วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ VS. วิกฤตต้มยำกุ้งผลกระทบที่แตกต่าง

การลงทุนแบบเน้นคุณค่า ลงทุนหุ้น VI เน้นที่ปัจจัยพื้นฐานเป็นหลัก

โพสต์ โพสต์
wattae
Verified User
โพสต์: 554
ผู้ติดตาม: 0

วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ VS. วิกฤตต้มยำกุ้งผลกระทบที่แตกต่าง

โพสต์ที่ 1

โพสต์

วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ VS. วิกฤตต้มยำกุ้งผลกระทบที่แตกต่าง

บจ.ศูนย์วิจัยกสิกรไทย 14/10/2008 11:37:59


         คงต้องยอมรับว่า วิกฤตการเงินโลกในรอบนี้ ได้ทำให้หลายฝ่ายมีความกังวลต่อผลกระทบที่อาจมีต่อเศรษฐกิจไทย ดังจะเห็นได้จากดัชนีหุ้นไทยที่ดิ่งลงไปแล้วถึงประมาณร้อยละ 50 จากระดับสูงสุดในเดือน ต.ค. 2550 ท่ามกลางการเทขายสุทธิของนักลงทุนต่างชาติ ซึ่งส่งผลให้เงินบาทอ่อนค่าลงไปแล้วประมาณร้อยละ 9 จากระดับที่แข็งค่าที่สุดของปีในช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา นอกจากนี้ ความกังวลดังกล่าวยังได้ถูกซ้ำเติมจากความวิตกว่า สถานการณ์ทางการเมืองในประเทศเองอาจจะยังคงมีความไม่แน่นอน และส่งผลกระทบต่อการดำเนินการทางด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลไทยในระยะถัด ๆ ไป ทำให้ประสิทธิภาพในการใช้เครื่องมือทางการคลังของรัฐบาลไทย อาจลดน้อยลงกว่าที่ควรจะเป็น
         แม้ว่าวิกฤตการเงินโลกในปี 2551 นี้ อาจจะทำให้มีการเปรียบเทียบกับวิกฤตต้มยำกุ้งในปี 2540 โดยเฉพาะในประเด็นที่เกี่ยวกับการดิ่งลงของดัชนีหุ้น การไหลออกของเงินทุนจากต่างประเทศ รวมทั้งการอ่อนค่าของเงินบาท ตลอดจนผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจ แต่หากพิจารณาในรายละเอียด จะพบว่า วิกฤตการเงินในรอบนี้มีความแตกต่างไปจากวิกฤตต้มยำกุ้งในปี 2540 หลายประการ ซึ่งความแตกต่างดังกล่าว จะมีนัยสำคัญต่อผลกระทบที่เศรษฐกิจไทยอาจต้องเผชิญ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงได้วิเคราะห์และสรุปประเด็นเปรียบเทียบวิกฤตทั้งสองในเบื้องต้น ดังนี้  
         ความแตกต่างของวิกฤตการเงินโลกปี 2551 กับวิกฤตในปี 2540
         สาเหตุของปัญหาแตกต่างกัน  เป็นที่ทราบกันดีแล้วว่า วิกฤตการเงินในรอบนี้มีจุดเริ่มต้นมาจากปัญหาสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ที่มีความน่าเชื่อถือต่ำ (ซับไพร์ม) ในสหรัฐฯ ที่ได้แผ่ขยายลุกลามไปยังสินเชื่อประเภทอื่น ๆ และส่งผลกระทบต่อฐานะการดำเนินงานของสถาบันการเงิน จนกระทั่งนำมาสู่การขาดความเชื่อมั่นต่อสถาบันการเงิน รวมทั้งปัญหาสภาพคล่องในระบบการเงินทั่วโลก  โดยทั้งการดิ่งลงของดัชนีหุ้นไทยและการอ่อนค่าของเงินบาทนั้น ก็ล้วนเป็นผลจากการที่นักลงทุนต่างชาติพยายามที่จะขายสินทรัพย์ของตนเพื่อที่จะหาสภาพคล่องในรูปเงินดอลลาร์ฯ ซึ่งปรากฏการณ์ดังกล่าวก็ได้เกิดขึ้นกับตลาดหุ้นอื่น ๆ ทั่วภูมิภาคเช่นเดียวกัน ในขณะที่วิกฤตต้มยำกุ้งที่เกิดขึ้นในปี 2540 นั้น เป็นผลจากภาวะฟองสบู่จากการเก็งกำไรในภาคอสังหาริมทรัพย์และตลาดหุ้นไทยที่ได้แตกตัวลง