ปัญหาซับไพรม์ของสหรัฐและผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก

การลงทุนแบบเน้นคุณค่า ลงทุนหุ้น VI เน้นที่ปัจจัยพื้นฐานเป็นหลัก

โพสต์ โพสต์
Can do
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 573
ผู้ติดตาม: 26

ปัญหาซับไพรม์ของสหรัฐและผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก

โพสต์ที่ 1

โพสต์

http://www.matichon.co.th/matichon/mati ... ionid=0142


ปัญหาซับไพรม์ของสหรัฐและผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก

โดย ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ กรรมการผู้จัดการ สายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ภัทร จำกัด

1.รากเง้าของปัญหา

เมื่อฟองสบู่อุตสาหกรรมอินเตอร์เน็ตแตกในปี ค.ศ.2000 และสหรัฐอเมริกาถูกซ้ำเติมโดยการก่อการร้ายเมื่อ 11 กันยายน 2001 ธนาคารกลางสหรัฐกอบกู้สถานการณ์โดยการลดดอกเบี้ยลงอย่างต่อเนื่องจาก 6% มาเป็น 1% การลดดอกเบี้ยดังกล่าวทำให้สหรัฐหลีกเลี่ยงปัญหาทางเศรษฐกิจได้เกือบทั้งหมดและเศรษฐกิจสหรัฐสามารถกลับมาฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็วในปี 2002

การลดดอกเบี้ยดังกล่าวสร้างฟองสบู่ฟองใหม่ในภาคอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งเติบโตอย่างต่อเนื่องมาก่อนหน้าแล้ว แต่เมื่อดอกเบี้ยลดลงเหลือ 1% ราคาบ้านในสหรัฐก็ปรับตัวเพิ่มขึ้นปีละ 10-15% ทำให้เกิดการเก็งกำไรในภาคอสังหาริมทรัพย์อย่างไร้ขอบเขต ธนาคารกล้าปล่อยสินเชื่อให้กับลูกหนี้ที่ต่ำกว่ามาตรฐานปกติ หรือซับไพรม์ (subprime) กล่าวคือการปล่อยกู้ให้ลูกหนี้ที่รายได้ไม่เป็นหลักแหล่งและประวัติการคืนหนี้ก็ไม่ดีหรือไม่มี แต่ธนาคารก็กล้าปล่อยกู้เพราะเมื่อบ้านซึ่งเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันราคาปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องก็ไม่ต้องกลัวว่าสินเชื่อจะเสียหายต้องยึดบ้านคืนกลับมาส่วนลูกหนี้ก็กล้ากู้เงินซื้อบ้านทีละ 10-20 หลังเพราะคาดว่าจะขายออกเพื่อทำกำไรได้ภายใน 6-12 เดือน แต่เมื่อมีการสร้างบ้านออกมาขายเกินความต้องการจำนวนมาก จนกระทั่งมีบ้านรอขายกว่า 2 ล้านหลัง (เท่ากับยอดขาย 10 เดือน) ลูกหนี้ก็เริ่มมีปัญหามากเพราะหากขายบ้านก็จะขาดทุน แต่หากไม่ขายออกไปก็จะส่งดอกเบี้ยไม่ได้เพราะมิได้เตรียมการเอาไว้ และสินเชื่อก็เป็นประเภท adjustable rate mortgage หรือต้องปรับดอกเบี้ยขึ้นอย่างมากตั้งแต่ปีที่ 3 เป็นต้นไป ดังนั้นสิ่งที่จะเกิดขึ้นในขณะนี้คือ หนี้ซับไพรม์ประมาณ 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐได้กลายเป็นหนี้เสียไปแล้ว 20%

