ส่งออกไทยไปจีนชะลอตัว..ผลจากวิกฤตเศรษฐกิจโลก

การลงทุนแบบเน้นคุณค่า ลงทุนหุ้น VI เน้นที่ปัจจัยพื้นฐานเป็นหลัก

โพสต์ โพสต์
i_sarut
Verified User
โพสต์: 1808
ผู้ติดตาม: 1

ส่งออกไทยไปจีนชะลอตัว..ผลจากวิกฤตเศรษฐกิจโลก

โพสต์ที่ 1

โพสต์

6 ตุลาคม พ.ศ. 2551 11:00 กรุงเทพธุรกิจ ออนไลน์

ส่งออกไทยไปจีนชะลอตัว..ผลจากวิกฤตเศรษฐกิจโลก

การส่งออกของไทยไปจีนในเดือนสิงหาคมปี 2551 เติบโตชะลอลงเหลือร้อยละ 1.4 จากช่วงเดียวกันของปี 2550 (yoy) นับว่าเป็นเดือนที่อัตราเติบโตของการส่งออกไปจีนอยู่ในระดับต่ำที่สุด ตั้งแต่ต้นปี 2551


สาเหตุสำคัญเนื่องจากภาวะส่งออกของจีนที่อ่อนแรงจากปัญหาเศรษฐกิจสหรัฐฯที่ยืดเยื้อ ส่งผลให้ความต้องการนำเข้าสินค้าของจีนเพื่อผลิตส่งออกชะลอลงด้วย โดยทั้งการนำเข้าและการผลิตภาคอุตสาหกรรมของจีนในเดือนสิงหาคม 2551 ชะลอลงตามภาคส่งออกไปด้วย

แรงกดดันจากวิกฤตภาคการเงินสหรัฐฯที่ยืด เยื้อและมีแนวโน้มส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ชะลอตัวรุนแรงมากขึ้นได้ลุกลามไปยังเศรษฐกิจประเทศยุโรปและญี่ปุ่นที่มีความ เชื่อมโยงใกล้ชิดกับ ภาคการเงินสหรัฐฯ

การชะลอตัวของเศรษฐกิจ สหรัฐฯ สหภาพยุโรปและญี่ปุ่นจากวิกฤตที่รุนแรงขึ้นในครั้งนี้ คาดว่าจะส่งผลให้ความต้องการบริโภคของประเทศเหล่านี้ที่ชะลอตัวลงและกระทบ ต่อภาคส่งออกของประเทศต่างๆ รวมทั้งประเทศจีนด้วย โดยตลาดสหรัฐฯ สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น ถือเป็นตลาดส่งออกหลัก 3 อันดับแรกของจีน คิดเป็นสัดส่วนรวมกันกว่าร้อยละ 45 ของการส่งออกทั้งหมดของจีน

การ ส่งออกของจีนในช่วงที่เหลือของปี นี้คาดว่ายังคงต้องเผชิญกับแรงกดดันให้ชะลอตัวลงตามความอ่อนแรงของตลาดส่ง ออกสำคัญๆ ทั้งนี้ การส่งออกของจีนในเดือนสิงหาคม 2551 ชะลอลงเหลือร้อยละ 21.1 (yoy) จากที่ขยายตัวร้อยละ 26.9 ในเดือนกรกฎาคม 2551 (yoy) โดยการส่งออกของจีนไปยังตลาดหลักๆล้วนอ่อนแรงลง ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐฯ สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น ขณะที่การนำเข้าของจีนในเดือนสิงหาคม 2551 ชะลอลงค่อนข้างมาก โดยขยายตัวในอัตราร้อยละ 23.1 จากร้อยละ 33.7 ในเดือนก่อนหน้า การนำเข้าที่ชะลอลงนี้ได้ส่งผลให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมของจีนในเดือนสิงหาคม ที่ผ่านมาขยายตัวชะลอลงเหลือร้อยละ 12.8 จากที่เติบโตร้อยละ 17.5 ในช่วงเดียวกันของปี 2550 และร้อยละ 14.7 ในเดือนกรกฎาคม 2551 นับว่าการผลิตภาคอุตสาหกรรมของจีนในเดือนสิงหาคม 2551 ขยายตัวต่ำที่สุดในรอบ 18 เดือน