หลังจากที่นักลงทุนต่างชาติไม่เชื่อมั่นต่อความสามารถในการชำระหนี้ต่างประเทศของไทย โดยเฉพาะภายใต้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนคงที่ (Fixed Exchange Rate) โดยความไม่เชื่อมั่นดังกล่าว ได้นำมาสู่การไหลออกของเงินทุน และการคาดการณ์ของตลาดที่ว่าในที่สุดแล้ว ทางการไทยคงจะต้องยอมปรับค่าเงินบาทให้สะท้อนพื้นฐานที่เป็นจริงของเศรษฐกิจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้  ดังนั้น จะเห็นได้ว่า วิกฤตต้มยำกุ้งในปี 2540 เกิดขึ้นจากปัญหาเศรษฐกิจของไทยเองเป็นหลัก ในขณะที่วิกฤตการเงินโลกในรอบนี้ เศรษฐกิจไทยถูกกระทบผ่านกลไกการเงินโลกที่กำลังเผชิญกับวิกฤตสภาพคล่อง ในขณะที่ทุกประเทศในภูมิภาคเอเชีย ก็ต่างล้วนเผชิญกับปัญหาการเคลื่อนย้ายเงินทุนและการแสวงหาสภาพคล่องในรูปเงินดอลลาร์ฯ ในลักษณะเดียวกับที่ไทยประสบอยู่เช่นกัน  
         ขนาดของผลกระทบที่แตกต่างกัน หลังจากการลอยตัวค่าเงินบาทในเดือนกรกฎาคม 2540 เงินบาทได้อ่อนค่าลงอย่างรวดเร็วจากระดับ 25.75 บาท/ดอลลาร์ฯในเดือนมิถุนายน 2540 ไปทะลุระดับ 53 บาท/ดอลลาร์ฯในเดือนมกราคม 2541 ทำให้เศรษฐกิจไทยต้องประสบกับปัญหาอย่างรุนแรง ทั้งการล้มลงของสถาบันการเงินเป็นจำนวนมาก และการถดถอยของภาวะเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ ซึ่งส่งผลให้ความเสียหายที่กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินของไทย (FIDF) ต้องแบกรับจากวิกฤตดังกล่าว มีมูลค่าสูงถึงประมาณ 1.4 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 30 ของจีดีพีไทยในปี 2540 ในขณะที่เศรษฐกิจไทยก็ตกอยู่ในภาวะถดถอยในปี 2540-2541 โดยหดตัวร้อยละ 1.4 ในปี 2540 และร้อยละ 10.5 ในปี 2541 สำหรับวิกฤตการเงินโลกในรอบนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า แม้ว่าวิกฤตการเงินที่เกิดขึ้นจะได้ลุกลามเป็นวงกว้างไปสู่ภูมิภาคอื่น ๆ ทั่วโลก ในขณะที่เศรษฐกิจไทยก็คงจะถูกกระทบจากการะชะลอตัวของการส่งออกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่เมื่อพิจารณาผลกระทบทางตรงที่เศรษฐกิจไทยอาจจะได้รับแล้ว ก็คาดว่าน่าที่จะมีอยู่ในขอบเขตจำกัด ทั้งนี้เพราะธนาคารพาณิชย์ไทยมีเงินลงทุนในตราสารต่างประเทศคิดเป็นเพียงร้อยละ 1.7 ของสินทรัพย์รวมเท่านั้น อีกทั้งสถานะของระบบสถาบันการเงิน ก็มีความแข็งแกร่งมากขึ้นเมื่อเทียบกับในอดีต ตลอดจนเสถียรภาพทางด้านต่างประเทศของไทยก็ยังคงอยู่ในเกณฑ์ที่ดี ดังจะเห็นได้จากสัดส่วนเงินสำรองระหว่างประเทศต่อหนี้ต่างประเทศระยะสั้นของไทยที่อยู่ที่ระดับ 4.1 เท่า ณ สิ้นเดือนกรกฎาคม 2551  ซึ่งทำให้คาดว่า เศรษฐกิจไทยน่าที่จะสามารถรับมือและรอดพ้นจากวิกฤตการเงินโลกที่เกิดขึ้นในปี 2551 นี้ไปได้โดยไม่ตกไปสู่ภาวะถดถอยเช่นในวิกฤตปี 2540 ในขณะเดียวกัน จากการประเมินความเสียหายโดย IMF ต่อวิกฤตการเงินโลกในรอบนี้ ที่คาดว่าจะมีมูลค่า 1.4 ล้านล้านดอลลาร์ฯ ซึ่งคิดเป็นประมาณร้อยละ 10 ของจีดีพีสหรัฐฯในปี 2550  ก็ยังนับได้ว่าเป็นสัดส่วนที่ต่ำกว่าเมื่อเทียบกับขนาดความเสียหายที่กองทุนฟื้นฟูฯของไทยแบกรับไว้ที่ประมาณ 1.4 ล้านล้านบาท หรือร้อยละ 30 ของจีดีพีไทยจากผลของวิกฤตเมื่อปี 2540
