ใช้ P/E เท่าไรดี?

การลงทุนแบบเน้นคุณค่า ลงทุนหุ้น VI เน้นที่ปัจจัยพื้นฐานเป็นหลัก

โพสต์ โพสต์
i_sarut
Verified User
โพสต์: 1808
ผู้ติดตาม: 1

ใช้ P/E เท่าไรดี?

โพสต์ที่ 1

โพสต์

คิดว่าบทความนี้น่าจะมีประโยชน์กับมือใหม่นะครับ  :P

##########

ใช้ P/E เท่าไรดี - สมบัติ นราวุฒิชัย / เลขาธิการ สมาคมนักวิเคราะห์

http://www.posttoday.com/stockmarket.php?id=62864


P/E หรืออัตราส่วนของราคาหุ้น (P) หารด้วย กำไรต่อหุ้น (EPS) นับเป็นอาวุธขั้นพื้นฐานของบรรดานักลงทุนในตลาดหุ้นทั่วโลก ที่แต่ละคนต้องไขว่คว้าหา P/E ของหุ้นหรือตลาดหุ้นโดยรวมมาไว้ในมือ ก่อนโดดเข้าโรมรันพันตูต่อสู้กับคู่แข่งอื่นๆ เพื่อแย่งผลตอบแทนจากการลงทุน

นักลงทุนเกือบทุกคนจะได้รับการบอกเล่าถึงความหมายของ P/E และวิธีการใช้หาราคาหุ้นที่น่าจะเหมาะสมมาแล้วอย่าง โชกโชน

แต่ เรื่องของ P/E ก็ยังมีปัญหาให้นักลงทุน (บางทีก็นักวิเคราะห์ด้วย) ต้องสับสนอยู่หลายเรื่อง ผมจึงขอนำมาพูดคุยผ่านคอลัมน์กับคุณๆ ผู้อ่านด้วย ดังนี้ครับ

เพียงแค่เรื่อง P/E เท่าไหร่แล้ว ก็ยังมีข้อมูลที่กระเจิดกระเจิงไปตั้ง 3-4 ทาง ส่วนใหญ่เกิดจากใช้ E หรือ EPS คนละช่วงเวลา กล่าวคือ

- บางคนพูดที่ EPS ในอดีตที่ประกาศงบกันไปแล้ว เช่น ข้อมูลที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ประกาศทุกเย็น ต้องอิงข้อมูลที่เกิดจริงไปแล้ว จึงใช้ EPS ที่ประกาศแล้ว 4 ไตรมาสล่าสุดรวมกัน ยกตัวอย่างเช่น วันก่อนที่ดัชนีหุ้น 631 จุด P/E ของตลาดหุ้นโดยรวมคือ 23 เท่า (เห็นอย่างนี้อาจตกใจนึกว่าลุยหุ้นเพลินจน P/E แพงขนาดนี้ แต่ที่จริงเป็นเพราะในช่วง 4 ไตรมาสล่าสุด มีกรณีขาดทุนพิเศษในไตรมาส 4 ปี 2551 ทำให้ E ต่ำผิดปกติ)

- ส่วนในกรณีของพวกนักวิเคราะห์ก็จะมีฐานข้อมูลที่ทำประมาณ การคาดไปข้างหน้าด้วย 2-3 ปี ส่วนใหญ่ก็จะพูดโดยใช้ EPS ของปีปัจจุบันที่ยังไม่จบปี ขณะนี้ก็คือ ปี 2552 ซึ่งแต่ละคนแต่ละค่าย ตัวเลขก็ต่างกันตามแต่สมมติฐานที่ใช้คำนวณ เท่าที่ดูตอนนี้ P/E 2552 ของทั้งตลาดก็อยู่ในช่วง 11 ถึง 13 เท่า

- นอกจากนี้ยังมีบางท่านที่ใช้ EPS ของปีหน้า เช่น ปี 2553 ไปเลยก็มี ซึ่งตัวเลขก็จะต่างกันอีก เวลาเราคุยกับใครจึงต้องพิจารณาให้ดีว่า พูดแบบ E ของปีไหน และสมมติฐานคืออะไร

- ใช้ EPS เฉพาะจากกำไรปกติทางธุรกิจ (Normalized Profit) หรือเปล่า หรือใช้แบบรวมกำไรขาดทุนพิเศษเข้าไปด้วย บางปีและบางบริษัทอาจจะมีกำไรหรือขาดทุนจากรายการพิเศษที่ไม่ได้เกิดเป็น ประจำแบบต่อเนื่อง เช่น ปี 2551 พวกบริษัทโรงกลั่นน้ำมันขาดทุนสต๊อกน้ำมันเละเทะในครึ่งปีหลัง ถือเป็นเหตุการณ์พิเศษทำให้ EPS ต่ำผิดปกติ

โดยหลักการที่ดี ควรคำนวณจากระดับกำไรปกตินะครับ


- ถัดมา ถ้าเป็นหุ้นรายตัว ในกรณีที่มีการเพิ่มทุนในระหว่างปีเกิดขึ้น ทำให้จำนวนหุ้นเพิ่มขึ้น กรณีนี้จะชุลมุนเป็นพิเศษ

