อุ้มแฟนนี เม & เฟรดดี แมคจุดจบวิกฤตการเงินเมืองลุงแซม?

การลงทุนแบบเน้นคุณค่า ลงทุนหุ้น VI เน้นที่ปัจจัยพื้นฐานเป็นหลัก

โพสต์ โพสต์
i_sarut
Verified User
โพสต์: 1808
ผู้ติดตาม: 1

อุ้มแฟนนี เม & เฟรดดี แมคจุดจบวิกฤตการเงินเมืองลุงแซม?

โพสต์ที่ 1

โพสต์

อุ้มแฟนนี เม & เฟรดดี แมคจุดจบวิกฤตการเงินเมืองลุงแซม?

โดย ผู้จัดการออนไลน์ 12 กันยายน 2551 09:03 น.


      เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2551 ที่ผ่านมา กระทรวงการคลังสหรัฐฯ ได้ประกาศว่า สำนักงานการเงินการเคหะของรัฐบาลกลาง (The Federal Housing Finance Agency: FHFA) ซึ่งเป็นหน่วยงานควบคุมกฎระเบียบแห่งใหม่สำหรับสมาคมการจำนองแห่งชาติของรัฐบาลกลาง (แฟนนี เม) และบรรษัทจำนองสินเชื่อบ้านของรัฐบาลกลาง (เฟรดดี แมค) ได้นำ แฟนนี เม และเฟรดดี แมค เข้าสู่แผนพิทักษ์กิจการ(Conservatorship) ของรัฐบาลกลาง เพื่อพลิกฟื้นความเชื่อมั่น และเสริมสร้างความแข็งแกร่งทางการเงิน หลังจากสถานการณ์ของปัญหาที่สถาบันการเงินยักษ์ใหญ่ทั้งสองแห่งต้องเผชิญได้เลวร้ายลงยิ่งขึ้น
     
      มาตรการกอบกู้ครั้งนี้ อาจถือเป็นหนึ่งในมาตรการกอบกู้กิจการครั้งใหญ่ที่สุดเป็นประวัติการณ์ของรัฐบาลสหรัฐฯ และการดำเนินการของทางการสหรัฐฯ เพื่อเข้าช่วยเหลือสถาบันการเงินยักษ์ใหญ่ด้านสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยดังกล่าว ย่อมสร้างภาระทางการคลัง ซึ่งในที่สุดแล้วย่อมจะตกไปยังประชาชนผู้เสียภาษีของสหรัฐฯ
     
      ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ออกบทวิเคราะห์ต่อมาตรการกอบกู้กิจการครั้งนี้ว่า โดยระบุว่า สถาบันการเงินชั้นนำอย่าง แฟนนี เม และเฟรดดี แมค ถือเป็นเสาหลักในตลาดสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย โดยมีบทบาทสำคัญในการแปลงสินเชื่อที่อยู่อาศัยให้เป็นหลักทรัพย์ (Mortgage-Backed Securities) ทั้งนี้ยอดสินเชื่อที่อยู่อาศัยที่ได้รับการค้ำประกันหรือถือครองโดยสถาบันการเงินทั้งสองมีมูลค่ารวมสูงถึงประมาณ 5 ล้านล้านดอลลาร์ฯ หรือมีมูลค่า 42% ของยอดคงค้างของสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยทั้งหมดของสหรัฐฯ ซึ่งมีมูลค่าประมาณ 12 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ดังนั้นปัญหาที่ลากยาวออกไปของแฟนนี เม และเฟรดดี แมค อาจนำไปสู่ความปั่นป่วนวุ่นวายอย่างรุนแรงต่อตลาดและระบบการเงิน ตลอดจนระบบเศรษฐกิจของสหรัฐฯ และทั่วโลก
     
