เงินเฟ้อ : ภัยที่มองไม่ (ค่อย) เห็น

การลงทุนแบบเน้นคุณค่า ลงทุนหุ้น VI เน้นที่ปัจจัยพื้นฐานเป็นหลัก

โพสต์ โพสต์
121
Verified User
โพสต์: 843
ผู้ติดตาม: 0

เงินเฟ้อ : ภัยที่มองไม่ (ค่อย) เห็น

โพสต์ที่ 1

โพสต์

คือผมสงสัยมานานแล้วว่า ในความรู้สึก

ราคาสินค้าเพิ่มสูงกว่าอัตราเงินเฟ้อที่ทางการประกาศ

มีตัวเลขอัตราเงินเฟ้อจากสำนักอื่นๆบ้างไหมครับ

เช่น ทีดีอาร์ไอ หรืออืนๆ





เงินเฟ้อ : ภัยที่มองไม่ (ค่อย) เห็น - คอลัมน์ เศรษฐกิจต้องรู้

คอลัมน์ เศรษฐกิจต้องรู้

โดย ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

ปกติเราจะบ่นว่าเงินเฟ้อไม่ดีเพราะทำให้สินค้าราคาแพงและจะเรียกร้องให้กระทรวงพาณิชย์ควบคุมราคาสินค้าจำเป็น โดยการตรวจสอบต้นทุนที่แท้จริงของผู้ผลิตและขอร้องให้ผู้ผลิตตรึงราคาเอาไว้ก่อนเพื่อเห็นแก่ส่วนรวม ซึ่งมักจะเป็นการกระทำ ที่ไม่ได้ผลมากนัก เพราะหากต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้นจริง กระทรวงพาณิชย์ก็ต้องยอมให้ขึ้นราคาในที่สุด เนื่องจากการห้ามมิให้ขึ้นราคา จะนำไปสู่การขาดแคลนของสินค้า เพราะผู้ผลิตย่อมไม่สามารถผลิตสินค้าออกมาขายในราคาที่ขาดทุนได้ในระยะยาว การเข้าไปแทรกแซงกลไกตลาดมากๆ จะยิ่งทำให้ผู้ผลิตระมัดระวังไม่อยากลงทุนขยายการผลิตในสินค้าที่ถูกควบคุมราคา ดังนั้นจึงจะดีกว่าถ้าปล่อยให้ราคาปรับตามกลไกตลาด แต่ให้มั่นใจว่ามีผู้ผลิตหลายรายเพื่อป้องกันการผูกขาดและการตั้งราคาสูงเกินต้นทุนบวกกำไรที่เหมาะสม

แต่หากราคาสินค้าและบริการต้องปรับตัว เพิ่มขึ้นและเสี่ยงว่าจะทำให้เกิดการเรียกร้องให้ปรับขึ้นเงินเดือน อันจะนำไปสู่การปรับขึ้นของราคาสินค้าและบริการอีกทอดหนึ่งไปอย่างไม่มีจุดจบ ก็แปลว่าประเทศกำลังจะเผชิญกับปัญหาเงินเฟ้อที่รุนแรงและต่อเนื่อง ตรงนี้จะเป็นอันตรายอย่างยิ่งเพราะเงินเฟ้อจะกัดกร่อนมูลค่าที่แท้จริงของการออมอย่างมาก

ตารางที่ 1 นี้ ผมหยิบยืมมาจาก ดร.สมจินต์ ศรไพศาล ที่กรุณามาร่วมสัมมนากับภัทร ในการให้ความรู้กับประชาชนเกี่ยวกับการลงทุนที่ถูกต้อง โดยยกตัวอย่างว่า หากเราสามารถออมเงินเพื่อ นำมาลงทุนได้ในปีแรกเดือนละ 5,000 บาท และปีต่อๆ ไปให้เพิ่มเงินออมดังกล่าวปีละ 5% เราจะพบว่าเราจะมีเงินเก็บเพื่อใช้หลังทำงานติดต่อกัน 35 ปี เป็นเงินทั้งสิ้นถึง 29.8 ล้านบาท ทั้งนี้โดยตั้งสมมุติฐานว่า การลงทุนนั้นให้ผลตอบแทน 10% ต่อปี

