โรงพยาบาลเอกชนปี'52 : เร่งปรับตัว...รับวิกฤตเศรษฐกิจ

การลงทุนแบบเน้นคุณค่า ลงทุนหุ้น VI เน้นที่ปัจจัยพื้นฐานเป็นหลัก

โพสต์ โพสต์
i_sarut
Verified User
โพสต์: 1808
ผู้ติดตาม: 1

โรงพยาบาลเอกชนปี'52 : เร่งปรับตัว...รับวิกฤตเศรษฐกิจ

โพสต์ที่ 1

โพสต์

http://www.bangkokbiznews.com/2009/01/0 ... 326083.php

7 มกราคม พ.ศ. 2552 15:13:00

โรงพยาบาลเอกชนปี'52 : เร่งปรับตัว...รับวิกฤตเศรษฐกิจ

กรุงเทพธุรกิจ ออนไลน์ :

คลินิกเอกชน : มีประชากรที่ขึ้นทะเบียนใช้บริการบัตรทองกับสถานพยาบาลเอกชนประมาณ 2.1 ล้านคน

โครงการประกันสังคม : ปัจจุบันมีจำนวนสมาชิกประมาณ 9.4 ล้านคน(ข้อมูลจากสำนักงานประกันสังคม เดือนกันยายน 2551)  ทั้งนี้สำนักงานประกันสังคมกำหนดอัตราค่ารักษาพยาบาลแบบเหมาจ่ายอยู่ที่ 1,306 บาทต่อคนในปี 2551 สำหรับในปี 2552 อัตราเหมาจ่ายปรับเพิ่มขึ้นเป็น 1,404 บาทต่อคนหรือเพิ่มขึ้นประมาณ 98 บาทต่อคน ส่งผลให้โรงพยาบาลเอกชนที่เข้าร่วมโครงการมีรายได้ในส่วนนี้เพิ่มขึ้น โดยปัจจุบันโรงพยาบาลเอกชนที่เข้าร่วมโครงการประมาณ 104 แห่ง และเป็นที่น่าสังเกตว่า ผลจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำในปี 2552 มีแนวโน้มที่ประเทศไทยจะประสบกับปัญหาการเลิกจ้างของภาคแรงงานมากขึ้น ซึ่งมีการประเมินว่าน่าจะสูงกว่า 1 ล้านคน แต่ปัจจัยดังกล่าวจะไม่ส่งผลกระทบต่อสวัสดิการทางด้านการรักษาพยาบาลของภาคแรงงานที่ถูกเลิกจ้างมากนัก เนื่องจากสำนักงานประกันสังคมอนุญาตให้ผู้ที่ถูกเลิกจ้างที่ต้องการได้รับความคุ้มครองทางด้านการรักษาพยาบาลต่อเนื่อง สามารถจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนต่อไปได้ หรือหากไม่ประสงค์ที่จะส่งเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมต่อก็สามารถลงทะเบียนไปใช้สิทธิบัตรทองต่อได้

โรงพยาบาลเอกชนขนาดใหญ่ เป็นกลุ่มธุรกิจที่คาดว่าจะต้องปรับตัวเพื่อรับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจปี 2552 ในระดับที่มากกว่าโรงพยาบาลขนาดกลาง-เล็ก ทั้งนี้ เนื่องจากกำลังซื้อที่ลดลงของคนไทย ทำให้คนไข้บางส่วนที่เคยใช้บริการโรงพยาบาลเอกชนขนาดใหญ่ หันไปใช้บริการโรงพยาบาลเอกชนขนาดกลาง หรือโรงพยาบาลของภาครัฐซึ่งให้บริการคลินิกพิเศษในช่วงหลังเวลาทำงานของแพทย์ในโรงพยาบาลของรัฐ โดยคิดค่าบริการในอัตราที่สูงกว่าผู้ป่วยทั่วไป แต่ต่ำกว่าค่ารักษาในโรงพยาบาลของเอกชน