         เศรษฐกิจการเงินไทยในปัจจุบัน แข็งแกร่งกว่าเมื่อปี 2540
         ตัวแปร                  
         ดุลบัญชีเดินสะพัดต่อ GDP          
         ปัจจุบัน
         คาดว่าจะเกินดุลประมาณร้อยละ 0.5 ของ GDP ในปี 2551 ลดลงจากที่เกินดุลร้อยละ 6.4 ของ GDP ในปี 2550 โดยเป็นผลจากการนำเข้าน้ำมัน
         2540
         ขาดดุลร้อยละ 2.0 ต่อ GDP ในปี 2540 ต่อเนื่องจากที่ขาดดุลถึงร้อยละ 7.9 ต่อ GDP ในปี 2539 ก่อนการโจมตีค่าเงินบาท
         ตัวแปร
         หนี้ต่างประเทศ และทุนสำรองระหว่างประเทศ          
         ปัจจุบัน
         ปัจจุบัน ไทยมีหนี้ต่างประเทศอยู่ที่ 66.0 พันล้านดอลลาร์ฯ ณ ก.ค. 2551 เทียบกับฐานะทุนสำรอง 101.2 พันล้านดอลลาร์ฯ ณ ส.ค. 2551
         2540
         หนี้ต่างประเทศคงค้างมีสูงถึง 109.2 พันล้านดอลลาร์ฯ เทียบกับฐานะทุนสำรองเพียง 27.0 พันล้านดอลลาร์ฯ ณ สิ้นปี 2540
         ตัวแปร
         สัดส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากของระบบธนาคารพาณิชย์ (L/D ratio)
         ปัจจุบัน
         สัดส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากของระบบธนาคารพาณิชย์อยู่ที่ร้อยละ 104.77 ณ ส.ค. 2551 (จากจำนวนธนาคารรวม 34 แห่ง)
         2540
         สัดส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากของระบบธนาคารพาณิชย์ปรับขึ้นไปสูงถึงร้อยละ 143.26 ณ สิ้นปี 2540 (จากจำนวนธนาคารรวม 54 แห่ง)
         ตัวแปร
         สัดส่วนเอ็นพีแอลต่อสินเชื่อรวม (Gross NPLs) ของธนาคารพาณิชย์ไทย
         ปัจจุบัน
         เอ็นพีแอลก่อนหักสำรอง (Gross NPLs) อยู่ที่ร้อยละ 6.97 ต่อสินเชื่อรวม ณ มิ.ย. 2551 ส่วนเอ็นพีแอลหลังสำรอง (Net NPLs) มีสัดส่วนเพียงร้อยละ 3.77 เท่านั้น          
         2540
         ยอดคงค้างเอ็นพีแอลได้พุ่งขึ้นมาที่ระดับสูงสุดที่ 2.47 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 52.3 ของสินเชื่อรวม ในเดือน พ.ค. 2542
         ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย และศูนย์วิจัยกสิกรไทย
         แม้ว่าเศรษฐกิจไทยในรอบนี้ น่าที่จะมีความแข็งแกร่งกว่าในปี 2540 แต่ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า เศรษฐกิจไทยคงยากที่จะหลีกเลี่ยงผลกระทบทางอ้อมจากวิกฤตการเงินโลกที่เกิดขึ้นในรอบนี้ไปได้พ้น  โดยผลกระทบทางอ้อมที่สำคัญคือ ผลกระทบผ่านช่องทางการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ ซึ่งมีแนวโน้มว่าคงจะชะลอตัวลงตามแนวโน้มเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะในปี 2552 โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า การชะลอตัวลงของเศรษฐกิจคู่ค้าสำคัญ ๆ ของไทย ไม่ว่าจะเป็น สหรัฐฯ ยุโรป ญี่ปุ่น และภูมิภาคอาเซียน กอปรกับราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่มีแนวโน้มอ่อนตัวลง อาจทำให้การส่งออกของไทยขยายตัวในอัตราที่ลดลงมาที่ร้อยละ 5.0-10.0 ในปี 2552 เทียบกับคาดการณ์อัตราการเติบโตที่ร้อยละ 18.0 ในปี 2551 นอกจากผลกระทบผ่านช่องทางการค้าแล้ว ยังมีผลกระทบผ่านช่องทางสภาพคล่องและการเคลื่อนไหวของตลาดเงินตลาดทุน โดยเฉพาะการดึงสภาพคล่องในรูปเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ผ่านการเทขายสินทรัพย์ในประเทศต่าง ๆ เพื่อนำกลับไปชดเชยภาวะสภาพคล่องที่ตึงตัวของสถาบันการเงินที่ประสบปัญหา โดยระยะเวลาและความรุนแรงของผลกระทบด้านสภาพคล่องดังกล่าว จะขึ้นอยู่กับว่าทางการและธนาคารกลางต่าง ๆ ทั่วโลกจะประสบความสำเร็จเพียงใดในการอัดฉีดสภาพคล่องและเพิ่มทุนให้แก่สถาบันการเงินต่าง ๆ เพื่อที่จะเยียวยาระบบการเงินโลกให้กลับสู่ภาวะปกติ  
         6 มาตรการรับมือวิกฤตการเงินสหรัฐฯ
         ทั้งนี้ ล่าสุดในวันที่ 13 ต.ค. ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจ ได้มีมติเห็นชอบให้ออก 6 มาตรการรับมือวิกฤตการเงินสหรัฐฯ ได้แก่  1.) มาตรการด้านตลาดทุน โดยกระทรวงการคลังเห็นชอบขยายวงเงินการซื้อกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) และกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) จากไม่เกิน 500,000 บาท เป็นไม่เกิน 700,000 บาท การดึงกองทุนแมชชิ่งฟันด์ กองทุนภาคเอกชน และกองทุนต่าง ๆ รับมือการขายหุ้นของต่างชาติที่มีในไทย รวมทั้งการส่งเสริมให้บริษัทจดทะเบียนขนาดใหญ่ซื้อหุ้นคืน  2.) มาตรการดูแลสภาพคล่อง เพื่อให้ผู้ประกอบการมีเงินทุนหมุนเวียนเพียงพอ โดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยืนยันว่าสภาพคล่องในระบบยังมีระดับสูง ขณะเดียวกันก็พร้อมที่จะดูแลให้มีการหมุนเวียนในระบบอย่างทั่วถึงและเพียงพอต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ตลอดจนจะสนับสนุนการขยายสินเชื่อทั้งจากธนาคารพาณิชย์และธนาคารพาณิชย์เฉพาะกิจของรัฐ  3.) มาตรการเร่งรัดรายได้ส่งออกและการท่องเที่ยว เพื่อให้การส่งออกและท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นอย่างน้อยร้อยละ 5 โดยกระทรวงพาณิชย์จะขยายตลาดในเอเชียและเพื่อนบ้าน ตะวันออกกลาง ออสเตรเลีย แอฟริกา ลาตินอเมริกา ซึ่งยังพอมีกำลังซื้อ  4.) มาตรการสร้างเศรษฐกิจในประเทศด้วยการเร่งรัดเบิกจ่ายงบประมาณ โดยกระทรวงการคลังจะเร่งรัดเบิกจ่ายงบประมาณเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 180,000 ล้านบาท การส่งเสริมกองทุนหมู่บ้าน และการดูแลสินค้าOTOP  5.) มาตรการเร่งรัดโครงการลงทุนขนาดใหญ่ โดยจะเร่งรัดลงทุนระบบรถไฟฟ้า  การพัฒนาระบบขนส่งทั่วประเทศ และการลงทุนด้านพลังงาน  รวมทั้ง  6.) มาตรการประชาคมการเงินเอเชีย เพื่อความร่วมมือกับประเทศต่าง ๆ ในแถบอาเซียน โดยจะมีแนวทางหารือเจรจาการขยายความร่วมมืออาเซียน +6 ซึ่งเป็นความริเริ่มใหม่ในการสร้างความเชื่อมั่นกับประเทศต่าง ๆ ด้วยการเสนอให้อาเซียนร่วมมือกับออสเตรเลีย บราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้