ส่งออกของไทยไปตลาดจีนเดือนสิงหาคม 2551 ชะลอตัว

     ผลกระทบจากการชะลอตัวของการนำเข้าและการผลิตภาคอุตสาหกรรมของจีนในเดือน สิงหาคม 2551 ทำให้การส่งออกของไทยไปจีนในเดือนสิงหาคมชะลอตัวลงเหลือร้อยละ 1.4 (yoy) มูลค่าส่งออก1,445 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ นับว่าเป็นเดือนที่อัตราการเติบโตของการส่งออกอยู่ในระดับต่ำที่สุดตั้งแต่ ต้นปี 2551 สินค้าส่งออกสำคัญของไทยไปจีนในเดือนสิงหาคม 2551 หลายรายการซึ่งเป็นสินค้าที่จีนใช้ในการผลิตภาคอุตสาหกรรมมีมูลค่าส่งออกลด ลง ได้แก่ เคมีภัณฑ์ แผงวงจรไฟฟ้า และน้ำมันสำเร็จรูป โดยมีอัตราลดลงร้อยละ 40 ร้อยละ 8.5 และร้อยละ 13.1 ตามลำดับ

ส่วน สินค้าส่งออกสำคัญของไทยไปจีนที่ ขยายตัวชะลอลงในเดือนสิงหาคม 2551 ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบที่ขยายตัวร้อยละ 12.6 ในเดือนสิงหาคม 2551 (yoy) จากที่เติบโตร้อยละ 25.8 ในเดือนก่อนหน้า (yoy) เม็ดพลาสติกขยายตัวร้อยละ 0.1 จากที่ขยายตัวมากกว่าร้อยละ 50 ในเดือนก่อนหน้า และไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ที่เติบโตร้อยละ 4.4 จากที่ขยายตัวร้อยละ 33 ในเดือนก่อนหน้า

การส่งออกของไทยไปจีนในเดือนสิงหาคม 2551 ที่ชะลอตัวอย่างมาก ส่งผลกดดันให้มูลค่าการส่งออกของไทยไปจีนในช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้เติบโตชะลอลงเหลือร้อยละ 24.7 เทียบกับที่ขยายตัวร้อยละ 29 ในช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ หากพิจารณาการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมของไทยไปจีนในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2551 นี้ พบว่ามีอัตราขยายตัวชะลอลงเหลือร้อยละ 19.2 จากที่เติบโตร้อยละ 31.4 ในช่วงเดียวกันของปี 2550 สินค้าอุตสาหกรรมส่งออกสำคัญของไทยไปจีนที่มีมูลค่าส่งออกลดลงในช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้ ที่สำคัญ ได้แก่ เคมีภัณฑ์ ลดลงร้อยละ 39 และผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ลดลงร้อยละ 32

การส่งออกของไทยในช่วงที่เหลือของปี นี้ยังคงต้องเผชิญกับปัจจัยท้าทายจากผลกระทบของวิกฤตภาคการเงินสหรัฐฯ ที่ส่งให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น มีแนวโน้มชะลอตัวลง ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อภาคส่งออกของไทยไปยังประเทศเหล่านี้ และยังส่งผลทางอ้อมต่อการส่งออกไทยไปตลาดจีนที่มีแนวโน้มชะลอตัวด้วย เนื่องจากจีนเป็นประเทศผู้ผลิตสินค้าส่งออกรายสำคัญของโลก การชะลอของภาคส่งออกจีนจากความต้องการของตลาดส่งออกที่ชะลอลง ย่อมส่งผลให้ความต้องการนำเข้าสินค้าของจีนจากประเทศต่างๆ ประเภทส่วนประกอบ/ชิ้นส่วน/สินค้าทุนที่ใช้ในการผลิตภาคอุตสาหกรรมชะลอตามไป ด้วย ทำให้ภาคส่งออกของประเทศต่างๆ ในเอเชีย รวมทั้งไทยได้รับผลกระทบตามไปด้วย เนื่องจากความเชื่อมโยงของห่วงโซ่การผลิตภาคอุตสาหกรรมของจีนกับประเทศต่างๆ ในเอเชียและไทยที่ส่งผลกระทบถึงกันอย่างเลี่ยงไม่ได้