2.ทำไมปัญหาจึงใหญ่โตและลามออกไป

สินเชื่อซับไพรม์นั้นนักวิเคราะห์บางคนเชื่อว่าไม่สร้างปัญหาให้กับระบบการเงินมากนักเพราะคิดเป็นสัดส่วนเพียง 7-8% ของจีดีพีสหรัฐ และหากหนี้เสียเพียง 20-30% ก็แปลว่าความเสียหายที่จะเกิดขึ้นไม่น่าจะเกิน 1-2% ของจีดีพีสหรัฐ หรือ 150,000-250,000 ล้านเหรียญ ซึ่งน้อยมากเมื่อเปรียบเทียบกับขนาดของภาคอสังหาริมทรัพย์ทั้งหมดของสหรัฐ แต่ข้อเท็จจริงคือ ซับไพรม์นั้นถูกนำออกไปใช้เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันการออกตราสารและอนุพันธ์ใหม่ๆ โดยเฉพาะ Collateralized Debt Obligation (CDO) ซึ่งเป็นการนำเอาซับไพรม์ไปผสมผสานกับสินทรัพย์/หลักทรัพย์อื่นๆ แล้วนำไปจัดขั้น คือขั้นสูงก็จะมีหลักทรัพย์ค้ำประกันมากจึงเสี่ยงน้อย และขั้นต่ำก็จะมีหลักทรัพย์ค้ำประกันน้อย โดย CDO ระดับสูงจะได้รับการจัดอันดับเป็นตราสารขั้นดี (AAA) โดยบริษัทจัดอันดับ เช่น มูดี้ส์ เอสแอนด์พี ทำให้ตราสาร CDO ดังกล่าวเป็นที่นิยมของสถาบันการเงินทั่วโลกและมีการออกตราสารดังกล่าวคิดมูลค่าเป็นล้านล้านเหรียญ หากจะเปรียบเทียบ CDO ก็ขอให้นึกถึงการจัดกระเช้าผลไม้ ซึ่งมีทั้งผลไม้ถูกและผลไม้แพงแต่เมื่อจัดให้ดูดีก็จะขายได้ในราคาสูงขึ้น

แต่เมื่อภาคอสังหาริมทรัพย์สหรัฐปรับตัวลงก็ทำให้ความน่าเชื่อถือของ CDO ตกต่ำลงอย่างมากเพราะพบว่าการคำนวณความเสี่ยงผิดพลาดจากการใช้ข้อมูลในอดีต 5-6 ปีก่อนหน้าที่ภาคอสังหาริมทรัพย์เติบโตดีเป็นพิเศษ นอกจากนั้นผู้ถือ CDO ก็เป็นเจ้าหนี้ที่ตามหนี้ได้ยากกว่าเจ้าหนี้โดยตรง ความไม่แน่นอนเพิ่มขึ้นอีกเมื่อภาครัฐกำลังเข้ามาแทรกแซงเพราะต้องการลดผลกระทบทางการเมืองจากการที่บ้านประมาณ 2 ล้านหลังอาจจะถูกยึดคืนและนำไปขายทอดตลาดเพื่อนำเงินไปคืนเจ้าหนี้ เมื่อกระบวนการเร่งคืนหนี้อาจล่าช้าและไม่แน่นอนการคาดการณ์มูลค่าที่แท้จริงของ CDO จึงทำได้ยากยิ่ง

สถาบันการเงินสหรัฐนั้นรับผลจากซับไพรม์และ CDO ในหลายด้าน เช่น เป็นผู้ปล่อยกู้ซับไพรม์ และเป็นผู้นำซับไพรม์มาแปลงเป็น CDO ซึ่งกำลังจะถูกฟ้องว่ามิได้เปิดเผยความเสี่ยงของซับไพรม์ และ CDO ให้กับลูกค้าอย่างครบถ้วนและตรงไปตรงมา นอกจากนั้นธนาคารเองก็ยังตั้งกองทุนเพื่อซื้อ CDO เอาไว้เสียเอง กล่าวคือธนาคารพาณิชย์และวาณิชธนกิจของสหรัฐได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากซับไพรม์และ CDO เกินกว่าที่นักวิเคราะห์ได้คาดการณ์เอาไว้เดิม ทำให้สถาบันการเงินลดการปล่อยสินเชื่อลงอย่างฉับพลัน ประกอบกับผลกระทบต่อประชาชนสหรัฐที่เผชิญกับปัญหาราคาบ้านตกต่ำทำให้เป็นห่วงว่าการบริโภค การลงทุน และการจ้างงานจะต้องลดลงอย่างมากและสหรัฐจะไม่สามารถหลีกเลี่ยงการถดถอยทางเศรษฐกิจได้

