลยรู้ดีว่าที่เขาทำไม่ใช่ของจริง”

นอกจากหุ้น “เสี่ยผมม้า” ที่เข้าไปพัวพัน ยังเคยเข้าไปคลุกฝุ่นอยู่กับ “หุ้นร้อน” อีกหลายตัวในอดีต เช่น หุ้นเพาเวอร์-พี (POWER) ตัวนี้ก็มีสุริยาอยู่เบื้องหลัง หุ้นไดสตาร์ อิเลคทริก (DISTAR) หุ้นเอเชียนอินชูเลเตอร์ (AI) หุ้นเอ็ม ลิ้งค์ เอเชีย คอร์ปอเรชั่น (MLINK) แต่ที่กำไรเหนาะๆ ก็มีหุ้น ริช เอเชีย สตีล (RICH)

“ผมยังกำไรหุ้น SE-ED ด้วย ไปซื้อตอนปี 2547 ราคา 5 บาท มาขายปี 2550 ราคา 8 บาท เพราะทำธุรกิจคล้ายกัน ส่วนหนึ่งเพราะหุ้นตัวนี้ดีจริงแถมมีธรรมาภิบาลสูงด้วย”

ฉัตรเฉลิมถือโอกาส “แก้ต่าง” ตอนที่ถูกมองว่าเป็น “นอมินี” ของ พายัพ ชินวัตร ครั้งที่ร่วมเข้าไปเทคโอเวอร์หุ้น DE เมื่อปลายปี 2549 เล่าว่าบังเอิญเขา (พายัพ) เล่นมาร์จินอยู่ที่ บล.ยูไนเต็ด เหมือนกับ “นอมินีตัวจริง” (ของพายัพ) 3-4 คน (อาทิ สุพัจจา ตันน์ไพรัตน์ และโยคิน เจริญสุข) พอดีเลยมีชื่อผมติดไปด้วย ขอยืนยันว่าไม่เคยเป็น “นอมินี” ให้กับ พายัพ ชินวัตร

ส่วนสาเหตุที่ “ขาดทุน” จากหุ้นร้อนที่เข้าไปคลุกคลีด้วย เจ้าของสำนักพิมพ์ไพลินบุ๊ค บอกว่า ที่ขาดทุนส่วนใหญ่เป็นเพราะ “เพื่อนกัน” (หุ้นเพื่อน-ช่วยเพื่อน) ทั้งนั้น แต่ถ้าเล่นเองรับรอง “กินผมยาก”

สำหรับเทคนิคการลงทุนส่วนตัวเป็นการผสมผสานระหว่างความรู้ทางด้านปัจจัย พื้นฐาน ปัจจัยทางเทคนิค และที่สำคัญคือ “คอนเนคชั่น” เพราะเป็นคนที่มีเพื่อนเยอะทั้งที่หลักสูตร วปอ. (หลักสูตรวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร) ปปร. (หลักสูตรการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยสำหรับนักบริหารระดับสูง) ของสถาบันพระปกเกล้า และ Ex-MBA ที่ ม.เกษตรศาสตร์ ที่ ฉัตรเฉลิมใช้เวทีเหล่านี้สร้างเครือข่ายคอนเนคชั่นกับบุคคลทุกวงการ นายทหารระดับสูง นายตำรวจ นักธุรกิจ ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ และนักการเมือง และทุกคนที่เข้ามาเรียนก็คิดแบบเดียวกัน

สัปดาห์หน้าคอยพบกับ เซียนหุ้นผู้พบ “สัจธรรม” ตอนที่ 2 (ตอนสุดท้าย) ลงทุนอย่างไรให้รวย ล้างมือในอ่างทองคำ และแผนปั้น “ไพลินบุ๊คเน็ต” เป็น Value-Growth Stock ในตลาดหลักทรัพย์ mai

ที่มา Bangkok Biz News


เป็นผู้บริหารที่ไม่ธรรมดาจริง ๆ :P
โพสต์โพสต์