         จากมาตรการรับมือวิกฤตการเงินดังกล่าว สะท้อนว่า ทางการไทยได้ตระหนักเป็นอย่างดีถึงความเสี่ยงที่เศรษฐกิจไทยอาจจะได้รับจากวิกฤตที่แผ่ขยายไปทั่วโลกในรอบนี้ ซึ่งในภาพรวมแล้ว ทุกมาตรการนับว่าเป็นแนวคิดที่ดีสำหรับการสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า มาตรการด้านตลาดทุน น่าที่จะได้รับการตอบรับที่ดีจากนักลงทุน อันเป็นผลจากแรงจูงใจทางด้านสิทธิประโยชน์ทางภาษีและความคาดหวังที่จะได้รับผลตอบแทนในระดับที่น่าพอใจหลังจากที่ดัชนีหุ้นไทยได้ปรับตัวลงมาค่อนข้างมากแล้วในช่วงที่ผ่านมา ในขณะที่ มาตรการดูแลสภาพคล่อง ก็เป็นมาตรการที่ ธปท.ดำเนินการเป็นปกติและน่าที่จะมีความเชี่ยวชาญอยู่แล้ว รวมทั้ง ธปท.เองก็มีเครื่องมือและทรัพยากรที่มากพอสำหรับการดำเนินการด้วย สำหรับอีกสามมาตรการถัดมานั้น หากสามารถดำเนินการได้ตามกรอบที่วางไว้ ก็น่าที่จะเป็นผลบวกต่อเศรษฐกิจ แต่ประสิทธิผลของมาตรการดังกล่าว นอกจากจะขึ้นกับเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าและฐานะทางการคลังของรัฐบาลแล้ว ประเด็นสำคัญคงจะอยู่ที่เสถียรภาพทางการเมืองด้วย เนื่องจากจะมีผลกระทบต่อการเบิกจ่ายงบประมาณของรัฐบาล การดำเนินโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ต่าง ๆ ตลอดจนความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยวต่างชาติ สำหรับมาตรการสุดท้ายนั้น กระบวนการดำเนินการที่มีความเกี่ยวข้องกับหลายประเทศ รวมทั้งการลงนามในสนธิสัญญาที่คงจะต้องผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาไทย ทำให้คาดว่ากว่าที่มาตรการดังกล่าวจะสามารถดำเนินการได้ คงจะไม่ใช่ในระยะเวลาอันใกล้นี้  
         อนึ่ง เนื่องจากวิกฤตในรอบนี้ ไทยอยู่ในสถานะที่เป็นเพียงฝ่ายตั้งรับจากความผันแปรที่เกิดขึ้นภายนอกประเทศ ดังนั้น คงยากที่จะประเมินได้ว่ามาตรการต่าง ๆ ดังกล่าวของทางการ เพียงพอหรือไม่ที่จะทำให้เศรษฐกิจไทยสามารถรับมือและรอดพ้นจากวิกฤตในรอบนี้ไปได้ ซึ่งปัจจัยสำคัญคงจะอยู่ที่ว่าวิกฤตในรอบนี้จะยืดเยื้อและกินเวลายาวนานเพียงใดจึงจะสิ้นสุดลง เพราะหากสถานการณ์ลากยาวออกไปนานกว่าที่ประเมินไว้ เพื่อที่จะรับมือและสร้างความมั่นใจให้กับทุกฝ่าย ทางการไทยก็อาจจำเป็นที่จะต้องพิจารณาดำเนินมาตรการและนโยบายในเชิงเศรษฐกิจเพิ่มเติมมากขึ้นอีกในอนาคต    
         โดยสรุปแล้ว ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า วิกฤตการเงินโลกที่มีจุดกำเนิดจากปัญหาสินเชื่อ         ซับไพร์มของสหรัฐฯในรอบนี้ น่าจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยโดยตรงในระดับที่มีความรุนแรงน้อยกว่าวิกฤตต้มยำกุ้งเมื่อปี 2540  เนื่องจากวิกฤตที่เกิดขึ้นในรอบนี้ ไทยและอีกหลายประเทศทั่วทั้งภูมิภาค เป็นเพียงผู้ถูกกระทบผ่านการชะลอตัวของการส่งออกและกลไกเคลื่อนย้ายเงินทุน ซึ่งเป็นผลมาจากปัญหาสภาพคล่องที่ได้ลุกลามสู่ตลาดทุนตลาดเงินทั่วโลก ในขณะที่วิกฤตต้มยำกุ้งในปี 