ดร.สมจินต์ชี้ให้เห็นว่า การหมั่นออมอย่าง ต่อเนื่องและมีวินัยนั้นจะทำให้เรามีความกินดีอยู่ดีได้ในยามแก่เฒ่าเพราะเงิน 29.8 ล้านบาท เป็นเงินไม่น้อยเลย ที่สำคัญคือเงินที่เราออมเพื่อนำไปลงทุนนั้นมีมูลค่ารวมทั้งสิ้นเพียง 5.4 ล้านบาทเท่านั้น แปลว่าเราลงทุนเพียง 1 ส่วนจะได้ผลตอบแทนเกือบ 5 ส่วน ซึ่งถือว่าดีมากสำหรับประชาชน แต่ต้องยอมรับว่าจะให้การลงทุนของประชาชนได้ผลตอบแทนสูงถึง 10% นั้นต้องได้รัฐบาลที่มีฝีมือในการทำให้เศรษฐกิจขยายตัวอย่างต่อเนื่องในระดับสูง เพราะจะเป็นไปไม่ได้เลยที่คนไทยที่ลงทุนในเมืองไทยจะได้ผลตอบแทนปีละ 10% หากเศรษฐกิจขยายตัวเพียง 3-4% ต่อปี เป็นต้น

แต่ที่สำคัญคือ ผลกระทบกับผลตอบแทน จากการลงทุน หากในช่วง 35 ปีนั้น ประเทศไทยมีเงินเฟ้อปีละ 3% ซึ่งหลายคนอาจคิดว่าไม่มากอะไร ในบางครั้งยังพูดกันด้วยว่า หากกระตุ้นเศรษฐกิจแล้ว เงินเฟ้อเพิ่มเป็น 4.5% ก็ไม่น่าจะต้องกังวลมากนัก หากทำให้เศรษฐกิจโต และการค้าขายคล่องตัว แต่การมีเงินเฟ้อเพียง 3% จะทำให้มูลค่าจริงของเงินออม 29.8 ล้านบาทนั้น ลดลงเหลือเพียง 10.6 ล้านบาท หรือลดลงเหลือเพียง 1/3 ของกรณีที่เงินเฟ้อเท่ากับศูนย์ จะเห็นได้ว่าในกรณีที่ไม่มีเงินเฟ้อนั้น เราจะอยู่กันได้ อย่างสะดวกสบายในยามแก่ เพราะเงิน 29.8 ล้าน หากฝากเงินแบบความเสี่ยงต่ำและได้ดอกเบี้ย ปีละ 3% ก็จะเท่ากับ 9 แสนบาทต่อปี ทำให้สามารถใช้เงินเดือนละ 75,000 บาท โดยเหลือเงินต้นเอาไว้ให้ลูกหลานก็ยังได้ แต่ในกรณีที่มีเงินเฟ้อ 3% นั้น แม้เงินที่เก็บได้จะเท่ากับ 29.8 ล้านบาท แต่เงินดังกล่าวมีกำลังซื้อที่แท้จริง (เมื่อเทียบกับราคาสินค้าปัจจุบัน) เพียง 10.6 ล้านบาท ในกรณีนี้หากนำเงินไปฝาก ได้ผลตอบแทน 3% ก็จะมีรายได้จากดอกเบี้ย เพียงเดือนละ 26,500 บาท ซึ่งน่าจะไม่พอใช้ และจะต้องเฉือนเงินต้นมาใช้จนหมด ไม่สามารถเหลือทรัพย์สมบัติให้กับลูกหลานได้

จะเห็นได้ว่าเงินเฟ้อนั้นเป็นภัยอันตรายอย่างมากโดยเฉพาะกับผู้ออม แต่จะเป็นประโยชน์สำหรับลูกหนี้ เพราะมูลค่าที่แท้จริงของหนี้สินจะเสื่อมค่าลง ลูกหนี้ที่ใหญ่ที่สุด คือ รัฐบาล ดังนั้นนักเศรษฐศาสตร์จึงให้ความสำคัญกับวินัยทางการคลังอย่างมาก เพราะหากรัฐบาลควบคุมการสร้างหนี้ไม่รัดกุม และมีภาระดอกเบี้ยมากขึ้น ก็มักจะกดดันให้ผ่อนคลายนโยบายการเงินคือ ลดดอกเบี้ยเพื่อลดภาระดังกล่าว ทำให้เกิด ปัญหาเงินเฟ้อในอนาคต เป็นผลเสียกับประชาชน ซึ่งเป็นผู้ออมและเป็นเจ้าหนี้หลักของรัฐบาล