สมมติ นะครับว่า หุ้นบริษัท กขค เคยมีอยู่ 100 ล้านหุ้น แล้วพอกลางปี เพิ่มทุนเป็น 150 ล้านหุ้น แล้วเราประมาณการสิ้นปี จะมีกำไร 150 ล้านบาท

ถ้า ใช้จำนวนหุ้นล่าสุด (แบบวิธี Fully Diluted) 150 ล้านหุ้นไปหาร ก็จะได้ EPS หุ้นละ 1 บาท แต่บางท่านก็มองว่าตอนครึ่งปีแรกมีหุ้นแค่ 100 ล้านหุ้น เงินที่ได้จากการเพิ่มทุนยังไม่ได้นำไปใช้ปั๊มกำไรในครึ่งปีแรก จึงต้องใช้วิธีถัวเฉลี่ยถ่วงน้ำหนัก ได้จำนวนหุ้นเฉลี่ย 125 ล้านหุ้นแทน กรณีนี้เวลาพูด EPS ตัวเลขก็จะสูงกว่า ทำให้ P/E ก็จะต่ำกว่าวิธี Fully Diluted

เรื่องนี้ยิ่งอภิปรายกันยาวหนักเข้าไปอีก ปกติผมเล่าให้นิสิต MBA ฟังก็เกือบชั่วโมง ถ้าเอามาเขียนคงยาวสัก 2-3 หน้าโพสต์ทูเดย์เป็นอย่างน้อย ในที่นี้จะเขียนย่อสุดๆ หลายๆ วิธีที่ใช้กันอยู่นั้น มันก็ยังมีจุดโหว่ในแต่ละวิธี เช่น

- เอา P/E เฉลี่ยในอดีตมาคิด จุดโหว่คือ อนาคตอาจเป็นคนละภาพกับอดีต เช่น สมัย 15 ปีก่อน ตอนโทรศัพท์มือถือเติบโตมากๆ เราก็ให้ P/E เยอะ ตอนนี้โตช้าแล้วจึงเอา P/E อดีตมาช่วยชี้อนาคตไม่ได้

- เอา P/E ของหมวดเดียวกันตอนนี้ ไปใช้กับหุ้นอีกตัว เพราะอยู่หมวดเดียวกัน จุดโหว่คือ แนวโน้มการเติบโต, ระดับความเสี่ยง อาจจะต่างกันมาก P/E ก็ไม่ควรเท่ากันครับ

- เอา P/E ของต่างประเทศมาใช้กับหุ้นไทย (ส่วนใหญ่จะบอกว่า หุ้นไทยยังถูก) อันนี้ดูแล้วอินเตอร์ดี แต่ปัญหาที่มีคือ ประเทศที่ต่างกันมีจุดแตกต่างทั้งระดับการเติบโตของธุรกิจ ความเสี่ยงของ 2 ประเทศก็ต่าง (คงเดาออกนะครับว่าเราเสี่ยงกว่าหรือเปล่า) ระดับอัตราดอกเบี้ยของ 2 ประเทศก็ต่าง

ผมจะเล่าให้นิสิตฟังเสมอว่า โดยหลักการที่ดีแล้ว เราควรคำนวณแบบนักการเงิน ตัวแปรที่จะทำให้ P/E สูงหรือต่ำ ได้แก่

1.ระดับอัตราดอกเบี้ย ถ้าต่ำลง P/E ก็สูงขึ้น

2.การเติบโตของกำไร ถ้าโตมาก P/E ก็สูงกว่า

3.ระดับความเสี่ยง ถ้าเสี่ยงมาก แบบ 3 ปีมานี้ (จะเป็นทางเศรษฐกิจ ทางการเมือง หรือทางพฤติกรรมราคาหุ้นก็ตาม) P/E ก็ควรจะเตี้ยกว่า

4.สภาพคล่องในการซื้อขายเปลี่ยนมือ ถ้าต่ำก็เสี่ยง P/E ก็ ต้องต่ำ

5.ลักษณะความผันผวนทางธุรกิจ ถ้าสูงก็เสี่ยง P/E ก็ต่ำอีก

- ถ้าถามผมว่า P/E เท่าไหร่จะเหมาะสม ก็ขึ้นอยู่กับเรายืนอยู่ปีไหน ตัวแปรที่ผมแจงไปเป็นอย่างไร และ P/E ของตลาดก็จะต่างจากหุ้นรายตัว ที่ต้องว่าเป็นตัวๆ ไป

ส่วนกรณี P/E ตลาดหุ้นไทยปีนี้ ตามสมมติฐานว่ามีกำไร แบบปกติที่ 4 แสนล้านบาท เราน่าจะพร้อมแค่ P/E สัก 12.5 เท่า คือ SET Index ประมาณ 630 จุดนะครับ เกินกว่านี้ทันทีถือว่าแพง

http://www.posttoday.com/stockmarket.php?id=62864
"Risk comes from not knowing what you're doing" - Warren Buffet

สุดยอดของความซับซ้อนคือความเรียบง่าย

http://www.sarut-homesite.net/
aonzzung
Verified User
โพสต์: 611
ผู้ติดตาม: 0

ใช้ P/E เท่าไรดี?