3.ทำไมการลดดอกเบี้ยจึงช่วยไม่ได้มาก

ธนาคารกลางสหรัฐลดดอกเบี้ยอย่างเร่งรีบ กล่าวคือจาก 5.25% มาเป็น 3.5% ภายในเวลา 5 เดือน และเมอร์ริลลินซ์คาดว่าดอกเบี้ยสหรัฐจะต้องลดลงเหลือ 1% ในต้นปี 2009 (ปี พ.ศ.2552) แต่การลดดอกเบี้ยดังกล่าวจะไม่สามารถกอบกู้เศรษฐกิจสหรัฐได้ ทั้งนี้เพราะดอกเบี้ยสูงมิใช่แก่นสารของปัญหา กล่าวคือ

3.1 ราคาสินทรัพย์สูงเกินไป ดังที่กล่าวข้างต้นปัญหาหลักคือการเก็งกำไรซึ่งทำให้ราคาบ้านสูงเกินปัจจัยพื้นฐาน ดังนั้นทางแก้ปัญหาคือการปล่อยให้ราคาบ้านปรับลดลงจนกลับไปสู่ระดับที่เหมาะสม ซึ่งในปี 2006 ที่ผ่านมานั้นราคาบ้านปรับลดลงไปแล้วประมาณ 7% แต่เมอร์ริลลินซ์คาดการณ์ว่าราคาบ้านจะต้องลดลงไปอีก 15% ในปีนี้และอีก 10% ในปี 2009 แต่หากราคาบ้านต้องลดลงอีกมากก็จะส่งผลให้ความมั่งคั่ง (wealth) ของประชาชนลดลงอย่างมากและจะส่งผลกระทบต่อการบริโภคไปอีกนาน 2-3 ปี ทั้งนี้หากต้องการมิให้ราคาบ้านปรับลดลงมากนักก็จะต้องกระตุ้นให้เกิดเงินเฟ้อปีละ 5-6%

3.2 ต้องเพิ่มทุนธนาคาร เมื่อธนาคารเผชิญกับปัญหาหนี้เสีย ก็แปลว่าสินทรัพย์ของธนาคารเสื่อมค่า และแนวทางแก้ไขปัญหานี้คือการต้องยอมรับความเสียหายดังกล่าว โดยการตัดหนี้เสียและเพิ่มทุนจนพอ ทั้งนี้ โกลด์แมนแซคประเมินว่าธนาคารสหรัฐจะต้องเพิ่มทุนประมาณ 300,000 ล้านเหรียญ แต่ในขณะนี้ธนาคารสหรัฐเพิ่มทุนไปได้เพียง 120,000 ล้านเหรียญ ปัญหาสถาบันการเงินของสหรัฐจึงน่าจะยืดเยื้อไปอีก 1-2 ปี ที่สำคัญคือการลดดอกเบี้ยจะไม่ได้เป็นการแก้ปัญหาให้กับธนาคารโดยตรง (เพราะจะต้องแก้ปัญหาด้วยการเพิ่มทุน) แต่จะช่วยบ้าง กล่าวคือการเร่งลดดอกเบี้ยระยะสั้นจะทำให้

-ธนาคารมีรายได้มากขึ้นและสามารถนำกำไรที่เพิ่มขึ้นมาเพิ่มทุน

-การ "อุ้ม" หนี้เสียจะทำได้ง่ายขึ้นหรืออย่างน้อยก็ไม่ต้องเร่งระบายขายสินทรัพย์อย่างรวดเร็ว ทำให้ราคาไม่ตกต่ำมากนัก

-ช่วยบรรเทาการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจ ทำให้หนี้เสียไม่เพิ่มขึ้นมากนัก