ด้วยเหตุนี้การให้ธนาคารกลางมีความเป็นอิสระจากรัฐบาลจึงเป็นหลักการสำคัญ กล่าวคือให้ธนาคารกลางควบคุมดูแลให้เงินเฟ้ออยู่ที่ระดับต่ำ เพราะรัฐบาลและนักการเมืองจะมีแรงชักจูง ให้พร้อมรับระดับเงินเฟ้อที่สูงกว่า แต่มิใช่การให้อิสระกับธนาคารกลางให้ทำอะไรก็ได้ ตามอำเภอใจ โดยไม่ต้องรับผิดชอบต่อประชาชน โดยเฉพาะในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเสถียรภาพของราคาในประเทศเป็นหลัก ดังนั้นเมื่อเงินเฟ้อ ในเดือนมกราคม ปรับสูงขึ้นถึง 4.3% จึงเป็น เรื่องที่จะต้องให้ความสำคัญอย่างยิ่ง

ในทางตรงกันข้าม มีการกล่าวกันมากว่า ธนาคารแห่งประเทศไทยควรดูแล "เสถียรภาพของอัตราแลกเปลี่ยน" เพื่อให้ประเทศไทยสามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก ตรงนี้ต้องขอให้ทำความเข้าใจว่า ความสามารถในการแข่งขัน ของการส่งออกหรือการแข่งขันของประเทศ ในระยะยาวนั้น มิได้รักษาไว้หรือส่งเสริม ด้วยการควบคุมอัตราแลกเปลี่ยนได้ ความสามารถในการแข่งขันนั้นเกิดขึ้นจากการพัฒนาผลิตภาพ (productivity) ซึ่งเกิดขึ้นจากนวัตกรรม (innovative) การลงทุน ระบบโครงสร้างพื้นฐานที่ดี แรงงานที่มีประสิทธิภาพ รัฐบาลที่ไม่คอร์รัปชั่น ฯลฯ แต่ไม่ใช่จากการดูแลอัตราแลกเปลี่ยน

การดูแลอัตราแลกเปลี่ยนนั้น บางคนดูเหมือนเข้าใจว่าจะต้องให้ตรึงเงินบาทเอาไว้ที่ 35 บาท ต่อ 1 ดอลลาร์ และหากปล่อยให้เงินบาทแข็งขึ้นไปเกิน 30 บาทต่อ 1 ดอลลาร์ ญี่ปุ่นขู่ว่าจะย้ายฐานการผลิตไปจากประเทศไทย เป็นต้น ซึ่งตรงนี้ธนาคารแห่งประเทศไทยชี้แจงว่ามิได้ดูแลค่าเงินบาทโดยผูกกับเงินดอลลาร์ แต่ต้องผูกกับค่าเงินหลายสกุล ทั้งค่าเงินของประเทศคู่แข่งและค่าเงินของประเทศคู่ค้า โดยต้องถ่วงน้ำหนักให้เหมาะสม เช่น หากเรา ส่งออกสินค้าไปสหรัฐมาก และจีนเป็นคู่แข่งสำคัญก็จะต้องให้น้ำหนักกับการเปลี่ยนแปลงของค่าเงินดอลลาร์ และเงินหยวนมากกว่าเงินสกุลอื่นๆ เป็นต้น โดยเราสามารถวัดได้จากดัชนีที่เรียกว่า nominal effective exchange rate หรือ NEER ซึ่ง ธปท.ยืนยันว่า แม้เงินบาทจะแข็งค่าขึ้น แต่ ธปท.ก็ได้พยายามควบคุมให้ค่าเงินบาทไม่เปลี่ยนแปลงมากนักโดยวัดจากดัชนี NEER (ดูดัชนีอัตราแลกเปลี่ยนถ่วงน้ำหนัก)

จะเห็นได้ว่าในช่วง 1990-1996 นั้น ดัชนี NEER อยู่ที่ประมาณ 100 แต่เมื่อไทยประสบวิกฤตเศรษฐกิจที่เป็นผลมาจากการมีหนี้สินต่างประเทศมากเกินกำลังที่จะใช้คืน ทำให้เงินบาทอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่องนับแต่ครึ่งหลังของปี 1997 ถึงต้น 1998 ที่อ่อนค่าลงมาอยู่ที่ระดับต่ำกว่า 60 และหลังจากนั้นก็เคลื่อนไหวอยู่ในช่วง 70-80 ตามที่ ธปท.กล่าวว่าได้พยายามดูแลให้ค่าเงินอยู่ในระดับที่การส่งออกของไทยสามารถแข่งขันได้ กล่าวคืออ่อนกว่าสมัยก่อนการลดค่าเงินบาท