ทั้งนี้ ยิ่งโรงพยาบาลเอกชนขนาดใหญ่รายใดมีการพึ่งพาคนไข้ต่างประเทศในสัดส่วนที่สูง ก็คาดว่า ผลกระทบที่จะได้รับก็ยิ่งมากกว่าโรงพยาบาลเอกชนทั่วไป ทั้งนี้คาดว่า โรงพยาบาลเอกชนขนาดใหญ่ ซึ่งปกติจะมีการปรับราคาเพิ่มขึ้นทุกปีประมาณร้อยละ 5 ตามภาระต้นทุนดำเนินงานทั้งด้านค่าตอบแทนบุคลากรทางการแพทย์ ค่าเครื่องมืออุปกรณ์การแพทย์ และค่ายาที่ปรับเพิ่มขึ้น แต่สำหรับในปี 2552 คาดว่าส่วนใหญ่จะพยายามตรึงราคาค่ารักษาพยาบาลไม่ให้ปรับเพิ่มขึ้นเพื่อไม่ให้คนไข้รายเดิมและรายใหม่หันไปใช้บริการจากโรงพยาบาลคู่แข่ง

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า โรงพยาบาลเอกชน  เป็นธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจและปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองเช่นเดียวกับธุรกิขภาคบริการอื่นๆอาทิ ธุรกิจท่องเที่ยวและธุรกิจโรงแรม แต่ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนจะมีความแตกต่างจากธุรกิจท่องเที่ยวทั่วไป เนื่องจากการท่องเที่ยวนั้นสามารถชะลอหรือยกเลิกได้ง่าย แต่หากเป็นโรคภัยไข้เจ็บในกรณีที่ต้องตรวจรักษาเร่งด่วนไม่สามารถชะลอออกไปได้ ซึ่งความจำเป็นของการเข้าใช้บริการโรงพยาบาลจึงมิอาจหลีกเลี่ยงได้ แต่คนไข้สามารถเลือกไปรักษาที่อื่นๆที่มีข้อได้เปรียบทางด้านคุณภาพการรักษา ราคาค่าบริการ และประการสำคัญการบริการที่มีความสะดวกและปลอดภัย  

ดังนั้น หากภาครัฐมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมทั้งสามารถสลายความขัดแย้งทางการเมืองลงและสร้างความเชื่อมั่นทางด้านความปลอดภัยในชีวิตและการเดินทางให้กับคนไข้ชาวต่างชาติได้ ก็คาดว่า โรงพยาบาลเอกชนจะยังคงเป็นธุรกิจที่มีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม ในระยะสั้นนี้ สิ่งที่ผู้ประกอบการโรงพยาบาลเอกชนจำเป็นต้องเร่งดำเนินการเพื่อประคองธุรกิจฝ่าวิกฤตในปี 2552 ไปให้ได้ ซึ่งมีรายละเอียดสรุปได้ ดังนี้

      - การให้ความสนใจกับคนไข้ในประเทศเพิ่มขึ้นโรงพยาบาลเอกชน ก็เหมือนธุรกิจท่องเที่ยวที่ครั้งหนึ่งเคยเน้นให้บริการชาวต่างชาติ ซึ่งเมื่อเจอกับวิกฤติที่ทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติลดลงอาทิ วิกฤต

โรคซาร์ วิกฤตสึนามิ ก็หันมาพึ่งกำลังซื้อจากคนในประเทศ เพื่อเสริมรายได้และประคองธุรกิจให้อยู่รอด  