      การที่สำนักงานการเงินการเคหะของรัฐบาลกลาง (FHFA) ซึ่งเป็นหน่วยงานควบคุมกฎระเบียบสำหรับสถาบันการเงินทั้งสองแห่ง ได้นำ แฟนนี เม และเฟรดดี แมค เข้าสู่แผนพิทักษ์กิจการของรัฐบาลกลางสหรัฐฯ นับเป็นการดำเนินการที่สามารถเสริมสร้างความเชื่อมั่นให้กับภาคการเงินได้ในระดับหนึ่ง แม้ว่ามาตรการกอบกู้กิจการ อาจไม่สามารถสะท้อนสัญญาณว่า ปัญหาความอ่อนแอของสถาบันการเงินและความปั่นป่วนต่างๆ ในภาคการเงิน โดยเฉพาะในตลาดสินเชื่อ ได้หมดลงไปแล้วก็ตาม และเนื่องจากสถานการณ์และระดับความรุนแรงของปัญหาที่สถาบันการเงินยักษ์ใหญ่ทั้งสองแห่งต้องเผชิญ อาจทำให้มาตรการกอบกู้กิจการ แฟนนี เม และเฟรดดี แมค นับเป็นครั้งที่ใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติการณ์ของรัฐบาลสหรัฐฯ ซึ่งอาจนำไปสู่ภาระทางการคลังที่เพิ่มสูงขึ้น และอาจส่งผลกระทบต่อต้นทุนการกู้เงินของทางการสหรัฐฯ ให้ปรับเพิ่มสูงขึ้นในระยะถัดไป
     
      อดีตเจ้าหน้าที่ของธนาคารกลางสหรัฐฯ ได้ประเมินว่า ภาระที่อาจเกิดขึ้นจากการเข้ากอบกู้ แฟนนี เม และเฟรดดี แมค ในรอบนี้ อาจมีมูลค่าสูงถึง 3 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ และในท้ายที่สุดภาระเหล่านี้ย่อมจะตกไปยังประชาชนผู้เสียภาษีของสหรัฐฯ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
     
      ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีความเห็นว่า เมื่อประเมินถึงสาระสำคัญของการนำ แฟนนี เม และเฟรดดี แมค เข้าสู่แผนพิทักษ์กิจการนั้น อาจทำให้เสาหลักของตลาดสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยสามารถกลับมาดำเนินงานได้อย่างน้อยก็ในระดับหนึ่ง หลังจากที่สถานะทางการเงินกลับมามีความเข้มแข็งเพียงพอ และความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่มีต่อสถาบันการเงินทั้ง 2 แห่งนี้ ค่อยๆ ฟื้นกลับคืนมา ซึ่งผลที่อาจเกิดขึ้นในลำดับถัดไปนั้น อาจออกมาในรูปของการคลายความตึงตัวของตลาดสินเชื่อ ซึ่งอาจทำให้สถาบันการเงินสามารถปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยให้กับลูกหนี้ด้วยอัตราดอกเบี้ยจำนองที่ลดลง (อาจทำให้ความสามารถในการซื้อบ้านเพิ่มมากขึ้น) หรือเริ่มเจรจารีไฟแนนซ์สินเชื่อจำนองกับลูกค้าเดิม (อาจช่วยลดอัตราการผิดนัดชำระหนี้และการยึดทรัพย์จำนอง) โดยกระบวนการเหล่านี้อาจช่วยชะลอหรือเสริมสร้างเสถียรภาพให้กับตลาดที่อยู่อาศัยอีกต่อหนึ่ง และเมื่อปัญหาของตลาดที่อยู่อาศัย และตลาดสินเชื่อเริ่มคลายตัวลงแล้ว กระแสการปรับลดมูลค่าในบัญชีของภาคธนาคารก็อาจชะลอลงตามไปด้วย และในท้ายที่สุดก็อาจช่วยบรรเทาผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมของสหรัฐฯ ที่กำลังเผชิญกับภาวะซบเซา
     