2540 นั้น มีต้นตอของปัญหามาจากภาวะฟองสบู่และการก่อหนี้เกินตัวของเอกชนไทยเอง โดยระบบอัตราแลกเปลี่ยนของไทยในขณะนั้นก็ขาดความยืดหยุ่น จนทำให้เกิดการเก็งกำไรในค่าเงินบาทอย่างกว้างขวาง ซึ่งความสูญเสียของระบบสถาบันการเงินไทยจากวิกฤตต้มยำกุ้งดังกล่าวมีมูลค่าสูงถึงประมาณร้อยละ 30 ของจีดีพี ในขณะที่เศรษฐกิจไทยต้องตกอยู่ในภาวะถดถอยทั้งในปี 2540 และ 2541 โดยเฉพาะในปี 2541 ที่เศรษฐกิจไทยหดตัวถึงร้อยละ 10.5  ในขณะที่สำหรับวิกฤตในรอบนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยจะชะลอตัวลงเป็นร้อยละ 4.3 ในช่วงครึ่งหลังของปี 2551 จากร้อยละ 5.7 ในช่วงครึ่งปีแรก และอาจขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ 4.0-5.0 ในปี 2552 โดยขึ้นอยู่กับว่า ภาวะการตึงตัวของสภาพคล่องในตลาดเงินโลกจะสามารถคลี่คลายลงได้เร็วเพียงใด รวมทั้งยังคงขึ้นอยู่กับสถานการณ์ทางการเมืองภายในประเทศของไทยเองด้วยว่า จะเอื้อให้ภาครัฐสามารถดำเนินมาตรการทางการคลังที่จะช่วยประคับประคองการขยายตัวของเศรษฐกิจได้มากน้อยเพียงใด
         แม้ว่า ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จะมองว่าวิกฤตในรอบนี้ น่าที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในระดับที่รุนแรงน้อยกว่าวิกฤตที่เกิดขึ้นเมื่อปี 2540 เนื่องจากทั้งภาคเศรษฐกิจและสถาบันการเงินไทยล้วนมีฐานะที่มั่นคงกว่าเมื่อปี 2540 (ไม่ว่าจะเป็นฐานะดุลบัญชีเดินสะพัด ทุนสำรองระหว่างประเทศ และฐานะเงินกองทุนของสถาบันการเงินในระบบ) รวมทั้งจากการที่รัฐบาลและธนาคารกลางต่าง ๆ ทั่วโลก ตลอดจนทางการไทยเอง ก็ได้เร่งเยียวยาแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยการอัดฉีดสภาพคล่อง และดำเนินการเพิ่มทุนให้แก่สถาบันการเงินต่าง ๆ เพื่อที่จะพลิกฟื้นสถานการณ์ให้กลับสู่ภาวะปกติโดยเร็ว  แต่ทั้งภาครัฐและเอกชนไทย ก็ยังควรที่จะตระหนักถึงความเสี่ยงที่เศรษฐกิจกำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้ เนื่องจากคาดว่า อาจจะยังคงต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง กว่าที่การดำเนินการและมาตรการต่าง ๆ จะสัมฤทธิผล และปัญหาต่าง ๆ ถึงจุดต่ำสุด ในขณะที่แนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกในปี 2552 นั้นย่อมที่จะส่งผลกระทบต่อการส่งออกและธุรกิจท่องเที่ยวของไทยอย่างยากที่จะหลีกเลี่ยง โดยในกรณีเลวร้ายที่สถานการณ์ยืดเยื้อ วิกฤตการเงินโลกที่ลากยาวออกไปกว่าที่คาดก็ย่อมจะส่งผลกระทบต่อไทยในระดับที่รุนแรงขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้  
         
         Disclaimer
         รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงปรับปรุงข้อมูลได้ตลอดเวลาโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณของตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯจะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็นหรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น
โพสต์โพสต์