สำหรับโรงพยาบาลเอกชนในกลุ่มที่เคยให้บริการคนไข้ชาวต่างประเทศในสัดส่วนที่สูงก็ควรให้ความสนใจกับคนไข้ในประเทศเพิ่มขึ้น ซึ่งก็มีหลายกลุ่มที่น่าสนใจอาทิ กลุ่มพนักงานบริษัทที่มีสวัสดิการด้านสุขภาพ รวมทั้งประชาชนทั่วไปที่มีแนวโน้มหันมาให้ความสนใจทำประกันสุขภาพกันมากขึ้นในปี 2552 ทั้งนี้ เพื่อประกันความเสี่ยงและลดค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพภายใต้สถานการณ์เศรษฐกิจที่ซบเซา ดังนั้นผู้ประกอบการโรงพยาบาลเอกชนควรมีการจัดกิจกรรมการตลาดต่างๆอาทิ การโฆษณาประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่างๆ การจัดแพ็กเกจรักษาในราคาประหยัด หรือแบบเหมาจ่าย อาทิ การตรวจสุขภาพประจำปีแบบมีส่วนลด การรักษาโรคที่ประชาชนใช้บริการมาก อาทิ โรคหัวใจ คลอดบุตร การรักษาข้อเข่าเสื่อม การตรวจรักษาความผิดปกติทางสายตา เป็นต้น

      - การให้ความสนใจคนไข้กลุ่มองค์กรมากขึ้น ในช่วงที่คนไข้ในประเทศและคนไข้ชาวต่างชาติมีแนวโน้มปรับลดลงตามปัจจัยด้านเศรษฐกิจที่ถดถอย ลูกค้ากลุ่มองค์กรต่างๆที่ได้รับความคุ้มครองด้านสุขภาพ อาทิ กลุ่มพนักงานบริษัทและกลุ่มที่มีการทำประกันสุขภาพ  นับเป็นกลุ่มที่ยังมีกำลังซื้อและช่วยให้โรงพยาบาลเอกชนมีหลักประกันทางด้านรายได้อย่างต่อเนื่อง ดังนั้นโรงพยาบาลเอกชนควรพิจารณาตกลงทำสัญญากับบริษัทใหญ่ๆซึ่งมีสวัสดิการค่ารักษาพยาบาล นอกจากนี้ ก็ควรจะมีการติดต่อกับบริษัทประกันสุขภาพทั้งในและต่างประเทศเพื่อเป็นเครือข่ายการรักษาพยาบาล ซึ่งการทำสัญญาการรักษาพยาบาลกับบริษัทควรจะมีส่วนลดให้เป็นพิเศษเพื่อสร้างแรงจูงใจในในการมาใช้บริการ

      - การเพิ่มศักยภาพการแข่งขันผู้ประกอบการโรงพยาบาลเอกชนควรใช้ช่วงเวลาที่จำนวนคนไข้มีแนวโน้มชะลอตัวลง ลงทุนปรับปรุงเครื่องมือทางการแพทย์ให้มีความทันสมัย รวมถึงการปรับปรุงอาคารสถานที่ต่างๆอาทิ อาคารจอดรถ อาคารผู้ป่วยนอก และผู้ป่วยใน ซึ่งแต่เดิมไม่เพียงพอรองรับจำนวนคนไข้ที่เพิ่มมากขึ้นในอัตราที่สูงช่วงหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งการลงทุนในช่วงนี้จะมีต้นทุนที่ค่อนข้างต่ำ อันเป็นผลจากปัจจัยด้านอัตราดอกเบี้ยอยู่ในช่วงขาลง รวมทั้งต้นทุนวัสดุอุปกรณ์ก่อสร้างปรับลดลงตามปัจจัยด้านราคาน้ำมัน ซึ่งหากรอให้ภาวะเศรษฐกิจฟื้นตัวแล้ว ภาระต้นทุนการปรับปรุงโรงพยาบาลอาจเพิ่มขึ้น ในขณะเดียวกันการปรับปรุงโรงพยาบาลในช่วงที่มีคนไข้เข้าใช้บริการมากอาจสร้างความไม่สะดวกให้กับคนไข้ที่มาใช้บริการได้ อาทิ อาคารที่จอดรถ อาคารผู้ป่วย เป็นต้น ดังนั้น เพื่อรองรับธุรกิจที่จะกลับมาฟื้นตัวภายหลังเศรษฐกิจและกำลังซื้อของคนไข้ปรับตัวดีขึ้นในอนาคต โดยเฉพาะคนไข้ชาวต่างชาติที่ยังคงนิยมไว้วางใจใช้บริการธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนของไทยเป็นอย่างมาก