      ทั้งนี้การนำ แฟนนี เม และเฟรดดี แมค เข้าสู่แผนพิทักษ์กิจการของรัฐบาลกลางสหรัฐฯ นั้น ถือเป็นก้าวสำคัญของการดำเนินมาตรการช่วยเหลือตลาดที่อยู่อาศัยของสหรัฐฯ ซึ่งหากปราศจากมาตรการเข้ากอบกู้กิจการในครั้งนี้ อาจทำให้ระบบสินเชื่อของสหรัฐฯ สั่นคลอนอย่างหนัก และไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น ปัญหาความปั่นป่วนและความยุ่งยากต่างๆ ซึ่งยากที่จะควบคุม ก็อาจเกิดขึ้นตามมา ดังนั้น การเข้าเทคโอเวอร์สถาบันการเงินทั้งสองแห่งของทางการสหรัฐฯ ในรอบนี้ อาจมีเป้าหมายในการแก้ไขโจทย์เฉพาะหน้า เพื่อให้แน่ใจว่าโครงสร้างพื้นฐานของระบบการปล่อยสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยสามารถดำเนินการได้ต่อไป และในท้ายที่สุดก็อาจส่งผลให้จำนวนบ้านที่ค้างสต็อกปรับลดลงและเสริมสร้างเสถียรภาพให้กับตลาดที่อยู่อาศัยของสหรัฐฯ
     
      อย่างไรก็ตาม เป็นความจริงที่ว่า ตลาดที่อยู่อาศัยของสหรัฐฯ กำลังได้รับแรงหนุนจากรัฐบาล แต่มาตรการกอบกู้ แฟนนี เม และเฟรดดี แมค อาจช่วยบรรเทาความเสี่ยงในภาคการเงินลงบางส่วนเท่านั้น ทั้งนี้เนื่องจากปัญหาที่ยืดเยื้อมานานทำให้ขนาดความรุนแรงของปัญหาเพิ่มมากขึ้น ขณะที่ การนำ แฟนนี เม และเฟรดดี แมค เข้าสู่แผนพิทักษ์กิจการ ก็อาจไม่ใช่คำตอบที่เบ็ดเสร็จในการแก้ไขวิกฤตการเงินและเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ในรอบนี้ เนื่องจากยังคงมีอีกหลายปัจจัยที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของกระทรวงการคลังของสหรัฐฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเงื่อนไขที่จำเป็นยิ่งสำหรับการฟื้นตัวก็คือ พลวัตรของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ซึ่งในขณะนี้ กำลังเผชิญกับแนวโน้มการปรับขึ้นของอัตราการว่างงาน และอาจส่งผลกระทบต่อเนื่องไปกดดันกำลังซื้อของประชาชนในระยะถัดไป
     
      ดังนั้นหากประเมินภาพเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในขณะนี้ จะพบว่า ยังคงไม่มีหลักประกันที่ทำให้สามารถเชื่อมั่นได้ว่า ปัญหาทั้งหมดที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ ต้องเผชิญตลอดระยะเวลา 1 ปีที่ผ่านมานั้น จะคลี่คลายไปได้อย่างรวดเร็ว แม้ว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ ได้ทำการอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบการเงิน พร้อมๆ ไปกับการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย และการเข้าช่วยเหลือสถาบันการเงินที่ประสบปัญหาของทางการสหรัฐฯ ในช่วงที่ผ่านมาก็ตาม โดยข่าวร้ายของภาคการเงิน ปัญหาสินเชื่อที่ตึงตัว และการเสื่อมค่าของมูลค่าทางบัญชีของสถาบันการเงินสหรัฐฯ ที่ยังคงทยอยถูกเปิดเผยออกมานั้น อาจทำให้การฟื้นตัวของตลาดที่อยู่อาศัยของสหรัฐฯ อาจต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่งในการเยียวยา แต่อย่างน้อยการดำเนินมาตรการช่วยเหลือของทางการสหรัฐฯ น่าจะทำให้นักลงทุน รวมทั้งตลาดเงินตลาดทุนทั่วโลกคลายความกังวลและมีความมั่นใจได้ระดับหนึ่งว่า ทางการสหรัฐฯ พร้อมที่จะเข้าไปกอบกู้สถานการณ์ และช่วยประคับประคองให้ทุกอย่างค่อยๆ กลับเข้าสู่ภาวะปกติ
     
      ที่มา : ศูนย์วิจัยกสิกรไทย
"Risk comes from not knowing what you're doing" - Warren Buffet

สุดยอดของความซับซ้อนคือความเรียบง่าย

http://www.sarut-homesite.net/
โพสต์โพสต์