แต่ดังที่ผมกล่าวในข้างต้น ความสามารถในการแข่งขันนั้นมิได้กำหนดโดยอัตราแลกเปลี่ยน แต่ขึ้นอยู่กับการค้นคว้าวิจัย การลงทุน การตลาด การพัฒนาทรัพยากร ฯลฯ การกดค่าเงินให้อ่อนเกินกว่าที่กำหนดโดยกลไกตลาดนั้นจะส่งผลให้ประเทศไทยเกินดุลบัญชีเดินสะพัด (ส่งออก มากกว่านำเข้า) เช่นที่เราเกินดุลถึง 15,000 ล้านเหรียญในปีที่แล้ว การเกินดุลดังกล่าวบวก กับการไหลเข้าของเงินทุนจากต่างประเทศจะกดดันให้เงินบาทแข็งค่า หากต้องการฝืนตรงนี้ ธปท.ก็ต้องเข้าแทรกแซงซื้อดอลลาร์และขายบาท แต่เมื่อมีปริมาณบาทออกไปในระบบมากก็จะกระตุ้นเงินเฟ้อให้ปรับตัวเพิ่มขึ้น ธปท.จึงต้อง ดูดซับสภาพคล่องโดยการขายพันธบัตร ธปท. โดย ธปท.ได้ออกพันธบัตร ธปท.ไปแล้วกว่า 1.3 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดิมที่มีจำนวนเพียง 4 แสนล้านบาทในปี 2004 แต่การออกพันธบัตร (สร้างหนี้เป็นเงินบาท) เป็นภาระของ ธปท. ทำให้ในระยะยาวการควบคุมปริมาณเงินอาจไม่รัดกุมเพียงพอ ผลที่ตามมาคือเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น

การตั้งประเด็นดังกล่าวอาจดูเลื่อนลอย แต่เป็นไปตามข้อเท็จจริงที่มักจะเกิดขึ้นกับประเทศที่กดค่าเงินให้อ่อนเกินจริงไปนานๆ ในกรณีของไทยนั้นก็สามารถวัดได้โดยการนำเอาอัตราเงินเฟ้อของไทยไปเปรียบเทียบกับอัตราเงินเฟ้อของประเทศ คู่แข่งและคู่ค้า พร้อมกับการปรับเปลี่ยนของอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์เรียกว่าเป็นการคำนวณอัตราแลกเปลี่ยนที่แท้จริง (คือรวมเงินเฟ้อเข้าไปด้วย) หรือ real effective exchange rate (REER)

REER นั้นเป็นตัววัดความสามารถในการ แข่งขันได้ดีกว่า NEER เพราะคำนึงถึงเงินเฟ้อที่กระทบต้นทุนการผลิตเข้าไว้ด้วย จะเห็นได้ว่า REER ของไทยนั้นถดถอยอย่างต่อเนื่องในช่วง3 ปีที่ผ่านมา (เพราะ REER ปรับสูงขึ้นกว่า NEER มาโดยตลอด) สะท้อนว่าแม้อัตราแลกเปลี่ยน จะดูเหมือนมีเสถียรภาพ แต่ความสามารถใน การแข่งขันหรือ REER นั้นลดถอยลง เพราะเงินเฟ้อของไทยสูงกว่าประเทศคู่ค้าและคู่แข่ง

กล่าวโดยสรุปในระยะยาวนั้น หากควบคุมเงินเฟ้อให้อยู่ที่ 1-2% ต่อปี จะเป็นประโยชน์ต่อ ผู้ส่งออกมากกว่าความพยายามควบคุมอัตรา แลกเปลี่ยน ซึ่งมิใช่แนวทางที่จะควบคุมความสามารถในการแข่งขันของประเทศได้ในระยะยาว แต่กลับจะเป็นผลเสียต่อคนส่วนรวมของประเทศ ที่จะต้องรับผลพวงจากเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น ซึ่งจะกัดกร่อนอำนาจซื้อและเงินออมของคนทั้งชาติ ในขณะนี้คนไทยมีเงินออมที่ฝากอยู่ที่สถาบันการเงินทั้งสิ้น 6 ล้านล้านบาท หากเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นอีกปี 1% ก็จะทำให้เงินฝากดังกล่าวเสื่อมค่าปีละ 60,000 ล้านบาทครับ


ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551 ปีที่ 31 ฉบับที่ 3977 (3177
โพสต์โพสต์