      - การเพิ่มและพัฒนาบุคลากรทางการแพทย์ ที่ผ่านมา ปัญหาและอุปสรรคที่สำคัญของธุรกิจโรงพยาบาลประการหนึ่งก็คือ จำนวนบุคลากรทางการแพทย์ที่มีค่อนข้างจำกัดไม่เพียงพอต่อความต้องการของโรงพยาบาลเอกชนที่เติบโตอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้โรงพยาบาลเอกชนนอกจากจะมีการดึงบุคลากรทางการแพทย์จากภาครัฐแล้ว ยังมีการดึงจากโรงพยาบาลเอกชนด้วยกันเอง โดยเฉพาะบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ซึ่งปัจจัยดังกล่าว นับเป็นอุปสรรคต่อการเติบโตของธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนเป็นอย่างยิ่ง
ดังนั้น ในช่วงที่จำนวนคนไข้ในและต่างประเทศมีแนวโน้มปรับลดลง จึงนับเป็นโอกาสอันดีที่โรงพยาบาลเอกชนจะได้พัฒนาแพทย์ในสังกัดเพื่อเพิ่มทักษะและความเชี่ยวชาญในระดับที่สูงขึ้น ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาการแย่งบุคลากรทางการแพทย์ที่มีจำกัด รวมทั้งรองรับการเติบโตของธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนที่จะเพิ่มขึ้นภายหลังจากเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวในอนาคต

      - การหันไปลงทุนโรงพยาบาลในต่างประเทศโรงพยาบาลเอกชนของไทยในรายที่มีความพร้อมทางด้านเงินทุนและบุคลากร ควรจะพิจารณาความเป็นไปได้ของการออกไปลงทุนธุรกิจเกี่ยวกับสุขภาพในต่างประเทศไม่ว่าจะเป็นการไปตั้งโรงพยาบาลขึ้นใหม่ หรือไปรับจ้างบริหารธุรกิจโรงพยาบาล ทั้งนี้เพื่อให้บริการและเข้าถึงกลุ่มลูกค้าเป้าหมายคนไข้ในต่างประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ซึ่งวิธีการดังกล่าวจะช่วยลดผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจและการเมืองได้มาก โดยประเทศที่มีศักยภาพในการเข้าไปลงทุนโรงพยาบาลเอกชนควรเน้นประเทศที่ภาวะเศรษฐกิจ การค้าและการลงทุนมีการขยายตัวสูง ในขณะที่จำนวนโรงพยาบาลที่มีมาตรฐานการรักษายังมีไม่เพียงพอต่อความต้องการ อาทิ ประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน ได้แก่ เวียดนาม ลาว และกัมพูชา ประเทศในตะวันออกกลาง เช่น สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ กาตาร์ และบาร์เรน เป็นต้น