4.ผลกระทบต่อโลกและไทย

เมื่อเศรษฐกิจสหรัฐชะลอตัวลงเกินคาด ประเทศละตินอเมริกาก็จะได้รับผลกระทบ แต่ยุโรปและญี่ปุ่นซึ่งเศรษฐกิจขยายตัวในระดับต่ำอยู่ก่อนหน้าและพึ่งพาตลาดสหรัฐอยู่มากก็จะได้รับผลกระทบเกินกว่าคาดเช่นกัน ทำให้เศรษฐกิจยุโรปอาจขยายตัวได้ไม่ถึง 1% ในปี 2008 (ปี พ.ศ.2551) สำหรับสหรัฐนั้นเดิมทีคาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัว 1.5% แต่อาจไม่ขยายตัวเลย ซึ่งทำให้เชื่อได้ว่าจะต้องปรับลดการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกลงอย่างมากในปีนี้

สำหรับเอเชีย (ไม่รวมญี่ปุ่น) นั้น เศรษฐกิจขยายตัวเป็นที่น่าพอใจ (ประมาณ 6-7%) และหากเศรษฐกิจสหรัฐ ยุโรป และญี่ปุ่นชะลอตัวลงอย่างมาก เอเชียก็น่าจะรักษาระดับการขยายตัวที่ 5-6% ได้โดยง่ายเพราะเอเชียมิได้มีปัญหาหนี้เสีย นอกจากนั้นยังมีการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดจึงจะสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศเพื่อทดแทนการส่งออกที่จะลดลงได้ แต่ทั้งนี้เอเชียจะต้องปรับเปลี่ยนนโยบายจากการเน้นการส่งเสริมการส่งออกโดยการผูกค่าเงินเอาไว้กับดอลลาร์ (ให้ค่าเงินของตนอ่อนเพื่อส่งออกให้ได้มากๆ) มาเป็นนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศเพื่อทดแทนภาคส่งออกให้ทันท่วงที

นอกจากนั้นการที่เอเชียนิยมผูกค่าเงินของตนกับดอลลาร์นั้นจะเร่งให้ปัญหาเงินเฟ้อในเอเชียทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นเพราะเชื่อได้เลยว่าสหรัฐจะเร่งลดดอกเบี้ยและเพิ่มสภาพคล่องในระบบเพื่อหวังลดผลกระทบจากการถดถอยทางเศรษฐกิจโดยไม่คำนึงถึงปัญหาเงินเฟ้อของตนและเงินเฟ้อของโลก นอกจากนั้นเราจะต้องจำเอาไว้ว่าสหรัฐนั้นเป็นประเทศลูกหนี้ที่มีสิทธิพิเศษเพราะสามารถพิมพ์เงินออกมาใช้เองได้ ดังนั้นสหรัฐจึงมีแรงจูงใจที่จะพิมพ์เงินดอลลาร์ออกมามากๆ เพื่อสร้างเงินเฟ้อ เพื่อลดหนี้ของตน ตัวอย่างเช่น ธนาคารแห่งประเทศไทยแทรกแซงเพื่อซื้อดอลลาร์เป็นจำนวนหลายหมื่นล้านดอลลาร์เพราะไม่อยากให้เงินบาทแข็ง แต่ทุนสำรองระหว่างประเทศที่เพิ่มขึ้นนั้นส่วนใหญ่เป็นเงินดอลลาร์ที่นับวันจะลดค่าลงไปเรื่อยๆ แปลว่ากำลังซื้อของทุนสำรองค่อยๆ เสื่อมค่าลงไป ปัญหานี้จะทวีความรุนแรงมากขึ้นเพราะการลดดอกเบี้ยของสหรัฐจะทำให้ผลตอบแทนจากการถือเงินดอลลาร์ลดลงไปอีก หากธนาคารกลางไทยและเอเชียแย่งกันขายดอลลาร์ก็จะยิ่งทำให้ดอลลาร์อ่อนลงไปอีก

กล่าวโดยสรุปคือธนาคารกลางของไทยและเอเชียควรจะปล่อยให้เงินของตนแข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ ซึ่งจะช่วยลดเงินเฟ้อในประเทศ นอกจากนั้นเมื่อการเกินดุลการค้าลดลงธนาคารกลางก็ไม่จำเป็นต้องเข้าไปซื้อดอลลาร์เป็นจำนวนมากเช่นที่ทำอยู่ในขณะนี้ แต่จะยังสามารถลดดอกเบี้ยลงเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจภายในได้อีกด้วยครับ
โพสต์โพสต์