โพสต์ที่ 2

โพสต์

1.ระดับอัตราดอกเบี้ย ถ้าต่ำลง P/E ก็สูงขึ้น

2.การเติบโตของกำไร ถ้าโตมาก P/E ก็สูงกว่า

3.ระดับความเสี่ยง ถ้าเสี่ยงมาก แบบ 3 ปีมานี้ (จะเป็นทางเศรษฐกิจ ทางการเมือง หรือทางพฤติกรรมราคาหุ้นก็ตาม) P/E ก็ควรจะเตี้ยกว่า

4.สภาพคล่องในการซื้อขายเปลี่ยนมือ ถ้าต่ำก็เสี่ยง P/E ก็ ต้องต่ำ

5.ลักษณะความผันผวนทางธุรกิจ ถ้าสูงก็เสี่ยง P/E ก็ต่ำอีก
เอ่อ ผมอ่านแล้วยังไม่เก็ท นะครับ ว่าแต่ละข้อมันต่ำมันสูงเพราะอะไร แล้วที่ว่า สูงกว่า เตี้ยกว่าเนี่ย เทียบกับ P/E ของตลาดหรอครับ
พี่ๆคนไหนช่วยกรุณาอธิบายขยายความหน่อยได้มั้ยครับ
Boring Stock Lover
Verified User
โพสต์: 1301
ผู้ติดตาม: 0

ใช้ P/E เท่าไรดี?

โพสต์ที่ 3

โพสต์

aonzzung เขียน: เอ่อ ผมอ่านแล้วยังไม่เก็ท นะครับ ว่าแต่ละข้อมันต่ำมันสูงเพราะอะไร แล้วที่ว่า สูงกว่า เตี้ยกว่าเนี่ย เทียบกับ P/E ของตลาดหรอครับ
พี่ๆคนไหนช่วยกรุณาอธิบายขยายความหน่อยได้มั้ยครับ
ปกติ PE จะผกผันกับความเสี่ยง (ของผลตอบแทน) ของที่ได้แน่ๆ ความเสี่ยงค่อนข้างต่ำ ก็จะมี PE สูง ถ้าเทียบแบบสุกขั้วก็ดอกเงินฝาก PE เท่ากับเท่าไหร่ หรือ พันธบัตรรัฐบาล ถ้าคิดเป็น pe จะเป็นประมาณเท่าไหร่

ธุรกิจที่มั่นคง สามารถคาดการณ์ผลตอบแทนได้ และบริษัทนั้นก็ทำผลตอบแทนได้ ความเสี่ยงก็น่าจะต่ำกว่าใช่มั้ย นักลงทุนก็จะยอมจ่ายสูงกว่า เพื่อความเสี่ยงที่ต่ำกว่า

สภาพคล่อง เป็นความเสี่ยงอย่างหนึ่ง หุ้นที่มีสภาพคล่องสูง เราก็พอจะมั่นใจว่า วันที่เราขาย เราจะได้ราคาสมเหตุสมผลของวันนั้น แต่หุ้นที่สภาพคล่องต่ำ สมมติ GC เกิดช่วงนี้ เราอยากขายล้านหุ้น ผมยังไม่รู้เลยว่าจะขายได้ราคาเท่าไหร่ แต่คงไม่ใช่ราคาปิดวันนี้แน่ (ยก GC แค่เป็นตัวอย่าง พอดีฟัง opp day เลยได้ดูราคาหุ้นวันนี้พอดี ไม่มีเจตนาใดๆทั้งสิ้น)

เวลาเทียบ pe ก็จะเทียบกับบริษัทที่ดำเนินคล้ายๆกัน เป็นหลัก จะเทียบกับตลาดบ้างก็เป็นแค่เพื่อให้มองรอบด้านมากกว่า ชนิด PE ตลาดอยู่ที่ 10 เท่า หุ้นที่เราสน pe 30 เท่า ถ้าคิดจะซื้อก็ต้องหาเหตุผลดีๆ

อธิบายอย่างนี้ ยังไงก็ไม่ครอบคลุม สนใจจริงๆ ก็ค้นหาในเนต มีทั้งภาษาไทยอังกฤษมากมาย อ่านหลายๆอันมารวมกัน หรือไม่งั้น ก็หาหนังสือเกี่ยวกับการเงินการลงทุนมาอ่านก็คงดี

แล้วก็ทฤษฎีการทฤษฎี สภาพความเป็นไปของตลาด มันเป็นผลรวมของๆหลายๆสิ่ง เรื่องเชื่อทฤษฎีข้อเดียวแล้วใช้เลย ไม่น่าจะเวิร์ค อย่าง ดอกขึ้น แล้ว pe ลด แล้วเราก็เหมาว่าหุ้นต้องตก ในความเป็นจริงคงจะไม่เป็นอย่างนั้นเสมอไป
โพสต์โพสต์