##############

บทสรุป

      กล่าวโดยสรุปแล้ว การที่เศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะตกต่ำที่ลุกลามไปยังประเทศต่างๆ และเมื่อผนวกเข้ากับปัจจัยทางด้านความขัดแย้งการเมืองในประเทศของไทย ส่งผลให้ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนเริ่มมีความเสี่ยงที่จะประสบปัญหาทางด้านจำนวนคนไข้ที่ชะลอตัวลง ทั้งในส่วนของคนไข้ในประเทศรวมทั้งคนไข้ชาวต่างประเทศ ส่งผลให้การบริการจัดการธุรกิจทำได้ยากลำบากขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม คาดว่าปัจจัยเสี่ยงจากจำนวนคนไข้ที่มีแนวโน้มชะลอตัวลง จะเป็นเพียงปัญหาในระยะสั้น ทั้งนี้ หากวิกฤตเศรษฐกิจผ่านพ้นไปและกำลังซื้อของภาคประชาชนกลับมาฟื้นตัวดีขึ้น จำนวนคนไข้ที่เข้าใช้บริการโรงพยาบาลเอกชนจะกลับมาดีดังเดิม เนื่องจากโรงพยาบาลเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญในการดำเนินชีวิต โดยเฉพาะโรงพยาบาลเอกชนซึ่งมีจุดเด่นทางด้านความสะดวกสบายด้านการรักษาพยาบาล ยิ่งคนไข้ชาวต่างชาติด้วยแล้วจะให้ความเชื่อถือโรงพยาบาลเอกชนของไทยที่มีการรักษาพยาบาลตามมาตรฐานสากล แต่มีค่าใช้จ่ายที่ต่ำกว่าหากเทียบกับโรงพยาบาลเอกชนชั้นนำของต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ทุกฝ่ายต้องเร่งทำก็คือ การลดปัญหาความขัดแย้ง และสร้างเสถียรภาพทางการเมืองภายในประเทศโดยเร็ว เพื่อสร้างความมั่นใจต่อคนไข้ชาวต่างชาติที่จะเดินทางเข้ามาในประเทศ รวมทั้งป้องกันไม่ให้คู่แข่งขันซึ่งกำลังส่งเสริมธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนของตนเอง อาทิ ฮ่องกง สิงคโปร์ มาเลเซีย มาแย่งตลาดคนไข้ชาวต่างชาติไปได้

----------------------------------------------------------------------------

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงปรับปรุงข้อมูลได้ตลอดเวลาโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณของตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น

บริษัทฯจะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็นหรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น

ที่มา: :ศูนย์วิจัยกสิกรไทย
"Risk comes from not knowing what you're doing" - Warren Buffet

สุดยอดของความซับซ้อนคือความเรียบง่าย

http://www.sarut-homesite.net/
AuI_a VI
Verified User
โพสต์: 413
ผู้ติดตาม: 0

โรงพยาบาลเอกชนปี'52 : เร่งปรับตัว...รับวิกฤตเศรษฐกิจ

โพสต์ที่ 2

โพสต์

จากที่เคยเป็น safe heaven ก็รับผลกระทบได้เหมือนกันนะเนี่ยยย

ตอนนี้ ทางเอกชนเริ่มต่อรองลดค่าแพทย์เฉพาะทางแล้วเหมือนกันครับ แพทย์บางคนที่รู้จักก็ทนๆอยุ่ต่อ บางคนก็เลิกไปอยู่เวรเลย

ส่วนพยาบาลรพ.กรุงเทพก็ให้ออกกันไปเป็นร้อยเหมือนกันนะครับ
Even Sir Isaac Newton loss in stock market

"You can't predict the future, because the future depends on how you react to it."

ซื้อหุ้นเมื่อคนส่วนใหญ่หมดศรัทธาในหุ้นและเทขายอยู่  นั่นคือเวลาตี5ในการจ่ายตลาด....จาก สอง ว. ผู้ยิ่งใหญ่
murmur
Verified User
โพสต์: 156
ผู้ติดตาม: 0

โรงพยาบาลเอกชนปี'52 : เร่งปรับตัว...รับวิกฤตเศรษฐกิจ

โพสต์ที่ 3

โพสต์

AuI_a VI เขียน:จากที่เคยเป็น safe heaven ก็รับผลกระทบได้เหมือนกันนะเนี่ยยย

ตอนนี้ ทางเอกชนเริ่มต่อรองลดค่าแพทย์เฉพาะทางแล้วเหมือนกันครับ แพทย์บางคนที่รู้จักก็ทนๆอยุ่ต่อ บางคนก็เลิกไปอยู่เวรเลย

ส่วนพยาบาลรพ.กรุงเทพก็ให้ออกกันไปเป็นร้อยเหมือนกันนะครับ
โหน่ากลัวจังครับ
โพสต์โพสต์