หากพิจารณา ตลาดส่งออกของไทยเป็นรายประเทศ จีนถือเป็นตลาดส่งออกสำคัญของไทยไปมีมูลค่าสูงเป็นอันดับที่ 3 รองจากสหรัฐฯ และญี่ปุ่น โดยตลาดจีนคิดเป็นสัดส่วนราวร้อยละ 9.5 ของการส่งออกทั้งหมดของไทย ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่าปัจจัยจากการนำเข้าของสหรัฐฯ ที่อ่อนแรงลงอันเนื่องมาจากปัญหาเศรษฐกิจสหรัฐฯที่ส่งผลต่อความต้องการ บริโภคและการนำเข้าของสหรัฐฯ ประกอบกับการส่งออกของไทยไปญี่ปุ่นที่ได้รับแรงหนุนจากสิทธิ ประโยชน์ด้านภาษีภายใต้ความตกลง FTA ระหว่างไทยกับญี่ปุ่น (JTEPA) ส่งผลให้ญี่ปุ่นแซงสหรัฐฯ มาเป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 ของไทย เป็นครั้งแรกในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2551 นี้ ขณะที่จีนยังคงเป็นตลาดส่งออกสำคัญอันดับ 3 ของไทย  

สรุป ภาคส่งออกของจีนที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและส่งผล ต่อไปถึงความต้องการนำเข้าสินค้าและการผลิตภาคอุตสาหกรรมของจีนให้ชะลอลง ด้วย โดยเริ่มส่งสัญญาณตั้งแต่ในเดือนสิงหาคม 2551 ซึ่งเป็นปัจจัยลบที่ส่งผลต่อภาคส่งออกของไทยไปจีนในสิงหาคม 2551 ให้อ่อนแรงลงด้วย โดยการส่งออกของไทยไปจีนในเดือนสิงหาคมปี 2551 เติบโตชะลอลงเหลือร้อยละ 1.4 จากช่วงเดียวกันของปี 2550 (yoy) นับว่าเป็นเดือนที่อัตราเติบโตของการส่งออกไปจีนอยู่ในระดับต่ำที่สุด ตั้งแต่ต้นปี 2551 สินค้าสำคัญหลายรายการที่จีนใช้สำหรับการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่นำเข้าจากไทย มีมูลค่าลดลง ได้แก่ เคมีภัณฑ์ แผงวงจรไฟฟ้า และน้ำมันสำเร็จรูป ส่วนสินค้าส่งออกสำคัญของไทยไปจีนที่ขยายตัวชะลอลงในเดือนสิงหาคม 2551 ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เม็ดพลาสติก และไม้/ผลิตภัณฑ์ไม้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกจากวิกฤตภาคการเงินของ สหรัฐฯ ที่ส่งผลให้ภาคส่งออกจีนอ่อนแรงลง เป็นปัจจัยท้าทายที่จะส่งผลให้การส่งออกของไทยไปจีนในปีนี้มีแนวโน้มเติบโต ชะลอลงจากปี 2550 โดยประเมินว่าการส่งออกของไทยไปจีนในปีนี้อาจขยายตัวได้ราวร้อยละ 18-22 ชะลอลงจากที่เติบโตร้อยละ 26.3 ในปี 2550

หากทางการสหรัฐฯ สามารถหยุดยั้งปัญหาในภาคการเงินของสหรัฐฯ ขณะนี้ ไม่ให้ส่งผลลุกลามไปสู่ภาคเศรษฐกิจที่แท้จริง คาดว่าผลกระทบต่อเศรษฐกิจประเทศต่างๆ รวมทั้งจีนจากภาวะการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่รุนแรงจะอยู่ในวงจำกัดและไม่ลุกลามไปในวงกว้างมากนัก ซึ่งจะช่วยลดแรงกดดันต่อภาคส่งออกของจีน และบรรเทาผลกระทบจากการชะลอตัวของการส่งออกของไทยไปจีนด้วย โดยจีนถือเป็นประเทศที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศใน ภูมิภาคเอเชีย จากความต้องการบริโภคของจีนที่ขยายตัวต่อเนื่องในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นช่วงที่เศรษฐกิจจีนเติบโตด้วยตัวเลข 2 หลักติดต่อกัน มาโดยตลอด และเป็นปัจจัยที่ช่วยกระตุ้นการส่งออกและการเติบโตของเศรษฐกิจประเทศต่างๆ ในเอเชียและประเทศไทยด้วย

สำหรับไทย จีนเป็นตลาดส่งออกสำคัญอันดับ 3 ของไทย ที่มีสัดส่วนส่งออกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากร้อยละ 4.4 ในปี 2544 เป็นร้อยละ 9.5 ในปัจจุบัน

ที่มา: ศูนย์วิจัยกสิกรไทย
"Risk comes from not knowing what you're doing" - Warren Buffet

สุดยอดของความซับซ้อนคือความเรียบง่าย

http://www.sarut-homesite.net/
โพสต์โพสต์